- สาขาศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล
- สาขาปริทันตวิทยา
- สาขาทันตกรรมสำหรับเด็ก
- สาขาทันตกรรมจัดฟัน
- สาขาทันตกรรมประดิษฐ์
- สาขาทันตสาธารณสุข
- สาขาวิทยาเอ็นโดดอนต์
- สาขาทันตกรรมหัตถการ
- สาขาวิทยาการวินิจฉัยโรคช่องปาก
- สาขาทันตกรรมทั่วไป
- สาขาทันตกรรมบดเคี้ยวและความเจ็บปวดช่องปากใบหน้า
- สาขานิติทันตวิทยา
ลักษณะการทำงาน
ทันตแพทย์จะทำงานคล้าย ๆ กับพนักงานราชการคือ มีเวลาทำงานเข้า-ออกงานที่แน่นอนตั้งแต่เวลา 8.00 น. ไปจนถึง 16.00 น. โดยจะทำงานเป็นเคสแล้วแต่ว่าคนไข้แต่ละคนเข้ามาทำการรักษาด้วยเรื่องอะไร หรือมีความผิดปกติแบบไหน ไปจนถึงให้คำแนะนำต่าง ๆ เกี่ยวกับสุขภาพช่องปากและฟัน ซึ่งจะทำงานร่วมกับผู้ช่วยทันตแพทย์ โดยลักษณะการทำงานที่โรงพยาบาลและคลินิกก็จะคล้าย ๆ กันดังนี้
ขั้นตอนการทำงาน
- สอบถามคนไข้ ถึงอาการหรือมีความต้องการที่จะทำการรักษาเรื่องอะไร สอบถามอาการเบื้องต้นในส่วนที่มีความผิดปกติ จุดที่เจ็บปวด ประวัติการดูแลช่องปากที่ผ่านมา เพื่อประเมินอาการคร่าว ๆ
- ตรวจช่องปากและฟันของคนไข้ ด้วยเครื่องมือแพทย์ร่วมกับผู้ช่วยเพื่อที่จะดูความผิดปกติ รวมทั้งต้องอธิบายให้คนไข้เข้าใจในการรักษา เพื่อที่จะเลือกวิธีการรักษาให้ตรงจุด
- ให้การรักษา ให้ตรงตามโรค ความผิดปกติของคนไข้หรือตามที่คนไข้ต้องการรักษาเป็นพิเศษ
- แนะนำวิธีการดูแลช่องปาก อธิบายและให้คำแนะนำคนไข้ในการดูแลรักษาช่องปากของตัวเองให้ถูกวิธี หลังทำการรักษาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก
บางครั้งทันตแพทย์ก็ต้องทำโครงการร่วมกับโรงพยาบาลที่ตัวเองสังกัดอยู่ เช่น ตรวจฟัน ทำฟันให้นักเรียนในโรงเรียนเป็นประจำทุกปี ออกหน่วยแพทย์อาสา ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะช่วยให้ทุกคนได้เข้าถึงการรักษาด้านทันตกรรมอย่างเท่าเทียมกันเพื่อเป็นการส่งเสริมให้ทุกคนมีสุขภาพช่องปากที่ดีขึ้นอีกทางหนึ่ง
สถานที่ทำงาน
- โรงพยาบาล เป็นโรงพยาบาลรัฐฯ ที่ต้องใช้ทุนการศึกษาให้กับรัฐบาล
- คลินิก หมอบางคนก็จะทำการรักษาที่คลินิกร่วมด้วย
- โรงเรียน เพราะบางครั้งต้องออกไปตรวจฟันให้นักเรียนในโรงเรียน
- อนามัย ศูนย์อานามัยตามจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศเพื่อตรวจรักษา ให้ความรู้แก่ประชนชนในชุมชน
ผู้ที่ต้องทำงานด้วย
- คนไข้ ซึ่งเป็นบุคคลทั่วไปที่มีปัญหาเกี่ยวกับช่องปากหรือต้องการคำปรึกษาเกี่ยวกับช่องปาก
- ผู้ช่วยทันตแพทย์ เป็นผู้ที่ทำงานร่วมกับทันตแพทย์ในการช่วยเหลือ ส่งอุปกรณ์ขณะที่แพทย์ทำการรักษา
- แพทย์ พยาบาลแผนกอื่น ๆ เมื่อต้องปรึกษาในบางเคส เนื่องจากโรคทางร่างกายบางโรคจะสามารถมองเห็นได้ผ่านช่องปาก
- ทันตแพทย์ท่านอื่น เมื่อต้องส่งต่อเคสที่เฉพาะทางให้กับหมอฟันท่านอื่นที่เชี่ยวชาญกว่าเช่น คุณยายที่ปวดฟันมา 90 % ต้องใส่ฟันปลอม หากในโรงพยาบาลมีหมอเฉพาะทางด้านฟันปลอมคุณหมอก็จะส่งต่อเคสให้
ทางเลือกอาชีพอื่น ๆ
-
เป็นอาจารย์มหาลัยฯ
-
เป็นนักวิชาการ
-
นักวิจัย
ตำแหน่งและเส้นทางการเติบโต
ทันตแพทย์ต้องทำงานใช้ทุนการศึกษาให้กับรัฐบาลในสายงานที่เรียนมา โดยวิธีการจับฉลากว่าจะได้ไปประจำอยู่ที่โรงพยาบาลรัฐ สถานพยาบาล ศูนย์อนามัยต่าง ๆ ที่อยู่ทั่วประเทศเป็นเวลา 3 ปี เมื่อใช้ทุนจนครบหมดแล้วค่อยจะสามารถเลือกเส้นทางอาชีพต่อไปได้หลากหลายดังนี้
- เลื่อนตำแหน่ง สำหรับผู้ที่ต้องการทำงานในโรงพายาบาลต่อไปก็จะมีโอกาสเติบโตด้วยการเลื่อนตำแหน่งตามระเบียบของทางราชการ
- เรียนต่อเฉพาะทาง ทันตแพทย์บางคนอาจจะไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ปริญญาเอกในสาขาเฉพาะทางที่ตัวเองสนใจตามที่ได้พูดเอาไว้ใน 12 สาขาข้างต้น
- เปิดคลินิกของตัวเอง บางคนอาจจะลงทุนเปิดคลินิกทำฟันเป็นของตัวเองหลังใช้ทุนจบ
รายได้
ทันตแพทย์จะมีรายได้อยู่หลายช่องทางรวมแล้วอยู่ที่ประมาณ 40,000 - 80,000 บาทหรือมากกว่าเมื่อเรียนต่อเฉพาะทางแบ่งได้ดังนี้
- ฐานเงินเดือน ประมาณ 18,000 บาท ในโรงพยาบาลรัฐ
- ค่าใบประกอบวิชาชีพ 5,000 บาท ทุกคนที่มีใบประกอบวิชาชีพจะได้รับ
- ค่าเบี้ยเลี้ยงในถิ่นทุรกันดาร เริ่มที่ 10,000 - 20,000 บาท หากประจำในพื้นที่ที่ทุรกันดารมากแค่ไหนก็จะได้มาก
- ค่าไม่ทำเวชปฏิบัติ 10,000 บาท สำหรับหมอฟันที่ไม่ทำคลินิกเอกชนระหว่างที่ใช้ทุน แต่ถ้าหมอทำคลินิกก็จะไม่ได้ส่วนนี้
- ค่าโอที เริ่มที่ 500 บาท/วัน แล้วแต่โรงพยาบาลโดยจะต้องอยู่เวรจนถึง 20.00 น. อาจจะอาทิตย์ละครั้งแล้วแต่โรงพยาบาลจะจัดเวรให้
- ค่าตอบแทนหากทำคลินิก คิดเป็น 50% ของการรักษา
*ยอดรายได้ต่าง ๆ เป็นการประมาณการ อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปตามระบบโครงสร้างแต่ละองค์กร
การแข่งขันและความต้องการทางการตลาด
อาชีพทันตแพทย์เป็นอาชีพที่มีการแข่งขันสูงมาโดยตลอดเพราะมีความต้องการทางตลาดอย่างต่อเนื่อง จากรายได้ที่ดี เป็นอาชีพที่มั่นคง ได้ช่วยเหลือคนและทำงานเป็นเวลา ไม่ยุ่งมากเท่าไหร่แถมยังสามารถเปิดคลินิกเองได้ ซึ่งตามสถิติของราชวิทยาลัยทันตแพทย์แห่งประเทศไทย สาขาที่มีบุคลากรมากที่สุดคือ สาขาทันตกรรมจัดฟัน รองลงมาคือ สาขาศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียลและทันตกรรมทั่วไป ส่วนสาขาที่มีบุคลากรน้อยที่สุดในตอนนี้ (ประจำปี 2563) คือสาขานิติทันตวิทยาเพียง 24 คนทั่วประเทศไทย
- ทำงานเป็นเวลา มีเวลาเข้า-ออกงานที่แน่นอนทำให้ทำงานเป็นเวลา สามารถไปทำกิจกรรมอื่นได้ มีเวลาให้คนรักและครอบครัว เพื่อนฝูง มีเวลาไปเที่ยว พักผ่อน ออกทริปสั้น ๆ ได้เรื่อย ๆ
- ถือเป็นงานที่มั่นคง เมื่อเรียนจบแล้วไม่ตกงานแน่นอน เพราะเป็นที่ต้องการของตลาด เป็นอาชีพที่ต้องรักษา ดูแลคนไปตลอดชีวิตเพราะช่องปากของคนเราย่อมเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา
- ได้ค่าตอบแทนดี เนื่องจากมีค่าตอบแทนจากหลายช่องทางและสามารถไปทำคลินิกได้อีก
- เปิดคลินิกส่วนตัวได้ ทันตแพทย์ที่มีใบประกอบวิชาชีพสามารถที่จะเปิดคลินิกของตัวเองได้เลย
- มีเวลาพักผ่อนเยอะ เนื่องจากทำงานเป็นเคสและจบเป็นวัน ทำให้มีเวลาพักผ่อน ไม่เครียดสะสม เพราะเป็นงานที่จบในที่ทำงาน พรุ่งนี้ก็เริ่มเคสใหม่ ๆ
- ถือเป็นอาชีพที่ได้ใช้ฝีมือ แต่ละครั้งที่อุดฟันได้สวย ปั้นฟันได้ดีก็จะทำให้ภูมิใจในผลงาน
- ได้ช่วยเหลือคน เพราะเป็นงานทำให้คนไข้หายเจ็บได้ทันทีเป็นที่พึ่งให้คนไข้ยามเจ็บป่วยได้ บางคนอาจจะคิดว่าเป็นอาชีพที่ได้ทำบุญกับคนอีกด้วย
- เสี่ยงมีปัญหาสุขภาพ การนั่งทำงานตลอดเวลาและต้องก้มดูช่องปากคนไข้ทำให้ทันตแพทย์หลายคนมีปัญหาเรื่องปวดคอ บ่า ไหล่และหลังเป็นประจำจากท่านั่งที่ไม่ถูกต้อง
- รายได้ ถ้าหากหมอทำเฉพาะคลินิกอย่างเดียวก็จะทำให้ต้องทำงานหนักเพราะมีรายได้ทางเดียว
- ต้องหมั่นเรียนรู้ตลอดชีวิตไม่มีหยุด เนื่องจากความรู้ทางทันตกรรมเป็นความรู้ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ทำให้แม้จะเรียนจบไปแล้วก็ต้องเรียนรู้องค์ความรู้ใหม่ ๆ อยู่เสมอ หยุดอัพเดตตัวเองไม่ได้
- ช่างสังเกต ในระดับมิลิเมตรคือสามารถสังเกตเห็นแม้ในสิ่งที่เล็กจิ๋วมาก ๆ เก็บรายละเอียดทุกอย่างได้ครบเพราะทันตแพทย์ต้องสามารถมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ในสิ่งช่องปากที่อาจจะผิดปกติได้
- มีความอดทนสูงและควบคุมอารมณ์ได้ดี ใจเย็น สุขุมกับทุกสถานการณ์ เพราะต้องเจอคนไข้ทุกรูปแบบ บางคนอาจจะเครียดเพราะเขาเจ็บมา ทำให้ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ หมอก็ต้องใจเย็นให้ได้มากกว่า
- ละเอียดรอบคอบ เพราะเป็นอาชีพที่ไม่ควรทำพลาด เพราะหากทำผิดพลาดก็อาจจะทำให้คนไข้เป็นอันตราย เนื่องจากช่องปากและฟันมีเส้นประสาทอยู่ ทำให้หมอฟันต้องใช้ความละเอียด รอบคอบในการรักษาสูง
- เห็นอกเห็นใจผู้อื่น เกือบ 75% ของคนไข้มักจะกลัวเมื่อต้องทำฟันหรือมีปัญหาช่องปาก บางคนมีเหตุการณ์ที่ไม่ดีจากการทำฟันโดยเฉพาะเด็กหรือคนชราที่ทำฟันปลอมใหม่ ๆ อาจจะไม่มั่นใจ หมอจะต้องมีความเข้าใจคนไข้ เอาใจเขามาใส่ใจเราด้วย
- มีจรรยาบรรณ ซื่อสัตย์ ต้องรักษาคนไข้อย่างเท่าเทียมกัน ไม่เอาเปรียบคนไข้หรือจ่ายยาผิด ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับทันตกรรมให้คนไข้แม้คนไข้จะร้องขอ
- พร้อมที่จะเรียนรู้ตลอดเวลา เนื่องจากความรู้ทางทันตกรรมหรือเทคโนโลยีด้านทันตกรรมมักจะเปลี่ยนใหม่อยู่เรื่อย ๆ ทำให้ต้องหมั่นศึกษา หาความรู้ให้ทันโลก ทันเทรนด์ใหม่ ๆ เพื่อประโยชน์ในการรักษาคนไข้
- มีร่างกายที่เเข็งแรง รู้จักหาเวลายืดหยุ่นร่างกายเพราะทันตแพทย์จะชอบมีปัญหาคอ ป่า ไหล่เนื่องจากการนั่งทำงานตลอดทั้งวันและต้องก้มตรวจคนไข้อยู่ตลอดเวลา
- ทักษะภาษาอังกฤษ ต้องให้อยู่ในระดับดีเพราะในเอกสาร ในหนังสือเรียนเป็นภาษาอังกฤษหมด
- ทักษะการสื่อสาร รู้จักอธิบายให้คนไข้เข้าใจง่าย ๆ รู้จักใช้ภาษาให้คนทั่วไปเข้าใจได้ ไม่งง
- ทำงานเป็นทีม ทั้งผู้ช่วยทันตแพทย์ หมอ พยายาลผู้ที่เกี่ยวข้องที่ต้องสื่อสารให้เคลียร์ เข้าใจเมื่อต้องทำงานร่วมกัน
- ทักษะการเป็นผู้นำ ต้องสามารถที่จะคิดวิเคราะห์ วางแผน ตัดสินใจและแก้ปัญหาให้ดีที่สุดในการรักษาคนไข้
- ทักษะความชำนาญด้านหัตถการงานฝีมือ คือ สามารถที่จะปั้น กรอและอุดฟันให้ได้สวยงามและมีคุณภาพตามหลักการได้ เพราะทันตแพทย์ต้องใช้มือได้อย่างคล่องแคล่วเพื่อทำหัตถการทางการแพทย์ในช่องปากของคนไข้ ซึ่งมีขนาดเล็กและซอกซอยมากมาย
- ทักษะการแก้ปัญหาตัดสินใจ เพราะคนไข้อาจจะมาด้วยความเจ็บปวด หมอต้องมีความกล้าที่จะลงมือรักษาทันที ไม่ลังเลเพื่อให้คนไข้หายจากอาการเจ็บปวดได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
- ทักษะการจัดการ การจัดการเป็นเรื่องสำคัญทั้งการรายงานผลตรวจ การจัดคิวการรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ทันตแพทย์และทีมผู้ช่วยจึงต้องมีทักษะนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีคลินิกของตัวเอง
การศึกษา
หากน้อง ๆ คนไหนสนใจอยากที่จะทำอาชีพทันตแพทย์จะต้องเรียนมาทางสายสามัญ ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหากจบจากสายวิทย์คณิตจะยิ่งได้เปรียบ ต้องเป็นคนขยัน ทำเกรดเฉลี่ยได้้ดี ชอบที่จะเรียนรู้และมีหัวด้านการเรียนคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เคมี ชีวะ ฟิสิกส์ ฯลฯ เพราะต้องใช้ในการสอบเข้าคณะทันตแพทยศาสตร์ ซึ่งเปิดสอนในหลายมหาวิทยาลัยฯ ดังนี้
- คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
- คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
- คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
- คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
- คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
- คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น
- คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (หลักสูตรนานาชาติ)
Hard Skills
- ฝึกงานฝีมือ เพราะการเรียนทันตแพทย์ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์(Art & Science) สองอย่างรวมกัน ลองฝึกการเกาะสลัก งานปั้น นอกจากจะต้องสวยงามทำให้คนไข้มั่นใจแล้วยังต้องถูกต้องตามหลักวิชาการ คือสวยงานและสามารถใช้งานได้
- มีความชำนาญในการใช้วัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องมือต่าง ๆ หรือ Manual Dexterity เพราะเวลาทำการรักษาหมอไม่ควรที่จะทำอุปกรณ์ตกหล่นหรือซุ่มซ่าม ไม่สามารถที่จะหยิบจับควมคุมมือตัวเองให้ดีได้
- แบ่งเวลา เนื่องจากต้องเรียนหนัก และสอบเยอะ เมื่อทำคลินิกยังต้องจัดการทุกอย่างเอง หากฝึกให้ตัวเองรู้จักแบ่งเวลา บริหารเวลาให้คุ้มค่าตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็จะได้เปรียบ
Soft Skills
- มีวจนภาษาที่ดี หรือ oral communication เพราะต้องพูด อธิบายตลอดเวลา ขี้เกียจไม่ได้แม้กระทั่งเวลารักษาก็ต้องพูดอธิบายว่ารักษาอย่างไร รวมถึงสอบถามประวัติการดูแลรักษาช่องปาก ให้คำแนะนำคนไข้เพื่อให้คนไข้ดูแลรักษาช่องปากของตัวเองต่อไปได้อย่างถูกวิธีอีกด้วย
- จิตวิทยา เรียนรู้พฤติกรรมมนุษย์เพราะบางครั้งงานจะเสร็จก็เพราะปากหมอ หากหมอพูดจาดี วางตัวให้เหมาะสม ดูเข้าใจคนไข้ คนไข้จะเชื่อใจหมอ ไม่ดุจนเกินไป จนคนไข้รู้สึกไม่ดีกับการรักษา
- แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ถ้าคนไข้กลัว ไม่อยากรักษาแต่จำเป็นต้องแก้ปัญหาอย่างไร หากคนไข้อ้าปากกว้าง ๆ ไม่ได้เมื่อทำการรักษา หรือมีข้อจำกัดบางอย่าง หมอจะแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอย่างไร
- ทักษะทางอารมณ์ ต้องฝึกที่จะใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ ไม่ใช้อารมณ์ในที่ทำงานไม่ว่าจะเจอคนไข้รูปแบบใดต้องไม่ใช้อารมณ์กับคนไข้และเพื่อนร่วมงานเพราะจะทำให้ดูไม่น่าเชื่อถือได้
การพััฒนาระหว่างการทำงาน
อาชีพทันตแพทย์จะได้พัฒนาตัวเองระหว่างทำงานอยู่เสมอ ตลอดชีวิต โดยจะได้ประสบการณ์เยอะขึ้นจากเคสที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการออกไปประจำในต่างจังหวัด ถิ่นทุรกันดารที่จะทำให้ได้เห็นเคสที่หลากหลายมากกว่าอยู่ในเมือง เรียกว่าการได้ไปประจำอยู่ต่างจังหวัดภายใน 1 ปี ทันตแพทย์หลายคนจะได้เจอเคสเกือบจะทุกรูปแบบ ทำให้เก่งขึ้น มีประสบการณ์มากขึ้นแก้ไขปัญหาได้แม่นยำขึ้นทำให้มีความมั่นใจในการทำงานสูงมากขึ้นตาม
“อยากให้ถามตัวเองว่า อยากเป็นหมอฟันจริง ๆ ไหม เพราะบางคนเขาก็มองว่าทันตแพทย์เป็นแค่ทางเลือกของคนที่สอบหมอไม่ติด เพราะคะแนนมันจะต่ำลงมาหน่อย แต่แนะนำว่าอย่าทำแบบนั้นเลย เพราะการเรียนระหว่างแพทย์กับทันตแพทย์มันไม่เหมือนกันเลย แนะนำว่าให้มาเรียนเพราะชอบจริง ๆ ดีกว่า ถ้าจะเรียนคณะนี้ก็ต้องขยันและแบ่งเวลาเรียนให้ได้ และไม่ต้องห่วงว่าตัวเองจะไม่มีทักษะด้านงานฝีมือ เพราะเราสามารถฝึกได้”
ทันตแพทย์ท่านหนึ่ง
วิชาเรียน
- ปี 1-3 เรียกว่า Pre-clinic ปี1 ปรับพื้นฐานวิชาคณิต วิทย์และสังคม เรียนวิชาพื้นฐานอย่าง เคมี ฟิสิกส์ ชีวะ ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เพื่อเป็นการปรับพื้นฐานให้ทุกคนเท่ากันก่อน โดยอาจจะไปเรียนที่คณะสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์หรือคณะวิทยาศาสตร์ แต่จะยังไม่เรียนเกี่ยวกับทันตแพทย์นะ
- ปี 2 เรียนเกี่ยวกับ Dental anatomy จะได้เรียนเกี่ยวกับกายวิภาคศาสตร์ทันตกรรม ลักษณะของฟันแต่ละซี่ที่ไม่เหมือนกันเลยว่าเป็นอย่างไร ต่างกันอย่างไร แบบไหนคือเรียกว่าปกติ จนสามารถตอบได้หมดว่าฟันซี่นี้คือซี่ไหนเมื่อต้องสอบ นอกจากนั้นยังได้เรียนพื้นฐานของวิชาแพทย์ ผ่าอาจารย์ใหญ่ด้วย
- ปี 3 เรียนความผิดปกติในช่องปาก จะได้เรียนเรื่องความผิดปกติในช่องปาก รวมทั้งความผิดปกติของร่างกายที่มาจากปัญหาช่องปาก โรคบางโรคที่จะเห็นได้ผ่านทางช่องปากของมนุษย์ โดยจะเน้นหัวกับคอเป็นพิเศษ นอกจากนี้ยังต้องฝึกการทำทันตกรรมต่าง ๆ เช่น อุดฟัน ทำฟันปลอมในหัวหุ่น (ยังไม่ใช่ในคนไข้จริง ๆ) ปั้นฟันปลอมจากขี้ผึ้งให้ได้ทั้งความสวยงาม คุณภาพและใช้งานได้อีกด้วย
- ปี 4-6 เรียกว่า Clinic เป็น 3 ปีที่จะได้ลองทำทันตกรรมในคนไข้จริง ๆ ทุกอย่างที่ได้เรียนมาเช่น อุดฟัน ขูดหินปูน และยากขึ้นเรื่อย ๆ ในปีที่ 5 อย่างการรักษารากฟัน ผ่าฟันปลอม ผ่าฟันคุด โทรนัดคนไข้เอง จัดระเบียบเวลาเองทุกอย่างเหมือนเวลาทำงานจริง โดยจะได้ฝึกในโรงยาบาลในคณะฯ ในคลินิก ศูนย์อนามัย หรือออกตรวจสุขภาพในช่องปากตามโรงเรียนและชุมชนเหมือนกับทันตแพทย์จริง ๆ
เคล็ดลับการเรียน
แบ่งเวลาให้ดีมาก ๆ เพราะเรียนทันตแพทย์ต้องสอบบ่อยมาก แถมยังต้องทำงาน Lab ส่งด้วย ถ้าเป็นช่วงคลินิก นักเรียนทันตแพทย์จะต้องโทรนัดคนไข้เอง ซึ่งถ้าหากแบ่งเวลาเป็นก็จะไม่เครียดมาก สามารถที่จะเรียนไปด้วย ทำทำกิจกรรมไปด้วยได้อย่างแฮปปี้
ค่าเทอมตลอดหลักสูตร
เริ่มตั้งแต่ 21,000 - 5,000,000 บาทตลอดหลักสูตร ขึ้นอยู่กับแต่ละสถาบัน ว่าเป็นมหาวิทยาลัยรัฐบาลหรือเอกชน
Copyright © 2019 TruePlookpanya. All rights reserved.
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ห้ามมิให้ผู้ใดคัดลอก ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข หรือเผยแพร่ส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ก่อนได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร