นักจิตวิทยาพัฒนาการ เป็นอาชีพที่เรียนรู้ ศึกษา วิจัย รวมทั้งพัฒนาการด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา และปัจจัยอื่น ๆ ที่มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของมนุษย์ทั้งในทางบวกและทางลบ เพื่อที่จะทำการช่วยเหลือ ส่งเสริม หรือให้การสนับสนุนต่อการเปลี่ยนแปลงนั้น ๆ ให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้น
ลักษณะงาน
งานของนักจิตวิทยาพัฒนาการมี 2 รูปแบบหลัก ๆ คือ
- งานในเชิงวิชาการ ศึกษาวิจัย คิดค้นและปรับปรุงทฤษฎีต่าง ๆ
- งานในเชิงปฏิบัติ มีความแยกย่อยไปตามช่วงวัย เช่น นักจิตวิทยาเด็ก ส่งเสริมพัฒนาการ กระตุ้นพัฒนาการ ให้คำปรึกษาด้านพัฒนาการและการเลี้ยงดู นักจิตวิทยาพัฒนาการวัยรุ่น นักจิตวิทยาโรงเรียน นักจิตวิทยาพัฒนาการผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุ ก็มีสายงานเฉพาะในด้านการดูแลและสนับสนุนสภาพแวดล้อมทางจิตใจของคนในวัยนั้น ๆ
ขั้นตอนการทำงาน
- ทำความเข้าใจ ค้นหาเป้าหมายของบุคคลที่เข้ามารับบริการ
- ให้ความช่วยเหลือผ่านเครื่องมือคัดกรองทางจิตวิทยา เครื่องมือประเมินพัฒนาการ การพูดคุยเชิงจิตวิทยา การใช้กิจกรรม ใช้สื่อ แก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสภาวะทางจิตใจ อารมณ์ สังคม ในองค์รวม
- วางเป้าหมายร่วมกัน เพื่อสนับสนุน สร้างแนวทางต่างๆ ที่จะเป็นการส่งเสริมให้บุคคลนั้นๆ หรือกลุ่มคนนั้นๆ มีสภาวะทางจิตใจและสภาวะอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอยู่ในระดับที่เหมาะสมหรือพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา
- ประเมินผล ติดตามผลเพื่อวิเคราะห์และพัฒนาแนวทางต่อไป
สถานที่ทำงาน
ส่วนใหญ่ทำงานในโรงพยาบาล โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก/ผู้สูงอายุ สถาบันเสริมพัฒนาการเป็นหลัก และสามารถทำงานเป็นนักจิตวิทยาพัฒนาการอิสระได้ด้วย
ผู้ที่ต้องทำงานด้วย
- แพทย์ พยาบาล
- นักกระตุ้นการพูด
- นักกายภาพบำบัด
- นักวิจัย
- ผู้ปกครอง
- จิตแพทย์
ทางเลือกอาชีพอื่น ๆ
- นักกระตุ้นพัฒนาการ
- นักจิตวิทยาคลินิก
- นักจิตวิทยาบำบัด
- นักจิตวิทยาอุตสาหกรรม
- นักจิตวิทยาพัฒนาชุมชน
- นักจิตวิทยาการปรึกษา
ตำแหน่งและเส้นทางการเติบโต
หากเลือกทำงานแบบตรงสาย นักจิตวิทยาพัฒนาการสามารถทำงานได้ในหลากหลายสถาบัน โดยอาจเริ่มต้นจากนักจิตวิทยา เติบโตเป็นผู้เชียวชาญเฉพาะทาง หรือผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะทางได้ โดยการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ หรือศึกษาเพิ่มเติม เพื่อพัฒนาศักยภาพ
- นักจิตวิทยาโรงเรียน / นักจิตวิทยาประจำศูนย์ (หน่วยงานราชการ เช่น ศูนย์พัฒนาเด็กและเยาวชน/ศูนย์เด็กเล็ก/ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ) /
- นักจิตวิทยาพัฒนาการในสถาบันเสริมพัฒนาการต่างๆ /
- นักจิตวิทยาพัฒนาการประจำโรงพยาบาล
หากเลือกทำงานแบบไม่ตรงสาย สามารถทำงานได้อย่างหลากหลาย เช่น
- เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคล
- นักการตลาด
- นักสื่อสารมวลชน วิทยากร
- นักสังคมสงเคราะห์
- ครูแนะแนว
- อาจารย์มหาวิทยาลัย
โดยแต่ละสายงานจะมีการเติบโตแตกต่างกันไป ตามแต่รูปแบบงานและโครงสร้างองค์กรนั้น ๆ
รายได้
รายได้เริ่มต้นอยู่ที่ 15,000 บาท ในกรณีที่มีความสามารถเฉพาะทางอาจทำงานในลักษณะที่มีรายรับเป็นรายชั่วโมงได้ อยู่ที่ประมาณ 800 - 2500 บาท / ชม. ขึ้นอยู่กับประสบการณ์
การแข่งขันและความต้องการของตลาด
งานนักจิตวิทยาพัฒนาการ ยังเป็นงานที่ค่อนข้างยากและท้าทายสำหรับการเติบโตในประเทศไทย เนื่องจากมีความใหม่และยังไม่ได้รับการให้ความสำคัญมากนัก อย่างไรก็ตามเนื่องจากเป็นอาชีพที่มีความใหม่และมีความเฉพาะตัวสูง จึงเป็นที่ต้องการของตลาดพอสมควร และยังมีโอกาสในการเติบโตในอนาคตได้สูง นอกจากนี้ ด้วยความที่ยังมีผู้ที่ศึกษาและมีประสบการณ์ด้านนี้โดยตรงยังไม่มากนักเมื่อเทียบกับอาชีพอื่น ๆ ทำให้การแข่งขันในสายอาชีพนี้ยังไม่สูงมากนัก
- ให้คุณค่าทางจิตใจ ได้ช่วยเหลือผู้คน
- เข้าใจความเป็นมนุษย์ได้ดีขึ้น
- ได้พบกับผู้คนหลากหลาย
- เป็นงานที่มีความเฉพาะทาง สามารถสะสมประสบการณ์และพัฒนาตนเองในสายงานนี้ได้อย่างต่อเนื่อง
- งานมีความท้าทาย ไม่จำเจ
- ในประเทศไทยยังไม่เป็นที่นิยมหรือเป็นที่รู้จักในวงกว้าง อาจะทำให้ไม่สามารถเข้าถึงและช่วยเหลือผู้ที่ต้องการรับบริการได้เต็มที่
- งานมีความละเอียดอ่อน ต้องอาศัยทั้งความรู้และประสบการณ์ที่สูง
- ปัจจัยรบกวนกระบวนการทำงานสูง หลายครั้งที่การดูแลพัฒนาการเด็กหรือวัยรุ่นเป็นไปได้ลำบาก เพราะมีเงื่อนไขจากครอบครัว โรงเรียน ที่มีความเชื่อหลากหลายเข้ามาแทรกแซง
- ถ้าจัดการตัวเองไม่ดีระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัว อาจทำให้มีความเครียดง่าย
- มีความสนใจที่จะทำความเข้าใจในพฤติกรรมของมนุษย์อย่างลึกซึ้ง ใส่ใจ อยากรู้ อยากช่วยคน
- ช่างสังเกต
- มีความละเอียดรอบคอบ
- ใจเย็น มีความอดทน มีความเมตตา โอบอ้อมอารี
- มีความคิดที่เปิดกว้าง พร้อมที่จะรับข้อมูลข่าวสารและเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่าง ๆ อยู่เสมอ
- สามารถวางเรื่องส่วนตัวลงและมีสมาธิกับผู้รับบริการเสมอ
- มีใจรักในอาชีพการบำบัดและรักษา ชอบบริการช่วยเหลือผู้อื่นและผู้ป่วย
- มีความรู้ความเข้าใจในศาสตร์จิตวิทยา
- ทักษะการคิดวิเคราะห์ เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องวิเคราะห์ถึงสาเหตุ เชื่อมโยงข้อมูลต่าง ๆ ของผู้เข้ารับบริการ
- ทักษะทางด้านการสื่อสาร การพูด การฟังและการสื่อสารในรูปแบบอื่น ๆ เป็นสิ่งที่สำคัญมาก และถือเป็นเครื่องมือหลักในการสื่อสารกับผู้เข้ารับบริการ
- ทักษะในการแก้ปัญหาและการตัดสินใจ ทักษะดังกล่าวต้องใช้ควบคู่ไปกับองค์ความรู้ทางจิตวิทยา งานวิจัย การวิเคราะห์เพื่อเลือกแนวทางในการปรับพฤติกรรมและแก้ไขปัญหาให้กับผู้เข้ารับบริการ
- ทักษะภาษาอังกฤษ ช่วยให้สามารถเข้าถึงการวิจัยในระดับสากลได้มากขึ้น
- ทักษะการใช้เครื่องมือทดสอบทางจิตวิทยา
การศึกษา
-
จบการศึกษาระดับมัธยมสายใดก็ได้
- ศึกษาปริญญาตรีด้านจิตวิทยา ในมหาวิทยาลัยที่มีสายจิตวิทยาพัฒนาการให้เลือก หรือต่อปริญญาโทด้านจิตวิทยาพัฒนาการ และอาจศึกษาเพิ่มด้านการศึกษา หรือตามที่สนใจเป็นพิเศษ
ตัวอย่างสถาบันที่เปิดสอนด้านจิตวิทยา
-
ภาควิชาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
-
คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
-
ภาควิชาจิตวิทยาและการแนะแนว คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
-
สาขาวิชาจิตวิทยา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
-
สาขาวิชาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
-
สาขาวิชาจิตวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
-
สาขาวิชาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ
Hard Skills
- พัฒนาการสื่อสาร การพูด การฟัง
- พัฒนาการอ่าน จับใจความ สรุป
- การวิจัย วิเคราะห์ สังเคราะห์ ข้อมูล
- ฝึกฝนวิชาภาษาอังกฤษ
- หลักการจิตวิทยาเป็นสิ่งที่มีความรู้พื้นฐาน
Soft Skills
- พัฒนาเรื่องการแก้ปัญหาและการตัดสินใจ
- ฝึกเป็นคนช่างสังเกต โดยเฉพาะสังเกตอารมณ์ของตัวเองและอารมณ์ของคนรอบข้าง
- ฝึกความละเอียดรอบคอบและความอดทน
กิจกรรมต่าง ๆ
หาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสาขา/คณะจิตวิทยา ในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ โดยตรง หรือหาความรู้ทางด้านจิตวิทยาพัฒนาการ จากเว็บไซต์ที่เกี่ยวกับงานวิจัยทางด้านจิตวิทยา เช่น www.sciencedirect.com / www.scopus.com เป็นต้น
สายงานนักจิตวิทยาพัฒนาการ เป็นสายงานที่มีความใหม่สำหรับสังคมไทย แต่ก็เป็นงานที่มีความต้องการของตลาดสูงเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การเติบโตและการมีงานที่มั่นคงในสายอาชีพนี้นั้น ต้องอาศัยความรู้และทักษะเฉพาะตัวค่อนข้างมาก เพราะแม้จะมีความต้องการสูง แต่ตำแหน่งและโอกาสในการทำงานนั้นยังมีค่อนข้างน้อย โดยส่วนมากจำเป็นต้องอาศัยความโดดเด่นและประสบการณ์เฉพาะบุคคล จึงจะสามารถหาจุดยืนหรือเลี้ยงชีพได้อย่างมั่นคง
ในแง่มุมของการทำงาน อาชีพนักจิตวิทยาพัฒนาการนั้น แม้จะมีความยากในตัวงานและมีโอกาสในด้านรายได้ยังไม่มากนักสำหรับผู้ที่ยังมีประสบการณ์น้อย แต่ก็เป็นอาชีพที่มีคุณค่าและให้ความรู้สึกที่ดีต่อผู้ปฏิบัติงานเป็นอย่างมาก เป็นอาชีพที่ทำให้เข้าใจทั้งผู้อื่นและตนเอง เข้าใจการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่าง ๆ ได้ดี และเป็นอาชีพที่ถือว่าให้ความสุขกับผู้ปฏิบัติงานได้หากเป็นผู้ที่รักในสายอาชีพนี้จริง ๆ
ณัฏฐณี สุขปรีดี (ครูพิม)
นักจิตวิทยาพัฒนาการ / เจ้าของเพจ Mature Your Child / ผู้บริหารสถาบัน KidiCuB
วิชาที่เรียน
- ชั้นปี 1 เป็นการเรียนวิชาพื้นฐานทั่วไป เช่น เคมี ชีวะ สถิติ จิตวิทยาพื้นฐาน
- ชั้นปี 2 เริ่มเรียนวิชาเฉพาะในระดับขั้นนำในด้านต่าง ๆ ของทุกสายจิตวิทยา
- ชั้นปี 3 ได้เลือกสายด้านที่สนใจ เรียนรู้เรื่องการวัด การประเมิน และฝึกงาน
- ชั้นปี 4 ทำงานวิจัย
เคล็บลับการเรียน
เคล็ดลับคือความขยันในการอ่าน เนื่องจากเป็นสาขาที่ต้องใช้การอ่านและทำความเข้าใจกับทฤษฎีและงานวิจัยทั้งภาษาไทยและต่างประเทศให้มีความแม่นยำ เพราะศาสตร์จิตวิทยาเป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับจิตใจของมนุษย์ หากไม่เข้าใจในเนื้อหาอย่างถ่องแท้แล้วนั้น ก็จะทำให้การเรียนขาดประสิทธิภาพและส่งผลต่อการทำงานในอนาคตได้ นอกจากนี้ อีกหนึ่งเคล็ดลับสำคัญก็คือ การพยายามหาประสบการณ์ตรงจากภายนอกไปด้วย เพราะนอกจากทฤษฎีแล้ว จิตวิทยาพัฒนาการที่เป็นศาสตร์ด้านพฤติกรรมนั้น ต้องอาศัยการสังเกตและการเรียนรู้ผู้คน ซึ่งจะทำให้เรานำเอาความรู้ความเข้าใจมาเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันได้มากยิ่งขึ้น และรู้สึกสนุกกับการเรียนมากขึ้น
ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย
นอกเหนือจากการเรียน ยังมีกิจกรรมต่าง ๆ เช่นงานกีฬา งานในคณะ งานต่างคณะ ที่เราสามารถใช้โอกาสนี้ในการรู้จักและสังเกตคนได้หลากหลาย ในบางวิชา เราจะได้เรียนรู้ ได้พูดคุย ได้เป็นตัวอย่างให้กับรุ่นพี่ปริญญาโท เอก หรืออาจารย์ที่กำลังทำวิจัย
ค่าเทอม
ประมาณ 13,000 ถึง 35,000 บาทต่อเทอม ขึ้นอยู่กับแต่ละสถาบันการศึกษา (อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้)
มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก
- The University of Queensland
- Queensland University of Technology
- Lancaster University
- University of Nottingham
- Claremont Graduate University
- Monash University
- King's College London
- Education University of Hong Kong
- Harvard College
- University of Bergen
- University of Amsterdam
- ครูแนะแนว
- นักสังคมสงเคราะห์
- นักการตลาด
- นักศิลปะบำบัด
- นักสื่อสารมวลชน
- นักประชาสัมพันธ์
- กุมารแพทย์
- จิตแพทย์
Copyright © 2019 TruePlookpanya. All rights reserved.
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ห้ามมิให้ผู้ใดคัดลอก ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข หรือเผยแพร่ส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ก่อนได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร