นักโภชนาการ
นักโภชนาการ
นักโภชนาการ
นักโภชนาการ

       นักโภชนาการ หนึ่งในอาชีพด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพที่แนะนำดูแลด้านอาหารเพื่อคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อร่างกายของเพื่อนมนุษย์ นักโภชนาการในโรงพยาบาลนั้น มีหน้าที่หลักคือการให้โภชนาการบำบัดที่เหมาะสมกับผู้ป่วย เพราะอาหารถือเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์และถือเป็นหนึ่งในขั้นตอนการรักษาโรคที่สำคัญ นักโภชนาการจึงถือเป็นบุคคลากรทางการแพทย์ ที่สนับสนุนให้แผนการรักษาของแพทย์เป็นไปอย่างครบถ้วนสมบูรณ์

นักโภชนาการ

นักโภชนาการ

นักโภชนาการ

 

ลักษณะการทำงาน

       หน้าที่หลักของนักโภชนาการ(ในโรงพยาบาล) คือให้โภชนบำบัดที่เหมาะสมกับผู้ป่วย โดยจะทำการแปลคำสั่งของแพทย์ในการรักษาผู้ป่วย มาเป็นค่าพลังงานหรือสารอาหารที่ผู้ป่วยควรได้รับ โดยต้องจัดสรรวัตถุดิบเพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานในครัวของโรงพยาบาลสร้างสรรค์อาหารออกมาให้แก่ผู้ป่วย

       นอกจากการดูแลเรื่องครัวและอาหารในโรงพยาบาลแล้ว นักโภชนาการยังต้องทำงานในส่วนของคลินิก จะเป็นการตรวจสอบภาวะโภชนาการผู้ป่วยว่าจะเกิดภาวะทุพโภชนาการแค่ไหน (Malnutrition) หรือเรียกง่าย ๆ ก็คือ ภาวะขาดสารอาหารของผู้ป่วยบางราย เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ต้องใช้เคมีบำบัด ทำการฉายเสียง ส่งผลให้มีอาการข้างเคียงเป็นอาการคลื่นไส้อาเจียนหรือท้องเสียได้ นักโภชนาการจะต้องทำการประเมินความเสี่ยง และให้คำแนะนำกับแพทย์ในการจัดสรรอาหารให้คนไข้ได้รับสารอาหารและพลังงานให้ครบถ้วน เพื่อฟื้นฟูร่างกาย โดยการตัดสินใจจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์อีกครั้งหนึ่ง

ขั้นตอนการทำงาน

       นักโภชนาการในโรงพยาบาลจะมีขั้นตอนในการทำงานดังนี้ 

  • งานครัว จะรับคำสั่งแพทย์ online มาตามระบบ ไปนำข้อมูลมา เช็คประวัติผู้ป่วยเฉพาะโรค แล้วจึงทำการแปลคำส่งของแพทย์ไปเป็นค่าพลังงานและเลือกวัตถุดิบและเมนูอาหารเพื่อส่งต่อให้พนักงานทำอาหารในครัว  
  • เช็คคุณภาพอาหาร ปริมาณ การจัดอาหารให้ถูกต้องก่อนนำขึ้นไปยังหอผู้ป่วย โดยต้องคำนวณและจัดการปริมาณอาหารในครัวให้ดีและเหมาะสม 
  • ในทุกสัปดาห์จะมีการ Round ward (เช็คการผู้ป่วยที่หอผู้ป่วยร่วมกับแพทย์) เป็นเคสพิเศษที่นักโภชนาการต้องคำนวณพลังงานและความต้องการสารอาหารทุกสัปดาห์ โดยทำงานร่วมกับแพทย์และสหสาขาอื่น ๆ อย่าง พยาบาล เภสัชกร นักกายภาพบำบัด 
  • ในส่วนของคลินิก จะต้องให้คำปรึกษาแก่แพทย์หรือคนไข้ทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วย ตัวอย่างเช่น เช่น แพทย์มีเคสว่าเป็นผู้ป่วยโรคไตระยะสุดท้าย คนไข้รับประทานอาหารให้น้อยมีสารอาหารโปรตีนไม่ถึงเป้าที่ต้องการ นักโภชนาก็ต้องไปคำนวนค่าพลังงานแคลอรี่ให้เป็นรายๆ ไป 

       หากเป็นนักโภชนาการที่อยู่ในอุตสาหกรรมอื่น อาทิ ศูนย์บริการความงาม องค์กรเอกชน จะมีขั้นตอนการทำงานที่แตกต่างไป แต่พื้นฐานการทำงานคือการคิดคำนวณพลังงาน และแนะนำอาหารให้แก่ผู้เข้ารับปรึกษาเช่นเดียวกัน 

สถานที่ทำงาน

  • โรงพยาบาล ในกรณีที่เป็นนักโภชนาการในโรงพยาบาล จะเน้นการทำงานให้โภชนบำบัดแก่ผู้ป่วยและสนับสนุนการรักษาของแพทย์ 
  • ศูนย์บริการเสริมความงาม นักโภชนาที่ทำงานในสายนี้ จะเน้นให้คำปรึกษาและความรู้ทางโภชนาการแก่ผู้ที่สนใจเรื่องการลดน้ำหนัก หรือบำรุงผิวพรรณ 
  • องค์กรเอกชน หรือสถานที่ทำงานส่วนตัว นักโภชนาการสามารถเข้าไปทำงานในองค์กรเอกชน ที่ทำธุรกิจด้านอาหารหรือด้านสุขภาพ เพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษาหรือคำนวณแคลอรี่ให้เหมาะสมกับลูกค้าขององค์กร รวมทั้งสามารถเปิดธุรกิจด้านโภชนาการของตัวเอง หรือธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพได้ 

ผู้ที่ต้องทำงานด้วย 

  • สหวิชาทางการแพทย์ต่าง ๆ  อย่าง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร กายภาพบำบัด เช่น เภสัชกรจะต้องมีการแลกเปลี่ยนว่ายาบางชนิดไม่ควรรับประทานคู่กับอาหารประเภทไหน หรือในกรณีที่ทำงานร่วมกับนักกายภาพบำบัด ที่ผู้ป่วยมีปัญหาในเรื่องกล้ามเนื้อส่งผลต่อการกลืนอาหาร นักภายภาพจะประสานขอความร่วมมือให้นักโภชนาการออกแบบอาหารที่ได้พลังงานและสามารถให้คนไข้ประเภทนี้รับประทานได้ 
  • ผู้ป่วย บางเคสที่ต้องได้รับการดูแลด้านโภชนาการเป็นพิเศษ อาจทำให้นักโภชนาการต้องพูดคุยกับผู้ป่วยโดยตรง
  • ผู้ต้องการปรึกษาด้านรูปร่างความงาม 
  • กลุ่มนักธุรกิจผู้ผลิตอาหาร

ทางเลือกอาชีพ

  • ที่ปรึกษาด้านโภชนาการเพื่อความงามหรือการลดน้ำหนัก
  • ประกอบธุรกิจส่วนตัวด้านอาหารเพื่อสุขภาพ หรืออาการสำหรับผู้ป่วย
  • เชฟ

เงินเดือน นักโภชนาการ

ตำแหน่งและเส้นทางการเติบโต

  • สายงานโรงพยาบาลและโรงเรียนแพทย์ จะมีการเติบโต ดังนี้
    • นักวิชาการโภชนาการ
    • นักโภชนาการชำนาญการ
    • นักโภชนาการเชี่ยวชาญ

       โดยต้องมีการทำวิจัยเพื่อเลื่อนขั้นเป็นลำดับถัดไป 

  • สายงานอื่น ๆ จะมีเส้นทางการเติบโตไปตามองค์กรต้นสังกัด 

รายได้

  • องค์กรเอกชน อาจมีเงินเดือนเริ่มต้นเข้าทำงาน ประมาณ 18,000 บาท- 30,000 บาท 
  • ในสายโรงพยาบาลบางแห่ง เริ่มต้น 20,000 บาท แต่หากทำงานวิจัยเลื่อนขั้น จะปรับเงินเดือนขึ้นค่อนข้างสูง
  • นักโภชนาการ หากเป็นวิทยากรให้ความรู้ตามองค์กรต่าง ๆ  5000 – 6000 ต่อครั้ง 

การแข่งขันและความต้องการของตลาด

       ยุคสมัยนี้ผู้คนหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น อาชีพนักโภชนาการเริ่มมีความมั่นคง และมีทางเลือกอาชีพที่หลากหลายมากขึ้น แม้บางโรงพยาบาลอาจมีนักโภชนาการจำนวนมาก แต่ในหลายโรงพยาบาลก็ยังคงขาดแคลน ดังนั้น จึงถือเป็นอาชีพที่ัยังถือเป็นที่ต้องการอยู่ในระดับหนึ่ง 

  • ได้ความรู้อัพเดทเทรนด์โลก เรื่องสุขภาพตลอดเวลา มีความรู้ติดตัวก็นำไปสอนคนไข้ให้ทันโรคได้ ไม่ถูกหลอกไปกับโฆษณาชวนเชื่อ
  • ตระหนักถึงโรค NCD คือกลุ่มโรคที่มาจากพฤติกรรมการกิน ที่แม้ไม่ใช่โรคติดต่อ แต่เป็นโรคเรื้อรัง 
  • ถ้าทำในโรงพยาบาล อาจจะมีการเข้าเวร ที่จะไม่เป็นเวลา  เรื่องวันหยุดก็จะไม่ปกติ เพราะคนไข้จะต้องรับประทานอาหารทุกวัน การทำงานของเราจึงสำคัญกับสุขภาพของคนไข้าก
  • ต้องรับมือให้ได้กับการที่ต้องพบเจอคนไข้ทุกรูปแบบ เพราะเราเลือกแล้วที่จะมาทำงานเป็นผู้เสียสละ
  • อดทนรับความกดดันให้ได้ 
  • มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น 
  • ทักษะภาษาอังกฤษ 
  • ทักษะคิดวิเคราห์ คำนวณความต้องการของสารอาหาร 
  • ทักษะศัพท์ทางการแพทย์ ที่จำเป็นมาก เพราะต้องรับออเดอร์จากแพทย์ (กรณีทำงานในโรงพยาบาล)
  • ทักษะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า  (ผักบางชนิดหมด เอาอะไรมาแทน) 
  • ทักษะการฟัง
  • ทักษะจิตวิทยา การพูดกับคนไข้ ถามคำถามปลายเปิด มองหาจุดบกพร่องในการปรับพฤติกรรม 

เรียน โภชนาการ

  • ในระดับมัธยมศึกษาต้องเรียนสายวิทย์คณิตเท่านั้น 
  • ระดับปริญญาตรี เข้าเรียนในสาขาด้านอาหารและโภชนาการ ซึ่งชื่อเรียกคณะจะแตกต่างกันไปตามแต่ละสภาบัน เช่น คณะสหเวชศาสตร์ สาขาวิชาโภชนาการและการกำหนดอาหาร,
    คณะเกษตร สาขาอาหารและโภชนาการ. คณะวิทยาศาสตร์ สาขาคหกรรมศาสตร์-การกำหนดอาหารและโภชนบำบัด เป็นต้น แต่วุฒิได้รับจะเป็นวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาอาหารและโภชนาการ(หรือใกล้เคียง ขึ้นอยู่กับสถาบัน)

Hard Skills

  • ตามระบบการเรียนของสายวิทย์ทั้งหมด  ตั้งเป้าหมายให้ดี ตอนที่เรียนในมหาวิทยาลัยถ้าเลือกไว้ตั้งแต่แรกว่า จะเป็นเชฟ หรือนักโภชนาการได้จะมีประโยชน์มากยิ่งขึ้น จะได้สามารถโฟกัสำด้ถูกจุด 
  • ฝึกทำอาหารบ่อย ๆ และทำความรู้จักวัตถุดิบต่าง ๆ ให้มาก

Soft Skills 

  • ฝึกการพูดและสื่อสารอย่างมีจิตวิทยา เพราะในการทำงานจริง เราต้องมีการพูดคุยกับผู้คนที่ต้องการปรับพฤติกรรมการกินหรือแม้แต่ผู้ป่วย ซึ่งต้องสื่อสารโน้มน้าวให้พวกเขาให้ความร่วมมือให้ได้ เพื่อสุขภาพของพวกเขาเอง 

กิจกรรม

  • ลองฝึกงานตามร้านอาหาร ในส่วนการประกอบอาหาร โดยเฉพาะร้านที่มีการคำนวนแคลอรี่อย่างชัดเจน 

 

วิชาที่เรียน 

       ตัวอย่างวิชาบังคับในหลักสูตร อาหารและโภชนาการ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปี 2552 

  • หลักการประกอบอาหาร

  • สุขาภิบาลอาหาร 

  • วิทยาศาสตร์การประกอบอาหาร 

  • โภชนศาสตร์มนษย์

  • ปฏิบัติการทางโภชนศาสตร์มนษย์

  • การจดเตรียมอาหาร

  • หลักการถนอมอาหาร 

  • เทคนิคการนําเสนอทางอาหารและโภชนาการ 

  • โภชนศาสตร์ในวฏจักรชีวิต 

  • การวิเคราะห์อาหารและโภชนาการ

  • การจัดการระบบบร้านอาหาร

เคล็ดลับการเรียน

       ในช่วงปีแรก ๆ จะยังเรียนวิชาพื้นฐานของสายวิทยคณิตอยู่ ซึ่งวิชาเคมีเป็นวิชาที่ยากมาก ดังนั้นควรฝุกทำโจทย์เยอะ ๆ เพื่อให้เข้าใจยิ่งขึ้น

 

ค่าเทอมตลอดหลักสูตร

     114, 400 บาท (ตลอดหลักสูตร หรือประมาณ  14, 300 บาท/เทอม

  • เชฟ 
  • นักวิทยาศาสตร์การอาหาร 
  • นักกำหนดอาหาร 

Copyright © 2019 TruePlookpanya. All rights reserved.
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ห้ามมิให้ผู้ใดคัดลอก ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข หรือเผยแพร่ส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ก่อนได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร