นักพากย์ คือผู้ที่ใช้เสียงถ่ายทอดอารมณ์ เพื่อให้ผู้ชมได้สัมผัสความรู้สึกผ่านเสียงนั้น ๆ จากภาพยนตร์การ์ตูน ภาพยนตร์สารคดี ภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศ หนังสั้น รายการโทรทัศน์ โฆษณา ละครวิทยุ ตลกวิทยุ วิดีโอเกม การแสดงหุ่นเชิด และเพื่อสาระบันเทิงอื่นๆ โดยจะตรงตรงตามต้นฉบับ ไม่บิดเบือนอารมณ์ให้เรื่องเปลี่ยนแปลงไป
ลักษณะงาน
นักพากย์เสียง จะรับบทแสดงตัวละครด้วยการใช้เสียง การบันทึกเสียงต้นฉบับโดยผู้ที่ให้เสียงนั้น ต้องทำตนเปรียบเสมือนเป็นนักแสดงอยู่ด้วย เพื่อให้เสียงออกมาอย่างสมจริงและออกมาตามคาแรกเตอร์ ประเภทการพากย์เสียงแบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ดังนี้
- การพากย์เสียง (voice-over) เป็นรูปแบบการทำเสียงพากย์ ซึ่งเป็นการอัดเสียงต้นฉบับโดยนักพากย์อาชีพ นักพากย์มือสมัครเล่น และนักแสดงอาชีพ ที่มีการอัดเสียงต้นฉบับไว้โดยยังไม่มีการทับเสียงพากย์ใหม่ นักพากย์ต้องทำตนเปรียบเสมือนเป็นนักแสดงอยู่ด้วยเช่นกัน มักจะใช้ในรายการสารคดี หรือบทบรรยายก่อนหน้าภาพยนตร์เริ่ม
- การพากย์เสียงทับ (dubbing) หมายถึงการอัดเสียงทับใหม่ เป็นการอัดเสียงทับเสียงต้นฉบับเพื่อไปเป็นเสียงพากย์ในภาษาอื่น ซึ่งนักพากย์หรือนักแสดงมาอ่านบทแล้วเข้าห้องอัดเสียงเพื่อบันทึกเสียง ส่วนมากจะเป็น การ์ตูน/อานิเมะ ซีรีส์ที่ฉายทางโทรทัศน์ ภาพยนตร์ต่างประเทศ คำว่า dub ในความหมายปัจจุบันคือการพากย์ทั่วไป Dubbing ก็ยังมีแบ่งไปอีกว่าจะเป็น Fan dub ที่แฟนๆ พากย์ใส่กันเองกับ Dub parody ชื่อพากย์นรกแบบไทยๆ ที่ชอบนำมาพากย์ตลกๆ ขำๆ แทนเนื้อเรื่องจริงเป็นต้น
ขั้นตอนการทำงาน
- เริ่มโดยการอ่านบทพากย์หรือสคริปท์ ต้องฝึกอ่านสคริปท์ ควรฝึกอ่านออกเสียงโดยมีการเว้นวรรคตอนที่ถูกต้อง การออกเสียงสูงเสียงต่ำตามเนื้อหา รวมถึงการตีความบทพากย์หรือสคริปท์ โดยเน้นเสียงขึ้นลงในจุดที่ควรให้ความสำคัญ
- เตรียมร่างกายให้พร้อมและพักผ่อนเพียงพอ ไม่ง่วงนอน เทคนิคทางกาย ที่ควรฝึกทำบ่อยๆ ได้แก่ ฝึกหายใจเข้าให้ท้องป่อง หายใจออกให้ท้องแฟ่บ, หายใจเข้าให้ลึกที่สุด กลั้นไว้ 5 วินาที จากนั้นออกเสียง "โอ" ยาวๆ จนลมหายใจหมด, หมั่นออกกำลังกาย พัฒนาปอด เตรียมใจให้พร้อม ควรจะไม่มีเรื่องที่รบกวนจิตใจ ควรปล่อยวางเรื่องที่กังวลใจอยู่ จะทำให้มีสมาธิ แล้วผลงานจะออกมาดี
- ตรวจสอบเครื่องมือให้พร้อมใช้งานในตอนที่ต้องพากย์เสียง เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด
- เริ่มการพากย์ สามารถอัดได้หลายเทค เพื่อเลือกเสียงที่เหมาะสมกับตัวละครมากที่สุด พร้อมทั้งแก้ไขส่วนที่พากย์ผิด พากย์ไม่ครบตอน
- จากนั้นนำไปเข้าโปรแกรมตัดต่อวิดีโอ สร้างสรรค์ผลงานต่อไป
สถานที่ทำงาน
- ห้องอัดเสียง ในสตูดิโอ
- สถานที่อัดเสียงที่ค่อนข้างมิดชิด ไม่มีเสียงรบกวน
ผู้ที่ต้องทำงานด้วย
- วิศวกรเสียง (อังกฤษ: sound engineer หรือ audio engineer) การควบคุมในกระบวนการบันทึกเสียง (sound recording), การเพิ่มคุณภาพเสียง (sound reinforcement) มีหน้าที่ในการตัดต่อ ปรับแต่งเสียงโดยวิธีและเทคนิคต่างๆ เพื่อที่จะสามารถสื่อถึงความหมายหรือความต้องการที่นักพากย์เสียงต้องการสื่อออกมาให้ได้มากที่สุด มักจะใช้ในงานพากย์ใหญ่ๆ
- ทีมพากย์เสียง ในบางงานต้องมีนักพากย์หลายคน อัดพร้อมกัน เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวให้ต่อเนื่อง
- ทีมตัดต่อ
- นักเขียนหรือนักแปล ที่เป็นผู้เรียบเรียงและเขียนให้บทให้แก่นักพากย์ถ่ายทอด จึงต้องสื่อสารอารมณ์ความรู้สึกกันให้เข้าใจ เพื่อให้นักพายก์ถ่ายทอดเสียงออกมาได้ตามโจทย์ที่ต้องการ
ทางเลือกอาชีพ
- นักร้อง เนื่องจากนักพากย์มีน้ำเสียงดี และมีการฝึกควบคุมการใช้เสียง ทำให้นักพากย์บางคนสามารถร้องเพลงได้ดีด้วย
- นักแสดงหน้ากล้อง เพราะจะรู้จักการถ่ายทอดอารมณ์ การใช้เสียงต่างๆ
ตำแหน่งและเส้นทางการเติบโต
นักพากย์อาชีพ จะเติบโตได้ในสายงานนี้จากการฝึกฝนและประสบการณ์ที่สั่งสมมา ยิ่งประสบการณ์มากยิ่งมีโอกาสเติบโตและสร้างชื่อเสียงได้มากขึ้น
รายได้
รายได้เฉลี่ยต่อปี อยู่ที่ $50,000 ถึง 80,000 หรือประมาณ 1,500,000 - 2,500,000 บาท หากมีประสบการณ์ ก็จะทำเงินได้มากขึ้นกว่าเดิม ด้วยการสร้างรายได้ 300 $ (10,000 บาท) ภายใน 5 นาทีได้จริงๆ เหมือนการคิดค่าโฆษณาวินาทีละหลายแสน นักพากย์ก็สามารถทำเงินได้เป็นวินาที เป็นนาทีได้เช่นกัน หากประสบการณ์สูงมากพอ และมีจุดขายเสียงที่แปลกแตกต่างจากคนอื่น *ขึ้นอยู่กับความสามารถของนักพากย์แต่ละคนและตัวเนื้อหาแต่ละประเภท
การแข่งขันและความต้องการของตลาด
วงการนักพากย์ในไทยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งไม่ได้จำกัดวงอาชีพแบบเจาะจงว่าต้องจบสาขานี้เท่านั้น เน้นคนที่รักในงานนี้จริง ๆ มีความสามารถ ฝึกฝนมาอย่างดีแล้วมากกว่า
- เป็นงานที่สนุก เพราะเราได้ทำหลายอย่างทั้งการพากย์หนัง พากย์การตูน โดยเราจะต้องพากย์ตามเสียงของตัวละครเหมือนเป็นนักแสดง โดยในหนึ่งเรื่อง เราได้พากย์หลายตัวละครก็ได้เช่นกัน
- ไม่ซ้ำซากจำเจ มีเรื่องมีตอนใหม่ ๆ ให้เราพากย์เสมอ
- รายได้ดี หากชำนาญ และมีประสบการณ์เยอะ
- เป็นงานที่มีความอิสระสูง สามารถรับงานนอกได้หากไม่กระทบกับงานพากย์ประจำที่ตนเองสังกัด
- ไม่มีเกษียณอายุในการทำงาน สามารถทำงานได้ตลอดจนกว่าจะทำไม่ไหว
- ทำงานไม่เป็นเวลา บางทีต้องอัดเสียงพากย์หลายรอบ เพื่อให้ได้เสียงที่ตรงกับลักษณะตัวละครมากที่สุด
- มีความกังวลและกดดัน เนื่องจากต้องทำความเข้าใจอารมณ์และสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา ในหนึ่งงานอาจต้องพากย์หลายอารมณ์ หลายตัวละคร หลายสถานการณ์
- การปรับอารมณ์ของนักพากย์ บางครั้งนักพากย์ต้องอินไปกับตัวละครจนบางครั้งอาจดึงอารมณ์ออกมาจากตัวละครนั้นๆ ไม่ได้
- มีน้ำเสียงดี สามารถใช้น้ำเสียงได้หลากหลาย เพราะนักพากย์ต้องใช้น้ำเสียงในการแสดงอารมณ์และสถานการณ์
- ขยัน ตั้งใจ นักพากย์เสียงที่ดี ต้องอาศัยการฝึกฝนอยู่ตลอดเวลา เพื่อพัฒนาเทคนิคในการพากย์
- มีความละเอียดรอบคอบ
- มี Sense รับรู้อารมณ์ของตัวละครหรือการสื่อสารเรื่องราวต่าง ๆ
- ช่างสังเกต
- ทักษะด้านการอ่านและการตีความ ในการพากย์เสียงต้องมีการอ่านบทพากย์และตีความ ซึ่งต้องอ่านออกเสียงได้ชัดเจน คล่องแคล่ว ตรงตามไวยากรณ์ มีการเว้นวรรคตอนถูกต้องและเป็นธรรมชาติ นักพากย์เสียงได้หลายอารมณ์ต้องหาวิธีสร้างเสียงให้เข้ากับอารมณ์และสถานการณ์นั้นๆ ซึ่งต้องใช้การฝึกซ้อม และตีความจากบท หรือการบรีฟของผู้เขียน
- ทักษะด้านการแสดง ในที่นี้จะไม่ได้หมายถึงการแสดงออกทางกาย แต่แสดงออกทางน้ำเสียงตามอารมณ์ของตัวละคร เช่น อารมณ์โมโห กังวล สนุกสนาน หรือการเน้นเสียงหนักเบาเพื่อให้เนื้อหาที่เป็นตัวอักษรมาทำให้มีชีวิตมีความน่าสนใจมากขึ้น
- ทักษะด้านภาษา นักพากย์เสียงต้องมีทักษะทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ เพื่อให้เข้าใจอารมณ์ของตัวละครได้มากขึ้น สามารถทำงานพากย์ได้หลากหลายมากขึ้น
- ทักษะเฉพาะทางการเล่นเสียงเล่นคำ ทักษะด้านนี้จะได้มาจากการฝึกฝนและประสบการณ์ เช่น เทคนิคการเล่นคำ การแทรกมุกตลก หรือการใช้ดัดเสียงเพื่อให้สามารถพากย์เป็นหลายตัวละครได้ในเรื่องเดียว จะช่วยให้งานพากย์น่าสนใจมากขึ้น
- ทักษะการฟัง การพูดและการออกเสียง หากเป็นกรณีในการพากย์เสียงทับเสียงภาษาอื่น ต้องทำความเข้าใจในน้ำเสียง และอารมณ์ของตัวละคร และพูด ออกเสียงอย่างชัดเจนและเข้าใจ
- ทักษะการร้องเพลง อาจไม่จำเป็นที่สุด แต่ถือเป็นทักษะที่จะช่วยขยายวงกว้างในการทำงานมากขึ้น เช่น สามารถพากย์เสียงการ์ตูนแพลงหรือภาพยนตร์เพลง (Musical Film)
- ทักษะภาษาอังกฤษ ถือว่าจำเป็นอย่างมาก เพราะปัจจุบันหากเป็นนักพากย์ที่สามารถพูดได้ทั้งไทยและอังกฤษอย่างชัดเจน และมีสำเนียงที่ถูกต้อง จะช่วยเพิ่มรายได้มากขึ้น
การศึกษา
นักพากย์เสียงเป็นอาชีพที่สามารถฝึกฝนได้ ไม่จำเป็นต้องเรียนตรงสาย แต่ในสาขาวิชาที่ใกล้เสียงที่จะช่วยผลักดันให้เข้าใจ และทำงานอาชีพนี้ได้ดียิ่งขึ้น จะเน้นสาขาทางนิเทศศาสตร์หรือสาขาด้านศิลปะการแสดง เพื่อเข้าใจการทำงานเบื้องหลังรวมทั้งพื้นฐานการสวมบทบาทตัวละครได้มากยิ่งขึ้น
- ระดับมัธยมศึกษาสายวิทย์หรือสายศิลป์ หรือปวช. หรือ ปวส. สาขาที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าศึกษาโดยการสอบคัดเลือก ตามเงื่อนไขของแต่ละสถาบัน
- ระดับปริญญาตรี สาขาที่ใกล้เคียง เช่น คณะนิเทศศาสตร์ สาขาสื่อสารการแสดง ใช้เวลาเรียน 4 ปี วุฒิการศึกษา นศ.บ. (นิเทศศาสตร์บัณฑิต) เป็นต้น
Hard Skills
- ต้องรู้จักธรรมชาติของเสียงตัวเองก่อน ว่าเป็นคนเสียงแบบไหน เสียงหนา เสียงบางควรจะพากย์เป็นตัวอะไรได้บ้าง
- ฝึกออกเสียง เพื่อออกเสียงให้ชัดถ้อยชัดคำ อักขระถูกต้อง ไม่ว่าจะฝึกฝนด้วยตัวเอง หรือฝึกโดยสถาบัน หรือมีครูผู้สอน
- ฝึกการทำหลายๆ อย่างไปพร้อมๆ กัน เช่น การอ่าน การออกเสียง การใส่อารมณ์ในบทที่กำลังให้เสียง เพราะการพากย์จะต้องทำทุกอย่างทั้งหมดภายในเวลาเดียวกัน ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่าย
- การหัดทำเสียงที่หลากหลาย อย่างหนังเรื่องหนึ่ง นักพากย์แต่ละคนต้องทำหน้าที่พากย์เสียงตัวละครหลายตัว ซึ่งอาจจะมีหลายบุคลิกลักษณะ
- การหัดพากย์เสียงในอารมณ์ และในสถานการณ์ต่างๆ กัน ต้องพยายามทำให้ได้ และต้องหาวิธีสร้างเสียงให้เข้ากับอารมณ์และสถานการณ์นั้นๆ
- การบังคับ ควบคุมการเปล่งเสียง พลังของเสียงจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อเรามีการบังคับ และความคุมการเปล่งเสียงได้ดีพอ ซึ่งอาจจะใช้หลักและเทคนิคของการร้องเพลง การแสดงละครเวที ที่ใช้เสียงเป็นหลักนำมาประยุกต์ใช้ เมื่อเวลาผ่านไปพอควบคุมเสียงได้แล้ว จะรู้สึกเองว่าเสียงที่ส่งออกไปสื่ออารมณ์ได้ตรงตามต้นฉบับจริงๆ
Soft Skills
- ฝึกการทำงานร่วมกับผู้อื่น เพราะเป็นงานที่ต้องทำเป็นทีม
- จัดการเวลาให้ดี เพราะเป็นงานที่กดดันทั้งเรื่อง
กิจกรรมต่าง ๆ
- เข้าร่วมโครงการฝึกอบรม หรือการประกวดนักพากย์รุ่นจิ๋ว นักพากย์เยาวชนต่าง ๆ ทั้งจากภาครัฐหรือเอกชน
แม้ว่านักพากย์เสียง จะไม่จำเป็นต้องเรียนตรงสาย แต่ตัวอย่างคณะที่ใกล้เคียง และช่วยพัฒนาส่งเสริมศักยภาพการเป็นนักพากย์ได้ดี คือ คณะนิเทศศาสตร์ สาขาสื่อสารการแสดง (ตัวอย่างหลักสูตรจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) เพราะการพากย์ก็คือการแสดง แต่เป็นการแสดงด้วยเสียงแทนนักแสดงในเรื่อง ฉะนั้นการเรียนสาขานี้จะทำให้เข้าถึงบทบาทตัวละครได้ง่ายยิ่งขึ้น รู้จักการใช้เสียงสื่ออารมณ์ความรู้สึกได้
เคล็ดลับการเรียน
ีชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย
- ปี 1 ถึง ปี 2 จะเรียนรวมกันก่อนทั้งคณะ ก็จะเรียนพวกวิชาพื้นฐานวิชาทางนิเทศศาสตร์เหมือนกัน เช่น พื้นฐานการประชาสัมพันธ์และโฆษณา การสื่อสารมวนชนและนิเทศศาสตร์เบื้องต้น การสื่อข่าว การเขียนข่าว หลักและการปฏิบัติทางวาทนิเทศ ภาษาเพื่อการสื่อสาร (รอบด้านทั้ง ฟัง พูด อ่าน เขียน)
- ชั้นปีที่ 3 จะได้เรียนทฤษฎีสื่อสารการแสดง การบริหารจัดการการแสดง วรรณกรรมการแสดง การเขียนบท การวิจารณ์การแสดง และการฝึกงานอาชีพทางสื่อสารการแสดง
- ชั้นปี 4 จะได้เรียนการจัดการด้านโปรดักชัน การทำละครขึ้นมาจริงๆ เขียนบทเอง ทำทุกอย่างเอง เป็นโปรเจ็กต์จบตอนสุดท้ายปลายภาคเรียน
ค่าเทอมตลอดหลักสูตร
- -กยศ
- ทุนจิตอาสาพัฒนาคณะศิลปกรรมศาสตร์ (มีหลายทุนขึ้นอยู่กับคุณสมบัติที่ทางคณะกำหนดไว้)
- นักแสดง
- นักข่าว
- นักประชาสัมพันธ์ หรืองานด้านสื่อสารมวลชนอื่น ๆ
- ล่าม
- มัคคุเทศก์
Copyright © 2019 TruePlookpanya. All rights reserved.
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ห้ามมิให้ผู้ใดคัดลอก ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข หรือเผยแพร่ส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ก่อนได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร