นักเล่านิทาน
นักเล่านิทาน
นักเล่านิทาน
นักเล่านิทาน

       นักเล่านิทานและจัดกิจกรรมสำหรับเด็ก คือผู้ที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดเรื่องราว/เล่านิทานให้ผู้อื่นฟัง โดยสื่อสารผ่านลีลาท่าทาง น้ำเสียง อารมณ์ร่วม และอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อดึงดูดใจผู้ฟังให้สนใจ ให้เข้าใจ ให้จดจำ และเกิดความประทับใจกับเรื่องราวนั้น ๆ ผ่านรูปแบบการเล่านิทานลักษณะต่าง ๆ เช่น เล่านิทานปากเปล่า เล่านิทานเปิดหนังสือ เล่านิทานละครหุ่น เล่านิทานเงา เล่านิทานลูกโป่ง เล่าไปวาดไป เล่าไปร้องเพลงไป และรูปแบบอื่น ๆ อีกมากมาย

นักเล่านิทาน

นักเล่านิทาน

นักเล่านิทาน

ลักษณะงาน

       การเป็นนักเล่านิทาน ทำให้เราได้แปลงร่างตลอดเวลา บางวันเป็นนักเล่านิทาน บางวันเป็นหนูน้อยหมวกแดง บางวันเป็นมังกร บางวันเป็นพ่อมดแม่มด แล้วแต่ว่าไปเล่านิทานที่ไหน ในงานอะไร ตัวอย่างเช่น 

  • เล่านิทานในโรงเรียน จะเน้นเรื่องสอดแทรกการเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับความสนุกสนานในนิทาน
  • เล่านิทานในงานอีเว้นท์ เน้นความตื่นตาตื่นใจ มีเสียง สี เสียง ประกอบการเล่านิทาน
  • เล่านิทานในงานวันเกิด เน้นความอบอุ่น ใกล้ชิดสนิทสนม เด็ก ๆ ได้มีส่วนร่วมในทุกช่วงกิจกรรม
  • เล่านิทานในงานค่าย เน้นบรรยากาศ สังเกตธรรมชาติรอบตัว ใบไม้ ดอกไม้ ดวงดาว ภูเขา ลำธาร
  • เล่านิทานในห้องบันทึกเสียง เน้นการออกเสียงอย่างถูกต้องชัดเจน ดัดเสียงเป็นตัวละครตามคาแรคเตอร์ตัวละครนั้น ๆ
  • เล่านิทานในงานที่มีผู้ปกครอง/ครูปฐมวัย เน้นแลกเปลี่ยนแบ่งปันเทคนิคการเล่านิทาน การทำสื่อนิทานด้วยตัวเอง

ขั้นตอนการทำงาน 

  1. หลังจากรับงานมา เริ่มต้นด้วยการศึกษาข้อมูลเบื้องต้น เช่น อายุผู้ฟัง จำนวนคน เวลาที่ได้รับในการทำกิจกรรม ลักษณะสถานที่จัดงาน รูปแบบเวที ที่นั่งคนดู เพื่อออกแบบการเล่านิทานให้เหมาะสมสอดคล้องกับผู้ฟังมากที่สุด
  2. ออกแบบกิจกรรม กำหนดโครงสร้างกิจกรรม เลือกเรื่องนิทาน เตรียมเสื้อผ้า เตรียมอุปกรณ์ต่าง ๆ และซักซ้อมการเล่านิทานให้แม่นยำ
  3. เตรียมร่างกายให้แข็งแรง พักผ่อนให้เต็มที่ และเตรียมใจให้พร้อม มีสมาธิ ตัดเรื่องรบกวนจิตใจออกไป
  4. เริ่มต้นกิจกรรมด้วยการเตรียมความพร้อมของเด็ก ๆ ด้วยกิจกรรมง่าย ๆ เช่น ปรบมือ หรือ ส่งสัญญาณเสียงพร้อมกัน เพื่อให้เด็ก ๆ มีสมาธิและพร้อมที่จะฟังนิทาน
  5. แสดงนิทานอย่างเต็มความสามารถ โดยการที่จะดึงความสนใจของเด็ก ๆ ได้ดี ควรให้เด็ก ๆ ได้มีส่วนร่วมในการเล่านิทานไปด้วยกัน เช่น ถามความคิดเห็น ช่วยกันทำภารกิจ หรือส่งพลังให้ตัวละครในนิทาน
  6. เล่านิทานจบแล้ว สามารถเพิ่มกิจกรรมต่อยอดจากนิทานได้ เช่น ชวนเด็ก ๆ วาดรูปจากนิทาน สร้างสรรค์ผลงานสิ่งประดิษฐ์ หรือเล่นเกมกิจกรรมกลุ่ม เพิ่มความสนุก ๆ และส่งเสริมพัฒนาการด้านต่าง ๆ ได้อีกด้วย
  7. สรุปผลงาน รับข้อเสนอแนะกับผู้จัด และประชุมทีมงานเพื่อพัฒนาการทำงานต่อไป

สถานที่ทำงาน

  • โรงเรียน  ห้องสมุด 
  • ห้างสรรพสินค้า
  • สวนสาธารณะ / สวนสนุก / Event Hall / ชุมชน
  • หน่วยงานราชการ / มูลนิธิ
  •  ห้องบันทึกเสียง / สตูดิโอบันทึกภาพ

ผู้ที่ต้องทำงานด้วย 

  • ผู้ฟัง คือ เด็ก ๆ และครอบครัว
  • ลูกค้า คือ โรงเรียน สินค้าและผลิตภัณฑ์ สำนักพิมพ์ ออแกนไนซ์เซอร์ หน่วยงานราชการ
  • ผู้ร่วมงาน เช่น ทีมโปรดัคชั่น อุปกรณ์ บันทึกภาพ ตัดต่อ ซัพพลายเออร์

ทางเลือกอาชีพอื่น ๆ 

  • นักพากย์ นักแสดง นักพูด 
  • ครู นักวิชาการ 
  • นักสังคมสงเคราะห์ 
  • นักกิจกรรม 
  • นักเขียน 
  • นักวาดภาพประกอบ 
  • Influencer / Content Creator

 

ตำแหน่งและเส้นทางการเติบโตของอาชีพ 

        ความก้าวหน้าของนักเล่านิทาน อาจจะไม่ได้อยู่ในรูปแบบของตำแหน่งที่ต้องไต่ระดับขึ้นไป แต่จะเป็นการแตกขยายตัวตนและผลงานของเรา ไปสู่พื้นที่ที่กว้างขึ้น มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จัก และได้รับความไว้วางใจในฝีมือมากขึ้น ไปพูดหรือแสดงในเวทีต่างประเทศ ออกผลงานรูปแบบต่าง ๆ เป็น Influencer หรือเติบโตสร้างธุรกิจการเล่านิทาน สร้างนักเล่านิทานรุ่นใหม่

รายได้ 

  • Freelance ได้รับค่าจ้างต่อครั้ง 800-2,000 บาท

  • นักเล่านิทานมืออาชีพ เฉลี่ย 30,000-60,000 ต่อเดือน

​การแข่งขันทางการตลาด

       การแข่งขันถือว่าน้อย เพราะว่ายังมีผู้ที่ประกอบอาชีพนี้ไม่มาก และตลาดยังมีความต้องการอยู่ แต่ในอีกมุมหนึ่ง เนื่องจากเป็นอาชีพที่เฉพาะเจาะจง จึงทำให้มีบริษัทที่เปิดรับสาขาอาชีพนี้ค่อนข้างน้อย

นักเล่านิทาน

 

  • เวลาทำงานกับเด็ก ๆ เราจะได้รับพลังงานดี ๆ จากเด็ก ๆ มากมาย 
  • เป็นงานที่สนุก ท้าทาย ไม่น่าเบื่อ แต่ละวันไม่ซ้ำกัน
  • ได้เดินทาง พบเจอประสบการณ์ใหม่ ๆ
  • รายได้ดี หากมีความชำนาญและประสบการณ์ในการทำงาน
  • ได้เรียนรู้ และพัฒนาทักษะใหม่ ๆ ตลอดเวลา

 

  • เวลางานไม่แน่นอน ถ้างานในโรงเรียน อาจจะต้องเริ่มงานเช้ามาก ถ้าเป็นงานอีเว้นท์ห้างสรรพสินค้าก็อาจจะเป็นช่วงเย็น ๆ ค่ำ ๆ ต้องบริหารจัดการและแบ่งเวลาให้เพื่อนฝูงและครอบครัวดี ๆ
  •  โอกาส และความก้าวหน้าในสายอาชีพอาจไม่สูงมากเท่ากับต่างประเทศ ที่ให้ความสำคัญกับนักเล่านิทาน มีประจำทั้งที่โรงเรียน ร้านหนังสือ โรงพยาบาล
  • รายได้ที่ไม่สูง จำเป็นต้องหาแนวทางพัฒนาตัวตนในการนำเสนอ เพื่อเพิ่มช่องทางรายได้

 

  • ใจเย็น มีความอ่อนโยน
  • มีความคิดสร้างสรรค์
  • รักการเล่านิทาน มีทักษะการเล่าเรื่อง
  • กล้าแสดงออก
  • มีวินัยและมีความรับผิดชอบในการทำงาน
  • มีไหวพริบ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี
  • ศึกษา พัฒนา ประยุกต์ เทคนิคการเล่านิทานอยู่เสมอ

 

  • ทักษะการสื่อสาร การเล่าเรื่องสามารถสื่อสารอารมณ์ได้อย่างชัดเจน ทางกาย สีหน้า ท่าทาง ภาษา
  • ทักษะด้านจิตวิทยาเด็ก เข้าใจจิตวิทยาและพัฒนาการเด็ก รู้วิธีสื่อสารกับเด็กแต่ละช่วงวัย
  • ทักษะการอ่าน และการเล่านิทาน
  • ทักษะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า 

การศึกษา

  • แบบตรงสายคือ หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวรรณกรรมสำหรับเด็ก ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ Bachelor of Arts Program in Children’s Literature 
  • หากไม่ได้เรียนตรงแต่มีความชอบและสนใจ ก็สามารถที่จะเรียนรู้ ฝึกฝน และพัฒนาตนเองได้เช่นกัน เพราะ Freelance ที่เป็นนักเล่านิทาน มีทั้งที่จบจากวิศวกรรมศาสตร์ จิตวิทยา ศิลปกรรมศาสตร์ นิเทศศาสตร์ การท่องเที่ยวและการโรงแรม นิติศาสตร์ กายภาพบำบัด บัญชี บริหาร และอีกมากมาย

นักเล่านิทาน

 

Hard Skills 

  • เข้าใจจิตวิทยาและพัฒนาการเด็ก
  • รู้วิธีสื่อสารกับเด็กแต่ละช่วงวัย
  • ทักษะการเล่าเรื่อง
  • ทักษะการสื่อสารทั้งภาษา และทางกาย
  • การอ่าน และตีความ

Soft Skills 

  • ใจรักงานบริการ
  • กล้าแสดงออก
  • ใจเย็น อ่อนโยน
  • มีจิตวิทยาการสื่อสาร
  • มีบุคลิกภาพและทัศนคติที่ดี
  • มีความรับผิดชอบ มีวินัย
  • ไหวพริบ แก้ปัญหาเฉพาะหน้า

กิจกรรมต่าง ๆ 

        ตลอดการเรียน มีกิจกรรมมากมายตลอดเวลา ทั้งกิจกรรมในเชิงวิชาการ เช่น ไปหอสมุดแห่งชาติ ไปดูการรักษาหนังสือ ทั้งกิจกรรมที่ได้ลองปฏิบัติ เช่น ไปทดลองเล่านิทานตามที่ต่าง ๆ ซึ่งหลายๆ ครั้ง มีคนที่ได้รับโอกาสจากผู้ใหญ่ที่มองเห็นศักยภาพ ติดต่อทำงานตั้งแต่ยังเรียนไม่จบด้วยซ้ำ บางกิจกรรมก็เป็นการฝึกฝนตนเอง ได้มอบความสุขให้เด็ก ๆ ทุกอย่างเราได้ต่อยอดความรู้เสมอ

 

       เสน่ห์ของอาชีพนักเล่านิทานคือความสุขค่ะ เราสร้างรอยยิ้มและความสุขให้เด็ก ๆ ที่มาฟังนิทาน แล้วเด็ก ๆ ก็ส่งพลังความสุขกลับมาให้เราเช่นกัน ทำให้การทำงานกลายเป็นเรื่องสนุกในชีวิต แล้วยังมีรายได้ดูแลครอบครัวได้อีก ดีใจและภูมิใจที่เลือกอาชีพนี้ค่ะ

เพลิกา โลหารชุน  นักเล่านิทานและจัดกิจกรรมสำหรับเด็ก ผู้ก่อตั้งกลุ่มนิทานแต้มฝัน

 

       อาชีพแบบเรา ข้อดีคือได้รับพลังบวกจากเด็กๆ ทุกวัน ข้อเสียคือ นักเล่านิทานมักจะดูเด็กกว่าวัยจนไม่ค่อยมีความน่าเชื่อถือ (ฮา...) สมัยเรียนได้ลองทำอะไรหลายอย่าง ทั้งเรียนจิตวิทยาพัฒนาการ อ่าน คิด เขียน วาด สร้างสรรค์งาน เรียนเยอะแยะเหมือนเป็ดเลย เพื่อค้นหาว่าเราเหมาะกับอะไร แต่สุดท้าย อาชีพนักเล่านิทานนี่แหละ ที่ทำให้อยากตื่นมาทำงานในทุกๆ เช้า ไอดอลของเราคือ อีสป (เล่านิทานยังไงให้กลายเป็นตำนาน ดังไปทั่วโลกเลย เค้าเก่งจริง ๆ)

วิริยา คล่องใจ นักเล่านิทาน

 

       การเล่านิทาน ต้องฝึกทักษะการพูด การออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน เพราะเด็ก ๆ นอกจากจะสนุกสนานไปกับนิทานที่ฟังแล้ว จะได้เรียนรู้คำศัพท์จากการฟังและจดจำการออกเสียงจากผู้เล่าไปด้วย นักเล่านิทานแต่ละคน จะมีเทคนิคและวิธีการเล่าเฉพาะตัวแตกต่างกัน เพราะฉะนั้นนิทานเรื่องเดียวกันแต่คนเล่าคนละคน ความสนุกและความน่าสนใจก็แตกต่างกัน นี่เป็นข้อดีสำหรับนักเล่านิทาน ที่จะสามารถใช้ความสนใจ หรือความถนัดของตัวเองในการเล่านิทาน เช่น ถ้าเราชอบวาดรูป เราก็ใช้วิธีเล่าไปวาดไป ชอบเล่นดนตรี ชอบร้องเพลง การเล่านิทานก็อาจนำเสนอในรูปแบบนิทานดนตรี ใครชอบการแสดงท่าทาง ก็สามารถเล่านิทานประกอบท่าทางได้ ขึ้นอยู่กับความถนัดของนักเล่านิทานแต่ละคน ซึ่งสิ่งที่ได้รับกลับมานอกจากค่าตอบแทนนั้น ยังมีเสียงหัวเราะ รอยยิ้ม และความสุขของเด็ก ๆ กลับมาอีกด้วย เป็นความสุขของนักเล่านิทาน

กิตติ อุ่นทรัพย์ วิทยากร และนักเล่านิทาน

 

IDOL สายอาชีพ

  • เพลิกา โลหารชุน นักเล่านิทานและจัดกิจกรรมสำหรับเด็ก ผู้ก่อตั้งกลุ่มนิทานแต้มฝัน
  • ป้ากุล กุลวรา ชูพงศ์ไพโรจน์ นักเล่านิทานสำหรับเด็ก และผู้เขียนหนังสือสำหรับเด็ก
  • อาจารย์พรจันทร์ จันทวิมล อดีตผู้จัดการรายการบ้านเด็กดี
  • ครูชีวัน วิสาสะ นักวาดภาพประกอบ นักเขียน และนักเล่านิทานผู้ให้กำเนิดอีเล้งเค้งโค้ง

วิชาที่เรียน 

       สาขาวิชาวรรณกรรมสำหรับเด็ก เป็นสาขาที่ได้เรียนรู้หลากหลายมาก ทั้งด้านจิตวิทยาพัฒนาการเด็ก การทำหนังสือนิทาน การวาดภาพ การแต่งกลอน การเขียนบทละคร การแปลส่วนที่สนุกที่สุดและจุดประกายอาชีพนักเล่านิทานก็คือ วิชาการเล่านิทาน ที่ได้ลองเล่านิทานด้วยเทคนิคต่าง ๆ ทั้ง เล่าคนเดียว เล่าเป็นกลุ่ม ได้ลองไปเล่านิทานกับเด็ก ๆ ตามที่ต่าง ๆ ทำให้หลายคนได้รับโอกาสทำงานด้านนี้อย่างเต็มตัวอย่างที่ตั้งใจ และมีความสุขกับงานทุกวัน

เคล็ดลับการเรียน

       หมั่นหาความรู้และประสบการณ์เพิ่มเติม ทั้งในห้องเรียนและประสบการณ์นอกห้องเรียน โดยเฉพาะเวลามีกิจกรรมอะไรขอให้ไม่ลังเลที่จะคว้าประสบการณ์ตรงหน้าไว้ เพราะว่ามันคือโอกาสที่จะได้ลองผิด พอผิดแล้วได้รับคำแนะนำ เพื่อพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง 

ชีวิตนักศึกษา

       สาขาวิชาวรรณกรรมสำหรับเด็ก เป็นสาขาที่แค่ฟังชื่อก็น่าสนใจแล้ว หลายคนมีจุดเชื่อมโยงกันคือเป็นคนชอบอ่านนิทาน อ่านวรรณกรรมเยาวชนอยู่เป็นทุนเดิม การเรียนที่นี่นับเป็นช่วงเวลาที่ดีมาก ๆ วิชาเรียนก็มีแต่วิชาสนุก ๆ น่าสนใจ เพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ สนิทสนมช่วยเหลือเกื้อกูลกันตลอด อาจารย์ทุกท่านเมตตาและถ่ายทอดความรู้ด้านต่าง ๆ ให้นิสิตอย่างเต็มที่ และยังสนับสนุนเรื่องหน้าที่การงาน หลายคนมีโอกาสได้งานแรกของการเป็นนักเล่านิทานหน้าใหม่ในวงการจากอาจารย์แนะนำและรับรองงานให้ หลายคนได้จากการติดตามช่วยเหลือรุ่นพี่ เป็นชีวิตนักศึกษาที่สนุก และอบอุ่น

่ค่าเทอมตลอดหลักสูตร

       หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวรรณกรรมสำหรับเด็ก ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 15, 000 บาท ต่อเทอม

มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก 

  • Deakin University
  • University of Pittsburgh
  • Hofstra University

Copyright © 2019 TruePlookpanya. All rights reserved.
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ห้ามมิให้ผู้ใดคัดลอก ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข หรือเผยแพร่ส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ก่อนได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร