คณิตศาสตร์เป็นวิชาเกี่ยวข้องกับการใช้ทักษะกระบวนการคิด การแก้ปัญหา การเป็นคนมีเหตุผลมีวิจารณญาณ ความสามารถในการคิดอย่างเป็นระบบ ตลอดจนเสริมสร้างทักษะในการแก้ปัญหาทำให้นักเรียนสามารถคิดวิเคราะห์ คาดการณ์ วางแผนตัดสินใจอย่างมีเหตุผล และคิดอย่างละเอียดถี่ถ้วน
การจัดกระบวนการเรียนรู้คณิตศาสตร์มุ่งให้ผู้เรียนพัฒนาทักษะดังกล่าวอย่างเต็มที่ รวมทั้งสร้างเสริมทัศนคติที่ดีต่อการเรียน รักการเรียนรู้ สนใจไต่ถามอย่างกระตือรือร้น ไม่เบื่อหน่าย ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการเรียน ครูทุกคนควรตระหนักถึง เพราะหากสามารถทำให้บทเรียนทุกเรื่อง เป็นบทเรียนที่สนุก ง่ายนักเรียนก็จะชอบ และอยากเรียนอยากรู้ อยากมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ที่ครูจัดให้เสมอ ด้วยเหตุนี้ครูควรเปิดโอกาสให้นักเรียนมีส่วนร่วมทั้งการทำงานเป็นกลุ่มและทำงานเดี่ยว เพื่อพัฒนาศักยภาพของนักเรียนแต่ละคนได้อย่างเต็มที่
การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่ดีนั้น ควรใช้วิธีการที่หลากหลาย ทุกคนได้แสดงความคิดเห็นได้ตอบคำถาม และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักเรียนด้วยกัน ครูก็สามารถประเมินความรู้ความเข้าใจของนักเรียนระหว่างการเรียนการสอนไปด้วย หรือหากมีเกมให้นักเรียนเล่นบ้าง ก็จะยิ่งท้าทายความสามารถ และดึงดูดความสนใจใฝ่เรียนรู้ให้มากขึ้น การเรียนการสอนในลักษณะนี้เป็นการเรียนการสอนแบบง่ายๆ ผู้เขียนจึงเรียกวิธีการนี้ว่า “เรียนง่ายๆ สไตล์เด็กๆ” ที่เน้นให้ทุกคนมีส่วนร่วม ได้เรียนอย่างสนุกสนาน และสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของการเรียนได้อย่างครบถ้วน
ยกตัวอย่างการเรียนแบบง่ายๆ สไตล์เด็กๆ เรารู้ว่าเด็กๆชอบความสนุกสนาน ชอบเล่นเกม ชอบโยนลูกบอล ชอบร้องเพลง ชอบเคลื่อนไหว ชอบฟังนิทาน ฯลฯ เราก็สามารถนำสิ่งเหล่านี้ มาผสมผสานกับบทเรียนที่ต้องการสอน โดยต้องให้เกิดความกลมกลืนมากที่สุดด้วย เช่น คุณครูคนเก่งที่เป็นนักคิดกิจกรรมเหล่านี้
ครูสอนเลขคนหนึ่งนำลูกเต๋า หรือลูกบอล 2 ลูก มาเขียนตัวเลข ลงไปบนผิวพื้นลูกเต๋า หรือลูกบอลนั้นๆ แล้วโยนให้นักเรียนครั้งละ 2 คน คนละลูก ถ้าคนที่ 1 ได้ 8 และคนที่ 2 ได้ 5 ครูอาจตั้งคำถามได้มากมาย เช่น
- ถ้าให้ 8 เป็นหลักสิบ และ 5 เป็นหลักหน่วย จะเขียนเป็นจำนวนนับได้เท่าไร คำตอบแรก อาจนำไปสู่คำถามต่อๆไปได้อีก เช่น ให้บอกค่าประจำหลัก หรือเขียนในรูปการกระจาย
- นำ 8 บวกกับ 5 ได้ผลลัพธ์เท่าไร
- นำ 8 ลบกับ 5 ได้ผลลัพธ์เท่าไร
- นำ 8 คูณกับ 5 ได้ผลลัพธ์เท่าไร
- นำ 8 หารกับ 5 ได้ผลลัพธ์เท่าไร
- เขียนเส้นจำนวน 8 + 5 = 13
- เขียนเส้นจำนวน 8 - 5 = 13
- เขียนเส้นจำนวน 8 x 5 = 13
- และอื่นๆอีกมากมาย
ครูช่างคิดกิจกรรมคนนี้ อาจตั้งคำถามใส่กระดาษสัก 15 คำถาม แล้วให้นักเรียนแข่งกันตอบเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 6-8 คน ใครตอบถูก ครูให้ออกไปโยนลูกบอลลงตะกร้า ถ้าลงจะได้คะแนน 10 แต้ม และหากพลาดอาจได้โยนใหม่อีกครั้งโดยคะแนนเหลือครึ่งเดียว หรือแล้วแต่จะกำหนด
ครูสอนสนุก เคยให้นักเรียนออกไปนอกห้องเรียน แล้วจัดเป็น 2 แถว ชายและหญิง เดินชนเข้าหากันโดยมีครูอยู่ตรงกลาง แล้วตั้งคำถามให้นักเรียนตอบ เช่น ในบทเรียนเรื่องการคูณ ก็ให้หาผลลัพธ์แข่งกันใครตอบได้เร็วกว่าก็ชนะ คนแพ้จะต้องกลับไปนั่งที่ ส่วนคนชนะจะได้เล่นต่อ ผลสุดท้าย แถวไหนมีคนเหลือมากกว่าก็เป็นฝ่ายชนะ คุณครูยังมีรางวัลเป็นขนม ลูกอมแจกให้อีกด้วย นักเรียนดีใจที่ชนะและได้รางวัล ทีมที่แพ้มีสีหน้าผิดหวังเสียใจ ครูจึงให้แข่งใหม่อีก 2-3 รอบได้เพื่อให้นักเรียนมีโอกาสชนะอีกครั้ง นักเรียนดีใจมาก
กิจกรรมเล่านิทานก็เป็นสิ่งที่เด็กๆชอบ เวลาสอนเรื่องโจทย์ปัญหา ครูมักนำชื่อนักเรียนในชั้นมาแต่งเป็นโจทย์ปัญหา หรือแต่งเป็นเรื่องสนุกๆ เช่น มาร์ก สูง 125 เซนติเมตร วินสูงกว่ามาร์ก 12 เซนติเมตร เสาไฟฟ้าสูงกว่าวิน 4 เมตรครึ่ง คำถามคือ
1. วินสูงเท่าไร
2. เสาไฟฟ้าสูงเท่าไร
3. ให้เรียงลำดับความสูงจากมากไปหาน้อย
เวลาครูใจดีคนนี้สอนเรื่องรูปเรขาคณิต 3 มิติ เช่น รูปทรงกลม ทรงกรวย ปิรามิด ทรงสี่เหลี่ยมทรงกระบอก และรูปลูกบาศก์ ครูก็จะเอารูปจำลองของรูปทรง หรือสิ่งของที่มีรูปทรงต่างๆนั้นมาใส่ถุงใบใหญ่แล้วใช้ผ้าปิดตานักเรียน ให้นักเรียนคลำสิ่งของในถุง แล้วบอกครูว่าเป็นรูปทรงใด โดยมีของรางวัลเมื่อทายได้ถูกต้อง กิจกรรมแบบนี้สามารถเล่นได้ทั่วทุกคน สนุกสนาน และเกิดการเรียนรู้ที่ถาวร เพราะได้สัมผัสของจริงทุกคนได้มีส่วนร่วมด้วย
ครูนักคิดคนนี้ ใช้เศษวัสดุมาเป็นสื่อการสอน เช่น ใช้หลอดกาแฟสีต่างๆมาทำเป็นรูปเรขาคณิต 2 มิติ ประเภทรูปเหลี่ยมได้หลากหลาย
หรือบางทีก็ใช้กล่องกระดาษมาสอนเรื่องปริมาตร เพื่อให้นักเรียนเข้าใจที่มาของสูตรการหาปริมาตรของรูปทรงสี่เหลี่ยม ให้นักเรียนฝึกพับกระดาษเป็นลูกเต๋าทรงลูกบาศก์คนละ 3-4 ลูก แล้วเอามารวมกันแข่งกันจัดรูปทรงสี่เหลี่ยมตามปริมาตรที่กำหนด
แล้วตั้งคำถามโน้มนำให้เด็กคิดว่า ถ้าต้องการทำทรงสี่เหลี่ยมให้มีปริมาตร 12 , 18 , 24, …. ลูกบาศก์ หน่วย จะจัดได้กี่แบบ แบบใดบ้าง ให้นักเรียนลองทำดู เท่ากับเป็นการฝึกให้นักเรียนคิดอย่างมีเหตุมีผล และได้ข้อสรุปด้วยตนเอง ที่สำคัญคือ ทุกคนมีส่วนร่วมในการเรียน
กิจกรรมบางอย่าง ที่ต้องการเน้นให้นักเรียนจำกฎ หรือคุณสมบัติทางคณิตศาสตร์ได้ง่ายและจำได้อย่างถาวร เช่น การถอดรหัสลับคุณสมบัติของรูปสี่เหลี่ยมที่มีลักษณะเดียวกัน เช่น สี่เหลี่ยมที่มีเส้นแทยงมุมแบ่งครึ่งซึ่งกันและกัน มี 4 ชนิด ได้แก่ สี่เหลี่ยมจัตุรัส สี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน สี่เหลี่ยมด้านขนาน และสี่เหลี่ยมผืนผ้า ครูสามารถให้นักเรียนจำเป็นสูตรที่นักเรียนสามารถคิดขึ้นเองได้
สิ่งเหล่านี้ จะทำให้นักเรียนจำคุณสมบัติได้อย่างแม่นยำ คงทนถาวร และยังสนุกสนานกับบทเรียนในวันนั้นด้วย
ในการสอนเรื่องมุมชนิดต่างๆ ครูให้นักเรียนใช้กระดาษแข็งเจาะรู ทำเป็นแขนของมุมดังภาพ แล้วให้นักเรียนหมุนแขนกางมุมเป็นมุมชนิตต่างๆตามที่ครูบอก นักเรียนสนุกสนานและชอบมาก บางครั้งครูก็จะหมุนแขนของมุมเป็นมุมแหลม มุมฉาก และมุมชนิดอื่นๆ แล้วให้นักเรียนบอกชนิดของมุมด้วยนั้นๆให้ถูกต้อง
หรือบางทีก็ให้นักเรียนใช้แขนทั้งสองข้าง ทำเป็นมุมชนิดต่างๆโดยบอกขนาดของมุมเป็นองศา เช่น มุม 60O มุม 120O มุม 90O เป็นต้น บางครั้งก็ใช้ขากางเป็นมุมชนิดต่างๆ ทำให้เด็กๆสนุกสนานมากโดยเฉพาะการกางขาให้เป็นมุมตรง
เกมที่ครูให้เล่นประกอบการแข่งกันกันตอบคำถาม ก็มีส่วนช่วยให้นักเรียนมีใจรักที่จะตอบและตั้งใจคิดคำนวณ เพื่อหาคำตอบในเวลาอันรวดเร็ว เช่น เกมเรียงบัตรตัวเลขให้ได้จำนวนมากที่สุด น้อยที่สุด เป็นต้น
กิจกรรมการเรียนรู้เหล่านี้ ถือเป็นการจัดการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพช่วยให้เกิดความสมดุลระหว่างการเรียนการสอนที่มีการออกแบบตระเตรียมไว้ มีการปรับการสอนตามสถานการณ์ เสริมการเรียนให้นักเรียนได้แก้ไขข้อบกพร่องจากการประเมินผล และคำอธิบายเพิ่มเติมของครู เป็นกิจกรรมที่กระตุ้นความสนใจของนักเรียน เปิดโอกาสให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการสร้างความรู้ ความเข้าใจคณิตศาสตร์ ด้วยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หรือลงมือปฏิบัติด้วยตนเองเกิดความสนุกสนาน เกิดแรงจูงใจในการเรียนรู้ และได้พัฒนาทักษะด้านการสื่อสาร การสื่อความหมายทางคณิตศาสตร์ และการนำเสนอ ด้วยความพึงพอใจ ไม่เกิดแรงกดดันในการเรียนรู้(อ้างถึงใน อรจรีย์ ณ ตะกั่วทุ่ง, 2545) ซึ่งนักเรียนจะต้องเห็นคุณค่าของการเรียนรู้เพื่อตนเอง นั่นคือนักเรียนจะพยายามทำให้ตัวเองงประสบความสำเร็จในงานทุกขั้นที่ทำ พวกเขาจะมีพฤติกรรมที่ผ่อนคลาย เพียรพยายาม มุ่งมั่นในงาน เพื่อทำให้ตัวเองเข้าใจเนื้อหาวิชา หรือยกระดับทักษะทางปัญญาแต่ละคนจะเลือกเรียนรู้สิ่งที่ตนเองสนใจ จึงส่งผลให้ทุกคนได้ประโยชน์จากการเรียนรู้นั้น และช่วยให้จดจำสิ่งที่เรียนได้ดี สอดคล้องกับมาตรฐานการศึกษาของชาติ ข้อที่ 2 แนวทางการจัดการศึกษา(สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ,2547น. 15) ที่กล่าวว่า การจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญนั้น ผู้เรียนควรได้เห็นแบบอย่างที่ดี ได้ฝึกการคิด ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงที่หลากหลายตรงตามความต้องการ และต้องมีความสุขในการเรียนรู้ ครูคณาจารย์ รู้จักผู้เรียนเป็นรายบุคคล เตรียมการสอนและใช้สื่อที่ผสมผสานความรู้สากลกับภูมิปัญญาไทยจัดบรรยากาศเอื้อต่อการเรียนรู้ จัดหาและพัฒนาแหล่งการเรียนรู้ที่หลากหลาย และพัฒนาความคิดของผู้เรียนอย่างเป็นระบบและสร้างสรรค์ดังนั้น ครูทุกคนควรตระหนักถึงบทบาท หน้าที่ในการสอนด้วยการจัดกิจกรรมที่หลากหลายมีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ สร้างทัศนคติที่ดีต่อการเรียนคณิตศาสตร์ให้แก่นักเรียนโดยใช้เทคนิคการสอนกิจกรรมที่เหมาะสม เพื่อพัฒนานักเรียนให้ไปสู่เป้าหมายได้ในที่สุด
บรรณานุกรม
ดวงเดือน อ่อนน่วม . (2547) . ประมวลบทความหลักการ และแนวทางการจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระ การเรียนรู้คณิตศาสตร์ . กรุงเทพมหานคร : บริษัทบพิธการพิมพ์ จ ากัด . ส านักงานเลขาธิการสภาการศึกษา . (2548) . มาตรฐานการศึกษาของชาติ . กรุงเทพมหานคร : ห้างหุ้นส่วนจ ากัดสหายบล็อค และการพิมพ์ . อรจรีย์ ณ ตะกั่วทุ่ง . (2545) . สุดยอดการพัฒนาการเรียนการสอน . กรุงเทพมหานคร : ส านักพิมพ์เบรนเน็ท .