การทดสอบทางการศึกษาในยุคปัจจุบัน มุ่งเน้นการทดสอบเพื่อประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การประเมินระดับสากลอย่าง PISA (Programme for International Student Assessment) ซึ่งประเมินในสามด้าน ได้แก่ การรู้เรื่องการอ่าน ( Reading Literacy) การรู้เรื่อง คณิตศาสตร์ (Mathematical Literacy) และการรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ ( Scientific Literacy) โดยมีจุดประสงค์การประเมินเพื่อสำรวจระบบการศึกษาของประเทศต่าง ๆ ว่าเยาวชนของชาติมีความพร้อมสำหรับการใช้ชีวิตและการมีส่วนร่วมในสังคมในอนาคตเพียงพอหรือไม่ ซึ่งผลการประเมิน PISA ปี ค.ศ. 2012 ประเทศไทยมีคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ องค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD (Organisation for Economic Cooperationand Development) ทั้ง 3 วิชา ซึ่งลำดับการประเมินของไทย ยังคงอยู่ในอันดับที่ 50 จากประเทศที่เข้าสอบทั้งหมด 65 ประเทศ จากผลการประเมินระดับสากลในด้านการศึกษา สะท้อนให้เห็นว่าผู้เรียนในประเทศไทยยังมีศักยภาพความพร้อมที่จะแข่งขันในระดับนานาชาติอยู่ในระดับต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับหลายประเทศ รวมถึงเพื่อนบ้านใกล้เคียง และประเทศในทวีปเอเชียไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ เวียดนาม เกาหลี ญี่ปุ่น หรือจีน และเมื่อพิจารณาถึงผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน ( O-NET) ของประเทศไทยเอง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ปีการศึกษา 2558 พบว่า คะแนนเฉลี่ยของวิชาภาษาไทย สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ต่ำกว่า 50 คะแนนทุกวิชาจากคะแนนเต็ม 100 คะแนน ซึ่งสะท้อนถึงการศึกษาของไทยที่สมควรมีการทบทวน ปรับปรุง พัฒนากระบวนการจัดการเรียนการสอนและการประเมินผลการจัดการเรียนการสอนโดยเร็วเพื่อพัฒนาผู้เรียนของเราให้มีศักยภาพความสามารถในการเรียนรู้คิดวิเคราะห์ ให้มากขึ้นเพื่อให้สามารถแข่งขันและยืนหยัดอยู่ได้ในสังคมโลกยุคใหม่
เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย ทั้งภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน การอยู่ร่วมกันของคนต่างสังคมต่างวัฒนธรรม และการติดต่อสื่อสารระหว่างประเทศผ่านสื่อสังคมออนไลน์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย บุคลากรที่เป็นที่ต้องการของโลกในยุคนี้ ต้องมีความรู้ความสามารถที่หลากหลายมีทักษะที่จำเป็นในการหาเลี้ยงชีพและเอาตัวรอดในสังคมยุคปัจจุบันได้ในทุกสถานการณ์ ท่ามกลางวิกฤติของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ดังกล่าว นำมาสู่การกำหนดทักษะที่จำเป็นของเด็กไทยในยุคศตวรรษที่ 21 คือ E x 4R x 7C ดังนี้
E คือ ต้องเป็นผู้ที่มีคุณธรรมและจริยธรรม (Ethical Person)
4R ประกอบด้วย ความสามารถในการอ่านออก ( Reading) เขียนได้ ( Writing) คิดเลขเป็น (Arithmetic) และมีความสามารถในการใช้เหตุผล (Reasoning) และ
7C ประกอบด้วย
1) ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณและการแก้ไขปัญหา (Critical Thinking & Problem Solving)
2) ทักษะด้านความร่วมมือ การทำงานเป็นทีม และภาวะผู้นำ (Collaboration, Teamwork & Leadership)
3) ทักษะการสื่อสาร การใช้สารสนเทศ และการรู้เท่าทันสื่อ (Communication, Information & Media Literacy)
4) ทักษะด้านความรู้คอมพิวเตอร์ และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Computing & ICT Literacy)
5) ทักษะอาชีพ และทักษะการเรียนรู้ด้วยการพึ่งพาตนเอง (Career & Learning Self-reliance)
6) ทักษะความเข้าใจในความต่างทางวัฒนธรรม ต่างกระบวนทัศน์ (Cross-Culture Understanding)
7) ทักษะด้านการสร้างสรรค์และนวัตกรรม (Creativity & Innovation)
หน่วยงานและสถาบันทางการศึกษามีหน้าที่เตรียมความพร้อมแก่ผู้เรียน ให้มีทักษะในศตวรรษที่ 21 เพื่อก้าวเข้าสู่วัยทำงานและเป็นพลโลกที่มีความพร้อมที่จะรับมือการเปลี่ยนแปลงต่อไปในอนาคต แล้วเราจะทราบได้อย่างไรว่าผู้เรียนมีทักษะครบตามที่เราต้องการหรือไม่ จึงนำมาสู่ความท้าทายในการออกแบบการวัดและประเมินผลในยุคศตวรรษที่ 21 มีเทคนิควิธีที่หลากหลายและใช้เครื่องมือประเมินมากกว่า 1 วิธี เพื่อให้ผลการประเมินผู้เรียนใกล้เคียงความเป็นจริงที่สุด และนำผลการประเมินมาพัฒนาผู้เรียนให้ก้าวหน้าไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ มากกว่าการนำผลการประเมินมาตัดสินเพียงแค่ผ่านหรือไม่ผ่านการประเมิน
เมื่อสถานศึกษาต้องเตรียมผู้เรียนเพื่อก้าวเข้าสู่การเป็นพลโลกที่พร้อมทำงาน ผู้สอนมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิธีสอนให้เข้ากับผู้เรียนยุคใหม่ที่ชอบสื่อการสอนหลากหลาย ( Multimedia) ชอบแสดงความคิดเห็นกล้าแสดงออกในชั้นเรียน และสามารถสืบค้นข้อมูลได้ด้วยตนเองโดยที่ไม่ต้องรอผู้สอนมาให้ความรู้ นี่คือความท้าทายของครูผู้สอนยุคใหม่ที่ต้องปรับวิธีสอนให้มีความหลากหลายตรงกับความต้องการของผู้เรียนมากขึ้น ในอดีตการจัดการเรียนการสอนจะมุ่งเน้นเพียงแค่ผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้รายวิชาเท่านั้น แต่ในปัจจุบันการจัดการเรียนรู้ และการวัดและประเมินผลมีความแตกต่างจากยุคอดีตอย่างสิ้นเชิง ดังนี้
1) การจัดการเรียนรู้ในยุคปัจจุบันควรมุ่งเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ผู้สอนต้องลดบทบาทตัวเองลง จากครูผู้สอน (Teacher) มาเป็น ผู้อำนวยการเรียนรู้ (Facilitator) และเป็นผู้เรียนรู้ร่วม (Co-learner) โดยเปิดโอกาสให้นักเรียนเป็นผู้นำชั้นเรียนมากขึ้น
2) ผู้สอนมีหน้าที่ออกแบบการจัดการเรียนรู้ที่ก่อให้เกิดทักษะอันหลากหลายแก่ผู้เรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะในศตวรรษที่ 21 เช่น การทำงานเป็นทีมการค้นคว้าข้อมูลโดยใช้เทคโนโลยีมาเกี่ยวข้อง หรือแม้แต่การใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารในชั้นเรียน
3) ผู้สอนควรนำวิธีสอนที่หลากหลายมาใช้ในชั้นเรียน เช่น วิธีสอนแบบสืบสอบ ( Inquiry teaching method) วิธีสอนแบบโครงงาน (Project teaching method) หรือ การเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน (Project-based learning) เพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนค้นหาความรู้ด้วยตนเอง จนเกิดพฤติกรรมการเรียนรู้ขั้นสูง เช่น วิเคราะห์ ประเมินค่า สร้างสรรค์ (Revised Bloom’s Taxonomy)
4) การวัดและประเมินผลต้องบูรณาการไปกับการจัดการเรียนรู้ ผู้สอนต้องออกแบบการประเมินผู้เรียนที่สะดวกและประหยัดเวลา สามารถประเมินและเก็บข้อมูลได้ในระหว่างการจัดการเรียนรู้
5) ผู้สอนควรใช้เครื่องมือประเมินที่หลากหลายมากกว่า 1 วิธีในการตัดสินผู้เรียน เช่น หากต้องการทราบว่าผู้เรียนมีคุณธรรมจริยธรรมหรือไม่ ควรมีแบบสังเกตพฤติกรรม ให้นักเรียนประเมินตนเอง หรือให้เพื่อนร่วมชั้นเรียนช่วยประเมิน จะทำให้ผู้สอนได้ข้อมูลที่ใกล้เคียงความจริงมากที่สุด ไม่ควรให้ผู้เรียนทำแบบทดสอบหรือข้อสอบวัดด้านคุณธรรมจริยธรรมเพียงอย่างเดียว
6) ผู้สอนควรให้สะท้อนผลการเรียนรู้แก่ผู้เรียน ( Feedback) ซึ่งเป็นการนำข้อมูลสารสนเทศจากการประเมินมาพูดคุยกับผู้เรียน เพื่อให้ทราบถึงจุดเด่นจุดด้อยในการเรียนรู้ของผู้เรียน เพื่อวางแผนในการเรียนซ่อมเสริม การอ่านหนังสือเพิ่มเติม และวางแผนพัฒนาความรู้ระหว่างผู้สอนและผู้เรียนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
7) การประเมินแบบดั้งเดิมจะมุ่งเน้นการตัดสินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนว่าผ่านหรือตก แต่การประเมินในยุคปัจจุบันจะมุ่งเน้นการประเมินเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ เป็นการนำผลการประเมินผู้เรียนมาพัฒนาปรับปรุงกระบวนการจัดการเรียนรู้ของผู้สอน และใช้วางแผนการเรียนรู้ของผู้เรียนในอนาคต
8) การประเมินในยุคปัจจุบันมุ่งเน้นการประเมินแบบตามสภาพจริง ซึ่งเป็นการเน้นการวัดและประเมินผลการปฏิบัติงานที่สัมพันธ์กับชีวิตจริง เช่น การประเมินทักษะปฏิบัติ ในการตีแบดมินตัน เตะฟุตบอล ของวิชาพลศึกษา โดยใช้แบบตรวจสอบรายการ ( Checklist) แบบสังเกตพฤติกรรม และกำหนดเกณฑ์ในการให้คะแนน (Scoring Rubric) ซึ่งจะได้ข้อมูลที่ใกล้เคียงความจริงมากกว่าการทดสอบโดยใช้ข้อสอบวัดความรู้เรื่องการตีแบดมินตันหรือการเตะฟุตบอล
จากข้อมูลข้างต้น สามารถเปรียบเทียบการประเมินแบบดั้งเดิม การประเมินแบบตามสภาพจริง และการประเมินแบบผสมผสานได้ดังตารางต่อไปนี้
วิธีการ / รายละเอียด | การประเมิน แบบดั้งเดิม | การประเมิน แบบตามสภาพจริง | การประเมิน แบบผสมผสาน |
---|---|---|---|
เกณฑ์การ ประเมิน | ประเมินจากสิ่งที่นักเรียนตอบ ส่วนใหญ่เป็นข้อสอบ | ประเมินจากโครงงาน หรือ การพิจารณาชิ้นงานเป็น สำคัญ | แบ่งคะแนนออกโดยพิจารณาจาก ชิ้นงาน และมีการให้ตอบค าถาม เพิ่มเติมเกี่ยวกับความรู้ที่ได้รับ |
จุดเน้น | เน้นวัดความรู้ ความจำ | เน้นกระบวนการพัฒนา ประยุกต์ใช้ | เน้นทักษะที่ได้รับจากความรู้นั้นมา ประยุกต์ใช้จริง |
ผู้ประเมิน | อาจารย์เป็นผู้ประเมิน | อาจารย์เปิดโอกาสให้นักเรียน ร่วมประเมินตนเองและเพื่อน | อาจารย์ประเมินส่วนหนึ่ง และเปิด โอกาสให้นักเรียนร่วมประเมินส่วน หนึ่ง |
ข้อดี | วัดความรู้ได้อย่างชัดเจนว่า นักเรียนรู้อะไร ไม่รู้อะไรใน ส่วนไหน | วัดจากความสามารถโดย แท้จริง ไม่มีการเตรียมตัวว่าผู้ ประเมินจะประเมินเมื่อใด | วัดและได้คำตอบที่มีความ หลากหลายมุมมองได้เป็นอย่างดี ไม่ ยึดติดกับกฎเกณฑ์เดิม |
ข้อเสีย | ไม่ส่งเสริมการคิดเท่าที่ควร เน้นการตอบตามกฎเกณฑ์ที่ วางไว้ รวมถึงผู้เรียนอาจไม่ได้ สมรรถนะอย่างแท้จริง | ผลประเมินอาจจะเบี่ยงเบน จากทัศนคติผู้ประเมิน | การก าหนดความหลากหลายให้ เกิดขึ้นจริงนั้นท าได้ยากมาก ด้วย ข้อจ ากัดมากมาย เช่น เวลา ภาระ งาน การออกแบบการจัดการเรียนรู้ และการวัดประเมินผล |
ตารางที่ 1 แสดงการเปรียบเทียบการประเมินแบบดั้งเดิม แบบตามสภาพจริง และแบบผสมผสาน
จะเห็นได้ว่าการจัดการเรียนรู้ เทคนิควิธีการสอน และการวัดและประเมินผลในยุคปัจจุบัน ควรมีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับบริบทของสังคมโลกที่เปลี่ยนไป ผู้สอนไม่สามารถออกข้อสอบวัดผู้เรียนได้ครบทุกทักษะ ยิ่งไปกว่านั้นการตัดสินผลการเรียนของผู้เรียนว่าผ่านหรือตกในวิชาใด ไม่ก่อให้เกิดคุณค่าในการพัฒนาความรู้ ดังนั้นผู้บริหารสถานศึกษา ผู้สอน บุคลากรทางการศึกษาอื่น และผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดจำเป็นต้องเข้าใจหลักการวัดและประเมินผลในยุคศตวรรษที่ 21 ที่เปลี่ยนไป เพื่อสร้างระบบการวัดและประเมินผลในสถานศึกษาที่ทันสมัยและตอบโจทย์ของการวัดและประเมินผลเพื่อการเรียนรู้ต่อไปในอนาคต
แนวคิดการประเมินในยุคศตวรรษที่ 21 มีหลากหลายวิธี ซึ่งมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน ดังนี้
เป็นกระบวนการรวบรวมข้อมูลหลักฐานต่าง ๆ ด้วยวิธีการประเมินที่หลากหลาย เพื่อให้ได้ข้อมูลสารสนเทศรอบด้าน ซึ่งข้อมูลที่สามารถระบุ วินิจฉัยปัญหาการเรียนรู้ของผู้เรียน เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงพัฒนาวิธีการจัดการเรียนการสอนของผู้สอน และปรับปรุงวิธีการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นรายบุคคล การประเมินเพื่อการเรียนรู้มักเกิดขึ้นก่อนหรือระหว่างการจัดการเรียนการสอน มีจุดมุ่งหมายหลักคือพัฒนาและปรับปรุงการเรียนรู้ของผู้เรียน ผู้สอนต้องให้ข้อมูลย้อนกลับ ( Feedback) แก่ผู้เรียนในด้านคุณภาพของผลงาน พฤติกรรม คุณธรรมจริยธรรม และค่านิยมอันพึงประสงค์ เพื่อให้ผู้เรียนทราบถึงจุดเด่นจุดด้อยของตนเอง รวมถึงวางแผนในการพัฒนาผลการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างผู้สอนและผู้เรียน
เทคนิควิธีสำคัญของการประเมินเพื่อการเรียนรู้
ผู้สอนต้องออกแบบการวัดและประเมินผลเชื่อมโยงกับการจัดการเรียนรู้ ในชั้นเรียนผู้สอนควร ตั้งคำถามให้ผู้เรียนคิดและหาคำตอบด้วยตนเอง ในขณะเดียวกันผู้เรียนต้องฟังคำถามอย่างตั้งใจและตอบคำถามของผู้สอนเพื่อสะท้อนความรู้และความคิด นอกจากนี้ผู้สอนต้องให้ ข้อมูลย้อนกลับ ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้เรียนรวมถึงแนวทางการพัฒนาปรับปรุงการเรียนรู้หรือชิ้นงานของผู้เรียนให้ดียิ่งขึ้น
เป็นกระบวนการรวบรวมข้อมูลสารสนเทศเกี่ยวกับการเรียนรู้ของผู้เรียนขณะเรียนรู้ เพื่อสามารถวางแผนกำกับตนเอง ประเมินและปรับปรุงการเรียนรู้ โดยให้ผู้เรียนประเมินตนเองเป็นระยะในระหว่างการทำกิจกรรมในชั้นเรียน การประเมินขณะเรียนรู้ถือได้ว่าเป็นการนำการประเมินมาใช้เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ โดยผู้เรียนนำผลการประเมินมาพัฒนาการเรียนรู้ของตนเองและใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาการเรียนรู้ของตนเอง
เทคนิควิธีสำคัญของการประเมินขณะเรียนรู้
ผู้สอนควรออกแบบการจัดการเรียนรู้ ที่เปิดโอกาสให้ ผู้เรียนได้ประเมินตนเองและประเมินเพื่อนร่วมชั้นเรียนเป็นระยะ ๆ เช่น ผู้สอนอาจตั้งคำถามว่าองค์ความรู้ที่เรียนไปเมื่อคาบเรียนที่แล้วใครสามารถจดจำได้บ้าง หากจดจำได้ให้ยกปากกา ใครจำไม่ได้ให้ยกกระดาษ เพื่อให้ผู้เรียนประเมินตนเอง ทบทวนความจำในสิ่งที่ได้เรียนไปจากนั้นให้ผู้เรียนที่ยกปากกานำเสนอหน้าชั้นว่าตนเองได้เรียนรู้อะไรในคาบเรียนที่แล้ว เมื่อนำเสนอเสร็จ ให้ผู้สอนกระตุ้นผู้เรียนคนอื่น ๆ ให้ประเมินเพื่อนที่นำเสนอหน้าชั้นว่า จดจำสิ่งที่เรียนไปได้ถูกต้องหรือไม่ เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เพื่อนนำเสนอ เพราะอะไร วิธีการแบบนี้จะทำให้ผู้เรียนสามารถประเมินตนเองเป็น ประเมินเพื่อนได้เปิดใจรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น และสามารถให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการเรียนรู้ได้
เป็นกระบวนการรวบรวมข้อมูลสารสนเทศ เมื่อสิ้นสุดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อตัดสินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนว่าบรรลุวัตถุประสงค์หรือผลลัพท์การเรียนรู้มากน้อยเพียงใด และนำข้อมูลการประเมินมาใช้ในการตัดสินใจเพื่อการจัดตำแหน่ง การให้รางวัล การให้ระดับผลการเรียนหรือเกรด ผู้สอนเป็นผู้ประเมินหลัก โดยใช้มาตรฐานการเรียนรู้และวัตถุประสงค์การเรียนรู้ เพื่อเป็นหลักคิดในการออกแบบการประเมินผล
เทคนิควิธีสำคัญของการประเมินผลการเรียนรู้
การประเมินผลการเรียนรู้ควรให้ความสำคัญกับ การประเมินแบบตามสภาพจริง หรือการประเมินแบบหลากหลาย ซึ่งเป็นการประเมินที่รวบรวมข้อมูลจากหลายแหล่งหลายเครื่องมือ เพื่อให้การตัดสินผลการเรียนสอดคล้องกับชีวิตจริง ผู้สอนต้องเลือกใช้เครื่องมือการประเมินที่เหมาะสมกับสิ่งที่ต้องการวัดและประเมินยกตัวอย่างเช่น หากต้องการทราบว่าผู้เรียนมีความซื่อสัตย์มากน้อยเพียงใด ไม่ควรออกข้อสอบเพื่อวัดความซื่อสัตย์ของผู้เรียน แต่ควรใช้เครื่องมือและวิธีการประเมินอื่น ๆ เช่น แบบสังเกตความซื่อสัตย์ ให้ผู้เรียนประเมินความซื่อสัตย์ของตนเอง ให้เพื่อนประเมินความซื่อสัตย์ของเพื่อนร่วมชั้นเรียน จะได้ข้อมูลที่ตรงกับความเป็นจริง ถูกต้อง ตรงตามสภาพที่เป็นจริงมากที่สุด
จากแนวคิดการประเมินในยุคศตวรรษที่ 21 ข้างต้น ผู้สอนยุคใหม่ควรออกแบบการประเมินผลการเรียนรู้ควบคู่กับการประเมินเพื่อการเรียนรู้และการประเมินขณะเรียนรู้ เพื่อให้ผลการประเมินมีความถูกต้องตรงกับความเป็นจริงของผู้เรียนมากที่สุด เพื่อนำผลการประเมินมาปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนและวางแผนพัฒนาผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการประเมินการเรียนรู้ยุคใหม่มีระดับการมุ่งเน้นที่แตกต่างกัน สามารถแสดงได้ดังแผนภาพ
พัฒนาจาก: Earl, Lorna M. (2013). Assessment as Learning: Using Classroom Assessment to Maximize Student Learning. (2 nded.), Corwin: A SAGE company. p.32
จากภาพข้างต้นแสดงจุดเน้นของการประเมินการเรียนรู้ยุคใหม่ โดยในอดีตจะมุ่งเน้นการประเมินผลการเรียนรู้ว่าผู้เรียนได้เกรดเท่าไหร่ สอบผ่านหรือสอบตกวิชาใดเป็นการตัดสินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน ซึ่งไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาการเรียนรู้ ดังนั้นการประเมินการเรียนรู้ยุคใหม่จึงมุ่งเน้นไปที่การประเมินขณะเรียนรู้ ที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถประเมินตนเอง ประเมินเพื่อนร่วมชั้น รู้ว่าตนเองขาดองค์ความรู้ในด้านใด เพื่อนำไปสูการวางแผน กำกับ ประเมิน และปรับปรุงการเรียนรู้ของผู้เรียนต่อไปในอนาคต
ปัญหาและอุปสรรคในการวัดและประเมินผล เกิดจากหลากหลายสาเหตุ ดังนี้
ในปัจจุบันผู้สอนส่วนใหญ่ยังยึดติดกับรูปแบบการประเมินแบบดั้งเดิม โดยมุ่งเน้นการประเมินเพื่อตัดสินผลการเรียนรู้ เช่น การออกข้อสอบเพื่อวัดความรู้ และ ทักษะการปฏิบัติและ ยังคงใช้เครื่องมือประเมินไม่หลากหลาย ไม่ได้ประเมินตามสภาพจริง ไม่มีการให้คำแนะนำที่แก้ปัญหาการเรียนรู้ของผู้เรียน
แนวทางแก้ไขปัญหา
การที่ผู้สอนยึดติดการประเมินแบบดั้งเดิม อาจมีสาเหตุมาจาก การขาดความรู้ในการวัดและประเมินผลซึ่งผู้สอนควรอบรมเพิ่มเติมเพื่อก้าวทันโลกการประเมินที่เปลี่ยนแปลงไป ในยุคนี้ผู้สอนควรมุ่งเน้นการประเมินขณะเรียนรู้ โดยการตั้งคำถามให้ผู้เรียนเกิดการประเมินตนเอง เพื่อสะท้อนความเข้าใจในปัจจุบันขณะนั่งเรียนอยู่ในห้องผู้สอนควรใช้เครื่องมือประเมินมากกว่า 1 วิธี เช่น การใช้แบบสังเกต แบบบันทึกพฤติกรรม แบบตรวจสอบรายการ (Checklist) ร่วมกับการประเมินแบบอื่น ๆ รวมถึงควรให้คำแนะนำที่แก้ปัญหาการเรียนรู้ของผู้เรียนอีกด้วย
ผู้สอนส่วนใหญ่ในยุคนี้มีภาระงานมากกว่าการสอนหนังสือ ทำให้ไม่มีเวลาออกแบบเครื่องมือการวัดและประเมินผลได้อย่างเต็มที่ รวมถึงไม่มีเวลาในการเก็บข้อมูลจากการสังเกตผู้เรียนที่มีจำนวนมากต่อห้องเรียน
แนวทางแก้ไขปัญหา
หากผู้สอนมีภาระงานมาก ควรออกแบบการจัดการเรียนรู้โดยลดบทบาทของตนเองลง จากผู้สอนมาเป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ คือ เน้นการออกแบบกิจกรรมให้ผู้เรียนออกมานำชั้นเรียนมากขึ้น นอกจากนี้ผู้สอนควรนำเทคโนโลยีมาช่วยในการจัดเก็บข้อมูลที่สะดวกรวดเร็วมากขึ้น เช่น การใช้ GOOGLE DRIVE ในการจัดเก็บเอกสารที่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทุกที่ทุกเวลา และ การใช้ GOOGLE FORM ในการเก็บข้อมูลแบบสอบถามออนไลน์
ผู้สอนในวิชาเดียวกันมักมีปัญหาในเรื่องการประเมิน เนื่องจากในเกณฑ์ในการให้คะแนนที่ต่างกัน ทำให้ผู้เรียนได้คะแนนที่ไม่เท่าเทียมกันหรือความน่าเชื่อถือของผลประเมินแตกต่างกันมาก
แนวทางแก้ไขปัญหา
ผู้สอนในวิชาเดียวกัน หรือกลุ่มสาระการเรียนรู้เดียวกัน รวมถึงระดับชั้นที่สอนเดียวกันควรนัดประชุมเพื่อพูดคุยแนวทางการจัดการเรียนรู้ การออกแบบเทคนิควิธีการสอน การวัดและประเมินผล การสร้างเครื่องมือประเมิน เกณฑ์การประเมิน และการออกข้อสอบเพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อก่อให้เกิดความยุติธรรมในการประเมินผู้เรียน
ความน่าเชื่อถือของผลการประเมินเกิดจากการออกแบบเครื่องมือวัดและประเมินผล โดยมีการตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือให้มีความตรง ( Validity) และ ความเที่ยง ( Reliability) และในทุก ๆ สถานศึกษาควรมีฝ่ายวิชาการที่เข้มแข็ง ให้ความสำคัญในการออกแบบการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ทั้งโรงเรียนที่มีคุณภาพและเชื่อถือได้ เพราะความน่าเชื่อถือของผลการประเมินส่งผลต่อภาพลักษณ์ของสถานศึกษา ความเชื่อมั่นของบุคลากรภายในโรงเรียน สะท้อนคุณภาพผู้เรียน ส่งผลต่อการให้ความร่วมมือของผู้เรียนและผู้ปกครอง นอกจากนี้ยังมีผลต่อการยอมรับของชุมชน สังคม และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับสถานศึกษาอีกด้วย
1. ในปัจจุบันท่านพบปัญหาและอุปสรรคในการวัดและประเมินผลอะไรบ้างและท่านได้ดำเนินการปรับปรุง แก้ไขอย่างไร ผลการประเมินที่ได้เป็นที่น่าพอใจมากขึ้นหรือไม่เพราะเหตุใด
2. ท่านได้ออกแบบการประเมินผลการเรียนรู้ การประเมินเพื่อการเรียนรู้ และการประเมินขณะเรียนรู้บูรณาการไปกับการจัดการเรียนรู้อย่างไรบ้าง
3. การเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ประเมินตนเองมีส่วนที่ดีอะไรบ้าง และท่านคิดว่าปัญหาการให้ผู้เรียนได้ประเมินตนเองมีอะไรบ้าง แนวทางแก้ไขควรเป็นอย่างไร
4. ท่านคิดว่าเครื่องมือที่สามารถวัดประเมินผลได้ตรงตามสภาพจริง ควรมีคุณลักษณะอย่างไร
5. ในรอบปีการศึกษาที่ผ่านมาท่านได้นำผลการประเมินการเรียนรู้ของผู้เรียนไปปรับปรุงการจัดการเรียนรู้ของท่าน หรือวางแผนพัฒนาผู้เรียนในด้านใดบ้าง
KPIs
1. ครูของสถานศึกษาทุกคนสามารถสร้างเครื่องมือประเมินตามสภาพจริงได้ 1 เครื่องมือ ต่อ 1 หน่วยการเรียนรู้
2. ครูของสถานศึกษาไม่น้อยกว่า 50% มีการนาผลการประเมินการเรียนรู้มาเขียนแผนการปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนอย่างเป็นรูปธรรม
จัดทำโดย
ดร.กุลพร พูลสวัสดิ์
ณัฐพงศ์ จันทนะศิริ
ศนิชา ภาวโน