นักจุลชีววิทยา
นักจุลชีววิทยา
นักจุลชีววิทยา
นักจุลชีววิทยา

       นักจุลชีววิทยา คือนักวิทยาศาสตร์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านจุลชีววิทยา หรือการศึกษาเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก ทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า จุลินทรีย์ต่าง ๆ โดยศึกษาทั้งธรรมชาติ การเจริญเติบโต คุณสมบัติและลักษณะของสารทางพันธุกรรม  การนำไปใช้ประโยชน์ต่อยอดได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการแพทย์ อุตสาหกรรม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ 

นักจุลชีววิทยา (Microbiologist)

นักจุลชีววิทยา (Microbiologist)

นักจุลชีววิทยา (Microbiologist)

 

       นักจุลชีววิทยา อาจแบ่งเนื้อหาการศึกษาออกเป็น

  • สรีรวิทยาของจุลินทรีย์ ศึกษาหน้าที่ทางชีวเคมี การเจริญเติบโต เมตาบอลิซึม และโครงสร้างของเซลล์ของจุลินทรีย์
  • พันธุศาสตร์ของจุลินทรีย์ ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างหน้าที่ของเซลล์ของจุลินทรีย์และการสร้างหรือควบคุมยีน สาขานี้มีความเกี่ยวข้องกับอณูชีววิทยา
  • จุลชีววิทยาทางการแพทย์ ศึกษาบทบาทของจุลินทรีย์ในโรคของมนุษย์ กระบวนการก่อโรคของจุลินทรีย์ และระบาดวิทยา สาขานี้มีความเกี่ยวข้องกับพยาธิวิทยาและวิทยาภูมิคุ้มกัน
  • จุลชีววิทยาของสิ่งแวดล้อม ศึกษาหน้าที่และความหลากหลายของจุลินทรีย์ในสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ รวมทั้งนิเวศวิทยาของจุลินทรีย์ บทบาทของจุลินทรีย์ในวัฏจักรสารอาหาร
  • จุลชีววิทยาของอุตสาหกรรม ศึกษาการใช้จุลินทรีย์ในกระบวนการทางอุตสาหกรรม ตัวอย่างเช่น การหมัก การบำบัดน้ำเสีย สาขานี้มีความเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีชีวภาพ
  • จุลชีววิทยาของอากาศ ศึกษาจุลินทรีย์ที่อยู่ในอากาศ
  • จุลชีววิทยาของอาหาร ศึกษาการเน่าเสียของอาหารที่มีสาเหตุจากจุลินทรีย์
นอกจากนั้นยังสามารถแบ่งตามประเภทของจุลินทรีย์ เช่น
  • การศึกษาแบคทีเรีย (Bacteriology)
  • การศึกษาเห็ด รา และยีสต์ (Mycology)
  • การศึกษาไวรัส (Virology)การศึกษาระบบภูมิคุ้มกัน (Immunology)
       งานของนักจุลชีววิทยานั้นส่วนมากจะเป็นการตรวจวิเคราะห์ ตรวจสอบคุณภาพ หรือตรวจหาตัวก่อเชื้อ ในผลิตภัณฑ์ ในอาหาร ทั้งของอุปโภคและบริโภค โดยมีตำแหน่งงานอยู่มากมายทั้งในภาครัฐและเอกชน
 

ลักษณะการทำงาน 

       ตัวอย่างลักษณะงาน.ในหน่วยงานของรัฐบาล ในหน่วยงาน แบ่งงานของห้องปฏิบัติการออกเป็น 2 กลุ่ม 5 ห้องปฏิบัติการ
 
  1. กลุ่มคุ้มครองผู้บริโภคสาธารณสุข (กลุ่ม คบส.) ประกอบด้วย
    • งานอาหาร : ตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำบริโภค อาหาร ผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน
    • งานยา : ตรวจวิเคราะห์ยาแผนปัจจุบัน สมุนไพร อาหารเสริม เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สุขภาพ
    • งานรังสีและเครื่องมือแพทย์ : ตรวจคุณภาพเครื่องเอกซเรย์และเครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับการฉายรังสี
  2. กลุ่มชันสูตร ประกอบด้วย
    • งานพิษวิทยา : ตรวจสารเสพติดในปัสสาวะ สารพิษ แอลกอฮอล์ในเลือด
    • งานพยาธิวิทยาคลินิก : ตรวจสิ่งส่งตรวจจากมนุษย์ (เลือด, เสมหะ, throat swab ฯลฯ) เพื่อหาจุลินทรีย์ก่อโรค/สารพันธุกรรมของเชื้อก่อโรค/ยีนก่อโรคต่าง ๆ (ไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่ ธาลัสซีเมีย หัดและหัดเยอรมัน ดาวน์ซินโดรม โควิด ฯลฯ)

ส่วนใหญ่คนทั่วจะคิดว่านักจุลชีววิทยาจะทำงานอยู่แต่ในห้องแล็บ แต่แท้จริงแล้วยังมีอีกหลายส่วน อาทิ

  • งาน QC (Quality Control ควบคุมคุณภาพ) งานแล็บเป็นงานบู๊ ฟาดฟันกับตัวอย่างส่งตรวจเพื่อพิสูจน์ให้ได้ว่าตัวอย่างนี้ยังอยู่ในเกณฑ์คุณภาพหรือไม่ (ที่เรียกไม่ตกQC) ซึ่งทาง QC เองก็ต้องมีการทำระบบคุณภาพ เพื่อควบคุมคุณภาพของห้องแล็บ ทำให้ผลการตรวจวิเคราะห์ของแล็บมีการสอบกลับย้อนหลังไปยังมาตรฐานสากลได้ทุกกระบวนการ และตลอดทั้งกระบวนการ
  • งาน QA (Quality Assurance ประกันคุณภาพ) เป็นงานบุ๋น งานระบบ งานเอกสาร วางแผนเชิงระบบเพื่อให้ทั้งองค์กรและลูกค้าเชื่อมั่นในผลการตรวจวิเคราะห์ เช่น QA จะวางแผนกันว่าใน 1 ปี ต้องทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการประกันคุณภาพอะไรบ้าง (ซึ่งพวกนี้ ISO จะกำหนดให้อยู่แล้วว่าเราควร/ต้อง มีหรือทำอะไร ถึงเวลาออดิเตอร์ก็จะมาตรวจประเมินตามสิ่งที่ ISO กำหนดให้เราทำ) แล้ว QC ก็จะต้องดำเนินการตามที่ QA ได้วางแผนเอาไว้ให้ปฏิบัติตาม

ขั้นตอนการทำงาน

  • เมื่อไปถึงที่ทำงาน จะมีการเดินสำรวจตู้เย็นกับห้องแล็บก่อน
  • ตู้เย็นที่แล็บเอาไว้สำหรับเก็บรักษาสารมาตรฐาน เชื้อมาตรฐาน ตัวอย่างส่งตรวจ จึงต้อง monitoring เสมอว่ามันยังทำอุณหภูมิได้อยู่ในช่วงที่กำหนดไหม หรือมีอะไรผิดปกติในห้องแล็บไหม แล้วก็ต้องลงบันทึกไว้เป็นหลักฐาน
  • พอตรวจสอบความเรียบร้อยแล้วก็ลงมือทำแล็บตามที่ตัวเองรับผิดชอบ
  • คนที่รับผิดชอบดูแลเครื่องชั่ง ก็จะต้องเช็คความสามารถของเครื่องชั่งทุกวันก่อนเริ่มงานด้วย พวกเครื่องมือวิทย์ส่วนใหญ่จะส่งสอบเทียบปีละ 1-2 ครั้ง ระหว่างที่มันยังไม่ครบกำหนดส่งสอบเทียบ ก็จะต้องมีกิจกรรมที่จะทำให้แน่ใจว่ามันยังใช้งานได้ดี ค่าที่ได้ยังแม่นยำอยู่
  • ถ้าเป็นเรื่องในฝ่าย (เช่น แบ่งเทสต์ที่รับผิดชอบ) หัวหน้างานกับนักวิทยาศาสตร์จะตกลงกันเอง ถ้าเป็นเรื่องส่วนรวม (เช่น เครื่องชั่ง) จะตั้งคณะทำงานขึ้นมาใหม่ ให้แต่ละฝ่ายส่งตัวแทนไปช่วยกัน พอตกลงกันว่าใครจะตรวจรายการไหน ก็จะส่งไปพัฒนาเรื่องนั้น

       ส่วนนักวิทยาศาสตร์เองก็มีกิจกรรมทดสอบความสามารถทุกปีเช่นกัน (เรียกว่า Proficiency Test (PT)) ทุกปีจะมี provider เป็นตัวตั้งตัวตีจัดกลุ่มรับสมัครทดสอบขึ้นมา เช่น PT ตรวจสาร A ห้องแล็บที่ปกติตรวจสาร A อยู่แล้ว อยากเข้าร่วมทดสอบความสามารถ ก็สามารถจ่ายเงินเพื่อเข้าร่วมได้ ถึงเวลา provider ก็จะส่งตัวอย่างปริศนาที่ตัวเองเตรียมไว้(และรู้ปริมาณของสารAอยู่แล้ว)ส่งให้คนในกลุ่มทำ ทำเสร็จส่งผลกลับมา แล้วจะสรุปให้ออกมาเป็นค่า z-score เทียบกับคนอื่นในกลุ่ม ถ้าผลผ่าน ก็เก็บไว้เป็นการรับรองความสามารถของห้องแล็บ ว่านักวิทยาศาสตร์ที่ตรวจสาร A ของที่นี่ทำ PT ผ่าน เป็นการรับรองความน่าเชื่อถือผลการตรวจสอบของแล็บได้

       โดยแบ่งการออดิตออกเป็น Internal audit (ปีละ 1 ครั้ง) กับ External audit  (2 ปี / 1 ครั้ง)
รอบ Internal เป็นกลุ่มนักวิทยาศาสตร์หรือผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นบุคลากรในกรมเอง (มาให้ความรู้สึกเหมือนเพื่อนพี่น้องตรวจกัน ให้คำแนะนำหรือแลกเปลี่ยนกันมากกว่า)
รอบ External เป็นกลุ่มคนจากภายนอกกรม มีทั้งคนจากสำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ (สมป.) อาจารย์มหาวิทยาลัย ฯลฯ

       โดยที่ออดิตเตอร์ทุกคนต้องผ่านการอบรมการเป็นออดิตเตอร์ในข้อกำหนดที่จะมาตรวจด้วย เช่น ถ้าจะมาออดิต ISO 17025 ก็ต้องอบรมการเป็นออดิตเตอร์ของ17025มาแล้ว

สถานที่ทำงาน

       ห้องปฏิบัติการ (ห้องแล็บ) ที่ผ่านการรับรองตามมาตรฐานสากล ในบริษัท หน่วยงาน หรือองค์กรต่าง ๆ

ผู้ที่ต้องทำงานด้วย 

       นักวิจัยในหน่วยงานที่สังกัดอยู่ นักวิทยาศาสตร์ เจ้าหน้าที่แผนกต่าง ๆ นักตรวจสอบคุณภาพ นักวิชาการ เจ้าหน้าที่ภาครัฐฯ แพทย์ เจ้าของธุรกิจและสินค้าต่าง ๆ ฯลฯ

เงินเดือน นักจุลชีววิทยา

ตำแหน่งและเส้นทางการเติบโต

       อาชีพนักจุลชีววิทยาจะมีตำแหน่งและหน้าที่แตกต่างกันไปตามหน่วยงานและองค์กรที่เข้าไปทำงาน เช่น 

  • นักวิทยาศาสตร์ด้านจุลชีววิทยา
  • เจ้าหน้าที่แผนกพัฒนา และวิจัยผลิตภัณฑ์
  • นักตรวจสอบคุณภาพวิเคราะห์ด้านจุลชีววิทยา
  • นักวิจัย ผู้ช่วยวิจัยของภาครัฐ และเอกชนหรือในสถานประกอบการอื่น ๆ
  • งานอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมการหมักต่าง ๆ
  • ผลิตแอลกอฮอล์ ยาปฏิชีวนะ สารต่าง ๆ
  • เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการจุลชีววิทยาทั้งทางการแพทย์ การเกษตร อุตสาหกรรม และสิ่งแวดล้อม

      โดยแต่ละตำแหน่งจะเติบโตอย่างไรขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจอุตสาหกรรม หรือหน่วยงานว่าเป็นภาครัฐบาล รัฐวิสาหกิจ หรือภาคเอกชน โดยรัฐบาลจะเลื่อนตำแหน่งตามลำดับขั้นของข้าราชการพลเรือน แต่สำหรับเอกชนแล้วจะขึ้นอยู่กับโครงสร้างขององค์กร เช่น เริ่มต้นจากระดับปฏิบัติการ ขึ้นเป็น Supervisor และเติบโตเป็นผู้จัดการและบริหารตัวธุรกิจ เป็นต้น 

เงินเดือน 

ภาคราชการ 
       กรณีบรรจุเป็นข้าราชการแล้ว ตามพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 จำแนกประเภทข้าราชการพลเรือนสามัญเป็น 4 ประเภท (ทั่วไป, วิชาการ, อำนวยการ, บริหาร) นักวิทยาศาสตร์จัดอยู่ในประเภทวิชาการ จำแนกตำแหน่งได้เป็น
  1. ระดับปฏิบัติการ (C3-5) เป็นตำแหน่งที่เปิดรับจากการสอบข้อเขียนและสัมภาษณ์ (ผู้มีคุณสมบัติเข้าสอบ จะต้องมีผลสอบกพ. ภาค ก. แล้ว)
    • ปริญญาเอก อัตราเงินเดือนระหว่าง 21,000 - 23,100 บาท
    • ปริญญาโท อัตราเงินเดือนระหว่าง 17,500 - 19,250 บาท
    • ปริญญาตรี อัตราเงินเดือนระหว่าง 15,000 - 16,500 บาท (ปริญญาตรี 5 ปี อัตราเงินเดือน 15,800 - 17,380 บาท)
  2. ระดับชำนาญการ (C6-7) เงินเดือนสูงสุดประมาณ 45,000 บาท
  3. ระดับชำนาญการพิเศษ (C7-8) เงินเดือนสูงสุดประมาณ 55,000 บาท
  4. ะดับเชี่ยวชาญ (C9) เงินเดือนสูงสุดประมาณ 65,000 บาท
  5. ระดับทรงคุณวุฒิ (C10-11) เงินเดือนสูงสุดประมาณ 75,000 บาท
       โดยการเลื่อนลำดับขั้น(ตำแหน่ง)ในหน่วยงานราชการ มีเงื่อนไขต้องทำผลงานด้านวิชาการส่งเป็นเอกสารเพื่อเข้ารับการประเมินเมื่อมีตำแหน่งว่าง (เช่น C8 คนเก่าย้ายไปเติบโตที่อื่นแล้ว ตำแหน่ง C8 ว่าง จึงประกาศรับสมัครผลงานวิชาการของกลุ่ม C7 ที่มีคุณสมบัติครบ)
กรณียังไม่ได้บรรจุเป็นข้าราชการ
       พนักงานของกระทรวง และพนักงานราชการ ไม่สามารถเลื่อนลำดับขั้นได้เหมือนข้าราชการ เงินเดือนขั้นต่ำตามวุฒิ (ป.ตรีเริ่มต้นที่ 15,000 บาท) แต่มีการเติบโตของอัตราเงินเดือนเรื่อย ๆ ทุกปี 
ภาครัฐวิสาหกิจ
       วุฒิป.ตรี บรรจุที่ระดับ 4 อัตราเงินเดือนเริ่มต้นประมาณ 17,000-18,000 บาท การเลื่อนตำแหน่งและอัตราเงินเดือนเป็นไปตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์
ภาคเอกชน 
       อัตราเงินเดือนขึ้นอยู่กับประสบการณ์และคุณสมบัติที่เหมาะสมกับตำแหน่ง ระดับนักวิเคราะห์อาจเริ่มต้นที่ 15,000-18,000 บาท, ระดับ supervisor อาจเริ่มต้นที่ 25,000 บาท

การแข่งขันและความต้องการของตลาด

       เพราะจุลชีพนั้นคงอยู่รอบตัวเรา และเป็นรากฐานของนวัตกรรมทางด้านชีวภาพหลายอย่างในการดำรงชีวิต ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมด้านการบริโภค อุปโภค การแพทย์ หรือศาสตร์แขนงใดในองค์กรต่าง ๆ ก็ตาม นักจุลชีววิทยาผู้ศึกษาศาสตร์นี้จึงเป็นตำแหน่งที่สำคัญและขาดไม่ได้ และมีองค์กรหลายแห่งหลายประเภทที่เปิดรับสมัครตำแหน่งงานนี้ เพียงแต่หากต้องการทำงานกับภาคราชการนั้นอาจต้องฝ่าฟันการแข่งขันค่อนข้างสูง เพราะต้องเข้าร่วมสอบคัดเลือกกับคู่แข่งคนอื่น ๆ

 

  • เนื้องานพัฒนาให้กลายเป็นคนละเอียด ช่างสังเกต ใส่ใจมากขึ้น
  • พัฒนาระบบการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล
  • ได้รู้และได้ทำในสิ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่เคยรู้และไม่เคยทำ
  • เป็นแหล่งกำเนิดนวัตกรรมใหม่ ๆ
  • ให้คุณค่าทางจิตใจ เช่น สายงานตรวจสอบคุณภาพที่คอยปกป้องประชาชนจากผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน
  • ค่าตอบแทนไม่มากและการแข่งขันค่อนข้างสูงหากทำงานราชการ
  • มีความเสี่ยงจากสารเคมีและเชื้อก่อโรคมากกว่าอาชีพทั่วไป
  • งานค่อนข้างจำเจในทุกวัน ทำสิ่งเดิม ๆ
  • ช่างสังเกต มีความอยากรู้อยากเห็น ชอบตั้งสมมติฐาน ซึ่งถิอเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของคนทำงานด้านวิทยาศาสตร์
  • ชอบค้นคว้าเพื่อหาคำตอบ หาข้อพิสูจน์ ทดลอง จัดทำข้อมูล 
  • มีความคิดสร้างสรรค์ อันจะนำมาซึ่งนวัตกรรมใหม่ ๆ
  • พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ แม้งานแล็บจะมีขั้นตอนที่เหมือนกันทุกวัน แต่นวัตกรรมและเครื่องมือที่ใช้นั้นมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา
  • ใส่ใจรายละเอียด ในการทำงานทุก ๆ ใส่ใจในทุกรายละเอียดที่เกิดขึ้นกับการทดลองต่าง ๆ จะช่วยให้นักจุลชีววิทยาสามารถตั้งข้อสันนิษฐานและหาคำตอบทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างแม่นยำ 
  • มีมนุษยสัมพันธ์ดี เมื่อต้องทำร่วมกับนักวิจัยท่านอื่น ๆ ที่อาจทั้งในและต่างสาขา แต่มีเป้าหมายในการทำงานเดียวกัน มนุษยสัมพันธ์จะช่วยขับเคลื่อนการทำงานเป็นทีมให้เป็นไปอย่างราบรื่น 
  • ทักษะทางด้านวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ เพราะต้องแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน ต้องมีการคำนวณการตั้งสมมติฐานและพิสูจน์ โดยเฉพาะด้านสถิติและแคลคูลัส 
  • ทักษะการใช้เครื่องมือปฏิบัติการและห้องปฏิบัติการ 
  • ทักษะภาษาอังกฤษ ในการทำงานวิจัยส่วนใหญ่ข้อมูลเอกสารต่าง ๆ มักเป็นภาษาอังกฤษ ดังนั้นทักษะภาษาที่แข็งแรง จะช่วยให้ทำงานได้อย่างราบรื่น 
  • ทักษะการสื่อสาร การสื่อสารอย่างีประสิทธิภาพเป็นสิ่งสำคัญสำหรับทุกอาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานวิจัยทีต้องอธิบายให้เรื่องยากเป็นเรื่องง่าย ไม่ว่าจะในช่องทางใดก็ตาม 
  • ทักษะการแก้ไขปัญหา ส่วนใหญ่แล้วเนื้องานของนักจุลชีววิทยา จะเป็นงานที่ต้องแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว โดยอาศัยองค์ความรู้เฉพาะทางมารองรับ 
  • ทักษะการจัดการเวลา ในการวิจัย หาคำตอบหรือทางแก้ปัญหาใดๆ มักจะมีเวลาที่จำกัด ดังนั้นจึงต้องรู้จักที่จะประเมินและวางแผนการทำงานให้เป็นไปตามขั้นตอน และหาผลลัพท์ได้ตรงตามเวลาที่กำหนด

เรียน จุลชีววิทยา

การศึกษา

       เลือกเรียนสายวิทย์-คณิต ในระดับมัธยมศึกษา และเลือกคณะวิทยาศาสตร์ สาขาจุลชีววิทยา โดยทั่วไปจะเรียน 4 ปี วุฒิวท.บ. และไม่มีการสอบใบประกอบโรคศิลป์
สำหรับนักจุลชีววิทยานั้นไม่จำเป็นต้องสอบใบประกอบโรคศิลป์เหมือนแพทย์หรืออาชีพอื่น ๆ แต่หากต้องการเข้าทำงานในหน่วยงานราชการจะต้องเข้าสอบแข่งขันกับผู้อื่น

 

คณะ/สาขา มหาวิทยาลัยที่เปิดสอน

  • คณะแพทยศาสตร์ สาขาจุลชีววิทยาทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • คณะแพทยศาสตร์ สาขาจุลชีววิทยาทางการสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • คณะแพทยศาสตร์ สาขาจุลชีววิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • คณะวิทยาศาสตร์ สาขาจุลชีววิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
  • คณะวิทยาศาสตร์ สาขาจุลชีววิทยา มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์
  • คณะวิทยาศาสตร์ สาขาจุลชีววิทยา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  • คณะวิทยาศาสตร์ สาขาจุลชีววิทยา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
  • คณะวิทยาศาสตร์ สาขาจุลชีววิทยา มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี
  • คณะวิทยาศาสตร์ สาขาจุลชีววิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • คณะวิทยาศาสตร์ สาขาจุลชีววิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
  • คณะวิทยาศาสตร์ สาขาจุลชีววิทยา มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • คณะวิทยาศาสตร์ สาขาจุลชีววิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • คณะวิทยาศาสตร์ สาขาจุลชีววิทยา มหาวิทยาลัยทักษิณ
  • คณะวิทยาศาสตร์ สาขาจุลชีววิทยา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • คณะวิทยาศาสตร์ สาขาจุลชีววิทยา มหาวิทยาลัยบูรพา
  • คณะวิทยาศาสตร์ สาขาจุลชีววิทยาทางการสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • คณะวิทยาศาสตร์ สาขาจุลชีววิทยาประยุกต์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • คณะวิทยาศาสตร์ สาขาจุลชีววิทยาประยุกต์ มหาวิทยาลัยบูรพา
  • คณะวิทยาศาสตร์ สาขาจุลชีววิทยาและเทคโนโลยีจุลินทรีย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • คณะวิทยาศาสตร์ สาขาจุลชีววิทยาอุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
  • คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ สาขาจุลชีววิทยา มหาวิทยาลัยนเรศวร
  • คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร สาขาจุลชีววิทยา มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา
  • คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาจุลชีววิทยา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช
  • คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาจุลชีววิทยา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
  • คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาจุลชีววิทยา มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม
  • คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาจุลชีววิทยา มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา
  • คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาจุลชีววิทยา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ
  • คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาจุลชีววิทยาอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
  • คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาจุลชีววิทยาอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
  • คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ สาขาจุลชีววิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน
  • บัณฑิตวิทยาลัย สาขาจุลชีววิทยาทางการแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • วิทยาลัยการฝึกหัดครู สาขาจุลชีววิทยา มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา
  • วิทยาลัยพลังงานทดแทน สาขาจุลชีววิทยา มหาวิทยาลัยพะเยา
  • วิทยาศาสตร์การแพทย์ สาขาจุลชีววิทยา มหาวิทยาลัยพะเยา
  • สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ สาขาจุลชีววิทยา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

 

Hard Skill ที่ต้องฝึกฝน

  • ฝีกการใช้เครื่องมือและห้องปฏิบัติการในการตรวจสอบหรือวิจัย
  • หมั่นอ่าน จดจำ ทำความเข้าใจเนื้อหา ฝึกสรุปความ เขียนรายงาน

Soft Skill ที่ต้องฝึกฝน

  • ฝึกสังเกตรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ
  • ฝึกการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล การวิเคราะห์หาสาเหตุ
  • ฝึกทักษะการสื่อสาร

กิจกรรมต่าง ๆ

  • ค่ายนักจุลชีววิทยารุ่นเยาว์ จัดโดยคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์  มหาวิทยาลัยต่าง ๆ

 

คำบอกเล่าจากคนในสายอาชีพ 

       คิดว่าเป็นอีกอาชีพที่มีโอกาสได้ใช้ความรู้ความสามารถช่วยคุ้มครองสิทธิของผู้คน ฟังดูเหมือนไม่เกี่ยวกับงานของนักวิทยาศาสตร์ แต่พอลองย้อนไปดูสิ่งที่เรียน งานที่ทำ สิ่งที่ทำมันก็เป็นอีกส่วนที่ช่วยปกป้องสิทธิของประชาชนจริงๆ ทั้งสิทธิที่ประชาชนจะได้บริโภคอาหารและน้ำดื่มสะอาด วัคซีน ยารักษาโรค เครื่องสำอางที่ปลอดภัย สิทธิที่จะได้ใช้แหล่งน้ำ และทรัพยากรธรรมชาติที่ปลอดภัยจากมลพิษที่โรงงานอุตสาหกรรมปล่อย ฯลฯ ถึงงานที่ทำจะเป็นสิ่งเดิมๆ แต่พอเอาอุดมการณ์มาจับแล้วแล้วได้คุณค่าทางจิตใจกลับมามากพอสมควร
 

ผู้ตรวจวิเคราะห์คุณภาพ ในสังกัดกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

 

วิชาที่เรียน

ปี 1 เรียนวิชาศึกษาทั่วไป (เรียนแค่ระดับพื้นฐาน)
  • หมวดวิทย์คณิต: คณิตพื้นฐาน เคมีพื้นฐาน ชีวพื้นฐาน ฟิสิกส์พื้นฐาน คอมพิวเตอร์ พฤติกรรมมนุษย์
  • หมวดภาษา: ไทยพื้นฐาน อังกฤษพื้นฐาน
  • หมวดสังคม: ปรัชญาพื้นฐาน
  • หมวดพลานามัย
 
ปี 2 เรียนวิชาเฉพาะ หมวดวิทย์คณิต: เคมีอินทรีย์ (Organic Chemistry)
วิชาบังคับของภาค
  • จุลชีววิทยาทั่วไป (General Microbiology) วิชานี้จะทำให้เรารู้จักจุลชีพแบบกว้างๆ แบคทีเรีย ยีสต์ รา ไวรัส รู้จักสัณฐานของมันคร่าวๆ (เช่น รูปร่างเซลล์ การจัดเรียงเซลล์ การเคลื่อนที่ การย้อมติดสีแกรม) รู้วิธีการปฏิบัติต่อเชื้อ ภาคปฏิบัติจะฝึกให้เราคุ้นเคยกับการปฏิบัติงานด้วยวิธี aseptic technique เพราะเป็นเทคนิคหลักในการทำแล็บกับเชื้อเพื่อป้องกันการปนเปื้อนข้าม (cross contamination)  การถ่ายเชื้อ(จากอาหารเลี้ยงเชื้อหนึ่ง ไปยังอาหารเลี้ยงเชื้ออีกอันหนึ่ง) การแยกเชื้อออกเป็นเชื้อบริสทุธิ์  (pure culture)
  • ปรสิตวิทยา (Parasitology มีแล็บกริ๊ง) เรียนทั้งพยาธิ แมลงวัน แมลงพาหะโรคบางชนิด ต้องรู้จักหน้าตา ชื่อ สัณฐาน จุดเด่นของแต่ละตัว (เพื่อไปส่องกล้องสอบ) เรียนวงจรชีวิตตั้งแต่ระยะไข่ (มีส่องกล้องสอบดูไข่) ระยะตัวอ่อน ตัวเต็มวัย ระยะติดต่อ โฮสต์หลัก โฮสต์กักตุน การก่อโรค
  • ราวิทยา (Mycology) เรียนเกี่ยวกับจุลินทรีย์ที่สร้างเส้นใย เห็ด รา เชื้อราก่อโรค
  • ชีวเคมี (Biochemistry) วิชานี้สำคัญมากเพราะต้องใช้คุณสมบัติทางชีวเคมีในการแยกและยืนยันเชื้อ อาจต้องเข้าใจลึกไปถึงระดับที่ว่าเชื้อตัวไหนสร้างสารอะไร/เอาสารอะไรไปใช้ ให้ผลไบโอเคมแบบไหน เพื่อให้เข้าใจว่าเพราะอะไรเชื้อตัวนี้ถึงให้ผลไบโอเคมแบบนั้น
 
ปี 3 วิชาเฉพาะหมวดวิทย์คณิต: เคมีวิเคราะห์เชิงปริมาณ (Quantitative Analysis)
วิชาบังคับของภาค
  • ระบบการจัดจำแนกแบคทีเรีย (Systematic bacteriology) นอกจากจำแนกด้วยสัณฐานของเชื้อ (เช่น แกรม รูปร่าง การจัดเรียงเซลล์) ต้องอาศัยความรู้ด้านชีวเคมีเพื่อจำแนกเชื้อลึกลงไปในระดับสปีชี่ส์ จะมีคัมภีร์ชื่อ Bergey's Manual of Determinative Bacteriology เป็นคัมภีร์จำแนกแบคทีเรีย 
  • พันธุศาสตร์ของจุลินทรีย์ (Microbial Genetics) 
  • วิทยาภูมิคุ้มกัน (Immunology) เรียนกลไกการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย และการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการภูมิคุ้มกันวิทยา
  • ไวรัสวิทยา (Virology) เรียนเกี่ยวกับไวรัสและกลไกการก่อโรค เนื้อหาสอดคล้องไปด้วยกันกับวิชาอิมมูน เรียนไปด้วยกันได้
  • สรีระและนิเวศวิทยาของจุลชีพ (Microbial physiology & ecology)
  • Basic Scientific Instrumentation and Laboratory Administration and Management วิชาเครื่องมือเราจะได้เรียนรู้การใช้เครื่องมือวิทย์ที่เกี่ยวข้องกับแล็บ การบำรุงรักษา รวมถึงกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการประกันคุณภาพของผลการทดสอบด้วย เช่นการทำ intermediate check, การทดสอบ accuracy, precision เพื่อนำไปสู่การทำ uncertainty ของเครื่องมือ
  • Food microbiology (จุลฯอาหาร) 
  • Sanitation microbiology (จุลฯสุขาภิบาล)
ปี 4 
วิชาบังคับของภาค
  • แบคทีเรียทางการแพทย์ (Medical Bacteriology) เรียนเน้นเรื่องแบคทีเรียก่อโรคและแบคทีเรียฉวยโอกาสในโรงพยาบาล *การเรียนส่วนใหญ่เป็นไปในแนวทางการ identification เชื้อก่อโรคได้ ไม่ได้เรียนเกี่ยวกับการรักษา
  • การประกันคุณภาพห้องปฏิบัติการทางจุลฯ (Microbiological Laboratory Quality assurance) เรียนเกี่ยวกับระบบคุณภาพมาตรฐานของห้องปฏิบัติการ โดยเฉพาะ ISO/IEC17025 ซึ่งเป็นข้อกำหนดเกี่ยวกับการรับรองความสามารถของห้องปฏิบัติการ ไม่ว่าจะมุ่งทำงานสายโรงงาน หรืออยู่สถาบันวิจัย งานแล็บจะต้องอยู่กับข้อกำหนดพวกนี้ตลอด (พวกห้องแล็บทางการแพทย์จะมี 15189 กับ 15190 เพิ่มอีก 2 ตัว)
  • Industrial microbiology (จุลฯอุตสาหกรรม) เรียนเรื่องจุลินทรีย์ที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาหาร (เช่น จุลินทรีย์ก่อโรคที่มีอาหารและน้ำเป็นสื่อกลาง การฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ในอาหารกระป๋อง ในนม) ภาคปฏิบัติอันนี้คล้ายว่าจะรีเวิร์สกับวิชาฟู้ด คือฟู้ดจะเริ่มที่ อาหาร->แยกเชื้ออกมาเป็น pure culture ส่วนวิชานี้จะเป็น แยก pure culture เพื่อนำไปทำผลิตภัณฑ์ บางคนทำทั้งเทมเป้ ไวน์สับปะรด ขนมปัง โยเกิร์ต
  • วิชาสัมมนา
  • การฝึกงาน
วิชาที่เริ่มจำแนกสายการทำงาน ช่วยให้ตัดสินใจได้ว่าจะเลือกไปทางสายงานใด
  • Food microbiology (จุลฯอาหาร) จากความรู้ที่ผ่านมาเราจะเริ่มตั้งสมมติฐานเองได้ว่าอาหารชนิดไหนน่าจะเจอเชื้ออะไร วิชานี้จะให้เราเลือกอาหารมา 1 อย่าง แล้วหารือกันว่าจะมีเชื้ออะไร เราจะแยกมันออกมาเป็น pure culture ได้ยังไง แล้วลงมือทำ
  • Industrial microbiology (จุลฯอุตสาหกรรม) 
  • Sanitation microbiology (จุลฯสุขาภิบาล)
  • Medical Bacteriology (แบคทีเรียทางการแพทย์) 
  • Microbiological Laboratory Quality assurance (การประกันคุณภาพห้องปฏิบัติการทางจุลฯ) 
       ยังมีวิชาอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีกมาก มีวิชาจุลชีววิทยาสิ่งแวดล้อมที่มุ่งสายงานไปทางด้านสิ่งแวดล้อมด้วย หากสนใจสายงานทางด้านจุลชีววิทยา แนะนำให้ลองศึกษาหลักสูตรของคณะที่เปิดสอนหลักสูตรจุลชีววิทยาเพิ่มเติม

ค่าเทอมตลอดหลักสูตร

       รวมทุกปีการศึกษา ประมาณ 180,000 - 300,000+ บาท

  • นักเทคโนโลยีอาหาร
  • นักวิทยาศาสตร์การอาหาร
  • นักเทคโนโลยีชีวภาพ
  • นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม 

Copyright © 2019 TruePlookpanya. All rights reserved.
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ห้ามมิให้ผู้ใดคัดลอก ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข หรือเผยแพร่ส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ก่อนได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร