วิศวกรปิโตรเคมี
วิศวกรปิโตรเคมี
วิศวกรปิโตรเคมี
วิศวกรปิโตรเคมี
รู้จักอาชีพ > นักปฏิบัติ (Active) > วิศวกรปิโตรเคมี

       หลายคนอาจสับสนระหว่างวิศวกรปิโตรเคมี กับ วิศวกรปิโตรเลียม ซึ่งทั้งสองอาชีพนี้มีเนื้องานค่อนข้างต่างกัน โดยวิศวกรปิโตรเลียมนั้นจะอยู่ต้นสายการผลิต คอยควบคุมดูแลงานตามแท่นขุดเจาะน้ำมัน ก่อนจะนำสารตั้งต้นที่ได้มานั้นส่งต่อมายังโรงงานแปรรูปเพื่อทำให้กลายเป็นสสารที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ต่อไป ซึ่งตรงนี้จะเป็นหน้าที่ของวิศวกรปิโตรเคมีที่คอยดูแล 
       วิศวกรปิโตรเคมี จะดูแลภาพรวมของกระบวนการผลิตในโรงงานปิโตรเคมี เช่น โรงกลั่นน้ำมัน โรง Aromatics โรงงานผลิตเม็ดพลาสติก เป็นต้น ซึ่งในโรงงานก็จะมีอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ทำงานในสภาวะที่มีความเสี่ยงสูง เช่น อุณหภูมิสูง ความดันสูง มีสารเคมีที่เป็นพิษต่อร่างกาย ไวไฟ ไวต่อการระเบิด เราจึงต้องทำให้กระบวนการผลิตของเราสามารถดำเนินงานได้เต็มประสิทธิภาพที่สุด โดยที่ไม่ขัดกับหลักความปลอดภัย และการทำให้ความเสี่ยงในการเกิดอันตราย
       ตัวอย่างโรงงานที่เป็นสถานที่ทำงานของวิศวกรปิโตรเคมี เช่น โรงงานผลิดเม็ดพลาสติก น้ำมันดิบที่ใช้ในยานพาหนะต่าง ๆ เช่น เครื่องบิน รถยนต์ โรงงานผลิตสารเคมีที่ใช้ในเครื่องสำอาง หรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด สกินแคร์ สารให้ความชุ่มชื้น (แก๊สธรรมชาติที่ได้จากการขุดเจาะน้ำมันแปรรูปกลายเป็นสารพวกนี้) รวมถึงแอลกอฮอล์ชนิดที่ไม่ได้มาจากการหมักพืช ฯลฯ

วิศวกรปิโตรเคมี

วิศวกรปิโตรเคมี

วิศวกรปิโตรเคมี

 

ลักษณะการทำงาน 

       หน้าที่หลักนั้นจะคล้ายคลึงกับงานวิศวกรทั่วไปตามโรงงานหรือองค์กรต่าง ๆ คือดูแลระบบการทำงานในกระบวนการผลิตให้อยู่ในสภาวะที่เหมาะสมตลอดเวลา เช่น ดูแลหอกลั่นที่ได้รับมอบหมายให้สามารถกลั่นสารเคมีได้ตามปริมาณและความบริสุทธิ์ที่เราต้องการ เมื่อเกิดปัญหา จะต้องใช้ความรู้ที่มี หรือศึกษาเพิ่มเติมเพื่อแก้ปัญหา ให้อุปกรณ์ของเรากลับมาใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพเช่นเดิม และพยายามคิดหาไอเดียใหม่ ๆ ที่จะพัฒนา/ปรับปรุง กระบวนการผลิต ให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น

ขั้นตอนการทำงาน

  • เริ่มจากศึกษาโจทย์หรือปัญหาก่อน ว่าเราต้องการจะทำอะไร เพื่ออะไร โดยมากจะมี 2 แบบคือ

    • แก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

    • พัฒนา/ปรับปรุง ระบบหรืออุปกรณ์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

  • จากนั้นก็หาวิธีในการแก้ปัญหา โดยหาทฤษฎีมารองรับอ้างอิง อาจจะเป็น Simulation หรือการคำนวณ เพื่อให้มั่นใจว่า วิธีการที่เราจะใช้ในการแก้ปัญหา สามารถแก้ปัญหาได้จริง และไม่ส่งผลกระทบต่ออุปกรณ์ หรือระบบอื่น ๆ
  • วางแผนและวิธีการแก้ปัญหา และแจ้งให้กับพนักงานปฏิบัติการ หรือเจ้าของพื้นที่ เพื่ออธิบายว่าเราจะทำอะไร และสอบถามความคิดเห็นเพิ่มเติมว่าเราสามารถ improve วิธีของเราได้อีกหรือเปล่า
  • ดำเนินงานตามแผนและเก็บข้อมูลเพื่อสรุปผล

สถานที่ทำงาน

  • โรงงาน / Site งาน

  • Office สำนักงาน

ผู้ที่ต้องทำงานด้วย

  • พนักงานเทคนิค (Operator)
  • ลูกค้า
  • ผู้รับเหมา
  • ที่ปรึกษา

ทางเลือกอาชีพอื่น ๆ 

  • ที่ปรึกษาทางเทคนิค
  • Sale ขายสารเคมี ขายอุปกรณ์
  • Planner ผู้คอยวางแผนการทำงาน

เงินเดือน วิศวกรปิโตรเคมี

ตำแหน่งและเส้นทางการเติบโตในสายอาชีพ

       เมื่อเริ่มต้นเข้าสู่สายงานจะมีตำแหน่งเป็น Junior Process Engineer ก็จะดูแลแก้ปัญหาที่ง่าย ๆ ไปก่อน หลังจากเริ่มมีประสบการณ์มากขึ้นก็จะสามารถทำงานที่ยากขึ้นได้ด้วยตัวเอง เป็น Senior จากนั้นสามารถเลือกได้ว่าจะไปทางสายผู้บริหาร หรือ Specialist ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

รายได้

  • ระดับ Junior 30,000 – 50,000
  • ระดับSenior 50,000 - 100,000
  • ระดับ Manager/Specialist 100,000++

การแข่งขันและความต้องการของตลาด

       ความต้องการของตลาดในช่วงนี้อาจจะตกลงไปบ้าง แต่ก็ยังต้องการอยู่ตลอด เนื่องจากอุตสาหกรรมก็ยังคงเติบโต และต้องการใช้คนมาก ส่วนใหญ่ถ้าจบ ป.โท ในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงก็จะมีโอกาสมากขึ้น

 

  • ได้ทำงานใหม่ ๆ ใช้ความรู้ และเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา เนื่องจากปัญหาก็จะไม่ได้เข้ามาในรูปแบบเดิม ๆ อาจจะเหมาะกับคนที่ชอบทำงานท้าทาย
  • มีความมั่นคงในการทำงาน เนื่องจากงานเป็นงานที่ค่อนข้างเฉพาะทางมาก ๆ ต้องใช้ความเชี่ยวชาญ และความรู้ทางวิชาการด้านวิศวกรรมเคมีในการทำงาน ทำให้สายงานอื่นสามารถเข้ามาแย่งงานได้ยาก 
  • รายได้ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับเด็กจบใหม่สาขาอื่น
  • บางครั้งที่มีการซ่อมบำรุงใหญ่ของโรงงาน ก็จะต้องอยู่ทำงานล่วงเวลา อาจจะทำงานหนักติดต่อกันเป็นเดือน
  • มีความเสี่ยงอันตรายอยู่ตลอดเวลา จากสารเคมีและปฏิกิริยาต่าง ๆ ที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
  • คิดเร็วทำเร็ว กระฉับกระเฉง 
  • ละเอียดรอบรอบคอบ ถี่ถ้วน หากเกิดข้อผิดพลาดอาจเกิดเหตุรุนแรงได้
  • มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี
  • หมั่นเรียนรู้เพื่อเสริมความรู้ให้กับตัวเอง มีความกระตือรือร้น มีแรงขับให้ต้องพัฒนาตนเองและศึกษาเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ตามให้ทันโลกและเทคโนโลยีที่ไม่หยุดนิ่ง
  • มีความคิดริเริ่มและความคิดสร้างสรรค์จะช่วยให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 
  • มีทักษะในการคิดวิเคราะห์ทั้ง analytical mind and critical thinking เพื่อใช้พัฒนาและแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในการทำงาน 
  • ทักษะทางคณิตศาสตร์ เป็นพื้นฐานสำคัญในการงานวิศวกรรม 
  • ทักษะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี 
  • ทักษะความเป็นผู้นำและการทำงานเป็นทีม เป็นทักษะจำเป็นในการทำงานแทบในทุกวิชาชีพ ที่จะช่วยให้เราสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ 
  • ทักษะการสื่อสาร จุดสำคัญที่จะทำให้เราทำงานร่วมกับทีมอื่นๆ ได้อย่างราบรื่น 

เรียน วิศวปิโตรเคมี

การศึกษา

  • ระดับมัธยมศึกษา เลือกเรียนสายวิทย์ – คณิต
  • ระดับอุดมศึกษา เข้าคณะวิศกรรมกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมเคมี วิศวกรรมปิโตรเคมี หรือชื่อสาขาอาจขึ้นอยู่กับแต่ละสถานศึกษา
  • เมื่อจบการศึกษาจะได้รับวุฒิวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต

 

Hard Skills 

  • ใช้วิชาคณิตศาสตร์และวิชาเคมีเยอะมาก ๆ ในการเรียน เนื่องจากเราต้องเข้าใจหลักการของปรากฏการณ์ต่าง ๆ ทางเคมี โดยทั้งสองวิชานี้จะทำให้เราเข้าใจปรากฏการณ์ต่าง ๆ ได้ดีขึ้น  (ควรเรียนคณิตศาสตร์ให้เก่งๆ เรียนรู้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่างๆ) 
  • ภาษาอังกฤษเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะตอนเรียนหนังสือเกือบ 100% จะเป็นภาษาอังกฤษ และในการทำงานก็ต้องพูดคุยกับชาวต่างชาติเป็นบางครั้ง  อ่าน paper เขียนทีสิส รวมถึงเวลาทำงานมักใช้คำทับศัพท์ไปเลย

Soft Skills 

  • ทักษะในการนำเสนอ และอธิบายงานยาก ๆ ให้ผู้อื่นสามารถเข้าใจได้ 
  • มีความมั่นใจในตัวเองและความรอบคอบในการตัดสินใจ 
  • ความอดทนและการทำความเข้าใจผู้อื่น

       "ทุกโปรเจคในโรงงานมีการลงทุน เป้าหมายคือทำให้มีผลผลิตดี ได้กำไร ประหยัดพลังงาน ลดต้นทุนให้ได้มากที่สุด แต่ก็ต้องอยู่ในพื้นฐานความปลอดภัย ควบคู่กันไป และวิศวกรที่ควบคุมงานก็จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับ mindset ส่วนนี้ให้มั่นไว้ด้วย" 

คุณจิรายุ โล่ชนะชัย วิศวกรปิโตรเคมี

วิชาที่เรียน

       ตัวอย่างหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมเคมี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

  • Math วิชาคณิตศาสตร์ มีตั้งแต่พื้นฐานไปจนถึงระดับที่สูงขึ้น
  • Thermodynamics เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงพลังงานภายในของอะตอมหรือโมเลกุลในสารเคมี รู้จักธรรมชาติสารต่าง ๆ มีการท่องจำด้วยบ้าง
  • Reactor & Kinetics ดูอัตราการเกิดปฏิกิริยาของสาร ผสมสารเคมีกันแล้วได้อะไร การกะปริมาณสารต่าง ๆ
  • Transport Phenomena การถ่ายเทพลังงานความร้อน การถ่ายเทมวล การถ่ายเทพลังงานจล(ความเร็ว)
  • Organic Chemistry เรียนเกี่ยวกับสารอินทรีย์ต่าง ๆ เช่น น้ำมันที่มาจากฟอสซิล
  • Process Dynamic Control เรียนเกี่ยวกับการบริหารจัดการควบคุมกระบวนการต่าง ๆ ในโรงงาน ควบคุมเครื่องมือ เครื่องจักร ให้ทำงานได้อย่างที่เราต้องการ โดยประยุกต์ความรู้ทางทฤษฎีต่าง ๆ ที่ได้เรียนมา เป็นวิชาที่ใกล้เคียงกับการนำไปใช้ในการทำงานจริง
  • Safety ศึกษาเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นเพื่อป้องกันเหตุอันตราย ศึกษาจาก case study โดยใช้พื้นความรู้จากวิชาก่อน ๆ
  • Simulation นำวิชาทั้งหมดที่เรียนมาทำเป็นโมเดล จำลองสร้างระบบโรงงาน (plant) ลองปรับแต่งค่าต่าง ๆ ป้อนเข้าไปในโปรแกรม และตัวโปรแกรมซิมมูเลชันจะคำนวณผลลัพธ์ออกมาให้เห็นว่าเป็นอย่างไร จะได้เรียนในปีท้าย ๆ
  • Economic เศรษฐศาสตร์ของการออกแบบดีไซน์โรงงาน คำนวฯต้นทุนสารตั้งต้น ผลิตออกมาได้กำไร ได้ผลผลิตเท่าไร คำนวณต้นทุน ความคุ้มค่า ฯลฯ

​เคล็ดลับการเรียน

       ตั้งใจเรียนในชั้นเรียน และทบทวนบทเรียนก่อนสอบล่วงหน้าเป็นเวลาแต่เนิ่น ๆ เพราะจะสอบหลายวิชา ในเวลาสั้น ๆ ทำให้ถ้าเตรียมตัวไม่ดี อาจจะอ่านหนังสือสอบไม่ทันได้ เวลาอ่านหนังสือ ก็ควรจะอ่านกับเพื่อน มีอะไรก็ช่วยกันถาม ช่วยกันติวได้ 

ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย

  • ปี 1เรียนวิชาพื้นฐาน math คณิต ฟิสิกส์ เคมี ภาษาอังกฤษ อัดอยู่ในเทอมเดียว ปรับพื้นฐานก่อน โดยวิชาพื้นจะเรียนร่วมกันกับสาขาอื่น พอเทอม 2 จะเริ่มเรียนวิชาภาคมากขึ้น เช่น Organic Chemistry Material
  • ปี 2 Math ยังคงมีวิชาคณิตศาตร์ แต่จะเรียนในระดับที่ยากขึ้น และวิชา Transport phenomena เรียนเกี่ยวกับปรากฏการณ์การถ่ายเทความร้อน ถ่ายเทมวล ถ่ายเทโมเมนตั้ม มีทำแล็บทุกเทอมหลังปี 1 มา แล็บออร์แกนิก แล็บแมสทรานส์เฟอร์ ได้ทดลองตามทฤษฎีที่เรียนเลย
  • ปี 3 เรียนเรื่อง Climatic เกี่ยวกับปฏิกิริยาเคมีของสสารต่าง ๆ, Thermodynamics ศึกษาธรรมชาติของสารต่าง ๆ และปฏิกริยาการเปลี่ยนแปลง, Safety เรียนรู้จาก case study ที่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพื่อป้องกันความปลอดถัย, เมื่อจบปี 3 ก็จะมีการฝึกงานสองเดือนตอนปิดเทอม มีทั้งที่มหาลัยฯจัดหาให้และเราหาเองได้  
  • ปี 4 จะเรียนวิชาที่เตรียมนำไปใช้จริงในการทำงาน เช่น Process dynamic control ที่ควบคุมระบบในโรงงาน เรียนวิชาออกแบบ plant (โรงงาน) ที่จะได้ออกแบบและจำลองการสร้างระบบในโรงงานโดยใช้โปรแกรมช่วยประมวลผล และจะมีทีสิส ให้ทำไปเรียนไป ซึ่งเทอม 2 นี้จะเริ่มว่างเอาเวลาไปทำวิจัยได้

ค่าเทอมตลอดหลัักสูตร

  • มหาวิทยาลัยรัฐบาล ประมาณ 18,000 - 23,000+ บาทขึ้นไปต่อเทอม
  • สำหรับหลักสูตรนานาชาติ จะเริ่มที่ประมาณ 45,000 บาทขึ้นไปต่อเทอม

มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก

  • Process Engineer

  • Process Control Engineer

  • นักเคมี


Copyright © 2019 TruePlookpanya. All rights reserved.
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ห้ามมิให้ผู้ใดคัดลอก ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข หรือเผยแพร่ส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ก่อนได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร