Curator หรือ ภัณฑารักษ์ คือผู้ทำงานด้านการจัดการบริหารนิทรรศการหรือพิพิธภัณธ์ คำว่า curator นั้นสามารถใช้ได้ทั้งนิทรรศการงานศิลปะ และพิพิธภัณฑ์แหล่งเรียนรู้ โดยครั้งนี้เราจะไปตามดูการทำงานของภัณฑารักษ์ในงานพิพิธภัณฑ์ ในการนำเสนอเล่าเรื่องราวผ่านการจัดการวัตถุจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ให้น่าสนใจ และดึงดูดผู้เข้าชมเข้ามาเรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ของสิ่งของหรือสถานที่เหล่านั้น โดยใช้องค์ความรู้ดูและจัดการพิพิธภัณฑ์และศิลปวัตถุอย่างถูกต้องตามมาตรฐานด้วย เรียกได้ว่า ภัณฑารักษ์ เปรียบเหมือนเป็นล่าม ที่คอยเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์แทนวัตถุจัดแสดงแต่ละชิ้นไปสู่ผู้เข้าชมนั่นเอง
ลักษณะงาน
- การนำเสนอเรื่องราวในพิพิภัณฑ์รวมทั้งส่วนงานวิชาการ ผลิตเนื้อหาออกมาเพื่อเล่าเรื่อง โดยในการทำงานจะต้องสื่อสารอย่างถูกต้องและเป็นไปตามแนวทางและวัตถุประสงค์ของพิพิธภัณฑ์ที่วางเอาไว้ โดยภัณฑารักษ์จะทำงานส่วนนี้รวมกับทีมออกแบบ
- การดูวัตถุจัดแสง โดยภัณฑารักษ์จะมีหน้าที่ทำทะเบียนวัตถุ และคอยตรวจสอบว่าวัตถุมีสภาพดีหรือไม่ หากส่วนใดชำรุดอาจสามารถซ่อมแซมได้แค่เบื้องต้นเท่านั้น และจึงส่งต่อให้นักอนุรักษ์เป็นผู้ดำเนินการต่อไป (ในบางพิพิธภัณฑ์ที่มีวัตถุจำนวนมาก อาจมีการแยกหน้าที่ส่วนการทำทะเบียน และการอนุรักษ์ออกไป)
ขั้นตอนการทำงาน
- เริ่มจากมีวัตถุจัดแสดงส่งมอบมา จะเริ่มต้นการสอบถามประวัตถุชิ้นนั้น แล้วทำทะเบียน เปรียบเหมือนเป็นการมอบ ID card ให้กับวัตถุชิ้นนั้นๆ โดยมีการระบุชื่อและเลขทะเบียนตามประเภทวัตถุ วัดขนาด ถ่ายภาพ คาดคะเนอายุของศิลปะวัตถุชิ้นนั้น ๆ ที่มีของวัตถุว่าใครเป็นผู้มอบให้ ที่มาที่ไปเป็นอย่างไร อธิบายรูปพรรณสันฐาน โดยข้อมูลเหล่านี้ต้องจากเก็บให้เป็ระบบแล้ว ยังต้องมีการติดไว้บนวัตถุด้วย หากวัตถุจัดแสดงมีการชำรุดสามารถส่งไปซ่อมไปยังทีมอนุรักษ์ได้
- เมื่อมีการจัดนิทรรศการเพื่อเล่าเรื่อง ก็จะต้องการคิดรูปแบบการเล่า เรื่องที่ต้องการสื่อออกไปให้ผู้ชมในพิพิธภัณฑ์ และเราต้องคัดเลือกวัตถุจัดแสดงที่เรามีเพื่อนำมาจัดแสดง โดยการจัดนิทรรศการนั้น มีตั้งแต่การจัดภายในพิพิธภัณฑ์ หรือมีการยืม หรือนำไปจัดแสดงชั่วคราวนอกสถานที่ เมื่อเราสรุปได้แล้ว ก็ต้องเขียนรายละเอียด ทำเรื่องเพื่อของบประมาณนการจัดการ
- เมื่อออกแบบและคิดตีมหลักของนิทรรศการแล้ว ก็มีการคัดเลือกของ และทำงานร่วมกับ ฝ่าย art direction หรือ interior designer เพื่อช่วยออกแบบงาน artwork ต่าง ๆ ในพิพิธภัณฑ์หรืองานนั้น ๆ ให้มีทิศทางเดียวกับตีมหลักที่ตั้งไว้
- ประสานงานกับซัพลายเออร์ที่ช่วยผลิตสื่อต่างๆ เช่น แผ่นพับ ไวนิล สื่อที่ใช้ในงาน
- บางครั้งหากมีแขกคนพิเศษที่ต้องการได้ข้อมูลในเชิงลึก ภัณฑารักษ์จะต้องนำชมตัวพิพิธภัณฑ์เอง (ในกรณีที่ตามปกติ มีเจ้าหน้าที่นำชม)
สถานที่ทำงาน
- พิพิธภัณฑ์หรือจัดแสดง ทำงานนั้น ๆ
- ออกบูธนอกสถานที่
- หากเรามีความรู้เฉพาะทาง หรือเป็นตัวแทนของพิพิธภัณฑ์ ก็อาจจะได้รับงานวิทยาการ ไปบรรยาย หรือพูดคุย แลกเปลี่ยน นอกสถานที่ด้วย
ผู้ที่ต้องทำงานด้วย
-
ทีมนักวิจัย นักอนุรักษ์ หรือฝ่ายทะเบียน บางแห่งอาจมีทีมอยู่ในหน่วยงานเดียวกัน (ขึ้นอยู่กับโครงสร้างแต่ละองค์กร)
-
เจ้าหน้าที่นำชม เป็นผู้ที่จะคอยแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อนำไปสื่อสารกับผู้ชมในพิพิธภัณธ์
-
แม่บ้านหรือฝ่ายช่าง
-
หน่วยงานวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ จากกรมศิลปากร
-
supplier ที่เราต้องจ้างในการผลิตสื่อ งานแปล งานออกแบบต่าง ๆ
ทางเลือกอาชีพอื่น ๆ
- นักประวัติศาสตร์
- นักวิชาการ
- อาจารย์
- มัคคุเทศก์
- นักอนุรักษ์
- เจ้าหน้าที่กิจกรรมการศึกษา
- นักจัดการโบราณวัตถุ นักจัดการพิพิธภัณฑ์
ตำแหน่งและเส้นทางการเติบโตในสายอาชีพ
-
หากเป็นองค์กรเอกชน หรือมูลนิธิ การเติบโตในสายงานขึ้นอยู่กับโครงสร้างองค์กรแต่ละแห่ง
-
หากเป็นหน่วยงานราชการ จะต้องสอบบรรจุเพื่อมีตำแหน่งตามทางราชการ
- ภัณฑารักษ์ระดับปฏิบัติการ
- ภัณฑารักษ์ระดับชำนาญการ
- ภัณฑารักษ์ระดับชำนาญการพิเศษ
- จากนี้จะมีการเลือกระหว่างจะเลือกสายงานบริหารเพื่อเป็นผู้อำนวยการ หรือจะเน้นงานวิชาการซึ่งจะได้รับตำแหน่งระดับ เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิตามลำดับ
ในเส้นทางการเติบโตในมุมมองของการพัฒนาองค์ความรู้หรือประสบการณ์ ภัณฑารักษ์สามารถสร้างประสบการณ์ให้ตนเองมีความรู้เฉพาะทาง สามารถเติบโตในวงการวิชาการ และเป็นตัวแทนของหน่วยงาน เพื่อเป็นที่ปรึกษา เป็นวิทยากร หรืออาจารย์พิเศษได้เช่นกัน
รายได้
เริ่มต้นประมาณ 15,000 บาท ขึ้นอยู่กับประสบการณ์
การแข่งขันและความต้องการของตลาด
แม้จะไม่มีความต้องการของตลาดแรงงานมาก แต่อาชีพภัณฑารักษ์พิพิธภัณฑ์ ก็ยังมีเพียงพอกับกลุ่มคนที่เรียนสายงานประวัติศาสตร์ โบราณคดี หรือศิลปวัฒนธรรม จะมีการแข่งขันฉพาะการสอบบรรจุเข้าตามหน่วยงานราชการต่าง ๆ เท่านั้น แต่ในภาคเอกชน ถือว่าไม่ได้มีการแข่งขันในตลาดแรงงานเท่าไรนัก
- เป็นอาชีพที่ได้สัมผัสสิ่งทีแปลกใหม่ ไม่เหมือนใคร เช่นอาจจะเป็นวัตถุจัดแสดงเก่าแก่หรือมีคุณค่า โดยได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ไปในตัว
- มีความท้าทายในการได้สื่อสารเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ให้ผู้คนเข้าใจ เป็นนักการศึกษาที่ได้ถ่ายทอดความรู้แก่ผู้คนผ่านเรื่องราวในพิพิธภัณฑ์
- ได้ใช้ทักษะมากมายในการทำงาน
- เป็นตำแหน่งที่มีคนทำน้อย จึงมีการเปิดรับคนน้อยเช่นกัน และต้องเป็นคนที่ใจรักจริงๆ
- คนส่วนใหญ่อาจไม่เข้าใจเนื้องานที่เราทำ จึงต้องสื่อสารวิธีการทำงานของภัณฑารักษ์พิพิธภัณฑ์ให้ชัดเจนด้วย
- รู้รอบ รู้ลึก มีความรู้พื้นฐานต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับพิพิธภัณฑ์นั้น ๆ และมีกลุ่มคนในวงการ (Connection) ที่สามารถแลกเปลี่ยนกันได้อยู่เสมอ
- ใจรักเรื่องประวัติศาสตร์ ชอบและไม่มองว่าเป็นเรื่องน่าเบื่อ
- ใจเย็นและมีความละเอียดรอบคอบ
- หมั่นหาความรู้เพิ่มเติม หมั่นออกไปอบรมสัมมนาหรือแลกเปลี่ยนความรู้มากขึ้น
- ทักษะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
- ทักษะการสื่อสาร ทั้งการเขียน การพูด การประสานงาน กับผู้คนที่หลากหลาย
- ทักษะภาษาอังกฤษ จำเป็นมากหากต้องทำงานทั้งสองภาษา ทำคอนเท้น เนื้อหา หรือแลกเปลี่ยนความรู้กับนักวิชาการต่างประเทศ ทักษะการบริหารจัดการโครงการ
- ทักษะการจัดการเวลา เป็นสิ่งสำคัญหากมีการกำหนดวันเปิดนิทรรศการ การจัดการเวลาให้แก่ทุกฝ่ายและทุกภาคส่วน ทั้งงานเนื้อหา งานภาพ การติดตั้ง เป็นเรื่องสำคัญ
- ทักษะด้านการอนุรักษ์วัตถุจัดแสดง (หากทำงานในพิพิธภัณฑ์ที่มีวัตถุโบราณเป็นจำนวนมาก อาจจะจำเป็น)
การศึกษา
- ระดับมัธยมหรืออาชีวศึกษา สามารถเรียนสายใดก็ได้ในระดับมัธยมศึกษา หรือหากจบสายอาชีพอาจต้องดูเงิ่อนไขการรับสมัคร
- ระดับปริญญาตรี แม้ยังไม่มีสาขาด้านการจัดการพิพิธภัณฑ์ แต่มีคณะใกล้เคียงด้าน ประวัติศาสตร์ โบราณคดี มนุษยวิทยา สังคมวิทยา หรือสายศิลปวัฒนธรรมมากมาย
ตัวอย่างสถาบันที่เปิดสอนหลักสูตรใกล้เคียง
- คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร (เลือกสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง)
- คณะอักษรศาสตร์ สาขาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- คณะสังคมศาสตร์ สาขาประวัติศาสตร์ หรือสาขาสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- คณะศิลปศาสตร์ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร๋
- คณะมนุษยศาสตร์ คณะวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- คณะสังคมศาสตร์ สาขาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
Hard Skills
- มีพื้นฐานวิทยาศาสตร์เล็กน้อย อาทิ วิชาเคมีเบื้องต้นหากจะเน้นไปทางสายงานอนุรักษ์
- สายสังคมประวัติศาสตร์ เพราะพื้นฐานการเรียนเรื่องประวัติศาสตร์จำเป็น
- ในสมัยเรียน ต้องมีการเขียนอธิบายมากทั้งไทยและอังกฤษ ทักษะการเขียนไทยและอังกฤษจึงจำเป็นมาก
- การออกแบบ photoshop ขั้นพื้นฐานเป็นสิ่งที่จะช่วยให้เป็นประโยชน์
Soft Skills
-
รู้จักสื่อสาร โน้มน้าว หรือใช้ศิลปะและจิตวิทยาในการพูดกับผู้คนแต่ละกลุ่ม เช่นเด็กหรือผู้สูงอายุ จะทำให้เราจัดการงานภายในหรือสืื่อสารกับผู้อื่นได้ง่ายขึ้น
-
สร้างมนุษยสัมพันธ์ และมีความเข้าใจผู้อื่น
กิจกรรมต่าง ๆ
- ลองฝึกงานที่พิพิธภัณฑ์ ถ้าสนใจชอบ ก็ลองทำลองเรียนรู้ดู
- หมันเดินพิพิธภัณฑ์แล้วดูว่ามีความสนใจนี้หรือไม่
ธีรนาฎ มีนุ่น ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสงขลา เป็นบุคคลทีฉีกกรอบการทำงานแบบเดิม ๆ ให้มีสีสัน และทำให้พิพิธภัณฑ์แห่งชาติสงขลามีความน่าสนใจและเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้มากขึ้น
ตัวอย่างหลักสูตรการเรียนการสอนจากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปกร หากมีความสนใจด้านประวัติศาสตร์มากกว่าเน้นด้านภาษา แนะนำให้เลือกสาขาวิชาด้านประวัติศาสตร์หรือโบราณคดี อาทิ สาขาโบราคดี สาขาประวัติศาสตร์ศิลปะ หรือสาขาวิชามนุษยวิทยา เป็นต้น (แต่หากอยากเน้นด้านภาษา สามารถเลือกสาขาวิชาด้านภาษา) แต่ให้เน้นการเลือกวิชาด้านพิพิธภัณฑ์หรือการจัดการวัตถุทางพิพิธภัณฑ์
วิชาที่เรียน
- ชั้นปีที่ 1 เลือกเรียนวิชา พิพิธภัณฑสถานวิทยาและต้องได้เกรด B ซึ่งวิชานี้เรียนเกี่ยวกับประวัติพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย รวมทั้งนิยามของสภาการพิพิธภัณฑ์ระหว่างชาติ ICOM (International Council of Museum) จรรยาบรรณตางๆ เป็นการปูพื้นฐานโดยรวมเรื่องของพิพิธภัณฑ์ ยังไม่มีการเจาะลึกเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่จะมีการออกไปศึกษานอกสถานที่
- ชั้นปีที่ 2 เรียนวิชาการจัดการวัตถุในพิพิธภัณฑ์ จะได้ความรู้เกี่ยวกับระบบการจัดการวัตถุพิพิธภัณฑ์ กระบวนการ ขั้นตอนต่างๆ ในการควบคุมดูแลวัตถุในพิพิธภัณฑสถาน การวางนโยบาย การจำแนกวัตถุ การจัดระบบหมายเลขประจำวัตถุ การเก็บรักษา การรักษาความปลอดภัย การเคลื่อนย้าย การบรรจุและแกะหีบห่อ การให้ยืมการขอยืมวัตถุ ขั้นตอนการดำเนินการทางศุลกากร ตลอดจนจัดระบบการเก็บ การให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับวัตถุพิพิธภัณฑ์
- ชั้นปีที่ 3 วิชาการจัดการศึกษาในพิพิธภัณฑสถาน ให้ความรู้ด้านกระบวนการ ขั้นตอนการจัดการความรู้ในพิพิธภัณฑสถาน วิธีจัดกิจกรรมเพื่อการศึกษาในพิพิธภัณฑสถานสำหรับบุคคลกลุ่มต่างๆ จิตวิทยาการศึกษา การจัดกิจกรรมเพื่อการประชาสัมพันธ์พิพิธภัณฑสถาน การบริการด้านต่างๆ ทางพิพิธภัณฑสถาน นอกจากนี้ยังเรียนวิชาการอนุรักษ์เชิงป้องกันวัตถุพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเป็นเรื่องหลักการอนุรักษ์ การดูแลรักษาวัตถุพิพิธภัณฑ์ กระบวนการเสื่อมสภาพของวัตถุพิพิธภัณฑ์ วิธีการควบคุมการดูแลรักษาวัตถุทั้งในคลังและในห้องจัดแสดง คุณภาพของวัสดุที่ใช้ประกอบเป็นตู้เก็บวัตถุและตู้จัดแสดง การจับต้องเคลื่อนย้าย
- ชั้นปีที่ 4 เรียนวิชาการปฏิบัติงานด้านพิพิธภัณฑ์ เรียนเกี่ยวกับแนวคิด วิธีการศึกษา และการปฏิบัติงานในพิพิธภัณฑสถานศึกษา สถานการณ์ในปัจจุบัน การเก็บข้อมูล การวิเคราะห์เกี่ยวกับพิพิธภัณฑสถานศึกษา และการเขียนรายงาน
นอกจากนี้ ในการเลือกลงวิชาโทหรือวิชาเลือกอื่น ๆ แนะนำให้เลือกลงวิชาที่มีการสอนด้านการประติมานวิทยา ด้านประวัติศาสตร์หรือประวัติศาสตร์ศิลปะต่าง ๆ ที่สนใจ รวมทั้งหมวดการเรียนด้านโบราณคดี เป็นต้น
เคล็ดลับการเรียน
การตั้งใจเรียนในคลาสเรียนตั้งแต่แรก จะช่วยให้เรียนและเข้าใจได้ง่ายกว่าการพยายามมาทำความเข้าใจภายหลัง หากอยากหาตัวช่วย ให้สามารถสอบถามอาจารย์ว่าสามารถบันทึกเสียงการสอนได้หรือไม่ และนำมาทำความเข้าใจและทบทวนกับเพื่อนภายหลังได้ ถือเป็นการได้แลกเปลี่ยนความรู้กัน และสามารถสอบถามอาจารย์ผู้สอน เนื่องจากการเรียนในคณะจะมีการบ้านและงานที่ต้องใช้การศึกษาค้นคว้าค่อนข้างเยอะ จึงควรมีวินัยในการส่งงานให้ตรงเวลา
ชีวิตนักศึกษา
ค่าเทอมตลอดหลักสูตร
ประมาณ 136,000 บาท ตลอดหลักสูตร (อาจมีการเปลี่ยนแปลง ขึ้นอยู่กับสาขาหรือการเปลี่ยแปลงของสถาบัน)
มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก
- Norwich University of the Arts
- Royal College of Art
- University of Westminster
- University of the Arts London
- Bath Spa University
- นักโบราณคดี
- ภัณฑารักษ์งานศิลปะร่วมสมัย
- นักประวัติศาสตร์
ขอขอบคุณ เนื้อหาและข้อมูล โดย :
คุณนิภาพร บุญทองใหม่ ภัณฑารักษ์ พิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด
คุณศศินันทร์ ศรีเจริญ นักศึกษาคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
คุณเบญจวรรณ คำแดง นักศึกษาคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
คุณกรรณิการ์ โสมเกษตรินทร์ นักศึกษาคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
Copyright © 2019 TruePlookpanya. All rights reserved.
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ห้ามมิให้ผู้ใดคัดลอก ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข หรือเผยแพร่ส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ก่อนได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร