นางพรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กล่าวว่า ตามที่ สสวท . ได้เข้า ร่วม วิจัยกับสมาคม IEA (International Association for the Evaluation of Educational Achievement) เพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้น ม. 2 ตามโครงการ TIMSS (Trends in International Mathematics and Science Study) โดยเริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1995 และประเมินต่อเนื่องกันทุก 4 ปี โดยผลการประเมิน TIMSS 2015 เมื่อเทียบกับนานาชาติพบว่า ประเทศไทยมีคะแนนเฉลี่ยวิชาคณิตศาสตร์จัดอยู่ในอันดับที่ 26 และคะแนนเฉลี่ยวิชาวิทยาศาสตร์ จัดอยู่ในอันดับที่ 26
ประเทศในเอเชียตะวันออก ได้แก่ เกาหลีใต้ จีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และฮ่องกง ทำคะแนนได้เป็นอันดับต้น ๆ ในวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ทั้งใน TIMSS 2015 และในรอบการประเมินที่ผ่าน ๆ มา ส่วนนักเรียนไทยทำคะแนนวิชาวิทยาศาสตร์ได้ดีกว่าวิชาคณิตศาสตร์ โดยมีคะแนนเฉลี่ย 456 และ 431 ตามลำดับ ซึ่งน้อยกว่าค่ากลางของการประเมินที่กำหนดไว้ 500 คะแนน โดยในการทำข้อสอบพบว่า นักเรียนไทยทำข้อสอบแบบเลือกตอบได้มากกว่าแบบเขียนตอบในการทำข้อสอบแบบเขียนตอบ นักเรียนตอบคำถามได้ไม่ชัดเจน ตอบไม่ตรงคำถาม ตอบคำถามไม่ครบ ไม่สามารถเขียนคำอธิบายที่ต้องแสดงเหตุผลประกอบ ดังนั้น ในการจัดการเรียนรู้ ควรเน้นให้นักเรียนได้พัฒนาในทักษะดังกล่าว
นักเรียนไทยส่วนใหญ่ชอบเรียนและเห็นคุณค่าของวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ แต่กลับมีความมั่นใจในการเรียนทั้งสองวิชาน้อย ในทางกลับกัน นักเรียนในประเทศเอเชียตะวันออกที่ทำคะแนนสูงๆ ได้เป็นอันดับต้น ๆ กลับไม่ชอบเรียน และไม่เห็นคุณค่าในทั้งสองวิชา และมีความมั่นใจในการเรียนทั้งสองวิชาค่อนข้างน้อยเช่นเดียวกับประเทศไทย
แม้ว่าจำนวนชั่วโมงเรียนทั้งหมดต่อปีของประเทศไทยจะสูงกว่าค่าเฉลี่ยนานาชาติอยู่มากถึง 188 ชั่วโมง แต่กลับพบว่า จำนวนชั่วโมงเรียนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์น้อยกว่าค่าเฉลี่ยนานาชาติอยู่ 27 และ 34 ตามลำดับ
หลักสูตรของประเทศไทยค่อนข้างสอดคล้องกับหลักสูตรของนานาชาติ นั่นคือ เนื้อหาที่สอนในชั้นเรียนครอบคุลมเนื้อหาที่ใช้ในการประเมินอยู่ถึงร้อยละ 70 อย่างไรก็ตาม เนื้อหาคณิตศาสตร์ที่นักเรียนไทยได้เรียนในชั้นเรียนยังน้อยกว่าค่าเฉลี่ยนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเนื้อหาข้อมูลและโอกาส สำหรับวิชาวิทยาศาสตร์ ความครอบคลุมของเนื้อหาที่สอนในชั้นเรียนกับเนื้อหาที่ประเมินของประเทศไทยเท่ากับค่าเฉลี่ยนานาชาติ โดยนักเรียนได้เรียนเนื้อหาชีววิทยาและฟิสิกส์น้อยกว่าประเทศอื่นๆ เล็กน้อย แต่ได้เรียนเนื้อหาเคมี โลก ดาราศาสตร์ และอวกาศ มากกว่าประเทศอื่นๆ
ครูไทยส่วนใหญ่จบการศึกษาสูงสุดในระดับปริญญาตรีเช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ และมีครูที่จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีในสัดส่วนที่ทัดเทียมกับนานาชาติ นอกจากนี้ยังพบว่า จากรอบการประเมินที่ผ่านๆ มา ครูไทยจบการศึกษาในระดับที่สูงกว่าปริญญาตรีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ