(ภาพ : flickr.com)
อีกหนึ่งวันสำคัญของคนจีน นั่นคือ วันไหว้พระจันทร์ ซึ่ง วันไหว้พระจันทร์ ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10
โดยในบางปี วันไหว้พระจันทร์ จะตรงกับเดือนกันยายน หรือตุลาคม ซึ่งก็คือช่วงกลางฤดูใบไม้ร่วง ชาวจีนจึงเรียกว่า "จงชิว" (Zhong Qiu) แปลว่า "กลางฤดูใบไม้ร่วง" ซี่งเป็นเทศกาลตามวัฒนธรรมจีน เพื่อเฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยว จะมีขึ้นในคืนวันเพ็ญเดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติ (กันยายนตามปฏิทินสากล) เป็นการไหว้ครั้งที่ 6 ของปี เรียกการไหว้ครั้งนี้ว่า "ตงชิวโจ่ย" ซึ่งเป็นหนึ่งในจำนวน 4 สาร์ทหลัก คือ ชุง แห่ ชิว ตัง เป็นประเพณีที่ชาวจีนถือปฏิบัติสืบต่อกันมานับพันปี
วันไหว้พระจันทร์ เป็นวันที่พระจันทร์ส่องแสงงดงามที่สุด และเต็มดวงที่สุด ชาวจีนจึงให้พระจันทร์เป็นสัญลักษณ์ของความสวยงาม เป็นสื่อกลางของการคิดถึงซึ่งกันและกัน
(ภาพ : flickr.com)
เมื่อคนในครอบครัวจากบ้านเกิดไปไกลคิดถึงครอบครัว ก็ให้แหงนมองดวงจันทร์ส่งความรู้สึกที่ดี ส่งความคิดถึงไปสู่ครอบครัวและคนที่รักผ่านดวงจันทร์
นอกจากนี้ ชาวจีนยังถือว่า วันไหว้พระจันทร์ เป็นวันที่คนในครอบครัวจะได้แสดงความสามัคคีกัน และได้ชมดวงจันทร์พร้อมหน้ากัน ซึ่งชาวจีนได้นิยาม วันไหว้พระจันทร์ ว่า "วันแห่งการอยู่พร้อมหน้าของครอบครัว"
เทศกาลไหว้พระจันทร์มีตำนานและเรื่องเล่าที่เกี่ยวพันไม่น้อย แต่ที่โด่งดังเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายเห็นจะเป็น
ตำนาน “เทพธิดาฉางเอ๋อเหินสู่ดวงจันทร์” (嫦娥奔月)
ตำนานดังกล่าวปรากฏครั้งแรกในยุคต้นของสมัยจั้นกว๋อ ( ยุคสงคราม 475 - 221 ก่อนคริสต์ศักราช ) เป็นเรื่องราวของฉางเอ๋อ สาวงามผู้กินยาอายุวัฒนะของเจ้าแม่ซีหวังหมู่ แล้วกลายเป็นเทพธิดาอมตะแห่งดวงจันทร์ ตำนานเกี่ยวกับฉางเอ๋อผู้นี้ได้ถูกแต่งเติมรายละเอียดออกไปอีกในราชวงศ์ต่อมา
เล่ากันว่า เมื่อครั้งโบราณกาล โลกเรามีดวงอาทิตย์อยู่ถึงสิบดวง นำมาซึ่งภัยพิบัติแก่โลกมนุษย์ ทุกหย่อมหญ้าร้อนระอุเป็นแผ่นดินเพลิง ส่วนที่เป็นน้ำก็เหือดแห้ง ส่วนที่เป็นภูเขาก็ถล่มแผ่นดินแยก ต้นไม้ใบหญ้าแห้งกรอบ ผู้คนไม่มีที่หลบซ่อนอาศัย
ในครั้งนั้น ได้ปรากฏวีรบุรุษนามว่า “โฮ่วอี้” เป็นผู้ที่มีฝีมือในการยิงธนูได้แม่นยำอย่างอัศจรรย์ เขายิงธนูขึ้นสู่ฟ้าเพียงดอกเดียวก็ยิงถูกดวงอาทิตย์ถึงเก้าดวง ทำให้เหลืออยู่เพียงดวงเดียว ถือเป็นการขจัดทุกเข็ญให้กับบรรดาประชาราษฎร์ ผู้คนจึงพากันยกย่องให้เขาเป็นกษัตริย์
(ภาพ : flickr.com)
ทว่า เมื่อโฮ่วอี้ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ ก็ลุ่มหลงในสุราและนารี ฆ่าฟันผู้คนตามอำเภอใจ กลายเป็นทรราช ราษฎรล้วนแต่โกรธแค้นและชิงชังเขาเป็นที่สุด โฮ่วอี้รู้ตัวว่าคงจะอยู่เป็นสุขเช่นนี้ไปได้อีกไม่นาน จึงเดินทางไปที่ภูเขาคุนหลุน (คุนลุ้น) เพื่อขอยาอายุวัฒนะจากเจ้าแม่หวังหมู่มากิน
แต่ฉางเอ๋อ ภรรยาของเขากลัวว่า ถ้าสามีของนางมีอายุยืนนาน ไม่มีวันตายเช่นนี้ อาจจะนำความเดือดร้อนมาสู่ราษฎรเป็นแน่ คิดได้ดังนี้ นางจึงตัดสินใจแอบขโมยยาอายุวัฒนะนั้นมากินเสียเอง เมื่อกินเข้าไปแล้ว ร่างของฉางเอ๋อก็เบาหวิว และลอยขึ้นไปสู่ดวงจันทร์ นับแต่นั้นมา บนดวงจันทร์ก็ปรากฏภาพเทพธิดา ที่เชื่อกันว่าเป็นฉางเอ๋อนี้เอง
ตามบันทึกโบราณ โจวหลี่ ระบุว่า จีนเริ่มเซ่นไหว้พระจันทร์เมื่อสมัยราชวงศ์ถัง ซึ่งที่มาของพิธีในเทศกาลนี้มีส่วนเกี่ยวเนื่องกับตำนานความฝันของกษัตริย์ถังหมิงหวง เสด็จประพาสพระราชวังบนดวงจันทร์
เรื่องเล่ามีอยู่ว่า ในกลางดึกของคืนเดือนเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 กษัตริย์ถังหมิงหวงบรรทมหลับไปแล้วทรงพระสุบินว่า พระองค์ลอยขึ้นไปเที่ยวชมพระราชวังบนดวงจันทร์ และได้พบเทพธิดาบนดวงจันทร์กำลังร่ายรำอยู่อย่างงดงาม ในฝันนั้น พระองค์ทรงเพลิดเพลินและเกษมสำราญเป็นอย่างยิ่ง กระทั่งเมื่อตื่นพระบรรทมและทรงโปรดให้ฝันนั้นเป็นความจริง จึงมีรับสั่งให้นางสนมแต่งตัวและร่ายรำเลียนแบบเทพธิดาในฝัน
ตั้งแต่นั้นมาทุกวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 พระองค์ก็รับสั่งให้จัดเครื่องเซ่นไหว้พระจันทร์ และทอดพระเนตรความงามของพระจันทร์ไปพร้อมกับการร่ายรำของนางสนม
อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับต้นกำเนิดของเทศกาลนี้ ยังคงไม่เป็นที่ปรากฏแน่ชัด บ้างก็ว่าจักรพรรดิ์วู แห่งราชวงศ์ฮั่น เป็นผู้ริเริ่มการฉลองเพื่อกราบไว้พระจันทร์เป็นเวลา 3 วันในฤดูใบไม้ร่วงนี้
(ภาพ : flickr.com)
ขณะที่บางประวัติศาสตร์กล่าวว่า เทศกาลไหว้พระจันทร์ เกิดขึ้นในราวปี พ.ศ.1911 ในช่วงมองโกลยึดครองจีน ขนมเค้กที่ทำขึ้นก็เพื่อซุกซ่อนข้อความลับของพวกกบฏ ที่มีถึงประชาชนทั่วทั้งประเทศให้มาชุมนุมกันครั้งใหญ่ในเดือน 10 นี้
ทหารมองโกลไม่ได้ระแวงถึงจุดประสงค์ของพวกกบฏเพราะคิดว่าขนมเค้กเหล่านั้นเป็นการทำตามประเพณีดั่งเดิมของชาวจีนด้วยเหตุนี้ในคืนนั้นเองทหารมองโกลจึงถูกปราบเสียราบคาบหลังจากที่ราชวงศ์ใหม่คือราชวงศ์หมิงได้ถูกจัดตั้งขึ้นแล้ว วันไหว้พระจันทร์ จึงถือปฏิบัติกันมาจนถึงทุกวันนี้
ประเพณีการไหว้พระจันทร์
ก่อนหน้านี้ วันไหว้พระจันทร์ ชาวจีนที่เป็นผู้ชายจะไม่นิยมไหว้พระจันทร์ เนื่องจากชาวจีนเชื่อว่า พระจันทร์ถือเป็นหยินซึ่งเป็นธาตุของผู้หญิง ผู้ชายถือเป็นหยาง ดังนั้น จึงให้แต่ผู้หญิงเป็นคนไหว้เท่านั้น แต่ปัจจุบันชาวจีนทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ก็สามารถไหว้พระจันทร์ได้เช่นกัน
การไหว้พระจันทร์ จะเริ่มต้นตอนหัวค่ำ ซึ่งดวงจันทร์เริ่มปรากฏบนท้องฟ้า และถึงแม้ปีไหนหรือสถานที่แห่งใดมองไม่เห็นพระจันทร์ แต่การไหว้พระจันทร์ของชาวจีน ก็จะยังต้องมีการไหว้พระจันทร์ในค่ำคืนนั้นเหมือนเดิม
พิธีดำเนินไปจนถึงประมาณ 4-5 ทุ่ม หลังเสร็จพิธีทุกคนในครอบครัวจะตั้งวงแบ่งกันกินขนมไหว้พระจันทร์
(ภาพ : flickr.com)
โดยขนมต้องนำมาหั่นแบ่งให้เท่ากับจำนวนคนในครอบครัว ห้ามเกินหรือขาด และแต่ละชิ้นต้องมีขนาดที่เท่ากัน ขนมไหว้พระจันทร์จึงเป็นสัญลักษณ์ของความสามัคคี ความกลมเกลียวคนในครอบครัว ดังนั้น รูปลักษณะของขนมไหว้พระจันทร์ จะต้องทำเป็นก้อนวงกลมเท่านั้น
ทั้งนี้แม้วันไหว้พระจันทร์จะเป็นเทศกาลของชาวจีน แต่ปัจจุบันก็มีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ร่วมทำพิธีไหว้พระจันทร์ด้วย เพื่อความเป็นสิริมงคลตามความเชื่อ ดังนั้นหากปีนี้บ้านไหนมีความตั้งใจจะไหว้ขอพรจากพระจันทร์อยู่ละก็ ต้องเตรียมของไหว้พระจันทร์ต่าง ๆ ให้พร้อม
1 ธูป เทียน กระถางธูป
2 กระดาษเงิน กระดาษทอง กระดาษรูปเซียน 8 องค์
3 ดอกไม้สด 1 คู่
4 น้ำชา
5 น้ำบริสุทธิ์
6 ผลไม้ต่าง ๆ ที่มีชื่อและมีความหมายเป็นสิริมงคล เช่น ทับทิม หมายถึงลูกเต็มบ้าน หลานเต็มเมือง, แอปเปิล หมายถึงความสงบสุข, องุ่น หมายถึงความเพิ่มพูน, ส้ม หมายถึงความเป็นมงคล, สาลี่ หมายถึง ขอให้มีแต่เรื่องดี ๆ เข้ามาในชีวิต รวมทั้งส้มโอ แต่ไม่ควรใช้ผลไม้ที่มียางหรือมีหนาม
7 อาหารเจชนิดแห้ง เช่น เห็ดหอม วุ้นเส้น สาหร่ายทะเล ดอกไม้จีน ฟองเต้าหู้ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีของไหว้ที่สำหรับใช้ในพิธีไหว้พระจันทร์โดยเฉพาะ คือ
8 ขนมหวาน เช่น ขนมไหว้พระจันทร์ ขนมเปี๊ยะ สาคูแดง ขนมโก๋สีขาว ควรเลือกที่มีรูปทรงกลมเหมือนพระจันทร์
9 โคมไฟ สำหรับจุดไฟเปรียบเหมือนชีวิตที่สว่างไสว(ประดับที่ซุ้มอ้อย)
(ภาพ : flickr.com)
10 ของใช้ส่วนตัวของผู้หญิง เช่น ชุดเครื่องแป้ง เครื่องสำอาง เครื่องประดับ เครื่องแต่งกายของผู้หญิง ตลับแป้ง น้ำหอม อันเป็นการสื่อว่ามีเสน่ห์สวยงามเหมือนพระจันทร์ที่เปรียบเป็นเพศหญิง
11 ต้นอ้อย 1 คู่ สำหรับทำเป็นซุ้ม
*หมายเหตุ : บางตำราอาจระบุให้จัดของไหว้เป็นผลไม้ 5 ชนิด ขนมหวาน 5 ชนิด อาหารเจ 5 ชนิด แต่ในบางตำราอาจระบุให้ใช้เลข 4 ซึ่งเป็นเลขคู่ โดยจัดของไหว้เป็นผลไม้ 4 ชนิด ขนมหวาน 4 ชนิด อาหารเจ 4 ชนิด ซึ่งก็แล้วแต่ศรัทธา
ไหว้พระจันทร์ใช้ธูปกี่ดอก ?
โดยส่วนใหญ่ตำราต่าง ๆ มักแนะนำให้จุดธูป 3 ดอก หรือ 5 ดอกก็ได้ โดยมีคำแนะนำว่า หากไหว้ด้วยผลไม้ 5 ชนิด ก็ควรใช้ธูป 5 ดอก แต่ถ้าบ้านไหนใช้ธูปพิเศษ เช่น ธูปมังกรก็จุดธูปดอกใหญ่ดอกเดียวได้
ก่อนหน้านี้ ชาวจีนที่เป็นผู้ชายจะไม่นิยมไหว้พระจันทร์ เนื่องจากชาวจีนเชื่อว่าพระจันทร์ถือเป็นหยินซึ่งเป็นธาตุของผู้หญิง ผู้ชายถือเป็นหยาง ดังนั้นจึงให้แต่ผู้หญิงเป็นคนไหว้เท่านั้น แต่ปัจจุบันชาวจีนทั้งผู้หญิงและผู้ชายก็สามารถไหว้พระจันทร์ได้เช่นกัน แต่มักให้ผู้หญิงเป็นคนไหว้คนแรก ซึ่งในการไหว้พระจันทร์จะต้องทำพิธีดังนี้
1. ไหว้เจ้าในช่วงเช้า
จัดของไหว้เจ้าเหมือนปกติ แต่เพิ่มขนมไหว้พิเศษ คือ ขนมไหว้พระจันทร์, ขนมโก๋, ขนมเปี๊ยะต่าง ๆ
2. ไหว้บรรพบุรุษ
จัดของไหว้บรรพบุรุษเหมือนปกติ แต่เพิ่มขนมไหว้พิเศษ คือ ขนมไหว้พระจันทร์, ขนมโก๋, ขนมเปี๊ยะต่าง ๆ
3. ไหว้เจ้าแม่ในตอนค่ำ
เมื่อดวงจันทร์เริ่มปรากฏบนท้องฟ้า
สำหรับสถานที่ไหว้พระจันทร์ในตอนค่ำควรเลือกที่กลางแจ้ง อาจเป็นลานบ้าน หน้าบ้าน หรือดาดฟ้าก็ได้ ตั้งโต๊ะทำซุ้มต้นอ้อยให้เสร็จเรียบร้อย ในช่วงพระอาทิตย์ตกดินหรือตอนหัวค่ำ
(ภาพ : flickr.com)
ก่อนพระจันทร์จะลอยสูงเกินขอบฟ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก จุดธูปเทียนอธิษฐานขอพรจากพระจันทร์ และควรเก็บโต๊ะก่อนที่พระจันทร์จะเลยศีรษะไป หรือเมื่อเทียนดอกใหญ่ดับลง
เมื่อเสร็จสิ้นพิธีควรนำของไหว้มาทาน โดยเฉพาะขนมไหว้พระจันทร์ที่ควรนำมาหั่นแบ่งให้เท่ากับจำนวนคนในครอบครัว และควรแบ่งให้แต่ละชิ้นมีขนาดเท่ากัน เพื่อความเป็นสิริมงคล
ส่วนอาหารอื่น ๆ นั้นไม่จำเป็นต้องทานทั้งหมด อาจเก็บไว้บางส่วน หรือนำไปแจกญาติ ๆ ก็ได้
อย่างไรก็ตาม หากบ้านไหนไม่สะดวกไหว้พระจันทร์ทั้ง 3 เวลา ก็สามารถเลือกไหว้พระจันทร์เฉพาะตอนค่ำ หรือหากไม่มีของไหว้ชุดใหญ่ก็สามารถใช้ของไหว้ชุดเล็ก โดยเน้นขนม ผลไม้ รวมทั้งของใช้ส่วนตัวผู้หญิงมาร่วมไหว้ด้วยได้เช่นกัน
ขนมไหว้พระจันทร์ (Moon Cake) เป็นของไหว้ที่ขาดไม่ได้ โดยขนมไหว้พระจันทร์จะทำเป็นรูปกลม จะต้องมีไส้หวาน หรือสอดไส้ด้วยธัญพืชที่มีรสหวานเท่านั้น
(ภาพ : flickr.com)
แต่ปัจจุบัน ขนมไหว้พระจันทร์ มีทั้งไส้หมูแฮม ไส้หมูแดง ไส้หมูหยอง และไส้ต่าง ๆ ที่มีรสเค็ม รสเปรี้ยว ซึ่งไม่ได้ให้ความหมายใด ๆ มากไปกว่า "ขนม" หรือ "Moon Cake" ที่รับประทานกันเพื่อความอร่อยเท่านั้น ซึ่ง ขนมไหว้พระจันทร์ จะมีการจำหน่ายกันล่วงหน้าก่อนวันไหว้พระจันทร์
ส่วนผลไม้ต่าง ๆ อาทิ ส้มโอ แอปเปิล สาลี่ ทับทิม กล้วย ส้ม และผลไม้ท้องถิ่นอื่น ๆ รวมทั้ง เครื่องสำอาง แป้ง ก็สามารถนำมาไหว้พระจันทร์ได้
ชาวจีนถือว่า เทศกาลไหว้พระจันทร์ เป็นเทศกาลสำคัญที่ทุกคนในครอบครัวต้องมาอยู่รวมกันพร้อมหน้าพร้อมตา ดังนั้น หนุ่มสาว หรือคนในครอบครัว จึงมักซื้อขนมไหว้พระจันทร์ไปมอบให้กับผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้าน และรับประทานขนมไหว้พระจันทร์ด้วยกันพร้อมชมพระจันทร์เต็มดวง โดยควรจะตัดแบ่งขนมไหว้พระจันทร์ให้มีจำนวนชิ้นพอดีกับผู้ที่ร่วมรับประทาน
ทั้งหมดนี้เป็นการแสดงถึงความสามัคคีกลมเกลียว เปรียบเหมือนขนมไหว้พระจันทร์ที่มีลักษณะกลม หมายถึงการได้กลับมาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตาของคนในครอบครัว
นอกจากนี้ พระจันทร์ที่มีลักษณะกลม ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของความสวยงาม เป็นสื่อกลางแสดงถึงความคิดถึง ความรัก และส่งต่อความปรารถนาดีให้กับคนในครอบครัวด้วย
ที่มา : เฟซบุ๊ก ศาลเจ้าจีน ไทยแลนด์ ออนไลน์
เครดิตข้อมูล:Kapook.com,wikipedia,เดลินิวส์,หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ,
sinsae.com, baanmaha.com, thai.cri.cn
เครดิต ภาพ: sanjeenthailandonline, Kapook.com,wikipedia,เดลินิวส์,หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ,
sinsae.com, baanmaha.com, thai.cri.cn