ผู้ฝึกสอนการออกกำลังกายส่วนบุคคล
ผู้ฝึกสอนการออกกำลังกายส่วนบุคคล
ผู้ฝึกสอนการออกกำลังกายส่วนบุคคล
ผู้ฝึกสอนการออกกำลังกายส่วนบุคคล
รู้จักอาชีพ > นักโน้มน้าว (Convince) > ผู้ฝึกสอนการออกกำลังกายส่วนบุคคล

       ผู้ฝึกสอนการออกกำลังกายส่วนบุคคล หรือที่คุ้นเคยในชื่อ ฟิตเนสเทรนเนอร์ เป็นอาชีพที่มีความสำคัญและมีความจำเป็นต่อคนที่ต้องการออกกำลังกาย เพราะหากเราต้องการมีรูปร่างที่ดีอย่างตั้งใจ การออกกำลังกายด้วยตนเอง แม้อาจจะทำให้สมหวังได้ แต่ก็อาจจะใช้เวลานาน มีรูปร่างไม่สมใจอย่างที่หวัง หรืออาจจะร้ายแรงถึงขั้นส่งผลต่ออาการบาดเจ็บทางร่างกายได้ หากเราเล่นไม่ถูกวิธี ดังนั้นเราจึงต้องอาศัยความเชี่ยวชาญของ ฟิตเนสเทรนเนอร์ จะเป็นผู้ที่คอยแนะนำ ช่วยเหลือ ให้การออกกำลังกายส่งผลลัพธ์ตามที่ตั้งใจไว้ อย่างถูกต้อง ปลอดภัย มีแบบแผน และเหมาะสมกับแต่ละบุคคล ไม่ใช่แค่เพื่อสุขภาพหรือรูปร่างเท่านั้น แต่ยังสามารถแก้ปัญหา ความเจ็บป่วยได้อีกด้วย

Trainer

Trainer

Trainer

 

ลักษณะงาน

       ออกแบบ วางแผน ดูแลการออกกำลังกายให้ตรงเป้าหมายของแต่ละบุคคล ทั้งการจัดท่าทาง การใช้งานอุปกรณ์และเครื่องมือต่าง ๆ อย่างเหมาะสม

ขั้นตอนการทำงาน

  1. พูดคุยกับลูกค้าเพื่อซักถามประวัติ โรคประจำตัว เป้าหมายการออกกำลังกายที่ต้องการ เช่น บางคนต้องการลดน้ำหนัก บางคนต้องการสร้างกล้ามเนื้อ บางคนต้องการเพิ่มความแข็งแกร่งของร่างกาย
  2. ตรวจร่างกาย วัดองค์ประกอบมวลสารในร่างกาย (Body Composition)
  3. ประมวลผลและวางแผน เขียนโปรแกรมการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับลูกค้า
  4. ให้คำแนะนำขณะลูกค้าออกกำลังกาย ช่วยเหลือในการออกกำลังกายเพื่อไม่ให้ลูกค้าเกิดอาการบาดเจ็บ พร้อมทั้งติดตามผล 
  5. ตรวจร่างกาย ปรับแผนเป็นระยะจนถึงเป้าหมายที่ต้องการ

สถานที่ทำงาน

  • Fitness center โดยปกติเทรนเนอร์จะทำงานประจำที่ฟิตเนส เพราะเป็นสถานที่ที่พร้อมด้วยบรรยากาศ อุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อส่งเสริมให้การออกกำลังกายเป็นไปอย่างถูกต้อง
  • สถานที่ออกกำลังกายอื่นๆ เช่น แนะนำท่าทางการออกกำลังกายที่บ้าน สวนสาธารณะ หรือที่ต่าง ๆ

ผู้ที่ต้องทำงานด้วย

  • Fitness Manager
  • Sales 
  • ลูกค้าที่มาออกกำลังกาย
  • นักกายภาพบำบัด
  • นักโภชนาการ

ทางเลือกอาชีพ

  • นักวิทยาศาสตร์การกีฬา
  • ที่ปรึกษาด้านร่างกาย
  • วิทยากรให้ความรู้ด้านสุขภาพ
  • นักวิเคราะห์เกมกีฬา
  • เอเจนซี่นักกีฬา
  • นักวิเคราะห์สมรรถนะเชิงกีฬา
  • ผู้ฝึกทักษะเชิงกีฬา
  • ผู้นำและผู้จัดการทางกีฬา
  • เจ้าของธุรกิจด้านกีฬาและการออกกำลังกาย
  • โค้ช

 

 

 

ตำแหน่งและเส้นทางการเติบโตในสายอาชีพ

       ส่วนใหญ่เริ่มต้นที่การทำงานประจำที่ฟิตเนส ซึ่งจะแบ่งระดับคล้าย ๆ กับองค์กรทั่วไป คือ 

  • Junior Trainer 
  • Senior Trainer 
  • Supervisor
  • Manager

       นอกจานี้ยังสามารถศึกษาลงลึกเฉพาะทางด้านที่ถนัดเพิ่มเติม เพื่อรับฝึกสอนเฉพาะทางส่วนตัว หรือเริ่มทำธุรกิจส่วนตัวด้านการออกกำลังกายได้ด้วยตนเอง

รายได้

       เงินเดือนพื้นฐาน 9,000-12,000 บาท ประกอบกับค่าคอมมิชชั่น ค่าสอนรายชั่วโมงมากน้อยตามประสบการณ์ โดยรวมแล้ว สามารถมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 50,000 บาทขึ้นไป หรือสำหรับเทรนเนอร์ฟรีแลนซ์ ค่าสอนประมาณ 500 ถึง 1,000 บาทต่อชั่วโมง

การแข่งขันและความต้องการของตลาด

       ปัจจุบันตลาดสุขภาพกำลังขยายตัวอยู่เรื่อย ๆ เทรนด์การออกกำลังกายมีความหลากหลาย และเป็นที่ต้องการสูง โดยเฉพาะธุรกิจฟิตเนสที่มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด ทำให้บุคลากรเทรนเนอร์เป็นที่ต้องการมากแต่ก็มีการแข่งขันสูงเช่นกัน 

Trainer

  • ได้ดูแลสุขภาพตัวเองตลอดเวลา
  • รู้จักคนเยอะ
  • มีความสนุก ท้าทาย ได้เจอโจทย์ใหม่ ๆ จากลูกค้าอยู่เสมอ
  • เป็นอาชีพที่เสริมสร้างความมีวินัยทั้งต่อตนเองและคนที่เราดูแล
  • ค่าตอบแทนสูง
  • เวลาทำงานไม่แน่นอน มักใช้ชีวิตส่วนใหญ่ที่ฟิตเนสตลอดวัน
  • เวลาส่วนตัวค่อนข้างน้อย
  • ควรมีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาโดยตรง
  • มี certificate ที่มีการรับรองจากสถาบันการออกกำลังกาย
  • มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกลไกการทำงานของร่างกาย
  • เชี่ยวชาญการใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ต่าง ๆ
  • เข้าใจหลักการออกกำลังกายที่ถูกต้อง
  • มีความเข้าใจหลักโภชนาการที่จำเป็น
  • รักการบริการ มีความอดทน ใจเย็น มีวินัย มีมารยาท ให้เกียรติต่อผู้อื่น
  • ยึดมั่นในจรรยาบรรณอาชีพ
  • มีความรับผิดชอบสูง เพราะเราดูแลเรื่องสุขภาพของลูกค้า ต้องใส่ใจ และละเอียดในเรื่องของความปลอดภัย
  • มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี
  • มีทักษะด้านการบริการ
  • มีทักษะการสื่อสารที่ดี และมีจิตวิทยาด้านการสอน
  • มีทักษะในการโน้มน้าวใจ รวมทั้งทักษะการขาย
  • ทักษะการแก้ปัญหาตัดสินใจ  
  • ทักษะภาษาอังกฤษ และภาษาอื่น ๆ

การศึกษา

       สำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย สายวิทย์ – คณิต และศึกษาต่อหลักสูตรวิทยาศาสตร์การกีฬา

ตัวอย่างสถาบันที่เปิดสอน ได้แก่ 

  • สาขาวิทยาศาสตร์การกีฬา, การจัดการกีฬาและนันทนาการเพื่อสุขภาพ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต
  • วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬาและการออกกำลังกาย มหาวิทยาลัยคริสเตียน
  • วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬาและการออกกำลังกาย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • วิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล
  • วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬาและการออกกำลังกาย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

Trainer

 

Hard Skills 

  • สิ่งสำคัญหลักๆ คือ การทำความเข้าใจหลักการ Anatomy และกลไกร่างกาย
  • ฝึกทักษะภาษาอังกฤษ จะทำให้เราขยายองค์ความรู้ของเราเพิ่มเติมได้ 
  • เรียนรู้การใช้เครื่องมือ อุปกรณ์การออกกำลังกาย ว่าเครื่องไหน เหมาะกับกล้ามเนื้อส่วนไหน และคนกลุ่มใด 

Soft Skills 

  • ฝึกด้านมนุษยสัมพันธ์ หรืองานบริการ เพราะเป็นสิ่งที่่สำคัญมากๆ
  • ฝึกเรื่องการสื่อสารให้คล่องแคล่ว โดยเฉพาะการพูดเรื่องยากๆ อย่างการกิน แคลเลอรี่ หรือศัพท์วิทยาศาสตร์ร่างกายให้ผู้คนเข้าใจได้ง่าย 

กิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ด้านอาชีพ 

       เนื่องจากอาชีพเทรนเนอร์ต้องใช้ชีวิตส่วนใหญ่แทบจะทั้งวันที่ฟิดเนต ดังนั้นเวลาส่วนตัวอาจจะมีช่วงเช้ามืด และก่อนนอน ที่จะอ่านหนังสือ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม หรือท่องเที่ยว แต่ขณะที่ทำงาน การได้พูดคุยระหว่างออกกำลังกายกับลูกค้าในเรื่องต่าง ๆ ก็ถือเป็นกิจกรรมที่สนุกสนานระหว่างวัน

คำบอกเล่าของคนในสายอาชีพ

"อาชีพนี้เป็นอาชีพที่ดี แต่จะดีที่สุดถ้าเรารู้จักที่จะดูแลใส่ใจคนอื่น ต้องรู้จักรักและดูแลใส่ใจตัวเองด้วย"

Chanasorn  Pornwirawongwaree (Winner)

Fitness Instructor at Fitnessfirst Club Icon Siam

 


       "อาชีพเทรนเนอร์ไม่เพียงแต่ดูแลสุขภาพลูกค้าเท่านั้น แต่บางครั้งเรายังเป็นเพื่อน คอยพูดคุย รับฟังปัญหาที่เขาเจอมาทั้งวัน บางทีก็คุยเรื่องข่าวสารบ้านเมือง เพลง ละคร ดารา มีทุกแบบเลยจริง ๆ รู้สึกสนุกมากและมีความสุขกับอาชีพนี้"

ชลธิชา พิทักษ์วงษ์ดีงาม
Fitness Professional

 

 

IDOL สายอาชีพ

ในวงการเทรนเนอร์มีบุคคลที่มีชื่อเสียงมากมาย โดยขอแบ่งเป็นสองสายคือ

  •  เทรนเนอร์ที่มีชื่อเสียงจากการดูแลรูปร่างให้กับศิลปิน ดารา ที่มีชื่อเสียง เช่น เบนซ์ ภูมิสิทธิ์, จัน อานันท์, เชอร์รี่ นนท์ณัฐดา, ฮาร์ท นวสุ, เอก พงศ์พิพัฒน์, Christopher, Brett, Nil
  • เทรนเนอร์สาย content creator ที่สร้างสรรค์เนื้อหาดี ๆ ให้คนที่สนใจด้านสุขภาพ เช่น มัดหมี่ พิมพ์อร โมกขะสมิต, แอน มนัสนันท์ นาคลดา, ครูซี ปราชญวงศ์ดี, ฟ้าใส พึ่งอุดม, ฮัทชิ้ว ชวรัตน์ แจ้งวัฒนาถาวร, จิ๊บ ญาณิชา มหาอุดมพร, มิกกี้ อัลภาชน์ ณ ป้อมเพชร

วิชาที่เรียน

       วิทยาศาสตร์การกีฬาเป็นการเรียนทั้งด้านวิทยาศาสตร์ และด้านกีฬา โดยเน้นไปที่หลักวิทยาศาสตร์เพื่อส่งเสริมด้านกีฬา โดยเฉพาะการส่งเสริมศักยภาพตัวนักกีฬา จะได้เรียนรู้กีฬาหลากหลายประเภท ควบคู่กับด้านวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับร่างกาย

  • ชั้นปีที่ 1 เป็นการปูความรู้เริ่มต้นที่สำคัญมาก ทั้งพื้นฐานการออกกำลังกาย กายวิภาคศาสตร์ การเคลื่อนไหว ฟิสิกส์เบื้องต้น
  • ชั้นปีที่ 2 มีการเรียนรู้การใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ จิตวิทยา การทดสอบสมรรถภาพร่างกาย
  • ชั้นปีที่ 3 มีการลงลึกด้าน ชีวกลศาสตร์ เวชศาสตร์ สรีรวิทยาการกีฬา โภชนาการ และเริ่มฝึกงานในเทอมสอง
  • ชั้นปีที่ 4 ได้เรียนรู้เภสัชวิทยา กฎหมาย การปฐมพยาบาล ทำโครงงาน และฝึกงานในเทอมสอง

 

เคล็ดลับการเรียนรู้ 

       รีบปรับตัวและตั้งใจเรียนตั้งแต่เริ่มปี 1 ให้มากที่สุด เพราะเนื้อหาความรู้พื้นฐานเป็นสิ่งจำเป็นมาก จะช่วยให้เจอเส้นทางของตัวเองได้เร็ว และได้เปรียบกว่าทุกคน

ค่าเทอมตลอดหลักสูตร*

  • สาขาวิทยาศาสตร์การกีฬา, การจัดการกีฬาและนันทนาการเพื่อสุขภาพ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต 25,000 – 40,000 บาท ต่อเทอม
  • วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬาและการออกกำลังกาย มหาวิทยาลัยคริสเตียน 285,350 บาท ตลอดหลักสูตร
  • วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬาและการออกกำลังกาย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 26,500 บาท ต่อเทอม
  • คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 16,300 บาท ต่อเทอม
  • วิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล 21,000 บาท ต่อเทอม
  • วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬาและการออกกำลังกาย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 20,000 บาท ต่อเทอม

*(ค่าเทอมดังกล่าว เป็นการประมาณการและอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้)

มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก 

  • Leeds Beckett University
  • University of Surrey
  • University of the Highlands and Islands
  • Aquinas College
  • National University of Physical Education and Sports
  • Qatar University
  • นักจัดการการกีฬา (Sports Manager)
  • ผู้จัดและควบคุมดูแลการแข่งขันกีฬา (Sports Organizer)
  • นักธุรกิจทางด้านการกีฬา (Sports Businessmen), นักการตลาดการกีฬา (Sports Marketer)
  • ผู้นำนันทนาการและศูนย์เยาวชน (Recreational Leader and Director of Youth Center)
  • นักวิชาการทางการกีฬา (Sports Academic)
  • เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์สุขภาพ (Health Club)
  • เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ออกกำลังกาย (Sports Center)
  • เจ้าหน้าที่จัดกิจกรรม (Sports officers)
  • สามารถทำงานในองค์กรหรือหน่วยงานทางการกีฬา ทั้งภาครัฐและเอกชน

Copyright © 2019 TruePlookpanya. All rights reserved.
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ห้ามมิให้ผู้ใดคัดลอก ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข หรือเผยแพร่ส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ก่อนได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร