นักดาราศาสตร์ (Astronomer) มีหน้าที่ศึกษาปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ ที่เกิดขึ้นจากนอกชั้นบรรยากาศของโลก และพัฒนาองค์ความรู้เพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับการสื่อสารผ่านดาวเทียม ซึ่งอาชีพนักดาราศาสตร์ในไทย ยังคงมีจำนวนน้อย เนื่องจากปัจจุบัน (พ.ศ.2563) ยังไม่มีการเรียนการสอนด้านดาราศาสตร์โดยตรงในระดับปริญญาตรี โดยส่วนใหญ่จะต้องไปเรียนต่อระดับปริญญาโท ปริญญาเอก ที่ต่างประเทศต่อ (ปัจจุบันเปิดหลักสูตรปริญญาโทในไทยแล้วที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) จากนั้น จึงจะสามารถประกอบอาชีพและได้ชื่อว่าเป็น "นักดาราศาสตร์" ได้
ลักษณะงาน
จะเป็นถอดสมการเอามาใส่ไว้ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพื่อเขียนโปรแกรมสร้างแบบจำลองในเชิงดาราศาสตร์ทฤษฎี หรือใช้โปรแกรมเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการตรวจวัด หรือสังเกตการณ์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ภาคพื้นดิน กล้องโทรทรรศน์อวกาศ ยานสำรวจระบบสุริยะ เน้นการตั้งสมมติฐานและแก้สมการให้กับทุกเรื่องที่สงสัย
ขั้นตอนการทำงาน
- ศึกษาปรากฏการณ์บนท้องฟ้า โดยใช้กล้องโทรทรรศน์บนพื้นดินและอวกาศหรือเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์อื่น ๆ
- วิเคราะห์ข้อมูลทางดาราศาสตร์ เพื่อทำนายเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับโลก เช่น ลมสุริยะ
- เสนอผลการวิจัยในที่ประชุมทางวิทยาศาสตร์และเขียนบทความลงในวารสารทางวิทยาศาสตร์
- พัฒนาทฤษฎีทางดาราศาสตร์จากการสังเกตการณ์ หรือประยุกต์ทฤษฎีของนักดาราศาสตร์คนอื่น ๆ
- เผยแพร่องค์ความรู้ทางด้านดาราศาสตร์แก่ผู้ที่สนใจ เช่น บทความในอินเทอร์เน็ต งานประชุมวิชาการต่าง ๆ
สถานที่ทำงาน
- ห้องทดลอง (Lab)
- กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ปัจจุบัน คือ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม)
- สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
- สถานศึกษา เช่น โรงเรียน มหาวิทยาลัย
- หน่วยงานศึกษา วิจัยทางดาราศาสตร์ต่างประเทศ เช่น องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (NASA)
ผู้ที่ต้องทำงานด้วย
- วิศวกรเทคโนโลยีอวกาศ
- วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม
- นักวิชาการเฉพาะด้าน
ทางเลือกอาชีพอื่น ๆ
เนื่องจากงานด้านนี้ มักจะต้องอาศัยองค์ความรู้ด้านฟิสิกส์เป็นหลัก งานที่ใกล้เคียงจึงจะเป็นงานด้านฟิสิกส์ ตัวอย่างเช่น
- อาจารย์มหาวิทยาลัยด้านฟิสิกส์
- นักฟิสิฟส์ หรือนักฟิสิกส์รังสี
- กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สังกัดกระทรวง หรือสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ
- นักวิจัยทางฟิสิกส์ ในบริษัทเอกชน ที่ดำเนินงานด้านวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์
- นักวิชาการ สาขาฟิสิกส์ ในหน่วยงานต่างๆ เช่น สถาบันวิจัยการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)
- ผู้จัดการฝ่ายประกันคุณภาพในโรงงาน ซึ่งต้องการผู้มความรู้ด้านฟิสิกส์ในการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ เช่นบริษัทผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์
- วิศวกรฝ่ายขาย สำหรับกลุ่มบริษัทดำเนินธุรกิจทางด้านอุปกรณ์เครื่องมือวัด เครื่องวิเคราะห์และระบบควบคุมอัตโนมัติ
ตำแหน่งและเส้นทางการเติบโต
เริ่มต้นจากการเป็นนักวิทยาศาสตร์และทำงานสะสมประสบการณ์มากขึ้นจึงต่อยอดยังตำแหน่งต่อ ๆ ไป
- นักวิทยาศาสตร์
- นักวิจัยดาราศาสตร์
- ผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์
รายได้
เริ่มต้น 20,000 - 35,000 บาท
(*ตำแหน่ง และเงินเดือนขึ้นอยู่กับความสามารถและประสบการณ์การทำงานของแต่ละคน)
การแข่งขันและความต้องการของตลาด
อาชีพนักดาราศาสตร์ในประเทศไทยค่อนข้างมีน้อย เพราะจะต้องเรียนต่อในระดับปริญญาโท หรือเอกด้วย ซึ่งมหาวิทยาลัยในประเทศที่เปิดสอนในระดับปริญญาโทและเอกมีเพียงบางแห่งเท่านั้น ทำให้ผู้ที่มีความสนใจจะเป็นนักดาราศาสตร์จะต้องไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศ จึงจะสามารถทำงานทั้งในและต่างประเทศได้ ค่าตอบแทนก็จะเพิ่มมากขึ้นตามระดับการศึกษาและประสบการณ์การทำงาน หรือผลงานวิจัยต่าง ๆ
- เวลาทำงานยืดหยุ่นได้
- มีโอกาสศึกษาดูงานต่างประเทศบ่อยครั้ง
- ต้องใช้ความแม่นยำเชิงตัวเลขเพื่อแก้สมการที่ยาวและหลายชั้น
- ทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน
- รู้จักใช้หลักการ และขั้นตอนทางวิทยาศาสตร์ เพื่อการแก้ไขปัญหา
- หมั่นทำความเข้าใจ หาความรู้เกี่ยวกับข้อมูลใหม่ ๆ เพื่อมาใช้ในการตัดสินใจและแก้ไขปัญหา ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
- ชอบที่จะหาคำตอบ ไม่หยุดค้นคว้าหาข้อเท็จจริงในสิ่งที่กำลังสงสัย
- ทักษะด้านวิทยาศาสตร์ การใช้หลักการ และขั้นตอนทางวิทยาศาสตร์ เพื่อการแก้ไขปัญหา
- ทักษะด้านคณิตศาสตร์ เพื่อใช้ตัวเลขวิเคราะห์ ถอดสมการ
- ทักษะภาษาอังกฤษ เพราะต้องใช้ในการทำงานอยู่เสมอ ทั้งศัพท์เทคนิคทางวิทยาศาตร์และดาราศาสตร์ รวมทั้งต้องไว้ใช้สื่อสารกับชาวต่างชาติด้วย
- ทักษะด้านการเขียน เพราะต้องเขียนงาน ต้องเน้นประเด็นสำคัญผ่านการเลือกใช้คำ เพื่อถ่ายทอดผลวิจัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ทักษะด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking) การใช้เหตุผลหรือตรรกะต่างๆ เพื่อหาข้อสรุปของแนวคิดในการแก้ไขปัญหา
- ทักษะการคิดวิเคราะห์ (Analyticak Thinking) จำเป็นต้องใช้วิเคราะห์และวัดผล ข้อมูลทางดาราศาสตร์ต่าง ๆ
- ทักษะด้านคอมพิวเตอร์ และอิเล็กทรอนิกส์ ความรู้เกี่ยวกับแผงวงจรไฟฟ้า หน่วยประมวลผล ชิป (Chip) อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ของคอมพิวเตอร์ และการเขียนโปรแกรม
- ทักษะด้านวิศวกรรม และเทคโนโลยี ความรู้เกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ทฤษฎี หลักการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
- ทักษะการแก้ปัญหา บางครั้งนักดาราศาสตร์ต้องแก้ไข หรือออกแบบสมการใหม่ เพื่อแก้ปัญหาโจทย์ที่ได้รับ โดยการทดลองหาทางแก้ในหลากหลายวิธี จนสามารถนำมาวิเคราะห์หาผลลัพธ์ได้ cists and astronomers may need to redesign their approach and find a solution when an experiment or theory fails to produce the needed information or result.
การศึกษา
-
สำเร็จการศึกษา ม.6 แผนการเรียนวิทย์-คณิต
-
เป็นผู้สำเร็จการศึกษาชั้น ม.6 สายสามัญ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ต้องเรียนรายวิชาพื้นฐานและรายวิชาเพิ่มเติม รวมกันไม่น้อยกว่า 22 หน่วยกิต กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ต้องเรียนรายวิชาพื้นฐานและรายวิชาเพิ่มเติม รวมกันไม่น้อยกว่า 12 หน่วยกิต
-
ระดับปริญญาตรี สาขาวิชาฟิสิกส์ ในคณะหรือสถาบันที่เปิดสอน (ปัจจุบันยังไม่มีการเรียนการสอนด้านดาราศาสตร์ในระดับปริญญาตรี)
-
ต้องศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ซึ่งในปัจจุบันมีหลักสูตรมหาบัณฑิตที่เปิดสอนด้านดาราศาสตร์ คือ หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาดาราศาสตร์ (หลักสูตรนานาชาติ) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรืออาจศึกษาต่อในระดับปริญญาโท/เอกที่สถาบันในต่างประเทศ แล้วจึงจะสามารถได้ชื่อว่าเป็น "นักดาราศาสตร์" ได้
สถาบันในประเทศที่เปิดสอนสาขาฟิสิกส์ ในระดับปริญญาตรี
- คณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาฟิสิกส์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- คณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- คณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- คณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาฟิสิกส์ วัสดุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม
- คณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาฟิสิกส์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
- คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- คณะวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยบูรพา
- คณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
- คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- คณะศึกษาศาสตร์ ประเภทวิชาวิทยาศาสตร์ วิชาเอกฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- คณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาฟิสิกส์ประยุกต์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
- คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิชาฟิสิกส์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
- คณะวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์
- คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ สาขาฟิสิกส์วิศวกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
- คณะศึกษาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
็Hard Skills
- สำหรับน้อง ๆ ที่สนใจ ควรทำความเข้าใจวิชาในสายวิทย์คณิตให้มาก โดยเฉพาะวิชาฟิสิกส์ที่ถือเป็นหัวใจของอาชีพนี้
- ค้นคว้าหาความรู้ ทฤษฎีใหม่ๆ เพื่อนำมาต่อยอดการคิด วิเคราะห์ในมุมมองที่เป็นไปได้
- ติดตามข่าวด้านดาราศาสตร์และการค้นพบต่าง ๆ จาก Nasa หรือหน่วยงานด้านดาราศาสตร์ระดับโลก
- ภาษาอังกฤษเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญเช่นกัน
Soft Skills
- ฝึกด้านมนุษยสัมพันธ์ในการทำงานร่วมกับผู้อื่น ทั้งนักวิจัย นักดาราศาสตร์ท่านอื่น ๆ ทั้งชาวไทยและต่างชาติ
- ฝึกฝนการสื่อสาร ในการอธิบายงานวิจัยหรือเรื่องราวยาก ๆ ทางวิทยาศาสตร์ให้คนทั่วไปสามารถรับรู้และเข้าใจได้ง่ายขึ้น
กิจกรรมต่าง ๆ
- ติดตามข่าวสารจากเว็บไซต์และเพจของ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) รวมทั้งเพจด้านดาราศาสตร์ทั้งไทยและต่างประเทศต่าง ๆ เช่น NASA, Spaceth.co
วิชาเรียน รวมทั้งเรื่องราวในรั้วมหาวิทยาลัย เป็นตัวอย่างของหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลักสูตรระดับปริญญาตรี 4 ปี โดยจะรับเฉพาะนักศึกษาไทยเท่านั้น
วิชาที่เรียน
ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์พื้นฐานต้องแน่นมาก่อน เพราะจะเจอวิชาในกลุ่มการเรียนรู้นี้ตลอดแบบลึกๆ เช่น กลศาสตร์ ช่วยให้เข้าใจแรงดึงดูดของดวงดาว คลื่น ช่วยให้เข้าใจเรื่องสีของดาว การเดินทางของแสง รังสีที่ดาวเปล่งออกมา สมบัติของก๊าซ ช่วยให้เข้าใจเรื่องการเผาไหม้ ดาวฤกษ์ ปฏิกิริยานิวเคลียร์ ช่วยให้เข้าใจเรื่องการเผาไหม้ การเกิดปฏิกิริยาของดาว การแก้สมการคณิตศาสตร์ทีมีตัวแปรต่างๆ ทางฟิสิกส์ แคลคูลัส เทอร์โมไดนามิกส์ กลศาสตร์ทฤษฎี สสาร-พลังงาน ระบบพิกัดท้องฟ้า ทฤษฎีสัมพัธทภาพ special function เคมี การแปลงหน่วย
*ซึ่งสาขาวิชาดาราศาสตร์โดยตรงไม่มีในไทย แต่จะอยู่กับภาควิชาฟิสิกส์ พอจบปริญญาตรีแล้ว จะต้องไปเรียนต่อโท / เอก ต่างประเทศ รวมถึงบางมหาวิทยาลัยที่เปิดให้ศึกษาในระดับนี้ได้*
- ชั้นปีที่ 1: ได้เรียน วิทย์-คณิตพื้นฐาน แคลคูลัส เคมี ฟิสิกส์ ปฏิบัติการฟิสิกส์ รวมถึงวิชาทักษะภาษาอังกฤษ เมื่อเข้าเทอมสองก็ยังได้เรียนคณิต และ ฟิสิกส์ เช่น เรขาคณิตวิเคราะห์และแคลคูลัสประยุกต์ เครื่องมือการคำนวณ สำหรับนักฟิสิกส์เบื้องต้น คือจะเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการคำนวณวิเคราะห์ข้อมูล การแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ ซอฟต์แวร์ตารางทำงาน ระบบพีชคณิตคอมพิวเตอร์ และการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์
- ชั้นปีที่ 2: ปฏิบัติการฟิสิกส์ จะยังได้เรียนในชั้นปีนี้ด้วย ซึ่งเป็นวิชาที่เรียนต่อเนื่องเกี่ยวกับ ปฏิบัติการ ไฟฟ้า แม่เหล็ก ทัศนศาสตร์ และฟิสิกส์แผนใหม่ ส่วนวิชาฟิสิกส์เชิงคณิตศาสตร์ จะเกี่ยวข้องกับสนามเวกเตอร์ทางฟิสิกส์ เกรเดียนท์ ไดเวอเจนซ์ และเคิร์ล เรียนรากฐานของทฤษฎีควอนตัม กลศาสตร์ควอนตัม โครงสร้างและทฤษฎีของอะตอม กลศาสตร์เชิงสถิติ ฟิสิกส์ของคลื่น การสาธิตฟิสิกส์ในห้องเรียน จะเป็นการสอนจากการสังเกตการณ์ในห้องเรียนและเตรียมเนื้อหา สาธิตในหัวข้อที่กำหนดสำหรับนักเรียนระดับมัธยม ซึ่งอาจใช้อุปกรณ์หรือสื่อการสอนในรูปแบบอื่น ๆ โดยจะต้องนำเสนอ พร้อมสาธิตประกอบในห้องเรียนระดับมัธยม
- ชั้นปีที่ 3: เน้นฟิสิกส์เป็นหลัก เช่น วิชาฟิสิกส์เชิงสถิติ ทฤษฎีแม่งเหล็กไฟฟ้า กลศาสตร์ควอนตัม ปฏิบัติการฟิสิกส์ วิชาปัญหาท้าทายทางฟิสิกส์ คือต้องแก้โจทย์ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับฟิสิกส์ โดยเป็นโจทย์ปัญหาจริงในเชิงวิชาการหรือการใช้งาน ต้องศึกษาค้นคว้า และหาแนวทางแก้ปัญหาอย่างมีระบบ โดยอาจจะสร้างเครื่องมือหรือทำการทดลองอย่างง่าย ทดสอบระบบ ออกแบบระบบควบคุม หรืออื่นๆ เพื่อช่วยในการแก้ปัญหา และนำเสนอผลงานหรือแนวทางแก้ปัญหา และมีวิชาบังคับเลือก*
- ภาคฤดูร้อน มีฝึกงาน ในหน่วยงานหรือโรงงานที่สาขาวิชาเห็นชอบ เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 180 ชั่วโมงโดยจะต้องทำรายงานส่ง สอบปากเปล่า วัดผลด้วยระดับ S หรือ U
*สามารถฝึกงานและทำสหกิจในองค์กรชั้นนำต่างๆ ได้ทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเป็นเครือข่ายของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ฝึกงานเริ่มต้นในภาคฤดูร้อนของชั้นปีที่ 3 และสิ้นสุดในภาคเรียนแรกของชั้นปีที่ 4)
- ชั้นปีที่ 4: มีสัมมนา หัวข้อครอบคลุมเนื้อหาวิชาทางด้านฟิสิกส์ หรือฟิสิกส์ประยุกต์ ต้องเสนอหัวข้อสัมมนาที่เหมาะสม เพื่อบรรยายให้เกิดการอภิปรายและตั้งคำถามในที่สัมมนาด้วย ในภาคเรียนที่สอง จะต้องทำโครงงานพิเศษ เกี่ยวกับการศึกษาและวิจัยทางฟิสิกส์ หรือฟิสิกส์ประยุกต์ ภายใต้การควบคุมดูแลโดยอาจารย์ วัดผลด้วยระดับ S หรือ U และเรียนวิชาบังคับเลือก*
*วิชาบังคับเลือกในแขนง ดาราศาสตร์ (ช่วงชั้นปีที่ 3 และ 4) ยกตัวอย่างเช่น
- ประวัติวิชาดาราศาสตร์
- ดาราศาสตร์ทรงกลม
- ดาราศาสตร์สังเกตการณ์
- เทคโนโลยีสุญญากาศ
- ฟิสิกส์นิวเคลียร์
- กลศาสตร์ท้องฟ้า
- ฟิสิกส์ดาราศาสตร์
- ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปและจักรวาลวิทยา
เคล็ดลับการเรียน
การเรียนเพื่อไปเป็นนักดาราศาสตร์ ก็คือแขนงเดียวกับนักวิทยาศาสตร์ แต่จะต้องอาศัยความรู้เชิงสมการ ประยุกต์ลงในโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อวิเคราะห์ ตีความ ถ้าเราเข้าใจเรื่องวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง เวลาที่ต่อยอดมาในอาชีพ นักดาราศาสตร์ ก็จะทำให้ไปได้เร็วขึ้น
ค่าเทอมตลอดหลักสูตร
ประมาณ 150,000 บาท (ขึ้นอยู่กับสถาบันการศึกษา และอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้)
ทุนการศึกษา
- ทุนโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.)
- ทุนรัฐบาล เช่น
- เข้าดาราศาสตร์โอลิมปิก-เป็นผู้แทนประเทศ-ได้รับทุนเลย
- สอบทุน ก.พ.หรือทุนกระทรวงวิทยศาสตร์ (ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละปีว่าจะได้รับทุนจากหน่วยงานใด)
- สอบทุนเล่าเรียนหลวง เรียนต่อสาขาอะไรก็ได้ (ได้ทุนถึงแค่ระดับปริญญาตรี)
- ทุนรัฐบาลต่างประเทศหรือทุนมหาวิทยาลัยต่างประเทศ ซึ่งหาดูได้ตามเว็บไซต์ของสถานฑูตหรือเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยนั้น ๆ
มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก
-
สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) - สหรัฐอเมริกา
-
Harvard University - สหรัฐอเมริกา
-
มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด - สหรัฐอเมริกา
-
มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ - สหราชอาณาจักร
-
มหาวิทยาลัยเยล - สหรัฐอเมริกา
-
Imperial College London - สหราชอาณาจักร
-
มหาวิทยาลัยโคโลราโดโบลเดอร์ - โคโลราโด
-
EPFL - Ecole Polytechnique Federale de Lausanne- สวิตเซอร์แลนด์
-
มหาวิทยาลัยโตเกียว - ญี่ปุ่น
-
มหาวิทยาลัยโตรอนโต - แคนาดา
-
มหาวิทยาลัยชิคาโก - สหรัฐอเมริกา
-
มหาวิทยาลัยปักกิ่ง - จีน
-
มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ - สิงคโปร์
-
Cornell University - สหรัฐอเมริกา
-
มหาวิทยาลัยบอนน์ ประเทศเยอรมนี
- นักธรณีวิทยา
- นักภูมิศาสตร์
- นักอุตุนิยมวิทยา
- นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล
- อาจารย์มหาวิทยาลัย
- นักฟิสิกส์
- นักฟิสิกส์รังสี
Copyright © 2019 TruePlookpanya. All rights reserved.
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ห้ามมิให้ผู้ใดคัดลอก ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข หรือเผยแพร่ส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ก่อนได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร