โบรกเกอร์
โบรกเกอร์
โบรกเกอร์
โบรกเกอร์

       โบรกเกอร์ คือ อาชีพที่คอยแนะนำการลงทุนหรือบริการต่าง ๆ เช่น ตลาดทุน อนุพันธ์ ประกันภัย เป็นต้น โดยจะมีหน้าที่ดูแลเรื่องเงินทอง ให้คำปรึกษา คำแนะนำ และแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้กับลูกค้า ทั้งลูกค้าบุคคลและองค์กรธุรกิจ

ลักษณะงาน

       ดูแลเรื่องการลงทุนและบริการต่าง ๆ โดยมีหน้าที่ดำเนินการซื้อขาย ส่งมอบ แจ้งสิทธิที่ได้รับให้กับลูกค้า และต้องคอยสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าให้เป็นที่เชื่อใจด้วย การลงทุนและบริการจะแบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ ได้แก่
  • การลงทุนด้านการเงิน คือการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ เช่น ตลาดทุน หุ้น อนุพันธ์ กองทุน ตราสารหนี้ ฯลฯ 
  • การลงทุนหรือบริการด้านอื่น ๆ เช่น ประกันวินาศภัย ประกันชีวิต เป็นต้น 

ขั้นตอนการทำงาน

  • อัปเดตข้อมูลข่าวสารจากทั่วโลก เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลในการทำงาน
  • ติดต่อเทรดเดอร์ หรือลูกค้า เพื่อพูดคุย อัปเดตข้อมูลข่าวสาร และให้คำปรึกษา คำแนะนำในการลงทุนหรือบริการ 
  • ดูแลเรื่องการเปิดบัญชี การจ่ายเงินชำระค่าลงทุนหรือบริการ และส่งมอบหลักทรัพย์ให้กับลูกค้า ถ้าลูกค้าต้องการขอคำปรึกษาหรือคำแนะนำต้องพร้อมที่จะพูดคุยได้เสมอ 

สถานที่ทำงาน

  • ออฟฟิศสำนักงาน เพราะข้อมูลส่วนใหญ่เป็นความลับ จึงเน้นการทำงานภายในออฟฟิศเพื่อป้องกันข้อมูลรั่วไหล

ผู้ที่ต้องทำงานด้วย 

  • เทรดเดอร์หรือลูกค้า คือกลุ่มคนที่เราต้องคอยพูดคุย อัปเดตข้อมูลข่าวสาร ให้คำปรึกษา คำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุนหรือบริการ สิ่งสำคัญในการทำงานร่วมกับกลุ่มคนเหล่านี้ คือคำแนะนำที่ดี ข้อมูลข่าวสารที่อัปเดตและถูกต้อง 
 
       โบรกเกอร์เป็นอาชีพที่เป็นอิสระ ไม่ได้มีลำดับขั้นการเติบโตเหมือนอาชีพอื่น ๆ  เพราะยิ่งมีประสบการณ์เยอะ และสร้างผลงานที่น่าประทับใจให้เทรดเดอร์หรือลูกค้าได้มากเท่าไหร่ ยิ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จและสร้างรายได้มากเท่านั้น 
  • จบปริญญาตรี สาขาใดก็ได้ เนื่องจากก่อนเริ่มงานจะมีการฝึกอบรมให้ก่อน 
  • Trainee รายได้ 15,000 - 20,000 บาท
  • โบรกเกอร์ รายได้ 20,000 - 50,000 บาท
  • มีรายได้ดี และมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นตามประสบการณ์
  • ไม่มีการทำงานนอกเวลาและวันเสาร์อาทิตย์ เพราะทำงานตามเวลาเปิดปิดของตลาดหลักทรัพย์
  • ลักษณะการทำงานเป็นรูปแบบซ้ำ ๆ ที่ต้องทำเหมือนเดิมทุกวัน จึงอาจเกิดความเบื่อหน่ายได้ง่าย
  • เป็นงานที่ต้องอยู่กับตัวเลข จึงมีความเสี่ยงที่อาจเกิดความผิดพลาดได้ 
  • ด้วยความที่ต้องทำยอดในแต่ละเดือนให้ได้ตามเป้าหมาย จึงอาจส่งผลให้กดดันและเครียดได้ 
  • มีความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) ต้องรู้จักควบคุมอารมณ์ของตัวเอง และสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าได้ 
  • มีใจรักในงานด้านบริการ (Service Mind) เพราะหน้าที่หลัก ๆ คือคอยให้คำปรึกษาและคำแนะนำให้กับลูกค้า 
  • ซื่อสัตย์และจรรยาบรรณในวิชาชีพ ไม่เปิดเผยข้อมูลของลูกค้า หรือนำข้อมูลที่เป็นความลับไปทำประโยชน์ให้กับตัวเอง
  • ละเอียดรอบคอบ เพราะต้องทำงานกับตัวเลข หากเกิดความผิดพลาดจะทำให้เกิดผลเสียต่อองค์กรและตัวโบรกเกอร์เอง
  • กระตือรือร้น ชอบอัปเดตข้อมูลข่าวสาร คอยติดตามความเป็นไปของโลกอยู่เสมอ เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการทำงาน

 

  • ทักษะด้านคณิตศาสตร์ เพราะต้องทำงานกับตัวเลขเป็นหลัก จึงจำเป็นที่จะต้องคิดคำนวณเป็น และต้องคิดได้ไวด้วย
  • ทักษะภาษาอังกฤษ ต้องคอยอัปเดตข้อมูลข่าวสารจากทั่วโลก และการติดต่อกับลูกค้าบางครั้งอาจต้องใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร
  • ทักษะการแก้ปัญหา ต้องมีความพร้อมในการตัดสินใจและแก้ปัญหาให้กับลูกค้า เพราะบางครั้งอาจมีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ จึงจำเป็นต้องมีไหวพริบในการแก้ปัญหา 
  • ทักษะการสื่อสาร เพราะต้องเป็นทั้งผู้ฟังที่ดี และเป็นผู้ให้คำปรึกษา คำแนะนำ จึงถือเป็นทักษะที่สำคัญมากที่อาชีพนี้จะขาดไม่ได้เลย  
  • ทักษะการคิดวิเคราะห์ สามารถวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้รับเพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการให้คำแนะนำกับลูกค้า
  • ทักษะการจัดการ อีกหนึ่งทักษะที่สำคัญมากของโบรกเกอร์ เพราะในหนึ่งวันจะต้องทำงานที่แตกต่างกันให้กับลูกค้าหลายคนในเวลาที่จำกัด 
  • ทักษะการใช้คอมพิวเตอร์ ควรมีทักษะพื้นฐานในการใช้คอมพิวเตอร์และโปรแกรมต่าง ๆ เพราะคอมพิวเตอร์ที่โบรกเกอร์ใช้จะเป็นซอฟต์แวร์ทางการเงินโดยเฉพาะ ได้แก่ รอยเตอร์ส บลูมเบิร์ก มอร์นิ่งสตาร์ 

       การทำงานในอาชีพโบรกเกอร์นั้น ไม่จำเป็นต้องจบตรงสาย แต่ไม่ว่าจะเรียนมาไหนด้านใด ถ้ามีความมุ่งมั่นตั้งใจก็สามารถประกอบอาชีพนี้ได้ทั้งนั้น แต่หากจะพูดถึงสายวิชาเรียนที่ใกล้เคียงกับอาชีพนั้น อาจมีหลายคณะ เช่น เน้นบริหารธุรกิจ ไฟแนนซ์  เศรษฐศาสตร์ การเงินการธนาคาร เป็นต้น

Hard Skills

  • ฝึกฝนทักษะทางคณิตศาสตร์ เพราะเป็นทักษะพื้นฐานที่จำเป็นในการทำงาน 
  • ฝึกฝนทักษะภาษาอังกฤษ ถือเป็นทักษะที่สำคัญ เพราะจำเป็นต่อการทำงาน และยังช่วยให้มีโอกาสเติบโตในสายงานได้อย่างรวดเร็ว 
  • ฝึกเรียนรู้เรื่องการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ เช่น ตลาดทุน หุ้น อนุพันธ์ กองทุน ตราสารหนี้ ฯลฯ จะช่วยให้เราได้พัฒนาทักษะด้านการลงทุน ซึ่งเป็นรากฐานของอาชีพโบรกเกอร์

Soft Skills 

  • ฝึกพัฒนา EQ หรือความฉลาดทางอารมณ์ ควรรู้จักควบคุมอารมณ์ของตนเอง มีเหตุผล มีสติ และต้องเรียนรู้การทำงานร่วมกับผู้อื่น การเป็นผู้ฟังที่ดี และการเข้าใจผู้อื่นด้วย
  • ฝึกการพูดและการสื่อสาร ควรพูดให้ชัดเจน คล่องแคล่ว มีความมั่นใจ ควรฝึกการพูดเจรจาต่อรอง และพูดจูงใจให้เป็นด้วย เพราะเป็นทักษะสำคัญของอาชีพนี้เลย
  • ฝึกฝนทักษะการคิดวิเคราะห์ โดยติดตามข่าวสารจากทั่วโลก แล้วนำข้อมูลข่าวสารมาวิเคราะห์ว่าแต่ละสถานการณ์จะส่งผลต่อเศรษฐกิจ ธุรกิจ หรือตลาดหลักทรัพย์ยังไงบ้าง
  • ฝึกฝนการแก้ไขปัญหา ตั้งแต่การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และการแก้ไขปัญหาที่มีความซับซ้อน เพราะเป็นทักษะสำคัญที่จำเป็นต่อการทำงาน

วิชาเรียน 

       แม้ว่าอาชีพโบรกเกอร์จะเป็นอาชีพที่จบจากสาขาใดก็ได้ แต่วันนี้เราจะขอแนะนำตัวอย่างคณะและสาขาวิชาที่ใกล้เคียงกับสายอาชีพงานการลงทุนมาให้หนึ่งตัวอย่าง นั่นคือ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยตัวอย่างรายชื่อวิชาเรียน จะแบ่งไปตามกลุ่มวิชาเฉพาะ กลุ่มวิชาการเงิน การบัญชี การจัดการ การจัดการการผลิต การตลาด เช่น 

  • กลุ่มวิชาเฉพาะ เช่น เศรษฐศาสตร์จุลภาค มหภาค การบัญชีการเงิน การเงินธุรกิจ สถิติธุรกิจ ระบบภาษีอากรธุรกิจ การวางแผนและควบคุมทางการเงิน สถาบันการเงิน หลักการประกันภัย แคลคูลัสสำหรับธุรกิจ 
  • กลุ่มวิชาการเงิน เช่น การจัดหาเงินทุนธุรกิจ การสื่อสารทางการเงิน สินเชื่อและการเรียกเก็บเงิน การจัดการสินทรัพย์ธุรกิจ การวิเคราะห์ตราสารหนี้ตราสารทุน การวิเคราะห์และลงทุนในกองทุนรวม การวิเคราะห์หลักทรัพย์ ตราสารอนุพันธ์ วิศวกรรมทางการเงิน พื้นฐานการวิเคราะห์หลักทรัพย์ด้วยโปรแกรมทางการเงิน 
  • กลุ่มวิชาการบัญชี เช่น บัญชีขั้นกลาง 
  • กลุ่มวิชาการจัดการ เช่น การวิเคราะห์ระบบธุรกิจ ธุรกิจระหว่างประเทศ การจัดการองค์ความรู้ในธุรกิจ การจัดการค่าตอบแทน ความเป็นผู้ประกอบการ 
  • กลุ่มวิชาการจัดการการผลิต เช่น การจัดหาเชิงกลยุทธ์ การจัดการคุณภาพ การจัดการโซ่อุปทาน 
  • กลุ่มวิชาการตลาด เช่น การจัดซื้อ การจัดการการขาน การตลาดดิจิทัล การตลาดระหว่างประเทศ การตลาดบริการ

       นี่เป็นเพียงตัวอย่างวิชาเรียน ของสาขาวิชาทางการเงิน แต่น้อง ๆ ที่สนใจอาชีพดังกล่าว สามารถเลือกเรียนคณะใดก็ได้ ไม่เป็นปัญหาในการประกอบอาชีพ ขอเพียงมีความชอบและพัฒนาทักษะได้ตามต้องการเท่านั้น 

 

  • นักลงทุนหรือนักวิเคราะห์การลงทุน
  • เจ้าหน้าที่ธนาคาร
  • นักการตลาด
  • เจ้าหน้าที่ฝ่ายขาย

Copyright © 2019 TruePlookpanya. All rights reserved.
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ห้ามมิให้ผู้ใดคัดลอก ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข หรือเผยแพร่ส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ก่อนได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร