แพทย์ออร์โธปิดิกส์ (Orthopedics) หรือหมอกระดูกและข้อ คือหมอที่มีความเชี่ยวชาญในการรักษากระดูก ข้อ ต่าง ๆ รวมถึงกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นของแขนขาและกระดูกสันหลัง ไม่ว่าจะเป็นอาการกระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน ฯลฯ โดยปกติมักทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพรายอื่น และมักจะทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาเมื่อจำเป็นต้องใช้บริการ
ลักษณะงาน
เป้าหมายและหน้าที่ของแพทย์ออร์โธปิดิกส์คือการรักษาซ่อมแซมกระดูกให้กลับมาเหมือนเดิม โดยจะมีทั้งการออกตรวจคนไข้ผู้ป่วยใน (ราวด์วอร์ด) ทำการผ่าตัดเมื่อมีเคสเข้ามา และตรวจผู้ป่วยนอกหรือ OPD ใน 5 วันการทำงานอาจแบ่งเป็น 2 วันตรวจ 2 วันผ่าตัด 1วันทำงานวิจัย หรืออื่น ๆ ตามแต่ละที่ไป ต่างกันตามโรงพยาบาลรัฐฯและเอกชน ผู้ที่จะมาเป็นแพทย์จึงต้องมีทักษะการจัดสรรเวลาทำงานที่ดีและยืดหยุ่นได้ตามสถานการณ์ด้วย
ปัจจุบันมีสาขาเฉพาะทางย่อยในออร์โธปิดิกส์ดังนี้
1. ข้อสะโพกและข้อเข่า (Hip and Knee Surgery) หรือมีอีกชื่อว่า ออร์โธปิดิกส์บูรณสภาพ (Adult Reconstruction) ประกอบด้วยการตัดต่อกระดูกใหม่ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม
2. กระดูกสันหลัง (Spine Surgery) เป็นการผ่าตัดทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับกระดูกสันตั้งแต่คอจนถึงก้นกบ
3. เวชศาสตร์การกีฬา (Sport Surgery) เป็นการผ่าตัดซ่อม สร้างเส้นเอ็นของข้อต่อต่าง ๆ เช่น ข้อเข่า สะโพก ไหล่ ข้อเท้า เป็นต้น โดยใช้อุปกรณ์กล้องส่องเข้าไปในข้อ (Arthroscopic surgery)
4. การบาดเจ็บกระดูกและกล้ามเนื้อ (Trauma) เป็นการผ่าตัดเพื่อรักษากระดูกหัก โดยการดามโลหะชนิดต่าง ๆ
5. ข้อมือและมือ (Wrist and Hand) ผ่าตัดรักษาตั้งแต่ข้อมือ มือ นิ้วมือ ทุกรูปแบบ
6. ข้อเท้าและเท้า (Ankle and foot) ผ่าตัดรักษาที่เกี่ยวกับความผิดปกติของข้อเท้าและเท้า
7. กระดูกเด็ก (Pediatric) รักษาภาวะผิดปกติของกระดูก ข้อ กล้ามเนื้อ และเส้นเอ็น ในเด็กที่อายุน้อยกว่า 18 ปี
8. เนื้องอกและมะเร็ง (Tumors) ผ่าตัดรักษาเกี่ยวกับเนื้องอกและมะเร็งของกล้ามเนื้อและกระดูก
9. เมตาบอลิก (Metabolic) รักษาเกี่ยวกับปัญหาและภาวะโรคกระดูกพรุน ความผิดปกติของการเปลี่ยนแปลงกระดูก (สร้างกระดูกทำลายกระดูก)
และในอนาคตอาจมีสาขาใหม่เกิดขึ้นแยกย่อยออกไปอีก โดยอาจมีการผสมผสานศาสตร์ทางด้านวิศวกรรม หรือวิทยาศาสตร์ชีวภาพ
ขั้นตอนการทำงาน
- ซักประวัติ ตรวจร่างกายผู้ป่วยที่มีอาการข้างต้น เพื่อหาสาเหตุของปัญหา
- ส่งตรวจเพิ่มเติมโดยละเอียด ทั้งการเจาะเลือด การตรวจภาพถ่ายทางรังสีเพื่อให้ได้การวินิจฉัยที่ถูกต้อง
- พิจารณาการรักษาที่เหมาะสม โดยมีเป้าหมายให้คนไข้สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงดังเดิมให้มากที่สุด อาจมีข้อจำกัดอยู่บ้างในกลุ่มผู้สูงวัยซึ่งร่างกายเสื่อมสภาพตามวัย แต่แพทย์ก็จะหาทางรักษาให้ได้ดีที่สุด
- อาจมีการตรวจหรือติดตามผลการรักษาของคนไข้ที่รับผิดชอบเคสตามแผนกผู้ป่วยในด้วย
สถานที่ทำงาน
ประจำอยู่ตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั้งของรัฐบาลและเอกชน เหมือนกับแพทย์อื่น ๆ อาจมีการเปิดคลินิกส่วนตัวบ้างโดยเฉพาะในต่างจังหวัด โดยจะมีการตรวจผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน รวมถึงทำการผ่าตัดในห้องผ่าตัด
ผู้ที่ต้องทำงานด้วย
- แพทย์สาขาอื่น ๆ
- พยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล บุรุษพยาบาล
- ผู้แทนบริษัทเครื่องมือ ผู้แทนบริษัทยา โดยเฉพาะพยาบาลที่จะทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยแพทย์ในการผ่าตัด
ตำแหน่งและเส้นทางการเติบโตในสายอาชีพ
- สายงานในโรงพยาบาลรัฐบาล: เริ่มต้นจากเป็นแพทย์ผู้ชำนาญการ ต่อมาสามารถเป็นหัวหน้ากลุ่มงานออร์โธปิดิกส์ ถ้าชอบงานบริหารก็สามารถขึ้นไปเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล สาธารณสุขจังหวัด อธิบดีกรมต่าง ๆ จนถึงปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้
- สายงานในโรงเรียนแพทย์: เริ่มต้นจากเป็นอาจารย์แพทย์ ต่อมาเป็นหัวหน้าหน่วย จนถึงหัวหน้าภาควิชาฯ รวมถึงทำงานบริหารในระดับผู้อำนวยการโรงพยาบาลหรือคณบดีคณะแพทย์ได้ โดยสามารถทำตำแหน่งทางวิชาการขึ้นไปเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ ไปจนถึงระดับศาสตราจารย์ตามลำดับ
- สายงานโรงพยาบาลเอกชน: จะมีการปฏิบัติงานเป็นแพทย์เฉพาะทาง สามารถจัดตั้งศูนย์เฉพาะทางที่ตนเองถนัดได้
รายได้
- รายได้ของแพทย์ออร์โธปิดิกส์ที่ทำงานในโรงพยาบาลรัฐจะอยู่ที่ประมาณ 60,000 – 120,000 บาทต่อเดือน
- รายได้ของแพทย์ออร์โธปิดิกส์ในโรงพยาบาลเอกชน หรือทำคลินิกเพิ่มเติมจะมีรายได้ประมาณ 150,000 – 300,000 บาทต่อเดือน
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับโอทีและเคสผ่าตัดด้วย หากมีเคสเยอะ ในโรงพยาบาลเอกชน รายได้อาจสูงถึงหลักหลายแสนบาทในบางเดือน
การแข่งขันและความต้องการของตลาด
ปัจจุบันทั่วประเทศมีแพทย์ออโธปิดิกส์อยู่ประมาณ 2500 คนโดยจะอยู่ในเขตกทม.ประมาณ 850 คน ที่เหลือจะกระจายอยู่ในส่วนภูมิภาค ได้แก่ภาคกลางประมาณ 500 คน ภาคอีสานประมาณ 350 คน ภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันออกภาคละประมาณ 200 คน ส่วนใหญ่จะเป็นแพทย์ออร์โธปิดิกส์ทั่วไปประมาณร้อยละ 60 มีแพทย์เฉพาะทางด้านการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกและเข่า ด้านศัลยกรรมกระดูกสันหลัง และเวชศาสตร์การกีฬาสาขาละประมาณร้อยละ 10 ที่เหลือจะเป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาอื่น
จะเห็นได้ว่าประเทศไทยยังมีความต้องการแพทย์ออร์โธปิดิกส์อยู่โดยเฉพาะในส่วนภูมิภาค ซึ่งแนวโน้มในปัจจุบันจะนิยมการเรียนต่อเฉพาะทางมากขึ้น
- เคสคนไข้ส่วนใหญ่มักไม่อันตรายถึงชีวิต และเมื่อทำการรักษามักจะเห็นผลดีขึ้น
- การอยู่เวรจะงานไม่หนักมาก เพราะคนไข้ฉุกเฉินสำหรับหมอออร์โธปิดิกส์มีความรีบด่วนไม่มากนัก
- ค่อนข้างมีเวลาว่างให้กับครอบครัวมากกว่าแพทย์สายอื่น
- กลุ่มแพทย์ออร์โธปิดิกส์มักมีนิสัยคล้ายคลึงกันทำให้มีความสนิทสนมทั้งในและนอกเวลางาน
-
อาชีพนี้ช่วยให้คนไข้กลับมาใช้ชีวิตได้ดีเป็นปกติ ปราศจากความพิการหรือความเจ็บปวดที่ได้รับก่อนหน้านั้น
- คนไข้มีความคาดหวังผลการรักษาค่อนข้างสูง ทำให้มีความเสี่ยงในการโดนฟ้องร้อง
- คนไข้มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดทำให้เกิดความพิการหรือเสียชีวิตได้
- แพทย์ออร์โธปิดิกส์มักต้องใช้เครื่องเอกซเรย์ในระหว่างการผ่าตัดทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งหรือภาวะมีบุตรยาก
- ชื่นชอบการผ่าตัด มีใจรักในงานด้านนี้ มีจริยธรรม จรรยาบรรณ
- มีความรับผิดชอบ มีระเบียบวินัยในตนเอง
- แข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ อดทน ทำงานในภาวะกดดันได้
- สายตาเฉียบแหลม มือเบานุ่มนวล จิตใจแข็งแกร่ง (Eagle eyes, lady hands, lion heart)
- ทักษะการคิดวิเคราะห์ แพทย์ต้องทำการประเมินคนไข้ วินิจฉัยโรคจากอาการที่เห็น และพฤติกรรมการต่าง ๆ ประกอบจากการซักถามข้อมูลจากคนไข้เองหรือญาติ และวิเคราะห์เพื่อหาสาเหตุและหนทางการรักษา
- ทักษะการผ่าตัดพื้นฐานและความรู้วิชาชีพแพทย์ รวมทั้งการใช้งานเครื่องมืออุปกรณ์ทางการช่าง เครื่องมือการแพทย์เฉพาะทาง
- ทักษะการทำวิจัย การทำรายงาน
- ทักษะการบริหารจัดการ การบันทึกการรักษา จัดการและประเมินผลต่างๆ ควรเป็นระบบเพื่อให้การช่วยให้การรักษาและธุรกิจด้านการแพทย์ดำเนินลุล่วง
- ทักษะการสื่อสาร ด้านจิตวิทยาและการรับมือกับผู้คนซึ่งแพทย์ต้องสื่อสารและให้ความเข้าใจกับผู้ป่วยและญาติของผู้ป่วยในการปฏิบัติตัวหรือรับมือกับความเจ็บป่วย
หลังจากเรียนจบแพทยศาสตรบัณฑิตเป็นระยะเวลา 6 ปี ต่อด้วยการใช้ทุนเป็นเวลาอีก 3 ปี จากนั้นจึงมาเรียนต่อเฉพาะทางด้านออร์โธปิดิกส์เป็นเวลา 4 ปี ผู้ที่ต้องการเรียนเฉพาะทางต่อยอดสามารถเรียนต่อได้อีก 1 ปี โดยมีสาขาให้เลือกได้แก่ สาขาอุบัติเหตุทางกระดูกและข้อ ศัลยกรรมข้อสะโพกและข้อเข่า โรคของมือและจุลยศัลยกรรม โรคของการบาดเจ็บทางกีฬา โรคของเท้าและข้อเท้า โรคเนื้องอกของกระดูกและเนื้อเยื่ออ่อน โรคของกระดูกสันหลัง โรคกระดูกและข้อในเด็ก รวมถึงโรคทางเมตาบอลิซึมของกระดูก
การศึกษา
หลังจากจบแพทยศาสตรบัณฑิต 6 ปี เรียนต่อเฉพาะทางด้านออร์โธปิดิกส์ ได้วุฒิบัตรเพื่อแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาออร์โธปิดิกส์ (ว.ว. สาขาออร์โธปิดิกส์) Diploma of the Thai Board of Orthopedics (Dip. Thai Board of Orthopedics) โดยมีสถาบันที่เปิดสอน เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นต้น
การพัฒนาระหว่างการทำงาน
จะมีการอบรมเพิ่มเติมโดยจะมีการประชุมวิชาการในแต่ละอนุสาขาเป็นประจำตลอดทั้งปี โดยเฉพาะการประชุม วิชาการประจำปีที่จัดขึ้นปีละครั้งโดยราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย
Hard Skills
- พัฒนาทักษะทางวิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์ กายวิภาคศาสตร์ สรีระวิทยา ความรู้เนื้อหาวิชาการต้องแน่น ในทางปฏิบัติก็ควรฝึกฝนและหาประสบการณ์ไว้ด้วย
Soft Skills
- พัฒนาทักษะการสื่อสาร จิตวิทยา ซึ่งใช้ในการรับมือกับคนไข้และญาติ มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี การสื่อสารกับเพื่อนร่วมงาน
- การรับมือความกดดัน และการจัดการอารมณ์ส่วนตัวในระหว่างการผ่าตัดหรือทำงาน
- ฝึกทักษะการบริหารจัดการเวลาและสิ่งต่าง ๆ ความรับผิดชอบ การลำดับความสำคัญ
กิจกรรมต่าง ๆ
- สามารถติดตามข่าวสารการรับสมัคร การขอทุนต่าง ๆ ได้จากเว็บไซต์และกลุ่มบนโซเชียลมีเดีย
ทางด้านวิชาการก็คือหมอทั่วไปที่อยู่ใน 6 ปี สิ่งที่มีประโยชน์ที่สุดเลยคือเรื่องของ Anatomy เรื่องของร่างกายมนุษย์ เพราะว่าเวลาผ่าตัด ต้องรู้ว่าเวลากรีดมีดลงไป เปิดออกมาจะเจออะไร อะไรที่สำคัญไม่สำคัญที่สามารถตัดได้ ถ้ารู้เรื่องนี้ก็จะมีประโยชน์มากในการผ่าตัด หมอกระดูกก็จะรู้เรื่องนี้เยอะสุดแล้ว เรื่องของระยาง แขน ขา กระดูกสันหลัง ถ้าเป็นช่องท้อง ทรวงอกก็จะเป็นหมอศัลยกรรมทั่วไป จะต่างกันตรงนี้
ตอนเรียนจะเรียนศาสตร์ของกระดูกทั้งหมด ทั้งกระดูกสันหลัง แขน ขา เท้า ต้องมีความรู้พื้นฐานทางด้านศัลยกรรมฉุกเฉินด้วย เพราะคนส่วนใหญ่มักจะประสบอุบัติเหตุมา ต้องสามารถดูแลเบื้องต้นในเคสเหล่านี้ได้ ซึ่งหากไม่ได้เรียนต่อด้านเฉพาะทางอีกทีก็จะต้องรับผิดชอบทุกส่วนโดยไม่ได้แยกเป็น แขน ขา ฯลฯ เป็นพิเศษ ดังนั้นเนื้อหาการรักษาจึงต้องรู้ครอบคลุมอวัยวะทั้งหมด ฝึกทำหัตถการ ฝึกปฏิบัติงานจริง ทำงานวิจัย
นอกจากนั้นยังจำเป็นต้องเรียนรู้การรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น การพูดคุยกับคนไข้ การสื่อสารเรื่องต่าง ๆ กับผู้ร่วมงาน คนไข้และญาติ เรียนรู้กฎหมายทางการแพทย์ ระบบประกันสุขภาพ ระบบสาธารณสุขของประเทศ การใช้เทคโนโลยีจัดการระบบข้อมูล จรรยาบรรณวิชาชีพ ฯลฯ โดยสาขานี้จะใช้เวลาเรียนทั้งหมด 4 ปี
วิชาที่เรียน
ตัวอย่างรายชื่อวิชาเรียน (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
- ออร์โธปิดิกส์หัตถการฝึกปฏิบัติในการ(ทำ)ผ่าตัดและช่วยผ่าตัดทางออร์โธปิดิกส์ การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า
- ศัลยศาสตร์กระดูกสันหลัง ฝึกปฏิบัติในการซักประวัติ ตรวจร่างกาย วินิจฉัย และวางแผนการรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาของกระดูกสันหลังหมอนรองกระดูกสันหลัง เส้นประสาท และไขสันหลัง รวมทั้งอวัยวะที่เกี่ยวข้อง ปัญหาดังกล่าวอาจเกิดจากการบาดเจ็บความพิการแต่กำเนิด หรือความเสื่อมตามอายุ เน้นการรักษาโดยวิธีผ่าตัด
- ศัลยศาสตร์ข้อเทียม ปัญหาความผิดปกติของข้อที่จำเป็นต้องรับการรักษาโดยใช้ข้อเทียม เทคนิคใหม่ ๆ ในการผ่าตัดข้อเทียม ฝึกปฏิบัติในการซักประวัติ ตรวจร่างกายผู้ป่วยข้อเสื่อมชนิดต่าง ๆ และผ่าตัดโดยใช้วัสดุเทียมทางการแพทย์
- ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ในเด็กและทารก ทักษะการดูแลรักษาเด็กและทารกที่มีปัญหาด้านกระดูกและข้อ อันเนื่องมาจากความพิการแต่กำเนิด หรือความพิการที่เกิดในวัยเด็ก
- ปฏิบัติการออร์โธปิดิกส์อุบัติเหตุ การฝึกปฏิบัติการภาคสนามด้านการรักษาภาวะทางออร์โธปิดิกส์ที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุโดยตรง ณ โรงพยาบาลศูนย์อุบัติเหตุในส่วนภูมิภาค โดยมีอาจารย์พิเศษของโรงพยาบาล และสถาบันหลักเป็นผู้ให้คำปรึกษาแนะนำและควบคุมอย่างใกล้ชิด
- อายุรศาสตร์โรคข้อพื้นฐาน ความรู้ทางอายุรศาสตร์โรคข้อที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับระบบกล้ามเนื้อกระดูกและข้อซึ่งแพทย์ออร์โธปิดิกส์ควรทราบ เน้นโรคข้อบางโรคซึ่งพบบ่อย การดูแลรักษาด้วยวิธีการต่าง ๆ กันตามระยะของโรค ทั้งการให้ยารักษาและการผ่าตัดเมื่อมีความพิการเกิดขึ้น
เคล็ดลับการเรียน
สำหรับในสายแพทย์แล้วหลักในการเรียนให้ดีนั้นจะไม่ต่างกันมากนัก สิ่งที่สำคัญคือการบริหารจัดการ แบ่งเวลาให้เป็น มีความรับผิดชอบและมีระเบียบวินัยในตนเอง การอ่านและท่องจำเนื้อหาสำคัญมากพอกับการฝึกปฏิบัติควบคู่ไปด้วย และเมื่อได้ลงพื้นที่ฝึกงานจริง ให้เก็บเกี่ยวเทคนิคหรือตั้งใจเรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์ให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อตัวเราเองในอนาคต
ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย
ในแต่ละชั้นปีนั้นจะมีการประเมินจากส่วนกลางโดยราชวิทยาลัยต่างกันไป
ชั้นปีที่ 1
- Basic surgical sciences
- Basic knowledge in research
ชั้นปีที่ 2
- Basic science in Orthopaedics
- Basic course in fracture management
- Summative assessment
ชั้นปีที่ 3
- ผ่านการอบรม Basic surgical exposure หรือหลักสูตรใกล้เคียงที่ได้รับการรับรองจากราชวิทยาลัยฯ
- Summative assessment
ชั้นปีที่ 1-4
- แพทย์ฝึกอบรม ทำการบันทึกข้อมูลประสบการณ์การทำหัตถการ ลงใน Electronic logbook ตามที่ราชวิทยาลัยฯกำหนดในแต่ละปีการศึกษา
ทุนการศึกษา
โครงการชิงทุนการศึกษาประจำมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และยังสามารถขอทุนสนับสนุนจากราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทยได้อีกด้วย บางครั้งต้นสังกัดที่เป็นโรงพยาบาลก็สามารถขอโควต้าเพื่อสอบรับทุนได้อีกด้วย
มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก
- California University of Science and Medicine
- University of Michigan Medical School
- Washington University School of Medicine in St. Louis
- Columbia University
- ศัลยแพทย์
- นักกายภาพบำบัด
Copyright © 2019 TruePlookpanya. All rights reserved.
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ห้ามมิให้ผู้ใดคัดลอก ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข หรือเผยแพร่ส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ก่อนได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร