เครื่องสำอาง ก็คือ ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นเพื่อใช้บนผิวหนังหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย โดยใช้ทา ถู นวด พ่น ฯลฯ มีจุดประสงค์เพื่อทำความสะอาด ส่งเสริมให้เกิดความสวยงาม หรือเพื่อเปลี่ยนแปลงรูปลักษณะ วิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง เป็นวิทยาศาสตร์ประยุกต์แขนงหนึ่ง ที่บูรณาการศาสตร์และศิลป์ในการพัฒนาเครื่องสำอางให้มีคุณภาพและความปลอดภัยตามมาตรฐาน ซึ่งต้องใช้ความรู้ และทักษะด้านวิทยาศาสตร์เครื่องสำอางในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การวิจัย การพัฒนา การผลิต และการควบคุมคุณภาพของเครื่องสำอาง
- เครื่องสำอางที่ไม่ได้ใช้แต่งสีของผิว เครื่องสำอางประเภทนี้ ใช้สำหรับการทำความสะอาดผิวหนัง หรือใช้เพื่อป้องกันผิวหนังไม่ให้เกิดอันตรายจากสิ่งแวดล้อม เครื่องสำอางประเภทนี้ได้แก่ สบู่ แชมพู ครีมล้างหน้าครีมกันผิวแตก น้ำยาช่วยกระชับผิวให้ตึง เป็นต้น
- เครื่องสำอางที่ใช้แต่งสีผิว เครื่องสำอางประเภทนี้ ใช้สำหรับการแต่งสีของผิวให้มีสีสันสวยขึ้นจากผิวธรรมชาติที่เป็นอยู่ เช่น ลิปสติก
ลักษณะการทำงาน
นักวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง ส่วนใหญ่คือการทำวิจัย คิดค้นสูตรทำเครื่องสำอางใหม่ๆ หรือพัฒนานวัตกรรมด้านความงาม ซึ่งจะมีหลากหลายประเภทให้เลือกทำตามความชอบและความถนัดของแต่ละคน รวมไปถึงการตรวจสอบสิ่งปลอมปนที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้
ขั้นตอนการทำงาน
- วางแผนและตั้งโจทย์ของผลิตภัณฑ์ โดยทำการสำรวจความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์จากท้องตลอด
- ศึกษาวัสดุหรือวัตถุดิบที่นำมาใช้ในการผลิตเครื่องสำอาง อย่างสารสกัดต่าง ๆ
- คิดค้นสูตร ที่เหมาะสมตรงกับความต้องการ ถูกต้องปลอดภัยต่อผู้บริโภค ตามที่กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคกำหนดไว้ (สคบ.)
- ทดลองใช้จริง ในกลุ่มผู้ทดสอบที่มีความหลากหลาย เพื่อปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้ได้คุณภาพที่สุด
- จากนั้นก็ขึ้นทะเบียน ให้ถูกต้องตามกฎหมาย จดแจ้งเลขที่ อย.
- วางแผนสุ่มตัวอย่างสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ ที่ต้องการตรวจสอบ
- เตรียมตัวอย่างเพื่อการวิเคราะห์
- วิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ (Lab) และรายงานผล
สถานที่ทำงาน
- ห้องปฏิบัติการบริษัทเอกชนหรือรัฐบาล
- คลินิกเสริมความงาม
- โรงพยาบาล ด้านเสริมความงาม
ผูัที่ต้องทำงานด้วย
- นักเคมี
- แพทย์ด้านผิวหนังและความงาม
- เจ้าของธุรกิจ
- หน่วยงานรัฐที่สามารถให้การรับรองผลิตภัณฑ์
- เภสัชกร
ตำแหน่งและเส้นทางการเติบโต
นักวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง ถ้าอยู่ในสายงานบริษัทหรือหน่วยงานต่างๆ จะเติบโตได้ตามโครงสร้างบริษัท ซึ่งจะขึ้นอยู่กับการเติบโตของธุรกิจด้วย แต่ในส่วนเจ้าของธุรกิจและผลิตภัณฑ์จะเติบโตได้รวดเร็วกว่าตามการขยายตัวของตลาด
รายได้
- สายงานบริษัทเอกชน เริ่มต้นที่ประมาณ 20,000 - 40,000 บาท หรืออาจสูงกว่านี้ หากทำงานในต่างประเทศ
- เจ้าของธุรกิจ รายได้ประมาณ หลักหมื่นถึงหลักล้านบาท
การแข่งขันและความต้องการของตลาด
ในปัจจุบันตลาดด้านเสริมความงามขยายตัวรวดเร็วมาก คนหันมาดูแลใส่ใจสุขภาพ ผิวพรรณมากขึ้น ทำให้ตลาดมีความต้องการและแข่งขันในสายอาชีพนักวิทยาศาสตร์เครื่องสำอางค่อนข้างสูง เพื่อคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ สู้กับคู่แข่งได้ รวมไปถึงคลินิกเสริมความงามต่างๆ ที่มีมากขึ้นด้วย
- สามารถเลือกสายงานของตัวเองได้ว่าอยากทำงานบริษัท หรืออยากทำธุรกิจของตัวเอง
- ค่าตอบแทนสูง หากมีประสบการณ์ ผลงานเป็นที่ยอมรับ สามารถสร้างรายได้หลักแสนต่อเดือน
- มีความรู้มากขึ้นจากการศึกษาค้นคว้าเพื่อทำงานวิจัยต่างๆ
- ได้อยู่กับของสวยๆ งามๆ ตลอดเวลา และได้ดูแลตัวเองมากกว่าอาชีพอื่น
- ทำงานเป็นเวลา มีสถานที่ทำงานแน่นอน เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ชอบเดินทางบ่อย
- เป็นอาชีพที่ต้องคิดค้น ศึกษา วิจัย หาผลิตภัณฑ์ใหม่ตลอดเวลา เพราะเครื่องสำอางเป็นสินค้าที่มีการแข่งขันในตลาดสูง ทำให้มีแรงกดดันพอสมควร
- มีความเสี่ยงสูงหากเป็นเจ้าของธุรกิจเอง เพราะมีการลงทุนและต้องสู้กับคู่แข่งจำนวนมาก
- สนใจด้านสุขภาพความงาม งานด้านนี้ต้องมีความชอบด้านสุขภาพและความงาม ชอบดูแลตัวเอง เพราะงานด้านนี้ถ้าไม่มีใจรักจะเกิดการกระตุ้นให้คิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ หรือพัฒนาเทคโนโลยีด้าความงามได้ยาก
- ขยันศึกษาหาความรู้ หาวัตถุดิบใหม่ๆ มาพัฒนางานของตัวเองหรือผลิตภัณฑ์ใหม่
- ช่างคิด ช่างสังเกต ตามหลักนักวิทยาศาสตร์ และกล้าทดลองอะไรใหม่ๆ
- มีความอดทนสูง เพราะกว่าจะได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ ต้องใช้เวลาในการศึกษาวิจัยค่อนข้างนาน
- ละเอียดรอบคอบ งานด้านนี้ต้องมีความละเอียดรอบคอบมาก เพราะเป็นสินค้าที่มีผลต่อสุขภาพผู้บริโภคโดยตรง อาจจะเกิดอันตรายได้
- ทักษะการคิดวิเคราะห์ข้อมูล นักวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง ต้องรวบรวมข้อมูล ศึกษาบทความวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อการทำวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์
- ทักษะทางคณิตศาสตร์ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับงานค้นคว้าวิจัย ไม่ว่าจะเป็นแคลคูลัส พีชคณิต หรือวิชาสถิติ
- ทักษะด้านเทคนิคทางห้องปฏิบัติการ (Lab) เป็นทักษะที่สำคัญอีกข้อหนึ่ง เพราะนักวิทยาศาสตร์เครื่องสำอางจะทำงานในห้องปฏิบัติการเป็นหลัก จึงต้องมีการฝึกทักษะข้อนี้อยู่ตลอดเวลา
- ทักษะด้านภาษา นักวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง ไม่ได้มีงานอยู่แต่ในประเทศไทยเท่านั้น บริษัทเครื่องสำอางรายใหญ่มักมีสำนักงานหรือสาขาในต่างประเทศด้วย หากมีทักษะภาษาจะทำมีโอกาสก้าวหน้าในอาชีพสูงขึ้น ผลตอบแทนก็สูงขึ้นด้วย
- ทักษะการแก้ปัญหา นักวิทยาศาสตร์เครื่องสำอางต้องทำงานค้นคว้าวิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ซึ่งในระหว่างกระบวนการทดลองอาจเกิดข้อผิดพลาดได้เสมอ ทักษะการแก้ปัญหาจึงเป็นสิ่งสำคัญมากเลยทีเดียว
- ทักษะการจัดการเวลา งานแต่ละงานย่อมมีเวลาที่กำหนด ดังนั้นการจัดการเวลาและจัดลำดับความสำคัญได้ที่ดีจะช่วยให้ชิ้นงานลุล่วงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ทักษะด้านแบรนด์และการวางแผนการตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้องให้ตรงกับความต้องการของตลาด โดยเฉพาะนักวิทยาศาสตร์เครื่องสำอางที่ทำธุรกิจของตัวเอง ต้องวางแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจเป็น มองแนวโน้วของตลาดออก สร้างความแตกต่างเพื่อแข่งขันในตลาดด้านสุขภาพและความงามได้
การศึกษา
- Admissions เป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สายวิทย์ – คณิต ผลการเรียนเฉลี่ยสะสมไม่น้อยกว่า 2.70
- รับตรง เป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สายวิทย์ – คณิต ผลการเรียนเฉลี่ยสะสมไม่น้อยกว่า 2.00
- เข้าสู่คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหรือคณะเภสัชศาสตร์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง (Cosmetic Science)
Hard Skills
- ตั้งใจศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ รวมทั้งวิชาในสายวิทย์ คณิต โดยเฉพาะเคมี
Soft Skills
- กล้าคิดลงมือทำในสิ่งที่แตกต่าง ซึ่งต้องมีความอดทน เพื่อรอผลลัพธ์ในที่สุด
- ศึกษางานวิจัยจากทั่วโลก เพื่อนำมาเป็นไอเดียในการศึกษาวิจัยต่อ
ตัวอย่างหลักสูตรจากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิชาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง (Cosmetic Science) มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต หลักสูตร 4 ปี
วิชาที่เรียน
วิชาที่เรียกว่าต้องเรียนในเชิงลึก จะเป็นวิชาเคมี กับ ชีววิทยา เพราะจะเป็นวิชาที่ตรงกับสาขานี้มากที่สุด ใครที่่อ่อนทางวิชาเคมีต้องเตรียมตัวปูพื้นฐานมาให้แน่น เพื่อไปต่อได้เร็วขึ้น
เคล็ดลับการเรียน
- วิชาที่เรียนในห้องปฏิบัติการ (Lab) ต้องเรียนเก็บหน่วยกิตให้ครบถ้วน
- ตอนไปฝึกงาน ให้เลือกหน่วยงานที่ตรงสาย หรือเป็นหน่วยงานที่เราชอบ เพราะที่นั่นอาจกลายเป็นที่ทำงานของเราต่อในอนาคตก็ได้
ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย
- ปี 1 เทอมแรกเป็นวิชาพื้นฐานทั่วไปทางวิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา แล้วก็แคลคูลัส1 เพื่อเข้าสู่เทอมสองที่จะเริ่มแตะวิชาเฉพาะเรื่องของเคมีอินทรีย์สำหรับวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง แล้วก็ยังเจอแคลคูลัสทั้งสองเทอม
- ปี 2 จะได้เรียนภาษาอังกฤษ ซึ่งจะไม่ได้เริ่มปูพื้นฐานตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 ส่วนวิชาเฉพาะหนีไม่พ้นพวกเคมีแน่นอน ทั้งวิชาเคมีวิเคราะห์ในวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง ปฏิบัติการเคมีวิเคราะห์ในวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง ชีวเคมี จุลชีววิทยาและวิทยาภูมิคุ้มกันสำหรับวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง เคมีเชิงฟิสิกส์ประยุกต์ การตั้งตำรับเครื่องสำอางเบื้องต้น ปฏิบัติการการตั้งตำรับเครื่องสำอางเบื้องต้น กายวิภาคศาสตร์และสรีรวิทยาสำหรับวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง คือ เป็นวิชาที่เรียนเกี่ยวกับผิวหนังของมนุษย์ โครงสร้างผิวหนังทุกอย่าง รวมถึงการศึกษาระบบภูมิคุ้มกันร่างกายและเชื้อโรคต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นบนผิวหนังของเรา
- ปี 3 เน้นหนักเรียนในห้องทดลอง (Lab) เช่น วิชาการตั้งตำรับเครื่องสำอางสำหรับผิวหนัง ปฏิบัติการการตั้งตำรับ เครื่องสำอางสำหรับผิวหนัง การตั้งตำรับเครื่องสำอางแต่งสี ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่ใช้ในเครื่องสำอาง วิชานี้สนุกได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์และได้เห็นความคิดสร้างสรรค์ของเพื่อนในชั้นเรียน ซึ่งตรงนี้บางทีจะกลายเป็นไอเดียต่อยอดให้เรานำไปทำโปรเจคจบได้ แล้วก็ยังได้เรียนศัพท์ภาษาอังกฤษเฉพาะด้าน กฎหมาย จรรยาบรรณวิชาชีพ และการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นสิ่งสำคัญที่เราจะต้องรู้เพื่อความปลอดภัยของตัวเราเองและผู้บริโภค
- ในภาคฤดูร้อนจะต้องมีการฝึกประสบการณ์วิชาชีพทางวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง กับสถานประกอบการทั้งของภาครัฐและเอกชน ซึ่งที่สวนดุสิตมีการทำ MOU ร่วมกับหลักสูตรนี้ ให้ความร่วมมือในการส่งเสริมและสนับสนุนงานวิชาการร่วมกัน ในด้านการเรียนการสอน และรับนักศึกษาเข้าไปฝึกประสบการวิชาชีพ เพื่อเพิ่มทักษะ และประสิทธิภาพของนักวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง นอกจากนี้ยังรับบัณฑิตที่จบสาขาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง มหาวิทยาลัยสวนดุสิตเข้าทำงาน บริษัทที่มีการ MOU ร่วมกัน ได้แก่ บริษัท แพนราชเทวีกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) แพนคลินิก ราชเทวีคลินิก ไลออนส์สุพรรณหงส์คลินิก, บริษัท สยาม เนเชอรัลโปรดักซ์ จำกัด, บริษัท เคมีโก้ อินเตอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด
- ปี 4 มีสัมมนาวิชาการ และเทอมสองทำโปรเจคจบ แล้วก็ยังได้เรียนเกี่ยวกับการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจสุขภาพความงาม และเครื่องสำอางด้วย
ค่าเทอมตลอดหลักสูตร
203,800 บาท (โดยประมาณ)
ทุนการศึกษา
- ทุนส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
- ทุนขาดแคลนทุนทรัพย์
- ทุนเรียนดี
- ทุนจิตอาสา/ ทำคุณประโยชน์/ สร้างชื่อเสียงให้คณะ
- งานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง
- งานควบคุมคุณภาพการผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง
- การประกอบธุรกิจผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง
- ผู้แทนฝ่ายขายวัตถุดิบ เครื่องมือและผลิตภัณฑ์ทางวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง
- งานประเมินผิวในคลินิกความงาม
- ผู้เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง
- เจ้าหน้าที่ควบคุมและประกันคุณภาพผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง
- เจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง
- นักวิทยาศาสตร์ในหน่วยงานอุตสาหกรรม
- นักพัฒนาธุรกิจเครื่องสำอาง
- นักการตลาดด้านเครื่องสำอางและความงาม
Copyright © 2019 TruePlookpanya. All rights reserved.
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ห้ามมิให้ผู้ใดคัดลอก ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข หรือเผยแพร่ส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ก่อนได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร