นักทัศนมาตร
นักทัศนมาตร
นักทัศนมาตร
นักทัศนมาตร

       นักทัศนมาตร (Optometrist) คือผู้เชี่ยวชาญการตรวจวัดสายตาและสุขภาพตาเบื้องต้น ให้สามารถมองเห็นได้ดีขึ้น รวมทั้งสามารถดูแล แก้ไข ฟื้นฟู ให้คำปรึกษาในการเลือกแว่นตา เลนส์ คอนแทคเลนส์ ให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคลได้ เช่น ปัญหาสายตาสั้น-ยาว-เอียง ซึ่งหากวินิจฉัยอาการเบื้องต้นแล้วคนไข้มีภาวะที่ไม่ปกติแค่สายตา แต่เป็นที่ดวงตา ก็จะส่งต่อให้จักษุแพทย์ทำการดูแลและรักษาต่อไป

       ทั้งนี้หลายคนอาจเข้าใจผิด หรือคิดว่าเป็นอาชีพเดียวกับ จักษุแพทย์ จริงๆ แล้วไม่ใช่ เพราะ จักษุแพทย์ (Ophthalmologist) จะเป็นผู้เชี่ยวชาญการตรวจและรักษาโรคที่ดวงตา ด้วยวิธีการรักษา เช่น ให้ยา เลเซอร์ ผ่าตัด เป็นต้น ความแตกต่างคือ “จักษุแพทย์” เป็นผู้เชี่ยวชาญการตรวจและรักษาโรคที่ดวงตา ส่วน “นักทัศนมาตร” คือ ผู้เชี่ยวชาญการตรวจวัดสายตาและสุขภาพตาเบื้องต้น

นักทัศนมาตร (Optometrist)

นักทัศนมาตร (Optometrist)

นักทัศนมาตร (Optometrist)


 

ลักษณะงาน 

       ตรวจวัดสายตาผู้เข้ารับบริการด้วยกระบวนการที่ถูกต้อง โดยอ่านค่าสายตาจากเครื่องวัดอัตโนมัติ ร่วมกับการวินิจฉัยอื่นๆ จากค่าสายตาที่ได้ พร้อมทั้งใช้ความรู้ ความชำนาญด้านกายภาพของดวงตา การทำงานของกล้ามเนื้อตา พื้นฐานทางพยาธิวิทยาทางโรคต่างๆ ทั้งทางร่างกายและทางดวงตาที่เกี่ยวข้องกับการมองเห็น กระทั่งความรู้ด้านเภสัชศาสตร์เบื้องต้น เพื่อวินิจฉัยยาที่ใช้ในการรักษาโรคต่างๆ ซึ่งอาจส่งผลกับการมองเห็น ซึ่งมีความซับซ้อน เป็นต้น

ขั้นตอนการทำงาน 

  • ซักประวัติ อาการ เป็นมาระยะเวลานานแค่ไหน เวลาที่เกิดอาการมีอะไรผิดปกติบ้าง
  • ตรวจวัดสายตาและตรวจสุขภาพตาเบื้องต้นจากเครื่องวัดสายตาอัตโนมัติ 
  • วิเคราะห์ผลทดสอบจากค่าตัวเลขที่ได้จากเครื่องอัตโนมัติ ซึ่งหากมีอาการผิดปกติของดวงตา จะต้องทำการส่งต่อให้กับจักษุแพทย์รักษาต่อไป
  • หากไม่มีอาการผิดปกติของดวงตา นักทัศนมาตรก็จะต้องให้คำปรึกษา แนะนำการเลือกใช้แว่น เลนส์ คอนแทคเลนส์ ที่เหมาะสมกับสายตาของแต่ละบุคคล โดยจะต้องให้ความรู้กับคนไข้เรื่องความปลอดภัย การดูแลดวงตา คอนแทคเลนส์ สุขอนามัยการมองเห็น

สถานที่ทำงาน

  • ร้านแว่นตาตรวจวัดสายตาประกอบแว่น
  • โรงพยาบาลรัฐ หรือเอกชน
  • บริษัทเลนส์ สายวิชาการ

ผู้ที่ต้องทำงานด้วย

  • จักษุแพทย์
  • ช่างแว่น
  • บริษัทจำหน่ายอุปกรณ์ทางการแพทย์

 

 

 

ตำแหน่งและเส้นทางการเติบโตในสายอาชีพ

       ผู้ที่จะประกอบอาชีพ นักทัศนมาตร ต้องผ่านหลักสูตรปริญญาตรี 6 ปี และต้องสอบใบประกอบโรคศิลปะ จากกระทรวงสาธารณสุข จึงจะสามารถประกอบอาชีพนี้ได้ โดยจะเริ่มจากตำแหน่ง

  • ผู้ช่วยนักทัศนมาตร
  • ผู้เชี่ยวชาญด้านทัศนมาตร โดยสามารถศึกษาต่อในด้านการรักษาดวงตาเพื่อเป็น จักษุแพทย์ได้ 

รายได้

รายได้ 40,000 - 60,000 บาทโดยปนะมาณ
*ขึ้นอยู่กับความสามารถและประสบการณ์การทำงานของแต่ละคน

การแข่งขันและความต้องการของตลาด

       อาชีพนักทัศนมาตรเป็นอาชีพที่มาจากต่างประเทศ และค่าตอบแทนค่อนข้างสูง ซึ่งในประเทศไทยขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านนี้จริง ๆ ประกอบกับการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยที่ยังมีสาขาที่เปิดสอนน้อย แต่ ณ ปัจจุบันเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น หวังเป็นอย่างยิ่งว่า นักทัศนมาตรในประเทศไทย จะเป็นอาชีพที่ได้รับความสนใจเพราะค่าตอบแทนที่ค่อนข้างสูงเลยทีเดียว

นักทัศนมาตร (Optometrist)

 

  • ค่าตอบแทนค่อนข้างสูง
  • สามารถทำงานที่ต่างประเทศได้ เพราะหลักสูตรที่กระทรวงสาธารณสุขรองรับเป็นมาตรฐานสากล
  • พัฒนาไปสู่อาชีพ จักษุแพทย์ รับค่าตอบแทนที่สูงขึ้น
  • ทำงานได้ทั้งส่วนของรัฐ เอกชน หรือคลินิกส่วนตัว

 

  • ใช้เวลาในการศึกษานานจึงจะประกอบอาชีพนักทัศนมาตรได้
  • ค่าใช้จ่ายในการเรียนค่อนข้างสูง 

 

  • ชอบเรียนรู้อยู่เสมอ ศึกษาโรคปัจจุบันที่มีการวิวัฒนาการ 
  • ชอบด้านเทคโนโลยีด้านการแพทย์ เพราะต้องมีความรู้ด้านนี้ประกอบการแนะนำคนไข้
  • มีความอดทน 
  • ละเอียดรอบคอบ เพราะถือเป็นงานที่ละเอียด และดวงตาถือเป็นอวัยวะที่สำคัญต่อการใช้ชีวิตมนุษย์
  • มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี 

 

  • ทักษะการคิดวิเคราะห์ (Analytical Thinking) เป็นสิ่งสำคัญในการตรวจ วิเคราะห์ และสรุปผล 
  • ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking) ประกอบด้วยหลักการและเหตุผลที่เชื่อถือได้
  • ทักษะด้านการพูด การสื่อสาร โดยเฉพาะเรื่องดวงตาซึ่งเป็นอวัยวะที่ซับซ้อนและเข้าใจยาก 
  • ทักษะการแก้ปัญหาตัดสินใจ เพราะบางครั้งต้องวิเคราะห์และเลือกวิธีการดูแลดวงตาที่เหมาะสมแก่ผู้เข้ารับบริการ
  • ทักษะด้านวิทยาศาสตร์
  • ทักษะด้านจิตวิทยา
  • ทักษะการบริการลูกค้า

การศึกษา 

  • ระดับมัธยมศึกษา:
    • สำเร็จการศึกษา ม.6 สายวิทย์ – คณิต GPAX ไม่น้อยกว่า 3.25 (ไม่น้อยกว่า 4 ภาคการศึกษา)  ทำสำเนาแฟ้มสะสมงาน (Portfolio) และเรียงความในหัวข้อ "นักทัศนมาตรศาสตร์ในอุดมคติ" พร้อมกับแนบใบสมัครที่กรอกเรียบร้อยแล้ว
    • หากสำเร็จการศึกษาจากสายอาชีพที่มีความรู้เฉพาะกลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยา) 
    • เกณฑ์การคัดเลือกหลักต้องไม่มีความผิดปกติในการเห็นภาพ การมองเห็นสี การมองเห็นภาพ 3 มิติ และกล้ามเนื้อตาที่เห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการศึกษา
  • ระดับอุดมศึกษา:
    • มหาวิทยาลัยรัฐบาล: คณะสหเวชศาสตร์ สาขาวิชาทัศนมาตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร, คณะแพทยศาสตร์ สาขาวิชาทัศนมาตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
    • มหาวิทยาลัยเอกชน: คณะทัศนมาตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต, คณะทัศนมาตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง (หลักสูตร 6 ปี) รับนักศึกษาไทยและนักศึกษาต่างชาติที่สามารถสื่อสาร หรือมีทักษะ ด้านการพูด ฟังและเขียนภาษาไทยในระดับดี
  • ใบประกอบวิชาชีพ: สอบใบประกอบโรคศิลปะ จากกระทรวงสาธารณสุข เข้ารับการอบรมสัมมนาเพื่อต่อหนังสืออนุญาตทุกๆ 2 ปี แล้วจึงสามารถประกอบอาชีพทัศนมาตรได้ 

นักทัศนมาตร (Optometrist)

 

Hard Skills 

  • วางแผนอ่านหนังสือให้มาก เนื่องจากข้อมูลด้านการแพทย์มีเรื่องให้ศึกษาค่อนข้างมาก
  • พัฒนาด้านการคิด วิเคราะห์ อย่างมีเหตุผลบนข้อมูลที่เชื่อถือได้ และเป็นไปได้
  •  ฝึกคิดอย่างมีวิจารณญาณ ประกอบด้วยหลักการและเหตุผลที่เชื่อถือได้ 
  • ศึกษาเคสตัวอย่างบ่อยๆ ประกอบการคิดวิเคราะห์ในการทำงาน

Soft Skills 

  • ฝึกการพูดและการสื่อสารในการเรื่องอธิบายเรื่องยากๆ ให้เข้าใจได้ง่าย

กิจกรรมต่าง ๆ 

  • ฝึกทำงานเกี่ยวกับสาธารณะ เช่น ค่ายด้านการแพทย์ ค่ายอาสาแพทย์ห่างไกล

-

 

       ตัวอย่างหลักสูตรจากคณะทัศนมาตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง (หลักสูตร 6 ปี) เป็นแห่งแรกของประเทศไทย โดยได้รับความ ร่วมมือทางวิชาการจาก Indiana University School of Optometry ประเทศสหรัฐอเมริกา ร่างหลักสูตร และส่งคณาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญมาสอนในหลักสูตร พร้อมกับมีคลินิกทัศนมาตรอยู่ในมหาวิทยาลัยให้นักศึกษาปี 5 และ 6 ได้ปฏบัติงานจริงอีกด้วย และการจะสําเร็จการศึกษาหลักสูตรทัศนมาตรศาสตรบัณฑิตได้ ต้องเรียนครบตามจํานวนหน่วยกิตที่หลักสูตรในแต่ละสาขาวิชากําหนดไว้ และต้องได้ระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 2.00 จากระบบ 4.00

วิชาที่เรียน

       หลักสูตร 6 ปี จะเรียนเกี่ยวข้องกับวิชา ฟิสิกส์ทางแสง Geometrical and Ophthalmic Optics, กายวิภาคของมนุษย์เน้นโครงสร้างลูกตา Anatomy and Ocular Anatomy ศึกษาโดยการผ่าร่างอาจารย์ใหญ่, สรีรวิทยาทางตา Ocular Physiology, Theoretical and Diagnosis of Optometry, Binocular vision and Ocular Motility, เลนส์แว่นตาและคอนแทคเลนส์ Ophthalmic lens; Glasses and Contact lenses, Ocular pharmacology, Ocular Therapy, Ocular diseases, Eye examination

  • ชั้นปีที่ 1 จะเรียนพื้นฐานวิทยาศาสตร์ กฎหมาย สาธารณสุข พื้นฐานคล้ายกับตอนมัธยมปลาย
  • ชั้นปีที่ 2 เรียนพื้นฐานปฏิบัติงานทางสายตาเบื้องต้น เริ่มเรียนเจาะชีววิทยา เรื่องของเซลล์
  • ชั้นปีที่ 3 เจาะลึกวิชาสรีรวิทยา มหกายวิภาคศาสตร์ของมนุษย์ ประสาทวิทยาศาสตร์ ชีวเคมีทางจักษุ ได้เริ่มเรียนหลักปฏิบัติ ซักประวัติ และทฤษฎีการตรวจสายตา และขาดไม่ได้คือเรื่องการคำนวณในวิชา ทัศนศาสตร์เชิงเรขาคณิต
  • ชั้นปีที่ 4 ลงลึกเรื่องตา เช่น วิชาเกี่ยวกับตาและการเห็นภาพ การเคลื่อนไหวของลูกตา เลนส์สายตา การตรวจสายตา กลไกการมองเห็น คอนแทคเลนส์ โรคของตาส่วนหน้า ปฏิบัติการเบื้องต้นในคลินิกสายตา
  • ชั้นปีที่ 5 หลังจากเรียนโรคของตาส่วนหน้าในชั้นปีที่ 4 ไปแล้ว ในชั้นปีนี้จะได้เรียนโรคของตาส่วนหลัง หลักการตรวจวินิจฉัยทางสายตา โรคของระบบประสาทตา ปฏิบัติงานคลินิกสายตา และทำโครงงานวิจัย
  • ชั้นปีที่ 6 ได้ปฏิบัติจริงในคลินิกทัศนมาตรศาสตร์ของมหาวิทยาลัย โดยมีอาจารย์ควบคุมดูแล ส่วนเทอมสองจะได้ปฏิบัติงานจริง ที่คลินิกภายนอกที่อยู่ในโรงพยาบาลต่างๆ  

ค่าเทอมตลอดหลักสูตร 

       500,000 บาท โดยประมาณ

มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก

  • Indiana University School of Optometry ประเทศสหรัฐอเมริกา
  • St. Johns University ประเทศสหรัฐอเมริกา
  • Deakin University ประเทศออสเตรเลีย
  • University of Auckland ประเทศนิวซีแลนด์

Copyright © 2019 TruePlookpanya. All rights reserved.
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ห้ามมิให้ผู้ใดคัดลอก ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข หรือเผยแพร่ส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ก่อนได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร