นิทานสำหรับเด็ก เป็นเหมือนสื่อกลาง ที่เชื่อมโยงเด็กกับโลก ผ่านตัวหนังสือและภาพประกอบ ซึ่งเครื่องมือที่เรียกว่านิทานจะถูกใช้งานหรือถ่ายทอดผ่านคุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง และคุณครู นิทานเปรียบเป็นทั้งอาหารใจและอาหารสมองของเด็ก ๆ นักเขียนนิทาน จึงเปรียบเสมือนผู้สร้างสรรค์สื่อกลางเหล่านี้ เพื่อบอกเล่าประเด็น เรื่องราวต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับเรียนรู้ของเด็กน้อยแต่ละช่วงวัย
ลักษณะการทำงาน
สร้างสรรค์เรื่องราวเพื่อให้เด็กเกิดการเรียนรู้ตามช่วงวัย ทั้งรูปแบบของบันเทิงคดีและสารคดี ช่วยพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ ส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม พฤติกรรม จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครอบครัว
ขั้นตอนการทำงาน
- ตั้งประเด็นที่จะสื่อสารกับเด็กผ่านนิทานของเรา
- รวบรวมข้อมูลของเรื่องนั้น ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ และกำหนดรูปแบบ วิธีการของสื่อที่เหมาะสมกับช่วงวัย
- วางโครงเรื่อง ตัวละคร เหตุการณ์ พร้อมสอดแทรกความสนุกสนาน
- พูดคุย ประสานงานกับนักวาดภาพประกอบ
- ปรับแก้เนื้อหาตามคำแนะนำจากบรรณาธิการ
สถานที่ทำงาน
โดยปกติแล้วนักเขียนจะรับงานในลักษณะของนักเขียนอิสระ ดังนั้นจึงสามารถทำงานได้ทุกที่ทุกเวลาเพียงใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต และติดต่อบรรณาธิการได้ผ่านช่องทางต่าง ๆ แต่หากเป็นนักเขียนประจำกับสำนักพิมพ์ก็จะทำงานที่สำนักพิมพ์ตามเวลาเข้างานของแต่ละแห่ง
ตำแหน่งและเส้นทางการเติบโต
ส่วนใหญ่เริ่มต้นด้วยการเป็นนักเขียนอิสระ หรืออาจะเพิ่มประสบการณ์หรือชื่อเสียง จากงานประกวด รวมทั้งสามารถขยายขีดความสามารถพัฒนาไปเขียนวรรณกรรมเยาวชน บทละคร หรือเติบโตเป็นบรรณาธิการ เปิดสำนักพิมพ์ของตนเอง
รายได้
นักเขียนจะได้รับเงินจากยอดพิมพ์ (รับเงินตามจำนวนที่ผลิต) หรือยอดขาย (รับเงินตามจำนวนที่ขายได้) ตามแต่ข้อตกลงที่ทำไว้เมื่อเริ่มต้นสัญญา โดยคิดจากราคาขายที่ 3% – 10% โดยประมาณ เช่น หนังสือเล่มละ 100 บาท ยอดขาย 10,000 เล่ม ตกลงค่าเขียนไว้ที่ 5% เท่ากับ 50,000 บาท จะจ่ายรายเดือน หรือรายปี ตามแต่ข้อตกลง
การแข่งขันและความต้องการของตลาดแรงงาน
สำหรับประเทศไทย นักเขียนนิทานสำหรับเด็กโดยตรงมีจำนวนไม่มากนัก ความต้องการในตลาดจึงถือได้ว่ายังมีมาก นักเขียนสามารถหาเวทีเพื่อเริ่มต้นอาชีพโดยการส่งเรื่องเสนอสำนักพิมพ์หรือการประกวดต่าง ๆ จึงจะเพิ่มโอกาสในการได้รับงานและได้รับโอกาสในการตีพิมพ์มากขึ้น
- มีความอิสระในการจัดการชีวิตตนเอง
- ใช้ต้นทุนไม่สูงในการทำงาน
- มีอิสระทางความคิด
- มีความภาคภูมิใจ
- หนังสือสามารถพิมพ์ซ้ำได้ใหม่เรื่อย ๆ สร้างรายได้กลับมาได้ตลอด
-
รายได้อาจจะไม่สามารถกำหนดได้แน่นอน และไม่ใช่อาชีพที่ทำรายได้สูง รายได้แต่ละครั้งขึ้นอยู่กับตามตกลงในเงื่อนไขตอนเซ็นสัญญา
- มีความเข้าใจพัฒนาการของเด็กแต่ละช่วงวัย
- ช่างสังเกต ช่างสงสัยทำงานอยู่เสมอ คิดต่อยอดในสิ่งต่าง ๆ รอบตัว
- มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถมองสิ่งธรรมดาในมุมมองที่ไม่ธรรมดาได้
- มองโลกในแง่ดี ปรารถนาให้เด็กเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ
- มีวินัย มีความรับผิดชอบต่องาน และรับคำวิจารณ์ได้
- รักเด็ก ชอบที่จะได้ใช้เวลาอยู่กับเด็ก
- ทักษะในการสื่อสาร ถ่ายทอด เล่าเรื่องราวต่าง ๆ โดยเฉพาะกับเด็กแต่ละช่วงวัย
- ทักษะด้านภาษายอดเยี่ยม หลักการและพื้นฐานทางภาษาดีเยี่ยม โดยเฉพาะภาษาไทย
- ทักษะการเขียน เป็นสิ่งสำคัญที่มาคู่กับกับทักษะทางภาษา
- ทักษะด้านจิตวิทยา รวมทั้งความรู้ เข้าใจและเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์
- ทักษะการคิดวิเคราะห์ รู้จักการกลั่นกรอง วิเคราะห์ สังเคราะห์ ข้อมูล
- ทักษะคอมพิวเตอร์พื้นฐาน ใช้โปรแกรมงานเอกสาร และการจัดวางได้
การศึกษา
ปัจจุบันในประเทศไทยมีเพียงที่เดียวที่สอนวรรณกรรมสำหรับเด็กโดยตรง คือ หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวรรณกรรมสำหรับเด็ก ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ Bachelor of Arts Program in Children’s Literature หรือสามารถเรียนอักษรศาสตร์ วารสารศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ศิลปศาสตร์ เป็นคณะใกล้เคียงเพื่อให้รู้และเข้าใจหลักการเขียน การใช้ภาษา วรรณกรรม การทำหนังสือก็ย่อมได้เช่นกัน
ให้ความสำคัญกับภาษาไทยมาก ๆ อ่านหนังสือเยอะ ๆ ไม่เพียงแค่หนังสือนิทานเท่านั้น แต่หนังสือทุกเล่มจะช่วยพัฒนาคลังคำศัพท์และภาษาของเรา ขยายขอบเขตของความรู้ ดูหนัง ฟังเพลง หาแรงบันดาลใจจากทุกอย่างได้รอบตัวเสมอ และลองคลุกคลีหรือร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับเด็ก สังเกต เรียนรู้และทำความเข้าใจเด็ก ๆ ที่สำคัญคือ ไม่ปิดกั้นตัวเอง รู้จักทำใจให้เป็นกลางในการรับความคิดเห็นคนอื่น
Hard Skills
- การใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้องทั้งฟัง พูด อ่าน เขียน
- เข้าใจจิตวิทยาพัฒนาการเด็กแต่ละช่วงวัย
- การใช้โปรแกรมจัดการเอกสาร
- การใช้โปรแกรมจัดวางหน้ากระดาษ
- การวิเคราะห์ วิจารณ์ สังเคราะห์
- ศิลปะพื้นฐาน
- เข้าใจวิธีทำหนังสือ
- มีความรู้ภาษาอังกฤษ
Soft Skills
- ความคิดสร้างสรรค์
- การบริหารจัดการเวลา
- มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี
- มีความเมตตา อ่อนโยน และอดทน ควบคุมอารมณ์ได้ดี
- ใจกว้าง สามารถลดอัตตาตนเองได้
- รักการเรียนรู้
- ละเอียดรอบคอบ ช่างสังเกต
- การสื่อสารรูปแบบต่าง ๆ ทั้งวัจนภาษาและอวัจนภาษา
กิจกรรมต่าง ๆ
ระหว่างศึกษา สามารถร่วมกิจกรรมกับนักจัดกิจกรรมสำหรับเด็กได้ ซึ่งมีหลายกลุ่มทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ หรือเป็นพี่เลี้ยงค่ายเด็ก
คำบอกเล่าจากคนในสายอาชีพ
ค่อนข้างหลากหลาย มีการแข่งขันสูง สิ่งสำคัญคือต้องมีวินัย ตรงต่อเวลา รู้จักปรับตัวให้กับเข้ากับความต้องการของผู้อ่านหรือลูกค้า คนที่ประสบความสำเร็จในวงการนี้หลาย ๆ คน ประสบความสำเร็จด้วยการสร้าง Connection ที่ดี และมีวินัยในการทำงาน แต่ปัจจุบันมีการกดราคากันมากขึ้น ทำให้การหางานค่อนข้างลำบาก แต่ถ้ามีฝีมือ หมั่นพัฒนาตัวเอง เราก็สามารถเลือกงานและผู้ว่าจ้างที่เหมาะสมกับเราได้
ณิชา พีชวณิชย์
Digital Content Editor สำนักพิมพ์อมรินทร์ และนักเขียนอิสระ
หนังสือสำหรับเด็กต้องมีความสนุก สะอาด และสร้างสรรค์ คนที่ทำหนังสือเด็กได้ดีต้องมีความเป็นเด็กในตัว ต้องศึกษาหาความรู้ในเรื่องที่จะเขียนให้มาก แล้วเลือกสรรกลั่นกรองออกมาเป็นภาษาที่เหมาะสมกับเด็ก แค่เห็นเด็ก ๆ ชอบหนังสือที่เราเขียน มันเป็นความสุขใจที่ประเมินค่าไม่ได้จริง ๆ
มนฤดี ทองกลอย
นักเขียนนิทาน และเจ้าหน้าที่กองบรรณาธิการ
สำนักพิมพ์ เฮลโลคิดส์ บริษัท แปลน ฟอร์ คิดส์ จำกัด
IDOL ของสายอาชีพ
- รศ. เกริก ยุ้นพันธ์ อดีตอาจารย์ประจำสาขาวิชาวรรณกรรม สำหรับเด็ก มหาวิทยาลัย ศรีนครินทรวิโรฒ และมีผลงานนิทานชื่อดังมากมาย เช่น บอลลูน, กระดุ๊กกระดิ๊กกระด๊อกกระแด๊ก, กระต่ายน้อยหนีแม่และชาวนาไทยที่ได้รับรางวัลนอมา (NOMA) จากประเทศญี่ปุ่น ประจำปี พ.ศ. 2525 และยังเป็นเจ้าของพิพิธภัณฑ์ล้านของเล่นเกริกยุ้นพันธ์
- อาจารย์ปรีดา ปัญญาจันทร์ นักเขียนนิทานของไทย ที่สร้างสรรค์ผลงานเพื่อเด็กและเยาวชนไทยมาหลายชิ้น เช่น หนูจี๊ดกับคุณจิ้งจอก, กระต่ายขายแคร์รอต
- มนฤดี ทองกลอย เจ้าของผลงานชุด กุ๋งกิ๋ง ที่เป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงในหมวดนิทานสำหรับเด็ก
วิชาที่เรียน
วรรณกรรมสำหรับเด็ก จะได้เรียนศาสตร์ต่าง ๆ ผสมผสานกันทั้งอักษรศาสตร์ นิเทศศาสตร์ ศิลปศาสตร์ ประวัติศาสตร์ คติ หลักปรัชญา จิตวิทยา โดยไล่ระดับความลึกซึ้งตั้งแต่ปี 1 ที่เป็นพื้นฐาน ความรู้ทั่วไปของวรรณกรรม ปี 2 เรียนรู้การทำหนังสือ แต่งนิทาน ปี 3 รู้จักวรรณกรรมที่ลึกมากขึ้น การเล่านิทานแบบต่าง ๆ ปี 4 ทำธีสิส เรียกได้ว่าค่อย ๆ เพิ่มความสนุกมากขึ้น โดยเฉพาะวิชาเล่านิทานที่เป็นเอกลักษณ์ หาไม่ได้จากที่อื่น
เคล็ดลับการเรียน
สนุกกับงาน มีวินัย รู้จักวางแผนในการทำงาน หมั่นหาความรู้นอกห้องเพิ่มเติมเสมอ พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ให้มาก ๆ และอย่าโดดเรียนเยอะ
ชีวิตนักศึกษา
ในการเรียนสาขาวรรณกรรมสำหรับเด็ก การเรียนสนุกมาก เป็นศาสตร์ที่ทำให้เราได้พัฒนาตัวเองในหลาย ๆ ด้าน แม้จะมีคนถามเสมอว่าจบไปแล้วจะทำอะไรแล้วเราตอบไม่ได้ แต่เมื่อถึงเวลา ก็จะเจอคำตอบเอง
ค่าเทอมตลอดหลักสูตร
- หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวรรณกรรมสำหรับเด็ก ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 15, 000 บาท ต่อเทอม
- อักษรศาสตร์ สาขาภาษาไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 17, 000 บาท ต่อเทอม
- ศึกษาศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยนเรศวร 12, 000 บาท ต่อเทอม
- อักษรศาสตร์ สาขาภาษาไทย มหาวิทยาลัยศิลปากร 15, 000 บาท ต่อเทอม
- ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 17, 000 บาท ต่อเทอม
- หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวรรณคดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 12, 900 บาท ต่อเทอม
มหาวิทยาลัยชั้นนำระด้ับโลก
-
Deakin University
-
University of Pittsburgh
-
Hofstra University
- นักเขียนอิสระ
- กองบรรณาธิการ
- บรรณาธิการ
- นักแปล
- นักวาดภาพประกอบ
- คอลัมนิสต์
- Content Marketing
- Copywriter
- พิสูจน์อักษร
Copyright © 2019 TruePlookpanya. All rights reserved.
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ห้ามมิให้ผู้ใดคัดลอก ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข หรือเผยแพร่ส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ก่อนได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร