ผู้ที่ออกมาเตือนให้เห็นถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว คือ ศาสตราจารย์ Paul Gringras แพทย์จากโรงพยาบาลเด็ก Evelina ในกรุงลอนดอน ระบุว่า ผู้ผลิตสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ควรเกิดความตระหนักว่า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ทางค่ายพัฒนาขึ้นมากำลังขัดขวางการพักผ่อน และแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมให้มากกว่านี้ ด้วยการพัฒนาโหมด “Bedtime” หรือโหมดสำหรับช่วงเวลาแห่งการพักผ่อนเพื่อไม่ให้อุปกรณ์กลายเป็นเครื่องมือรบกวนเวลานอนของเจ้าของอีกต่อไป และที่สำคัญ โหมด Bedtime นี้ควรทำงานได้โดยอัตโนมัติ ไม่ต้องรอให้เจ้าของเครื่องเป็นผู้เปิดการทำงานด้วยตัวเอง
“ในอุปกรณ์สื่อสารรุ่นใหม่ ๆ เรามักพบว่าจุดขาย คือ การบอกว่าตัวเครื่องนั้นให้แสงที่สว่างสดใสมากขึ้น ซึ่งในความเป็นจริงความสามารถดังกล่าวไม่ได้เป็นผลดีต่อสุขภาพในระยะยาว เพราะแสงสีฟ้าทำให้นาฬิกาชีวิตของมนุษย์ทุกคนทำงานล่าช้าลง และทำให้มนุษย์ยังตื่นตัวอยู่เสมอแม้ว่าจะถึงเวลาที่ควรจะนอนแล้วก็ตาม”
ทั้งนี้ความสว่างของหน้าจอโทรศัพท์มือถือมีผลโดยตรงต่อฮอร์โมนเมลาโทนิน เนื่องจากฮอร์โมนดังกล่าวมีความมืดเป็นตัวกระตุ้น และหยุดหลั่งเมื่อเจอแสงสว่าง ดังนั้นในช่วงเย็นการที่มนุษย์เอาแต่จ้องหน้าจอสมาร์ทโฟนจะทำให้คนเรารู้สึกตื่นตัวตลอดเวลา เพราะระบบการสร้างฮอร์โมนเมลาโทนินถูกขัดขวางนั่นเอง
ในรายงานของศาสตราจารย์ Gringras ยังเผยด้วยว่า เทรนด์การพัฒนาอุปกรณ์ในยุคใหม่ที่เน้นเรื่องขนาดให้ใหญ่ขึ้น และให้มีหน้าจอสีสันสดใส ยิ่งทำให้ร่างกายของผู้ใช้งานอุปกรณ์ได้รับแสงสีฟ้ามากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งเจ้าของงานวิจัยถึงกับเผยว่า การใช้งานอุปกรณ์สื่อสารในระหว่างวันถือเป็นเรื่องดี แต่ไม่เหมาะสมที่จะใช้ต่อเนื่องมาจนถึงเวลากลางคืน
ขอบคุณภาพปก : Pixabay