Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ลูกชอบแกล้งเพื่อน จะปรับพฤติกรรมอย่างไร

Posted By Plook Parenting | 07 ม.ค. 60
17,567 Views

  Favorite

เมื่อถึงวัยที่เด็กเริ่มออกไปเรียนรู้โลกภายนอกบ้าน เช่น การเข้าโรงเรียน เด็กบางคนอาจจะเริ่มมีพฤติกรรมใหม่ ๆ หรือมีพฤติกรรมบางอย่างที่เปลี่ยนไป ซึ่งเกิดขึ้นจากการเรียนรู้จากสิ่งรอบตัวที่มากระทบจิตใจ เช่น การอยากเป็นที่รัก การอยากเป็นที่สนใจของใครบางคน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคุณพ่อคุณแม่ คนในครอบครัว หรือคุณครู บางครั้งเด็กไม่ตั้งใจจะแกล้งเพื่อน แต่การกระทำบางอย่างของเด็กอาจได้รับความสนใจจากครู ซึ่งการกระทำนั้น ๆ อาจเป็นได้ทั้งแง่ลบและแง่บวก เด็กอาจได้เรียนรู้ว่าเมื่อตีเพื่อน หรือกัดเพื่อน แล้วได้รับความสนใจจากคุณครู  (โดนคุณครูดุก็ถือว่าเป็นความสนใจ) เด็กก็เลยทำซ้ำอีก

หรือในบางกรณีเด็กบางคนใช้การกลั่นแกล้งคนอื่นเป็นเครื่องสร้างความสบายใจ หรือเป็นที่ระบายความคับข้องใจของตัวเอง เช่น ถูกพี่ที่โตกว่าแกล้งมา หรือถูกพ่อแม่ ผู้เลี้ยงดูลงโทษด้วยวิธีรุนแรงจนเกิดความเครียด จึงทำให้เด็กแสดงพฤติกรรมรุนแรงกับผู้อื่น ซึ่งหากปล่อยให้เด็ก ๆ ติดนิสัยชอบแกล้งไปจนโต มีโอกาสเป็นอย่างมากที่เด็กจะเพิ่มขีดความสามารถในการกลั่นแกล้งไปสู่การข่มขู่ ข่มเหงน้ำใจ หรือล่วงละเมิดคนอื่นได้รุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ และคุณครู ต้องรีบแก้ไขปัญหาและปรับพฤติกรรมของเด็กอย่างจริงจัง

วิธีการ

1. ลองหาที่มาหรือต้นตอของปัญหาด้วยการสอบถาม

ก่อนอื่นคุณพ่อคุณแม่ และคุณครู อย่าเพิ่งดุด่าว่ากล่าวเมื่อเด็กแกล้งเพื่อน ลองพูดคุยกับเด็กว่าทำไมเขาถึงทำพฤติกรรมแบบนี้ โดยใช้การสังเกตในสิ่งต่าง ๆ ดังต่อไปร่วมด้วย

                - เด็กตั้งใจที่จะทำให้คนอื่น ๆ ไม่สบายใจหรือเสียใจหรือเปล่า

                - เด็กรู้ตัวหรือเปล่าในขณะที่กำลังรังแกคนอื่น

                - เด็กมีปัญหาที่บ้านหรือโรงเรียนไหม เช่น มีใครกำลังรังแกเด็กอยู่หรือเปล่า

                - เวลาอยู่ที่โรงเรียน เด็กรู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง หรือทำให้เหงาไหม

                - เด็กรังแกใครบางคนแบบเฉพาะเจาะจงไหม

                - เด็กคบเพื่อนที่เป็นอันธพาล ชอบรังแกคนอื่นหรือเปล่า

                - เด็กรู้สึกตื่นเต้นหรือสนุกกับการได้ทำร้ายคนอื่นหรือไม่

                - เด็กเคยเป็นคนที่ถูกรังแกมาก่อนหรือเปล่า

เมื่อเด็กเปิดใจอธิบายถึงปัญหา จึงค่อยหาทางแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด

 

2. สนใจเฉพาะพฤติกรรมที่ดี

หากเด็กแกล้งเพื่อนเพราะอยากเรียกร้องความสนใจจากคุณครูมีวิธีแก้คือ คุณครูจะต้องปรับพฤติกรรมการแสดงออกต่อเด็กใหม่ โดยเมื่อเด็กทำพฤติกรรมที่ดี ให้รีบให้ความสนใจ หรือกล่าวชมเชย และเมื่อเด็กมีพฤติกรรมด้านลบให้เพิกเฉยกับเด็กในระยะหนึ่ง โดยให้ความสนใจกับเด็กที่ถูกแกล้งมากกว่า เมื่อโดนเพิกเฉยบ่อยครั้ง เขาจะเรียนรู้ว่าพฤติกรรมนี้ไม่เป็นที่ยอมรับ และจะเลิกแกล้งเพื่อนได้ในที่สุด

 

3. สอนให้เด็กรู้จักควบคุมอารมณ์

หากเด็กแกล้งเพื่อน หรือแสดงความรุนแรงกับเพื่อน เพราะความโกรธ หรือมีปัญหาด้านการควบคุมอารมณ์ ต้องสอนให้เด็กรู้จักวิธีควบคุมความโกรธด้วยวิธีอื่นโดยไม่ไปทำร้ายคนอื่น เช่น นับ 1-10 หรือให้เด็กมาบอกคุณครูว่ากำลังโกรธ เพื่อให้คุณครูเป็นผู้แก้ปัญหาให้

 

4. หลีกเลี่ยงการลงโทษเด็กด้วยวิธีรุนแรง

อาจจะใช้วิธีบอกให้เด็กรู้ถึงผลเสียที่จะตามมาเวลาแกล้งผู้อื่น เช่น ไม่เป็นที่รัก ไม่ได้ดาวจากคุณครู หรือลงโทษด้วยการตัดสิทธิ์บางอย่าง เช่น ให้ขนมน้อยกว่าคนอื่น ให้ออกจากห้องเป็นคนสุดท้าย

 

5. ส่งเสริมความสามารถในตัวเด็ก

มองหาจุดเด่นในตัวเด็ก และสนับสนุนให้เขาได้พัฒนาจุดเด่นนั้น ๆ เช่น กีฬา ดนตรี ศิลปะ ซึ่งจะทำให้เด็กมุ่งความสนใจไปยังสิ่งที่ชอบ ทำให้เกิดสมาธิและช่วยขัดเกลาจิตใจให้อ่อนโยนลง

 

6. หากิจกรรมหรือหน้าที่ให้เด็กรับผิดชอบ

เพื่อให้เขาได้ปลดปล่อยพลังงานอย่างเหมาะสม การที่มีโอกาสทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อคนอื่น จะทำให้เขาได้พบกับเพื่อนใหม่ ๆ มากขึ้น รู้จักการปรับตัวเข้ากับผู้อื่นมากขึ้น และมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น

      

ปัญหาเด็กชอบแกล้งเพื่อนเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องได้รับความแก้ไข เพราะผู้ใหญ่ที่เคยเป็นเด็กเกเรมาก่อน มักลงเอยด้วยการมีปัญหามากมายในชีวิต เช่น มีปัญหาด้านความสัมพันธ์กับคนอื่น มีเพื่อนน้อย เปลี่ยนงานบ่อย เพราะเขาเคยชินกับการปฏิบัติต่อคนอื่นด้วยความก้าวร้าวรุนแรง ซึ่งปัญหานี้จะสามารถแก้ได้โดยง่ายหากครอบครัวและโรงเรียนให้ความใส่ใจร่วมมือกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเด็กให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อช่วยให้เด็กปรับปรุงตัวและเติบโตขึ้นเป็นคนดีของสังคมได้ต่อไป

      

 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Parenting
  • 8 Followers
  • Follow