Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

แนวทางการช่วยเหลือเด็กสมาธิสั้นในชั้นเรียน

Posted By Plook Teacher | 21 ต.ค. 59
26,023 Views

  Favorite

ทำไมครูต้องมีส่วนร่วมในการดูแลช่วยเหลือ

         การช่วยเหลือเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นนั้น นอกจากแพทย์จะให้ยากินเพื่อให้มีสมาธิในการเรียนแล้ว ครู และพ่อแม่มีส่วนช่วยอย่างมาก การฝึกทักษะหลายประการที่เด็กสมาธิสั้นยังขาดอยู่ ซึ่งการขาดทักษะเหล่านั้นแสดงออกมาเป็นพฤติกรรมต่างเช่น ดื้อ ซน พูดไม่ฟัง ไม่มีระเบียบวินัย ไม่คิดก่อนทำ ไม่รอบคอบ ประมาท เลินเล่อ เอาแต่ใจตัวเอง การแก้ไขพฤติกรรมต่างๆส่วนใหญ่จะยากลำบาก การฝึกทักษะที่ดีให้เกิดขึ้นก่อนจึงมีความสำคัญมากเพื่อป้องกันเด็กสมาธิสั้นมีพฤติกรรมไม่ดีจนติดเป็นนิสัยไปจนโต ซึ่งการฝึกทักษะมักต้องใช้ เวลานาน ต้องอาศัยความอดทน ความเอาจริงเอาจัง ความสม่ำเสมอและร่วมมือของครูและพ่อแม่อย่างมาก เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นจะฝึกทักษะค่อนข้างยาก ฝึกแล้วลืมง่ายในระยะแรกๆครูและพ่อแม่จึงไม่ควรคาดหวังผลเร็ว ไม่ควรเปรียบเทียบผลของการฝึกพฤติกรรมเด็กสมาธิสั้นกับเด็กทั่วไป ถ้าต้องการประเมินผลฝึกควรเปรียบเทียบผลที่เกิดกับตัวเด็กเองโดยติดตามระยะยาว จะเห็นความสำเร็จชัดเจนขึ้นทีละน้อย โดยพบว่าเด็กมีพฤติกรรมที่ดีมากขึ้นและบ่อยขึ้น จนในที่สุดกลายเป็นนิสัยที่ดีและกลายเป็นบุคลิกภาพที่ดีติดตัวอย่างถาวรเมื่อพ้นจากวัยรุ่นเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ หลังจากนั้นการพัฒนาทักษะที่ดีเพิ่มเติมขึ้นอีกจะเกิดขึ้นได้ แต่จะเกิดขึ้นจากการพัฒนาจากภายในตัวเอง ในระหว่างวัยเด็กนี้ พ่อแม่และครูจึงเป็นผู้ช่วยสำคัญ ที่จะฝึกฝนส่งเสริมให้เด็กสมาธิสั้นมีทักษะเบื้องต้นเพื่อเป็นพื้นฐานต่อการพัฒนาตนเองในระยะยาวต่อไป


เป้าหมายการช่วยเหลือเด็กสมาธิสั้นในชั้นเรียน

ลดพฤติกรรมปัญหาที่รบกวนการเรียนรู้ อันเป็นผลจากอาการของโรคสมาธิสั้นเพิ่มทักษะทางสังคมที่จำเป็นต่อการปรับตัวอยู่ร่วมกับผู้อื่นของเด็กสมาธิสั้นเพิ่มความสามารถด้านการเรียน เพื่อช่วยให้เด็กสมาธิสั้นประสบผลสำเร็จด้านการเรียน และเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง

 

แนวทางการช่วยเหลือเด็กสมาธิสั้น

         1. การช่วยเหลือด้านการเรียน เด็กสมาธิสั้นควบคุมตนเองไม่ได้ จัดระเบียบให้ตนเองไม่ได้เหมือนกับเด็กทั่วไป ครูต้องช่วยจัดระเบียบการเรียนไม่ให้ซับซ้อน เพื่อให้เด็กสามารถประสบความสำเร็จในการเรียน สิ่งที่ครูจะช่วยเหลือเด็ก คือการจัดกิจกรรมให้เด็กได้ทำเป็นประจำวัน การหาป้าย ข้อความ สัญลักษณ์ หรือช่วยเหลือความจำเด็กในการทำกิจกรรมต่างๆ ให้เรียบร้อย โดยการ ให้เด็กเขียนชื่อวันบนปกหนังสือหรือสมุด เพื่อให้จัดตารางเรียนได้สะดวก การจัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมแก่การเรียนรู้ของเด็กเป็นสิ่งสำคัญเพราะสิ่งแวดล้อมในการเรียนจะช่วยกระตุ้นสมองให้มีการพัฒนามากยิ่งขึ้น การจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับความสามารถและช่วงความสนใจของเด็กจะทำให้เด็กมีความสนใจในเรื่องที่กำลังเรียนอยู่ และการช่วยเหลือด้านทักษะเฉพาะในการเรียน ครูสามารถช่วยเหลือเด็กสมาธิสั้นให้มีทักษะเฉพาะที่จำเป็นต่อการเพิ่มความสามารถด้านการเรียนได้ เช่น การเพิ่มทักษะการอ่าน การเขียน และทักษะการวางแผนการทำงาน การทำการบ้าน เป็นต้น

 

         2. การพัฒนาทักษะทางสังคมให้เด็กสมาธิสั้นให้มีเพื่อน เด็กสมาธิสั้นส่วนมากจะมีปัญหากับเพื่อน ชอบกลั่นแกล้งหรือแหย่เพื่อน บางคนอาจมีลักษณะก้าวร้าว ทั้งนี้เพราะเด็กสมาธิสั้นจะมีอารมณ์เสียง่าย และไม่คิดก่อนที่จะทำบางรายอาจเรียกร้องความสนใจแบบไม่ค่อยเหมาะสม ทำให้เด็กสมาธิสั้นจะมีความยากลำบากในการควบคุมตนเองให้อยู่ในกรอบเวลากติกาและจะอารมณ์เสียหงุดหงิดง่าย ไม่มีความอดทนรอคอย การช่วยสอนให้เด็กสมาธิสั้นรู้จักควบคุมตนเองรู้จักรับผิดชอบ รู้จักกรอบเวลา ไม่ทำให้ผู้อื่นเหนื่อยหรือรู้สึกหงุดหงิดรำคาญ จะทำให้เด็กสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข เช่น การหากิจกรรมเพื่อให้เด็กได้ใช้เวลาอยู่กับเพื่อน ๆ สอนให้เด็กรู้จักที่จะควบคุมตนเองให้อยู่ในกรอบเวลากติกา

 

         3. แนวทางการจัดการปัญหาพฤติกรรมที่พบบ่อยของเด็กสมาธิสั้น เด็กสมาธิสั้นมักติดเล่น ทำตามสิ่งที่ตนเองสนุก ไม่ค่อยใส่ใจเวลา ไม่ชอบทำการบ้าน ไม่ส่งงาน ดื้อ โดยมีพฤติกรรมหลีกเลี่ยง หลบเลี่ยงไม่ทำตามคำสั่ง ชอบเถียง ซึ่งเป็นลักษณะประจำของเด็กสมาธิสั้น โดยแนวทางที่จะจัดการกับปัญหาพฤติกรรมของเด็กสมาธธิสั้น คือ กำหนดเขตเวลาการเรียน การเล่นให้ชัดเจน อย่าปล่อยให้เด็กเล่นจนมากเกินไป หรือปล่อยให้ทำตามใจตัวเองจนมากเกินไป ซึ่งจะคอยกำกับอยู่ห่าง ๆ เมื่อเด็กเริ่มหลุดการควบคุมตัวเอง ให้กลับเข้าไปกำกับใหม่ ชมเด็ก เมื่อเด็กทำได้ หรือร่วมมือ เมื่อเด็กเริ่ม ดื้อ ครูควรใช้คำสั่งที่ได้ผล เวลาสั่งควรแน่ใจว่าเด็กสนใจในคำสั่งนั้น ควรให้เด็กหยุดเล่นหรือหยุดกิจกรรมใดๆ ที่กำลังทำอยู่เสียก่อน สั่งสั้นๆ ชัดเจน อย่าให้หลายคำสั่งพร้อมๆ กัน ให้เด็กทวนคำสั่งแล้วเริ่มปฏิบัติทันที 

 

         4. แนวทางการจัดการชั้นเรียนที่มีเด็กสมาธิสั้น โดยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเด็กสมาธิสั้นพูด สั่ง ยืดหยุ่น ตามอารมณ์เด็กให้เกิดความไว้วางใจและเชื่อฟังครู เตรียมความพร้อมก่อนเข้าสอนสังเกตดูบรรยากาศในชั้นเรียนสำรวจตัวเองว่ามีอารมณ์ความรู้สึกที่ไม่ดีรบกวนหรือเปล่าถ้ามีควรจะเตือนตัวเองและทำใจสงบในส่วนของเด็กควรหากิจกรรมที่ช่วยดึงสมาธิของเด็กหรือทำให้เด็กอยู่นิ่งๆก่อนมีการเรียนการสอน และควรมีการกำหนดกฎเกณฑ์ในชั้นเรียนหรือเป็นข้อตกลงร่วมกัน เมื่อเด็กยกมือตอบ ครูให้ความสนใจ หรือกระตุ้นให้ตอบโดยบอกว่า “ความคิดเห็นไม่มีผิด เพียงครูอยากรู้ว่าเราคิดอย่างไร” เมื่อเกิดปัญหาด้านพฤติกรรมของเด็กสมาธิสั้นครูต้องรู้จักควบคุมตัวเองใจเย็นยืดหยุ่น และเรียกเด็กมานั่งใกล้ ๆ คุณครู หรือมอบหมายงานหรือกิจกรรมให้เด็กทำ ควรชื่มชมสนับสนุนเมื่อเด็กสมาธิสั้นแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสมและไม่รบกวนชั้นเรียน

 

         5. แนวทางการติดตามพฤติกรรมเด็กสมาธิสั้นในชั้นเรียนเด็กจะควบคุมตนเองได้ดีขึ้น เมื่อเขาได้รับการบอกกล่าวว่า ความประพฤติที่เขาพยายามปรับปรุงนั้นดีขึ้นมากน้อยเพียงไร และมีอะไรที่ต้องแก้ไขบ้าง ครูจึงควรใช้แบบประเมินพฤติกรรม เป็นช่วงสัปดาห์สังเกตและบันทึกการเปลี่ยนแปลงของเด็กทุกสัปดาห์ และหาโอกาสพูดคุยกับเด็กถึงการเปลี่ยนแปลงของเขาเป็นระยะว่า เด็กสามารถพัฒนาอะไรขึ้นบ้าง โดยพยายามพูดถึงความก้าวหน้าในทางที่ดี และตามด้วยสิ่งที่เด็กควรแก้ไขเพื่อให้เด็กเกิดความรู้สึกที่ดี และไม่รู้สึกว่าถูกจับผิด 

 
การสร้างพลังแรงใจในตัวเองให้กับเด็ก

         การสร้างพลังแรงใจให้ตัวเองมีความสำคัญมาก และเป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกคนต้องมี สำหรับเด็ก เป็นหน้าที่ พ่อแม่และครูที่ต้องช่วยเด็กในการสร้างพลังแรงใจให้พวกเขาด้วยความรัก เพราะจะเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของความรู้สึกที่คนเรามีต่อตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่จะติดตัวไปตลอดจนเป็นภาพพจน์ของตนเอง เพื่อให้เขาประสบความสำเร็จได้ในแบบฉบับของตนเองการที่เด็กจะมีความเชื่อมั่น ความรัก และนับถือตนเองได้ดี เด็กจะต้องมีภาพพจน์ของตัวเอง คือมีความรู้สึกที่ดีให้แก่ตนเองเสียก่อน แล้วความเชื่อมั่นในตนเอง(Self Esteem)จะตามมา ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เด็กก้าวเดินไปข้างหน้าด้วยความมั่นใจสำหรับเด็กสมาธิสั้น การสร้างพลังแรงใจด้วยตัวเองและการสร้างความนับถือตนเองเป็นภารกิจยิ่งใหญ่ทั้งนี้เพราะเด็กมักมีความรู้สึกว่าเขาไม่สามารถเข้ากับคนอื่น ไม่ถูกยอมรับ เด็กสมาธิสั้นมักประสบกับความล้มเหลวและได้รับคำตำหนิติเตียนจากคนรอบข้างครั้งแล้วครั้งเล่าตั้งแต่ยังเล็ก ซึ่งทำให้ความรู้สึกดีๆที่เด็กเคยมีต่อตนเองถูกทำลายลงไปเรื่อยๆเมื่อยังเป็นเด็กเล็ก การขาดความรักและการนับถือตนเองอาจไม่ทำให้เกิดปัญหาชัดเจนนัก เเต่เมื่อเด็กเติบโตขึ้นหากต้องเผชิญกับความท้าทายและอุปสรรคใหม่ๆเพิ่มขึ้น ปัญหาการขาดความนับถือตนเองก็จะเห็นชัดเจนยิ่งขึ้นอาจจะทำให้เด็กแก้ปัญหาที่เผชิญอยู่ได้ไม่ดีนัก และไม่มีวิธีการง่ายๆที่จะคิดแก้ปัญหาต่างๆได้ อาจกลายเป็น “คนอมทุกข์” มองชีวิตตนเองเศร้าหมอง หรือเกิดปัญหาสุขภาพจิตในอนาคตได้

 
คุณครูสามารถช่วยเด็กสร้างพลังแรงใจด้วยตัวเองได้ ดังนี้


1. การให้คำชมเชย
         เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดที่เด็กๆชอบ แต่การชมเด็กอย่างมีเทคนิคเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ ได้แก่ การเลือกเรื่องที่จะชมเด็ก มีเทคนิคคือ “ให้มองข้อดีของเด็ก และชื่นชมในพฤติกรรมดีทันทีทุกครั้ง” การเลือกคำพูดในการกล่าวชมเช่น “จริงๆแล้ว ป๋องแป๋งก็เขียนรายงานส่งครูได้ดีมากเวลาหนูตั้งใจทำ” การชมที่มากเกินไปไม่ดี เพราะจะทำให้เด็กรู้สึกว่าไม่จริงและเกิดความสงสัยในตนเอง
 
2. การให้รางวัลแก่เด็ก
         สำหรับเด็กวัยประถมขึ้นไป คำชมอย่างเดียวอาจจะไม่พอ เมื่อชมบ่อยๆเข้า ความตื่นเต้นจะค่อยๆ หมดไปการให้คะแนนสะสมเพื่อให้รางวัลจึงเป็นวิธีที่ดีที่ควรใช้ควบคู่กับคำชม และคะแนนนี้สามารถใช้แลกสิ่งของต่างๆได้ เช่น เงิน ขนม ของเล่นที่สร้างสรรค์ ยกเว้นแผ่นเกมคอมพิวเตอร์ หรือจำนวนชั่วโมงเล่นเกมเพิ่มขึ้น

 

3. ช่วยให้พ่อแม่เห็นความสำคัญของการให้รางวัลแก่เด็ก
         ความรักและการสร้างความรู้สึกมีคุณค่า เป็นที่รัก เป็นที่ต้องการและเป็นคนสำคัญของครอบครัว เริ่มต้น จากที่บ้าน พ่อแม่จำเป็นต้องเรียนรู้เทคนิคการปรับพฤติกรรมและการให้แรงเสริมอย่างถูกวิธีแก่เด็กเช่นเดียวกันแต่หลายครอบครัวที่พ่อแม่ยังไม่เข้าใจเด็กสมาธิสั้น ไม่รู้จักโรคสมาธิสั้น ไม่เคยให้รางวัล ไม่เคยชม และมักจะเลี้ยงดูเด็กเชิงลบด้วยการดุ ตำหนิ ตี เด็กจะเกิดการรับรู้อารมณ์โกรธของพ่อแม่ตลอดเวลา เกิดความรู้สึกว่าบ้านไม่มีความสุข เด็กอาจคิดมาก เกิดความกังวลว่าเป็นต้นเหตุของปัญหาและไม่เป็นที่พึงพอใจของคนในบ้านหากคุณครูเป็นผู้รู้ปัญหาและข้อจำกัดของเด็กสมาธิสั้น ควรช่วยสื่อสารให้ความรู้ คำแนะนำแก่พ่อแม่ในการปรับเปลี่ยนการเลี้ยงดูเด็กเชิงบวก และสนับสนุนพ่อแม่ในการให้รางวัลแก่เด็กเพื่อเสริมกำลังใจได้

 

4. การให้กำลังใจและแรงเสริมอื่นๆแก่เด็ก
         4.1 การยอมรับในตัวเด็ก ได้แก่การยอมรับข้อจำกัดของเด็กสมาธิสั้น และสิ่งที่เด็กทำด้วยความพยายาม อาจไม่จำเป็นต้องรอให้เด็กทำดี หรือทำในสิ่งที่ครูพอใจเท่านั้น
         4.2 รับฟังความฝันของเด็กบ้าง เช่น อาจถามเขาว่า “โตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร” เมื่อเด็กตอบว่าอยากเป็นนักบิน ก็ไม่ควรดูถูกว่าเด็กจะทำไม่ได้ ถึงแม้ว่าเด็กจะเรียนไม่ดี คิดเลขผิดๆถูกๆและไม่น่าจะขับเครื่องบินได้ แต่ควรเอาความฝันของเด็กมาเป็นตัวกระตุ้นในการปรับพฤติกรรมการเรียนของเด็ก ให้เขามีความพยายามมากขึ้น และอดทนทำในสิ่งที่ยากขึ้น
         4.3 ช่วยเด็กพัฒนาตนเอง โดยชี้ให้เห็นว่า แต่ละคนมีเป้าหมายในชีวิตไม่เหมือนกัน ให้เด็กพยายามแข่งกับตนเองและพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ควรบอกเด็กเสมอว่า “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จก็อยู่ที่นั่น”
         4.4 ค้นหาจุดเด่นและฝึกทักษะด้านอื่นๆนอกเหนือไปจากการเรียน แม้เด็กที่ไม่ประสบความสำเร็จทางการเรียน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเด็กจะล้มเหลว เพราะความสำเร็จสามารถทดแทนด้วยความสามารถพิเศษด้านอื่นๆ เช่น กีฬา ดนตรี ศิลปะ งานประดิษฐ์ งานช่าง ความมีน้ำใจ ฯลฯ
         4.5 ให้ความเชื่อมั่นว่าเด็กทำได้ บอกกับเด็กโดยตรงว่า “ครูเชื่อมั่นว่าหนูทำได้” เพื่อกระตุ้นให้เด็กก้าวไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ "ให้ชมก่อนแล้วค่อยแทรกคำแนะนำที่ช่วยให้เด็กสามารถปรับปรุงแก้ไข และพัฒนาสิ่งที่ยังบกพร่องอยู่”

 
ครู มีความสำคัญมาก เปรียบเสมือนแม่คนที่สองของเด็ก ในการให้ความรู้ สอนทักษะชีวิตเพื่อให้เด็กเติบโตอย่างสมบูรณ์ความเมตตาช่วยเหลือเด็กสมาธิสั้นของคุณครูนับเป็นความช่วยเหลือที่มีคุณค่าต่อตัวเด็ก ครอบครัว และสังคมไทยเพื่อให้เด็กไทยในวันข้างหน้าเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพและเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาประเทศชาติสืบไป

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plook Teacher
  • 127 Followers
  • Follow