Flight Attendant หรือ พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน เป็นอาชีพที่มีหน้าที่หลักดูแลรักษาความปลอดภัยบนเครื่องบิน เพื่อให้ผู้โดยสารเดินทางไปสู่จุดหมายปลายทางโดยปลอดภัย รองลงมาคือช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารบนเครื่องบิน เช่น จัดแจงที่นั่งให้ผู้โดยสาร เสริฟอาหารและเครื่องดื่ม คอยดูแลเมื่อผู้โดยสารป่วยหรือต้องการความช่วยเหลือระหว่างบินไปจนกว่าจะถึงจุดหมายปลายทาง โดยสายการบินจะมีกำหนดตารางบินให้ว่าแต่ละเดือนจะต้องทำการบินกี่เที่ยวหรือกี่ชั่วโมงบิน
ลักษณะการทำงาน
พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินจะไม่มีเวลาทำงานที่ชัดเจน ทำงานทั้งกลางวัน และกลางคืนขึ้นอยู่กับกำหนดตารางการบินที่ตัวเองได้รับจากสายการบิน ประกอบด้วยเที่ยวบินทั้งในประเทศและต่างประเทศขึ้นอยู่กับสายการบินจะมอบหมายให้ โดยพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินจะต้องเตรียมตัวก่อนบินประมาณ 1 ชั่วโมง
ขั้นตอนการทำงาน
- ประชุมก่อนบิน ประชุมก่อนไฟล์ทบินที่ห้องประชุมหรือแอร์ไลน์เฮดควอเตอร์ร่วมกับนักบินและพนักงานต้อนรับคนอื่น ๆ เพื่อมอบหมายงานและรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับไฟล์ทบินเช่น จุดหมายปลายทางของไฟล์ท, กี่จุดพัก, มีผู้ป่วยในไฟล์ทกี่คน, มีผู้โดยสารทั้งหมดกี่คน, มีผู้โดยสารที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษกี่คนและต้องรู้แม้กระทั่งผู้โดยสารที่เคยมีปัญหามาก่อน ใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 30-45 นาที
- ตรวจเช็คอุปกรณ์บนเครื่อง เมื่อประชุมเสร็จแล้ว พนักงานต้องรับบนเครื่องบินจะขึ้นเครื่องก่อนเพื่อตรวจเช็กอุปกรณ์ประจำเครื่องตามจุดต่าง ๆ ประกอบด้วย ถังออกซิเจน เครื่องดับเพลิง ไฟฉาย หน้ากากออกซิเจน และเสื้อชูชีพ ตรวจเช็กประตูเครื่องว่าเปิด-ปิดได้ปกติหรือไม่ ซึ่งอุปกรณ์ทั้งหมดสำคัญในกรณีฉุกเฉิน ต้องให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ตลอดเวลา หากอุปกรณ์ชิ้นไหนไม่พร้อมทำงานต้องแจ้งวิศวกรให้มาแก้ไขทันที
- ต้อนรับผู้โดยสารขึ้นเครื่อง ยืนต้อนรับผู้โดยสารด้วยรอยยิ้ม จัดหาที่นั่งให้ จัดแจงที่วางกระเป๋าให้ และให้ความช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษแก่คนชรา เด็ก คนพิการหรือเด็กที่โดยสารมาคนเดียวไม่มีผู้ปกครองมาด้วย
- เช็คความปลอดภัยของผู้โดยสาร เช็กความปลอดภัยของผู้โดยสารเช่น กระเป๋าวางถูกที่แล้วหรือไม่ ผู้โดยสารคาดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่งหรือยัง เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยจะมีพนักงานที่ได้รับมอบหมายทำการสาธิตให้ผู้โดยสารทราบถึงการใช้อุปกรณ์ความปลอดภัยในภาวะฉุกเฉิน เสร็จแล้วจึงจะแจ้งนักบินได้ว่าเครื่องพร้อมจะออกแล้ว
- เสริฟ์อาหาร อำนวยความสะดวก เสริฟอาหารและเครื่องดื่มตามที่ผู้โดยสารได้สั่งจองไว้ หรืออำนวยความสะดวกเมื่อผู้โดยสารต้องการอะไร ตลอดจนให้ความช่วยเหลือผู้โดยสารหากเกิดอาการป่วยกระทันหัน ดูแลอย่างดีไปจนถึงจุดหมายปลายทาง
- ส่งผู้โดยสารลงจากเครื่อง ยืนส่งผู้โดยสารทุกคนให้ลงจากเครื่องอย่างปลอดภัย เสร็จแล้วเก็บผ้าห่ม เก็บหูฟัง เก็บขยะให้เรียบร้อย แต่บางสายการบินพนังงานไม่ต้องทำหน้าที่นี้ แต่เป็นแม่บ้านของสายการบินเอง ขึ้นอยู่กับประเภทของเครื่องบินว่าลำใหญ่หรือลำเล็ก หากต้องใช้เครื่องลำนี้ต่อด่วน พนักงานก็ต้องทำความสะอาดเองเพื่อประหยัดเวลา
- พักผ่อนตามอัธยาศัย พนักงานต้อนรับจะแยกย้ายกันเข้าไปพักผ่อน เช็กอิน ณ โรงแรมที่สายการบินจองไว้ให้ แต่ถ้าหากว่าเที่ยวบินวันนั้นมีเหตุการณ์ที่ร้ายแรงเกิดขึ้นเช่น ปิดประตูเครื่องบินไม่ถูก หรือเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับความปลอดภัยและชีวิตของผู้โดยสาร พนักงานต้อนรับทุกคนจะต้องเข้าไปประชุมเพื่อที่จะคุยถึงปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ถ้าทำผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ หัวหน้าหรือ Purser ก็จะเข้ามาคุยเป็นการส่วนตัว
* ทั้งนี้วิธีการทำงานของแต่ละสายการบินอาจจะแตกต่างกันไปตามแต่ละสายการบิน
สถานที่ทำงาน
- แอร์ไลน์เฮดควอเตอร์ เมื่อต้องเข้าไปประชุม ประเมินต่าง ๆ
- เครื่องบิน เป็นสถานที่ทำงานหลักเลยก็ว่าได้
ผู้ที่ต้องทำงานด้วย
-
นักบิน อย่างน้อย 2 คน มากที่สุด 8 คนแล้วแต่ระยะทาง
-
พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินคนอื่น ๆ หรือลูกเรือประมาณ 13 -16 คน (เครื่องบิน Boeing 777X ) และประมาณ 22 - 26 คน (เครื่องบิน Airbus A380)
-
ผู้โดยสาร มีตั้งแต่ 20 - 300 คน
-
พนักงานตอนรับบนพื้นดิน ต้องติดต่อเช็กผู้โดยสารอยู่ตลอด
-
ฝ่ายครัวการบิน ติดต่อเรื่องอาหารที่จะต้องเสริฟให้ผู้โดยสาร
-
วิศวกรเครื่องบิน เมื่ออุปกรณ์บนเครื่องบินมีปัญหา
ตำแหน่งและเส้นทางการเติบโต
พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินจะมีความก้าวหน้าในอาชีพในลักษณะของการได้เลื่อนตำแหน่ง โดยมีทั้งสายการบินประเมินเอง และมีทั้งสมัครเอง หากตำแหน่งสูงขึ้นก็จะได้รับค่าตอบแทนสูงตามไปด้วย โดยแบ่งตำแหน่งตามลำดับตั้งแต่เริ่มต้นไปจนถึงตำแหน่งสูงดังนี้
- พนักงานต้อนรับชั้นประหยัด Economy
- พนักงานต้อนรับชั้นธุรกิจ Bussiness
- พนักงานต้อนรับชั้นเฟิร์สคลาส First Class
- เคบินซุป Cabin Supervisor
- เพอร์เซอร์ Purser
- นักบิน Captain
รายได้
เงินเดือนหรือค่าตอบแทนทั้งหมดของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินจะมาจาก 3 ส่วนคือ ฐานเงินเดือน ชั่วโมงบินและเบี้ยเลี้ยง ซึ่งแต่ละสายการบินจะไม่เท่ากัน โดยสายการบินตะวันออกกลางจะได้ค่าตอบแทนต่อเดือนมากที่สุด โดยเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 50,000- 100,0000 บาท
- ฐานเงินเดือน เฉลี่ยอยู่ที่ 15,000 - 32,000 บาท
- ค่าชั่วโมงบิน เฉลี่ยอยู่ที่ชั่วโมงละ 500 บาท ในหนึ่งเดือนจะบินเฉลี่ยอยู่ที่ 80 - 100 ชั่วโมง
- ค่าเบี้ยเลี้ยง เป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัวที่จะได้รับเมื่อเข้าเช็กอินที่โรงแรมหลังลงเครื่อง เฉลี่ยอยู่ที่ 5,000- 10,000 บาท โดยจะได้เป็นสกุลเงินในประเทศที่ไปพัก ออกให้โดยสารการบิน
- ได้ค่าตอบแทนสูง
- ได้ไปเที่ยวทั่วโลกมากกว่า 100 เส้นทาง
- ได้ทำงานกับคนหลากหลายเชื้อชาติเกือบ 200 เชื้อชาติ
- มีวันหยุดหลายวัน ประมาณ 8 วันต่อเดือน หนึ่งปีสามารถหยุดลาพักร้อนได้ 30 วัน
- ไม่ใช่งาน routine หรือทำซ้ำ ๆ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ทำให้ได้ประสบการณ์หรือมุมมองใหม่ ๆ
- ทำให้เสียสุขภาพ เนื่องจากตารางบินที่ไม่เป็นเวลา ต้องกินและนอนไม่เป็นเวลาทำให้ระบบร่างกายเสีย เมื่อทำงานไป 3-4 ปีก็จะเริ่มป่วยง่ายขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
- พลาดโอกาสของคนสำคัญ แม้วันหยุดจะมีเยอะแต่ก็ต้องขอล่วงหน้าเป็นปี จึงไม่สามารถไปร่วมงานสำคัญของคนสำคัญได้ เช่น ไม่ค่อยได้ฉลองวันเกิดกับคนในครอบครัว คนรัก ไปงานแต่งงานเพื่อนไม่ได้ เป็นต้น
- อายุการทำงานสั้น บางสายการบินให้เกษียณอายุอยู่ที่ 45 ปี จึงก็ต้องมองหางานอื่น ๆ ไว้เสมอ
- เกิดความเครียดได้ง่าย เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้นมาก็ไม่สามารถหนีไปไหนไม่ได้เพราะอยู่บนเครื่องบิน นอกจากนี้ยังมีหลายคนที่คิดถึงบ้าน (Homesick) ซึมเศร้า นอนหลับไม่สนิทอีกด้วย
- Service mind มีใจรักบริการ เพราะหน้าที่ของพนักงานต้องรับบนเครื่องบินคือการบริการ อำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารตลอดการเดินทาง ต้องมีความตั้งใจสูงที่จะบริการให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวก สบายที่สุด
- Friendly & Positive มีทัศนคติที่ดี เพราะทัศนคติที่ดีจะเป็นตัวกำหนดการกระทำที่ดี การบริการที่ดีตามมา สร้างบุคลิกให้น่าเข้าหา เป็นธรรมชาติ ตลอดจนมองเห็นปัญหาเป็นความท้าทาย ยินดีให้บริการ ไม่มองว่าสิ่งไหนเป็นภาระ
- Physical Fitness มีร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว ไม่ overweight (น้ำหนักตัวเกิน) สามารถยืนทำงานนานและหลายชั่วโมง เคลื่อนไหวได้คล่องตัวพร้อมให้บริการอย่างเต็มที่
- Flexibility มีความยืดหยุ่น นอกจากจะต้องมีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับทุกคน ทุกเชื้อชาติ ทุกวัฒนธรรมแล้ว ยังต้องต้องพร้อมสำหรับทุกสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น ต้องคิดให้เร็ว ตัดสินใจให้ไว แต่คงไว้ซึ่งสิ่งที่ดีที่สุดให้กับผู้โดยสาร
- ทักษะการสื่อสาร Communication Skills ไม่ใช่แค่ต้องพูดภาษาอังกฤษได้ในระดับดี แต่ยังหมายถึงความสามารถในการสื่อสารที่ดีด้วย ต้องสื่อสารเป็น รู้จักรับฟัง ตรงประเด็น ไม่พูดสร้างความสับสนให้ผู้โดยสารและเพื่อนพนักงานด้วยกัน
- ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่นหรือทำงานเป็นทีม Collaboration ทำงานร่วมกับคนอื่นได้อย่างราบรื่น ไม่มีปัญหา เพื่อให้งานออกมามีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานร่วมกันภายในทีมและการทำงานร่วมกับคนอื่นๆ ทุกเพศ ทุกวัย ทุกเชื้อชาติ
- ทักษะความเข้าใจความแตกต่างของวัฒนธรรม Cultural Awareness สามารถตอบคำถามหรือแก้ปัญหาให้ผู้โดยสารจากหลากเชื้อชาติ หลายวัฒนธรรมได้อย่างเหมาะสม ไม่ขัดต่อวัฒนธรรมของผู้โดยสารจนเกิดความไม่พอใจ
- ทักษะการเป็นผู้นำ Leadership เป็นผู้นำได้ในสถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ ตลอดจนมีความมั่นใจในความสามารถของตัวเอง เมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินสามารถลงมือได้เลยทันทีเช่น เมื่อเห็นผู้โดยสารเป็นลมหรือชัก พนักงานต้อนรับทุกคนจะต้องช่วยเหลือผู้โดยสารได้ทันที โดยไม่ต้องเรียกหัวหน้า
- ทักษะการแก้ไขปัญหา Complex Problem Solving สามารถที่จะแก้ไขปัญหาที่มีความซับซ้อนได้ ทั้งความต้องการของผู้โดยสารและบริบทของธุรกิจ เพราะพนักงานต้อนรับเปรียบเสมือนหน้าตาของสายการบิน ต้องรู้จักคิดเลือกและให้บริการที่ดีที่สุดภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดเมื่อผู้โดยสารต้องการหรือร้องขอ เพื่อให้ผู้โดยสารได้รับความพึงพอใจ ประทับใจและมีความสุขกับการเดินทาง
อาชีพนักงานตอนรับบนเครื่องบินเป็นหนึ่งในอาชีพที่สามารถจบมาจากสายใดก็ได้ ไม่ว่าจะสายวิทย์หรือสายศิลป์ เพียงแต่ต้องเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เป็นอย่างน้อย หากจะถามหาคณะที่พัฒนาทักษะใกล้เคียง อาจยกตัวอย่างเช่น คณะมนุษย์ศาสตร์ คณะวารสารศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ หรือการท่องเที่ยวและการโรงแรม เป็นต้น
เมื่อยื่นสมัครกับสายการบินแล้วจะเข้าสู่การแข่งขัน ซึ่งบางสายการบินต้องการใบสอบวัดระดับภาษาอังกฤษเชิงวิชาการ TOEIC, IELTS, TOEFL แต่บางสายการบินก็ไม่ต้องการเพราะมีข้อสอบวัดระดับภาษาเป็นของสายการบินเอง เมื่อคุณสมบัติผ่านครบถ้วนจะเข้าสู่การแข่งขันคัดตัวที่เรียกว่า Group Discussion ให้ผู้สมัครจับกลุ่มกันโชว์ไหวพริบในสถานการณ์สมมติ โดยจะมีกรรมการคอยจับตาดู โดยรอบ Group Discussion จะจัดประมาณ 2 รอบ เมื่อผ่านรอบดังกล่าวแล้ว จะเข้าสู่รอบ Final Interview สัมภาษณ์ตัวต่อตัวกับกรรมการของสายการบินนั้น ๆ หากผ่านรอบนี้ไปได้ก็จะได้ไปฝึกอบรมที่สำนักงานของสายการบินต้นสังกัด ประมาณ3 เดือน โดยจะมีการทดสอบหลังจบการอบรม หากไม่ผ่าน 3 ครั้งก็จะถูกเชิญให้ออก แต่หากผ่ายแล้วก็จะเป็นพนักงานเต็มตัว
Hard Skills
- ภาษาอังกฤษ ต้องฝึกภาษาอังกฤษให้ได้ในระดับดีขึ้นไป
- จิตวิทยาพื้นฐาน ศึกษาทำความเข้าใจจิตวิทยา พฤติกรรมของมนุษย์
- การประถมพยาบาล เช่นฝึกเช็กชีพจร การปั๊มหัวใจ (CPR) การใช้เครื่องปั๊มหัวใจ รู้จักการใช้ยาเบื้องต้นสำหรับ First Aid Kit
- ว่ายน้ำ มีเหตุฉุกเฉินต้องแลนด์ในน้ำก็ต้องอพยพผู้โดยสารได้
- การป้องกันตัวเอง เมื่อมีผู้โดยสารที่อาจขาดสติ หรือปฏิบัติตัวไม่เหมาะสม เราจะสามารถป้องกันตัวเบื้องต้นได้
- Grooming รู้จักดูแลเครื่องแต่งกาย ดูแลตัวเองให้ดูดี รู้วิธีแต่งหน้า ทำผมให้เรียบร้อย สง่า สุภาพ
Soft Skills
- ทักษะการสื่อสาร (Communication) สื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่สร้างความสับสน
- ทักษะทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) รู้ทันอารมณ์ของตัวเอง จัดการและแสดงออกทางอารมณ์ได้อย่างเหมาะสม
- บริหารจัดการเวลา (Time Management) บริหารเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เลท ให้อยู่ในสภาพพร้อมทำงาน
- การใช้ภาษากาย (Body Language) การยิ้ม การวางมือต้องเหมาะสม สุภาพ
- การจัดการกับความเครียด (Stress Management) เมื่อมีความเครียดต้องรู้ทันและจัดการได้อย่างเหมาะสมไม่กระทบกับงาน
- การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life-long learning) ไม่หยุดพัฒนาตัวเอง
- ทักษะการแก้ปัญหา (Problem Solving) หาคำตอบที่ดีที่สุดสำหรับปัญหาทุกปัญหาได้
- ทักษะการตัดสินใจ (Decision making) เพื่อป้องกันไม่ตัดสินใจพลาดจนทำให้เสียงาน
กิจกรรมต่าง ๆ
ฝึกการทำงานร่วมกับผู้อื่นให้ได้เยอะที่สุดและหลากหลายวัย เช่น ทำกิจกรรมในมหาลัยฯ สอนพิเศษให้กับคนหลากหลายอายุ เป็นล่าม อาสาสมัครลงพื้นที่ชุมชน เพื่อที่จะได้ประสบการณ์กลับมา โดยไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับภาษาอังกฤษเท่านั้น เพราะไม่ว่าจะทำกิจกรรมอะไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะต้องฝึกคือ การสื่อสารกับผู้อื่นเพื่อที่จะได้เอามันมาประยุกต์ใช้ ต้องทั้งพูดภาษาอังกฤษได้และเข้ากับผู้อื่นได้ ไม่ใช่พูดอังกฤษเก่งมาก แต่ก็สื่อสารไม่เป็น
“ ค่านิยมที่คนภายนอกมองอาชีพพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินอาจจะดูดี สวยหรู ได้เที่ยวรอบโลก เงินเยอะ ความจริงแล้วอาชีพนี้เป็นอาชีพที่เรียกว่าคนในอยากออก คนนอกอยากเข้าก็ไม่ผิด หากคิดว่าจะเข้ามาทำเพราะค่าตอบแทนสูง ได้เที่ยว ถ่ายรูปชิค ๆ อาจจะผิดหวัง เพราะเป็นหนึ่งในอาชีพบริการที่เหนื่อยมากและมีคนคาดหวังกับอาชีพนี้ไว้สูงมากว่าต้องดีที่สุด”
นางสาวประกายมาศ ชาเพ็ง, พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน
วิชาที่เรียน
อย่างที่รู้กันว่าอาชีพพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินเป็นอาชีพที่ไม่ว่าใครจะจบสาขาไหนมาก็สามารถที่จะประกอบอาชีพนี้ได้หมด แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะผ่านการทดสอบสุดหินได้ บางสายการบินมีผู้สมัครมากถึง 3,000 คน แต่ต้องการเพียงแค่ 10 คนเท่านั้น ดังนั้นก็จะมีวิชาที่จะช่วยให้ผ่านการทดสอบไปจนถึงต้องใช้ในการทำงานดังนี้
- วิชา Speaking ฝึกพูดเป็นภาษาอังกฤษ
- วิชา Listening ฝึกฟังและจับประเด็นเป็นภาษาอังกฤษ
- วิชา Discussion ฝึกวิธีการโต้แย้งแบบกลุ่มเป็นภาษาอังกฤษ
- วิชาภาษาอังกฤษ ฝึกภาษาอังกฤษให้อยู่ในระดับดี
- พนักงานตอนรับบนเรือ
- พนักงานต้อนรับภาคพื้นดิน
- พนักงานโรงแรม
- แผนกบริหารงานลูกค้า
- พนักงานขาย
Copyright © 2019 TruePlookpanya. All rights reserved.
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ห้ามมิให้ผู้ใดคัดลอก ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข หรือเผยแพร่ส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ก่อนได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร