เชฟ
เชฟ
เชฟ
เชฟ

       เชฟคือผู้ที่คอยบริหารจัดการงานในห้องครัว คิดค้น ออกแบบ สร้างสรรค์สูตรอาหารใหม่ ๆ คัดเลือกวัตถุดิบที่ต้องใช้ คิดคำนวณต้นทุนกำไร ออกแบบการตกแต่งจาน ตลอดจนวางแผนและแจกจ่ายงานให้กับสมาชิกคนอื่นในทีมครัว โดยรายละเอียดของงานนั้นจะแตกต่างออกไปตามลักษณะของสถานที่ที่ทำงานอยู่ เช่น โรงแรม ภัตตาคาร หรือร้านอาหารส่วนตัว และอาจแบ่งออกเป็นครัวเย็น ครัวร้อน ตามลักษณะอาหารที่รับผิดชอบได้อีกด้วย

เชฟ (Chef)

เชฟ (Chef)

เชฟ (Chef)

 

ลักษณะงาน 

        รูปแบบการทำงานของเชฟจะเปลี่ยนไปตามสถานที่ทำงานและนโยบายของสถานที่นั้น ๆ หากทำงานสำหรับอีเวนต์ในโรงแรมจะมีกำหนดการและแผนการทำงานที่แน่นอนกว่าร้านอาหาร เพราะมีการวางแผนมาแล้วว่าจะใช้เมนูอะไร จำนวนคนเท่าไร กำหนดเวลาช่วงไหน ต่างจากร้านอาหารที่ไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้ว่าลูกค้าจะสั่งเมนูอะไร ส่วนร้านอาหารแบบบุฟเฟ่ต์ก็จะมีความท้าทายที่ต้องใช้ไหวพริบแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอยู่บ้าง เช่น เมนูอาหารบางชนิดถูกตักจนหมดไวเกินคาด ก็ต้องเตรียมเมนูที่ทำได้รวดเร็วกว่ามาสำรองไว้ก่อน เป็นต้น

        ในขณะที่การเป็นเจ้าของร้านของตัวเองนั้นจะมีงานที่ครอบคลุมแทบทุกด้านหากลงมาจัดการด้วยตนเอง นอกเหนือไปจากการทำอาหาร ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการระบบในร้าน ดูแลสต๊อก คำนวณต้นทุนกำไรทั้งหมด ทำบัญชี ทำแผนการตลาด งานออกแบบ งานบุคคล ฝึกสอน ควบคุมดูแลพนักงานในร้าน

        ปัจจุบันหลายคนที่จบสายนี้เริ่มกระจายตัวจากโรงแรมไปตามร้านอาหาร คาเฟ่ บาร์ต่าง ๆ มากขึ้น ด้วยเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวที่ซบเซาลงทำให้หวังพึ่งงานจากโรงแรมอย่างเดียวไม่ได้ บ้างก็เรียนต่อด้านขนมหวานอย่าง ไอศกรีม หรือช็อกโกแล็ต แล้วไปทำงานที่แบรนด์ช็อกโกแล็ตหรือร้านขนมหวานต่าง ๆ ตามความถนัดและความสนใจ

ขั้นตอนการทำงาน 

  • สำหรับเชฟที่มีตำแหน่งเป็นหัวหน้างานหรือมีเนื้องานที่ต้องคิดเมนู จัดการวัตถุดิบและบริหารทีมครัวนั้น จะเริ่มงานด้วยการประชุม คำนวณงบประมาณ เพื่อวางแผนการทำงานในแต่ละวัน (หรือวางแผนล่วงหน้า)
  • เช็คสต๊อก รวบรวมจัดสรรวัตถุดิบ ตรวจสอบคุณภาพให้ได้มาตรฐาน อาจทำสต๊อกของด้วย
  • ทำความสะอาดเนื้อตัว ใส่เครื่องแบบให้เรียบร้อย เตรียมพร้อมก่อนเข้าครัว
  • ประกอบอาหารตามที่วางแผน ตามออเดอร์ลูกค้า หรือดูแลลูกทีมให้การทำอาหารเป็นไปอย่างราบรื่น
  • ตรวจเช็คคุณภาพการปรุงอาหารแต่ละจาน ให้ได้ตามมาตรฐานของร้าน
  • ใช้ไหวพริบคอยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นระหว่างงาน
  • จัดการทำความสะอาด ดูแลความเรียบร้อย เก็บครัวก่อนเลิกงาน
  • วางแผนการทำงานครั้งต่อไป ให้สอดคล้องกับแผนการตลาดในอนาคต

สถานที่ทำงาน

  • โรงแรม
  • ภัตตาคาร ร้านอาหาร
  • ร้านอาหารส่วนตัว
  • โรงพยาบาล
  • โรงงานอุตสาหกรรมหรือองค์กรต่าง ๆ 

ผู้ที่ต้องทำงานด้วย

  • พนักงานเสิร์ฟอาหาร
  • พนักงานผู้ช่วยในครัว
  • พนักงานโรงแรม
  • เจ้าของสถานประกอบการ
  • ลูกค้า
  • นักโภชนาการ 

 

เงินเดือน เชฟ

     อาชีพเชฟนั้นจะมีตำแหน่งและลำดับขั้นในการทำงาน ถ้าไม่มีใบรับรองการเป็นเชฟมาก่อนก็ต้องเริ่มตั้งแต่ขั้นแรก เหมือนกับเริ่มฝึกงานโดยเป็นผู้ช่วยในครัวก่อน ทำงานโดยอาศัยประสบการณ์และความเชื่อใจของเชฟที่ระดับสูงกว่าในการเลื่อนตำแหน่ง ซึ่งตำแหน่งของเชฟ โดยคร่าว ๆ จะแบ่งออกเป็น 

  • Commis Chef เป็นตำแหน่งแรกสุดสำหรับอาชีพเชฟ มีหน้าที่ช่วยงานต่าง ๆ เตรียมของ หยิบจับอุปกรณ์ เตรียมวัตถุดิบง่าย เช็ควัตถุดิบที่มาส่ง ไม่จำเป็นต้องมีความชำนาญอะไรเป็นพิเศษก็ได้ เป็นการเริ่มต้นของมือใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์ ไม่ว่าจะจบอะไรมาก็ต้องมาเริ่มที่ตำแหน่งนี้ก่อน หลัก ๆ จะยังไม่ได้จับอุปกรณ์ทำอาหารหน้าเตา เน้นการตระเตรียมของ ทำความสะอาด section ของตัวเอง (แต่ไม่ต้องล้างจานลูกค้า) ซึ่งก็จะแบ่งออกเป็น Commis1, Commis2, Commis3 และ Commis4 ตามระยะเวลาในการทำงาน อันบ่งบอกถึงประสบการณ์ในการทำงานด้วย 
  • Demi Chef เริ่มได้ขึ้นหน้าเตาปรุงบ้าง หรืออาจอยู่ครัวเย็น ในแต่ละแผนกอาจจะช่วยกันทำงานหลายคน ถ้าร้านอาหารนั้นแบ่งออกเป็นกะ อาจจะมีกะละ 2 คน มีหน้าที่เพื่อช่วยเชฟ
  • Chef de Partie ต้องมีความสามารถในการทำงานหลากหลาย อยู่ได้ทั้งครัวเย็น ครัวร้อน ตามรอบงานนั้น ๆ และรับคำสั่งหัวหน้างานมาแจกจ่ายงานให้พนักงานคนอื่นต่อได้ อาจเป็นหัวหน้าที่คุมแผนกอาหารต่าง ๆ (แต่บางโรงแรม Demi Chef ก็ตำแหน่งใหญ่กว่า ขึ้นอยู่กับการเรียกของแต่ละที่)
  • Chef de cuisine / Section Chef / Sous chef จะเป็นตำแหน่งที่มีในห้องอาหารหรือภัตตาคารขนาดใหญ่ที่ต้องการคนดูแลรับผิดชอบแผนกย่อยลงไปอีก เช่นแผนกเตรียมผัก แผนกอบขนม แผนกย่าง เป็นต้น เป็นตำแหน่งที่ค่อนข้างเฉพาะทาง
  • Head Chef หรือ Executive Chef หัวหน้าเชฟ ตำแหน่งนี้มักจะมีในร้านหรือโรงแรมขนาดใหญ่ มีหน้าที่หลักคือควบคุมดูแลความเรียบร้อยของการทำอาหาร ไปจนถึงการออกอาหาร รวมถึงการทำงานของทุกคนในครัว นอกจากทำอาหารแล้วยังต้องเป็นผู้บริหารจัดการระบบในครัวด้วย ต้องสามารถใช้โปรแกรมทำ report ได้ คิดคำนวณเป็น จัดตารางงานพนักงานได้ คิดเมนูอาหารใหม่ได้ เรียกว่ามีความสามารถเกือบรอบด้านเลยทีเดียว บางครั้งสองตำแหน่งนี้อาจแยกกัน โดย Executive Chef จะอยู่เหนือ Head Chef อีกที
  • ส่วน Chef Copperplate จะมีหน้าที่ดูแลโรงแรมหรือร้านอาหารที่มีหลายๆสาขา บางร้านมีสาขาอยู่ทั่วโลก ก็จะต้องดูและรักษามาตรฐานของรสชาติและรูปแบบของร้านเอาไว้ในได้มาตรฐานเดียวกันในทุก ๆ สาขา ซึ่งจะขึ้นอยู่กับความใหญ่ขององค์กร

       แต่ละตำแหน่งนี้จะใช้เวลาในการเลื่อนขั้นประมาณ 1-2 ปี ขึ้นอยู่กับความสามารถและตำแหน่งงานที่ว่าง สำหรับในประเทศไทยแล้วหากไม่ใช่ร้านหรือโรงแรมที่มีขนาดใหญ่มาก ๆ อาจไม่ได้แบ่งยิบย่อยนัก แต่ในต่างประเทศจะแบ่งตำแหน่งค่อนข้างละเอียดชัดเจน

       สำหรับบางคนอาจต่อยอดอาชีพด้วยการเปิดร้าน ทำกิจการ ธุรกิจของตัวเอง หรือกลับไปสานต่อธุรกิจของทางบ้าน ก็จะเป็นผู้บริหารจัดการระบบทั้งหมดด้วยตนเอง หรืออาจจ้างผู้อื่นมาทำก็ได้

เงินเดือน

       รายได้จะขึ้นอยู่กับโครงสร้างขององค์กร หรือระดับของโรงแรมและสถานประกอบการ ซึ่งส่วนมากตามโรงแรมใหญ่ ๆ จะมีค่าเซอร์วิสชาร์จแยกให้ต่างหากจากเงินเดือน 

  • Commis Chef 9,000 – 15,000+ บาท
  • Demi Chef 13,000 – 17,000+ บาท
  • Chef de Partie 15,000 – 20,000+ บาท
  • Sous chef 20,000 – 40,000+ บาท
  • Executive Chef 40,000 – 100,000+ บาท

การแข่งขันและความต้องการตลาด 

       เนื่องจากอาหารนั้นคือปัจจัย 4 ของมนุษย์ทุกคนในการดำรงชีวิต อาชีพเชฟหรือผู้ประกอบการด้านธุรกิจ เกี่ยวกับอาหารจึงเป็นอาชีพที่สำคัญมากในสังคมไม่ว่าจะยุคสมัยไหนก็ตาม ไม่ว่าจะไปสถานประกอบการไหนก็จะเป็นตำแหน่งที่มีส่วนร่วมในวิถีชีวิตของทุกคนอยู่เสมอ ยิ่งในยุคปัจจุบันที่เทรนด์การประกอบอาหารนั้นไม่ได้มีเพียงแค่ความอร่อยหรือพอให้กินอิ่มท้อง แต่เป็นทั้งศิลปะ ความสุนทรีย์ และการเอาใจใส่ด้านสุขภาพที่ดี งานด้านอาหารในปัจจุบันจึงสามารถแตกแขนงได้อีกหลายสายมากมาย รวมถึงยังมีโอกาสในการที่จะประกอบธุรกิจใหม่ ๆ เป็นของตัวเอง หากมีความครีเอตและความสามารถที่มากพออีกด้วย

  • มีความรู้ความเข้าใจในการปรุงอาหาร เลือกซื้อวัตถุดิบ คิดคำนวณและบริหารจัดการ ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้
  • เป็นอาชีพที่ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ มีความท้าทายในทุก ๆ วัน ได้เปิดโลกทัศน์ให้กว้างขึ้น เพราะอาหารก็คือส่วนหนึ่งของชีวิต ทำให้ได้เรียนรู้วัฒนธรรมต่าง ๆ ในโลกนี้ผ่านอาหาร
  • มีความต้องการสูง เพราะคนเราต้องบริโภคอาหารเป็นปัจจัย 4 ทุกวัน และเป็นอาชีพที่ยากจะถูกแทนที่โดยหุ่นยนต์ หรือ disruptive technologies
  • รายได้และผลตอบแทนค่อนข้างคุ้มค่า หากขยันและมุมานะ
  • สามารถต่อยอดได้หลากหลายตามความถนัดและความสนใจ
  • มีความกดดันสูง เพราะต้องรับผิดชอบชีวิตคนรับประทาน และแบกรับความคาดหวังจากลูกค้ามาก
  • ค่อนข้างเหนื่อยมาก งานหนัก ต้องมีความทรหดอดทนจริง ๆ เพราะเป็นอาชีพที่ต้องยืนทำงานในครัวนาน ๆ ติดกัน 5-6 ชม. และใช้แรงงานค่อนข้างมาก เริ่มงานเช้าและอาจเลิกดึก
  • เป็นงานที่มีระบบระเบียบและแบบแผนค่อนข้างเคร่งครัด ทำงานร่วมกับคนหลากหลาย แข่งกับเวลาและความแม่นยำ สำหรับผู้ที่ไม่ชอบอาจเกิดความเครียดได้ง่าย
  • ต้องทำงานในเวลาที่ผู้อื่นกินข้าว ดังนั้นจึงต้องวางแผนจัดสรรเวลาให้ดี
  • ค่าอุปกรณ์การเรียนที่มีคุณภาพราคาค่อนข้างสูง รวมถึงการเดินทางไปแข่งขันที่ต่าง ๆ ต้องใชัทุนพอสมควร
  • รักการทำอาหาร รักความสะอาด ถูกสุขลักษณะอนามัย ใส่ใจสุขภาพของลูกค้า
  • มีความคิดสร้างสรรค์ และสามารถวิเคราะห์หาสิ่งที่เหมาะสมตอบโจทย์เป้าหมายได้
  • ใส่ใจรายละเอียด ความละเอียดรอบคอบ ช่างสังเกต เอาใจใส่  มีมาตรฐานในการทำอาหาร รักษาคุณภาพได้
  • ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ มีความขยันและอดทน
  • มีความกระตือรือร้น คล่องแคล่วว่องไว เพราะงานทำอาหารเป็นงานที่แข่งกับเวลา
  • ทักษะการประกอบอาหาร การคัดสรรประเมินคุณภาพวัตถุดิบ มีประสาทสัมผัสในการได้กลิ่นและรสชาติที่ปกติดี 
  • ทักษะภาษาอังกฤษ (หรือฝรั่งเศส) ที่ต้องใช้ในการอ่านตำราอาหารและสื่อสารกับเชฟจากนานาชาติ
  • ทักษะการสื่อสาร การสื่อสารเพื่อให้ผู้ร่วมงานเข้าใจการทำงานร่วมกัน 
  • ทักษะการจัดการเวลา การจัดการเวลาเป็นสิ่งสำคัญมากในการทำอาหาร เชฟที่ดีต้องรู้จักวางแผนเวลาในการทำอาหาร และทำมันอย่างเป็นขั้นเป็นตอนเพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดได้ 
  • ทักษะการเป็นผู้นำ ในหลาย ๆ แห่งเชฟ คือหัวหน้าที่ต้องคอยดูแลบริหารคนในห้องครัวให้ทำงานได้ตามเป้า 
 

เรียน เชฟ

การศึกษา

       ต้องสำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญ หรือเทียบเท่า มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ทั้งกายใจ
ผู้ที่จบสายนี้จะได้รับวุฒิ วิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) B.Sc. (Food Industry and Service) สาขาวิชาอุตสาหกรรมอาหารและการบริการ หรือ คหกรรมศาสตรบัณฑิต (คศ.บ.) (อุตสาหกรรมการบริการอาหาร) ต่างกันไปตามแต่ละสถานที่
       สำหรับคณะและสาขา ส่วนมากจะอยู่ในคณะคหกรรมศาสตร์ บางที่เป็นสาขาย่อยของการโรงแรม และบางที่ก็เป็นวิทยาลัยเฉพาะทางที่สอนการทำอาหารเพื่อเป็นเชฟโดยเฉพาะ 
 
ตัวอย่างคณะและสถาบันสำหรับอาชีพนี้
  • วิทยาลัยดุสิตธานี สาขาเทคโนโลยีการประกอบอาหารและโภชนาการ ม.ราชภัฏสวนดุสิต
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต คณะเทคโนโลยีอาหารและการบริการ
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ สาขาวิชาธุรกิจอาหาร
  • โรงเรียนสอนการประกอบอาหาร เลอ กอร์ดอง เบลอ ดุสิต
  • วิทยาลัยเทคโนโลยีธุรกิจอาหารไทยและนานาชาติ
  • คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ สาขาวิชาอาหารและโภชนาการ หรือสาขาวิชาธุรกิจอาหาร
  • คหกรรมศาสตรบัณฑิต คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ สาขาวิชาอุตสาหกรรมการบริการอาหาร
  • มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการประกอบอาหารเพื่อสุขภาพ หลักสูตรนี้จะเน้นการเรียนการสอนเพื่อเริ่มต้นธุรกิจ มีทั้งฝึกทำอาหารเพื่อสุขภาพ ศึกษาเทรนด์ เรียนเทคนิคการถ่ายภาพ ทำกราฟิก ฯลฯ

 

       สำหรับการสอบใบประกอบวิชาชีพ หรือใบรับรองฝีมือเชฟนั้น ใช้ในการยื่นสมัครงาน หรือยื่นขอวีซ่าเพื่อไปทำงานเป็นเชฟในต่างประเทศ โดยต้องมีคุณสมบัติข้อใดข้อหนึ่งในสามข้อนี้จึงจะสอบได้
  1. มีประสบการณ์การทำงานเป็นพ่อครัวหรือทำอาหารมากกว่า 3 ปี
  2. ผ่านการเรียนการสอนในสถาบันที่ได้รับการรับรอง จำนวน 6 หน่วยกิตขึ้นไป
  3. ผ่านการเรียนการสอนตามคอร์สในสถาบันต่าง ๆ มากกว่า 90 ชั่วโมงขึ้นไป

Hard Skill ที่ควรฝึกฝน

  • ทักษะการประกอบอาหาร
  • ทักษะภาษาอังกฤษ

Soft Skill ที่ควรฝึกฝน

  • ทักษะการบริหารจัดการ การลำดับความสำคัญ
  • ทักษะการสื่อสาร
  • ความคิดสร้างสรรค์
  • ไหวพริบการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า

กิจกรรมและแหล่งเรียนรู้เพิ่มเติม

คำบอกเล่าจากคนในสายอาชีพ

       ถ้าให้พูดถึงอาชีพนี้ต้องบอกก่อนว่าจากกระแสของรายการทีวีต่าง ๆ ทำให้อาชีพนี้มีมุมมองที่เปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น เพราะคนสมัยก่อนจะมองว่าเป็นอาชีพที่ไม่น่านับถือ ทำยังไงก็ไม่รวย บางคนทำอาหารเก่งแต่บริหารไม่เป็นก็เจ๊ง คอร์สเรียนสมัยนี้ถึงมีวิชาบริหารจัดการเข้ามาเพิ่ม แต่ในขณะเดียวกันก็เหมือนดาบ2คม ที่สามารถทำให้คนหลงไหลความทีวี จนลืมนึกถึงรากของการเป็นเชฟ อย่างไรก็แล้วแต่ เชฟเนี่ยเรียกได้ว่าเป็นอาชีพที่ต้องมีสมาธิ มี creativity มีความชื่นชอบ มีการเรียนรู้ตลอดเวลา

 

พัณณ์ชิตา กมลโต (แอน) ที่ปรึกษาและหัวหน้าเชฟ ร้าน baba eating house

 

วิชาเรียน 

       ช่วงปีแรกในบางที่จะเป็นวิชาปรับพื้นฐานอย่างกลุ่มภาษาต่าง ๆ มนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เคมี ฯลฯ นอกจากนั้นอาจมีวิชาเกี่ยวกับการบริหารจัดการ การเงิน การตลาด และบัญชีอีกด้วย

วิชาเฉพาะสาขาอาจมีชื่อเรียกต่างกันไปตามแต่ละสถาบัน ตัวอย่างเช่น

  • Basic cookery พื้นฐานการทำครัว
  • Food hygiene  การรักษาความสะอาด สุขอนามัย ข้อควรระวังต่าง ๆ ในการประกอบอาหาร
  • Food allergies เรียนเกี่ยวกับโรคภูมิแพ้ที่เกิดจากอาหารต่าง ๆ
  • Accounting for chef วิชาบัญชีสำหรับอาชีพเชฟ
  • การจัดการครัวมาตรฐาน (Standard Kitchen Management) เรียนรู้ประเภทครัว การออกแบบ การจัดการพื้นที่ การวางอุปกรณ์
  • การแกะสลักผักและผลไม้เพื่อการตกแต่ง เรียนแกะสลักผักผลไม้สำหรับแต่งจาน
  • A LA CARTE MENU PRODUCTION เรียนเกี่ยวกับการทำอาหารจานเดียวตามสั่งในเมนู
  • TABLE D’ HOTE MENU PRODUCTION การทำเซตอาหารชุด แบบไฟน์ไดน์นิ่งในโรงแรม
  • Cuisine of the world เรียนการทำเมนูอาหารชื่อดัง จากหลายประเทศทั่วโลก
  • Sugar Work เรียนเกี่ยวกับการทำน้ำตาลที่ใช้ประดับตกแต่งจานของหวาน

 

เคล็ดลับการเรียน

       ความขยันและอดทนเป็นสิ่งสำคัญมาก ต้องมีใจรักและมีความตั้งใจที่จะพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ที่สำคัญมากพอกับวิชาการคือการลงมือปฎิบัติและฝึกฝน การเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากที่ไปฝึกงานจริงตามร้านหรือห้องอาหารต่าง ๆ และต้องมีการบริหารจัดการเวลาที่ดี บางทีเวลาทำงานหรือฝึกงานอาจเลิกดึกถึงเที่ยงคืนเลยก็มี นอกจากนั้นควรดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอเพราะต้องพร้อมรับมืองานหนักอยู่ตลอดเวลา

 

ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย

  • ปี 1 บางที่จะเรียนวิชาพื้นฐานเพื่อปรับพื้น มีวิชาสายวิทยาศาสตร์อย่างฟิสิกส์ เคมี ชีวะ และคณิตศาสตร์ หรือวิชาวิทยาศาสตร์ประยุกต์เพื่อการทำอาหาร ภาษาเพื่อการสื่อสารต่าง ๆ กลุ่มวิชามนุษยศาสตร์ เรียนรู้อุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ และการทำความสะอาด และส่วนมากจะได้เรียนพื้นฐานการเข้าครัว และ intro ของทุกอย่าง ตั้งแต่การเลือกวัตถุดิบ หั่นผัก ทำเบสซุป ซอสชนิดต่าง ๆ ที่ไว้ทานกับอาหาร ซึ่งมีรายละเอียดปลีกย่อยต่างกันไป
  • ปี 2 สำหรับบางที่จะเริ่มมีวิชาเฉพาะด้านในช่วงนี้ พื้นฐานการจัดการครัวแบบมาตรฐาน ความรู้เกี่ยวกับวัตถุดิบชนิดต่าง ๆ หลักการประกอบอาหารวิธีต่าง ๆ ระบบจัดซื้อและการกำหนดคุณลักษณะของวัตถุดิบ การตรวจสอบตรวจรับ
  • ปี 3 เริ่มเน้นการปฏิบัติงานจริงมากขึ้น เรียนวิชาเฉพาะทางตามที่สนใจ ฝึกประกอบอาหารเฉพาะประเภท ช่วงปี 2-3 นี้จะเริ่มได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น ต้องนำความรู้มีที่มาประยุกต์ใช้ในการประกอบอาหารเมนูต่าง ๆ ให้ออกมาน่าประทับใจอาจารย์ผู้สอน ดังนั้นจึงต้องมีการค้นคว้าหาข้อมูล ทำการบ้านกันหนักหน่อย
  • ปี 4 ทำวิจัยด้านอุตสาหกรรมอาหาร ส่วนคณะที่เน้นการบริหารจัดการควบคู่ด้วยก็จะเรียนเรื่องการบริหารเป็นส่วนใหญ่ เช่นที่มหาวิทยาลัยดุสิตธานี จะมีวิชา Coffee Shop ที่ให้บริหารจัดการคาเฟ่ของมหาวิทยาลัยเองตลอดเทอม หลังจากจบหลักสูตรทั่วไปแล้ว สามารถเลือกเรียนต่อคอร์สเฉพาะทางพิเศษได้ตามความสนใจ

ค่าเทอมตลอดหลักสูตร 

  • วิทยาลัยดุสิตธานี
    • หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการครัวและศิลปะการประกอบอาหาร ค่าเล่าเรียนรวมตลอดหลักสูตร 454,550 บาท
    • หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาศิลปะการประกอบอาหารอย่างมืออาชีพ (หลักสูตรนานาชาติ) ค่าเล่าเรียนรวมตลอดหลักสูตร 1,091,480 บาท
  • เลอ กอดอง เบลอ ดุสิต 400000-700000 บาทต่อคอร์ส
  • มหาวิทยาลัยรัฐบาลอื่น ๆ ประมาณ 200,000 - 300,000 บาทขึ้นไป

มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก

 

  • ผู้จัดการร้านอาหาร
  • นักโภชนาการ
  • นักวิทยาศาสตร์อาหาร
  • Food Stylist
  • ที่ปรึกษาการเปิดร้านอาหาร
  • นักคิดค้นรสชาติอาหาร

Copyright © 2019 TruePlookpanya. All rights reserved.
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ห้ามมิให้ผู้ใดคัดลอก ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข หรือเผยแพร่ส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ก่อนได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร