นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ คือผู้ที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจในตัวของหลักทรัพย์ให้กับนักลงทุนผ่านการเขียนบทวิเคราะห์ ซึ่งครอบคลุมถึงลักษณะของธุรกิจ, แนวโน้มการเติบโต, การวิเคราะห์งบการเงิน และมูลค่าความเหมาะสมของหลักทรัพย์ เพื่อสรุปเป็นคำแนะนำในการลงทุนให้กับนักลงทุนที่จะนำไปเป็นปัจจัยตัดสินใจเข้าลงทุนในหลักทรัพย์ดังกล่าวได้
ในอีกมุมหนึ่งนักวิเคราะห์หลักทรัพย์เป็นผู้ที่ช่วยรวบรวม, ตกผลึกข้อมูล และช่วยสื่อสารลักษณะของบริษัท ที่บางครั้งมีความซับซ้อนและอยู่ไกลตัวนักลงทุน ให้นักลงทุนมีความเข้าใจในบริษัทได้มากขึ้น ถือเป็นการส่งเสริมให้ตลาดหลักทรัพย์มีประสิทธิภาพในเชิงของการเข้าถึงข้อมูลมากขึ้น
ลักษณะงาน
ขั้นตอนการทำงาน
การวิเคราะห์หลักทรัพย์ของนักวิเคราะห์จะเริ่มต้นจากการประเมินศักยภาพในเบื้องต้นใน 2 รูปแบบ คือ
สถานที่ทำงาน
หลัก ๆ แล้วนักวิเคราะห์จะสังกัดอยู่กับบริษัทหลักทรัพย์ (บริษัทที่ทำธุรกิจเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์) เพื่อให้คำปรึกษาและคำแนะนำลงทุนกับนักลงทุนรวมถึงผู้ติดต่อกับนักลงทุน (Marketing)
ผู้ที่ต้องทำงานด้วย
ส่วนใหญ่แล้วการจัดทำบทวิเคราะห์ต่าง ๆ นักวิเคราะห์จะเป็นผู้จัดทำเพียงคนเดียว แต่อาจจะมีผู้ช่วยนักวิเคราะห์คอยช่วยเตรียมข้อมูลให้ได้ จากนั้นเมื่อได้ข้อสรุปแล้วจึงนำไปสื่อสารให้กับทั้ง Marketing และนักลงทุน ผ่านช่องทางต่าง ๆ ของบริษัท
ทางเลือกอาชีพอื่น ๆ
ตำแหน่งและเส้นทางการเติบโตในสายอาชีพ
อาชีพนักวิเคราะห์เป็นอาชีพที่มีโครงสร้างการเติบโตค่อนข้างแบนราบ คือมีแค่การพัฒนาจากผู้ช่วยนักวิเคราะห์ ไปเป็นนักวิเคราะห์ที่ติดตามอุตสาหกรรมต่าง ๆ แต่เมื่อทำงานนานขึ้นเรื่อยๆ การวิเคราะห์จะมีชั้นเชิงและมุมมองในการวิเคราะห์มากขึ้น ซึ่งจะเป็นการสร้างคุณค่าให้กับนักวิเคราะห์คนนั้นให้โดดเด่นกว่าคนอื่นในอุตสาหกรรม
รายได้
ช่วงเริ่มต้นเป็นผู้ช่วยนักวิเคราะห์เริ่มต้นราว 18,000 - 25,000 บาท ขั้นกับวุฒิการศึกษา อาจขยับขึ้นเป็น 25,000-70,000 บาท ตามความสามารถและประสบการณ์ สำหรับนักวิเคราะห์ระดับอาวุโสเงินเดือนจะอยู่ในระดับที่สูงกว่า 100,000 บาท
การแข่งขันและความต้องการของตลาด
เป็นอาชีพที่เข้าสู่อุตสาหกรรมได้ยาก เนื่องจากนักวิเคราะห์จะต้องมีการสอบใบอนุญาตเพื่อที่จะสามารถเขียนบทวิเคราะห์และให้คำแนะนำกับนักลงทุนได้ เช่น CISA หรือ CFA อีกทั้งการจะเป็นนักวิเคราะห์ที่สามารถขึ้นทะเบียนกับ ก.ล.ต. จำเป็นจะต้องมีประสบการณ์ในการทำงานมากกว่า 2 ปี ทำให้อาชีพนักวิเคราะห์ค่อนข้างขาดแคลนบุคลากรในระดับที่เป็น Middle Level ขึ้นไป
แม้ปัจจุบันเทคโนโลยีด้านข้อมูลจะพัฒนาขึ้นมาก แต่อาชีพนักวิเคราะห์มีโอกาสน้อยที่จะถูกทดแทนด้วย AI เนื่องจากการวิเคราะห์ข่าวสารและข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในหลักทรัพย์ โดยเฉพาะในเรื่องของธุรกิจ เป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับความรู้และประสบการณ์ของนักวิเคราะห์ แม้ข้อมูลจะเหมือนกัน นักวิเคราะห์ 2 คนอาจจะมีมุมมองที่แตกต่างกันมากก็ได้ ทำให้การที่จะใช้ AI เข้ามาทดแทนทำได้ยาก
- เป็นอาชีพที่พึ่งพาความสามารถของตัวเองเป็นหลัก ทำให้มีความยืดหยุ่นในเรื่องของชั่วโมงการทำงานค่อนข้างมาก
- ได้ติดตามข้อมูลเกี่ยวข้องกับการลงทุนอย่างใกล้ชิด และสามารถเข้าพูดคุยกับผู้บริหารของบริษัทต่างๆ ที่วิเคราะห์เพื่อรับฟังมุมมองที่น่าสนใจได้
- เป็นอาชีพที่ช่วงเริ่มต้นจะค่อนข้างลำบากเพราะต้องอาศัยการเรียนรู้และศึกษาด้วยตัวเองมากพอสมควร (อาจเป็นความยากบางอย่างในการทำงาน หรือ เวลาการทำงานที่ไม่แน่นอน)
- สิ่งสำคัญที่สุดคือความชอบในการลงทุน
- ความสามารถในการหาความรู้และศึกษาสิ่งต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง
- หากมีความรู้ทางด้านธุรกิจ, การวิเคราะห์งบการเงิน และความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ ตั้งแต่ตอนเรียนปริญญาตรี หรือโท จะช่วยสนับสนุนการทำงานได้ดี
- ทักษะคณิตศาสตร์ เป็นพื้นฐานที่จำเป็นต้องใช้
- ทักษะการจัดการ ทั้งการจัดการเวลา และปริมาณงานที่มีจำนวนมาก
- ทักษะการคิดวิเคราะห์
- ทักษะการสื่อสาร
การศึกษา
- ระดับมัธยมปลาย สามารถเริ่มได้จากทั้งสายวิทย์คณิตและสายศิลป์คำนวณ เพราะเป็นอาชีพที่ต้องใช้ความรู้ทางด้านตัวเลขค่อนข้างมาก
- ระดับปริญญาตรี ส่วนใหญ่จะมาจาก คณะเศรษฐศาสตร์, บัญชี, บริหารธุรกิจ และการเงิน หากมาจากสาขาอื่น อาจต้องศึกษาต่อในระดับปริญญาโท เพื่อให้มีกรอบความคิดในการใช้วิเคราะห์หลักทรัพย์
Hard Skills
- ความรู้ทางธุรกิจ การวิเคราะห์งบการเงิน
- ความรู้ทางด้านโปรแกรม Excel
Soft Skills
- ทักษะในการเขียนสื่อความ
- ทักษะการพูด
- ทักษะการเข้าสังคมกับผู้ใหญ่
คำบอกเล่าจากคนในสายอาชีพ
"นักวิเคราะห์ที่ดีคือคนที่นำเสนอมุมมองใหม่ๆ ที่น่าสนใจ และสามารถนำไปสู่คำแนะนำที่สร้างผลตอบแทนได้จริง"
IDOLสายอาชีพ
วิชาที่เรียน
- วิชาการวิเคราะห์การลงทุน ส่วนมากจะเรียนในชั้นปีที่ 3-4 เป็นการศึกษาเกี่ยวกับหลักการในการวิเคราะห์และประเมินมูลค่าหลักทรัพย์ ประกอบด้วยทั้งการศึกษาด้านทฤษฎีและการทำ Case Study ต่าง ๆ ถือเป็นพื้นฐานในการศึกษาด้านการลงทุนที่ดี และสามารถต่อยอดไปยังวิชาการลงทุนอื่น ๆ ที่เฉพาะทางมากขึ้นเช่น การวิเคราะห์ตราสารทุน, การวิเคราะห์ตราสารหนี้ และการบริหารพอร์ตการลงทุน
- วิชาเศรษฐศาสตร์มหภาค เป็นการศึกษาทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์และกลไกทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนเข้าใจผลกระทบและการขับเคลื่อนของกลไกทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่เป็นอีกหนึ่งแขนงวิชาสำคัญในการวิเคราะห์การลงทุน และ
- วิชาพื้นฐานบัญชี ศึกษาเพื่อที่จะสามารถเข้าใจงบการเงินของบริษัทที่เราศึกษา ทั้งงบดุล, งบกำไรขาดทุน และงบกระแสเงินสด รวมไปถึงการจัดทำแบบจำลองทางการเงินเพื่อใช้ประเมินแนวโน้มกำไรของบริษัท
เคล็ดลับการเรียน
- การศึกษาทางเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่จะเป็นการเข้าใจถึงทฤษฎีต่าง ๆ เพื่อสร้างกรอบการคิดให้สามารถวิเคราะห์ผลกระทบได้อย่างเป็นระบบ ดังนั้นสิ่งสำคัญคือต้องหมั่นศึกษาทฤษฎีใหม่ ๆ เพราะนั่นหมายถึงมุมมองการคิดแบบใหม่ที่อาจจะสร้างโอกาสในการลงทุนที่ดีขึ้นได้
- ส่วนการเตรียมตัว การเริ่มต้นอ่านหนังสือการลงทุนจากนักลงทุนชื่อดังจะเป็นวิธีที่ทำให้เรามีวิธีคิดที่ดีและเริ่มต้นการวิเคราะห์ได้อย่างถูกต้อง แต่ท้ายที่สุดสิ่งที่จะทำให้เราเก่งขึ้นได้คือการลงมือเข้าไปศึกษาข้อมูลของบริษัทในเชิงลึก ซึ่งจะกลายเป็นความรู้สะสมและสามารถนำไปต่อยอดวิเคราะห์บริษัทอื่นที่เกี่ยวข้องกันได้
ชีวิตนักศึกษา
- ชั้นปี 1-2 จะเน้นการศึกษาทางด้านความรู้พื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์, วิชาด้านคณิตศาสตร์ และวิชาพื้นฐานอื่นๆ ที่เรียนรวมกับคณะอื่น ๆ ซึ่งถือว่าสำคัญเพราะเป็นรากฐานที่จำเป็นในการศึกษาวิชาที่ซับซ้อนมากขึ้นในชั้นปี 3-4
- ชั้นปี 3-4 จะเริ่มมีการแตกแขนงศึกษาในสาขาวิชาเอกที่เราสนใจ หลัก ๆ จะเป็น เศรษฐศาสตร์การเงิน, เศรษฐศาสตร์ธุรกิจ และเศรษฐศาสตร์เพื่อการพัฒนา
- ชั้นปี 4 ภาคเรียนที่ 2 จะมีการให้ไปฝึกงานในองค์กรต่าง ๆ เพื่อเปิดประสบการณ์ภายใต้สภาพแวดล้อมการทำงานจริง
การทำกิจกรรมระหว่างเรียนส่งผลต่อชีวิตการทำงานไม่น้อยไปกว่าการศึกษาเนื้อหาวิชาต่าง ๆ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้เราได้เจอคนที่มีความสนใจคล้ายกัน ทำให้เราสามารถเข้าไปสัมผัสวงการต่าง ๆ ได้ในเบื้องต้น และได้มีเพื่อนใหม่ที่อาจจะคอยเกื้อหนุนกันได้ในอนาคต ดังนั้นจึงไม่ควรละเลยการเข้าร่วมกิจกรรม
โดยในฝั่งการเงินกิจกรรมที่ผมแนะนำให้เข้าร่วมที่สุดคือ โครงการ Young Financial Star ของ TSI ตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่น้อง ๆ จะได้เข้าไปสัมผัสโลกการลงทุนในหลายสาขา ได้รับคำแนะนำในการทำงานในอาชีพต่าง ๆ รวมถึงได้ Connection จากทั้งเพื่อน ๆ พี่ ๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ค่าเทอมตลอดหลักสูตร
- มหาวิทยาลัยรัฐบาล ประมาณ 10,000 - 20,000 บาทต่อเทอม
- มหาวิทยาลัยเอกชน เริ่มต้นที่ประมาณ 270,000 บาทขึ้นไป ตลอดหลักสูตร
ทุนการศึกษา
ทุนการศึกษาหลัก ๆ จะเป็นโครงการจัดทำบทวิจัยจากตลาดหลักทรัพย์ และโครงการสนับสนุนการสอบใบอนุญาตต่าง ๆ โดยมีหน่วยงานหลักคือ TSI ซึ่งเป็นองค์กรด้านองค์ความรู้ของตลาดหลักทรัพย์
- นายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ หรือ โบรกเกอร์
- ผู้แนะนำการลงทุน
- นักลงทุน
- พนักงานการเงิน
- นักลงทุนสัมพันธ์
- นักวิเคราะห์สินเชื่อ
Copyright © 2019 TruePlookpanya. All rights reserved.
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ห้ามมิให้ผู้ใดคัดลอก ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข หรือเผยแพร่ส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ก่อนได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร