นักบิดแสงและสี
นักบิดแสงและสี
นักบิดแสงและสี
นักบิดแสงและสี

       อาชีพนักบิดแสงและสีหรือคัลเลอร์ลิสต์ (Colorist) คือผู้ปรับแต่งสี (Color Grading) และแก้สีภาพ (Color Correction) ในงานสื่อต่าง ๆ อาทิ งานวิดีโอ MV ภาพยนตร์ ภาพยนตร์โฆษณา เพื่อให้ตรงตามคอนเซ็ปต์ที่ได้วางไว้ตั้งแต่ต้น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งขั้นตอนสำคัญ เพราะการบิด ปรับสีถือเป็นภาษาหนึ่งในการเล่าเรื่อง เพราะสามารถสื่อสารอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดดำเนินเรื่องได้ ช่วยให้ผู้เสพผลงานเข้าถึงอรรถรสและเต็มอิ่มกับ สี แสง เงา ที่เข้ากับเนื้อเรื่องตอนนั้นๆ ได้อย่างกลมกลืน 

นักบิดแสงและสี

นักบิดแสงและสี

นักบิดแสงและสี

 

ลักษณะงาน 

       Colorist จะเป็นการทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานหลายชั่วโมงติดกัน ในโปรแกรมสำหรับตกแต่งสีภาพเพื่อให้ได้ชิ้นงานตามที่บรีฟ ซึ่งในการทำงานด้านโปรดักชัน หลักๆ คือ

  1. Pre-Production เป็นการวางแผนก่อนการถ่ายทำ
  2. Production คือการถ่ายทำที่มีกล้องไปถ่ายนักแสดง 
  3. Post-Production คือการนำไฟล์ที่ถ่ายมา ตัดต่อ ตกแต่งสี แสง ใส่เสียง ใส่เอฟเฟกต์ต่างๆ 

ขั้นตอนการทำงาน 

       อาชีพ Colorist จะทำงานตั้งแต่ Pre-Production เพื่อรับบรีฟและทำความเข้าใจความต้องการของผู้กำกับ 
  • เริ่มตั้งแต่ในช่วง Pre-Production ด้วยการเข้าไปประชุมพูดคุยว่าสิ่งที่ผู้กำกับต้องการเป็นแบบไหน ควรมีการถ่ายทำที่ใช้แสงแบบไหน เพื่อที่ Colorist จะไดจะสามารถทำงานต่อ ให้ออกมาในรูปแบบที่ทีมวางแผนกันไว้ ซึ่งหากไฟล์ที่ถ่ายทำไม่ดี หน้าที่ของ Colorist ก็เปลี่ยนไปเลย จากที่จะได้ทำงานได้อย่างสมบูรณ์แบบมากขึ้น กลับกลายเป็นต้องช่วยแก้ไขข้อผิดพลาดให้งานเป็นไปตามที่กำหนด ดังนั้นขั้นตอนเริ่มแรกของการถ่ายทำ (ซึ่งเป็นหน้าที่ของทีม Production) มีผลสำคัญมากต่องานของ colorist 
  • หลังจาก Production ทีม Editor จะทำการตัดต่อ ลำดับภาพให้ร้อยเรียงตามสคริปต์ รวมทั้งส่งต่อไปทำเสียง จากนั้นจึงเป็นหน้าที่ของ Colorist ในการปรับบิดแสงและสีให้ได้ตาม Mood & Tone ที่ตั้งคอนเซ็ปต์ไว้ โดยสร้าง Look ของภาพโดยรวมสำหรับแต่ละฉากขึ้นมาก่อน แล้ววางช็อตกว้าง เพื่อให้ผู้กำกับเห็นด้วยกับ Mood และ Tone ของภาพแบบนี้ เช่น งานภาพยนตร์โฆษณา ต้องการเน้นตัวนักแสดง เน้นสีหน้าอารมณ์ของนักแสดงเป็นหลัก สีเสื้อผ้าของตัวนักแสดงจะต้องตัดกับฉากหลัง หรือด้วยความที่นักแสดงเป็นคนผิวสี ก็จะใช้ Background เป็นสีออกโทนไปทางฟ้า ซึ่งเป็นสีคู่ตรงข้ามกับสีเหลือง ทำให้ตัวนักแสดงเด่น ผู้ชมก็จะโฟกัสกับการแสดงของตัวละครได้มากขึ้น ข้อควรระวังคือ ในงานโฆษณานั้น การปรับสีจะต้องไม่ผิดเพี้ยนจนเกินจริง เนื่องจากจะผิดกฎหมายด้านการคุ้มครองผู้บริโภค แต่หากเป็นงานด้านภาพยนตร์หรือ Music Video จะไม่ต้องกังวลในข้อนี้ 
  • ถ้าตกลงตามช็อตที่กำหนดเรียบร้อยแล้ว ก็สามารถปรับสีในช็อตถัดไปให้ต่อเนื่องและเป็นทิศทางเดียวกัน 
  • ในระหว่างทำงานจะมีจอคอมพิวเตอร์ในการทำงานมากมาย คือ 1. จอที่เอาไว้ปรับค่าสี 2. จอที่เอาไว้แสดงผล 3. จอที่เป็นกราฟสี เพื่อช่วยให้สีที่ใช้แม่นยำมากกว่าการดูด้วยตาเปล่าเพียงอย่างเดียว โดยโปรแกรมปรับสีพื้นฐานทั่วไปจะมี Adobe Premiere Pro,  Adobe After Effects, Final Cut Pro จะมีชุดคำสั่งพื้นฐานเกี่ยวกับการจัดการค่าสีของภาพ แต่โปรแกรม Color Grading แบบแยกออกมาโดยเฉพาะจะช่วยให้เราสามารถควบคุม และจัดการกับค่าสีต่างๆ ในระดับสูงสุดต้องใช้พวกโปรแกรม Adobe Speed Grade, Davinci Resolve ของ Blackmagic และ Magic Bullet, Colorista ของ Red Giant
  • เมื่อมีการปรับบิดแสงและสีเรียบร้อย จะมาการนำเสียงมารวมอีกครั้ง ถือเป็นการเสร็จสิ้นงาน

สถานที่ทำงาน

  • สตูดิโอ
  • ห้องตัดต่อ
  • ห้องปฏิบัติการด้วยซอฟแวร์
  • บ้านพักอาศัย

ผู้ที่ต้องทำงานด้วย 

  • ผู้กำกับหลัก
  • ผู้กำกับภาพ
  • โปรดิวเซอร์ 
  • ช่างตัดต่อ

 

 

เงินเดือน นักบิดแสงและสี

ตำแหน่งและเส้นทางการเติบโต 

  • Assistant Colorist ระดับผู้ช่วย ยังลงมือปฏิบัติงานเองทั้งหมดไม่ได้
  • Junior Colorist ตั้งต้นงานเองได้ในระดับสเกลเล็ก ๆ
  • Colorist เริ่มและจบงานเองได้ เพราะมีประสบการณ์ เชี่ยวชาญแล้ว

รายได้

  • บริษัทเอกชน เริ่มต้น 18,000 – 20,000 บาท 
  • รับงานอิสระ เริ่มต้น 5,000 บาท (*ความยาวไม่เกิน 5 นาที)

*ค่าตอบแทนขึ้นอยู่กับ สเกลของงาน ความยาว ดีเทลต่างๆ ซึ่งเริ่มที่หลักพัน ไปจนถึงหลักล้าน รวมทั้งขึ้นอยู่กับความสามารถและประสบการณ์การทำงานของแต่ละบุคคลด้วย 

การแข่งขันและความต้องการการตลาด

       นักบิดแสงและสี หรือ Colorist เป็นอาชีพที่ได้รับความนิยมและได้รับค่าตอบแทนสูง ซึ่งในวงการภาพยนตร์ทั่วโลกก็มีอาชีพนี้เช่น ใน Hollywood ซึ่งจะแข่งกันตรงที่เทคนิคสร้างสรรค์ เทคโนโลยีแปลกใหม่ มีเอกลักษณ์ และมีประสบการณ์สูง ภาพยนตร์หนึ่งชิ้นงานความยาวเป็นชั่วโมงสามารถได้รับค่าตอบแทนสูงถึงหกหลัก

  • ค่าตอบแทนสูง
  • ได้ใช้ความคิดในการวิเคราะห์ ตีความเรื่องราว เพื่อใช้สีคุม Mood & Tone
  • มีโอกาสทำงานด้านนี้ในวงการต่างประเทศ 

 

  • ต้องทำงานในห้องแอร์เย็นๆ เพราะคอมพิวเตอร์ทำงานหนัก
  • ใช้เวลานั่งทำงานนานหลายชั่วโมงติดกัน อาจทำให้เวลาพักไม่เป็นเวลา
  • ใช้สายตาเพ่งหน้าจอคอม อาจมีผลกับสุขภาพ
  • อุปกรณ์ทำงานและโปรแกรมที่ใช้งานมีราคาสูง

 

  • มีความรู้เรื่องเรื่องศิลปะภาพยนตร์ การทำสื่อต่าง  ๆ 
  • ชอบงานศิลปะ มีความรู้และเข้าใจความหมายของสี แสง เงา
  • มีความละเอียดรอบคอบ

 

  • ทักษะด้านการคิดวิเคราะห์และตีความ อาชีพนี้ต้องรู้จักการคิดวิเคราะห์สิ่งที่ผู้กำกับต้องการสื่อสารและตีความออกมาอย่างถูกต้องเหมาะสม
  • ทักษะการสื่อสารและเล่าเรื่อง เพราะการใช้สี ถือเป็นการเล่าเรื่องอย่างหนึ่ง ดังนั้นต้องใช้ความรู้ในการใช้สีสื่อสารอารมณ์ออกมาให้ถูกต้อง นอกจากนั้นยังต้องใช้การสื่อสารกับทีมงานและผู้กำกับเพื่อตกลงการทำงานกันให้ดีด้วย 
  • ทักษะด้านการตัดต่อ ลำดับภาพ เป็นทักษะพื้นฐานที่ต้องใช้ในการทำงานด้านนี้ 
  • ทักษะด้านการใช้ทฤษฎีสี จำเป็นอย่างมาก เพราะเรื่องสีเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของอาชีพ
  • ทักษะด้านการประยุกต์ใช้เครื่องมือเทคโนโลยี ทุกวันนี้มีเทคโนโลยีมากมายทำให้โปรแกรมต่าง ๆ ที่ใช้ในการทำงานมีมากข้นและสะดวกขึ้น ดังนั้นจึงต้องมีทักษะในการประยุกต์ใช้เพื่อให้สะดวกในการทำงานมากขึ้น 

 

เรียน บิดแสงและสี

การศึกษา

  • ม.6 หรือเทียบเท่า, ปวช., ปวส. (เทียบโอนได้) โดยใช้ใบเกรดรวม 4 หรือ 5 เทอม และใช้หนังสือรับรองความประพฤติจากโรงเรียน หรือสถาบันที่ศึกษา 
  • ระดับปริญญาตรี สาขาวิชาภาพยนตร์ คณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเพทพ หรือสาขาด้านศิลปกรรมศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ในสถาบันอื่น ๆ 
 

ตัวอย่างสถาบันที่เปิดสอน

  • คณะนิเทศศาสตร์ สาขาภาพยนตร์และสื่อดิจิตอล มหาวิทยาลัยศรีปทุม
  • วิทยาลัยการภาพยนตร์ ศิลปะการแสดง และสื่อใหม่ สาขาการผลิตภาพยนตร์
  • คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน สาขาเทคโนโลยีการถ่ายภาพและภาพยนตร์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
  • คณะนิเทศศาสตร์ สาขาการภาพยนตร์และภาพนิ่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาการออกแบบสื่อดิจิทัล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาภาพยนตร์และดิจิตอล สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
  • คณะนิเทศศาสตร์ สาขาภาพยนตร์และดิจิตอล มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
  • คณะนิเทศศาสตร์ สาขาการออกแบบสื่อดิจิทัล มหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต

Hard Skill

  • พยายามเรียนรู้จากเคสตัวอย่าง เพื่อนำมาประยุกต์ ปรับใช้กับงานของเรา
  • ต้องพัฒนาความรู้ ความสามารถอยู่เสมอ เพราะโปรแกรมที่ใช้งานก็อัปเดตปรับปรุงอยู่ตลอดเช่นกัน รวมทั้งต้องหมั่นเข้าหาความรู้ใหม่ ๆ จากผู้มีประสบการณ์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ เพื่อขอคำแนะนำ หรือปรึกษา

Soft Skills 

  • ฝึกด้านการสื่อสารและการเล่าเรื่อง 

 

       หนึ่งในหลักสูตรที่เกี่ยวข้องในการประกอบอาชีพ Colorist คือ สาขาวิชาภาพยนตร์ คณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เป็นคณะอันดับ 1 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในเรื่องความครบครันของโปรแกรม และอุปกรณ์ในทุกมิติ เช่น ห้องปฏิบัติการด้วยซอฟแวร์ Davinci Resolve จาก Black Magic Design ซอฟแวร์ระดับโลก เพื่อการตัดต่อ ลำดับภาพและ Color Grading ในงานภาพเคลื่อนไหวและภาพยนตร์ ห้องปฏิบัติการซาวด์โปรดักชั่น ที่มีเครื่องมือปรับแต่ง Sound Effect Equalizer เต็มรูปแบบ เพื่อสร้างสรรค์เสียงและดนตรี

       โดยการเรียนที่นี่จะเป็นหลักสูตรที่สอนด้วยรูปแบบ iFIT เน้นปฏิบัติจริง ได้ลงมือทำเอง และได้ทำงานจริงไปด้วย และยังมีการผนึกกำลังความร่วมมือกับหน่วยงานชั้นนำระดับประเทศด้วย เช่น CJ MAJOR entertainment, Transformation Films, Lighthouse Film Service, Cinetoys & Services, Baa-Ram-Ewe, Gear Head Co.,ltd, M Pictures, สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ(องค์การมหาชน), Motion Picture Technical Crew Association (MTCA), Films & Digital Crew Association (FDCA), สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย (Thai Film Director Association), FSA, Human Farm VFX Studio, Tomogram Studio, Yggdrazil Group, TACGA, Gugaga, Zurreal Studio, Fukuoka Creative Content Association (ญี่ปุ่น), Vancouver Film School (แคนาดา), Funny Flux Entertainment (เกาหลีใต้), Kyushu Sangyo University (ญี่ปุ่น) 

       อุปกรณ์ที่ทันสมัยสามารถตอบโจทย์การทำงาน หรือความคิดสร้างสรรค์ได้จริงๆ ซึ่งที่นี่ก็มีครบทั้ง Production Zone, Research and Resource Area, Digital Post Production Zone  มีกระทั้ง Color Grading Station ห้องปฏิบัติการสำหรับแก้ไขและทำสีภาพยนตร์ ประกอบด้วยคอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูง, Color Grading Panels และจอแสดงผลที่แม่นยำระดับมาตรฐานสากล รวมถึงซอฟแวร์ที่เป็นที่นิยมในอุตสาหกรรมภาพยนตร์โลกอย่าง Da Vinci Resolve เพื่อให้คนที่มีความสนใจ เฉพาะด้านนี้ ได้ฝึกฝน เสริมสร้างความเชี่ยวชาญ และพัฒนาทักษะ ให้เป็น Colorist ระดับมืออาชีพของวงการต่อไปได้

วิชาที่เรียน 

       เรียนรู้เกี่ยวกับ กลุ่มการผลิตภาพยนตร์ (Film Production) การปรับสีในภายนตร์ (Color Grading) วิชาปฏิบัติการกระบวนการหลังการผลิต (Post Production Workshop)

เคล็ดลับการเรียน 

  • เก็บชั่วโมงเรียนภาคปฏิบัติให้ได้มากที่สุด เพราะตอนทำโปรเจกต์จบสิ่งนี้จะช่วยให้เราคิด วิเคราะห์ ตีความภาพยนตร์หลายๆ ด้านได้ ไม่ว่าจะเป็น การเขียนบท การลำดับภาพ การตัดต่อ การจัดองค์ประกอบภาพทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว ได้อย่างสมบูรณ์และเข้าถึงคนดูได้ดี
  • ในเวลาที่เรียนจากภาพยนตร์ตัวอย่าง เพื่อตีความเนื้อเรื่อง หรือดูวิธีการเลือกใช้องค์ประกอบต่างๆ ในภาพยนตร์ เราควรสอบถามคนรอบข้างคิดเหมือนกันไหม หรือไม่เหมือนกันยังไง จุดนี้ทำให้เราได้ไอเดียต่อยอดในงานได้

ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย 

  • ปี 1 จะมีการปูพื้นฐานภาษาอังกฤษ วิชาเกี่ยวกับภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน เรียนคำศัพท์และไวยากรณ์ที่สามารถนำไปใช้ได้จริง มีการแสดงความคิดเห็นโต้ตอบด้วยภาษาอังกฤษ เทอมแรกจะได้เรียนวิชาภาพยนตร์เบื้องต้น คือเรียน คุณค่า บทบาท หน้าที่ของสื่อภาพยนตร์ ความสัมพันธ์ของภาพยนตร์กับมิติด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง เทคโนโลยี และวัฒนธรรม แล้วก็วิชา Digital Photography พื้นฐานการถ่ายภาพ ระบบต่าง ๆ ของกล้อง การจัดองค์ประกอบภาพและการตกแต่งภาพในโปรแกรม เทอมสองมีได้ออกไปดูงาน ในวิชาสุนทรียภาพแห่งชีวิต เป็นแบบพัฒนาทัศนคติเชิงบวก ศิลปะ ดนตรี วรรณกรรม ได้เรียนเทคนิคการผลิตภาพยนตร์ รู้จักเครื่องมือสำคัญ ๆ ในการผลิตภาพยนตร์ ส่วนภาคฤดูร้อนเจอวิชาภาษาอังกฤษเบื้องต้น วิชาการถ่ายภาพดิจิทัล เรียนทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ
  • ปี 2 เรียนวิชาประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ เรียนเกี่ยวกับค่านิยมของแต่ละชาติที่สะท้อนออกมาในงานภาพยนตร์ เรียนการถ่ายำภาพยนตร์ การจัดแสง วางองค์ประกอบภาพให้น่าสนใจ เชิงเทคนิค เส้น สี แสง เงา เพราะปลายๆ เทอมจะได้ออกแบบงานตัวเองเป็น เขียน Storyboard  และออกแบบ Poster ในวิชาการออกแบบและสร้างภาพรวมในงานภาพยนตร์ ส่วนของภาคฤดูร้อน จะได้เรียนวิชาสุนทรียศาสตร์ในงานภาพยนตร์ ศึกษารสนิยมของคนแต่ละยุคสมัยที่ต่างกัน ที่สื่อผ่าน การใช้ภาพ แสง เงา เน้นลงลึกในทุกรายละเอียดเนื้อหา
  • ปี 3 จะมีแยกเรียนเฉพาะด้านแบ่งเป็น การผลิตภาพยนตร์ หมวด ก. (การเขียนบท) ข. (การกำกับ) ค. (บริหารงานกองถ่าย) ง. (การออกแบบงานสร้างภาพยนตร์) จ. (การถ่ายภาพยนตร์) ฉ. (การลำดับภาพ) ช. (การบันทึกและออกแบบเสียง) ซึ่งเลือกการลำดับภาพ (Post Production Workshop) เรียนขั้นตอนและกระบวนการหลังการผลิต รวมทั้งฝึกปฏิบัติงานจริงในห้องปฏิบัติการทางภาพยนตร์เพื่อฝึกการตัดต่อ การบันทึกเสียง การสร้างเทคนิคพิเศษขั้นพื้นฐาน เช่น ใส่เอฟเฟคภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหวเพื่อเทอมสองจะได้ผลิตภาพยนตร์ขนาดสั้นแบบสมบูรณ์
  •  ปี 4 ได้เรียนลงลึกจัดเต็มกับอุปกรณ์จริงจัง อย่างวิชา Film Production II คือสร้างภาพยนตร์ด้วยอุปกรณ์ที่มีความซับซ้อนมากขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่การเขียนบท การวางแผนการถ่ายทำ การตัดต่อ และกระบวนการหลังการถ่ายทำอื่นๆ เพื่อให้สำเร็จเป็นภาพยนตร์ดิจิทัลที่สมบูรณ์ และจะต้องทำวิจัยและพัฒนาโครงการสารนิพนธ์ จากที่เราเรียนมา โดยนำเสนอหัวข้อโครงการสารนิพนธ์ที่สนใจ เพื่อศึกษา วิเคราะห์ วิจัยและพัฒนา วางแผน หางบประมาณเตรียมการสำหรับการผลิตโครงการสารนิพนธ์ตามระเบียบปฏิบัติที่ภาควิชาภาพยนตร์กำหนด ซึ่งจะต้องผ่านความเห็นชอบและการควบคุมคุณภาพจากคณะกรรมการภาควิชาภาพยนตร์ ต่อมาในเทอมที่สอง จะมีวิชาสัมมนาภาพยนตร์และสังคม ทำโครงการสารนิพนธ์ศิลปะภาพยนตร์ ดำเนินการผลิตโครงการสารนิพนธ์ที่ผ่านเกณฑ์ โดยปฏิบัติตามข้อกำหนดในการทำโครงการผลิตสารนิพนธ์ศิลปะภาพยนตร์ ดังนี้
  1. ต้องผ่านวิชาพื้นฐานวิชาชีพ กลุ่มวิชาเฉพาะด้าน-บังคับครบทุกวิชา และกลุ่มวิชาเฉพาะด้าน-เลือกไม่น้อยกว่า 12 หน่วยกิต
  2. 2. ต้องสอบผ่านวิชา Degree Project Research and Development
  3. 3. มีการนำเสนอผลงานสู่สาธารณะ

ค่าเทอมตลอดหลักสูตร 

       431,980 บาท (โดยประมาณ)

มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก

  • University of the Arts London สหราชอาณาจักร
  • University of Alberta แคนนาดา
  • DePaul University อเมริกา
  • National University of Ireland, Galway ไอร์แลนด์
  • Hong Kong Academy For Performing Arts ฮ่องกง
  • National Institute of Dramatic Art ออสเตรเลีย
  • MetFilm School Berlin เยอรมัน

 

 

 


Copyright © 2019 TruePlookpanya. All rights reserved.
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ห้ามมิให้ผู้ใดคัดลอก ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข หรือเผยแพร่ส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ก่อนได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร