อายุรแพทย์ (Internal Medicine) คือแพทย์ที่ทำการวินิจฉัย โดยใช้ความรู้ทางการแพทย์และการสังเกตอย่างละเอียด เพื่อค้นหาสาเหตุของโรค รักษา และป้องกันโรคภัยหรือความผิดปกตของระบบในร่างกาย รวมทั้งให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวของคนไข้ และให้ยารักษาตามความจำเป็น อายุรแพทย์อาจมีความพิเศษเฉพาะทางสาขาวิชาใดวิชาหนึ่ง เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร โรคไต เป็นต้น
ข้อแตกต่างของอายุรแพทย์กับแพทย์ด้านอื่นๆ คือ แพทย์ที่เยียวยารักษาอาการเจ็บป่วยด้วยยารักษาโรคได้ แต่หากต้องมีการดำเนินการผ่าตัดใด ๆ จะเป็นการส่งต่อหน้าที่ไปยังศัลยแพทย์
ลักษณะงาน
การทำงานของอายุรแพทย์คล้ายกับการเป็นนักสืบค้นหาสาเหตุของอาการป่วย คือต้องเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อตั้งสมมุติฐานและทดสอบด้วยการตรวจลักษณะต่าง ๆ โดยนำผลตรวจที่ได้มาคัดกรองให้เหลือสาเหตุของการป่วย และวางแผนการรักษาที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล ลักษณะโรคที่มักจะรักษาด้วยแพทย์อายุรกรรม เช่น โรคเบาหวาน ความดัน ไขมัน ที่ต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น อาจรักษาโรคอื่น ๆ เช่น โรคปอดและโรคระบบทางเดินหายใจ โรคติดเชื้อ โรคภูมิแพ้ นอนไม่หลับ ความดัน โรคไต ต่อมไร้ท่อ หรือโรคที่มักเกี่ยวกับผู้ป่วยสูงอายุ ซึ่งหากแพทย์ไม่ได้เรียนต่อเฉพาะทางอาจจะรักษาโรคได้เพียงเบื้องต้น และส่งต่อคนไข้ให้แพทย์เฉพาะทางอย่างเหมาะสม
ขั้นตอนการทำงาน
- สอบถามประวัติจากผู้ป่วย ทั้งอาการของโรคที่เกิดขึ้นรวมทั้งลักษณะชีวิตประจำวันของผู้ป่วย ทั้งการทำงาน สิ่งแวดล้อม อาหารการกิน จากนั้นก็ทำการตรวจร่างกาย เพื่อวินิจฉัยโรค
- เมื่อแพทย์ได้ข้อสงสัยมาแล้วก็ต้องมาดูต่อว่าจะส่งอะไรตรวจบ้าง เพื่อแยกโรค พอได้ผลตรวจมาก็นำมาวินิจฉัยโดยการตัดข้อสงสัยออก
- ให้การรักษา โดยออกแบบการรักษาว่าจะใช้อะไรบ้าง แพ้ยา อะไร และจัดออกมาเป็นแผนการรักษาเพื่อให้เหมาะกับกายภาพของคนไข้ ไม่ว่าจะเป็นอายุ เพศ น้ำหนัก
- แพทย์ต้องอาศัยรายงานในการตรวจคนไข้ในแต่ละช่วงและการทำงานกับแพทย์ด้านอื่น ๆ เพราะคนไข้อาจมีโรคแทรกซ้อนอื่นที่ต้องระมัดระวัง
- อธิบายและให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยและญาติในการปฏิบัติตัวหลังทำการรักษา
สถานที่ทำงาน
- คลินิกหรือโรงพยาบาล ไม่ว่าจะขึ้นตรงกับรัฐหรือเอกชน คือสถานที่ทำงานหลักของอายุรแพทย์ เป็นที่ ๆ คนไข้ นั่งห้องตรวจเพื่อพบคนไข้ อาจมีการเข้าเวรตอนกลางคืนเพื่อรองรับคนไข้ที่เข้ามากรณีฉุกเฉิน
- ตรวจนอกสถานที่ อาจมีบางครั้งที่มีคนไข้เจ็บป่วยและไม่สามารถเดินทางมารักษาที่โรงพยาบาลได้ แพทย์อาจต้องใช้อุปกรณ์ภาคสนามเพื่อออกไปตรวจและทำการรักษาเบื้องต้นก่อน
ผู้ที่ต้องทำงานด้วย
- ผู้ป่วย คือคนที่ต้องพบปะพูดคุย และเป้าหมายหลักของการทำงานนั่นคือรักษา เยียวยา แนะนำเพื่อสร้างสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์คืนสู่คนไข้อีกครั้ง
- ญาติผู้ป่วย บ่อยครั้งที่แพทย์ต้องสอบถามข้อมูลของผู้ป่วยจากญาติ ขอความร่วมมือในการดูแลผู้ป่วยจากญาติที่ใกล้ชิดด้วย รวมทั้งแนะนำการดูแลผู้ป่วยให้กับญาติๆ หลังจากที่ทำการรักษา
- พยาบาลและเจ้าหน้าที่ คือ คนที่เป็นผู้ช่วยตลอดหลายชั่วโมงของการทำงานของแพทย์
- แพทย์เฉพาะทางด้านอื่น ๆ เมื่ออายุรแพทย์วินิจฉัยโรคของผู้ป่วยแล้ว มีข้อสงสัยว่าอาจเป็นอาการเริ่มแรกของโรคเฉพาะทางอื่น ๆ อายุรแพทย์จึงต้องประสานงาน ปรึกษาหรือส่งต่อคนไข้ไปตรวจกับแพทย์เฉพาะทางด้านนั้น ๆ อีกครั้ง
ตำแหน่งและเส้นทางการเติบโต
เส้นทางความก้าวหน้าของแพทย์อายุรกรรม เริ่มต้นตั้งแต่เรียนจบ โดยจะมีชื่อเรียกตามตำแหน่งและระยะการทำงาน ดังนี้
- Extern คือ นิสิต หรือนักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ 6
- แพทย์เพิ่มพูนทักษะ Intern 1 คือ แพทย์เรียนจบใหม่ มีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม ทำงานฝึกประสบการณ์ในโรงพยาบาลเป็นเวลา 1 ปี ในสถาบันที่แพทยสภารับรอง
- แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป (General Practice) คือ เป็นแพทย์ที่จบแพทยศาสตร์บัณฑิต ไม่ได้เลือกเรียนต่อในสายอาชีพเฉพาะทาง
- แพทย์พี่เลี้ยง Fix ward / แพทย์ใช้ทุน Fix ward / แพทย์ที่ปฏิบัติงานเพื่อวุฒิบัตร คือ แพทย์พี่เลี้ยง Fix ward สามารถสอบวุฒิบัตร (Board) ได้บางสาขาและบางโรงพยาบาลและแพทย์ใช้ทุน Fix ward /ปฏิบัติงานเพื่อวุฒิบัตร ในสถาบันที่สามารถสอบวุฒิบัตร (Board) ได้ สามารถต่อยอดเป็นได้ทั้ง แพทย์ประจำบ้าน(Resident) และแพทย์เฉพาะทางต่อยอด(Fellow) สำหรับแพทย์ที่ไม่อยากทำงานในโรงพยาบาลของรัฐตามเงื่อนไขที่กำหนดเพื่อใช้ทุน ต้องเสียค่าปรับเป็นจำนวน 400,000 บาท (ขณะนี้อยู่ในขั้นพิจารณาปรับขึ้นราคา)
เงินเดือน
รวมรายรับของอายุรแพทย์จะอยู่ที่ 40,000 – 80,000 บาท/เดือน ในโรงพยาบาลรัฐ และ 160,000-250,000 บาท/ต่อเดือน ในโรงพยาบาลเอกชน เนื่องจากโรงพยาบาลรัฐ แพทย์จะได้รับการบรรจุราชการ เริ่มต้นในระดับ c 4 โดยเงินเดือนของแพทย์ที่ยังไม่ต่ออายุรกรรมเริ่มต้นจะแบ่งเป็น
- เงินเดือนตามอายุราชการ หัก กบข. เริ่มต้นประมาณ 8,000 บาท (ระดับ c 4)
- เงินค่าตอบแทนพิเศษให้แก่แพทย์ที่ไม่ทำเอกชนและไม่เปิดคลินิก 10,000 บาท/เดือน (โดยเดือนนั้นต้องทำงานมากกว่า 15 วัน)
- เงินเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย 2,000 บาท หรือเงินเบี้ยกันดาร ระดับ 1 จำนวน 20,000 บาท ระดับ 2 จำนวน 30,000 บาท เพื่อจูงใจให้แพทย์ไปทำงานในพื้นที่ห่างไกล การคมนาคมลำบาก
- เงินเวรหรือการทำงานนอกเวลา ซึ่งทางที่บังคับให้เข้าเวรจะได้ 300 -1,200 / 8 ชั่วโมง
การแข่งขันและความต้องการของตลาด
ประเทศไทยมีแพทย์ประมาณ 55,000 คน ซึ่ง 50% กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ ทำให้ประเทศไทยมีความต้องการแพทย์ โดยเฉพาะตามโรงพยาบาลเล็ก ๆ ในต่างจังหวัดหรือพื้นที่ห่างไกล ทั้งนี้ มีการคาดการณ์จากกระทรวงสาธารณสุขว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าแพทย์เฉพาะทางจะขาดแคลนทุกสาขา โดยเฉพาะอายุรแพทย์ที่คาดว่าจะขาดแคลนถึง 4,000 คน
- การได้ช่วยเหลือ การทำงานเหมือนได้ทำบุญไปด้วยทุกวัน มีเรื่องดีๆซ่อนอยู่ จากการได้ช่วยชีวิตผู้คน
- งานมั่นคง ค่าตอบแทนเฉลี่ยสูง และยังเป็นอาชีพที่มีความต้องการสูงในตลาดแรงงาน
- เป็นที่พึ่งด้านสุขภาพให้แก่ผู้คนรอบกายได้
- ได้เจอคนหลากหลาย มีโลกทัศน์กว้างจาการได้พบปะ คนไข้หลายๆอาชีพ
- อายุรแพทย์ทุกคนที่มีใบประกอบวิชาชีพสามารถเปิดคลินิกได้
- การเรียนแพทย์ค่อนข้างหนัก เพราะต้องท่องตำราอ่านหนังสือ รวมทั้งใช้เวลาเรียนมากกว่าวิชาชีพอื่น ๆ ดังนั้น อาจมีเวลาน้อยลงที่จะได้สังสรรค์ผ่อนคลาย
- ความรู้ต่าง ๆ ที่เคยร่ำเรียนอาจมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ หากมีการคิดค้น หรือวิจัยสิ่งใดใหม่ ดังนั้น แพทย์จึงต้องติดตามข่าวสาร เพื่อพัฒนาตนเองให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
- อาชีพแพทย์มีเวลาว่างน้อยและไม่แน่นอน หากเป็นแพทย์อายุรกรรมทั่วไปมักจะมีการเข้าเวรและโทรเรียกเข้ารับเรื่องกลางดึก หากไม่จัดการให้ดี อาจส่งผลกระทบกับชีวิตส่วนตัว จึงควรมีการจัดการสมดุลของชีวิตในทุก ๆ ด้านให้ดี
- การรักษาชีวิตคนถือเป็นภาระหนักที่ต้องแบกรับ ดังนั้นนอกจากร่างกายที่จะไม่ค่อยได้พักผ่อนแล้ว ความเครียดและวิตกกังวลจะส่งผลร้ายต่อตัวแพทย์ได้เช่นกัน
- อดทนและเสียสละ นอกจากการเรียนแพทย์จะต้องใช้เวลาฝึกฝนอย่างหนักหน่วงยาวนานแล้ว การทำงานก็ไม่ได้สบายเช่นกัน เพราะแพทย์ต้องถือชีวิตคนเป็นเรื่องสำคัญที่สุด จึงมีคำกล่าวว่า แพทย์ คือ ผู้ที่พร้อมจะใช้ชีวิตเพื่อคนอื่น คนเป็นแพทย์คือผู้ที่เสียสละอย่างแท้จริง
- ช่างสังเกตและใส่ใจรายละเอียด การวินิจฉัยโรคต้องอาศัยความละเอียดรอบคอบ สังเกตในทุกความผิดปกติของร่างกายคนไข้
- ร่างกายและจิตใจแข็งแรงสมบูรณ์ แพทย์ต้องมีความสมบูรณ์ทั้งร่างกาย อารมณ์ สติสัมปชัญญะ ผสมผสานกับองค์ความรู้เพื่อช่วยชีวิตผู้คน
- ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น พื้นฐานของมนุษย์ที่อยู่อาศัยร่วมกันคือความเห็นอกเห็นใจและเมตตาต่อกัน ซึ่งเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของผู้เป็นแพทย์
- มีความสนใจทางวิทยาศาสตร์และร่างกายมนุษย์ การแพทย์นั้นจะทำให้คุณได้เรียนรู้กระบวนการทำงานของร่างกายมนุษย์ และการเชื่อมโยงกันของอวัยวะและระบบต่างๆ และสิ่งใดบ้างที่จะช่วยรักษาหรือทำลายระบบต่างๆในร่างกาย การแพทย์ถือเป็นการเปิดโลกมหัศจรรย์ของร่างกายมนุษย์ให้ผู้เรียน โดยเฉพาะวิชาทางชีววิทยาที่เกี่ยวข้อง
- ขยัน เรียนเก่งและ พัฒนาตัวเองอยู่เสมอ การเรียนแพทย์ ต้องอาศัยความทุ่มเทอย่างมาก เพราะต้องจดจำและเข้าใจทุกอย่างในเวลาไม่กี่ปีของชีวิตนักเรียนแพทย์แม้จะเรียนจบแล้วก็ยังต้องอ่านหนังสืออยู่เสมอ เพื่อที่จะได้เข้าใจความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ ตามทันการเปลี่ยนแปลง และนำองค์ความรู้ใหม่ๆที่ได้รับมาเป็นตัวช่วยในการรักษาผู้ป่วยให้ดีขึ้น
- มีความรับผิดชอบสูง เมื่อคนไข้มาฝากชีวิตกับแพทย์แล้ว แพทย์ต้องทำให้ดีที่สุด เพื่อให้ผู้ป่วยหายจากการเจ็บป่วย เพราะความรับผิดชอบนั้น คือความเป็นความตายที่จะตัดสินชีวิตผู้ป่วยได้เลย
- ซื่อสัตย์และมีจรรยาบรรณ เมื่อการทำงานของแพทย์ คือ ความเป็นความตายของคนไข้ ข้อมูลทุกอย่างเกี่ยวกับคนไข้ สำหรับแพทย์แล้วเรื่องการขาดจริยธรรมเป็นเรื่องที่รุนแรงมาก
- ทักษะการสื่อสาร เวลาการทำงานส่วนใหญ่ของอายุรแพทย์ คือการสื่อสารกับคนไข้ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล ดังนั้น การสื่อสารจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ขาดไม่ได้
- ทักษะการแก้ปัญหา แพทย์จำเป็นต้องมีทักษะการประเมินอาการของคนไข้ และเลือกใช้วิธีรักษาที่ดีที่สุด การคิดวิเคราะห์และการแก้ปัญหา รวมถึงความสามารถในการตัดสินใจ การวินิจฉัยโรคต่าง ๆ เกิดจากการวิเคราะห์ตามอาการและข้อมูลประกอบกัน ทักษะในด้านนี้จึงสำคัญมาก
- ทักษะด้านการจัดการ การบันทึกการรักษา จัดการและประเมินผลต่างๆ ควรเป็นระบบเพื่อให้การช่วยให้การรักษาและธุรกิจด้านการแพทย์ดำเนินลุล่วง
- ทักษะความเป็นผู้นำ การจัดระบบการทำงาน การบริหาร วางแผน และการจัดสินใจ ถือเป็นคุณสมบัติของผู้นำที่แพทย์พึงมี และถือเป็นตัวอย่างให้เจ้าหน้าที่คนอื่น ๆ ในโรงพยาบาลด้วย
- ทักษะการคิดวิเคราะห์ แพทย์ต้องทำการประเมินคนไข้ วินิจฉัยโรคจากอาการที่เห็น และพฤติกรรมการต่าง ๆ ประกอบจากการซักถามข้อมูลจากคนไข้เองหรือญาติ และวิเคราะห์เพื่อหาสาเหตุและหนทางการรักษา
การศึกษา
ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ควรเลือกเรียนสายวิทย์-คณิต หรือสายใดก็ได้ แต่เน้นว่าจะต้องใช้ความรู้หลัก ๆ คือ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เคมี ชีวะ ฟิสิกส์ ฯลฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่แพทย์ต้องรู้และเข้าใจเป็นอย่างดี เพื่อนำไปใช้ประกอบการรักษาคนไข้ระดับปริญญาตรี เลือกเรียนคณะแพทยศาสตร์ในมหาวิทยาลัยที่เปิดทำการเรียนการสอน อาทิ
- โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
- มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
- มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- มหาวิทยาลัยนเรศวร
- มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
- มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- มหาวิทยาลัยบูรพา
- มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์
- มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
- มหาวิทยาลัยสยาม
- วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์พะมงกุฎเกล้า
- วิทยาลัยการแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์
- วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
- วิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
- สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิลัยลักษณ์
- สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
ใช้เวลาในการเรียน 6 ปี ได้รับปริญญาแพทยศาสตร์บัณฑิต โดยเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไปแล้ว หากจะต่ออายุรกรรมจะใช้เวลาเรียนประมาณ 3 ปี เมื่อจบ 3 ปี จะได้เป็นแพทย์ อายุรกรรมทั่วไป ทั้งนี้ ยังสามารถเรียนต่ออายุรกรรมเฉพาะทางได้อีกด้วย ใช้เวลาในการเรียนอีกประมาณ 2 - 3 ปี
Hard Skills
- ตั้งใจเรียนเพื่อเกรดเฉลี่ยที่ดีพอ
- ตั้งใจเรียน เน้นทบทวนฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา
- พัฒนาทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียน ภาษาอังกฤษ
- พัฒนาทักษะการวิจัย ค้นคว้าหาความรู้ รวมถึงการคิดวิเคราะห์แก้ปัญหาด้วย
Soft Skills
- ทักษะการสื่อสาร
- ทักษะการสังเกต
กิจกรรมต่าง ๆ
-
เรียนรู้หรือฝึกทำงานวิจัยด้านคณิตศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์
-
ติดตามชมซีรีย์หรือสารคดีเกี่ยวกับแพทย์ หรือติดตามข่าวเกี่ยวกับวงการแพทย์ ผ่านสื่อผ่านช่องทางต่าง ๆ ทั้ง online และ offline
-
พูดคุยกับรุ่นพี่แพทย์ หรือคนในวงการแพทย์
-
ฝึกงานในโรงพยาบาลช่วงปิดเทอม หรือเป็นอาสาสมัครกิจกรรมจิตอาสา จะช่วยให้ได้เห็นรูปแบบการทำงานและการแก้ปัญหาที่หมอในชีวิตจริงต้องเจอ
-
ฝึกงานหรือเข้าร่วมกิจกรรมในโรงพยาบาลหรือองค์กรมูลนิธิช่วยเหลือผู้ป่วย
-
ทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์สุขภาพ
-
เข้าร่วมค่ายหมอของสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ
-
ลองเข้ามาฝึกงานกับโครงการ ทำ ก่อน ฝัน ของทรูปลูกปัญญา ซึ่งมีอาชีพให้น้อง ๆ ได้ร่วมใกล้ชิดกับการทำงานจริงของพี่ ๆ อาชีพอายุรแพทย์ด้วย
-
หาเว็บแนะนำดี ๆ เรื่องการเรียนแพทย์ หรือลองเข้าไปอ่านบทความ [รีวิว] พี่ไม้ แพทย์ จุฬาฯ เทคนิคการอ่านหนังสือ การเตรียมตัวสอบวิชาเฉพาะแพทย์
-
ติดตามภาพยนตร์หรือซีรีย์เกี่ยวกับหมอที่น่าสนใจ รวบรวมมาให้แล้ว >> รวมซีรีย์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับอาชีพหมอ
คำบอกเล่าจากคนในสายอาชีพ
แพทย์ควรที่จะพัฒนาตนเองด้วยการเรียนรู้อยู่เสมอ เพราะวิทยาการทางการแพทย์มีความก้าวหน้าและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ต้องหมั่นศึกษาข้อมูลใหม่ ๆ ให้ทันต่อสถานการณ์ โดยอาจเข้าร่วมอบรมสัมมนาของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำความรู้เหล่านั้นมาประยุกต์ใช้ในการรักษาผู้ป่วยหรือทำการวิจัยซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากในวงการแพทย์และสาธารณสุข ทั้งนี้ อาจพัฒนาตนเองด้วยการเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นก็จะได้ทั้งประสบการณ์และความชำนาญในอาชีพที่มากกว่าเดิม
การดูแลคนไข้ที่ดีที่สุด คือการดูแล เอาใจใส่เหมือนญาติมิตรเรา ถึงแม้ว่า จะไปอยู่ในขอบข่ายที่เราสามารถรักษาหรือวินิจฉัยได้ก็ควรให้คำปรึกษาและให้คำแนะนำเพื่อคนไข้จะได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมทันเวลา ความท้าทายที่สำคัญของอายุรแพทย์คือการทำให้คนไข้หาย โดยคุณสมบัติที่ดีของอายุรแพทย์คือต้องมีสมาธิในการพูดคุยกับคนไข้ ต้องมีจิตที่เมตตา และต้องสุขภาพดี สอนคนไข้อย่างไรต้องทำอย่างนั้นให้ได้ด้วยเช่นกัน
ติดตามเรื่องราวของอาชีพแพทย์ได้ ที่นี่
วิชาเรียน
ในส่วนที่ 1 จะเกี่ยวกับการเรียนความรู้ทางทฤษฎีต่างๆทั้งหมดในสิ่งแวดล้อมทางการแพทย์ เช่น หลักวิทยาศาตร์การแพทย์เบื้องต้น เช่น กายวิภาคศาสตร์ ชีวเคมี จุลชีววิยา พยาธิวิทยา และ เภสัชวิทยา
- Basic science คือเคมี ชีวะ ฟิสิกส์
- Basic medical science เป็นวิชาแพทย์
- Behavior sci เป็นวิชาการจัดการ จิตวิตยา การวิจัย การเข้าใจคนไข้
- Anatomy กายวิภาค เป็นสิ่งที่จับต้องได้ทั้งหมด
- Physiology เป็นการทำงานของร่างกาย
- Pathology การเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่ทำให้เกิดโรค
- Phamacology เรื่องของยาหลักการ การออกฤทธิ์ กลไล ฯลฯ
ซึ่งแต่ละเรื่องก็จะแบ่งแยกไปตามระบบต่างๆของร่างกาย
- Basic sci เกี่ยวกับเชื้อโรค กลไกการเกิด
- Integument ระบบปกคลุมร่างกาย เช่น ผิว ผม เล็บ
- Locomotive ระบบเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว ได้แก่กระดูก กล้ามเนื้อ
- Cardiovascular ระบบหัวใจและหลอดเลือด
- Respi การหายใจ
- Gastro-intestinal ทางเดินอาหาร
- KUB ทางเดินปัสสาวะ
- Reproductive การสืบพันธ์
- Neurology ระบบประสาท
ในส่วนที่ 2 Clinical Skill คือการเรียนรู้การทำงานและการฝึกกับผู้ป่วยจริง แบ่งออกเป็นแผนกต่าง ๆ ดังนี้
- OB-gyne สูติ-นรีเวช
- Surgery การผ่าตัด
- Internal Medicine การรักษาโดยการใช้ยา
- Pediatric เด็ก
- Orthopedics กระดูกและข้อ
- Ophthalmology ตา
- ENT หู คอ จมูก
- Emergency ฉุกเฉิน
- Anas ดมยาสลบ
- Commed-Fammed การดูแลแบบองค์รวม การทำวิจัย
- Psychiatric จิตเวช
- Rehabilitation กายภาพบำบัด
ในส่วนที่3 คือการฝึกงานจริงในวอร์ดต่างๆ จะได้ฝึกขึ้นวอร์ดจริงในโรงเรียนแพทย์ หรือ โรงเรียนทางคลินิกต่างๆ โดยที่จะต้องเวียนขึ้นวอร์ดประเภทต่าง ๆ ไปเรื่อย เช่น อายุรศาสตร์ การผ่าตัด กุมารเวชศาสตร์ และ การแพทย์ทั่วไป เป็นการเริ่มทำงานจริง ภายใต้การควบคุม ทำงานทุกวันไม่มีวันหยุด อาทิตย์ละ 7 วัน หากว่าวันใดมีหน้าที่อยู่เวร จะต้องอยู่ที่โรงพยาบาล 24 ชั่วโมง แล้วรุ่งขึ้นจะทำงานต่อตามปกติ
มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก
- University of Oxford
- University of Cambridge
- Columbia University
- Stanford University
- McGill University
อาชีพแพทย์ในสาขาวิชาอื่น ๆ ที่ต้องศึกษาเจาะลึกลงไปเฉพาะทาง อาทิ
- ศัลยแพทย์ Surgeon
- จักษุแพทย์ Ophthalmologist
- กุมารแพทย์ Pediatrician
- แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว Family Medicine Physicians
- แพทย์เวชศาสตร์ป้องกัน Preventive Medicine Physicians
- แพทย์เวชศาสตร์ทั่วไป General Practitioner
- วิสัญญีแพทย์ Anesthesiologist
- พยาธิแพทย์ Pathologists
- แพทย์รังสีวิทยา Radiologist
- แพทย์ด้านนิติเวชศาสตร์ Forensic Medicine Physician
- จิตแพทย์ Psychiatrist
- แพทย์โรคกระดูก Orthopedist
- สูตินรีแพทย์ Obstetrician & Gynecologist
- แพทย์ด้านโสต ศอ นาสิกวิทยา Oto-rhino-laryngologist
Copyright © 2019 TruePlookpanya. All rights reserved.
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ห้ามมิให้ผู้ใดคัดลอก ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข หรือเผยแพร่ส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ก่อนได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร