Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

“เครื่องช่วยฟังดิจิตอล” ตัวช่วยหูฝีมือไทย

Posted By Plook Panya | 23 พ.ย. 55
10,630 Views

  Favorite

                     
                                                                เครื่องช่วยฟังดิจิทัล 
 
       สวทช.- นักวิจัยไทยพัฒนา “เครื่องช่วยฟังดิจิตัล” ตัวช่วยหูสำหรับผู้สูญเสียการได้ยิน ลดค่าใช้จ่ายจากการนำเข้า และได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคเอกชนแล้ว
       
       การสูญเสียการได้ยินเป็นปัญหาสำคัญหนึ่งที่ทำให้ผู้สูงอายุหรือผู้พิการดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างลำบาก การพัฒนาเครื่องช่วยฟังซึ่งทำหน้าที่ขยายและปรับแต่งสัญญาณเสียงตามที่กำหนดได้จึงเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับกลุ่มคนเหล่านี้ เพื่อให้สามารถได้ยินเสียงและดำเนินชีวิตอย่างปกติ แต่เครื่องช่วยฟังส่วนใหญ่นั้นยังต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศอีกทั้งมีราคาที่ค่อนข้างสูงทำให้ผู้ต้องการใช้ไม่สามารถเข้าถึงบริการเหล่านี้ได้ทั่วถึง
      
       ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) อ้างผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2550 พบว่าจำนวนผู้พิการจำนวนมากในประเทศไทยถึง1.9 ล้านคน แบ่งเป็นผู้พิการอายุระหว่าง 15-30 ปีจำนวน 2.3 แสนคน ผู้พิการที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปมี 1.8 ล้านคน โดยจำนวนเหล่านี้ยังรวมถึงผู้พิการทางการได้ยิน ซึ่งการสูญเสียการได้ยินนี้เป็นปัญหาสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของผู้พิการและผู้สูงอายุ
      
       แนวทางแก้ปัญหาของผู้สูญเสียการได้ยินคือการใช้เครื่องช่วยฟังซึ่งทำหน้าที่ขยายและปรับแต่งสัญญาณเสียงเพื่อให้พวกเขาได้ยินเสียงและใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ปัญหาคือต้องเข้าเครื่องดังกล่าวต่างประเทศและมีราคาค่อนข้างสูง ทำให้พวกเขาไม่สามารถเข้าถึงเครื่องมือดังกล่าวได้อย่างทั่วถึง
      
       ทางสถาบันวิศวกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยี สิ่งอำนวยความสะดวก (REAT) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงได้พัฒนาเครื่องช่วยฟังดิจิทัลเพื่อให้มีราคาถูก
      
       “เรื่องการสูญเสียการได้ยินเป็นความพิการหลักอย่างหนึ่งของประเทศ บางคนอาจไม่ทันสังเกตเพราะเป็นความพิการซ้อนเร้น บางคนหูเสียแต่ยังพอได้ยินจึงกลับคิดว่าตนไม่ได้เป็นคนที่มีความบกพร่อง ซึ่งกลุ่มคนที่มีความสูญเสียการได้ยินในระดับที่ถูกจัดว่ามีความพิการอาจมีประมาณมากกว่า 280 ล้านคนทั่วโลก หรือเฉลี่ยประมาณ 4% ส่วนประเทศกำลังพัฒนามีจำนวนมากกว่านั้น และเมื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน” ดร.พศิน อิศรเสนา ณ อยุธยา หัวหน้าห้องปฎิบัติการวิจัยเทคโนโลยีเพื่อการฟื้นฟูและอำนวยความสะดวก REAT) กล่าว
      
       ทั้งนี้ การสูญเสียการได้ยินมีหลายประเภท ได้แก่ ประเภทประสาทหูเสื่อมซึ่งเกิดจากประสาทรับเสียงบริเวณก้นหอยขาดหายหรือได้รับความเสียหาย ประเภทการนำเสียงบกพร่องหมายถึงความผิดปกติบริเวณหูชั้นนอกหรือหูชั้นกลางซึ่งปิดกั้นไม่ให้เสียงถูกส่งต่อไปยังหูชั้นในอย่างสมบูรณ์ การสูญเสียการได้ยินชนิดผสมเป็นอาการร่วมระหว่างการสูญเสียการได้ยินชนิดประสาทหูเสื่อมและชนิดการนำเสียงบกพร่อง และสุดท้ายคือประเภทเส้นประสาทควบคุมการได้ยินบกพร่อง เกิดจากการที่เส้นประสาทการได้ยินหรือเส้นประสาทคู่ที่ 8ไม่สามารถส่งสัญญาณไปยังสมองได้
      
       “บ่อยครั้งที่แพทย์ประเมินแล้วว่าสูญเสียการได้ยินจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยฟัง แต่เครื่องช่วยฟังส่วนใหญ่ในประเทศยังต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศ อีกทั้งบางประเภทมีราคาค่อนข้างสูง สวทช.เนคเทค จึงมีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเตรียมความพร้อมบริการด้านเครื่องช่วยฟัง เพื่อให้เอกชนนำผลงานไปพัฒนาต่อยอดให้คนไทยได้ใช้เป็นทางเลือก” ดร.พศินกล่าว
      
       ดร.พศินกล่าวว่า กระบวนการทำงานเครื่องช่วยฟังจะมีฟังก์ชั่นเบื้องต้น คือ การขยายเสียง ซึ่งการขยายจะต้องถูกปรับให้เหมาะกับแต่ละบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งสามารถกำหนดให้ระดับความดังในย่านความถี่ต่างๆมีกำลังแตกต่างกันได้ตามลักษณะการสูญเสียการได้ยินของบุคคลนั้นๆ นอกจากนี้ยังต้องมั่นใจว่ากำลังขยายสามารถถูกควบคุมให้อยู่ในระดับที่ไม่ดังเกินไปจนเป็นอันตรายแก่ผู้ใช้
      
       “สำหรับข้อดีโดยทั่วไปของเทคโนโลยีดิจิตอล คือ มีความเสถียรของสัญญาณเสียงมากกว่าระบบอนาล็อก และปรับแต่งได้ละเอียดกว่า เครื่องช่วยฟังที่เป็นระบบดิจิตอลก็มีบริการในเมืองไทย แต่ยังมีราคาที่สูงงานวิจัยนี้จึงพยายามทำเครื่องช่วยฟังดิจิตอลให้มีตลาดในราคาที่เหมาะสมมากขึ้น นอกจากนี้ยังได้รับความอนุเคราะห์จากคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำเครื่องต้นแบบไปทดสอบระยะยาว ซึ่งให้ผลที่น่าพึงพอใจ” ดร.พศินกล่าว
      
       “ปกติเครื่องช่วยฟังจำเป็นต้องใช้ถ่านชนิดพิเศษราคาประมาณ 50 บาท และการใช้ถ่านในแต่ละรุ่นก็แตกต่างกัน บางรุ่นอาจต้องมีการเปลี่ยนถ่านบ่อยครั้งทุกๆ เดือน ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นพอสมควร จึงได้มีการออกแบบให้สามารถใช้แบตเตอรี่แบบชาร์จเช่นเดียวกับโทรศัพท์มือถือ รวมทั้งมีขนาดเล็ก ปรับแต่งการทำงานผ่านคอมพิวเตอร์ได้ และยังมีฟังก์ชั่นเสริมที่สามารถเชื่อมต่อกับโทรศัพท์มือถือรุ่นที่มีบลูทูธได้” ผู้พัฒนาการ และเผยว่าได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีไปยังเอกชนแล้ว

 
             

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Panya
  • 7 Followers
  • Follow