โดย อาจารย์ ดร.อนุสรา สุวรรณวงศ์
การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพการณ์ปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อองค์กรต่างๆ ไม่เว้นแม้กระทั่งองค์กรที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้ว ในขณะเดียวกันหากมองในมุมกลับการเปลี่ยนแปลงนี้ก็สร้างโอกาสใหม่ๆทั้งในระดับองค์กรและระดับบุคคลที่ส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนมุมมองและทัศนคติ ดังนั้นการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในองค์กรจึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้บริหารจะต้องใช้ทั้งเทคนิคในการบริหารจัดการ (Management) และความเป็นผู้นำ(Leadership) เพื่อนำพาองค์กรสู่ความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้นการพัฒนาภาวะผู้นำเชิงนวัตกรรมจึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง
การพัฒนาสถานศึกษาในปัจจุบันก็ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเช่นกันอันเป็นที่มาของกระแสโรงเรียนนวัตกรรมที่กลายเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จและคุณภาพของบุคลากรและสถานศึกษา ทั้งนี้การสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการศึกษาของสถานศึกษาจำเป็นต้องอาศัยผู้นำที่มีวิสัยทัศน์เชิงนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนวัตกรรม โดยการบริหารจัดการสถานศึกษายุคใหม่จะต้องนำไปสู่นวัตกรรม 3 ด้าน ได้แก่ นวัตกรรมการจัดการ นวัตกรรมการทำงาน และนวัตกรรมการนำ
โครงสร้างการบริหารของสถานศึกษาประกอบด้วยคณะกรรมการในรูปแบบต่างๆ เช่น คณะกรรมการบริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน คณะกรรมการเครือข่ายผู้ปกครอง เป็นต้น ซึ่งรูปแบบคณะกรรมการดังกล่าวเป็นไปตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติพุทธศักราช 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) 2545 ทั้งนี้ การจัดการสถานศึกษายุคใหม่จำเป็นจะต้องปรับเปลี่ยนบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการเพื่อยกระดับสถานศึกษาสู่การเป็นโรงเรียนนวัตกรรม ( Innovative School) โดยบทบาทหน้าที่หลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาก็คือ ผู้บริหารสถานศึกษา และ คณะกรรมการเครือข่ายผู้ปกครอง ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาคณะกรรมการระดับชั้นเรียนมุ่งเน้นการดูแลผู้เรียนด้านระเบียบวินัยและความประพฤติเป็นหลัก ในขณะที่บทบาทด้านการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของผู้เรียนยังไม่โดดเด่นมากนัก ดังนั้น นวัตกรรมการจัดการสถานศึกษายุคใหม่จึงควรปรับเปลี่ยนบทบาทหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้องหลักดังนี้
1. ผู้บริหารมีบทบาทในการกำหนดนโยบายการพัฒนาคุณภาพการศึกษาโดยใช้นวัตกรรมเป็นฐาน ซึ่ง นวัตกรรมจะเป็นส่วนหนึ่งของแผนกลยุทธ์การพัฒนาสถานศึกษาที่บุคลากรทุกคนจะต้องร่วมกันบริหารจัดการเพื่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ทั้งนี้ผู้บริหารจะต้องชี้แจงให้บุคลากรมีความเข้าใจตรงกันว่าการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่เช่น เทคนิคการสอนแบบใหม่ การพัฒนาสื่อการเรียนการสอนแบบใหม่ การพัฒนากิจกรรมเสริมการเรียนรู้ เป็นต้น จะเป็นตัวชี้วัดความก้าวหน้าทางวิชาชีพและสามารถนำผลงานดังกล่าวประกอบการขอวิทยะฐานะของครูให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
2. ผู้บริหารมีบทบาทในการกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดผลการปฏิบัติงานที่มุ่งเน้นนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมให้ครูสามารถออกแบบแผนงานหรือโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้จะต้องมีนวัตกรรมประจำกลุ่มอย่างน้อย 1 ชิ้น/ปีการศึกษา หรือ คณะกรรมการระดับชั้นเรียนจะต้องมีนวัตกรรมร่วมกันอย่างน้อย 1 ชิ้น/1 ภาคเรียน เป็นต้น โดยการประเมินการปฏิบัติงานตามตัวชี้วัดเชิงนวัตกรรมจะเป็นข้อมูลสำคัญที่สะท้อนให้
เห็นถึงข้อจำกัดของบุคลากรและสถานศึกษาอันเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนการพัฒนาสถานศึกษาและแผนการยกระดับสมรรถนะเฉพาะทางสำหรับครูในลำดับต่อไป
3. ผู้บริหารมีบทบาทในการสนับสนุนสภาพแวดล้อม/บรรยากาศการทำงานที่เอื้อต่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานแบบต่างคนต่างทำนั้นไม่เอื้ออำนวยต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการศึกษาใหม่ๆ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเรียนรู้ที่มีประสิทธิผลของผู้เรียน ผู้บริหารควรสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานของครูที่มุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ( Learning & Sharing) เน้นการทำงานแบบร่วมมือ ( Collaboration) ที่ไม่จำกัดเพียงแค่ครูภายในกลุ่มสาระการเรียนรู้เดียวกันหรือครูในระดับชั้นเดียวกันเท่านั้น แต่จะเป็นการร่วมเรียนรู้และร่วมมือร่วมทำของครูและบุคลากรทุกคนในสถานศึกษาในลักษณะของเครือข่ายการเรียนรู้ครูนวัตกรรม ( Teacher Innovation Network : TIN) ที่จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดที่หลากหลายของครูที่มาจากกลุ่มสาระการเรียนรู้หรือระดับชั้นต่างๆ โดยผู้บริหารจะต้องจัดสรรเวลาและสถานที่เพื่อให้ครูได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกันอย่างไม่เป็นทางการทั้งนี้ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ดังกล่าวจะช่วยให้ผู้บริหารทราบว่าครูท่านใดต้องการการสนับสนุนด้านใดเพื่อให้การปฏิบัติงานนำไปสู่การสร้างนวัตกรรม
4. ผู้บริหารมีบทบาทในการระดมทรัพยากรและความร่วมมือจากหน่วยงานภายนอกเพื่อสนับสนุนการพัฒนาของสถานศึกษา โดยส่งเสริมให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาการจัดการศึกษาของสถานศึกษา สร้างความร่วมมือกับนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาในบริเวณใกล้เคียงสถานศึกษาเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ทางวิชาการให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ผู้บริหารจะต้องประสานความร่วมมือกับสถานประกอบการผู้ผลิตสื่อการเรียนการสอนร่วมกันพัฒนาสื่อการเรียนการสอนที่มีส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างมีประสิทธิผล
บทบาทของคณะกรรมการเครือข่ายผู้ปกครองคณะกรรมการ เครือข่ายผู้ปกครอง ประกอบด้วย ตัวแทนผู้ปกครอง ครูหัวหน้าระดับชั้นเรียน และ เลขานุการระดับชั้นเรียน ที่ผ่านมาคณะกรรมการ เครือข่ายผู้ปกครองมีบทบาทในการสนับสนุนส่งเสริมการจัดกิจกรรมพัฒนาการเรียนรู้และพฤติกรรมของนักเรียนเป็นหลัก ยังไม่ค่อยมีการส่งเสริมกิจกรรมการพัฒนาครูซึ่งถือได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของผู้เรียน ดังนั้นบทบาทของคณะกรรมการเครือข่ายผู้ปกครองที่จะส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการศึกษามีดังต่อไปนี้
1. กำหนดแผนงาน/โครงการการพัฒนานวัตกรรมระดับชั้นเรียนเพื่อสนองต่อ นโยบายการพัฒนาคุณภาพการศึกษาโดยใช้นวัตกรรมเป็นฐาน โดยแผนงาน/โครงการดังกล่าวจะต้องเกี่ยวข้องกับการค้นพบเทคนิคการสอน สื่อการเรียนการสอน การบริหารจัดการชั้นเรียนแนวใหม่ที่สอดคล้องกับบริบทของผู้เรียนและสถานศึกษา เช่น โครงการครูคณิตคิดนวัตกรรมระดับชั้น ม. 1 โครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครูนวัตกรรมภาษาต่างประเทศระดับชั้น ป.6 เป็นต้น
2. จัดประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครูระดับชั้นเรียน โดยจัดให้มีการประชุมอย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้งตามแผนงานการพัฒนานวัตกรรมการเรียนการสอนของครูแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ ในการประชุมจะต้องมีการกำหนดหัวข้อและครูที่จะเป็นแกนนำในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แต่ละครั้งซึ่งจะต้องหมุนเวียนให้ครบทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้โดยครูแกนนำการเรียนรู้จะต้องนำเสนอองค์ความรู้ใหม่ที่ได้จากค้นคว้าเพียงแค่ 15 นาที จากนั้นจะเปิดโอกาสให้ครูท่านอื่นร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งครูอาวุโสหรือครูที่มีประสบการณ์การสอนยาวนานจะต้องมีบทบาทในการชี้แนะ (Coaching) และการเป็นพี่เลี้ยง (Mentoring) ให้กับครูใหม่ เพื่อถ่ายทอดกลยุทธ์การสอน เทคนิคการจัดการชั้นเรียน ตลอดจนแนวทางการพัฒนาทางวิชาชีพ การแลกเปลี่ยนดังกล่าวส่งเสริมให้เกิดการจัดการองค์ความรู้ภายในสถานศึกษาหรือที่เรียกว่า KM (Knowledge Management)
3. รวบรวมนวัตกรรมดีเด่นของครูแต่ละระดับชั้นเรียน เพื่อคัดเลือกผลงานที่ดีที่สุดเป็นตัวแทนสถานศึกษาในการเข้าร่วมประกวดนวัตกรรมทางการศึกษาในองค์การ/หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเชิดชูเกียรติและสร้างขวัญกำลังใจในการพัฒนาทางวิชาชีพของครู นอกจากนี้สถานศึกษาสามารถจัดกิจกรรมเชิดชูเกียรติครูนวัตกรรมภายในสถานศึกษาเพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ครูได้อีกช่องทางหนึ่ง โดยจัดให้มีการมอบโล่ครูนวัตกรรมต้นแบบ การมอบเกียติบัติครูแกนนำด้านนวัตกรรม การมอบเงินทุนสนับสนุนครูนวัตกรรมชั้นยอด เป็นต้น
4. จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เครือข่ายครูนวัตกรรมประจำปีการศึกษา โดยคัดเลือกครูนวัตกรรมระดับชั้นเรียนดีเด่นร่วมกันถ่ายทอดเทคนิคและกระบวนการพัฒนานวัตกรรมให้แก่เพื่อนครู ทั้งนี้ควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนผู้ปกครอง ชุมชน นักวิชาการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมดังกล่าวเพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางการพัฒนานวัตกรรมที่สอดคล้องกับความต้องการและบริบทของสถานศึกษาสำหรับปีการศึกษาต่อไป
การก้าวสู่ยุคดิจิตอลยุคที่มีสื่อการเรียนรู้อันหลากหลาย เช่น บทเรียนออนไลน์ (E-Learning) หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Book) การเรียนการสอนบนเว็บ ( Web-Based Learning) การเรียนออนไลน์ ( On-line Learning) ส่งผลให้ครูจำเป็นจะต้องพัฒนาเทคนิคการจัดการเรียนการสอนของตนเองให้ทันสมัยอย่างต่อเนื่องผนวกกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้เรียนในแต่ละยุคแต่ละสมัยที่ถือได้ว่าเป็นความท้าทายความสามารถทางวิชาชีพครู หากครูยังคงมีความเชื่อเดิม ( Fixed Mindset) เกี่ยวกับรูปแบบการสอนของตนที่เคยใช้มานานกว่าสามสิบยี่สิบเป็นรูปแบบที่ดีที่สุดโดยไม่คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมของผู้เรียน ความเชื่อดังกล่าวก็จะกลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาตนเองและพัฒนางาน ดังนั้นผู้บริหารจะต้องเสริมสร้างทัศนคติเชิงบวกให้แก่ ครูเพื่อสนับสนุนความก้าวหน้าทางวิชาชีพ (Growth Mindset) ผ่านกระบวนการพัฒนาความคิดเชิงนวัตกรรมในงาน ดังนี้
1. การเปิดใจ (Openness) ผู้บริหารจะต้องสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่มุ่งเน้นการเปิดใจยอมรับสิ่งใหม่หรือความคิดเห็นใหม่ของจากครูและผู้ที่เกี่ยวข้องในลักษณะของการเปิดพื้นที่ทางความคิดที่ไม่มุ่งเน้นการตัดสินถูกหรือผิด แต่จะต้องเป็นพื้นที่ความคิดที่ทุกคนรู้สึกอิสระและไม่มีข้อจำกัดเพื่อให้เกิดการระดมความคิดเห็น(Brainstorming) และร่วมกันกำหนดเป้าประสงค์ในการพัฒนาการปฏิบัติงานของตนและสถานศึกษาที่มุ่งสู่นวัตกรรม (Innovative Goal)
2. การมุ่งมั่นตั้งใจ ( Willingness) ผู้บริหารจะต้องกระตุ้นให้ครูมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะปฏิบัติงานให้บรรลุสู่เป้าประสงค์ในการพัฒนาการปฏิบัติงานของครูที่มุ่งสู่นวัตกรรม โดยผู้บริหารจะต้องชี้นำให้ครูวิเคราะห์สถานการณ์และโอกาสในการสร้างนวัตกรรมใหม่ในมุมมองที่หลากหลายมุมมองโดยพิจารณาปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกสถานศึกษาเพื่อวิเคราะห์ความแตกต่างและความเป็นไปได้ในการสร้างนวัตกรรม
3. การกล้าเสี่ยง/กล้าลอง ( Taking Risk) ผู้บริหารจะต้องสนับสนุนให้ครูลองนำวิธีการหรือแนวคิดใหม่ๆ ประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนอย่างต่อเนื่อง ครูสามารถค้นพบวิธีการหรือแนวคิดใหม่ในระหว่างการทดลองใช้ได้อย่างไม่มีข้อจำกัด จนกระทั่งเกิดผลลัพธ์เชิงประจักษ์ว่าวิธีการดังกล่าวใช้แล้วได้ผลจริงจึงจะสามารถเรียกวิธีการหรือแนวคิดใหม่ๆเหล่านั้นได้ว่าเป็นนวัตกรรม ทั้งนี้ผู้บริหารและครูจะต้องร่วมกันวางแผนบริหารความเสี่ยงในการนำนวัตกรรมไปทดลองใช้ ตลอดจนวางมาตรการรองรับในกรณีที่เกิดสถานการณ์นอกเหนือจากแผนการดำเนินงาน
4. การวิจัยและพัฒนา (Research & Development : R&D) เมื่อได้นวัตกรรมใหม่แล้วผู้บริหารจะต้องกระตุ้นให้ครูคิดค้นแนวคิด/วิธีการใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกิดมาจากการพัฒนาองค์ความรู้เดิมผนวกกับองค์ความรู้ใหม่และสถานการณ์ใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปผ่านกระบวนการวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับการวิจัยในชั้นเรียนจากเดิมที่เป็นเพียงการทำวิจัยเพื่อการพัฒนางานให้ดีขึ้น ( do something better) สู่การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษาของครูเพื่อสร้างสรรค์เทคนิค/วิธีการใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม ( do something different) และจะเป็นประโยชน์ต่อการก้าวหน้าทางวิชาชีพของครูในการขอวิทยฐานะระดับสูงต่อไปทั้งนี้ การพัฒนานวัตกรรมในงานผู้บริหารสามารถสร้างบรรยากาศการทำงานเชิงนวัตกรรมโดยการใช้คำถามชี้นำในการเรียนรู้ (Question-based Learning) เพื่อให้ครูพัฒนาการคิดสร้างสรรค์เชิงบวก ดังนี้
ผู้บริหารมีบทบาทในการระดมทรัพยากรและความร่วมมือจากหน่วยงานภายนอกเพื่อสนับสนุนการพัฒนาของสถานศึกษา โดยส่งเสริมให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาการจัดการศึกษาของสถานศึกษา เช่น การเปิดโอกาสให้ผู้นำชุมชนหรือปราชญ์ชุมชนมาให้ความรู้แก่ผู้เรียนในห้องเรียน การใช้แหล่งทรัพยากรหรือสถานที่สำคัญในชุมชนจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียน เป็นต้น ทั้งนี้การพัฒนาคุณภาพการศึกษาจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาทางวิชาชีพครูเช่นกัน ผู้บริหารจะต้องสร้างความร่วมมือกับนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาในบริเวณใกล้เคียงสถานศึกษาเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ทางวิชาการให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งครูจะได้เรียนรู้แนวคิดและองค์ความรู้ใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการปฏิบัติงานของตนในขณะเดียวกันนักวิชาการก็จะได้เรียนรู้จากสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจริงซึ่งสถานศึกษาถือได้ว่าเป็นแหล่งเรียนรู้ชั้นยอดในการสร้างองค์ความรู้และงานวิจัยทางการศึกษาใหม่ๆ โดยสถานศึกษาจะเป็นฐานในการวิจัยให้แก่นักวิชาการนอกจากนี้ ผู้บริหารจะต้องประสานความร่วมมือกับสถานประกอบการผู้ผลิตสื่อการเรียนการสอน เช่น บริษัทอักษรเจริญทัศน์ เพื่อนำเสนอสภาพปัญหาและข้อจำกัดการใช้สื่อการเรียนการสอนประเภทต่างๆ และสร้างความร่วมมือในลักษณะ MOU โดยสถานศึกษาจะเป็นแหล่งในการทดลองใช้สื่อ วัสดุ อุปกรณ์ที่สถานประกอบการผลิตขึ้น
ขั้นที่ 1 การนำสู่การเรียนรู้ (Leading to Learn) เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพัฒนาความคิดเชิงนวัตกรรมในงานที่มุ่งเน้นการเปิดใจยอมรับแนวคิด/วิธีการทำงานใหม่ๆ และพร้อมที่จะเรียนรู้ในมุมมองที่หลากหลาย เช่น หากสถานศึกษาของมีปัญหาเรื่องการบริหารบุคคล ท่านจะศึกษาแนวทางการแก้ปัญหาของสถานศึกษาอื่น ในขณะเดียวกันท่านก็อาจจะพูดคุยแลกเปลี่ยนเพื่อศึกษาแนวทางการแก้ปัญหาขององค์กรเอกชนหรือองค์กรภาครัฐ เพื่อเรียนรู้ว่าองค์กรเหล่านั้นมีแนวทางการแก้ปัญหาอย่างไร
ขั้นที่ 2 การนำสู่การคิด (Leading to Think) การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับหน่วยงานอื่นจะทำให้ได้แนวคิด/วิธีการทำงานใหม่ซึ่งการนำมาประยุกต์ใช้ที่ได้ผลลัพธ์ที่ดีนั้นจำเป็นจะต้องนำผลของการเรียนรู้ที่ได้มาวิเคราะห์ความเหมือนและความต่างเพื่อให้เหมาะสมกับบริบทของสถานศึกษา ทั้งนี้เนื่องจากสถานศึกษาแต่ละแห่งย่อมมีข้อจำกัดที่แตกต่างกันออกไปจึงไม่สามารถนำวิธีการของหน่วยงานอื่นมาปรับใช้ได้ทันที ดังนั้น ผู้บริหารจะต้องคิดอย่างมีวิสัยทัศน์หรือการคิดเชิงกลยุทธ์ ( Strategic Thinking) ที่สามารถวิเคราะห์ได้ว่าสถานศึกษามีจุดเด่นและจุดที่ต้องพัฒนาอะไร โอกาสและอุปสรรคใดบ้าง เพื่อนำผลการวิเคราะห์ไปกำหนดเป็นแผนงาน/กลยุทธ์การพัฒนาสถานศึกษาต่อไป
ขั้นที่ 3 การนำสู่การเปลี่ยนแปลง (Leading to Change) การขับเคลื่อนสถานศึกษาด้วยแผนงานหรือกลยุทธ์ใหม่ๆ จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงในขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงก็จะนำมาซึ่งความขัดแย้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงที่ดีจะต้องเริ่มจากกระบวนการปรับทัศนคติเชิงบวกเพื่อให้บุคลากรทุกคนมีทิศทางการทำงานร่วมกันผ่านการสื่อสารเชิงสร้างสรรค์ ผู้บริหารมีบทบาทในการโน้มน้าวและเจรจาเพื่อให้ครูทุกคนเข้าใจตรงกันว่าการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นส่งผลกระทบเชิงบวกต่อบุคลากรอย่างไร เช่น การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของครูจะช่วยแก้ปัญหาการจัดการชั้นเรียนได้อย่างไร กลยุทธ์การสอนของครูท่านอื่นจะช่วยพัฒนาตนเองอย่างไร แผนงานเชิงนวัตกรรมของสถานศึกษานั้นจะส่งเสริมให้ครูก้าวหน้าได้อย่างไร ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างวัฒนธรรมนวัตกรรมให้กับสถานศึกษา
ขั้นที่ 4 การนำสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรม (Leading to Innovate) เมื่อบุคลากรภายในสถานศึกษาตระหนักถึงประโยชน์ของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวแล้ว ผู้บริหารจะต้องสนับสนุนปัจจัยที่ส่งเสริมต่อการเรียนรู้เชิงนวัตกรรม เช่น เทคโนโลยีสารนเทศ แหล่งเรียนรู้ออนไลน์ สื่อและอุปกรณ์ เป็นต้น เพื่อเปลี่ยนการวิจัยในชั้นเรียนที่มุ่งเน้นเพียงแค่ประกอบการประเมินผลการสอนของครูสู่การพัฒนางานวิจัยในชั้นเรียนให้เป็นนวัตกรรมการสอนใหม่ๆ
คำถามเพื่อการนำไปสู่ Action Learning
1. ปัจจุบันนี้สถานศึกษาของท่านได้พัฒนานวัตกรรมอะไรบ้าง ตั้งแต่เมื่อใด นวัตกรรมดังกล่าวส่งผลต่อชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของสถานศึกษาของท่านอย่างไร ท่านจะดำเนินการพัฒนาอย่างต่อเนื่องหรือไม่อย่างไร และจะมีความแตกต่างไปจากเดิมอย่างไร
2. ท่านคิดว่าสมรรถนะด้านภาวะผู้นำเชิงนวัตกรรมของท่านจะช่วยให้ครูสามารถคิดค้นนวัตกรรมการเรียนการสอนได้มากน้อยเพียงใด และท่านคิดว่าการพัฒนาสมรรถนะครูด้านภาวะผู้นำเชิงนวัตกรรมจะช่วยให้การเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นอย่างไรและเพราะอะไร
3. ท่านคิดว่าความร่วมมือของผู้ปกครองและชุมชนจะช่วยพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษาของสถานศึกษาของท่านหรือไม่ อย่างไร และท่านมีแผนการการทำงานร่วมกันระหว่างโรงเรียน ผู้ปกครองและชุมชนอย่างไร
4. ท่านคิดว่าเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารจะช่วยพัฒนานวัตกรรมการบริหารจัดการ นวัตกรรมการเรียนการสอนในสถานศึกษาของท่านหรือไม่ อย่างไร และท่านมีแผนการบริหารจัดการอย่างไร
5. ท่านคิดว่าการสร้างความร่วมมือกับนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาอื่นและผู้ประกอบการด้านสื่อการเรียนการสอนจะช่วยให้ครูสามารถพัฒนานวัตกรรมการสอน ได้มากน้อยเพียงใด ท่านมีข้อจำกัดอะไรบ้างในการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานดังกล่าว และท่านจะบริหารจัดการอย่างไร
KPIs
1. สถานศึกษามีโครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาการศึกษาระหว่างผู้ปกครอง ชุมชน สถานประกอบการ และ/หรือสถาบันอุดมศึกษา อย่างน้อย 1 โครงการ
2. ผู้บริหารสถานศึกษาไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 สามารถกำหนดแผนการพัฒนาตนเองประจำปีการศึกษาด้านภาวะผู้นำเชิงนวัตกรรม