จักษุแพทย์ หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจักษุวิทยา ตรวจและรักษาโรคหรืออาการผิดปกติของดวงตาด้วยเครื่องมือหรือิธีการทดสอบต่าง ๆ ทำการรักษาด้วยวิธีให้ยา ผ่าตัด หรือสั่งประกอบอุปกรณ์อย่างแว่นตาให้ผู้ป่วย ให้คำแนะนำในการดูแลและปฏิบัติตนแก่ผู้ป่วย เป็นแพทย์สาขาเฉพาะอีกสายหนึ่งที่สามารถเลือกเรียนต่อเมื่อจบแพทย์ทั่วไปแล้วได้ จักษุแพทย์จะเป็นผู้ที่รักษาอาการผิดปกติของดวงตา โดยทำงานร่วมกับแพทย์แขนงอื่น และนักทัศนมาตร ในกรณีที่คนไข้มีอาการผิดปกติเกี่ยวกับสายตาด้วย
ลักษณะงาน
งานตรวจผู้ป่วยนอก
โดยเฉพาะ โรคต้อกระตก ต้อหิน ต้อเนื้อ จอตาเสื่อม อุบัติเหตุทางตา เลเซอร์จอประสาทตา อุปกรณ์ ผู้ป่วยทางจักษุที่เข้ารับบริการมีได้ทุกช่วงอายุ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุ ส่วนปริมาณผู้ป่วยที่ต้องตรวจในแต่ละวัน โดยทั่วไปขึ้นกับขนาดของโรงพยาบาลและจำนวนจักษุแพทย์ในโรงพยาบาลนั้น ๆ
งานผ่าตัด
งานผ่าตัด ได้แก่ ผ่าตัดต้อกระจก ผ่าตัดเปลือกตา ผ่าตัดต้อเนื้อ ผ่าตัดเย็บซ่อมดวงตาที่ประสบอุบัติเหตุ เป็นต้น โดยปกติจักษุแพทย์จะมีตารางการเข้าห้องผ่าตัดโดยเฉลี่ยประมาณ 1-2 วัน ต่อสัปดาห์ และอาจมีการผ่าตัดนอกเวลาราชการได้ ในกรณีมีผู้ป่วยฉุกเฉินจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด ณ เวลานั้น เนื่องจากอุปกรณ์และเครื่องมือในการผ่าตัดทางจักษุ มีความซับซ้อนและราคาสูง การผ่าตัดจึงทำในโรงพยาบาลมากกว่าคลินิกส่วนตัว
นอกจากงานที่ได้กล่าวไป จักษุแพทย์ยังมีบทบาทในงานด้านอื่น ๆ เช่น หากทำงานอยู่ใน โรงเรียนแพทย์ จะได้ทำงานเพิ่มเติมนอกเหนือจากงานบริการ ได้แก่ การเรียนการสอน การประเมินผู้เรียน งานวิจัย จักษุแพทย์บางท่านอาจได้มีโอกาสออกหน่วยในพื้นที่ขาดแคลนจักษุแพทย์ เพื่อไปคัดกรองหรือไปผ่าตัด ขึ้นกับนโยบายของแต่ละโรงพยาบาลที่อยู่ สำหรับสถานที่ทำงานส่วนใหญ่ของจักษุแพทย์มักเป็นโรงพยาบาลในภาครัฐ มากกว่าเอกชน
จักษุแพทย์ส่วนหนึ่งเลือกที่จะเรียนเฉพาะทางต่อยอดเพิ่มเติม ซึ่งเป็นการศึกษาเชิงลึกเกี่ยวกับโรคทางตาแต่ละประเภท ทั้งการวินิจฉัยและการรักษา อนุสาขาต่อยอดที่มีการฝึกอบรมในปัจจุบัน ได้แก่ สาขาต้อหิน สาขาจอตาและน้ำวุ้นตา สาขากระจกตาและการผ่าตัดแก้ไขสายตา สาขาศัลยกรรมจักษุตกแต่งและเสริมสร้าง สาขาจักษุวิทยาเด็กและตาเข สาขาจักษุประสาทวิทยา อนุสาขาต่าง ๆ เหล่านี้ใช้ระยะเวลาเรียนเพิ่มเติมอีก 1-2 ปี
จักษุแพทย์มีอายุการทำงานที่ค่อนข้างยาว สามารถยังทำงานบริการได้ดี แม้มีอายุมากขึ้น บางท่านทำงานบริหารควบคู่ไปด้วย บางท่านก็ยังคงปฏิบัติงานอยู่ แม้ว่าจะเกษียณไปแล้ว จักษุแพทย์เหล่านี้มีประสบการณ์สูงในการดูแลรักษาผู้ป่วย อีกทั้งยังมีบทบาทช่วยถ่ายทอดประสบการณ์ให้กับจักษุแพทย์รุ่นใหม่ได้เรียนรู้อีกด้วย
ขั้นตอนการทำงาน
- ทำการตรวจ วินิจฉัยอาการผิดปกติของคนไข้ด้วยวิธีการและเครื่องมือต่าง ๆ ตรวจดูกระจกตา วัดความดันตา ดูปฏิกิริยาที่มีต่อแสงสว่าง ตรวจจอประสาทตา ฯลฯ
- เมื่อทราบสาเหตุที่แน่ชัดแล้วจึงดำเนินการรักษา ด้วยการจ่ายยา การผ่าตัด หรือวิธีการอื่น ๆ
- บันทึกผลการรักษา ทำประวัติคนไข้ สาเหตุก่อโรค วิธีรักษา ติดตามผล
- อธิบายคนไข้และญาติถึงรายละเอียดอาการผิดปกติและการดูแลรักษา ปฏิบัติตัว
- สำหรับเคสที่ต้องผ่าตัด จะต้องมีการติดตามผลทั้งก่อนและหลังผ่าตัด ภาวะแทรกซ้อน มีการอธิบายคนไข้และญาติถึงวิธีการรักษา ข้อดีข้อเสีย วิธีดูแลปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง ติดตามผลแทรกซ้อนในการให้ยาบางกลุ่ม
- บางวันอาจมีการออกติดตามผลของผู้ป่วยในที่ได้ทำการรักษาไปแล้วในวอร์ด
- ให้คำแนะนำในการฝึกสายตาตามความจำเป็น และวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องเพื่อรักษาสายตาให้ดีขึ้น
สถานที่ทำงาน
- โรงพยาบาล (มักเป็นรพ.รัฐฯมากกว่าเอกชน)
- สถานพยาบาลในชุมชน
- คลินิกต่าง ๆ
- โรงเรียนแพทย์
ผู้ที่ต้องทำงานด้วย
- คนไข้
- พยาบาล
- แพทย์สาขาต่าง ๆ
- นักทัศนมาตร
- ช่างตัดแว่น
ตำแหน่งและเส้นทางการเติบโต
เส้นทางการเติบโตของจักษุแพทย์นั้นจะคล้ายกับแพทย์เฉพาะทางสายอื่น ๆ คือสามารถทำงานในโรงพยาบาลรัฐบาล โรงพยาบาลเอกชน เปิดคลินิก หรือทำงานในสถาบันการศึกษา
- โรงพยาบาลรัฐบาล หากได้รับทุนมาจะต้องกลับไปปฏิบัติงานที่รพ.ต้นสังกัดอย่างน้อย 3 ปี การทำงานในภาครัฐมักจะเน้นในภาคบริการเป็นหลัก เมื่อประสบการณ์มากขึ้นอาจเข้าสู่ตำแหน่งบริหารต่อไป เช่น เป็นหัวหน้ากลุ่มงาน ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาล เป็นต้น
- โรงเรียนแพทย์ หากได้รับทุนจากโรงเรียนแพทย์ จะกลับไปปฏิบัติงานเป็นอาจารย์แพทย์ โดยนอกจากงานบริการแล้วจะมีงานการเรียนการสอน การวิจัย งานพัฒนาคุณภาพ โดยสามารถทำตำแหน่งทางวิชาการขึ้นไปเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ หรือศาสตราจารย์ตามลำดับ
- โรงพยาบาลเอกชน สำหรับผู้ที่ไม่มีต้นสังกัดโรงพยาบาล อาจเลือกทำงานในโรงพยาบาลเอกชน หรือแพทย์ที่เคยทำงานโรงพยาบาลรัฐบาลเปลี่ยนมาทำงานโรงพยาบาลเอกชนแทน การทำงานเน้นบริการเป็นหลัก เมื่อมีประสบการณ์มากขึ้นอาจได้ทำงานบริหารขึ้นกับแต่ละโรงพยาบาล
การแข่งขันและความขาดแคลนของอาชีพ
ปัจจุบันประเทศไทยยังขาดแคลนจักษุแพทย์ โดยเฉพาะในต่างจังหวัด ส่วนในกรุงเทพและปริมณฑล มีจักษุแพทย์ค่อนข้างเพียงพอ สำหรับสาขาต่อยอดบางประเภท เช่น สาขาจอประสาทและวุ้นตา โดยรวมยังขาดแคลนอยู่มาก หากสำเร็จการศึกษาด้านนี้แล้วจะเพิ่มโอกาสจะได้รับเข้าทำงานมากกว่า
- อาชีพมีความมั่นคงทางด้าน การเงิน สังคม
- มีความภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือการมองเห็นของผู้ป่วย
- เป็นที่ปรึกษาให้กับบุคคลใกล้ชิด บุคคลในครอบครัว
- ได้มีโอกาสพบและสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลากรหลากหลายสาขาอาชีพ
- ต้องปฎิบัติงานในโรงพยาบาลที่มีความพร้อมทางบุคคลากรและเครื่องมือ
- อาจมีเวลาส่วนตัวค่อนข้างน้อย ต้องอยู่เวร ต้องมาตรวจผุ้ป่วยในวันหยุด
- สามารถรับมือกับภาวะความเครียด ความกดดันได้ เช่น กรณีการรักษาไม่ได้ผลดีตามที่คาดหวัง
- มีความชอบหรือสนใจในสาขาวิชาชีพนี้ มีจริยธรรม จรรยาบรรณ มีความรับผิดชอบ
- มีสายตามองเห็นปกติทั้งสองข้าง สุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ไม่มีภาวะตาบอดสี สามารถมองเห็นภาพสามมิติได้
- ช่างสังเกต ใส่ใจ สายตาเฉียบแหลม ละเอียดรอบคอบ สามารถมองเห็นสิ่งผิดปกติของคนไข้ได้
- มีความอดทน ไม่กลัวเลือดหรือเข็มฉีดยา มีทักษะการทำหัตถการที่นุ่มนวล มือเบา
- รักการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เพราะเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้มักเปลี่ยนไปตามวิทยาการของแต่ละยุคสมัย
- ทักษะในการประกอบวิชาชีพ ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์และจักษุวิทยา
- ทักษะการสื่อสาร การปฏิสัมพันธ์กับผู้ร่วมงาน การถ่ายทอดข้อมูลให้แก่ผู้ป่วยและญาติ
- ทักษะภาษาอังกฤษ จำเป็นอย่างมากกับแพทย์ในทุกสาขา
- ทักษะการทำหัตถการอย่างนิ่มนวล เพราะดวงตาเป็นอวัยวะที่มีความละเอียดอ่อนและสำคัญมาก
- ทักษะการใช้งานเครื่องมืออุปกรณ์ทางการช่าง เครื่องมือการแพทย์เฉพาะ
ในแต่ละปีการศึกษา สถาบันโรงเรียนแพทย์ต่าง ๆ จะเปิดรับสมัครแพทย์ทั่วไป เพื่อเข้ารับการฝึกอบรมเป็นจักษุแพทย์ โดยทั่วไปมีโควตาประมาณ 45 ตำแหน่งต่อปี (ปีการศึกษา 2564) เกณฑ์การพิจารณาในการคัดเลือก ขึ้นกับ ความขาดแคลนของจักษุแพทย์ในแต่ละพื้นที่ ประกอบกับคุณสมบัติของผู้สมัคร
ก่อนการสมัครเข้าเรียนต่อเฉพาะทางจักษุแพทย์ แพทย์ผู้สมัครควรมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงดี ที่สำคัญต้องมีสายตามองเห็นเป็นปกติทั้งสองข้าง (กรณีที่สวมแว่นตาหรือเคยผ่าตัดแก้ไขสายตามาก่อน ไม่ถือเป็นข้อห้ามในการสมัคร) ไม่มีภาวะตาบอดสี สามารถมองเห็นภาพสามมิติได้ เนื่องจากการใช้กล้องผ่าตัดตา มีความจำเป็นต้องสามารถแยกความตื้นลึกที่แตกต่างกันของโครงสร้างภายในตาได้ การตรวจดังกล่าว อาจต้องเข้ารับการตรวจกับจักษุแพทย์โดยละเอียดจึงจะทราบ คุณสมบัติโดยทั่วไปของจักษุแพทย์ที่พึงมี ได้แก่ มีความประณีต มีความละเอียดรอบคอบ สามารถปรับตัวกับความเครียดและแรงกดดัน สื่อสารได้ดี ตลอดจนทำงานเป็นทีมร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์ได้ หลังจบจากจักษุแพทย์แล้วยังสามารถเลือกเรียนต่อลงลึกเฉพาะด้านได้อีก เช่น ด้านจอประสาทตา ด้านต้อหินและต้อกระจก ด้านจักษุวิทยาเด็ก เป็นต้น
การฝึกอบรมเพื่อเป็นจักษุแพทย์ใช้เวลา 3 ปี ขณะที่กำลังศึกษาแพทย์จะถูกเรียกว่า แพทย์ประจำบ้านจักษุวิทยา การฝึกอบรม ประกอบไปด้วย การเรียนพื้นฐานเกี่ยวกับกายวิภาค สรีระวิทยาของดวงตาโดยละเอียด โรคต่าง ๆ ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับดวงตา การใช้เครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ การทำวิจัย รวมถึงฝึกทำหัตถการที่เกี่ยวข้องภายใต้การดูแลของอาจารย์จักษุแพทย์ เช่น การวัดแว่น การผ่าตัดต้อกระตก ผ่าตัดต้อเนื้อ การใช้เลเซอร์กับการรักษาโรคทางจักษุวิทยา เป็นต้น กว่าจะมาเป็นจักษุแพทย์ได้นั้น แพทย์ต้องผ่านการประเมินความรู้ความสามารถทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งนับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลยทีเดียว
เมื่อสำเร็จการศึกษาเป็นจักษุแพทย์แล้ว ก็จะกลับไปทำงานในโรงพยาบาลต้นสังกัดที่ตนเองได้รับทุนสนับสนุนมา ในบางครั้งอาจเป็นโรงพยาบาลระดับจังหวัดหรืออำเภอ อาจเป็นภูมิลำเนาของตนเอง หรือจังหวัดอื่น ๆ ที่ไม่คุ้นเคย ไม่ว่าจะได้ทำงานที่ไหน ก็ถือเป็นประสบการณ์ เมื่อทำงานไปสักระยะ และปรับตัวได้ดีก็อาจตั้งรกรากที่นั่นได้
Hard Skills
- พัฒนาทักษะทางด้านการแพทย์พื้นฐานและจักษุวิทยา กายวิภาคศาสตร์ ความรู้เกี่ยวกับโรคต่าง ๆ การใช้เครื่องมือแพทย์ในการทำงาน ความแม่นยำในการทำหัตถการ
- ทักษะทางภาษาอังกฤษ ซึ่งสำคัญในสายการเรียนแพทย์
Soft Skills
- พัฒนาทักษะการสื่อสาร จิตวิทยา ซึ่งใช้ในการรับมือกับคนไข้และญาติ มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี การสื่อสารกับเพื่อนร่วมงาน
- ฝึกทักษะการบริหารจัดการเวลาและสิ่งต่าง ๆ ความรับผิดชอบ การลำดับความสำคัญ
"ตา เป็นหนึ่งในอวัยวะสำคัญที่สุดของร่างกาย ทำหน้าที่ในการรับภาพ รับรู้ความเป็นไปของสิ่งแวดล้อมรอบข้างทั้งยังเป็นสิ่งที่ช่วยเสริมความงดงามบนใบหน้า หากตามัวลงไม่ชัด ดูแล้วไม่ปกติไม่สวย ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยได้อย่างมาก ดวงตาจึงถือเป็นอวัยวะที่มีค่ายิ่ง การเป็นจักษุแพทย์ถือเป็นความภาคภูมิใจ ที่มีโอกาสได้ดูแลดวงตาของผู้ป่วย เป็นผู้มีบทบาทในการคืนความสามารถในการมองเห็นของผู้ป่วย คำขอบคุณจากผู้ป่วยที่ทำให้ เขาได้กลับมามองเห็นดี และเราเห็นเขาสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้เป็นปกติอีกครั้ง มันมีค่ามากเหนือกว่าสิ่งอื่นใด ที่เงินไม่สามารถซื้อได้เลย"
นายแพทย์วิจักษณ์ คงวัฒนานนท์
อาจารย์ประจำภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์)
วิชาที่เรียน
ตัวอย่างรายชื่อวิชาการบรรยายภาคทฤษฎี
- Basic knowledge of Ophthalmic instruments
- Drug for Ophthalmology
- Cornea& External eye disease; Common corneal disease
- Eyelids & lacrimal system; common eyelid disease
- Community medicine in ophthalmology
- Refractive surgery
นอกจากนั้นยังเน้นการฝึกภาคปฏิบัติที่จะได้ลงไปทำงานจริง ๆ มีการทำหัตถการ ทำแล็บ บริบาลผู้ป่วยในคลินิกจักษุ ตรวจผู้ป่วยนอก บริบาลผู้ป่วยในหอผู้ป่วยจักษุ ทำงานวิจัย บางสถาบันอาจมีการศึกษาดูงานต่างประเทศ
ทุนการศึกษา
การเรียนต่อแพทย์เฉพาะทางนั้น โรงพยาบาลมักเป็นผู้สนับสนุนทุนให้ และเมื่อสำเร็จการศึกษาแพทย์ผู้นั้นก็จะกลับมาทำงานที่โรงพยาบาลต้นสังกัด อาจมีค่าลงทะเบียนขณะเรียนต่อแต่เป็นจำนวนเงินไม่สูงนัก
- ศัลยแพทย์
- นักทัศนมาตร
- ช่างทำแว่นสายตา
ขอขอบพระคุณนายแพทย์วิจักษณ์ คงวัฒนานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์) ผู้เอื้อเฟื้อข้อมูล
Copyright © 2019 TruePlookpanya. All rights reserved.
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ห้ามมิให้ผู้ใดคัดลอก ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข หรือเผยแพร่ส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ก่อนได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร