สถาปนิก
สถาปนิก
สถาปนิก
สถาปนิก

       สถาปัตยกรรมหรือตึกรามบ้านช่อง อาคารต่าง ๆ จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่มีผู้ออกแบบสร้างสรรค์และวางแผนก่อสร้างเหล่านั้น ที่เราเรียกกันว่า “สถาปนิก ซึ่งผู้คนทุกคนล้วนต้องการที่อยู่อาศัย สถานที่ทำงาน แหล่งเรียนรู้ แหล่งช้อปปิ้ง กินเที่ยว สถาปนิกมีหน้าที่ออกแบบ เพื่อเนรมิตพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นในหรือนอกอาคาร ไม่ว่าจะขนาดเล็กๆ เพียงห้องเดียวหรือไปจนถึงอาคารขนาดใหญ่โตที่มีโครงสร้างสลับซับซ้อน งานสถาปัตยกรรมเป็นการผสมกันระหว่างวิทยาศาสตร์และศิลปะ เพราะต้องใช้ทักษะการแก้ปัญหาเพื่อให้มนุษย์อยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมได้ จึงถือเป็นศาสตร์ที่ต้องเข้าใจความเป็นมนุษย์อย่างถ่องแท้ด้วย

สถาปนิก (Architect)

สถาปนิก (Architect)

สถาปนิก (Architect)

ลักษณะงาน

      ในขั้นเริ่มต้นโครงการ สถาปนิกต้องพูดคุยกับลูกค้า เพื่อรับข้อมูลความต้องการจากลูกค้า ข้อกำหนดเงื่อนไข และงบประมาณ ในบางครั้งสถาปนิกอาจต้องเตรียมตัวนำผลงานที่ผ่านมา ภาพreference งานอ้างอิงไว้ก่อนล่วงหน้า รวมทั้งปัจจัยสำคัญอื่นๆ ที่มีผลกับการออกแบบ อย่างสิ่งแวดล้อมของพื้นที่นั้น ๆ ทำเลที่ตั้ง การประเมินราคาเบื้องต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความรู้ที่สถาปนิกควรมีติดตัวจากการสั่งสมประสบการณ์ และการหมั่นขวนขวายหาความรู้ใหม่ ๆ อยู่เสมอ

       หลังจากทำการคุยข้อตกลงกับลูกค้าเรียบร้อย ในขั้นการออกแบบและพัฒนาไปแต่ละขั้นตอนนั้น ควรมีการส่งให้ลูกค้าตรวจสอบความคืบหน้าเป็นระยะ ซึ่งแบบของสถาปนิกต้องมีทั้งลักษณะอาคารในทุกมุมมอง และรายละเอียดของโครงสร้าง แบบที่เขียนระบบต่างๆ ภายในอาคารอย่างละเอียดทั้ง เครื่องปรับอากาศ เครื่องทำความร้อน ระบบระบายอากาศ ระบบไฟฟ้า ระบบการสื่อสารภายในอาคารอย่างสายโทรศัพท์หรืออินเตอร์เน็ต งานระบบประปาและสุขาภิบาล บางครั้งอาจมีงานแบบภูมิสถาปัตย์ด้วยเช่นกัน ในขั้นพัฒนาแบบ สิ่งสำคัญที่สถาปนิกจำเป็นต้องยึดเป็นหลักในการออกแบบคือกฎหมายควบคุมอาคารในแต่ละเขตพื้นที่ กฎการควบคุมอัคคีภัย และข้อบัญญัติอื่นๆ รวมไปถึงการออกแบบสำหรับผู้พิการด้วย

       สถาปนิกใช้โปรแกรม AUTO CAD และ BIM ในการทำงาน แต่ถึงอย่างนั้นทักษะการสเก็ตภาพเบื้องต้นก็ยังคงเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะขั้นตอนการร่างแบบเบื้องตันและช่วงตรวจสอบไซต์งาน

       ในช่วงการก่อสร้าง สถาปนิกต้องเข้าไปตรวจสอบหน้างาน เพื่อให้มั่นใจว่า งานก่อสร้างของผู้รับเหมาเป็นไปตามแบบ เสร็จตามกำหนด ใช้วัสดุตรงตามกับที่ระบุ งานของสถาปนิกจะยังไม่เสร็จสิ้นจนกว่างานก่อสร้างทั้งหมดจะสำเร็จ ผู้รับเหมาได้รับค่าจ้าง และมีการทดสอบระบบต่างๆ เรียบร้อย ก่อนลูกค้าจะรับส่งมอบงานเป็นขั้นตอนสุดท้าย

       ในบางครั้งสถาปนิกต้องคอยช่วยแนะนำลูกค้าเรื่องการว่าจ้างผู้รับเหมาหรือต่อรองการทำสัญญาว่าจ้างผู้รับเหมา รวมถึงประสานงานการยื่นแบบขออนุญาตปลูกสร้างกับทางหน่วยงานราชการด้วย​

ขั้นตอนการทำงาน

  • พบลูกค้าเพื่อรับโจทย์และข้อกำหนดเป้าหมายการทำงานเพื่อออกแบบโครงสร้าง

  • ประเมินราคาแบบและการก่อสร้างจากโจทย์และงบประมาณของลูกค้า พร้อมเสนอสัญญาว่าจ้างการออกแบบ

  • หลังจากตกลงสัญญากันแล้ว ทำการร่างแบบเบื้องต้นด้วยคอมพิวเตอร์หรือร่างแบบด้วยมือ ส่งแบบร่าง (ครั้งที่ 1,2,3 ตามที่ระบุในสัญญา) เพื่อให้ลูกค้าพิจารณาเบื้องต้น

  • เมื่อสรุปแบบเรียบร้อยแล้วจึงดำเนินการทำแบบยื่นขออนุญาตปลูกสร้างกับหน่วยงานราชการ พร้อมประสานงานกับวิศวกรเพื่อทำการออกแบบโครงสร้าง และจัดทำรายละเอียดคำนวณโครงสร้าง เพื่อใช้ประกอบแบบในการยื่นขออนุญาตปลูกสร้างอาคาร

  • จัดทำแบบก่อสร้างโดยประสานงานส่งแบบให้ช่างเขียนแบบ (Draft man) ซึ่งประกอบไปด้วย 1. แบบสถาปัตยกรรม 2.แบบโครงสร้าง  3. แบบงานระบบไฟฟ้า 4.แบบระบบประปาและสุขาภิบาล   

  • ส่งแบบให้ลูกค้าพิจารณา เพื่อตรวจเช็คก่อนจะส่งให้ผู้รับเหมาที่ลูกค้าเลือก (หากต้องการแก้ไข ให้ย้อนกลับไปดูในสัญญาว่า สามารถแก้ไขในขั้นตอนแบบก่อสร้างได้กี่ครั้ง) พร้อมตอบข้อซักถามของลูกค้าร่วมกับวิศวกรผู้ออกแบบโครงสร้างเพื่อเป็นไปตามความต้องการและความถูกต้องโดยสมบูรณ์แล้ว จึงส่งแบบให้ผู้รับเหมาเริ่มทำการก่อสร้าง

  • หากในสัญญามีการระบุให้ว่าจ้างในการควบคุมงานก่อสร้างด้วย สถาปนิกและวิศวกรจะต้องลงพื้นที่หน้างาน(จำนวนครั้งที่ตรวจ ตามที่ระบุในสัญญา) เพื่อตรวจสอบความถูกต้องและเรียบร้อยของขั้นตอนงานก่อสร้างแต่ละขั้นตอนให้มีความถูกต้องสมบูรณ์ เป็นไปตามที่ลูกค้าต้องการ

  • หากมีข้อผิดพลาดในการก่อสร้าง สถาปนิกต้องทำการแจ้งลูกค้าเพื่อให้คำแนะนำ พร้อมทั้งหาวิธีแก้ไขปัญหาหน้างาน เพื่อให้งานเรียบร้อยสมบูรณ์

  • เมื่ออาคารเสร็จสมบูรณ์ พร้อมทั้งทดสอบงานระบบต่างๆเรียบร้อย ก็ถึงขั้นตอนส่งมอบงานให้ลูกค้า

สถานที่ทำงาน

       ต้องทำงานทั้งในสำนักงาน และการออกพื้นที่จริงเพื่อสำรวจสถานที่ทั้งก่อนก่อสร้าง ขณะกำลังก่อสร้าง และก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์  การทำงานอาจต้องทำเป็นช่วงเวลาที่ไม่แน่นอนในช่วงหนึ่งวันขึ้นอยู่กับระยะเวลาและเงื่อนไขที่เร่งรัดเข้ามา  เช่นงานก่อสร้างต้องการเร่งระยะเวลาการทำงานให้เร็วขึ้น สถาปนิกก็ต้องใช้เวลาในการทำงานและตรวจสอบมากขึ้น ขึ้นอยู่กับขนาดและความยากง่ายของอาคาร  ซึ่งเป็นอาชีพที่ไม่มีผลัดการทำงานเพราะสถาปนิกผู้ออกแบบนั้นจะต้องทำหน้าที่รับผิดชอบร่วมกับวิศวกรผู้ทำงานร่วมกัน ตามที่ได้ลงนามในสัญญาและแบบยื่นขออนุญาตปลูกสร้าง ที่เป็นไปตามเงื่อนไขกฎหมายและข้อกำหนดจรรยาบรรณวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม

       อาชีพสถาปนิกเป็นอาชีพที่สามารถใช้ความสามารถเฉพาะตัว ในการประกอบอาชีพได้ ทำให้สามารถทำงานส่วนตัว หรือ ทำงานในสำนักงานออกแบบ โดยบัณฑิตส่วนใหญ่ที่มีจุดมุ่งหมายในการเป็นนักออกแบบ มักนิยมเข้าทำงานในสำนักงานออกแบบ เพื่อเรียนรู้ระบบการทำงาน และมีความก้าวหน้าตามประสบการณ์

ผู้ที่ต้องทำงานด้วย

  • เจ้าของโครงการ หรือลูกค้า (Owner) สถาปนิกจะรับหน้าที่เป็นผู้ให้บริการวิชาชีพ ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการก่อสร้าง ผ่านทางการออกแบบ (Building Design) และการทำแบบก่อสร้าง(Construction Document)
  • วิศวกร สถาปนิกจะมีผู้ที่ปรึกษา ให้คำแนะนำในเรื่องโครงสร้างและเทคนิคการก่อสร้างที่ซับซ้อนและระบบต่างๆในอาคารคือ วิศวกร ซึ่งจะเป็นผู้เชี่ยวชาญในแต่ละแขนงเกี่ยวกับการก่อสร้าง โดยทั่วไปสำหรับโครงการขนาดกลาง วิศวกรเหล่านี้จะประกอบด้วย วิศวกรโยธา(งานโครงสร้าง) วิศวกรไฟฟ้า วิศวกรระบบประปา-สุขาภิบาล และวิศวกรเครื่องกล
  • มัณฑนากรและภูมิสถาปนิก นักออกแบบวิชาชีพทั้งหมดนี้จะทำงานร่วมกันเป็นทีม ผ่านการประสานงานของสถาปนิกเป็นหลัก ซึ่งจะเป็นผู้เชื่อมงานส่วนต่างๆเข้าด้วยกัน
  • ผู้ติดต่อประสานงานระหว่างทีม (Coordinator) เพราะที่ปรึกษาอื่นๆ จะไม่มีใครเข้าใจภาพรวมของโครงการเท่าสถาปนิก
  • ผู้รับเหมาก่อสร้าง สถาปนิกต้องควบคุมงานและตรวจสอบการทำงานของผู้รับเหมาร่วมกับวิศวกร เพื่อตรวจเช็คความถูกต้องตามแบบอย่างสมบูรณ์ รวมทั้งแก้ปัญหาหน้างานด้วย

ทางเลือกอาชีพ

ผู้สำเร็จการศึกษาสายงานนี้ สามารถประกอบวิชาชีพอิสระ รับราชการ หรือทำงานบริษัทต่าง ๆ ได้อย่างกว้างขวางโดยเฉพาะด้านการพัฒนา อาทิ

  • การออกแบบการก่อสร้าง การอุตสาหกรรม การโฆษณา
  • การอนุรักษ์ด้านต่าง ๆ เช่น การอนุรักษ์โบราณสถาน และสถาปัตยกรรม
  • งานวิชาการ นักวิจัย
  • เจ้าของกิจการ
  • นักพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ ที่ปรึกษาโครงการ ผู้ประสานงานโครงการ
  • นักออกแบบอิสระ

สถาปนิก (Architect)

       

ตำแหน่งและเส้นทางการเติบโต 

  • งานรับราชการจะมีการแบ่งลำดับการเติบโตเป็น สถาปนิกระดับปฏิบัติการ สถาปนิกระดับชำนาญการ สถาปนิกระดับชำนาญการพิเศษ ตามลำดับ
  • งานภาคเอกชน จะได้รับเงินเดือนขึ้นอยู่กับฝีมือและประสบการณ์  ได้รับสวัสดิการตามกฎหมายแรงงานกำหนดไว้ และสิทธิประโยชน์อื่น เช่น โบนัส ขึ้นอยู่กับผลประกอบการ และ รายได้ของสถาปนิกมักจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งของสถาปนิกที่ทำงานในสำนักงานสถาปนิก หรือ องค์กรที่มีฝ่ายสถาปัตยกรรม        
  • สถาปนิกอิสระ จะไม่ได้มีการเติบโตในองค์กร บางรายอาจเริ่มต้นรับงานออกแบบ แล้วจึงเติบโตขึ้นโดยการเปิดบริษัทสถาปนิกของตัวเอง 

รายได้

  • รับราชการ รายได้ขึ้นอยู่กับวุฒิการศึกษา โดยในระดับปริญญาตรีจะเริ่มต้นประมาณ 15,000 - 16,500 บาท
  • องค์กรเอกชน รายได้ขึ้นกับระดับองค์กร การต่อรอง รวมทั้งผลประกอบการขององค์นั้น โดยอาจเริ่มต้นประมาณ 18,000 บาท ขึ้นไป โดยในบางองค์กรอาจให้รายได้เพิ่ม หากสถาปนิกมีใบประกอบวิชาชีพในระดับสูงยิ่งขึ้น
  • สถาปนิกอิสระ ตามปกติแล้วสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์จะมีอัตราการคิดค่าบริการการออกแบบ เป็น % ของราคาค่าก่อสร้างทั้งหมด โดยจะแตกต่างกันไปตามแต่ละประเภมอาคาร อาทิ บ้าน(ไม่มีการตกแต่งภายใน) ราคาไม่เกิน 10 ล่้านบาท สถาปนิกผู้ออกแบบจะได้รับค่าบริการคิดเป็น 7.5% ของราคาค่าก่อสร้าง เป็นต้น 

การแข่งขันและความต้องการทางการตลาด 

       งานสถาปนิกยังคงเป็นอาชีพที่มีความต้องการทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง แม้ในยุคที่ AI เริ่มสามารถเข้ามาแทนที่ในบางสายอาชีพแล้ว แต่ด้วยวิชาชีพที่ใช้องค์ความรู้้ด้านการออกแบบผสมผสานกับด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ทำให้สถาปนิกยังคงเป็นอาชีพที่ยืนหยัดอยู่ได้ และมีแนวโน้มว่าจะเติบโตสูงขึ้นด้วย โดยในปี 2561 เว็บไซต์หางานให้ข้อมูลว่า อาชีพด้านโยธา-สถาปนิก เติบโตขึ้นโดยคิดเป็น 14% ติด top 5 เลยทีเดียว 

  • มีมุมมองความคิดสร้างสรรค์ที่ช่วยให้เป็นคนคิดนอกกรอบได้ดี
  • สถาปนิกส่วนใหญ่ลำดับวางแผนความคิดได้ดี และถ่ายทอดออกมาเป็นรูปธรรมได้อย่างชัดเจน

 

  • ​แม้จะเข้าออฟฟิศตามช่วงเวลาปกติ แต่งานแต่ละโครงการจะมีกำหนดเวลาและเงื่อนไขที่แตกต่างกันไป จึงทำให้มีเวลาการทำงานที่ไม่แน่นอน บ่อยครั้งที่ต้องทำงานเกินเวลา โดยเฉพาะเมื่อใกล้กำหนดส่งแบบ
  • การเจรจาต่อรองราคากับลูกค้าค่อนข้างต้องใช้ความอดทน และต้องอาศัยการอธิบายที่ชัดเจน เพราะสถาปนิกส่วนใหญ่ออกแบบผลงานที่ออกมา ลูกค่อนข้างเข้าใจยาก เพราะเป็นเชิงนามธรรมและรูปธรรมรวมกัน ทำให้การสื่อสารเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของการออกแบบลำบาก
  • มีความละเอียดรอบคอบ การทำงานเขียนแบบต้องมีความละเอียดและเช็คความถูกต้องอย่างละเอียด
  • มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ แน่นอนว่าความคิดสร้างสรรค์เป็นของคู่กับนักออกแบบเสมอ แต่การออกแบบบ้าน อาคาร หรืองานโครงสร้างใดๆ ก็ตาม ความสวยงามต้องมาพร้อมกับฟังค์ชั่นเช่นกัน
  • หมั่นศึกษาหาความรู้ในวิชาชีพ การเป็นนักออกแบบควรขยันที่จะหาความรู้ หรือเปิดรับไอเดียใหม่ ๆ และเทคโนโลยีการก่อสร้างใหม่ ๆ อยู่เสมอ
  • ทำงานภายใต้ความกดดันได้ดี หลายครั้งที่งานของสถาปนิกอยู่ภายใต้ข้อจำกัดของเวลา และความต้องการของลูกค้าซึ่งอาจจะไม่สิ้นสุด
  • มีความรับผิดชอบสูง งานออกแบบสถาปนิกเป็นงานที่ใช้วิชาชีพและความรู้เฉพาะทาง และหลายครั้งโครงการก่อสร้างต้องมีการเซ็นรับรองเป็นผู้ออกแบบเพื่อรับผิดชอบว่าการก่อสร้างตรงตามแบบ และถูกต้องตามกฎหมาย ในการรับรองนี้ทำได้เฉพาะสถาปนิกที่มีใบประกอบวิชาชีพถูกต้องแล้วเท่านั้น 
  • ทักษะการคิดวิเคราะห์ สถาปนิกต้องเข้าใจบริบทโดยรอบของการออกแบบบนเงื่อนไขและข้อจำกัดต่างๆ ในแต่ละโครงการ ยกตัวอย่างเช่น ต้องเข้าใจระบบโครงสร้างทางวิศวกรรมด้วยว่าจะส่งผลต่ออาคารและการออกแบบของเขาอย่างไร
  • ทักษะด้านทัศนศิลป์ มีจินตนาการและทักษะในด้านทัศนศิลป์ที่สมดุลกับความรู้พื้นฐานทางด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เพราะวิชาการออกแบบเป็นวิชาศิลปประยุกต์ ผู้สมัครเข้าเรียนจะต้องสอบผ่านวิชาความถนัด ด้านการออกแบบ จึงจะมีสิทธิ์เข้าศึกษาในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
  • ทักษะการสื่อสาร การที่ต้องถ่ายทอดไอเดียหรือการนำเสนองานทั้งด้วยวิธีการเล่าและการเขียนภาพแก่ลูกค้า หรือเพื่อนร่วมโครงการ ทำให้ทักษะด้านการสื่อสารเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพราะผู้ฟังแต่ละคนมีระดับการเข้าใจภาพและโมเดลของงานสถาปัตยกรรมแตกต่างกันไป
  • ทักษะการจัดการ การจัดการเป็นทักษะที่สำคัญ เพราะสถาปนิกต้องจัดการให้การทำงานเป็นไปตามข้อตกลงของสัญญา ต้องมีบันทึกรายละเอียดต่างๆ ของโครงการ ระยะเวลา ทั้งงบประมาณ วัสดุ รวมถึงขั้นตอนการทำงานต่างๆ​
  • ทักษะความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง การเขียนแบบและสร้างโมเดล ต้องมีการใช้โปรแกรมเฉพาะอย่างเช่น โปรแกรม AUTO CAD และ building information modeling (BIM)
  • ทักษะการมองเห็น สถาปนิกควรมีทักษะด้าน Visual การมโนภาพของอาคาร โครงสร้างอาคารทั้งหมดเมื่อเสร็จสมบูรณ์

 

 สถาปนิก (Architect)

       เนื่องจากอาชีพสถาปนิกเป็นอาชีพที่ใช้ความถนัดเฉพาะทาง ผู้ที่ประกอบอาชีพนี้ได้อย่างถูกต้องจึงต้องจบจากหลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต(สถ.บ.) และมีใบประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม สาขาสถาปัตยกรรมหลัก เพื่อบ่งบอกว่าเป็นสถาปนิกโดยชอบตามกฎหมาย  และใช้เป็นเครื่องยืนยันการรับผิดชอบในการออกแบบการก่อสร้างอาคารนั้น ๆ โดยสภาสถาปนิกจะมีการจัดการสอบทุกปี บัณฑิตที่จบการศึกษาต้องนำวุฒิมายื่นเพื่อขอเข้าสอบ             

       ขั้นตอนการขอรับใบประกอบวิชาชีพนั้น ต้องยื่นเอกสารเพื่อเป็นสมาชิกสภาสถาปนิก และทำการสมัครทดสอบความรู้ (ข้อเขียน) 3 รายวิชาคือ ความรู้ทางสถาปัตยกรรม การปฏิบัติวิชาชีพสถาปัตยกรรม และทักษะในการวางผังและออกแบบ หลังจากผ่านการทดสอบแล้วจะมีการสอบสัมภาษณ์และฝึกอบรมแล้วจึงจะได้รับใบอนุญาต โดยใบอนุญาตจะมีอายุ 5 ปี หลังจากนั้นสถาปนิกจะมาติดต่อทำเรื่องต่ออายุ แม้ว่าสถาปนิกบางคนที่อาจเพิ่งจบการศึกษา และยังไม่ได้เข้ารับการทดสอบความรู้จากสภาสถาปนิกแต่ก็ยังสามารถเข้าสมัครงานหรือทำงานสถาปนิกได้ แต่การที่ยังไม่มีใบประกอบวิชาชีพนั้น ส่งผลให้ไม่สามารถเซ็นรับรองแบบสถาปัตยกรรมได้ ซึ่งจะส่งผลต่อความก้าวหน้าของอาชีพในอนาคตต่อไปด้วย

การศึกษา

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ซึ่งสถาบันที่เปิดรับได้แก่

  • จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • มหาวิทยาลัยศิลปากร
  • มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • สถาบันเทคโนฯพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง             
  • มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (หลักสูตรอินเตอร์)
  • สถาบันราชมงคลต่างๆ
  • มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
  • มหาวิทยาลัยรังสิต
  • มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (หลักสูตรเรียน 4 ปีได้ปริญญาตรี อีก 2 ปี ได้ปริญญาโท)
  • มหาวิทยาลัยนเรศวร
  • มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

Hard Skill

  • สำหรับน้อง ๆ นักเรียนที่สนใจอยากเป็นสถาปนิก ควรฝึกฝนวิชาคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ วิทยาศาสตร์ รวมทั้งเตรียมตัวสอบความถนัดทางศิลปะ ทางสถาปัตยกรรม
  • ฝึกทำ sketch design และความเข้าใจทางด้านสามมิติสำหรับการออกแบบอาคาร
  • ฝึกใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่จำเป็นสำหรับสถาปนิก อย่างเช่น AUTO CAD, Sketch up, BIM
  • หาความรู้เรื่องกฎหมายอาคารและการออกแบบต่างๆ

Soft Skill

  • พัฒนาทักษะการสื่อสาร โดยเฉพาะการอธิบายแนวความคิดและผลงานของเราให้ผู้อื่นเข้าใจได้ง่ายและนึกภาพออก

กิจกรรมต่าง ๆ 

  • อ่านบทความหรือติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับงานสถาปัตยกรรม หรือบทสัมภาษณ์สถาปนิกตามช่องทางต่าง ๆ ทั้ง online, podcast ต่างๆ
  • ในประเทศไทย มีสมาคมสถาปนิกสยาม รวมทั้งสภาสถาปนิกที่รวบรวมกลุ่มคนในวงการ ข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้ด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมในประเทศไทยไว้หลากหลายด้าน สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้
  • ติดตามงานสถาปนิก (Thailand Architect Expo) ซึ่งจะมีการจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี 

"เด็กรุ่นใหม่ กังวลว่าเข้าออฟฟิศได้เงินเดือนน้อย  ถ้าไม่มีประสบการณ์ในการทำงานบริษัท จะไม่มีประสบการณ์ในการ handle งานสเกลขนาดใหญ่ เพราะฉะนั้น ประสบการณ์เป็นสิ่งสำคัญ”

อมตะ หลูไพบูลย์ สถาปนิก

 

                          ติดตามเรื่องราวของอาชีพสถาปนิกได้ใน "รายการ I AM : Architect สถาปนิก"                                                                                                                    

วิชาที่เรียน

​สาขาของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ โดยส่วนใหญ่ ประกอบด้วย

  • สถาปัตยกรรม การออกแบบบ้าน อาคารสาธารณะ ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่
  • สถาปัตยกรรมไทย เรียนรู้สถาปัตยกรรมไทยประเพณี และออกแบบอาคารไทยประเพณีและไทยประยุกต์
  • สถาปัตยกรรมภายใน การออกแบบตกแต่งภายในอาคาร
  • ภูมิสถาปัตยกรรม เรียนเกี่ยวกับการออกแบบพื้นที่ภายนอกอาคาร จัดสวน พืชพรรณต้นไม้
  • ออกแบบอุตสาหกรรม  : ออกแบบหลายอย่างทั้งผลิตภัณฑ์ Packaging ตกแต่งภายในพวก Display หน้าร้าน สิ่งทอ กราฟิก เซรามิก
  • วางแผนภาคและผังเมือง การจัดการผังเมืองให้เป็นระบบ ทางสัญจร ระบบการบริการ การจัดการเมืองให้เป็นสัดส่วน

ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย

ปี 1 จะเป็นการปรับพื้นฐานให้รู้จักกับศิลปะก่อนจากสองมิติ และเริ่มเพิ่มงานที่เป็นสามมิติ สุดท้ายจะให้ลองทำงานบ้านชั้นเดียว โดยจะเรียนเกี่ยวกับพื้นฐานสถาปัตยกรรมศาสตร์ ทั้งการออกแบบเบื้องต้น, การวาดเต้น เป็นต้น อาจมีการเข้าไปใน workshop เพื่อทำการเชื่อมเหล็ก ตัดไม้ สร้างแบบจำลองขนาดเท่าของจริงมาดูกัน ในเทอมที่สอง อาจจะเริ่มได้ออกแบบบ้านเล็กๆ เพื่อเรียนรู้การจัดเรียงฟังชั่นแบบง่ายๆ 

ปี 2 จะเรียนลึกยิ่งชึ้นไป อย่างวิชาโครงสร้าง โครงสร้างเหล็ก, โครงสร้างไม้, เขียนแบบอาคารใหญ่ขึ้น, จะมีวิชาที่เป็นเทคนิควิธีให้ลง การตัดโมเดล, presentation อื่นๆอีกมากมาย แต่ละปีจะมีงานให้ลองออกแบบอาคารโดยค่อยๆ เพิ่มระดับสเกลของอาคารขึ้นเรื่อย ๆ  จากบ้านหลังเล็กเป็นบ้านเดี่ยวหลังใหญ่ เป็นโฮมออฟฟิศ จนกระทั่งเป็นอาคารสาธารณะขนาดเล็ก

ปี 3  เริ่มเข้าสู่การผสานเอาแนวคิดกับตัวสถาปัตยกรรมเข้าด้วยกัน วิชาออกแบบจะเป็นพิพิธภัณฑ์ต่างๆ, อาคารเรียน, รีสอร์ท, Community Mall อาคารที่มีลักษณะเป็นพื้นถิ่นไทยประยุกต์ต่างๆ เริ่มมีการเรียนวิชาผังบริเวณ, ออกแบบชุมชน, ผังเมืองวิชาบริหารงานก่อสร้าง, ประมาณราคา, เขียนแบบอาคารขนาดใหญ่ขึ้นเช่น หอพัก

ปี 4 ถือเป็นปีที่หนักที่สุด มีการฝึกออกแบบโรงแรม พิพิธภัณฑ์ มีเรียนวิชาเทคโนโลยีอาคาร  สถาปัตยกรรมภายใน ภูมิสถาปัตยกรรม, สถาปัตยกรรมไทยแล้ว จะต้องเริ่มเตรียมหัวข้อวิทยานิพนธ์ รวมถึงฝึกงานอีกด้วย

ปี 5 ปีสุดท้ายทำวิทยานิพนธ์เพื่อจบการศึกษา

ค่าเทอมตลอดหลักสูตร

ประมาณ 210,000 บาท ตลอดหลักสูตร ขึ้นอยู่กับแต่ละมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก

อาชีพใกล้เคียงหรือมีลักษณะงานที่คล้ายคลึงกัน อาทิ

  • ภูมิสถาปนิก
  • สถาปนิกผังเมือง
  • สถาปนิกชุมชน
  • มัณฑนากร

Copyright © 2019 TruePlookpanya. All rights reserved.
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ห้ามมิให้ผู้ใดคัดลอก ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข หรือเผยแพร่ส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ก่อนได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร