วิศวกรไฟฟ้า
วิศวกรไฟฟ้า
วิศวกรไฟฟ้า
วิศวกรไฟฟ้า

       วิศวกรไฟฟ้า คือผู้ทำหน้าที่วางแผน ออกแบบ ดูแลรักษา ตรวจสอบ ซ่อมบำรุง และใช้ความรู้ที่มีในการแก้ไขปัญหา เกี่ยวกับระบบไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือระบบวงจรต่าง ๆ ที่มีไฟฟ้าเกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นอาชีพที่มีเนื้องานค่อนข้างกว้าง เพราะในปัจจุบันทุกคนต้องใช้ไฟฟ้าในชีวิตประจำวัน และระบบไฟฟ้านั้นมีอยู่ทุกที่ ตั้งแต่ระดับมหภาคอย่างการไฟฟ้าของประเทศ ลงมาถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าตามบ้านเรือนเลย

       โดยเนื้องานนั้นจะมีทั้งงานบำรุงรักษา งานออกแบบวางระบบโรงไฟฟ้า วิจัยคิดค้นพัฒนาอุปกรณ์ไฟฟ้า ดูแลการผลิตสินค้าให้ตรงตามแบบที่ส่งมาจากต่างประเทศ และสิ่งที่เกี่ยวโยงกับระบบไฟฟ้า โรงงาน บ้านเรือน วงจรต่าง ๆ อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ระบบผลิตกับระบบส่งไฟ เช่นสายไฟตามเสาไฟฟ้า หม้อแปลง ซ่อมบำรุงอุปกรณ์การส่งจ่าย รวมถึงระบบควบคุม ฯลฯ

       หากทำงานในหน่วยงานรัฐอย่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) จะเป็นการดูแลระบบไฟในระดับมหภาค หรือตามหน่วยที่ได้รับผิดชอบ เน้นการดูแลระบบผลิตและจ่ายไฟของประชาชนให้ทำงานได้อย่างราบรื่น สำหรับเอกชน ถ้าเป็นสายบำรุงรักษาอุปกรณ์ไฟฟ้า มักทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม ส่วนสายออกแบบระบบไฟฟ้า จะดูแลตามไซต์งาน ออกแบบระบบควบคุมและซ่อมแซม

       ในคณะวิศกรรมไฟฟ้าจะแบ่งออกเป็น 3 สาขา (อาจต่างกันไปตามหลักสูตรของแต่ละที่)

  • ไฟฟ้ากำลัง ระบบไฟฟ้า แสงสว่าง มอเตอร์ สายล่อฟ้า
  • ไฟฟ้าอิเล็กโทรนิกส์ เน้นอุปกรณ์อิเล็กโทรนิกส์
  • ไฟฟ้าสื่อสาร คือ วิศวกรโทรคมนาคม

    วิศวกรไฟฟ้า

    วิศวกรไฟฟ้า

    วิศวกรไฟฟ้า

     

ลักษณะการทำงาน

       สำหรับหน่วยงานรัฐ ถ้าเป็นตำแหน่งบำรุงรักษาอุปกรณ์ไฟฟ้าในระบบไฟฟ้ากำลัง Power System  ตั้งแต่หน้าโรงไฟฟ้าจนถึงหน้าบ้าน ในไทยจะแยกเป็นส่วนผลิตกับส่วนภูมิภาค ให้ทำงานได้ตามปกติ ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ กันไป เช่น ฟ้าผ่าแล้วระบบโหลดจนตัดตัวเอง ทำให้ระบบล่มทั้งหมดได้ หรือมีการใช้ไฟในเวลาเดียวกันพร้อมกันคราวละมาก ๆ ก็ทำให้ระบบโอเวอร์โหลดได้เช่นกัน โดยจะแยกตามพื้นที่ดูแล ตั้งแต่ โรงไฟฟ้า ระบบส่ง (สายส่ง เสาไฟ หม้อแปลง อาจมีการใช้เฮลิคอปเตอร์หรือโดรนบินสำรวจ)

       สำหรับสายออกแบบและติดตั้ง เนื้องานจะเป็นการออกแบบระบบไฟฟ้าให้ได้ตามมาตรฐานและปลอดภัย ซึ่งมีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างตามแต่ละสถานที่ ทำการคำนวณและคัดเลือกอะไหล่ อุปกรณ์ที่เหมาะสม และรับเดินระบบไฟต่าง ๆ ขณะเดียวกันก็สามารถทำงานในองค์กรเอกชน เปิดบริษัทเป็นตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้า และขายการให้บริการ เช่น รับปรับปรุงสภาพอุปกรณ์

ขั้นตอนการทำงาน 

  • สำหรับสายซ่อมบำรุง ขั้นแรกจะต้องวางแผนการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน preventive maintanance เพื่อป้องกันไม่ให้อุปกรณ์เสียหาย โดยจะมีวาระทดสอบว่าตรงไหนต้องไปตรวจทุกกี่ปี เช่นคอยเปลี่ยนถ่ายน้ำมันให้ใสอยู่เสมอ / ส่วนมากงานจะเป็นการป้องกันมากกว่า เพื่อไม่ให้ต้องเกิดการซ่อม *กำหนดระยะเวลาในการตรวจสอบ-บำรุงรักษา*
  • มีการเก็บตัวอย่างน้ำมัน มีการทดสอบทางไฟฟ้า เพื่อตรวจเช็คสภาพ เป็นการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน
  • นอกจากนั้นยังต้องคิดแผนการทดสอบ และจัดหานำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาช่วยในการบำรุงรักษาอุปกรณ์ เพื่อให้ทำงานได้ง่ายขึ้น
  • ส่วนงานซ่อมบำรุง  collective maintainance บำรุงรักษาเชิงแก้ไข เพื่อให้อุปกรณ์ที่เสียหายกลับใช้งานได้ไวที่สุด โดยใช้องค์ความรู้ต่าง ๆ ที่เรามี วิศวกรไฟฟ้าต้องวิเคราะห์สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นก่อนตัดสินใจขั้นตอนแก้ไข อาจมีการแกะอุปกรณ์สำรวจ โดยระหว่างนั้นต้องวางแผนซ่อมคร่าว ๆ มีแผนกทดสอบที่จะส่งผลมาให้อีกที ซึ่งบางครั้งผลที่แกะดูอาจแย่กว่าที่ทดสอบ ก็ต้องประเมินส่งซ่อมที่ศูนย์ ระหว่างนั้นก็ดูว่าจะแก้ปัญหาแทนยังไงก่อนได้บ้าง ปีนึงอาจมีการซ่อมบำรุง 2-3 ครั้ง
  • วางแผนป้องกันไม่ให้เกิดอีก หลังจากที่ได้ซ่อมแซมแล้ว หาสาเหตุไม่ให้เกิดขึ้นอีก หาความเชื่อมโยงวิเคราะห์หาสาเหตุเพื่อหาทางป้องกัน
  • นำเสนอข้อมูลสรุปของเนื้องานทั้งหมดในงานนั้น ๆ แก่ผู้บังคับบัญชา
  • สำหรับสายออกแบบ ก่อนทำการออกแบบระบบจะต้องประเมินสภาพคร่าว ๆ ก่อน เพื่อประเมินราคา เก็บข้อมูลสอบถามความต้องการของลูกค้า และประสานงานผู้ที่เกี่ยวข้อง

สถานที่ทำงาน 

  • โรงงานไฟฟ้า
  • สถานีไฟฟ้า ตามส่วนต่าง ๆ ของระบบส่งไฟ
  • โรงซ่อมอุปกรณ์ต่าง ๆ
  • โรงทดสอบอุปกรณ์
  • สำนักงานส่วนกลาง

ผู้ที่ต้องทำงานด้วย 

  • หากเป็นวิศวกรสายซ่อมบำรุง
    • วิศวกร
    • ช่างไฟ
    • ตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์
  • หากเป็นวิศวกสายออกแบบ
    • ลูกค้า
    • สถาปนิก
    • ช่าง
    • ตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์

ทางเลือกอาชีพอื่น ๆ 

  • นักทดสอบอุปกรณ์ไฟฟ้า ศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า
  • นักวิจัยออกแบบชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์ไฟฟ้า (R&D)
  • นักออกแบบระบบควบคุมในเครื่องใช้ไฟฟ้า (Micro Controler)
  • เซลล์ขายอุปกรณ์ไฟฟ้าหรือชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้อง รับปรับปรุงอุปกรณ์ บำรุงรักษา ทดสอบอุปกรณ์ในโรงงาน
  • ผู้จัดการในบริษัทขายอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับโรงงาน
  • รับเหมาสร้างบ้าน
  • Big Data ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในสายงานด้านไฟฟ้าได้ (ต้องศึกษาการ coding เพิ่ม ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละองค์กร) 

 

เงินเดือน วิศวกรไฟฟ้า

ตำแหน่งและเส้นทางการเติบโต 

  • สำหรับในสายราชการหรือรัฐวิสาหกิจ (การไฟฟ้า) เรียงลำดับการเติบโตของสายอาชีพ ดังนี้ 

  1. วิศวกร
  2. หัวหน้าแผนก (เช่น แผนกเทคโนโลยีการบำรุงรักษาหม้อแปลง)
  3. หัวหน้ากอง
  4. หัวหน้าฝ่าย
  5. ผู้ช่วยรองผู้ว่าฯ
  6. รองผู้ว่าฯ
  7. ผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ
  • สำหรับสายงานเอกชน (เส้นทางการเติบโตขึ้นอยู่กับเป้าหมายและโครงสร้างองค์กร)
    1. วิศวกรไฟฟ้า (Junior)
    2. วิศวกรไฟฟ้า (Senior)
    3. ผู้ช่วยผู้จัดการ
    4. ผู้จัดการ
    5. ผู้บริหาร 

รายได้

  • สำหรับหน่วยงานราชการ เงินเดือนจะขึ้นอยู่กับระดับขั้น วศ. โดยวิศวกรจบใหม่เริ่มที่ 21,800
  • สำหรับเอกชน
    • มีอัตราขึ้นเงินเดือนที่ประมาณ 3-10% ขึ้นอยู่กับความสามารถและผลประกอบการขององค์กร ซึ่งบางองค์กรอาจมีการพิจารณาขึ้นเงินเดือนอีกเมื่อผ่านไประยะเวลาหนึ่ง เช่น พอครบสามปี มีการขึ้นเงินเดือนอีก 15%
    • เมื่อได้รับการโปรโมตเป็นระดับผู้จัดการ ก็จะเลื่อนเงินเดือนขึ้นอีก 20% โดยขึ้นอยู่กับผลงานและอายุงาน (หากเป็นองค์กรใหญ่อาจมีตำแหน่งหลายระดับ ขึ้นอยู่กับโครงสร้างขององค์กร) ประมาณ 50,000 - 80,000 บาท
    • สำหรับปลายทางแล้วหากไปสายบริหารก็มีโอกาสได้ขึ้นเป็นกรรมการหรือผู้บริหารขององค์กรณ์ ซึ่งจะมีเงินเดือนอยู่ที่หลักแสนขึ้นไป

การแข่งขันและความต้องการทางการตลาด

       วิศวกรไฟฟ้าเป็นอาชีพที่มีความต้องการสูงมาก เพราะทุกที่มีการใช้ไฟฟ้า และเนื้องานนั้นค่อนข้างกว้างและหลากหลาย สามารถปรับเปลี่ยนพลิกแพลงได้หลายอย่าง เรียนจบมาไม่ตกงานแน่นอน สำหรับองค์กรใหญ่หรือรัฐวิสาหกิจ อาจมีการแข่งขันสูงเพราะมีคนต้องการเข้าทำงานจำนวนมาก

  • ขอบเขตงานค่อนข้างกว้าง มีลักษณะงานหลายแบบให้เลือก หางานง่าย
  • สำหรับพนักงานรัฐวิสาหกิจจะมีสวัสดิการที่ดี มีขอบเขตงานชัดเจน
  • สามารถเบนสายงานไปสายอื่นได้ง่ายเพราะไฟฟ้าเป็นพื้นฐานของหลาย ๆ อย่าง
  • ผลตอบแทนค่อนข้างสูง เทียบกับเด็กจบใหม่สายอื่น
  • ได้ออกเดินทางไปยังที่ต่าง ๆ เจอสถานการณ์ใหม่ ๆ
  • อาจต้องเดินทางบ่อยไปหลาย ๆ ที่ ถ้าหากทำงานในสายซ่อมบำรุง
  • อาจมีความจำเจกับงานรูทีนที่ต้องทำซ้ำ ๆ ทุกวันในตำแหน่งที่ต้องประจำในโรงงาน
  • อาจมีการทำงานล่วงเวลาตอนกลางคืน ค่าตอบแทนตามนโยบายของแต่ละองค์กร
  • ชื่นชอบการคำนวณ การวางแผน ดัดแปลง แก้ปัญหา
  • ชอบการคิดเชิงเป็นเหตุเป็นผล ตรรกะ ละเอียดรอบคอบ
  • มุ่งมั่นและมีสมาธิ เพราะต้องอยู่กับระบบที่ซับซ้อน มีความกระตือรือร้น มีแรงขับให้ต้องพัฒนาตนเองและศึกษาเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ตามให้ทันโลกและเทคโนโลยีที่ไม่หยุดนิ่ง
  • มีมนุษยสัมพันธ์ เมื่อต้องทำงานร่วมกับผู้อื่น ความร่วมมือและการประสานที่ดีจะทำให้งานราบรื่นไร้ปัญหา
  • มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ (จำป็นอย่างยิ่งหากทำงานวิศวกรไฟฟ้า สายออกแบบและติดตั้ง แต่สำหรั้บสายซ่อมบำรุง อาจไม่ได้จำเป็นที่สุด รวมทั้งต้องคิดเร็วทำเร็ว กระฉับกระเฉง 
  • ทักษะการสื่อสาร จุดสำคัญที่จะทำให้เราทำงานร่วมกับทีมอื่นๆ ได้อย่างราบรื่น
  • มีทักษะในการคิดวิเคราะห์ทั้ง analytical mind and critical thinking เพื่อใช้พัฒนาและแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในการทำงาน 
  • ทักษะการบริหารจัดการ ช่วยให้จัดการเวลาการทำงานวางแผนอย่างเป็นระบบ
  • ทักษะทางภาษาอังกฤษ ในการติดต่อสื่อสารหรืออ่านคู่มืออุปกรณ์
  • ทักษะทางคณิตศาสตร์ เป็นสิ่งพื้นฐานสำหรับอาชีพด้านวิศวกรรม
  • ทักษะการพูดและนำเสนองาน การพูด การเรียบเรียงข้อมูล
  • ทักษะการเขียน สำคัญมากในการนำเสนอและทำคู่มือ โดยเฉพาะการสื่อสารสัญลักษณ์ทางไฟฟ้า 
  • ทักษะการแก้ปัญหาตัดสินใจ ไหวพริบการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าต่าง ๆ เป็นสิ่งจำเป็น
  • ทักษะความเป็นผู้นำและการทำงานเป็นทีม เป็นทักษะจำเป็นในการทำงานแทบในทุกวิชาชีพ ที่จะช่วยให้เราสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

เรียน วิศวไฟฟ้า

การศึกษา

  • ระดับมัธยมศึกษา เลือกสาย วิทย์-คณิต
  • เข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศกรรมไฟฟ้า เมื่อจบการศึกษา จะได้รับวุฒิ วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วศ.บ.)

Hard Skills

  • ทักษะการซ่อมบำรุง
  • คณิตศาสตร์ สำคัญมาก รวมถึงฟิสิกส์ ใช้ทั้งในการสอบเข้าและตอนเรียนวิชาต่าง ๆ
  • การเขียนโปรแกรมพื้นฐาน โปรแกรมเฉพาะทางบางอย่างถ้ามีพื้นฐานภาษาจะช่วยให้เรียนง่ายขึ้น

Soft Skills 

  • ทักษะการนำเสนองาน การพูด การเรียบเรียงข้อมูล
  • ทักษะการเขียน สำคัญมากในการนำเสนอและทำคู่มือ
  • ทักษะการเข้าสังคม ส่วนมากต้องทำงานเป็นทีมกับคนหมู่มาก
  • ทักษะการบริหารจัดการ การตัดสินใจ ไหวพริบการแก้ปัญหาต่าง ๆ

“วิศวกรไฟฟ้า เหมาะกับคนที่ชอบการแก้ไขปัญหา ใครที่ชอบคำนวณ ชอบใช้ความคิดแบบเป็นเหตุเป็นผลแบบ Logical ไม่อยากท่องจำมาก ก็ลองมาเรียนกันดูได้”

วิศวกรไฟฟ้าผู้ให้สัมภาษณ์

วิชาที่เรียน 

(ตัวอย่างวิชาที่เรียนดังกล่าว เป็นหลักสูตรของคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาไฟฟ้า สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณมหารลาดกระบัง)

  • ปี 1 นักศึกษาวิศวกรรมทั้งหมดจะเรียนรวมทุกสาขา เรียนวิชาพื้นฐานที่เคยเรียนมาตอนม.ปลาย ฟิสิกส์ เคมี คณิต การเขียนโปรแกรมพื้นฐาน
  • ปี 2
    • เรียนพื้นฐานไฟฟ้า วิชาทฤษฎีต่าง ๆ ที่อาจยังไม่ได้นำไปใช้จริง
    • Circuit Analysis เรียนการวิเคราะห์วงจรไฟฟ้า เป็นวิชาพื้นฐานที่นำต่อยอดในวิชาอื่น ๆ ต่อ ทุกวิชา
    • Electro Magnetic เกี่ยวกับระบบสนามแม่เหล็ก
  • ปี 3
    • เริ่มเจาะลงไปในแต่ละสายงาน นำวิชาจากปี 2 มาลงลึกมากขึ้น ได้ใช้งานจริงมากขึ้น
    • Machine เรียนเกี่ยวกับมอเตอร์หม้อแปลง ที่ลึกกว่าของปี 2 เขียนวงจรอย่างง่าย แล้ววิเคราะห์ด้วย Circuit Analysis
    • ออกแบบไฟฟ้าภายในอาคาร แบบพื้นฐาน
    • วิเคราะห์ระบบไฟฟ้ากำลัง Power System Analysis เกี่ยวกับระบบไฟฟ้าตามเสาไฟทั้งหลาย
    • วิชาประเมินราคา เพื่อประเมินราคาเวลาออกแบบโครงการต่าง ๆ
    • ฝึกงานตามที่ต่าง ๆ ช่วงปี 3 ขึ้นปี 4 มีการไปดูงานตามโรงงานผลิต
  • ปี 4 ทำ Projects ตลอดทั้งสองเทอม 

เคล็ดลับการเรียน 

  • หมั่นทบทวนบทเรียนและเนื้อหา ถ้าไม่เข้าใจสามารถสอบถามอาจารย์ได้เลย เวลาอ่านหนังสือถ้าช่วยกันติวจะเข้าใจง่ายขึ้น ควรอ่านทบทวนก่อนสอบล่วงหน้าอย่างน้อย 2 อาทิตย์ หรือสอบถามแนวข้อสอบจากรุ่นพี่
  • หากอยากพัฒนาทักษะด้านการสื่อสารและภาษาอังกฤษ จะมีวิชาเลือก Communication เป็นวิชาเลือกภาษาอังกฤษ ให้ลงเรียนช่วงไหนก็ได้ระหว่าง ปี 2 ถึง 4 

ชีวิตนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย

  • ปี 1 จะมีกิจกรรมรับน้องทั่วไป สานสัมพันธ์คนในคณะ ตามแต่ละมหาวิทยาลัย
  • มีชุมนุมมให้เลือกแบบไม่จำกัดคณะหรือสาขาเรียน จะเข้าหรือไม่ก็ได้ เช่น ชุมนุมการเขียนโปรแกรม ชุมนุมตามบ้านเกิด ชุมนุมกีฬาประเภทต่าง ๆ ชุมนุมโรบอท ชุมนุมรถไฟฟ้า (Tesla)

ค่าเทอมตลอดหลักสูตร 

       ต่อเทอม ประมาณ 17,000 - 25,000 บาทต่อเทอม (อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปแต่ละปี และขึ้นอยู่กับแต่ละสถาบันการศึกษา) 

มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก

  • Massachusetts Institute of Technology
  • Harvard University

Copyright © 2019 TruePlookpanya. All rights reserved.
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ห้ามมิให้ผู้ใดคัดลอก ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข หรือเผยแพร่ส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ก่อนได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร