หลายคนอาจเข้าใจว่า นักคณิตศาสตร์ประกันภัย คือผู้ที่ใช้คณิตศาสตร์และทำงานในองค์การด้านประกันภัย แต่แท้จริงแล้ว นักคณิตศาสตร์ประกันภัย คือนักวิเคราะห์ความเสี่ยงทางธุรกิจในองค์กรทั่วไป โดยใช้ทักษะทางด้านสถิติและคณิตศาสตร์การเงิน เพื่อประเมินผลกระทบ ความไม่แน่นอนต่าง ๆ ในปัจจุบันหรือที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต โดยพวกเขาต้องสร้างแบบจำลอง (Models) เพื่อคาดการณ์ปัจจัยที่อาจเกิดขึ้นทางธุรกิจในอนาคตได้ โดยอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลจากอดีตที่ผ่านมา
หน้าที่หลักจะแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่
- การออกแบบประกัน นำข้อมูลทางสถิติและประมาณการแนวโน้มในอนาคตมาใช้ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ คำนวณต้นทุนการจัดจำหน่าย คำนวณตัวแปรให้เหมาะสมและเป็นไปได้ที่สุด
- ดูแลเงินทุนสำรองให้เพียงพอ เช็กดูรอยรั่ว เช่น เวลารับเบี้ยประกันมา แต่ยังไม่ได้จ่ายค่าสินไหมให้ผู้ถือกรมธรรม์ในทันที แต่เราต้องมีเงินในกระปุกเป็นเงินสำรองให้เพียงพอเมื่อถึงเวลาต้องใช้ หน้าที่ของเราคือต้องคำนวณว่าจะตั้งสำรองเท่าไหร่จึงจะพอดี
- การบริหารจัดการความเสี่ยง โดยประเมินสถานการณ์ในอนาคตที่จะส่งผลกระทบต่อองค์กร เช่น ในแต่ละปีเราไม่รู้ว่าจะมีผู้เสียชีวิตเท่าไหร่ ต้องจ่ายเงินเป็นจำนวนเท่าไหร่ จะต้องมีการใช้สถิติวิเคราะห์และประมาณการสิ่งที่จะเกิดขึ้นนั้น
ลักษณะงาน
เป็นอาชีพที่ใช้การประมาณการสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หรือ การจำลองอนาคต โดยใช้สถิติเป็นเครื่องมือ นักคณิตศาสตร์ประกันภัย คืออาชีพที่จะต้องประยุกต์ศาสตร์ด้านการเงิน และศาสตร์ด้านวิศวกรรมเข้าด้วยกัน เพื่อออกแบบ วิเคราะห์หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการเงิน การลงทุน การประกันภัยต่างๆ หากจะยกตัวอย่างความแตกต่างที่เห็นได้ชัดเจน คือ หากคุณเป็นนักบัญชี จะเข้าใจหลักการคณิตศาสตร์การเงิน รวมทั้งตัวแปรที่จะเกิดผลลัพธ์ แต่หากเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัย คุณจะต้องเข้าใจความน่าจะเป็นที่ถูกแตกเป็นปัจจัยย่อยๆ มากมาย ซึ่งต้องอธิบาย เลือกสมมติฐานได้ว่า เกิดเพราะอัตราหมุนเวียน อัตรามรณะ หรือ อัตราทุพพลภาพ ฯลฯ อาศัยสถิติ การทำแบบจำลองเพื่อวิเคราะห์เป็นหลัก
ขั้นตอนการทำงาน
งานของนักคณิตศาสตร์ประกันภัยนั้นมีอยู่ด้วยกันหลายส่วนในบริษัทประกันภัย โดยอาจมีชื่อเรียกเฉพาะสำหรับนักคณิตศาสตร์ประกันภัยในส่วนงานนั้นๆ ยกตัวอย่างเช่น Pricing Actuary หรือ นักพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัย ซึ่งมีขั้นตอนการทำงาน ดังนี้
-
เริ่มจากวิเคราะห์กำไรจากราคาในช่วงการออกแบบผลิตภัณฑ์ โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปในการทำแบบจำลอง วิเคราะห์ข้อมูลสถิติ เพื่อกำหนดราคาและดุลยภาพของตลาดสินค้า ซึ่งการคำนวณราคาสำหรับผลิตภัณฑ์ประกันภัยเพื่อให้ได้ราคาที่เหมาะสม จะต้องมีความสมดุลในเรื่องกำไรของบริษัท ความพึงพอใจของลูกค้า และความพึงพอใจของตัวแทน/นายหน้า
-
ในระหว่างที่ผลิตภัณฑ์นั้นๆ อยู่ในตลาด จะต้องคอยติดตาม เช็กอัปเพื่อดูว่าเป็นแบบที่ตั้งสมมติฐานไว้หรือไม่ หรือหากมีผลกระทบเชิงลบเกิดขึ้น จะต้องทำรายงานบ่งชี้ปัญหาและเสนอทางแก้ไขแก่ผู้บริหาร เช่น เกิดเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดคิดไว้อย่างโรคระบาดเชื้อไวรัส Covid-19 ทั่วโลก ส่งผลกระทบรุนแรงต่อระบบการเงิน รายได้ประชาชาติ การบริโภค การออมและการลงทุน การเงินและการธนาคาร รวมถึงการค้าและการเงินระหว่างประเทศ จะต้องเขียนรายงานถึงผลิตภัณฑ์ประกันภัยตัวนี้ว่าจะดำเนินต่ออย่างไร
-
เก็บข้อมูล วิเคราะห์ผลการทำงานตั้งแต่กระบวนการเริ่มต้น ทำข้อมูลเชิงสถิติประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์เมื่อออกสู่ตลาด ซึ่งจะต้องวิเคราะห์บนพื้นฐานการใช้ข้อสมมติเกี่ยวกับอัตรามรณะ ค่าใช้จ่าย อัตราดอกเบี้ยจากการลงทุน วิเคราะห์การขาดอายุของกรมธรรม์ เงินคงเหลือจากการดำเนินธุรกิจ เป็นต้น แล้วนำผลที่ได้มาประเมินและสรุปอีกครั้งว่าธุรกิจควรดำเนินต่อไปในทิศทางใด ส่วนใดควรปรับปรุง แก้ไข แบบประกันใดควรยุบหรือยกเลิก หรือควรสนับสนุนต่อไป
สถานที่ทำงาน
- สถาบันการเงินต่าง ๆ
- หน่วยงานบริษัทประกันภัยต่าง ๆ
- สามารถทำงานที่ใดก็ได้ ตามการตกลงขององค์กรและลูกค้า
ผู้ที่ต้องทำงานด้วย
- นักเศรษฐศาสตร์
- นักกฎหมาย
- นักการเงินอาวุโส
- นักธุรกิจ
- นักการตลาด
- ผู้การธนาคาร
- เจ้าของบริษัทประกันภัย
ตำแหน่งและเส้นทางการเติบโต
อาชีพนักคณิตศาสตร์ประกันภัย มีการสอบวัดระดับความสามารถเพื่อให้เป็นที่น่าเชื่อถือ รวมทั้งมีผลกับรายได้ที่จะได้รับ โดยนักคณิตศาสตร์ประกันภัยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานวิชาชีพในระดับสากลนั้น จะต้องผ่านการทดสอบจากองค์กรวิชาชีพชั้นนำด้านคณิตศาสตร์ประกันภัย ตามสายงานที่นักคณิตศาสตร์ฯ ทำงานอยู่
- ระดับทั่วไป จะสอบผ่านวิชาพื้นฐานที่เทียบเท่าความรู้ระดับปริญญาตรี เช่น คณิตศาสตร์การเงิน สถิติความน่าจะเป็น ทฤษฎีและการพัฒนาแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์การเงินต่างๆ ซึ่งเมื่อจบในระดับนี้แล้ว สามารถทำงานในระดับปฏิบัติการ เช่น จัดการฐานข้อมูล สร้างแบบจำลอง ทำการวิเคราะห์เบื้องต้น ซึ่งควรทำงานโดยได้รับคำแนะนำจากแอสโซซิเอตหรือเฟลโล่อย่างใกล้ชิด เพื่อฝึกฝนประสบการณ์และทักษะก่อนจะได้ทำงานจริง
- ระดับแอสโซซิเอต (Associateship) จะสอบวิชาความรู้ที่เน้นเรื่องการเอาสิ่งที่สอบในระดับทั่วไปมาประยุกต์ใช้กับโลกธุรกิจจริง เช่น fundamental of actuarial practice (FAP) หรือ Core Practice ซึ่งเมื่อจบในระดับนี้แล้ว สามารถทำงานในระดับที่สามารถช่วยเหลือเฟลโล่ในการคำนวณหรือวิเคราะห์ได้อย่างดี แต่ยังไม่สามารถเซ็นรับรองรายงานความถูกต้องของตัวเลขได้
- ระดับเฟลโล่ (Fellowship) เป็นระดับสูงสุด จะสอบวิชาเฉพาะทางเพิ่ม ซึ่งสามารถเลือกสายเฉพาะทางของตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็น สายประกันชีวิต ประกันวินาศภัย การลงทุน การจัดการความเสี่ยง เป็นต้น โดยการเป็นเฟลโล่ที่มีประสบการณ์เฉพาะทางด้านสายนั้น ๆ จะทำให้เป็นผู้ที่สามารถเซ็นรับรองการออกแบบระบบการเงิน และเซ็นรับรองความถูกต้องของรายงานการเงินที่เกี่ยวข้องกับคณิตศาสตร์ประกันภัยได้
- Exam 1/P Probability
- Exam 2/FM Financial Mathematics
- Exam 3 Actuarial Models
- Exam 4/C Construction and Evaluation of Actuarial Models
- Exam 5 Introduction to Property and Casualty Insurance and Ratemaking
- Exam 6 Reserving, Insurance Accounting Principles, and Reinsurance
- Exam 7 (United States) Annual Statement, Taxation, and Regulation
- Exam 8 Investments and Financial Analysis
- Exam 9 Advanced Ratemaking, Rate of Return, And Individual Risk Rating Plans
้รายได้
เริ่มต้น 20,000 - 30,000 บาท *ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ ความสามารถเฉพาะบุคคล
การแข่งขันและความต้องการของตลาด
อาชีพนี้เป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก แต่บุคคลที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะด้านจริง ๆ มีค่อนข้างน้อย ประกอบกับผู้ที่จะได้รับการรับรองจากสากลนั้นมีจำนวนน้อยมาก เพราะค่อนข้างยาก และต้องใช้ประสบการณ์สูง ในประเทศไทยมีเพียงไม่กี่คนที่สอบได้ระดับสูงสุด ซึ่งหากใครทำได้ก็จะสามารถเป็นที่ต้องการของตลาด เรียกเงินเดือนได้สูง
- เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน
- รายได้สูง และมีอัตราการเติบก้าวหน้าที่ดี
- ได้ความรู้รอบตัวเยอะ ทั้งของไทยและต่างประเทศ
- ทำให้เป็นคนมีเหตุมีผล คิดรอบด้าน ก่อนตัดสินใจทำอะไร
- ทำงานนอกสถานที่ได้
- เป็นอาชีพที่มีความเสี่ยง หากการคาดการณ์ไม่เป็นแบบที่ตั้งสมมติฐานไว้ จะมีผลกระทบต่อองค์กร ลูกค้า และความน่าเชื่อถือของเรา
- ทำงานไม่ค่อยเป็นเวลา ต้องอัปเดตความเปลี่ยนแปลงของตลาดการเงินตลอด
- การสอบใบประกอบวิชาชีพและระดับคุณวุฒิมีความยาก
- ชอบงานด้านการคิด วิเคราะห์
- ชอบและมีพื้นฐานคณิตศาสตร์ระดับดี
- เป็นคนช่างสังเกต กับสิ่งรอบตัว เช่น เหตุการณ์ที่ทำให้เกิดผลกระทบกับการเงิน
- ขยันหาความรู้เพิ่มเติม อัปเดตตลอดเวลา เพราะงานสายนี้ความเสี่ยงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
- ทักษะด้านการวิเคราะห์ข้อมูล เป็นหลักสำคัญของอาชีพนี้เลยทีเดียว เพราะต้องใช้ข้อมูลจากในอดีต ปัจจุบัน มาคำนวณ วิเคราะห์และประมาณการสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป
- ทักษะด้านคอมพิวเตอร์ การออกแบบและเขียนโปรแกรม เนื่องจากเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ จัดทำโมเดลเพื่อนำเสนอข้อมูลแก่ลูกค้า
- ทักษะด้านการออกแบบกลยุทธ์การลงทุน ผ่านเทคโนโลยีในการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการเงิน
- ทักษะการสื่อสาร เป็นสิ่งสำคัญที่จำเป็น ในการอธิบายหลักการวิเคราะห์ ข้อมูลจำนวนมหาศาลที่ยากให้ผู้อื่นเข้าใจได้
- ทักษะด้านคณิตศาสตร์ เป็นทักษะสำคัญที่จำเป็นต้องใช้ในการทำงาน
- ทักษะการแก้ปัญหา ทักษะที่สำคัญในการทุกรูปแบบ หากกรณีที่เกิดข้อผิดพลาด ความเสี่ยงในทางธุรกิจ ทักษะนี้จะช่วยให้ก้าวข้ามและหาทางแก้ไขไปได้
- ทักษะด้านกฎหมาย
- ทักษะการจัดการความเสี่ยง
- ทักษะด้านภาษา
การศึกษา
สำเร็จการศึกษาระดับ ม.6 หรือเทียบเท่า ในแผนการเรียน วิทย์ - คณิต หรือ ศิลป์ - คำนวณ มีเกรดเฉลี่ยในวิชาคณิตศาสตร์ 2.00 ขึ้นไป
คะแนนที่ใช้ในสมัคร (รอบ Admission)
- GPAX 20%
- O-NET 30%
- GAT 10%
- PAT1 (คณิตศาสตร์) 10%
- PAT2 (วิทยาศาสตร์) 30%
*ส่วนในรอบอื่น ๆ ของการรับสมัครคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อไปตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด
Hard Skills
- เรียนภาษาที่สามเพิ่ม เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสให้เราได้ทำงานต่างประเทศกับค่าตอบแทนที่สูงกว่าเดิมหลายเท่าตัว
- ต้องกระตือรือร้นในการศึกษาหาความรู้ใหม่ที่เกี่ยวกับ การเงิน การลงทุน การบริหารความเสี่ยง
- นำเคสที่เกิดขึ้นจริงมาเป็นกรณีศึกษา วิเคราะห์ ของเราเอง เพื่อฝึกการเลือกตัวแปร ตั้งสมมติฐาน และตั้งผลลัพธ์
- ในคาบเรียนมักเป็นภาคทฤษฎี ค่อนข้างเยอะ พยายามทำความเข้าใจที่มาที่ไป จดจำรายละเอียดให้ได้มากที่สุด อาจจะทำเป็น สรุปช็อตโน้ต แผนผังความคิด ช่วยให้เราคิดเป็นระเบียบ เป็นกระบวนการมากขึ้น
Soft Skills
- ฝึกฝนทักษะการสื่อสาร มนุษยสัมพันธ์ และการนำเสนอ
กิจกรรมอื่น ๆ
- สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ของสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย https://soat.or.th/th หรือทาง Facebook ชื่อ The Society of Actuaries of Thailand
ตัวอย่างหลักสูตรครั้งนี้ คือ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิศวกรรมการเงิน มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย หลักสูตรปกติ 4 ปี เป็นหลักสูตรปริญญาตรีแห่งแรกในประเทศไทย
วิชาที่เรียน
เป็นการเรียนศาสตร์ด้านการเงิน บวกกับ ศาสตร์ด้านวิศวกรรม เน้นการวิเคราะห์การเงิน การลงทุน การจัดการความเสี่ยง แล้วก็จะต้องใช้เครื่องคำนวณและเครื่องคอมพิวเตอร์ได้ดี สาขาวิศวกรรมการเงิน (Financial Engineering) จะทำให้มีขบวนการคิดอย่างเป็นระบบทั้งด้านการวิเคราะห์การเงินโดยใช้คณิตศาสตร์และสถิติ การศึกษาแบบจำลองต่างๆ ซึ่งจะนำไปสู่การวิเคราะห์ ออกแบบ พัฒนาทางการเงิน การลงทุน และการประกันความเสี่ยงผลิตภัณฑ์ทางการเงิน
เคล็ดลับการเรียน
- ต้องคอยอัปเดตเหตุการณ์ในตลาดการเงิน เพื่อการวิเคราะห์ที่ดี และได้ผล
- หาหนังสือนอกเวลามาอ่าน ที่เกี่ยวกับการตลาด การเงิน การวิเคราะห์ความเสี่ยงต่างๆ ได้ทั้งหนังสือในไทย แล้วก็ต่างประเทศ
- พยายามสังเกตที่มาที่ไปของปัญหาในตลาดการเงิน การลงทุน ฝึกตั้งข้อสังเกต และหาตัวแปรที่เกี่ยวข้อง จะทำให้การวิเคราะห์ความเสี่ยงตรงจุดและแม่นยำยิ่งขึ้น
ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย
- ปี 1 ได้เรียนในรายวิชาพื้นฐาน เช่น วิชาแคลคูลัส สถิติ หลักการบัญชี แล้วก็จะได้แตะวิชาเศรษฐศาสตร์ มหภาคเบื้องต้น เพื่อให้เข้าใจปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ รู้หลักและแนวคิดในเรื่องระบบเศรษฐกิจ รายได้ประชาชาติ การบริโภค การออมและการลงทุน การเงินและการธนาคาร การค้าและการเงินระหว่างประเทศ เมื่อเข้าเทอมสอง จะเริ่มเรียนเศรษฐศาสตร์จุลภาคเบื้องต้น คือ การกำหนดราคาและดุลยภาพของตลาดสินค้าความน่าจะเป็นเบื้องต้น ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการเลือกตัวอย่าง นอกจากนี้ยังมีวิชาที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี ซึ่งเป็นโปรแกรมสำเร็จรูปในการวิเคราะห์ข้อมูลสถิติ แบบเป็นเครื่องมือให้เราได้ใช้แน่ ๆ หากได้ทำงานตรงสาย ส่วนวิชาเลือก เช่น วิชาคณิตศาสตร์ประกันภัย เป็นความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการประกันภัย ฟังก์ชันของการอยู่รอด ตารางชีพหรือตารางมรณะ ประกันชีวิต ประกันชีวิตแบบเงินรายปี การคำนวณเบี้ยประกันผลประโยชน์ และการคำนวณเงินสำรองผลประโยชน์
- ปี 2 จะได้เรียนลึกขึ้น ใช้การคำนวณหลายชั้น ซับซ้อน ทั้งตลาดการเงิน สถิติธุรกิจ การประมาณค่าและการทดสอบสมมติฐานสำหรับประชากร คณิตศาสตร์การเงิน ได้ใช้เครื่องมือหรือเทคนิคต่าง ๆ ในการวิเคราะห์งบการเงินไปปรับใช้กับการวิเคราะห์งบการเงินของธุรกิจ ส่วนโปรแกรมในการเรียน จะใช้ภาษา C++, C#, R, MATLAB หรืออื่น ๆ ที่ใช้ทางด้านการเงิน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงิน หรือเป็นนักปฏิวัติทางการเงิน สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ คือ จรรยาบรรณของวิชาชีพและสุจริต เพราะฉะนั้นวิชากฎหมายธุรกิจก็ต้องเรียนเช่นกัน ทั้งหลักทั่วไปของกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เรื่องบุคคล นิติกรรม สัญญา หนี้ ละเมิด เอกเทศสัญญา ประเภทต่าง ๆ เมื่อเข้าเทอมสอง จะเน้นเจาะลึกวิเคราะห์ทฤษฎีความน่าจะเป็นเบื้องต้น ตัวแปรสุ่มและการแจกแจงความน่าจะเป็น ระเบียบวิธีเชิงตัวเลข
- ปี 3 เรียนแบบประยุกต์จากวิชาที่เคยเรียนมาแล้ว มองภาพการนำวิชาที่เรียนไปใช้ประโยชน์ในการทำงานได้ เช่น ตราสารอนุพันธ์ สัญญาสิทธิ์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าทางการเงิน การใช้กลยุทธ์ต่าง ๆ ในการป้องกันความเสี่ยง และการเก็งกำไร การจัดการลงทุนในหลักทรัพย์ ทำให้เราพอมองภาพตลาดออกมากขึ้น รู้จักการวิเคราะห์การถดถอยและอนุกรมเวลา ซึ่งจะเน้นวิเคราะห์ทางเทคนิค เช่น ราคาหุ้น
- ปี 4 มีทั้งฝึกสหกิจ 4 เดือน กับกลุ่ม ธนาคาร ตลาดหลักทรัพย์ สายงานประกันพร้อมกับเรียนวิชาเฉพาะไปด้วย เช่น วิชาการบริหารจัดการหลักทรัพย์ จากนั้นก็มีสัมมนาคณิตศาสตร์การเงินเป็นการประยุกต์ความรู้ทั้งในห้องเรียน และนอกห้องเรียนเข้าด้วยกัน เกิดเป็นหัวข้อที่น่าสนใจต่อไป ทางหลักสูตรยังได้สนับสนุนให้ปี 3 และ ปี 4 สอบใบอนุญาตผู้ประกอบการธุรกิจการเงินเพื่อเตรียมความพร้อมสู่ตลาดงาน เช่น CISA (Certified Investment and Securities Analyst Program) ของประเทศไทย และ CFA (Chartered Financial Analyst) ของประเทศสหรัฐอเมริกาและหลักสูตรได้มีการจัดแผนการเรียนเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนที่สนใจศึกษาต่อในระดับปริญญาโท สามารถศึกษาต่อในสาขาวิชาวิศวกรรมการเงินของคณะวิทยาศาสตร์ได้ในเวลา 1 ปี - 1 ปีครึ่ง
ค่าเทอมตลอดหลักสูตร
280,000 บาท (โดยประมาณ)
มหาวิทยาลัยชั้นนำ
สถาบันในประเทศไทย
-
สาขาวิศวกรรมการเงิน โครงการหลักสูตรร่วม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง + นิด้า KMITL-NIDA Double Degree Program in Financial Engineering เป็นหลักสูตรปริญญาตรีต่อเนื่องปริญญาโท (4+1) จัดการเรียนการสอนในหลักสูตรนานาชาติ ใช้ภาษาอังกฤษในการเรียนการสอน 5 ปี หรือ 10 ภาคการศึกษาในระบบทวิภาค แบ่งออกเป็น 2 ระยะ
-
การศึกษาระดับปริญญาตรี ระยะเวลา 4 ปี หรือ 8 ภาคการศึกษา
-
การศึกษาระดับปริญญาโท ระยะเวลา 1 ปี หรือ 2 ภาคการศึกษา
-
- สาขาวิศวกรรมการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์ (ปริญญาโท) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- สาขาการจัดการวิศวกรรมการเงิน (ปริญญาโท) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
สถาบันชั้นนำระดับโลก
- มหาวิทยาลัยโตไก Tokai University ประเทศญี่ปุ่น
- มหาวิทยาลัยจอร์เจีย The University of Georgia ประเทศสหรัฐอเมริกา
- มหาวิทยาลัยอินเดียนา Indiana University ประเทศสหรัฐอเมริกา
- มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย University of California ประเทศสหรัฐอเมริกา
- เจ้าหน้าที่บริหารความเสี่ยงด้านการเงิน การลงทุน
- นักวิเคราะห์หลักทรัพย์
- ที่ปรึกษาด้านการเงิน
- สตาร์ทอัพด้านฟินเทค (Fintech)
- เจ้าหน้าที่ธนาคารพาณิชย์
- เจ้าหน้าที่บริษัทประกันภัย
- นักวิจัยภายในหน่วยงานของธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์ และหน่วยงานของที่ปรึกษาการลงทุน
Copyright © 2019 TruePlookpanya. All rights reserved.
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ห้ามมิให้ผู้ใดคัดลอก ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข หรือเผยแพร่ส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ก่อนได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร