ลักษณะงาน
เกษตรกรเป็นอาชีพที่อิสระและเลือกทำงานได้หลากหลาย ตามความรู้ความถนัดและสภาพพื้นที่ของตน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ได้ผลผลิตมาจำหน่ายแก่ตลาดเป็นรายได้เลี้ยงชีพ ผลผลิตที่ได้นั้นมาจากทั้งพืชและสัตว์ อาจมีการนำไปแปรรูปก่อนส่งขายเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค หรือจะส่งเป็นสินค้าตั้งต้นแบบยังไม่แปรรูปเลยก็ได้ เกษตรกรรมนั้นถือเป็นการผลิตขั้นปฐมภูมิที่ใช้ประโยชน์จากธรรมชาติโดยตรง และเป็นแหล่งวัตถุดิบที่สำคัญของประเทศไทย ผู้ที่ประกอบกิจการส่วนตัวอาจได้ทำงานหลายอย่างพร้อมกัน นอกเหนือจากการทำเกษตร เช่น การออกแบบพื้นที่ การวางระบบน้ำและไฟ การคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ คิดแผนการตลาด ออกแบบสื่อสาร งานบริการ ฯลฯ อีกมากมาย
ขั้นตอนการทำงาน
- ก่อนอื่นต้องมีการวางแผนการทำงาน สำรวจสภาพพื้นที่ สภาพแวดล้อมของเราว่าเหมาะสมจะทำอะไร สภาพดิน สภาพอากาศเหมาะกับพืชชนิดไหน มีตลาดรองรับผลผลิตในพื้นที่หรือไม่ ฯลฯ รวมถึงศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมในส่วนที่ยังขาด จากแหล่งต่าง ๆ หรือจากผู้มีประสบการณ์
- ติดต่อช่องทางการขาย การทำตลาด สถานที่รองรับสินค้า ออกแบบและปรับพื้นที่ให้เหมาะสม
- กิจวัตรในแต่ละวันนั้นจะมีความยืดหยุ่นค่อนข้างมาก บางครั้งอาจไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ด้วยจากปัจจัยธรรมชาติต่าง ๆ แผนการทำงานในแต่ละวันจึงสามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างอิสระ เช่น วันไหนฝนตกก็อาจไม่จำเป็นต้องรดน้ำ ต้องใช้การสังเกตและใส่ใจในการดูแลสิ่งมีชีวิต
- ควรทำความรู้จัก ผูกสัมพันธ์กับผู้ที่ต้องติดต่อค้าขายด้วยเพื่อสร้างเครือข่ายในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้าแม่ค้าในตลาด หรือร้านอุปกรณ์ เครื่องมือต่าง ๆ ที่ต้องติดต่อบ่อย ๆ ด้วย
- หมั่นติดตามข่าวสารรอบตัว และเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ เพื่อให้สามารถรับมือกับสถานการณ์ได้ทันท่วงที รวมถึงการนำวิทยาการใหม่ ๆ มาเรียนรู้และประยุกต์ใช้กับงานอยู่เสมอ
สถานที่ทำงาน
- พื้นที่เพาะปลูกหรือพื้นที่ทำเกษตรของตนเอง
- ตลาดหรือแหล่งกระจายสินค้า ที่ทำการขนส่ง
- ร้านขายอุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ หรือบริษัทที่จัดจำหน่าย
ผู้ที่ต้องทำงานด้วย
- พ่อค้าแม่ค้าในตลาด
- พ่อค้าคนกลาง
- ลูกค้าหรือผู้บริโภค
- ตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์และเครื่องมือ
- คนงานในสวน
ทางเลือกอาชีพ
หากจบทางด้านเกษตรมาโดยตรง อาจเข้าทำงานในระบบราชการ เกษตรตำบล เกษตรอำเภอ ทำงานในกรม หรือไปสายวิชาการ เป็นอาจารย์ในสถานศึกษา เป็นนักวิจัย รวมถึงทำงานในบริษัทเป็นผู้แทนจำหน่ายสินค้าที่เกี่ยวข้อง เช่น บริษัทส่งออกพืชผลเกษตร บริษัทผลิตเมล็ดพันธุ์พืช บริษัทผลิตและจำหน่ายปุ๋ย บริษัทอาหารสัตว์ต่าง ๆ
ตำแหน่งและเส้นทางการเติบโตในสายอาชีพ
- เกษตรกรทั่วไปนั้นทำงานโดยอิสระและเป็นนายตัวเอง จึงไม่ได้มีการเลื่อนตำแหน่ง
- ภาคราชการ ก็จะมีลำดับการเลื่อนตำแหน่งตามระดับขั้นของรัฐ ซึ่งขึ้นตรงกับกรมหรือกระทรวงด้านการเกษตร
- ภาคเอกชน หากเป็นตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์จะเริ่มตามฐานเงินเดือนทั่วไป ตั้งแต่ประมาณ 15,000-18,000 บาท ไม่รวมค่าคอมมิชชันส่งเสริมการขาย และอาจมีโอกาสได้เลื่อนขั้นเป็นหัวหน้าทีมหากมีประสบการณ์และความสามารถ
รายได้
เกษตรกรเป็นอาชีพอิสระ มีรายได้ที่ไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับผลิตผลต่าง ๆ ในแต่ละครั้งหรือแต่ละปี
การแข่งขันและความต้องการของตลาด
ประเทศไทยมีการทำเกษตรกรรมเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อาชีพเกษตรกรนั้นมีความอิสระค่อนข้างมากและยังเป็นผู้ผลิตปัจจัยที่สำคัญในการดำรงชีวิต ดังนั้นจึงมีความสำคัญอยู่เสมอ ตราบใดที่ผู้คนยังต้องกินต้องใช้อยู่ทุกวัน สิ่งที่มักเป็นปัญหาของเกษตรกรคือการหาตลาดและแหล่งระบายสินค้า หากสามารถหาทางแก้หรือนำนวัตกรรมสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ เกษตรกรก็จะเป็นอาชีพที่สามารถดำรงอยู่ได้ไม่ว่าในยุคสมัยไหนก็ตาม
- ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ตลอดเวลา ได้ขบคิดแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดในแต่ละวัน
- มีอิสระในการทำงาน จัดสรรเวลาและวางแผนได้เองอย่างเต็มที่
- ได้รับคุณค่าทางจิตใจจากการสัมผัสใกล้ชิดและช่วยฟื้นฟูธรรมชาติ จากการปลูกป่าปลูกพืชในบริเวณ
- มีผลผลิตไว้สำหรับอุปโภคบริโภคเอง ได้กินของที่ปลูกเองกับมือ
- มีเวลาให้กับครอบครัวและคนที่รัก
- ต้องพึ่งพาสภาพแวดล้อมและสภาพดินฟ้าอากาศค่อนข้างมาก บางครั้งอาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตทั้งหมด
- ความเสี่ยงในการหาตลาดหรือแหล่งกระจายสินค้าไม่ได้
- เป็นอาชีพที่เหมาะสมกับคนที่มีความกระตือรือร้น ไม่อยู่นิ่ง
- มีใจรักในวิถีอาชีพ รักและเข้าใจธรรมชาติ ขยัน อดทน ร่างกายแข็งแรง
- สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ดี พร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา
- มีความรับผิดชอบ สามารถบริหารจัดการเวลาของตัวเองได้
- ช่างสังเกต เมื่อเห็นความผิดปกติใด ๆ จะได้ทำการรักษาหรือแก้ไขได้
- มีจรรยาบรรณ มีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค มีมนุษยสัมพันธ์ ทักษะในการเข้าสังคม
- มนุษยสัมพันธ์ที่ดี เพราะเป็นอาชีพที่ต้องพบเจอกับผู่คนหลายฝ่าย ทั้งคนงานในไร่ในสวน พ่อค้าคนกลาง รวมทั้งลูกค้า
- ทักษะทางด้านการเกษตร เป็นทักษะสำคัญของอาชีพ คือความเข้าใจในการดูแลพืชสวน พืชไร่ และจัดการผลผลิตต่าง ๆ
- ทักษะการคิดวิเคราะห์ ในการคำนวณและประเมินสถานการณ์เรื่องผลผลิต พื้นที่ทางการเกษตรต่าง ๆ ซึ่งต้องอาศัยการคิดวิเคราะห์ที่แม่นยำ
- ทักษะด้านเครื่องกล เพราะเครื่องมือทางการเกษตรเหล่านี้เป็นอุปกรณ์สำคัญที่จะช่วยสร้างผลผลิต ควรรู้จักและเข้าใจวิธีการใช้งาน การรักษาและซ่อมบำรุง
- ทักษะการสื่อสาร การพูด การฟัง เพื่อสั่งงานคนงานและสร้างความเข้าใจให้กลุ่มคนที่ต้องทำงานด้วย
- ทักษะการบริหารจัดการเวลา การวางแผน การปรับตัวเข้ากับสถานการณ์
การศึกษา
- ระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา สายสามัญเลือกเรียนได้ทั้งสายวิทย์และสายศิลป์ ต้องจบการศึกษาระดับมัธยมปลาย (ม.6) หรือเทียบเท่า หรือเข้าศึกษาต่อสายวิชาชีพระดับปวช.และปวส.ได้ในวุฒิการศึกษาที่เกี่ยวข้อง อาทิ สาขาพืชศาสตร์ สัตวศาสตร์ อุตสาหกรรมเกษตร ช่างกลเกษตร เป็นต้น
- ในระดับปริญญาตรี เลือกศึกษาคณะที่ตรงสายงาน อาทิ คณะเกษตรศาสตร์ ซึ่งมีสาขาหลากหลายให้เลือกตามแต่ละมหาวิทยาลัย เช่น วิทยาศาสตร์การเกษตร เทคโนโลยีการเกษตร ฯลฯ โดยเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะได้รับวุฒิวิทยาศาสตรบัณฑิต
ตัวอย่างสถาบันที่เปิดสอนด้านการเกษตรในระดับปริญญาตรี
- คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (วิทยาเขตบางเขน)
- คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้
- คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
- คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี
- คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์
- คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร
- คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- คณะเกษตรและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนครพนม
- คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชครินทร์
- คณะเกษตรศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (วิทยาเขตสุรินทร์)
- คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
- คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยบูรพา (วิทยาเขตสระแก้ว)
- คณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยพะเยา
- คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
- คณะเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ
- คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
- คณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก
- คณะเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ
Hard Skills
- องค์ความรู้และความเข้าใจในธรรมชาติ การเติบโตของพืชพรรณต่าง ๆ
- ทักษะทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะเคมีและชีววิทยา
Soft Skills
- ทักษะทางสังคม การสร้างความสัมพันธ์และเข้าหาผู้อื่น การดูแลลูกน้อง
- ทักษะการสื่อสาร การพูด การฟัง
- ทักษะการบริหารจัดการเวลา การวางแผน การปรับตัวเข้ากับสถานการณ์
เกษตรกรเป็นอาชีพที่มีอิสระในตัวเอง เป็นนายตัวเอง ไม่ต้องเป็นลูกน้องใคร ได้อยู่กับธรรมชาติ ได้อยู่กับครอบครัว พอมีพอกิน มีความสุขในชีวิตทุก ๆ วัน
คุณณัฐภัทร ชัยชนะสงคราม เกษตรกรเจ้าของสวนผลไม้
วิชาที่เรียน
- ตัวอย่างวิชาหลักทั่วไป
- พฤกษศาสตร์ทั่วไป
- หลักพันธุศาสตร์
- หลักชีววิทยา
- เกษตรศาสตร์ทั่วไป
- ตัวอย่างกลุ่มวิชาเฉพาะ
- การสื่อสารเพื่อพัฒนาการเกษตร การจัดการความรู้ด้านการส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร
- การวิเคราะห์พันธุ์สัตว์ การปรังปรุงพันธุ์สัตว์ หลักสุขศาสตร์สัตว์และสุขาภิบาล
- พืชไร่เศรษฐกิจ โรคพืชวิทยาเบื้องต้น วิทยาศาสตร์ด้านแมลง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านสัตว์
- ระบบการเกษตร การจัดการดิน หลักการจัดการฟาร์ม วิทยาการพืชสวน
- เคมี จุลชีววิทยา เศรษฐศาสตร์เบื้องต้น หลักการตลาดเกษตร
- จิตวิทยาการบริการ ศิลปะการติดต่อ กฎหมายในชีวิตประจำวัน
โดยวิชาหลักนั้นจะเหมือนกันทุกสาขา ส่วนวิชาด้านเกษตรและวิชาเลือกจะต่างกันไปตามสาขาที่เลือก
เคล็ดลับการเรียน
สำหรับเคล็ดลับในการเรียนนั้นก็จะคล้ายกับคณะอื่นที่ต้องทำความเข้าใจเนื้อหาในห้องเรียนควบคู่ไปกับการอ่านหนังสือทบทวนนอกเวลา และหากไม่เข้าใจจุดไหนก็ยิ่งต้องเน้นเป็นพิเศษ อาจสอบถามอาจารย์หรือให้เพื่อนช่วยทบทวนบทเรียนให้ก็ได้
ค่าเทอม
ประมาณ 12,000 – 16,000 บาทต่อเทอม หากเป็นหลักสูตรนานาชาติจะประมาณ 55,000 บาทต่อเทอม
- นักวิจัยพันธุ์พืช
- นักวิชาการเกษตร
- นักโภชนาการ
- นักวิทยาศาสตร์เคมี
Copyright © 2019 TruePlookpanya. All rights reserved.
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ห้ามมิให้ผู้ใดคัดลอก ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข หรือเผยแพร่ส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ก่อนได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร