ปัจจุบันในประเทศไทย การทำโมเดลอาหารได้รับความนิยมมากขึ้น ในหมู่ผู้ประกอบการร้านอาหารต่าง ๆ ไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือใหญ่ ต่างใช้โมเดลในการจัดแสดงเมนูอาหารเพื่อดึงดูดลูกค้ากันเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะร้านอาหารญี่ปุ่น เกาหลี และอาหารไทยแบรนด์ดังที่มีหลากหลายสาขา โดยจุดเริ่มต้นของการทำโมเดลนั้นมาจากประเทศในแถบยุโรปที่ได้นำกระดาษมาเป็นแบบจำลอง แต่ยังคงจำกัดอยู่ในวงการแพทย์ จนกระทั่งคนญี่ปุ่นได้นำมาดัดแปลงเป็นโมเดลอาหารที่ทำจากขี้ผึ้ง และพัฒนามาสู่การใช้วัสดุอื่น ๆ ในการผลิตโมเดลจำลองเพื่อให้มีความเสมือนจริงมากที่สุด เช่น พลาสติก เรซิน เป็นต้น
ลักษณะงาน
นักทำโมเดลอาหารจะทำหน้าที่สร้างสรรค์ผลงานโมเดลอาหารจากวัสดุต่าง ๆ ให้เหมือนของจริงหรือ น่ารับประทานกว่าของจริง โดยใช้ทั้งความรู้ ประสบการณ์ เทคนิค และทักษะทางศิลปะ เพราะการทำโมเดลอาหารต้องทำทั้งหล่อแม่แบบ แกะสลัก ปั้นขึ้นรูป การลงสี การเคลือบเงา นักทำโมเดลอาหารจะต้องรู้จักวัสดุที่นำมาทำโมเดลเป็นอย่างดี
- โมเดลอาหารไทย
- โมเดลอาหารต่างประเทศ
- โมเดลอาหารก๋วยเตี๋ยวหรืออาหารที่เป็นน้ำ
- โมเดลอาหารเครื่องดื่ม ของหวาน
- โมเดลอาหารจากเนื้อสัตว์ต่าง ๆ
ขั้นตอนการทำงาน
ในส่วนของขั้นตอนการทำงานจะขึ้นอยู่กับประเภทของอาหารที่จะทำ โดยกระบวนการหลัก ๆ คือ
- วิเคราะห์แม่แบบของอาหารว่ามีองค์ประกอบอะไรบ้าง
- การทำหล่อแม่แบบของอาหารที่ต้องการจะทำ
- ปั้นขึ้นรูปตามแม่แบบ ด้วยเทคนิคที่เหมาะสม
- ลงสีให้เหมือนจริงตามต้นแบบ
- ประกอบส่วนต่าง ๆ ตามแม่แบบตกแต่ง เคลือบเงาเพื่อความสวยงามและคงทนถาวร
สถานที่ทำงาน
นักทำโมเดลอาหารสามารถทำงานที่บ้านหรือสถานที่ที่จัดทำเพื่อเป็นที่ทำงานโดยเฉพาะ เพราะการทำโมเดลอาหารต้องใช้วัสดุและอุปกรณ์หลายอย่าง
ผู้ที่ต้องการทำงานด้วย
- ลูกค้า หรือเจ้าของร้านอาหารที่ต้องเป็นผู้ให้โจทย์รูปแบบอาหารที่ต้องการให้จำลอง
ทางเลือกอาชีพ
การเป็นนักสร้างสรรค์โมเดลจำลอง ไม่ได้จะเป็นว่าจะทำได้เพียงประเภทอาหารอย่างเดียว ดังนั้นการเป็นนักทำโมเดลจึงไม่ได้จำกัดวงแคบอยู่แค่โมเดลประเภทใดประเภทหนึ่ง
ตัวอย่างทางเลือกอาชีพได้แก่
-
งานประดิษฐ์อื่น ๆ เช่น อาหารปลอมจิ๋ว ดอกไม้ประดิษฐ์ ของจำลองเท่าขนาดจริงหรือของจิ๋ว
-
ช่างประติมากรรม งานศิลปกรรมแขนงต่าง ๆ
ตำแหน่งและเส้นทางการเติบโต
ในปัจจุบันงานสร้างสรรค์โมเดลอาหาร ยังไม่มีตำหน่งหรือองค์กรที่รับอาชีพนักทำโมเดลอาหารมากนัก (หากทำงานบริษัท อาจเป็นอาชีพช่างปั้นนักออกแบบโมเดลจำลองทุกรูปแบบ ไม่เน้้นเฉพาะอาหารที่เป็นความสามารถเฉพาะทาง) ดังนั้นในปัจจุบัน นักทำโมเดลอาหารจึงมักทำงานอิสระ การเติบโตก้าวหน้าจึงจะขึ้นอยู่กับประสบการณ์และการยอมรับจากลูกค้าที่ใช้บริการ หรืองานประกวดแข่งขันทางสายงานทำโมเดลอาหารจำลอง
รายได้
รายได้ของนักทำโมเดลอาหารอาจไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของนักทำโมเดล ความยากง่ายของชิ้นงาน และจำนวนของชิ้นงานด้วย โดยรวมจะอยู่ที่ประมาณหลักหมื่นถึงแสนบาทต่อเดือน
การแข่งขันและความต้องการของตลาด
ปัจจุบันโมเดลอาหารเป็นที่นิยมมากตามร้านอาหารประเภทแฟรนไชส์ ร้านอาหารญี่ปุ่น หรือร้านอาหารต่างประเทศแนวใหม่ เพื่อดึงดูดลูกค้า ให้ลูกค้าเห็นหน้าตาอาหารจริง ๆ ส่วนการแข่งขันจะแข่งขันกันที่ฝีมือ ประสบการณ์ และความเหมือนจริง รวมไปถึงราคาของสินค้าด้วย
- งานค่อนข้างอิสระ
- รายได้สูง หากมีการจัดการเวลาได้ดี เพราะรายได้จะขึ้นอยู่กับปริมาณงานที่รับและสามารถทำได้จริง
- มีความหลากหลาย ไม่จำเจ ตามประเภทของอาหาร
- มีความรู้เรื่องคุณสมบัติของวัสดุต่าง ๆ ที่นำมาทำโมเดลอาหาร
- ต้องมีการพัฒนาฝีมือ และเรียนรู้วัตถุดิบหรือวัสดุที่นำมาทำโมเดลตลอดเวลา เพราะการแข่งขันในท้องตลาดแข่งขันกันที่ฝีมือ และความเสมือนจริง
- เป็นอาชีพที่มีความเสี่ยง เพราะการแข่งขันที่สูงขึ้น และรายได้อาจไม่แน่นอน
- ทำงานไม่เป็นเวลา เพื่อส่งงานให้ทัน
- รักงานด้านศิลปะ เพราะการทำโมเดลอาหารต้องใช้ความชอบและความสามารถด้านศิลปะ ทั้งงานหล่อ งานปั้น งานลงสี
- อดทนและมีสมาธิ นักทำโมเดลอาหารต้องอดทนต่อการทำงานเป็นเวลานาน ๆ ต้องคอยจัดองค์ประกอบตามแบบ ใช้สมาธิสูงอยู่กับชิ้นงาน เพื่อให้งานออกมาเหมือนจริงที่สุด
- พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ ต้องใช้ทั้งความขยันในการศึกษาหาความรู้ใหม่ ๆ หาวัสดุใหม่มาสร้างสรรค์งาน เพราะมีงานวิจัยด้านวัสดุชนิดใหม่เพิ่มมากขึ้นเสมอ หากยิ่งใช้วัสดุแปลกใหม่ที่ช่วยทำให้เสมือนได้มากกว่า และใช้ต้นทุนน้อยกว่า ยิ่งเป็นผลดีกับงานของลูกค้าและนักทำโมเดลเอง นอกจากนี้ยังต้องอัพเดทความรู้การทำโมเดลทั้งทางทฤษฎีและการปฏิบัติอยู่เสมอด้วย
- มีความคิดสร้างสรรค์ นักทำโมเดลอาหารนอกจากการทำตามแบบแล้วยังต้องพัฒนาให้มีความสร้างสรรค์ แปลกใหม่จากการนำวัสดุมาใช้ ต้องกล้าที่จะลองเปลี่ยนแปลงวิธีการเดิม ๆ เพื่อนำเสนอผลงานที่เหมือนจริงมากยิ่งขึ้น
- มีความละเอียดรอบคอบ ใส่ใจในทุกรายละเอียดของแต่ละชิ้นงาน
- ช่างสังเกต สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ในรายละเอียดของโมเดลแต่ละชิ้น
- ทักษะด้านศิลปะ นอกจากใจรักในงานศิลปะแล้ว ยังต้องมีทักษะด้านนี้ด้วย เพราะเป็นงานด้านการหล่อแม่แบบ การปั้นขึ้นรูป การใช้สี
- ทักษะด้านวิทยาศาสตร์ การทำโมเดลอาหารต้องใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ร่วมด้วย เพราะวัสดุบางอย่างที่นำมาใช้เป็นสารเคมี หรือการใช้สารเคมีผสมให้ได้ชิ้นงานที่เหมือนจริง
- ทักษะการออกแบบ นักทำโมเดลอาหารจะต้องออกแบบและตกแต่งงานให้ดูเหมือนจริง ขณะเดียวกันก็ต้องชูจุดเด่นของอาหารจานนั้น ๆ ได้อย่างชัดเจน ดูน่ารับประทาน ดึงดูดใจของลูกค้าได้
- ทักษะการวางแผนและจัดการเวลา ต้องมีการวางแผนการทำงาน ว่าควรทำชิ้นงานไหนก่อนหลัง เพราะบางชิ้นงานต้องใช้เวลามาก จึงต้องมีการวางแผนล่วงหน้า รวมทั้งจัดการเวลาให้ดี หากรับงานหลายชิ้นหลายแบบ เพื่อให้ทันเวลาและมีประสิทธิภาพตามมาตรฐาน
- ทักษะการเรียนรู้ ในการทำโมเดลบางครั้งต้องมีการทดลองทำ มีการลองผิดลองถูก จึงต้องเรียนรู้จากข้อผิดพลาดและปรับปรุงแก้ไข
การศึกษา
- สายสามัญ ได้ทั้งสายวิทย์คณิตและศิลป์คำนวณ
- สายอาชีพ ระดับปวช. และ ปวส. ด้านศิลปกรรมหรือสาขาที่เกี่ยวข้อง โดยสามารถเข้าศึกษาโดยการสอบคัดเลือก โควต้า ตามเงื่อนไขของแต่ละสถาบัน
- ระดับปริญญาตรี สามารถเข้าศึกษาในสถาบันที่เปิดหลักสูตรศิลปบัณฑิต อาทิ
-
คณะศิลปกรรมศาสตร์ภาควิชาทัศนศิลป์ สาขาประติมากรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
-
คณะมัณฑนศิลป์ ภาควิชาออกแบบเครื่องปั้นดินเผา สาขาวิชาเครื่องเคลือบดินเผา
มหาวิทยาลัยศิลปากร
-
คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาเซรามิก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
-
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาวิชาประติมากรรมและประติมากรรมเพื่อสังคม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
-
Hard Skill
- ทำความเข้าใจเรื่องทฤษฎีองค์ประกอบสี รูปทรง และการขึ้นรูป
- ฝึกทักษะภาษาอังกฤษฟัง พูด อ่าน เขียน ในระดับที่ดี
Soft Skill
- ฝึกฝนการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ทักษะที่สำคัญมากในอาชีพนักทำโมเดล เพราะต้องใช้ในการคิดสร้างสรรค์ตัวโมเดลให้ออกมาเหมือนจริงและดูน่ารับประทาน
- ทักษะบริหารจัดการเวลา เพราะต้องวางแผน ควบคุม กำหนดระยะเวลาในการทำโมเดล เพื่อให้งานเสร็จตามกำหนด
- กระตือรือร้น อยากเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ตลอดเวลา (Life-Long Learning) เพื่อการพัฒนาการออกแบบและการทำโมเดล เช่น เรียนรู้เรื่องวัฒนธรรมอาหารแต่ละชาติ เรียนรู้วิธีการทำโมเดลอาหารของแต่ละประเทศ เป็นต้น
- รู้จักปรับตัว (Adaptability) สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ เช่น วิธีการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป เครื่องมือที่ต้องใช้ในการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย เป็นต้น
วิชาเรียน
หากจะประกอบอาชีพนี้และอยากจะเรียนตรงสายควรเข้าศึกษาในสาขาด้านศิลปกรรม ซึ่งโดยส่วนใหญ่วิชาที่เรียนจะเน้นวิชาวาดเส้น วิชาสีน้ำ วิชาเขียนแบบ วิชาปั้นพื้นฐาน ซึ่งนอกจากวิชาพื้นฐานในแขนงของศิลปะแล้ว ยังมีวิชาพื้นฐานทางวิชาการที่จำเป็นต้องเรียนด้วย เช่น วิชาภาษาไทย วิชาวิทยาศาสตร์ วิชาภาษาอังกฤษ เป็นต้น
เคล็ดลับการเรียน
ต้องเข้าเรียนวิชาที่เป็นทฤษฎีทุกครั้ง เพราะเป็นประโยชน์ในการฝึกประสบการณ์การปั้นขึ้นรูปดินเผา และต้องหมั่นศึกษาศิลปะให้รอบด้าน แล้วจะได้ไอเดียใหม่ ๆ เพื่อต่อยอดในชิ้นงาน
ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย
อาชีพนักทำโมเดลอาหารสามารถจบการศึกษาด้านศิลปกรรมในหลักสูตรหรือสถาบันใดก็ได้ ขอเพียงมีความรู้พื้นฐานในการสร้างสรรค์งานศิลปะ ตัวอย่างด้านล่างนี้เป็นหลักสูตรการเรียนการศึกษาของคณะมัณฑนศิลป์ ภาควิชาออกแบบเครื่องปั้นดินเผา สาขาวิชาเครื่องเคลือบดินเผามหาวิทยาลัยศิลปากร หลักสูตรศิลปบัณฑิต 4 ปี
- ชั้นปีที่ 1 เรียนวิชาพื้นฐานทางวิชาการ เช่น ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน การวาดเส้น Drawing1 จะได้เรียนปูพื้นฐานตั้งแต่หลักการ เส้น แรงเงาจากหุ่นรูปทรงเรขาคณิต หุ่นนิ่งวัตถุต่าง ๆ ทั้งจากธรรมชาติและที่มนุษย์สร้างขึ้น รวมถึงทัศนียภาพของสถานที่จริง ไม่ได้เน้นสวยงาม แต่เน้นที่ความถูกต้องของโครงสร้าง รูปทรง น้ำหนัก แสงและเงา ลักษณะพื้นผิว รายละเอียดระยะใกล้ไกล แสดงลักษณะเฉพาะได้ ส่วน Drawing 2 เรียนหลักการ วิธีการวาดภาพคน หุ่นนิ่งวัตถุต่าง ๆ เน้นตรงที่ความสร้างสรรค์ในตัวชิ้นงาน เทคนิคที่แต่ละคนเลือกใช้ เรียนเขียนแบบ เข้าใจทฤษฎีสี เรียนภูมิปัญญาไทยกับการสร้างสรรค์ ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร เทอมสองจะเข้าเรื่อง เครื่องเคลือบดินเผาและกรรมวิธีเบื้องต้น
- ชั้นปีที่ 2 เรียนการเขียนแบบเทคนิค รูปแบบการนำเสนอลักษณะผลิตภัณฑ์ผ่านการแสดงลักษณะรูปทรงและรายละเอียดการออกแบบตามมาตรฐานสากล และใช้โปรแกรมมาตรฐานในการผลิตเครื่องเคลือบดินเผา เรียนการขึ้นรูปด้วยมือ ตั้งแต่วิธีบีบ วิธีขด วิธีทำเป็นแผ่น หรือขึ้นรูปแบบประติมากรรม การสร้างรูปทรงด้วยวิธีต่าง ๆ และการเคลือบผลงาน เรียนการขึ้นรูปด้วยแป้นหมุน การนวดดิน การบังคับดินให้อยู่ที่ศูนย์กลางของแป้นหมุน การสร้างรูปทรงกระบอก ภาชนะทรงปากบาน ภาชนะทรงกลม ฝึกการขูดแต่งชิ้นงาน แล้วก็จะได้เรียนเทคนิคการตกแต่งชิ้นงานเครื่องเคลือบดินเผา ในช่วงสภาวะก่อนการขึ้นรูป ดินที่มีความเหนียว ดินหมาด ดินแห้ง ชิ้นงานที่เผาดิบและชิ้นงานหลังเผาเคลือบ ซึ่งเวลาที่จะเรียนการขึ้นรูปก็ต้องได้เรียนวิชาเนื้อดิน เพื่อเข้าใจชนิดของดิน วัตถุดิบที่ใช้ในการเตรียมเนื้อดิน สมบัติทางกายภาพของดิน ทั้งก่อนเผาและหลังการเผา เนื้อดินที่ใช้ในการขึ้นรูปด้วยวิธีต่าง ๆ การคำนวณและปฏิบัติการเตรียมเนื้อดิน
- ชั้นปีที่ 3 เรียนการออกแบบเครื่องปั้นดินเผาเบื้องต้น ทั้งรูปแบบสองมิติและสามมิติ ได้ทดลองผลิตตามกระบวนการเครื่องเคลือบดินเผา เรียนเทคโนโลยีดิจิทัลในงานเครื่องเคลือบดินเผา การออกแบบลวดลาย และรูปทรงในรูปแบบสองมิติและสามมิติ รวมถึงการใช้ดิจิทัลเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสบการณ์การสร้างสรรค์งานเครื่องเคลือบดินเผา จะมีวิชาที่ได้ออกนอกสถานที่ก็คือ วิชาเตาและการเผา ในเทอม 2 ต้องทำวิจัยสำหรับงานเครื่องเคลือบดินเผา Ceramics Research Methodology ศึกษาวิธีวิจัย รูปแบบการเก็บข้อมูล การประมวลข้อมูลเชิงประจักษ์ และการนำเสนอผลการวิจัย และมีฝึกงานไม่น้อยกว่า 180 ชม. ในสถานประกอบการ หน่วยงาน องค์กร โครงการที่เกี่ยวเนื่องกับเครื่องเคลือบดินเผา โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการประจำภาควิชา
- ชั้นปีที่ 4 เรียนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารในงานเครื่องเคลือบเดินเผา จะได้เรียนพวกศัพท์เฉพาะ แล้วก็ใช้ในการอภิปรายชิ้นงาน เตรียมทำศิลปนิพนธ์ โดยมีเงื่อนไขว่า ต้องผ่านวิชาแกนทุกรายวิชา และวิชาบังคับ วิชาเลือก จำนวนไม่น้อยกว่า 75 หน่วยกิต โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการผู้รับผิดชอบหลักสูตร กำหนดโครงการศิลปนิพนธ์ โดยศึกษาปัญหาและวางแนวทางการศึกษาทดลองเพื่อการออกแบบ และสร้างสรรค์ผลงานเครื่องเคลือบดินเผา (งานเดี่ยว) โดยมีการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลสำหรับใช้เป็นแนวทางในการทำศิลปนิพนธ์ เทอมสองก็จะได้ทำศิลปนิพนธ์จริง ภายใต้การดูแลของอาจารย์ที่ปรึกษา โดยเกรดต้องไม่ต่ำกว่า 2.00 (c)
ค่าเทอมตลอดหลักสูตร
ประมาณ 176,000 บาท
มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก
- Virginia Commonwealth University
- University of Canterbury
- Royal College of Art
- นักออกแบบงานเครื่องเคลือบดินเผา
- ประติมากร
- นักออกแบบงานที่เกี่ยวข้องทางด้านศิลปะและงานตกแต่ง
- ผู้ประกอบการ หรือผู้จัดการโรงงานผลิตเครื่องเคลือบดินเผา
Copyright © 2019 TruePlookpanya. All rights reserved.
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ห้ามมิให้ผู้ใดคัดลอก ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข หรือเผยแพร่ส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ก่อนได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร