ผู้กำกับศิลป์
ผู้กำกับศิลป์
ผู้กำกับศิลป์
ผู้กำกับศิลป์

       ผู้กำกับศิลป์คือผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาพและการจัดองค์ประกอบงานต่างๆ เพื่อให้ภาพที่เราเห็นไม่ว่าผ่านสื่อใดก็ตามสวยงามและตอบโจทย์การสื่อสารถึงผู้บริโภคมากที่สุด ผู้กำกับศิลป์มักจะต้องรับผิดชอบงานเกี่ยวกับภาพถ่าย ศิลปะ หรือการออกแบบศิลปประยุกต์อื่น ๆ นิตยสาร หนังสือพิมพ์ ภาชนะบรรจุภัณฑ์ ภาพยนตร์และงานโทรทัศน์ โดยทำหน้าที่สร้างสรรค์และควบคุมทิศทางงานเหล่านั้นให้สวยงาม เป็นไปตามที่ลูกค้าและทีมต้องการ และตรงตามเวลา

ผู้กำกับศิลป์  (Art Director)

ผู้กำกับศิลป์  (Art Director)

ผู้กำกับศิลป์  (Art Director)

ลักษณะงาน

​       ผู้กำกับศิลป์ทำงานโดยดูแลภาพรวมของนักออกแบบและศิลปินในสื่อโทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ ภาพยนตร์ การแสดงสด หรือโฆษณา พวกเขาทำหน้าที่กำหนดรูปแบบและแนวทางเพื่อส่งสารหรือข้อมูลให้แก่ผู้ชม ในแต่ละโครงการพวกเขาต้องสื่อสารเพื่อเชื่อมต่อแนวคิดที่ต้องการไปสู่สาธารณชน เช่น ภาพตัวอย่างประกอบ กราฟิก ภาพถ่าย หรือแผนภูมิ ออกแบบเวที หรือฉากถ่ายละครให้เป็นไปตามแนวคิดของผู้กำกับศิลป์ที่กำหนด

​       งานของผู้กำกับศิลป์ต้องอาศัยความเข้าใจที่ดีเกี่ยวกับพื้นฐานการออกแบบ แรงบันดาลใจ ความคิดสร้างสรรค์ ความรู้ทางด้านศิลปะ องค์ประกอบศิลป์รวมทั้งรสนิยมที่ดี เป็นที่ยอมรับ นอกจากนี้ ผู้กำกับศิลป์ยังต้องทำงานภายใต้ต้องคำนึงถึงงบประมาณและกำหนดเวลาในการทำงานที่ตนเองวางแผนไว้ให้ทีม เพื่อที่จะควบคุมงานให้เป็นไปตามเป้าของคุณภาพและเวลาที่ตั้งไว้ด้วย

​       ผู้กำกับศิลป์เป็นอาชีพที่อยู่ในหลากหลายวงการธุรกิจ ดังนี้

วงการสื่อสิ่งพิมพ์ ผู้กำกับศิลป์ทำหน้าที่วางแผนงานทั้งหมดในหนังสือพิมพ์หรือนิตยสาร หรือสิ่งพิมพ์ต่างๆ  พวกเขาจะเลือกรูปแบบ แนวทางงานภาพทั้งปกและภายในของหนังสือให้เป็นไปตามคอนเซ็ปต์ที่วางไว้ รวมถึงงานสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ด้วย

สื่อโฆษณาและสื่อประชาสัมพันธ์ ผู้กำกับศิลป์ต้องมั่นใจว่าสารที่ลูกค้าต้องการจะสื่อสามารถเข้าถึงใจผู้บริโภคผ่านงานของเราได้ ผู้กำกับศิลป์มีหน้าที่กำหนดมุมมองภาพของโฆษณาหรือสื่อที่ผลิตขึ้น โดยทำงานร่วมกับ Designer และ Copywriter

สื่อภาพยนตร์ ผู้กำกับศิลป์ทำงานร่วมกับผู้กำกับภาพยนตร์ในการกำหนดมุมมองและลักษณะภาพของภาพยนตร์ เพื่อคุมลักษณะภาพให้ดำเนินไปได้ตลอดเรื่องราว โดยไม่ผิดรูปแบบที่วางแผนไว้

ขั้นตอนการทำงาน

  • รับโจทย์จากลูกค้าหรือผู้ว่าจ้าง เพื่อตีความและออกแบบสร้างสรรค์ผลงานให้ตอบโจทย์การสื่อสารที่ได้รับ
  • ออกแบบกำหนดกรอบแนวความคิดของงานที่ได้รับร่วมกับ Copywriter และคุยกับทีมงานเพื่อสรุปงานร่วมกัน  
  • ออกแบบภาพพัฒนาภาพรวมของรูปแบบของชิ้นนั้นๆ (ขึ้นอยู่กับว่าสื่อที่ต้องการใช้เป็นสื่อชนิดไหน เช่น สิ่งพิมพ์ งานโฆษณา หรือภาพยนตร์)
  • คุยกับ Project Manager เรื่องงบประมาณและกำหนดเวลาการทำงานให้ตรงไปตามแผนและอยู่ในความเป็นไปได้
  • ควบคุมเวลา ปริมาณและคุณภาพงานของคนในทีม อาทิ Designer โดยทำงานตลอดตั้งแต่ขั้นตอนการเซต ถ่ายทำ หรือตั้งแต่เริ่มต้นการออกแบบ จนกระทั่งชิ้นงานเสร็จลุล่วง
  • นำเสนอผลงานการออกแบบให้แก่ลูกค้า และพัฒนาตามแบบให้ไปในทิศทางที่ต้องการจนกระทั่งผลงานเสร็จลุล่วง ออกสู่สื่อช่องทางต่าง ๆ

สถานที่ทำงาน

  • สำนักงาน / Office  จุดเริ่มต้นการรับโจทย์ ออกแบบและสร้างสรรค์ผลงาน วางแผนประชุมทีมต่างๆ หรือแม้แต่มักจะเริ่มต้นที่ออฟฟิศเพื่อหาไอเดีย
  • กองถ่าย งานส่วนใหญ่ของผู้กำกับศิลป์คือการจัดวางองค์ประกอบของงานทั้งหมดให้ได้ภาพออกมาตรงตามโจทย์ที่ได้รับ  ซึ่งการถ่ายทำมักอยู่นอกสถานที่ไม่ว่าจะถ่ายปกหนังสือ หนังโฆษณา หรือภาพยนตร์
  • ห้องตัดต่อ (Post-Production) ในกรณีที่ต้องสร้างภาพยนตร์โฆษณา หรือภาพนิ่ง จะต้องมีการตัดต่อ ตกแต่งสี อัดเสียงประกอบ ซึ่ง Art Director จะต้องควบคุมงานให้ตรงออกมาตามไอเดียตั้งต้นมากที่สุด

ผู้ที่ต้องทำงานด้วย

  • Copywriter (นักคิดคำโฆษณา): หากอยู่ในวงการโฆษณา copywriter คือคู่หูในการทำงานของ Art Director โดยหน้าที่ของ Art Director คือกำกับเรื่องงานศิลป์และงานภาพทั้งหมด ด้าน Copywriter คือคนที่สร้างสรรค์ข้อความทั้งหมดขึ้นมาไม่ว่าจะเป็น พาดหัว เนื้อความทั้งหมด สโลแกน ข้อความประกอบบนงานศิลป์ ฯลฯ โดยทั้งคู่ต้องร่วมกันทำงานเพื่อให้งานโฆษณาชิ้นหนึ่งออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม
  • Designer / นักออกแบบ (เช่น กราฟิกดีไซเนอร์ หรืองานออกแบบภายใน): หากเป็นงานผลิตสื่อประเภทอื่นๆ Art Director จะมีหน้าที่คุมงานของนักออกแบบอีกทอดหนึ่ง ซึ่งคือนักออกแบบ ไม่ว่าผลิตภัณฑ์หรือสื่อที่ผลิตจะเป็นประเภทใด โดยจะคุมงานของ Designer ให้ตรงตามไอเดียตั้งต้น
  • Creative Group Head: เป็นคนที่ควบคุมงานของ Art Director และ Copywriter ให้ออกมาสมบูรณ์และตรงโจทย์มากที่สุด ก่อนจะนำให้ Creative Director ดูอีกครั้ง
  • Creative Director คือคนที่จะคอยมองภาพรวมงานของ Art Director อีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ได้ผลิตชั้นงานร่วมกันกับ Copywriter แล้ว เพื่อดูว่าตอบโจทย์แนวคิดที่วางไว้ และเป็นไปตามความต้องการของลูกค้าหรือไม่
  • Strategic Planner (นักวางแผนกลยุทธ์) คือคนที่กำหนดทิศทางของแผนการโฆษณาทั้งหมด จะมีการคุยกันอยู่ตลอดการทำงานเพื่อให้ไอเดียตรงกับแผนมากที่สุด และทำให้ภาพรวมของแผนการโฆษณาเป็นไปในทิศทางเดียวกันมากที่สุด
  • Account Executive / Client Service คือคนที่ติดต่อกับลูกค้าโดยตรง Art Director มีหน้าที่อธิบายไอเดียและงานทั้งหมดให้ Account Executive / Client Service เข้าใจเพื่อที่จะนำไปช่วยอธิบายลูกค้าต่อได้อีกทีหนึ่ง
  • Project Manager คือคนที่ควบคุมงบประมาณทั้งหมด และควบคุมตารางการทำงานให้สำเร็จตรงตามที่กำหนดไว้ เมื่อมีการทำงาน Art Director และ Copywriter จะต้องประสานงานกับ Project Manager ถึงความเป็นไปได้ทั้งในเรื่องงบประมาณและตารางการทำงานทั้งหมด เพื่อให้งานออกมาด้วยความสำเร็จลุล่วง
  • ผู้กำกับ (Director) ในกรณีที่มีการถ่ายภาพยนตร์โฆษณา Art Director จะต้องคุยกับผู้กำกับเพื่อให้ภาพออกมาตรงกับไอเดียมากที่สุด โดยดูในด้านของมุมมองด้านภาพทั้งหมด
  • ลูกค้า คือคนสำคัญที่เป็นคนให้โจทย์งาน ซึ่งในโลกของการทำงาน ลูกค้ามักมีทั้งที่เข้าใจวิธีการทำงานของเราและเข้าใจองค์ประกอบงานมากพอที่จะทำให้เราตีโจทย์ได้ไง และบ่อยครั้งที่ลูกค้าไม่เข้าใจรายละเอียดและอธิบายความต้องการไม่ชัดเจน เราจึงต้องรับมือและอธิบายด้วยการสื่อสารที่เข้าใจกันทั้งสองฝ่าย เพื่อให้งานออกมามีประสิทธิภาพสูงสุด
  • มีโอกาสได้พบผู้คนหลากหลาย เพราะเป็นงานที่สื่อสารกับผู้คนคืองานที่ทำให้เราต้องพบผู้คน และรูปแบบงานที่แตกต่างไป ทำให้ได้เข้าใจความต้องการและพฤติกรรมมนุษย์ในปัจจุบันด้วย
  • หากเป็นคนชอบใช้ความคิดสร้างสรรค์ งานนี้จะเป็นงานที่ได้ใช้ไอเดียใหม่ๆ ออกมาไม่หยุด และได้สร้างสรรค์ผลงานออกมาหลากหลายที่จะสร้างความภาคภูมิใจให้เราได้
  • เนื่องจากการทำงานสื่อ เป็นการทำงานกับผู้คนเป็นส่วนมาก คนแต่ละคนมักมีมุมมองตัวงานแตกต่างกันไป ดังนั้นจึงต้องอาศัยความอดทน เข้าอกเข้าใจผู้อื่นอย่างมากเช่นกัน
  • ในการทำงานอาจต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน มีหลายขั้นตอนในการผลิตชิ้นงาน จนอาจกินเวลาส่วนตัว
  • งานผู้กำกับศิลป์เป็นงานที่ต้องมีความรับผิดชอบสูง เพราะงานภาพทั้งหมดจากตัวชิ้นงานเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องตัดสินใจ บางครั้งความกดดันจากลูกค้า เวลาและงบประมาณที่เสียเปล่า อาจสร้างความเครียดให้เราได้
  • รักและมีพื้นฐานด้านศิลปะ มีความชอบ ความสนใจ และพื้นฐานด้านศิลปะเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จะช่วยให้การทำงานผู้กำกับศิลป์นั้นราบรื่นและสามารถต่อยอดได้ง่ายขึ้น เพราะเป็นงานดังกล่าวต้องอาศัยการประยุกต์ศิลปะหลากหลายแขนง และมักจะมีโจทย์ที่ท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ
  • มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ชอบที่จะได้คิดอะไรแปลกใหม่ รวมทั้งขวนขวายที่จะเพิ่มพูนความรู้หาแนวคิดที่นอกกรอบอยู่เสมอ ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญที่ผู้กำกับศิลป์ควรมี
  • มีความรับผิดชอบสูง ชอบที่จะได้คิดอะไรแปลกใหม่ รวมทั้งขวนขวายที่จะเพิ่มพูนความรู้หาแนวคิดที่นอกกรอบอยู่เสมอ ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญที่ผู้กำกับศิลป์ควรมี
  • แก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าได้ดี หลายๆ ครั้งที่ขั้นตอนการทำงานบางส่วน เช่น การถ่ายชิ้นงาน อาจะมีปัญหาหน้างานที่ต้องอาศัยผู้กำกับศิลป์ที่พร้อมจะตัดสินใจเพื่อแก้ปัญหาให้งานเดินต่อไปได้
  • ทักษะด้านโปรแกรมที่เกี่ยวข้อง ในยุคดิจิทัลนี้ มีโปรแกรมมากมายหลากหลายที่ช่วยให้งานออกแบบและการกำกับศิลป์สะดวกสบายยิ่งขึ้น ดังนั้นความเชี่ยวชาญในเรื่องโปรแกรมแต่งภาพ ตัดต่อ หรือออกแบบพื้นฐานเป็นสิ่งที่ผู้กำกับศิลป์ควรเชี่ยวชาญและหมั่นศึกษาอยู่เสมอ โปรแกรมที่ควรมีทักษะ คือ Adobe Photoshop, Adobe Illustrator, Adobe After Effect, Adobe Premier Pro เป็นต้น
  • ทักษะการสื่อสาร การฟังและการพูดที่ดีกับลูกน้องหรือลูกค้า จะทำให้พวกเขาสามารถเข้าใจถึงแนวคิดและสิ่งที่ลูกค้าต้องการในการออกแบบโฆษณา สื่อสิ่งพิมพ์หรือภาพยนตร์ได้อย่างถูกต้อง
  • ทักษะการเป็นผู้นำ การจัดการ กำกับควบคุมและให้แรงจูงใจแก่ศิลปินคนอื่นๆ พวกเขาต้องการความเข้าใจอย่างชัดเจนและสามารถเข้าถึงภาพรวมในการทำงาน
  • ทักษะการจัดการเวลา การเรียงลำดับความสำคัญในการทำงานหลาย ๆ อย่าง มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการทำงานและการทำงานในสถานการณ์ที่มีเวลาเป็นตัวกำหนดที่เคร่งครัด
 ผู้กำกับศิลป์  (Art Director)

การศึกษา

คณะสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับสาขาอาชีพ ได้แก่

  • คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์,
  • คณะวิจิตรศิลป์
  • คณะศิลปกรรมศาสตร์
  • คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
  • คณะศิลปศึกษา
  • คณะมัณฑนศิลป์
  • คณะดิจิทัลมีเดีย
  • คณะนิเทศศาสตร์
  • คณะศิลปศาสตร์

Hard Skill

  • ฝึกใช้ทักษะการใช้โปรแกรม เช่น Adobe Photoshop, Adobe Illustrator, Adobe After Effect, Adobe Premier Pro เป็นต้น
  • พัฒนาทักษะการสื่อสาร หัดพูดต่อหน้าผู้คน หรือฝึกการเป็นผู้ฝึกอบรมต่าง ๆ
  • หาความรู้เรื่ององค์ประกอบศิลป์ การจัดช่องว่าง พื้นที่ การจับคู่สี วัตถุต่างๆ
  • หาความรู้และไอเดียใหม่ ๆ เกี่ยวกับงานภาพในสื่อหลากหลายแขนง อาทิ งานนิตยสาร งานออนไลน์ งานถ่ายโฆษณา ภาพยนตร์ทั้งสั้นและยาว หรือมิวสิกวิดีโอ

Soft Skill

  • ทักษะในการปฏิสัมพันธ์ หรือการมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี เพราะงานด้านนี้เป็นงานที่ต้องทำงานเป็นทีมและต้องคอยเปิดใจรับฟังความเห็นของผู้อื่น
  • พัฒนาทักษะทางอารมณ์ (EQ)
  • พัฒนาทักษะด้านการจัดการเวลาให้ดี

กิจกรรมต่าง ๆ

  • ลองสอบถามหรอพูดคุยกับรุ่นพี่ที่ทำงานด้านการออกแบบ หรือผู้ที่ทำงานเป็นผู้กำกับศิลป์ในหลากหลายวงการ ทั้งวงการสิ่งพิมพ์ วงการบันเทิง หรือวงการโฆษณา
  • อ่านบทความหรือติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับงานด้านนี้ตามช่องทางต่าง ๆ ทั้ง online, podcast , youtube
  • หา application ที่ช่วยให้เราได้เห็นไอเดียงานศิลปะมากขึ้น 
  • ลองฝึกงานเป็นผู้ช่วย Art Director เพื่อให้ได้ลองเห็นชีวิตการทำงานของอาชีพนี้ในระยะเวลาหนึ่ง

อาชีพใกล้เคียง หรือมีลักษณะงานและการใช้ทักษะที่ใกล้เคียงกัน อาจแตกต่างไปตามรูปแบบธุรกิจ วิธีการทำงาน หรือเครื่องมือการทำงาน เช่น

  • กราฟิกดีไซน์เนอร์
  • ครีเอทีฟ
  • อาร์ทเมเนเจอร์
  • ดีไซน์ ไดเรกเตอร์

Copyright © 2019 TruePlookpanya. All rights reserved.
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ห้ามมิให้ผู้ใดคัดลอก ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข หรือเผยแพร่ส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ก่อนได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร