แพทย์แผนไทย หรือแพทย์แผนไทยประยุกต์ ทั้งสองศาสตร์นี้เรียกได้ว่าเป็นวิชาชีพเดียวกัน คือเป็นผู้ดูแล ตรวจรักษา วินิจฉัยคนไข้โดยใช้ศาสตร์แพทย์แผนไทย ซึ่งเป็นภูมิปัญญาไทยที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษจนกระทั่งปัจจุบันนี้ นอกจากจะเป็นที่ยอมรับในประเทศไทยแล้ว ศาสตร์แพทย์แผนไทยยังเป็นที่ยอมรับของชาวต่างชาติในการนำมารักษาโรคได้ โดยอาชีพแพทย์แผนไทยมีบทบาทหน้าที่ในการประกอบวิชาชีพ 4 ด้านด้วยกัน ดังนี้
1. เวชกรรมแผนไทย เป็นการตรวจและรักษาโรคด้วยทฤษฎีการแพทย์แผนไทย
2. เภสัชกรรมแผนไทย เป็นการปรุงยาและผลิตยาสมุนไพรสำหรับรักษาโรค
3. หัตถเวชกรรมแผนไทย เป็นการบำบัดรักษาด้วยหัตถการ
4. ผดุงครรภ์ เป็นศาสตร์การดูแลหญิงตั้งครรภ์ การทำคลอด การดูแลหญิงหลังคลอด รวมทั้งการดูแลทารกแรกเกิด
ลักษณะงาน
แพทย์แผนไทยที่ทำงานในสถานพยาบาลจะทำหน้าที่คล้ายกับหมอแผนแพทย์ปัจจุบัน ต่างกันตรงที่วิธีวินิจฉัยโรค คือ แพทย์แผนไทยเมื่อเจอคนไข้จะทำการซักประวัติ ถามอาการ อาการแสดง อาการทั่วไป ตรวจดูธาตุเจ้าเรือนทั้ง 4 ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ วันเดือนปีเกิด ตรวจชีพจร สายตา ลิ้น ท่าทางการแสดงออกต่างๆ เพื่อดูว่าคนไข้ที่มารักษาอยู่ในธาตุใด และจากอาการที่แสดง การซักประวัติแล้วนั้น ธาตุไหนในร่างกายที่ผิดปกติ เพื่อทำการรักษาคนไข้ให้ตรงกับธาตุเจ้าเรือนนั้นๆ เมื่อแพทย์แผนไทยให้การวินิจฉัยโรคแล้ว จะวางแผนการบำบัดรักษาด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทยให้ผู้ป่วย ซึ่งประกอบด้วยวิธีการดังนี้
การใช้ยาสมุนไพร อาจเป็นการปรุงยาสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย เช่น ยาต้มหรือจ่ายยาสำเร็จรูปที่ผลิตไว้ในรูปแบบต่างๆ เช่น ยาลูกกลอน ยาเม็ด ยาแคปซูล เป็นต้น
การใช้หัตถการ/วิถีทางการแพทย์แผนไทย เช่น การนวด การประคบสมุนไพร การอบไอน้ำสมุนไพร การทับหม้อเกลือ การนั่งถ่าน การพอกผิว เป็นต้น
การให้คำแนะนำ ในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วยและการส่งสริมสุขภาพ เช่น การปฏิบัติตัว การบริหารร่างกาย การรับประทานอาหาร การปรับพฤติกรรม เป็นต้น
โดยกลุ่มอาการที่สามารถรักษาด้วยการแพทย์แผนไทย ได้แก่ กลุ่มการปวดบริเวณต่างๆ กลุ่มอาการท้องผูก,นอนไม่หลับ,ไข้หวัด,คัดจมูก, หอบหืด,ภูมิแพ้ กลุ่มอาการอัมพฤกษ์ ,อัมพาตและกลุ่มอาการสตรีหลังคลอดน้ำคาวปลาไม่เดิน, คัดตึงเต้านม,น้ำนมไหลน้อย เป็นต้น
ขั้นตอนการทำงาน
ตารางการทำงานแบ่งเป็น 3 ช่วง แล้วแต่ในวันนั้นจะอยู่ในผลัดใด
- ชั่วโมงการรักษา คือ ตรวจคนไข้ใหม่อย่างเดียว ซักประวัติ รักษาคนไข้ ตรวจทางเวชกรรมไทย
- ชั่วโมงห้องยา คือ จ่ายยาสมุนไพรในการรักษา ซึ่งเป็นยาที่อยู่ในบัญชีหลักแห่งชาติ
ประเภทที่ 1 ยาที่ได้รับการรับรองที่คนไทยต้องเข้าถึง
ประเภทที่ 2 ยาสมุนไพรที่เป็นตัวเดี่ยว
ประเภทที่ 3 ยาสมุนไพรตำรับโรงพยาบาล โดยจะต้องจ่ายยาให้เข้ากับโรคของคนไข้มากที่สุด
- ชั่วโมงกิจกรรม คือ การให้ความรู้ในการดูแลตัวเองเบื้องต้น จัดเดือนละ 1 ครั้ง เช่น ฤๅษีดัดตน สมาธิบำบัด ให้กับชมรมผู้สูงอายุ
สถานที่ทำงาน
- โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
- โรงพยาบาลอำเภอ
- โรงพยาบาลประจำจังหวัด
- สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด
- โรงงานผลิตยาสมุนไพร
ผู้ที่ต้องทำงานด้วย
- ผู้ช่วยพยาบาล ช่วยซักประวัติคนไข้ด้านหน้า ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดความดัน ประเมินอาการเบื้องต้น
- พยาบาลวิชาชีพ ทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้ช่วยพยาบาลอีกที กรณีที่มีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์กับคนไข้ พยาบาลจะมาช่วยดูแล ส่งต่อประสานงานให้กับแพทย์แผนปัจจุบันต่อไป
- ธุรการสายการแพทย์ ช่วยในเรื่องทั่วไป เช่น นำลูกประคบมาให้ ปูเตียง ประสานงานกับหมอ พยาบาล คนไข้ว่าต้องการอะไรเพิ่มเติม
ตำแหน่งและเส้นทางการเติบโต
● ตำแหน่ง เส้นทางเติบโต
แบ่งเป็น 2 สาย คือ สายทางด้านวิชาการ และ สายสนับสนุน
- สายทางด้านวิชาการ
อาจารย์มหาวิทยาลัย 30,000 – 40,000 บาท
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ 50,000 – 60,000 บาท
รองศาสตราจารย์ 65,000 บาท
- สายสนับสนุน (ให้การรักษาในโรงพยาบาล / อนามัย)
ปฏิบัติการ เงินประจำตำแหน่ง 15,000 – 16,500 บาท
ชำนาญการ เงินประจำตำแหน่ง 40,000 – 50,000 บาท
ชำนาญการพิเศษ เงินประจำตำแหน่ง 80,000 บาท
* หมายเหตุ เป็นเพียงการประมาณค่าเฉลี่ยรายได้โดยขึ้นอยู่กับขนาดและผลประกอบการของแต่ละองค์กรเท่านั้น
การแข่งขันและความต้องการของตลาด
สำหรับคนไทยเราชอบคิดว่า อาชีพแพทย์แผนไทย คือหมอนวดเท่านั้น ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด คนไทยต้องการเข้าถึงการรักษาด้วยการแพทย์แผนไทยเยอะขึ้น แต่บุคลากรไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมด ทางหลักสูตรจึงต้องมีการปรับตัวให้ทันเทคโนโลยีของวิทยาศาสตร์และงานวิจัย ซึ่งในทางธุรกิจแล้วการแข่งขันนั้นสูงมาก เพราะสามารถทำงานด้านอื่นได้ เช่น เป็นเจ้าของคลินิกแพทย์แผนไทย เจ้าของผลิตภัณฑ์สมุนไพร ซึ่งได้ค่าตอบแทนที่สูงกว่า เป็นต้น
- ทำให้คนไทยเข้าถึงศาสตร์การรักษาแพทย์แผนไทยมากขึ้น
- ได้เป็นส่วนหนึ่งส่งเสริมการแพทย์แผนไทยจากบรรพบุรุษ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของชาติเราเอง
- มีคนนับถือ ศรัทธา
- รู้สึกภูมิใจที่ได้รักษาคนไข้ให้ดีขึ้น หรือหายจากอาการที่เป็นอยู่
- เรียนต่อยอดทางด้านการแพทย์แขนงอื่น เพื่อได้ค่าตอบแทนที่สูงขึ้นได้
- การทำหัตถการบางอย่างแพทย์แผนไทยไม่สามารถทำได้ เพราะทักษะไม่เพียงพอ อาจเกิดผิดพลาดได้ จะต้องส่งต่อให้กับแพทย์ปัจจุบันในการดูแลรักษาแทน
- ตำราทางด้านแพทย์แผนไทย ยาสมุนไพร การนำมารักษาโรคหาอ่านยาก ไม่ค่อยมีเขียนขึ้นใหม่ และไม่เท่าทันโรคปัจจุบัน
- ใจรักในอาชีพ เสียสละ
- มุ่งมั่นตั้งใจ เพราะศาสตร์การแพทย์แผนไทยใช้มือค่อนข้างเยอะ ต้องนวดคนไข้ สัมผัสคนไข้
- ควบคุมสติได้ดี ใจเย็นที่จะรับความทุกข์ของคนไข้ที่จะเล่าให้ฟัง
- แก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าได้ทันที เช่น คนไข้เป็นลมต่อหน้าต่อตา วิธีการเข้าช่วยเหลือต้องแม่นยำ และถูกต้อง
- ทักษะด้านกายวิภาคศาสตร์ เพื่อรู้จักร่างกายของมนุษย์ จุดไหนนวดได้ไม่ได้
- ทักษะด้านสรีระวิทยา การทำงานของกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น เส้นประสาท ข้อสำคัญที่ต้องรู้ เพราะบางจุดเป็นอันตรายได้
- ทักษะด้านเวชกรรมไทย ตรวจวินิจฉัยได้ถูกต้อง
- ทักษะด้านหัตถเวชกรรมไทย การนวดรักษาอย่างถูกโรค ถูกวิธี
- ทักษะด้านผดุงครรภ์แผนไทย ให้คำแนะนำมารดาก่อนคลอด หลังคลอด นวดกระตุ้นน้ำนม
- ทักษะด้านเภสัชกรรมแผนไทย จ่ายยาสมุนไพรให้ตรงโรค
- ทักษะด้านจิตวิทยาทั่วไป ไว้ใช้ในการพูดคุยกับคนไข้
- ทักษะด้านการสื่อสาร ใช้ในเวลาที่ให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับการรักษาด้วยแพทย์แผนไทย
- ทักษะด้านการนำเสนอ เพราะจะต้องจัดทำสื่อไว้นำเสนอแก่ประชาชนบ่อยครั้ง
อาชีพแพทย์แผนไทยมีคณะสายตรงที่จบออกมาแล้วสามารถประกอบอาชีพได้เลย นอกนั้นจะเรียนคณะที่ได้วุฒิคณะแพทยศาสตร์ โดยใช้เวลาเรียนทั้งหมด 4 ปี ที่สำคัญต้องสอบใบประกอบวิชาชีพโรคศิลปะ จึงจะประกอบอาชีพได้ บุคคลทั่วไปที่ไม่มีใบประกอบโรคศิลปะจะไม่สามารถประกอบอาชีพได้ โดยขอยกตัวอย่างเส้นทางสู่อาชีพของคณะการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร สาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ มหาวิทยาลัยบูรพาซึ่งเป็นสายตรงในการประกอบอาชีพแพทย์แผนไทย ดังนี้
● เป็นผู้สำเร็จการศึกษามัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า (ทุกแผนการเรียน)
● วิธีเข้าศึกษา เช่น ระบบ Admission หรือ โควตาบรรพบุรุษจากมหาวิทยาลัย (ก็คือถ้ามีเครือญาติ พ่อแม่ ที่เป็นหมอพื้นบ้านสามารถมาสอบเทียบเข้าได้)
● รอบสอบสัมภาษณ์ จะมีทดสอบสอบจิตวิยาทั่วไป มีคำถามให้ตอบ ยกตัวอย่างสถานการณ์ ถ้าเกิดกรณีแบบนี้ จะมีวิธีให้คำแนะนำยังไง รักษาได้หรือไม่
● ศึกษา 4 ปี ในชั้นปีที่ 3 และ 4 จะต้องสอบใบประกอบโรคศิลปะ การแพทย์แผนไทยประยุกต์
โดยสอบทั้งหมด 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 ชั้นปีที่ 3 และ ครั้งที่ 2-3 สอบชั้นปีที่ 4 ที่คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล
● สามารถประกอบอาชีพแพทย์แผนไทย/ แพทย์แผนไทยประยุกต์ในสถานพยาบาลทุกระดับทั้งภาครัฐและเอกชน
นอกจากนี้ยังผู้ที่จะสอบเพื่อทำอาชีพแพทย์แผนไทยจะต้องมีความพร้อมของร่างกาย เนื่องจากหลักสูตรมีการศึกษารายวิชาหัตถเวชกรรมแผนไทยจำนวน 15 หน่วยกิต ซึ่งต้องใช้กำลังนิ้วมืออย่างมากในการเรียนนวดไทย เพื่อให้สามารถกดนวดเพื่อรักษาโรคให้กับผู้ป่วยหลายรายในแต่ละวัน ผู้เรียนจะต้องฝึกให้นิ้วมือมีกำลังด้วยวิธีการที่เรียกว่า “ยกกระดาน” ดังนั้นสาขาวิชานี้จึงไม่เหมาะกับผู้ที่มีแขนขาผิดรูป มีน้ำหนักตัวมากเกินไป หรือมีโรคประจำตัวเกี่ยวกับโรคทางระบบกล้ามเนื้อและกระดูก เช่น กระดูกสันหลังคดระดับรุนแรง เป็นต้น
มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนสาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์
- มหาวิทยาลัยมหิดล
- มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
- มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
- มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
- มหาวิทยาลัยนเรศวร
- มหาวิทยาลัยรามคำแหง
- มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- มหาวิทยาลัยรังสิต
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร
Hard Skills
- ฝึกมือ ยกกระดานโดยการนั่งขัดสมาธิเพชร แล้วหย่งมือเป็นรูปถ้วยทั้งสองข้างดันตัวให้ลอย ผู้ชายอย่างน้อย 1 นาที ผู้หญิง 30 วินาที เพื่อฝึกกำลังนิ้วมือให้แข็งแรง ใช้ในเวลากดเส้นคนไข้ให้ลึกตามแนวเส้นที่เรียน
- ศึกษางานวิจัย สรรพคุณสมุนไพรใหม่ๆ เช่น ฟ้าทลายโจรรักษาโควิดได้หรือไม่
Soft Skills
- ฝึกอารมณ์ การควบคุมให้มีสติตลอด ไม่ประมาท เวลาเจอสถานการณ์เฉพาะหน้า เช่น คนไข้เป็นลม จะสามารถให้การช่วยเหลือคนไข้เบื้องต้นได้
- การนำเสนองาน เนื่องจากจะต้องมีการให้ความรู้กับประชาชนค่อนข้างบ่อย
กิจกรรมต่างๆ (ค่าย อบรม) ยกตัวอย่าง ค่ายเส้นทางสู่แพทย์แผนไทยประยุกต์
- ระดับการศึกษา : ม.ปลาย สายวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์
- จัดโดย : สาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
- รายละเอียด : เรียนรู้การแพทย์แผนไทยประยุกต์ คืออะไร เป็นอย่างไร และสิ่งที่แพทย์แผนไทยประยุกต์ต้องเรียนรู้มีอะไรบ้าง และมีกิจกรรมให้ร่วมสนุก
- ค่าใช้จ่าย : ฟรี
* นอกจากนี้ยังมีค่ายเกี่ยวกับแพทย์แผนไทยในมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนอีกด้วย
วิชาเรียน
แพทย์แผนไทยจะต้องเรียนคณะที่ได้วุฒิคณะแพทยศาสตร์ และต้องสอบใบประกอบวิชาชีพโรคศิลปะ ซึ่งขอนำตัวอย่างของ คณะการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร สาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ มหาวิทยาลัยบูรพา มาแนะนำ ดังนี้
ชั้นปีที่ 1 เรียนวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ชีววิทยา วิชากายวิภาคศาสตร์ ก็จะเรียนด้าน รูปร่าง ลักษณะ โครงสร้าง ตำแหน่งและความสัมพันธ์ของเซลล์และเนื้อเยื่อ ระบบกล้ามเนื้อ ประสาท เลือด เป็นต้น วิชาที่เกี่ยวข้องกับสาธารณสุข เภสัชพฤกษศาสตร์และพฤกษศาสตร์พื้นบ้าน เรียนเกี่ยวกับพืชแต่ละท้องถิ่นแต่ละภูมิภาค ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพืช การใช้ประโยชน์จากพืชเป็นปัจจัยในการดำรงชีวิต และจะมีวิชาบังคับของมหาวิทยาลัย เช่น วิชาสังคม วิชาภาษาอังกฤษ
ชั้นปีที่ 2 เน้นวิชาสรีระวิทยา รู้จักการเคลื่อนไหวของร่างกาย เน้นศาสตร์การแพทย์แผนไทย เวชกรรมไทย เภสัชกรรมไทย ผดุงครรภ์ หัตถเวช เรียนวิชาชีวเคมีสำหรับวิทยาศาสตร์สุขภาพ ศึกษาชนิด โครงสร้าง และสมบัติของชีวโมเลกุล ตลอดจนเมตาบอลิซึม
ชั้นปีที่ 3 เน้นปฏิบัติ เรียนวิชาแพทย์แผนปัจจุบัน การตรวจร่างกายและวินิจฉัยโรค เกี่ยวกับการซักประวัติ การตรวจร่างกาย การใช้อุปกรณ์และเทคนิคในการตรวจร่างกาย อาการวิทยา
การตรวจทางห้องปฏิบัติการ และการแปลผล การวินิจฉัยโรค การบันทึกเวชระเบียน การจัดเก็บเวชระเบียน การส่งต่อผู้ป่วย ความสัมพันธ์และการสื่อสารกับผู้ป่วยและญาติ วิชาเภสัชเวท เรียนพวกพืชและผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ พฤกษเคมีเบื้องต้น สารสำคัญที่ได้จากพืช ที่สามารถ
นำมาใช้เป็นยาและอาหาร การวิจัยทางการแพทย์แผนไทยประยุกต์ เรียนหลักการวิจัยทางการแพทย์แผนไทย การเขียนโครงร่างวิจัย การวางแผน และดำเนินการวิจัย จริยธรรม การวิจารณ์งานวิจัย การประยุกต์หลักการทางระบาดวิทยา การเก็บข้อมูล สถิติ การวิเคราะห์ข้อมูล การอภิปรายผล แนวทางการเขียนรายงานวิจัย และการนำเสนอผลงานวิจัย เพื่อนำมาทำในชั้นปีที่ 4
ชั้นปีที่ 4 ฝึกงาน ทำวิจัย ออกหน่วยตามฐานต่างๆ เช่น ฐานเวชกรรมไทย เภสัชกรรมไทย ผดุงครรภ์แผนไทย หัตถเวชกรรมแผนไทย เพื่อเก็บเคส โดยการเลือกหน่วยทางมหาวิทยาลัยเป็นผู้หามาให้ ฝึกออกหน่วยแต่ละที่ 1-2 เดือน จากนั้นกลับมาเรียนวิชาสัมมนาการแพทย์แผนไทย เพื่อเข้าถึงข้อมูลการสืบค้น หลักฐานทางการแพทย์ที่มีความน่าเชื่อถือ นำมาประกอบทำวิจัยในรูปแบบต่างๆ เช่น โปสเตอร์ โดยหัวข้อสอดคล้องกับสิ่งที่ถนัด เมื่อออกแบบงานวิจัยแล้ว ก็จะต้องหาคนมาเข้ารับการนวด พร้อมกับออกแบบเครื่องวัดและประเมินความพึงพอใจ ถึงจะเผยแพร่งานวิจัยออกไปแบบได้
เคล็ดลับในการเรียน
- ต้องใช้ใจในการเรียน เพราะสาขานี้เน้นปฏิบัติค่อนข้างมาก ไม่ใช่แค่การเรียนท่องจำเพียงอย่างเดียว จะต้องเหนื่อยล้าร่างกาย สัมผัสตัวคนไข้ตลอด
- ต้องมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะรักษาคนด้วยการแพทย์แผนไทย เพราะเมื่อเป็นเช่นนี้เวลาอ่านเรื่องเกี่ยวกับสมุนไพรจะเข้าใจและมั่นใจในการนำไปใช้หรือถ่ายทอดออกมา
ค่าเทอมตลอดหลักสูตร
90,000 บาท (โดยประมาณ)
ทุนการศึกษา
- ขึ้นอยู่กับแต่ละปีที่ทางมหาวิทยาลัยกำหนด
มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก
- อาจารย์มหาวิทยาลัย
- นักวิชาการ นักวิจัยด้านการแพทย์แผนไทยประยุกต์ในสถาบันที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์แผนไทยประยุกต์
- ผู้ประกอบการคลินิกการแพทย์แผนไทยประยุกต์
- ทำงานในโรงงานผลิตยาสมุนไพรและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร
- นักวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือ R&B (Research and Development)
Copyright © 2019 TruePlookpanya. All rights reserved.
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ห้ามมิให้ผู้ใดคัดลอก ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข หรือเผยแพร่ส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ก่อนได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร