Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ฝึกทักษะดี ๆ จากเกม มาเป็นเทคนิคเลี้ยงลูก

Posted By Plook TCAS | 23 เม.ย. 64
4,992 Views

  Favorite

          คำว่า “เกม” ในความคิดของคุณพ่อคุณแม่บางคน อาจจะเป็นสิ่งอันตรายในครอบครัว แต่หากมองอีกมุม มันก็คือของเล่นของเด็ก ซึ่งในสมัยก่อนอาจจะหมายถึงหมากเก็บหรือการกระโดดหนังยาง แต่สมัยนี้ของเล่นของพวกเขาอาศัยอยู่ใกล้ตัวพวกเขามาก นั่นคือในคอมพิวเตอร์และในโทรศัพท์มือถือ ดังนั้นถ้าคุณพ่อคุณแม่อยู่คนละฝ่ายกับเด็ก มีแต่ข้อห้าม แน่นอนว่าพวกเขาจะต้องหาทาง “แอบเล่น” และนั่นเท่ากับคุณพ่อคุณแม่และลูก ๆ ได้ร่วมกันก่อกำแพงขึ้นในครอบครัวแล้ว

 

          ครั้งนี้เราเลยมาชวนผู้ปกครองเปลี่ยนมุมคิด พร้อมแจกเทคนิคการนำทักษะจากเกมไปใช้เป็นเทคนิคเลี้ยงลูก มาเรียนรู้มุมดี ๆ จากเกม ฝึกฝน เก็บประสบการณ์ เก็บทักษะ ไม่ว่าเกมออนไลน์หรือเกมออฟไลน์  ทุกเวลาที่เสียไปในเกม ไม่ใช่แค่ให้ความสนุกเท่านั้น แต่ควรใช้เป็นเครื่องมือกระชับพื้นที่ให้ครอบครัวได้ใกล้ชิดและเรียนรู้ร่วมกัน ลองมาดูว่าเกมจะมีทักษะอะไรช่วยเลี้ยงลูกของเราได้บ้าง

 

ฝึกทักษะการจัดการเวลา

          ก่อนเล่นเกม ในครอบครัวต้องสร้างกติกากันก่อน จัดแบ่งเวลาให้ดี เล่นมากน้อยแค่ไหน เลือกให้พอดี อาจจะ 1-3 ชั่วโมง สำหรับการเล่นร่วมกันในครอบครัว หรือหากมีเวลาไม่มากและให้เด็กเล่นคนเดียว โดยมีคุณพ่อคุณแม่เป็นพี่เลี้ยง อาจจะ 1 ชั่วโมง โดยมีเวลาพักครึ่งให้เด็กได้พักสายตา 

 

          จัดเวลาที่เหมาะสม หลังทำการบ้านเสร็จ วันหยุด หากเป็นเกมต่อเนื่องใช้เวลานาน  1 ชั่วโมงอาจน้อยเกินไป อาจเพิ่มเป็นชั่วโมงครึ่ง หรือ 2 ชั่วโมง และอาจ 3 ชั่วโมงได้ในวันหยุด หรือช่วงปิดเทอม แต่ต้องแบ่งเวลาพักทุก 20 - 30 นาที พักสายตา พักยืดเหยียดร่างกาย กินข้าว เข้าห้องน้ำ พ่อ แม่ พี่น้อง ผู้ปกครองต้องวางแผนแบ่งหน้าที่ เป็นโค้ช เป็นผู้เล่น เป็นผู้จัดการ และต้องเป็นผู้กำกับเวลาย้ำกติกาของครอบครัวเสมอ ถ้าหมดเวลาครั้งหน้าค่อยเล่นต่อ

 

เรียนรู้ฝึกฝนการวางแผน

          ในเกมมีภารกิจมากมายให้ผู้เล่นต้องพิชิต อาจทำให้สับสน เพลี่ยงพล้ำ ขาดความรอบคอบ ระมัดระวัง จึงต้องใช้กลยุทธ์การวางแผนเพื่อให้ได้ชัยชนะ ถือเป็นบททดสอบที่ดีกับการวางแผน จัดลำดับความสำคัญ ภารกิจไหนจำเป็นมากที่สุด มีอุปกรณ์มากพอหรือไม่ ซึ่งสามารถปรับใช้สร้างเป็นคำแนะนำให้แก่ลูกได้เป็นอย่างดี ทั้งเรื่องของการจัดการบ้าน การเรียน และการทำกิจกรรมต่าง ๆ

 

ทักษะการแก้ไขปัญหา การเอาตัวรอด

          การหาทางออกแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ สามารถเรียนรู้ได้จากหลากหลายเกมที่มีภารกิจให้ทำ อาจเห็นว่ายาก ต้องเสียเงินจริงเข้าไปหาเครื่องช่วยทุ่นแรง แต่เหล่านักเล่นเกมจะรู้ดีว่า ความจริงแล้วยังมีอีกหลายวิธีที่จะแก้ไขปัญหา ผู้ออกแบบเกมมักออกแบบเผื่อมาแล้ว และนั่นคือการฝึกทักษะที่ดีเยี่ยม เป็นโอกาสดีที่จะแนะนำเด็ก ๆ  โดยเฉพาะทำให้พวกเขาเข้าใจว่า สังคมภายนอกนั้น “เงิน” เป็นสิ่งสำคัญ ไม่ใช่มีไว้เพื่อซื้อ สิ่งที่พอใจ อยากได้ หรือสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างเดียว สอนให้เด็กเห็นคุณค่าของเงิน และเทคนิคการใช้เงินอย่างคุ้มค่า ทั้งในโลกของเกมและโลกของความเป็นจริง 

 

เรียนรู้ความอดทน และการไม่ยอมแพ้โดยง่าย

          ในการเล่นเกม การเป็นนักสู้เพื่อเป้าหมาย จะสอนให้เรียนความอดทน การรอคอยในการทำทุกภารกิจที่มีเวลาจำกัด ทุกวินาทีมีค่า  ฝึกตัวเองไม่ให้ยอมแพ้อะไรง่าย ๆ   ฝึกสร้างและฟื้นคืนกำลังใจให้กับตัวเอง พร้อมทั้งส่งต่อให้เพื่อนร่วมทีม  ไม่ทดท้อหมดความหวัง จนกว่าก่อนเข็มวินาทีสุดท้ายจะหมดไป ถือเป็นเทคนิคสำคัญที่จะแนะนำให้ลูกในขณะเล่นเกม ยิ่งเป็นเด็ก Gen Z แล้ว จะช่วยให้พวกเขาเรียนรู้การรอคอย อดทน การได้มาในสิ่งที่ต้องใช้เวลา 

 

ทักษะการอยู่ในสังคม การอยู่ร่วมกับผู้อื่น

          หลาย ๆ เกมอาจเล่นเพียงลำพัง หรืออาจเล่นเป็นทีม 2 คน หรือมากกว่า ในระหว่างเล่น คุณพ่อคุณแม่ใช้โอกาสนี้ล่ะจังหวะกำลังสวย แนะนำเด็ก ๆ ผ่านตัวละคร ผ่านสถานการณ์ต่าง ๆ และเทียบกับโลกภายนอก ซึ่งเป็นตัวอย่างให้เด็ก ๆ เห็นและเข้าใจง่ายมากขึ้น  จากใกล้ตัวในบ้าน ในครอบครัว ญาติพี่น้อง  จนออกไปไกลตัว สังคมแบบไหนที่เหมาะสม แบบไหนที่สำคัญ ต้องวางตัวปฏิบัติตัวต่อคนอื่นอย่างไร เรียนรู้การให้อภัย การขอบคุณ  เพื่อนแบบไหนที่ควรสนิท คนไหนควรอยู่ห่าง   เรียนรู้การให้ความร่วมมือ การให้ความสำคัญ ลำดับอาวุโสของผู้คน ช่วยเหลือผู้อ่อนแอกว่า  รู้จักเสียสละ และแบ่งปัน  อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญคือการเรียนรู้แยกโลกในเกมเสมือนจริง ออกจากโลกภายนอก และคิดว่าเกมคือการละเล่นที่จำลองชีวิตได้ แต่ไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิต ชีวิตมีเพียงชีวิตเดียว ที่ไม่อาจเริ่มต้นใหม่ได้เหมือนในเกม

 

ฝึกสมาธิ สติ ให้เป็นไปอย่างอัตโนมัติ

          ระวังกับดักสำคัญ คือ เกมยิ่งสนุกอาจทำให้ใจร้อน หรือตามศัพท์เกมเรียกว่า “หัวร้อน” อยากเล่นให้ชนะเร็ว ๆ อยากทำภารกิจให้สำเร็จอีก  จำไว้ว่าห้ามเล่นแบบบ้าระห่ำขาดสติเด็ดขาด  เกมอาจทำให้เพลินจนเผลอลืมกติกาที่ตั้งไว้ในครอบครัว  หรือขออีกนิด อีกนิดนะ อีกนิดน่า แต่มันอาจกลายเป็นชั่วโมง หลายชั่วโมง หรือข้ามวัน  ในโลกของเกมอาจทำให้ผู้เล่นลืมทุกสิ่งทุกอย่างได้จริง ๆ  เขียนป้ายคำว่า  “สติ”  ตัวโต ๆ หนา ๆ ไว้ข้างเครื่องเล่น อาจจะช่วยเตือนได้บ้าง และสำหรับคุณพ่อคุณแม่ซึ่งทำหน้าที่กำกับเวลา ต้องคอยเตือนผู้เล่นอยู่เป็นระยะ ๆ ว่าเวลาใกล้หมด ให้วางแผนการจัดการเผื่อไว้สำหรับการเล่นในครั้งต่อไป

 

ทักษะการมองข้ามช็อต

          ทักษะนี้อาจไม่ได้เกิดขึ้นทันทีหลังเล่นเสร็จ แต่ต้องใช้เวลาสะสมอยู่นานพอสมควร อาจเป็นเดือนหรือเป็นปี   ในเกมหลาย ๆ เกม ช่วยฝึกฝนให้หาวิธีในการปฏิบัติภารกิจลุล่วง โดยมองไปถึงอนาคตว่าจะทำ หรือมีสิ่งใดส่งผลอย่างไร  หรือภารกิจนั้นต้องใช้อุปกรณ์ใดบ้าง ให้มองเห็นวิธีไปถึงเป้าหมายหลาย ๆ ทางเลือก การมองข้ามช็อต ทำให้เลือกสิ่งต่าง ๆ ได้ชัดเจนขึ้น  ถือเป็นทักษะที่ดีอย่างมากในการทำงานสำหรับลูกของคุณและตัวคุณเอง

 

          เมื่อคุณพ่อคุณแม่เติมบทบาทตัวเองเพิ่มขึ้น ลุกขึ้นมาฝึกฝน เรียนรู้ รับประสบการณ์ ทักษะต่าง ๆ จากเกมแล้ว คุณจะพบกับความมหัศจรรย์ เพราะไม่ใช่แค่ตัวละครในเกม พัฒนาเติบโต เก่งขึ้น มีทักษะเพิ่มขึ้น แต่นั่นหมายถึงตัวคุณ เด็ก ๆ ก็มีความสามารถด้วยเช่นกัน  แนะนำเด็ก ๆ ให้ดี   ข้อสำคัญสุดสุดทักษะเหล่านี้  จะถูกดึงออกมาใช้ได้อย่างอัตโนมัติทันที  โดยไม่มีใครต้องกดปุ่มควบคุมตัวผู้เล่นเลย

 

อังสนา  ทรัพย์สิน


 

ข้อมูลอ้างอิง บทสัมภาษณ์/แบบสอบถาม พ่อแม่ ผู้ปกครอง คุณครู และเด็ก ๆ จาก https://en.wikipedia.org/wiki/Gamehttp://www.youthradioandmedia.orghttps://www.familylives.org.ukhttps://www.marketingoops.com

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook TCAS
  • 29 Followers
  • Follow