เภสัชกร คืออาชีพที่ทำงานเกี่ยวกับยาในบริบทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการผลิต วิจัยค้นคว้า ควบคุมดูแล วินิจฉัย ตรวจสอบ จัดซื้อจัดจำหน่าย ฯลฯ รวมถึงให้คำแนะนำดูแลในการปฎิบัติตัวควบคู่กับการใช้ยาต่าง ๆ สามารถทำงานได้ทั้งส่วนของต้นสายและปลายสายการผลิต โดยเนื้องานของอาชีพเภสัชกรนั้นค่อนข้างหลากหลาย ตามสายงานที่เลือก มีตั้งแต่ทำงานจ่ายยาในโรงพยาบาล ขายยาตามร้านอย่างที่หลายคนคุ้นเคยกัน ไปจนถึงควบคุมการผลิตยาในโรงงาน หรือสายการตลาดที่เน้นการนำเสนอและทำยอดขายให้กับบริษัทที่ผลิตยา
ลักษณะงาน
เนื้องานของอาชีพเภสัชกรนั้นมีความหลากหลายมาก ขึ้นอยู่กับสายงานที่เลือก โดยส่วนมากแล้วจะแบ่งได้ดังนี้
เภสัชกรโรงพยาบาล
ทำงานร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์อื่น ๆ ให้คำแนะนำวิธีการใช้ยาและจ่ายยาให้กับผู้ป่วย ให้คำแนะนำบุคลากรในโรงพยาบาลด้านการจัดเตรียมละใช้ยา ตลอดจนติดตามผลการใช้ยาของคนไข้ และบริหารคลังเวชภัณฑ์ของโรงพยาบาล มีการอยู่เวรประจำวอร์ด โดยการทำงานทั่วไปแล้วจะขึ้นตรงกับแพทย์ผู้สั่งยา และเภสัชกรจึงเป็นคนจัดเตรียมและจ่ายยาแก่คนไข้ ไม่สามารถให้ยาคนไข้เองได้ และเก็บรายละเอียดด้านการใช้ยาต่าง ๆ เช่น คอยเตือนหมอว่าให้ยาเกินโดสแล้วหรือเปล่า หรือเตือนเรื่องการให้ยาที่ทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ รวมถึงการเตรียมยาสำหรับผู้ป่วยในก็ต้องผ่านการสั่งยาจากหมอเช่นกัน มีการเดินตรวจคนไข้กับหมอบ้าง
เภสัชกรชุมชน หรือเภสัชกรร้านขายยา
ประจำอยู่ที่ร้านขายยา ช่วยคัดกรองผู้ป่วยเบื้องต้นในชุมชน คอยตอบคำถามและให้ข้อมูลคำแนะนำเกี่ยวกับตัวยาต่าง ๆ โดยวินิจฉัยจากการซักภามตามอาการและประวัติของผู้ป่วย และจ่ายยาให้เหมาะสมแก่ผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งอาจมีงานอย่างอื่นนอกจากการขายยาด้วย เช่น การบริหารสต๊อกสินค้า การต่อใบอนุญาตร้านขายยา รับการตรวจเยี่ยมจากหน่วยงานสาธารณสุข ซึ่งการจะขายยาได้นั้นต้องใช้ใบประกอบวิชาชีพด้วย โดยร้านที่เปิดนั้นอาจเป็นร้านของตัวเองหรือร้านของผู้อื่นที่จ้างเภสัชกรมาขายก็ได้
เภสัชกรคุ้มครองผู้บริโภค
ทำงานที่หน่วยงานซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบ ควบคุม ดูแลคุณภาพ และความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สุขภาพ เช่น ยา เวชภัณฑ์ เครื่องสำอาง ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ เช่น ตามหน่วยงานอย. เพื่อดูแลป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคถูกหลอกลวง
เภสัชกรการตลาด
สาย sales & marketing หรือดีเทลยา ทำหน้าที่ นำเสนอข้อมูลในประเด็นต่าง ๆ เกี่ยวกับยาของบริษัท เช่น อธิบายการใช้ยา การออกฤทธิ์ทางยา ผลข้างเคียงของยา ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ทั้งในโรงพยาบาลและร้านขายยา
โดยถ้าชอบการพบปะผู้คนก็มักจะมาทางฝั่ง sales ขึ้นไปเป็น senior sales rep หรือ sale supervisor หรือ district sales manager
หากชอบวางแผนกลยุทธ จากผู้แทนยาก็สามารถต่อไปทาง product executive และ product managerทีจะต้องวางแผนการตลาดให้กับสินค้าเฉพาะตัว จากนั้นก็ขึ้นเป็น marketing executive/manage rและ marketing director
สำหรับการเรียนต่อนั้นจะเน้นไปทางด้านการบริหารหรือการตลาด เน้นด้านการขายอย่างเต็มตัว
เภสัชกรอุตสาหกรรม
อาจเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เภสัชกรโรงงาน ทำหน้าที่ ควบคุมการผลิตยาให้มีคุณภาพ และควบคุมคุณภาพของยา พัฒนาและวิจัยยาใหม่ ๆ เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำหน้าที่ในโรงงานผลิตยา มีตั้งแต่ การวิจัยเพื่อผลิต เช่น หากต้องการจะผลิตยาพาราแบรนด์ของตัวเองขึ้นมา งานส่วนนี้จะเป็นการวิเคราะห์ว่า ควรทำยาออกมาในรูปแบบไหน สูตรอะไร ถึงจะทำให้ยาออกฤทธิ์ไว หรืออกฤทธิ์ได้นานอย่างที่ต้องการ ต้องคุมภาพรวมของการผลิต ตั้งแต่การคัดเลือกวัตถุดิบ ควบคุมมาตรฐานต่างๆในการผลิต เช่น ความชื้นและอุณหภูมิในห้องผลิต ฯลฯ และในตัวงานผลิตเองก็มีหลายขั้นตอน มียาหลายรูปแบบทั้งยาเม็ด ยาน้ำ ยาฉีด มีการควบคุมคุณภาพ วิเคราะห์ข้อมูลของยาที่ผลิตได้ในแต่ละล็อต จัดทำข้อมูล มีการประกันความน่าเชื่อถือของรายงาน ในส่วนของการขึ้นทะเบียนยาคือไปติดต่อ อย. ยาทุกตัวต้องผ่านการขึ้นทะเบียนกับอย.ก่อนถึงจะผลิตขายได้ ในส่วนนี้จะเป็นงานเอกสาร ถ้าเป็นบริษัทต่างประเทศก็อาจจะไม่ได้มีเรื่องของงานผลิตหรือวิจัยถ้าทำงานในประเทศ แต่จะมีงานขึ้นทะเบียนอยู่ ซึ่งพอเป็นบริษัทต่างประเทศก็คือต้องใช้ภาษาอังกฤษได้ดีพอสมควร
เภสัชกรสายวิจัย
เน้นการช่วยคุมงานวิจัยต่าง ๆ คอยเก็บข้อมูล ทำการทดลอง เฝ้าติดตามผลและสรุปรายงาน ส่วนมากสายนักวิจัยเต็มตัวนั้นในประเทศไทยจะยังไม่ค่อยมี มักจะเป็นสายงานที่พบได้มากในต่างประเทศมากกว่า
ขั้นตอนการทำงาน
ขั้นตอนการทำงานของเภสัชกรนั้นจะมีความหลากหลายแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับเนื้องานของสายที่เลือก
- เภสัชกรในโรงพยาบาล งานส่วนใหญ่คือการเช็คและจัดยาตามใบสั่งของแพทย์ อาจมีงานเบื้องหลังที่ต้องทำเอกสาร บริหารคลัง
- เภสัชกรร้านขายยาจะมีตั้งแต่การเปิดร้าน บริหารจัดการร้าน เช็คของ วิเคราะห์อาการและแนะนำยาให้ผู้ป่วย ไปจนถึงการเก็บเงิน
- เภสัชกรโรงงานจะเป็นลักษณะเหมือน supervisor ของเหล่าพนักงาน คอยดูสเปคและกำหนดขั้นตอนการผลิต ถ้าเป็นฝ่ายควบคุมคุณภาพก็จะมีงานเอกสาร ทดสอบคุณสมบัติของยา ฝ่ายขึ้นทะเบียนก็ต้องประสานงานกับองค์การอย.
- สายผู้แทนยาหรือดีเทลยาจะเน้นการขายสินค้า เดินทางพบปะลูกค้าตามโรงพยาบาลหรือหมอ ประชุม
สถานที่ทำงาน
- โรงพยาบาล (สำหรับเภสัชกรในโรงพยาบาล)
-
ร้านขายยา (สำหรับเภสัชกรที่ร้านขายยาทั่วไป)
-
โรงงานอุตสาหกรรม (สำหรับเภสัชกรที่ร้านขายยาทั่วไป)
-
องค์กรบริษัทต่าง ๆ อาจเป็นเภสัชกรที่ทำงานวิจัยภายในการควบคุมดูแล หรือการว่าจ้างของหน่วยงานหรือองค์
ผู้ที่ต้องทำงานด้วย
- คนไข้ คือผู้ที่มารอรับยาหลังจากการพบแพทย์ เราอาจจะแค่ให้ข้อมูลเรื่องกรับประทานยาที่ถูกต้อง แต่หากทำงานในร้านขายยาทั่วไป จะได้พบเจอกับคนไข้ที่มาซื้อยาโดยตรงเป็นประจำ และต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนไข้โดยสอบถามอาการของคนไข้เพื่อจัดยาให้ตามอาการ
- แพทย์ พยาบาล เทคนิคการแพทย์ นักโภชนาการ นักกายภาพบำบัด โดยบุคคลเหล่านี้จะเป็นทีมบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานควบคู่กับเภสัชกร โดยส่วนใหญ่จะเป็นเภสัชกรในโรงพยาบาล
ทางเลือกอาชีพ
- ตรงสายอาชีพ ได้แก่ เภสัชกร หัวหน้าแผนกเภสัชกรรม ผู้จัดการร้านยา เจ้าของร้านยา ผู้แทนยา
- ไม่ตรงสายอาชีพ ได้แก่ ติวเตอร์ อาจารย์สอนพิเศษ เจ้าของแบรนด์เครื่องสำอางค์หรืออาหารเสริม
ตำแหน่งและเส้นทางการเติบโตในสายอาชีพ
เภสัชกรทั่วไปจะเริ่มตั้งแต่เภสัชกร ปรับตำแหน่งเป็นหัวหน้าฝ่ายและขึ้นเป็นหัวหน้าเภสัชกร ส่วนเภสัชกรร้านขายยาก็มีโอกาสเป็นหัวหน้าหรือผู้จัดการสาขาได้ หากเป็นเภสัชกรโรงงาน อาจเติบโตเป็น หัวหน้าควบคุมตรวจสอบการผลิต เจ้าของโรงงานผลิตยา เป็นต้น
สำหรับผู้แทนยาจะมีตั้งแต่ product executive > product manager > marketing executive/manager > marketing directorและมีโอกาสต่อยอดเป็น GM หรือ MD หากมีความสามารถเพียงพอ ผู้ที่เป็นข้าราชการในโรงพยาบาลทั่วไปจะมีตำแหน่งและการเลื่อนขั้นตามระบบราชการด้วย การศึกษาต่อเพิ่มเติมจะช่วยให้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งได้รวดเร็วและสามารถเป็นถึงผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานได้ ส่วนในภาคเอกชนนั้นขึ้นอยู่กับโครงสร้างการบริหารงานขององค์กร และเภสัชกรสามารถประกอบธุรกิจส่วนตัว คือ เป็นเจ้าของร้านขายยาได้ โดยต้องมีใบอนุญาต สำหรับผู้ที่สามารถผลิตยาหรือผลิตภัณฑ์อื่นที่สามารถบำบัดรักษาอาการ เจ็บป่วยหรือบำรุงรักษาสุขภาพได้โดยผ่านการทดสอบและได้รับอนุญาตจากองค์การเภสัชกรรมสามารถจดลิขสิทธ์การเป็นเจ้าของสูตรในการปรุงยา หรือผลิตภัณฑ์นั้น และผลิตเป็นสินค้าออกจำหน่ายในลักษณะอุตสาหกรรมได้เช่นกัน
รายได้
รายได้โดยเฉลี่ยต่อเดือน จากระดับเริ่มต้นไปจนถึงระดับสูงสุด
- อัตราเงินเดือนเภสัชกรในโรงพยาบาล ขั้นต่ำเริ่มที่ 15,000 บาท โดยยังไม่รวมค่าอยู่เวรหรือใบประกอบ
- เภสัชกร รพ.สธ. เงินเดือน 17,000-19,000 มีค่าพตส.1,500-3,000 บาท ไม่ประกอบเวช 5,000 กันดาร 3,000-13,000 บาท ค่าขึ้นเวร 720-1,300 บาท
- เภสัชกรร้านยา ทำเลทั่วไป อยู่ที่ 30,000 บาท หากเป็นแหล่งท่องเที่ยว 40,000-60,000 บาทไม่รวมค่าคอมมิชชัน โอที
- ผู้แทนยานั้นเงินเดือนเริ่มต้น 25,000+ แต่ถ้ารวมคอมมิชชันด้วยก็มีโอกาสสูงถึงหลักแสนได้ สำหรับตำแหน่งสูง ๆ อย่างระดับผู้บริหารจะอยู่ที่ประมาณ 150,000 บาท ไม่รวมโบนัส
การแข่งขันและความต้องการตลาด
ปัจจุบันความต้องการยาสำหรับรักษาโรคทางการแพทย์แผนปัจจุบัน และแผนโบราณเพิ่มมากขึ้นตามอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรและชนิดของเชื้อโรค ที่พัฒนาตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป การพัฒนาคุณภาพของยา ตลอดจนการควบคุมขั้นตอนการผลิตยารักษาโรค ให้มีประสิทธิภาพในการบำบัดรักษาต้องดำเนินการอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้มียาที่สามารถใช้ในการรักษาบำบัดโรคต่าง ๆ ที่เพียงพอกับจำนวนประชากร เภสัชกรจึงยังเป็นที่ต้องการทั้งทางภาครัฐและภาคเอกชนเป็นอย่างมากแนวโน้มของโอกาสในการมีงานทำของอาชีพนี้ ยังคงมีอยู่ ดังนั้น ผู้สำเร็จการศึกษาทางด้านนี้สามารถหางานทำได้ง่าย และหากไม่เลือกงานก็จะไม่มีการตกงานเลยสำหรับเภสัชกร อาชีพเภสัชกรสามารถทำงานในหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ เช่น โรงพยาบาล องค์การเภสัชกรรม ส่วนในหน่วยงานเอกชน ได้แก่ บริษัทผลิตยา บริษัทนำเข้ายา บริษัทผลิตเครื่องสำอาง หรืออาจประกอบธุรกิจส่วนตัว โดยการเปิดร้านขายยา
- รายได้ค่อนข้างดี ตามความขยัน การเข้าเวรหรือยอดขายที่ทำได้
- มีความรู้ความเข้าใจในการดูแลผู้ป่วยและเลือกใช้ยา สามารถดูแลครอบครัวหรือคนใกล้ชิด วิเคราะห์ วินิจฉัยอาการเบื้องต้นและให้การรักษาได้ หากอาการรุนแรงก็สามารถประเมินความเสี่ยงและแนะนำให้นำส่งแพทย์ได้
- มักจะมีสวัสดิการที่ดีในองค์กรต่าง ๆ
- เป็นอาชีพที่มีความมั่นคงและเป็นที่ยอมรับนับถือสังคม
- ทำงานในภาวะกดดัน ต้องมีความรอบคอบมากเพราะเกี่ยวข้องกับชีวิตผู้คน
- เภสัชกรในโรงพยาบาลอาจต้องมีการอยู่เวร
- สำหรับสายผู้แทนยาจะมีความเครียดและกดดันในการทำยอด และต้องอยู่กับตัวเลขจำนวนมาก
- หากไม่ชอบสายวิชานี้จะเป็นงานที่หนักมากเพราะมีเนื้อหาข้อมูลเยอะ
- เป็นวิชาชีพเฉพาะทางจึงต้องมีการสอบและต่อใบประกอบโรคศิลป์
- มีความละเอียดรอบคอบ ให้ความสำคัญและตระหนักว่างานที่ทำนั้นเกี่ยวข้องกับชีวิตผู้คน
- ใจรักงานบริการ มีความเอาใจใส่ดูแลคนอื่นดี มีมนุษยสัมพันธ์
- มีความอดทน ใจเย็น สามารถอธิบายและให้ความรู้แก่คนทั่วไปที่ไม่เข้าใจได้
- สุขภาพร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ ไม่มีความปกติเรื่องตาบอดสี
- มีความสนใจงานด้านเคมี ชีววิทยา
- รักการท่องจำหรืออ่านข้อมูลจำนวนมาก
- สามารถทำงานร่วมกับผู้คนที่หลากหลายได้
- ทักษะการวิเคราะห์ข้อมูล เป็นทักษะที่สำคัญมากสำหรับเภสัชกรที่ต้องใช้ในการทำงานหลายส่วน โดยเฉพาะการวินิจฉัยเพื่อจ่ายยาให้ถูกต้องเหมาะสม
- ทักษะการสื่อสาร เป็นทักษะที่สำคัญโดยเฉพาะการสื่อสารให้คนไข้เข้าใจถึงการใช้ยาที่ถูกต้อง ผลข้างเคียง การปฏิบัติตัวในช่วงที่ทำการรักษา เป็นต้น
- ทักษะด้านภาษาอังกฤษ เพราะโดยส่วนใหญ่ชื่อยา และงานวิจัยโดยส่วนใหญ่เป็นงานที่ใช้ภาษาอังกฤษ
- ทักษะการจัดการ เป็นเรื่องสำคัญโดยเฉพาะผู้ที่ทำหน้าที่เป็นรีเทลยา ที่ต้องมีการจัดการงานและเวลาที่เป็นระบบ
การศึกษา
- จบ ม.ปลายสายวิทยาศาสตร์ ศึกษาต่อคณะเภสัชศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน เป็นเวลา 5-6 ปี ผู้ที่จบการศึกษาจากคณะเภสัชศาสตร์ จากได้รับวุฒิ เภสัชศาสตรบัณฑิต
- ปัจจุบันมี 2 สาขา คือ สาขาวิชาเภสัชศาสตร์ ใช้เวลาการศึกษา 5 ปี และ สาขาวิชาบริบาลเภสัชกรรม ใช้เวลาการศึกษา 6 ปี
Hard Skills
- ทักษะความรู้ด้านเภสัชศาสตร์ ทั้งจากการเรียนและประสบการณ์
- หมั่นศึกษาวิชาฟิสิกข์ เคมี และชีววิทยา
Soft Skills
- ทักษะการสื่อสาร การพูดคุยสอบถามข้อมูล การวินิจฉัย
- ทักษะการให้คำแนะนำด้วยการใช้จิตวิทยาอย่างถูกต้องตามหลักการ
กิจกรรมต่าง ๆ
- ติดตามโครงการ ทำ ก่อน ฝัน จากทรูปลูกปัญญา เพื่อเข้าร่วมฝึกงานสายอาชีพเภสัชกรรม อ่านรีวิวเพิ่มเติมได้ที่นี่เลย > คลิก
- หาข้อมูลเพิ่มเติม ตามเว็บไซต์ เช่น https://www.thaiypgrow.com/ และค่ายแนะนำคณะของมหาวิทยาลัยต่างๆ
วิชาที่เรียน
- Physiology เรียนรู้ส่วนต่างๆของร่างกาย และระบบการทำงานต่างๆ Biochemistry อะไรพวกนี้ พื้นฐานของพื้นฐานเลย
- Med Chem เรียนเกี่ยวกับโครงสร้างยา เรียนรู้และทำความเข้าใจ ยากลุ่มเดียวกันมีโครงสร้าง เหมือนหรือต่างกันตรงไหนบ้าง และโครงสร้างส่วนไหนเป็นจุดที่ยาออกฤทธิ์
- Pharmaceutics เรียนเกี่ยวกับการทำสูตรตำรับยา ได้เรียนยาทุกกลุ่มเลยค่ะ ยาเม็ด ยาน้ำ ยาฉีด ยาหยอดตา ฯลฯ แน่นอนว่าได้ทำยาจริง ๆ ด้วย
- Pharmacology เรียนว่ายาในแต่ละกลุ่มออกฤทธิ์อย่างไร มีผลต่อร่างกายอน่างไร ข้อควรระวังอะไร ฯลฯ
- Food Chemistry จะเรียนเกี่ยวกับอาหาร การวิเคราะห์ปริมาณสารอาหารต่างๆ แล้วก็พวกอาหารทางการแพทย์ (อย่างพวกเอนชัวร์ หรือนมผงที่ชงให้คนเป็นเบาหวานกิน)
- Botany วิชาพฤกษศาสตร์ เรียนเกี่ยวกับพืชวงศ์ต่างๆ สรรพคุณ
- Cosmetic เกี่ยวกับเครื่องสำอาง ที่ตอนเรียนวิชานี้เขาพาไปดูงานที่โรงงาน/บ.เครื่องสำอางด้วย ได้ลองทำครีมอะไรงี้ กับมีคาบที่เรียนเกี่ยวกับกลิ่นก็ได้ดมกลิ่นต่างๆที่เขาจะเอามาใช้ทำน้ำหอมด้วย
เคล็ดลับการเรียน
หมั่นอ่านหนังสือและท่องจำ อาจมีเทคนิคในการเลคเชอร์และสรุปความให้เข้าใจง่าย เขียนสรุปควบคู่กับการนำมาอ่านซ้ำ ๆ หรือช่วยกันติวกับเพื่อน ฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์ ฝึกฝนภาษาอังกฤษ และที่สำคัญคือต้องมีความตั้งใจ ขยันและอดทน
ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย
- ชั้นปี 1 เรียนวิทย์พื้นฐาน ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์ ร่วมกับวิชาศึกษาทั่วไปแล้วก็ภาษา(ไทยกับอังกฤษ) ปีนี้ไม่ได้เรียนวิชาคณะเลย เรียนรวมกันในวิทยาเขตหลัก เรียนและตัดเกรดร่วมกับพวกหมอด้วย
- ชั้นปีที่ 2-4 เรียนวิชาของคณะ ศึกษาวิชาเฉพาะทางเภสัชศาสตร์ จะศึกษาในหมวดวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐาน ชีวเภสัชศาสตร์ กายวิภาคศาสตร์ สรีรวิทยา สาธารณสุข หลักในการเกิดโรค และจุลชีววิทยา ไล่ตั้งแต่พื้นฐานระบบต่าง ๆ ของร่างกาย ไปจนถึงยากลุ่มต่าง ๆ โครงสร้างยา ขั้นตอนในการผลิต / ควบคุมคุณภาพยา แล้วก็อื่น ๆ อย่างวิชาแนะแนวเภสัชสายต่างๆ หรือกฎหมายเกี่ยวกับยาก็ได้เรียนเหมือนกัน
- ชั้นปีที่ 5 เรียนวิชาตามสายที่เลือก โดยจะเรียนแบบลงลึก ในบางมหาวิทยาลัยอาจมีสาขาให้เลือกหลากหลาย เช่น เภสัชกรสารสนเทศ ของม.ศิลปากร ที่จะได้เรียนการเขียนโปรแกรมด้วย
- ชั้นปีที่ 6 ฝึกงานทั้งปี ซึ่งอันนี้จะเหมือนกันหมดทุกมหาวิทยาลัย ดังนั้นนจึงจะมีโอกาสได้เจอเพื่อนต่างม.กันด้วย โดยมักจะฝึกงานแยกตามสายที่เลือก ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล ร้านขายยา คลินิก โรงงานผลิตยา ศูนย์วิจัยต่าง ๆ ฯลฯ
ค่าเทอมตลอดหลักสูตร
โดยเฉลี่ยแล้ว สำหรับมหาวิทยาลัยรัฐบาลจะเริ่มต้นค่าเทอมที่ประมาณ 30,000+ บาท ต่อเทอม สำหรับมหาวิทยาลัยเอกชนจะอยู่ที่ประมาณหลักแสนบาทต่อเทอม โดยตลอดหลักสูตรประมาณ 900,000+ บาทขึ้นไป
Copyright © 2019 TruePlookpanya. All rights reserved.
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ห้ามมิให้ผู้ใดคัดลอก ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข หรือเผยแพร่ส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ก่อนได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร