วิศวกรชีวการแพทย์
วิศวกรชีวการแพทย์
วิศวกรชีวการแพทย์
วิศวกรชีวการแพทย์
รู้จักอาชีพ > นักปฏิบัติ (Active) > วิศวกรชีวการแพทย์

       วิศวกรชีวการแพทย์ หากพูดถึงความหมายในเชิงกว้างหมายถึงบุคคลที่ทำหน้าที่สนับสนุนการรักษา ไม่ว่าจะเป็นด้านเครื่องมือแพทย์หรือด้านงานวิจัย เรียกง่าย ๆ ว่าเป็นงานหลังบ้านของวงการแพทย์ ซึ่งในประเทศไทยอาจยังไม่มีความหลากหลายของงานด้านนี้เท่าในต่างประเทศ ในไทยจะเน้นไปด้านของการดูแลรักษาและซ่อมแซมเครื่องมือแพทย์ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานมากที่สุด เพื่อเป็นตัวช่วยแพทย์ พยาบาล รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ให้ทำงานได้สะดวกและดูแลผู้ป่วยได้เต็มศักยภาพของการรักษา ซึ่งเครื่องมือแพทย์ต้องดูแลเอาใจใส่มากเป็นพิเศษ เพราะเป็นเครื่องมือที่ใช้กับผู้ป่วยโดยตรงและเกือบทั้งหมดต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้มีราคาสูง จึงจำเป็นที่จะต้องมีวิศวกรชีวการแพทย์ เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลรักษาประจำเครื่องมือแต่ละประเภทให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ ถึงแม้อาชีพนี้ยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง แต่ในอนาคตสายอาชีพนี้จะต้องการบุคลากรเพิ่มอีกจำนวนมาก

       ในที่นี้จะยกตัวอย่างการทำงานของวิศวกรชีวการแพทย์ที่ทำงานในบริษัทด้านเครื่องมือแพทย์ โดยเรียกวิศวกรชีวการแพทย์ประเภทนี้ว่า วิศวกรบริการ หรือ Service Engineer

ลักษณะการทำงาน    

       วิศวกรชีวการแพทย์ ประเภท Service Engineer จะต้องเดินทางไปดูแลรักษาและซ่อมแซมเครื่องมือแพทย์ตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับว่าโรงพยาบาลนั้น ๆ มีเครื่องมือแพทย์ชนิดไหน ยี่ห้ออะไร งานรูปแบบนี้เป็นงานที่เดินทางค่อนข้างบ่อยและไม่ค่อยมีความแน่นอนในเรื่องเวลาการทำงาน โดยทั่วไปวิศวกรชีวการแพทย์จะดูแลซ่อมแซมเครื่องมือแพทย์แบบเฉพาะเจาะจง เนื่องจากเครื่องมือแพทย์มีหลายประเภท มีการทำงานและการนำไปใช้ที่แตกต่างกัน ทำให้วิศวกรแต่ละคนมีความชำนาญในเครื่องมือที่แตกต่างกัน

ขั้นตอนการทำงาน    

  • เนื่องจากเครื่องมือแพทย์ในแต่ละโรงพยาบาลมีจำนวนจำกัดและมีการใช้งานอย่างต่อเนื่อง ทำให้เมื่อเครื่องมือมีอาการขัดข้อง บุคลากรผู้ใช้งานมีความต้องการให้เครื่องมือกลับมาพร้อมใช้งานได้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะผลเสียจะเกิดขึ้นกับคนไข้ ทำให้ได้รับการรักษาไม่ต่อเนื่อง หากโรงพยาบาลมีวิศวกรชีวการแพทย์ประจำโรงพยาบาลที่สามารถดูอาการและแก้ไขปัญหาในเบื้องต้นได้จะช่วยให้เครื่องมือแพทย์เครื่องนั้นกลับมาใช้งานได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น แต่หากพบปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขเบื้องต้นได้จะต้องเรียกวิศวกรชีวการแพทย์ประจำบริษัทที่ดูแลเครื่องมือแพทย์ประเภทนั้นเข้าไปซ่อม โดยวิศวกรชีวการแพทย์ที่ทำงานในบริษัทเรียกว่า Service Engineer
  • หากทางโรงพยาบาลที่เป็นลูกค้าของเราเกิดปัญหาด้านเครื่องมือแพทย์ ทางวิศวกรบริการอาจให้ความช่วยเหลือผ่านทางโทรศัพท์เบื้องต้นก่อน เพื่อให้เจ้าหน้าที่หรือวิศวกรชีวการแพทย์ประจำโรงพยาบาลลองแก้ปัญหาตามขั้นตอน
  • หากในกรณีที่เครื่องไม่สามารถกลับมาใช้งานได้ จะต้อง เดินทางไปยังโรงพยาบาลที่เครื่องมือแพทย์ขัดข้องให้เร็วที่สุด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของเครื่องมือด้วย การเดินทางแต่ละครั้งมีทั้งแบบไปคนเดียวและไปเป็นกลุ่มขึ้นอยู่กับระดับความยากง่ายของงาน

สถานที่ทำงาน 

  • โรงพยาบาลทั่วประเทศ ทั้งของรัฐบาลและเอกชนที่มีเครื่องมือแพทย์ที่อยู่ในความรับผิดชอบของแต่ละบริษัท

ผู้ที่ต้องทำงานด้วย

       วิศวกรชีวการแพทย์จะทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่แต่ละแผนกที่มีเครื่องมือทางการแพทย์นั้น ๆ เช่น 
  • นักรังสีเทคนิค 
  • นักฟิสิกส์การแพทย์ 
  • แพทย์และพยาบาลในบางกรณี

ทางเลือกอาชีพ

  • วิศวกรชีวการแพทย์ประจำโรงพยาบาล (Hospital Engineer): ทำหน้าที่บริหารการจัดการเครื่องมือแพทย์ในโรงพยาบาลให้เพียงพอต่อการใช้งานและตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือก่อนส่งไปใช้และหลังจากการใช้งานในแผนกต่าง ๆ
  • ผู้เชี่ยวชาญผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ (Product Specialist): ทำหน้าที่ให้คำแนะนำด้านการใช้งานและความสามารถของเครื่องมือแพทย์ชนิดนั้น ๆ แก่บุคลากรทางการแพทย์ให้สามารถใช้งานเครื่องอย่างเต็มประสิทธิภาพ อาชีพนี้จะมีความเข้าใจในเนื้อหาด้านการรักษาที่เกี่ยวกับเครื่องมือนั้น ๆ ด้วย เพราะต้องมีการสื่อสารกับบุคลากรทางการแพทย์อยู่เสมอ
  • ผู้แทนขายเครื่องมือแพทย์ (Sales Representative): ทำหน้าที่เสนอขายเครื่องมือแพทย์ให้กับโรงพยาบาลโดยจะต้องทำการสื่อสารและให้ข้อมูลเกี่ยวเครื่องมือกับบุคลากรผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อ โดยจะต้องมีความเข้าใจในเรื่องพื้นฐานการรักษาที่เกี่ยวกับเครื่องมือนั้น ๆ เพราะถ้าสามารถอธิบายความสามารถของเครื่องให้แพทย์เข้าใจได้ตามต้องการก็สามารถเพิ่มโอกาสให้การซื้อขายนั้นสำเร็จมากยิ่งขึ้น
  • นักวิจัยทางการแพทย์ (Medical Reseach): ทำหน้าที่คิดค้นสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมต่าง ๆ ทางด้านการแพทย์เพื่อสนับสนุนการรักษาให้ทันสมัยและสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น ซึ่งสามารถแตกแขนงแยกย่อยออกไปได้อีกหลากหลายสาขาวิชา ไม่ว่าจะเป็นงานวิจัยทางด้านกลศาสตร์ของสิ่งมีชีวิต หรือ Biomechanic ทำให้เกิดการออกแบบข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันที่ถูกต้องตามหลักสรีรศาสตร์ Ergonomic เพื่อลดอาการเจ็บปวดขณะใช้งาน, งานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับตัวตรวจจับสารต่าง ๆ ที่เกิดจากสิ่งมีชีวิต หรือ Biosensor เพื่อนำไปใช้ประกอบการวินิจฉัยโรค ซึ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ การเจาะเลือดเพื่อตรวจหาค่าน้ำตาลในเลือด เป็นต้น หากมีความสนใจในการทำวิจัยทางการแพทย์ในต่างประเทศจะค่อนข้างมีความหลากหลายมากกว่าในประเทศไทย

ตำแหน่งและเส้นทางการเติบโตในสายอาชีพ

       ตำแหน่งวิศวกรชีวการแพทย์ในบริษัทเครื่องมือแพทย์ที่เรียกว่า Service Engineer โดยปกติแล้วจะเริ่มในตำแหน่ง Junior เมื่อมีความชำนาญมากยิ่งขึ้นจะเลื่อนตำแหน่งเป็น Senior หากมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ลึกลงไปอีกก็จะเป็น Specialist หากคนไหนมีความสามารถในการบริหารการจัดการก็อาจเติบโตต่อไปในสายบริหารของแผนกหรือบริษัทต่อไปได้

รายได้

       เริ่มต้นประมาณ 17,000 - 30,000++ บาท (เป็นการประมาณรายได้ อาจมีการเปลี่ยนแปลง หรือขึ้นอยู่กับแต่ละหน่วยงาน) 

การแข่งขันและความต้องการของตลาด

       อาชีพวิศวกรชีวการแพทย์ยังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบันและอนาคต ทั้งโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน รวมถึงบริษัทเอกชนก็ยังขาดบุคลากรทางด้านนี้ เพราะปัจจุบันเครื่องมือแพทย์ในแต่ละโรงพยาบาลมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ และยังขาดบุคลากรที่มีความรู้เฉพาะด้านดูแล สำหรับงานข้าราชการยังไม่มีตำแหน่งนี้รองรับแบบเฉพาะเจาะจง แต่กำลังอยู่ในแผนการผลักดันให้ตำแหน่งนี้บรรจุอยู่ในงานข้าราชการ

       อาชีพวิศวกรที่ทำหน้าที่ดูแลเครื่องมือแพทย์นั้นมีมานานแล้ว แต่การเรียนการสอนด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ในระดับปริญญาตรีเพิ่งมีได้ประมาณ 10 กว่าปี ทำให้ผู้ที่ทำอาชีพนี้ในสมัยก่อนอาจจบไม่ตรงสาย เช่น จบวิศวกรรมสาขาไฟฟ้า จบวิศวกรรมสาขาอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสามารถทำอาชีพนี้ได้เหมือนกัน แต่ต้องเสริมพื้นฐานด้านเครื่องมือแพทย์เพิ่มเติม ส่วนการเรียนสายตรงจะได้เปรียบในด้านความคุ้นชินเรื่องเครื่องมือแพทย์ว่าเครื่องนี้คืออะไร ทำหน้าที่อย่างไร เมื่อทำงานจะมีความเข้าใจเนื้องานมากกว่า แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องฝึกฝนทักษะด้านไฟฟ้าและอิเลกทรอนิกส์ไปด้วยเช่นกัน

       สำหรับการทำงานโรงพยาบาล โดยเนื้องานจะไม่ได้เดินทางไปตามโรงพยาบาลต่าง ๆ เหมือนสายงานอื่น แต่ข้อดีคือเป็นงานที่จัดการเวลาได้ มีอัตราการเติบโตที่ค่อนข้างดี ซึ่งปัจจุบันหากเป็นวิศวกรชีวการแพทย์ที่มีประสบการณ์แล้วสามารถไปทำงานโรงพยาบาลท้องถิ่นที่ต่างจังหวัดได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อโรงพยาบาลมาก ๆ เพราะในอดีตจะต้องรอวิศวกรจากบริษัทไปซ่อมหรือไปบำรุงรักษาอย่างเดียว หากมีวิศวกรประจำโรงพยาบาลที่สามารถช่วยเบื้องต้นได้ก่อนระดับหนึ่งจนเครื่องสามารถกลับมาทำงานได้จะช่วยให้คนไข้กลับมาใช้เครื่องได้เร็วขึ้นและอาจช่วยลดค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลลง

       อาชีพวิศวกรชีวการแพทย์เปรียบเหมือนงานเบื้องหลัง เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การรักษาสำเร็จได้ ถึงแม้จะมีแพทย์ พยาบาล ผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ แล้วก็ตาม เพราะทุกการรักษานอกจากต้องมีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความสามารถก็ต้องมีเครื่องมือที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานด้วยเช่นกัน

  • เป็นงานที่ช่วยสนับสนุนงานด้านการแพทย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การรักษาสำเร็จและช่วยเหลือผู้คน
  • ได้พัฒนาเครื่องมือที่มีคุณภาพของวงการแพทย์
  • อุปกรณ์ทางการแพทย์ค่อนข้างราคาสูง เมื่อต้องใช้ในการรักษาเป็นประจำอาจทำให้เกิดปัญหาขัดข้องบ่อย อาชีพวิศวกรชีวการแพทย์ที่ทำงานประจำบริษัทขายเครื่องมือแพทย์จึงอาจมีเวลาทำงานที่ไม่แน่นอน
  • งานค่อนข้างกดดัน เพราะต้องแก้ไขให้ทันเวลาและโดยเร็ว เพื่อนำมาใช้งานรักษาผู้คน
  • ขยัน อดทน เพราะเป็นงานที่ต้องทำภายใต้ความกดดันจากทั้งเจ้าหน้าที่ ผู้ป่วย และญาติผู้ป่วย 
  • ความละเอียดรอบ เพราะงานที่ต้องละเอียดอ่อน เพราะเป็นเครื่องที่ใช้งานกับชีวิตมนุษย์โดยตรง
  • หัวไว เรียนรู้เร็ว ชอบหาความรู้ ชอบที่จะพัฒนาตัวเองและต่อยอดความรู้อยู่เสมอ เพื่ออัพเดทสิ่งใหม่ ๆ  มีความกระตือรือร้น กระฉับกระเฉง ตามทันโลกและเทคโนโลยีที่ไม่หยุดนิ่ง คิดเร็วทำเร็ว  
  • มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ แม้ว่าการทำงานเป็นวิศวกรชีวการแพทย์ในส่วนของ วิศวกรบริการ อาจไม่จำเป็นต้องใช้คุณสมบัติข้อนี้มากนัก แต่หากได้พัฒนาต่อยอด หรือได้เริ่มงานด้านการออกแบบ ค้นคว้าและประดิษฐ์เครื่องมือแพทย์ จะถือเป็นคุณสมบัติที่มีประโยชน์มากทีเดียว

 

  • ทักษะด้านภาษา ต้องใช้ภาษาอังกฤษได้ดี เนื่องจากเครื่องมือเกือบทั้งหมดนำเข้าจากต่างประเทศ คู่มือต่าง ๆ จึงเป็นภาษาอังกฤษ หากอ่านคู่มือไม่เข้าใจอาจเกิดความลำบากในการทำงานในระดับหนึ่ง เพราะบางครั้งจำเป็นต้องสนทนาตอบโต้กับผู้เชี่ยวชาญที่เป็นคนต่างชาติเพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติม
  • ทักษะการจัดการเวลา เพราะเวลาการทำงานไม่แน่นอน หากจัดการเวลาได้ไม่ดีจะทำให้เกิดความเครียดและไม่มีความสุขกับการทำงานในรูปแบบนี้
  • ทักษะความเป็นผู้นำและการทำงานเป็นทีม เป็นทักษะจำเป็นในการทำงานแทบในทุกวิชาชีพ ที่จะช่วยให้เราสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ 
  • ทักษะการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ในสถานการณ์ที่มีเวลาจำกัดจะทำอย่างไรให้เครื่องมือกลับมาใช้งานได้ในเบื้องต้น ก่อนนำสู่การซ่อมอย่างจริงจังในภายหลัง
  • ทักษะด้านการสื่อสาร เช่น การสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ เพราะเมื่อเจ้าหน้าที่มีคำถามจะต้องอธิบายให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน
  • ทักษะการคิดวิเคราะห์  ทั้งทางด้าน analytical mind และ critical thinking เป็นการทำความเข้าใจวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาด้านเครื่องมือการแพทย์เหล่านั้น 
  • ทักษะด้านคณิตศาสตร์ เป็นพื้นฐานสำคัญในการเรียนด้านวิศวะ และหากเป็นได้ทำงานส่วนของการออกแบบและพัฒนาเครื่องมือทางการแพทย์ยิ่งถือว่าจำเป็นอย่างมาก

การศึกษา

       วุฒิปริญญาตรี โดยต้องเรียนมัธยมปลายสายวิทย์ - คณิต จากนั้นศึกษาต่อระดับปริญญาตรีคณะวิศวกรรมศาสตร์ในระดับมหาวิทยาลัย สาขาชีวการแพทย์ หรือสาขาอื่น ๆ ที่สนใจ ซึ่งตัวอย่าง มหาวิทยาลัยในประเทศไทยที่มีสาขาชีวการแพทย์ ได้แก่

  • มหาวิทยาลัยมหิดล
  • สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
  • มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
  • มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  • มหาวิทยาลัยรังสิต
  • มหาวิทยาลัยคริสเตียน 
  • ฯลฯ

Hard Skills

  • การเรียนไม่จำเป็นต้องจำเนื้อหาได้ทั้งหมดทุกอย่าง แต่ต้องเข้าใจแก่นของแต่ละวิชาแต่ละเรื่องว่าอยากให้รู้อะไร เพราะเมื่อถึงเวลาต้องใช้จะรู้ว่าควรต้องศึกษาเรื่องอะไรเพิ่มเติม
  • บูรณาการความรู้ที่เรียนมาใช้ในการทำงานจริง เพราะเครื่องมือแพทย์แต่ละอย่างเกิดจากการรวมความรู้จากหลาย ๆศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นความรู้ทางด้านการแพทย์ ความรู้ทางด้านวิศวกรรม ความรู้ทางด้านคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

Soft Skills

  • ฝึกทักษะเรื่องการสื่อสาร เพราะเป็นงานที่ต้องสื่อสารกับคนอยู่เป็นประจำ 

กิจกรรมหรือข้อมูลแนะนำเพิ่มเติม

       สมาคมอุปกรณ์การแพทย์ไทย เป็นกลุ่มที่อาจารย์แต่ละมหาวิทยาลัยมารวมกลุ่มกัน ทำงานร่วมกับแพทย์ พยาบาล วิศวกร เพื่อผลักดันให้อาชีพวิศวกรชีวการแพทย์เป็นที่รู้จักและได้รับความสำคัญมากขึ้น ทั้งยังเป็นกลุ่มที่สนับสนุนการสร้างอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ของไทย พร้อมงานวิจัยต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ FACEBOOK: ThaiBMI

 

 

       “อาชีพวิศวกรชีวการแพทย์อาจจะเป็นอาชีพที่คนยังไม่รู้จักและเป็นอาชีพที่ไม่ค่อยถูกพูดถึง แต่ผู้ที่ทำอาชีพนี้ต่างรู้ดีว่า กำลังใช้ความรู้ความสามารถทำหน้าที่ที่เป็นประโยชน์ต่อการรักษาทางการแพทย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การรักษาดำเนินต่อไปได้ นี่คือ Passion ที่ทำให้เรามีความสุขกับงานที่ทำ”

พุฒิพงศ์ กนกวิจิตร (ภีม) - วิศวกรชีวการแพทย์ดูแลเครื่องฉายแสงประจำบริษัทเอกชน

วิชาที่เรียน 

  • Basic of Engineering: เรียนรู้ทฤษฎีพื้นฐานทางด้านวิศวกรรม
  • Laboratory: การเรียนรู้ภาคปฏิบัติทางด้านอิเลกทรอนิกส์ การเขียนโปรแกรม และเครื่องมือแพทย์
  • Principle of Biomedical Engineering: เรียนรู้พื้นฐานในแต่ละแขนงของวิศวชีวการแพทย์
  • Biomedical Instrument: เรียนรู้ทฤษฎีพื้นฐานการทำงานของเครื่องมือแพทย์แต่ละชนิด
  • Biomechanic: เรียนรู้เกี่ยวกับหลักการกลศาสตร์ต่าง ๆ ของสิ่งมีชีวิตเพื่อนำไปต่อยอดในงานวิจัยต่าง ๆ
  • Biosensor: เรียนรู้เกี่ยวกับตัวตรวจจับสารที่เกิดจากสิ่งมีชีวิตเพื่อนำไปวินิจฉัยในสิ่งที่สนใจต่อไป
  • Industrial Training: การฝึกงานนอกสถานที่กับผู้ประกอบการจริง
  • Project: วิชาการคิดค้นงานประดิษฐ์ที่สนใจที่เกิดจากการเรียนรู้ตลอด 4 ปี

(ตัวอย่างวิชาต่าง ๆ ข้างต้นเป็นข้อมูลจากผู้ให้สัมภาษณ์ที่จบจากสาขาวิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง)

เคล็ดลับการเรียน

  • เข้าใจคอนเซปต์ของแต่ละวิชาแล้วนำไปบูรณาการและไปศึกษาต่อเพิ่มเติมในวิชาที่สนใจ

  • การฝึกฝนทั้งแบบฝึกหัดและภาคปฏิบัติจนเกิดความชำนาญ

ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย

       ในระยะเวลา 4 ปีที่เรียนมหาวิทยาลัยจะได้เรียนทฤษฎีพื้นฐานทางด้านวิศวกรรมและเรียนรู้ความความหมายของแต่ละแขนงของวิศวกรรมชีวการแพทย์ เรียนรู้เกี่ยวกับความรู้พื้นฐานของเครื่องมือแพทย์แต่ละชนิด เรียนรู้ว่าเครื่องมือแพทย์มีอะไรบ้าง กลไกการทำงานเป็นอย่างไร การตรวจสอบมาตรฐานการทำงานของแต่ละเครื่องทำอย่างไร โดยนักศึกษาจะได้จับเครื่องมือแพทย์จริง ๆ ซึ่งเครื่องมือแพทย์เหล่านี้ส่วนมากเป็นเครื่องมือที่ได้รับการบริจาคมาจากโรงพยาบาลและบริษัทเอกชนเพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้

ค่าเทอมตลอดหลักสูตร

  • หลักสูตรปกติประมาณ 20,000 - 30,000 บาท

  • หลักสูตรอินเตอร์ ค่าเทอมประมาณ 70,000 - 90,000 บาท

มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก

  • Harvard University

  • University of Pensylvania

  • Imperial College

  • University of Oxford

  • University of Cambridge

  • ฯลฯ

 


Copyright © 2019 TruePlookpanya. All rights reserved.
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ห้ามมิให้ผู้ใดคัดลอก ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข หรือเผยแพร่ส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ก่อนได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร