นักออกแบบผลิตภัณฑ์
นักออกแบบผลิตภัณฑ์
นักออกแบบผลิตภัณฑ์
นักออกแบบผลิตภัณฑ์
รู้จักอาชีพ > นักสร้างสรรค์ (Art) > นักออกแบบผลิตภัณฑ์

       นักออกแบบผลิตภัณฑ์ แม้จะดูเป็นงานแนวศิลปะสร้างสรรค์ แต่กลับผสมผสานศาสตร์อื่น ๆ ไว้อย่างหลากหลาย เพื่อที่จะสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์หรือสินค้าอุตสาหกรรมแต่ละประเภท ตามรูปแบบของงานหรือโจทย์ที่ได้รับ โดยคำนึงถึงการใช้งาน ความสวยงาม ต้นทุนการผลิต เวลา รวมทั้งกรรมวิธีการผลิตในระบบอุตสาหกรรมที่เป็นไปได้จริง จึงเห็นได้ว่า อาชีพนี้แม้จะได้ชื่อว่าเป็นนักออกแบบแต่ต้องทำงานภายใต้เงื่อนไขที่หลากหลาย ท้าทาย เพื่อให้การใช้ชีวิตของมนุษย์สะดวกสบายมากขึ้น จึงเรียกได้ว่าเป็นนักออกแบบที่ช่วยแก้ปัญหาชีวิตคนให้ดีขึ้น

ลักษณะการทำงาน

       การออกแบบผลิตภัณฑ์คือการผสมผสานระหว่างศาสตร์ด้านศิลปะการออกแบบ วิศวกรรม และธุรกิจการตลาด เพราะไม่ใช่เพียงแค่การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นออกมา แต่ยังต้องตอบโจทย์ลูกค้า คำนึงถึงวัสดุ กระบวนการผลิตในวงจรอุตสาหกรรม ความต้องการตลาด งบประมาณ รวมถึงระยะเวลาในการออกแบบด้วย โดยงานออกแบบผลิตภัณฑ์นั้นมีหลากหลาย อาจจำแนกตามความชำนาญของนักออกแบบว่า ถนัดออกแบบสำหรับอุตสาหกรรมแบบใด เช่น งานเฟอร์นิเจอร์ของแต่งบ้าน อุตสาหกรรมการแพทย์ ธุรกิจยานยนตร์ หรืองานเซรามิก เป็นต้น

 

ขั้นตอนการทำงาน

  1. USER RESEACH (หากเป็นนักออกแบบอิสระ จะต้องทำงานขั้นตอนนี้ด้วยตัวเอง แต่หากทำงานอยู่ในบริษัทอาจทำงานส่วนนี้ร่วมกับฝ่ายการตลาด) เมื่อได้โจทย์ประเภทสินค้ามาเบื้องต้นแล้ว จะเริ่มต้นด้วยการวิจัยการตลาดก่อน ผู้ใช้งานของผลิตภัณฑ์เป็นใคร กลุ่มเป้าหมายมีจำนวนเท่าไหร่ ตัวอย่างเช่น การผลิตภัณฑ์เป็นของแม่เละเด็ก แสดงว่า ผลิตภัณฑ์จะมีคนใช้สินค้าสองคนร่วมกัน คือ แม่กับลูก จากนั้นลองตั้งสมมุติฐานขึ้น เช่น ผู้ใช้สินค้าน่าจะเป็นแม่บ้าน 20- 40 มีลูกอายุเท่าไหร่ เค้าใช้ชีวิตยังไง ขับรถหรือเปล่า มีกำลังซื้อหรือไม่ จากนั้นจึงทำข้อมูลเชิงลึกว่า กลุ่มคนเหล่านี้ ความต้องการเขาคืออะไร เรียกว่า การสำรวจ customer inside 
  2. หา solution คือ นำข้อมูลที่ได้มาเริ่มต้นกระบวนการคิด ทำแบบแผน อาจจะเริ่มจากสเก็ตแล้วแต่ความถนัดของแต่ละคน ทำเป็นตารางเมตริกออกมาใน option ที่หลากหลาย เพื่อคิดภาพรวมออกมาให้ได้เป็นแก่นหลักของการออกแบบงานชิ้นนี้ก่อน จากนั้นจึงเริ่มคิด concept คร่าว ๆ คำนึงถึงความสวยงามรูปลักษณ์วัสดุคร่าว ๆ แต่ยังไม่ต้องลงรายละเอียด แล้วจึงทำ mockup ออกมา เช่น ทำมือจับประตู 2 option คือ แบบเหลี่ยมกับแบบกลม แล้วลองดูว่าแบบไหนที่จับได้ดีกว่า สะดวก ถนัดมือหากมีเวลาและงบประมาณ อาจทดลองกับกลุ่มคนที่ตรงเป้าหมาย 10-20 คน ว่าชอบแบบไหน แล้วนำผลมาเปรียบเทียบกัน 
  3. ทำพรีเซนต์ เพื่อนำเสนอลูกค้า เพื่อหาข้อสรุปแนวทางการทำงานต่อไป (หากยังไม่ได้ข้อยุติอาจมีการไปปรับแก้ไขในขั้นตอนที่ 1 และ 2 ใหม่) 
  4. หลังจากได้ข้อสรุปจากลูกค้าแล้ว จึงต้องมาลงค่อยมาลงรายละเอียดเรื่องวัสดุที่จะใช้ ขั้นตอนการผลิตในโรงงาน โรงงานจะทำได้ผลอย่างที่เราต้องการไหม ยิ่งมีข้อมูลหรือรู้จักวัสดุเยอะจะยิ่งได้เปรียบ เทคนิคในการทำต้องทำยังไง เช่น ของชิ้นนี้อยากให้ดัดได้ และคงรูปต้องเลือกใช้อะไร ทำด้วยเทคนิคใด ส่วนสำคัญก็คือราคา เหมาะสมกับงบประมาณและราคาที่กำหนดไหม นอกจากนี้ในยุคปัจจุบันมีการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อล่างเรื่อง คาร์บอนฟุตปริ้น์ หรือ life cycle ของสินค้า เรื่องนี้จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่นักออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ดีควรคำนึงถึง จากนั้นจึงนำไปเสนอลูกค้าอีกครั้ง หากมีการปรับแก้ก็จะวนในข้อ 1-4 ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะได้ข้อสรุป
  5. เมื่อได้ข้อสรุป Final แล้ว จึงถึงขั้นตอนการทำแบบสำหรับผลิต คือทำแบบขยายดีเทล ใส่รายละเอียด dimension / เอาชิ้นส่วนประกอบกันที่ดีระยะเท่าไหร่ โค้งมนเท่าไหร่ ทำขอบคมหรือมน (โดยส่วนใหญ่ใช้โปรแกรม Solid Work, Rhino, Inventor) ทำ 3d model ส่งให้ฝ่ายผลิต และทำแบบ 2d drawing เป็นเล่ม ละเอียดในทุกชิ้นส่วน เช่น เครื่องดูดฝุ่นมี 25 part ก็ทำ 25 part แล้วก็ทำแบบ assembly ชิ้นไหนประกอบชิ้นไหนอย่างไรโดยละเอียด 
  6. ประสานงานกับทางโรงงานที่ผลิต ซึ่งอาจจะมีแก้ไข หรือมีข้อจำกัดบางอย่างของทางโรงงาน ก็อาจจะต้องมาแก้ไขปรับเพิ่มเติม  แก้แบบอีกเล็กๆ น้อยๆ เก็บตกข้อบกพร่อง และคอยเข้าไปตรวจดูชิ้นงานที่โรงงานผลิตเรื่อย ๆ เพื่อให้ได้ prototype ออกมาแล้ว 
  7. นำมาเสนอลูกค้าอีกครั้งแล้วจะงประสานทางการตลาดให้ทำการส่ง testing ลองตลาด หากพบว่าผลตอบรับจากผู้บริโภคดี จึงดำเนินการวางแผนธุรกิจต่อไป 

 

สถานที่ทำงาน

  • ออฟฟิศหรือสำนักงานซึ่งเป็นที่ทำงานหลักที่ต้องใช้ประชุม วางแผน ออกแบบและทำแบบชิ้นงาน  
  • โรงงานที่ผลิตสินค้า โดยเข้าไปคุยกับช่าง ประสานงานและตรวจสอบชิ้นงานหลังการสั่งผลิต  
  • หากทำงานอิสระอาจต้องหมั่นเสาะหา supplier โรงงานหรือแหล่งวัตถุดิบ หรือไปตาสถานที่ ๆ ให้แรงบันดาลใจหรือข้อมูลเรื่องวัสดุใหม่ ๆ อาทิ Thailand Creative & Design Center (TCDC) 

ผู้ที่ต้องทำงานด้วย

  • ทีมการตลาด ถือเป็นคนกำหนดโจทย์ ต้องคุยประสานงานกันเยอะ ต้องมีการพูดคุยและต่อรองกันงานกันอยู่เสมอ 
  • ฝ่ายผู้บริหารหรือฝ่ายวางแผน ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเป็นผู้อนุมัติตัดสินใจ ซึ่งเราต้องคอยนำเสนองานในทุก ๆ ขั้นตอน 
  • ช่างหรือฝ่ายโรงงาน ซึ่งเราต้องทำแบบเพื่อไปให้ช่างผลิต และต่อรองวิธีการทำงาน นำเสนอ โน้มน้าววิธีการเพื่อให้ช่างเข้าใจและผลิตงานให้เราได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์ 
  • มีโอกาสได้ทำให้ชีวิตผู้คนดีขึ้นในแง่ใดแง่หนึ่ง โดยไม่ได้เกิดคำบอกเล่าของเราผู้ออกแบบ แต่เป็นเพราะพวกเขาได้เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ดีขึ้น สะดวกสบายและทำให้ชีวิตดีขึ้นไปตามธรรมชาติ 
  • เป็นหนึ่งอาชีพที่มีส่วนในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อโลก ไม่สร้างมลพิษหรือปัญหาในระยะยาว เพราะเรื่องการออกแบบและวัสดุเป็นเรื่องสำคัญที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ 
  • ช่วงเวลาในการตัดสินใจของลูกค้า จะใช้เวลานาน ต้องมีการพูดคุยประชุมหลายครั้ง และอาจยิ่งลดทอนเวลาการทำงานส่วนอื่นๆ ต้องสู้และอดทนกับขั้นตอนนี้ เพราะเป็นการตัดสินใจที่มีคนอื่นมาเกี่ยวข้อง
  • การออกแบบผลิตภัณฑ์ นอกเหนือจากเรื่องฟังก์ชั่นการใช้งานแล้ว เรื่องความสวยงามมักเป็นข้อถกเถียงเสมอ ไม่มีเส้นแบ่งที่ชัดเจนว่าอะไรสวยไม่สวยจึงต้องทำความเข้าใจธรรมชาติตรงนี้ว่า สวยของเราอาจไม่สวยสำหรับคนอื่น
  • ละเอียดรอบคอบ เป็นคนเก็บรายละเอียดเพราะงานนี้มีรายละเอียดมาก หากเรามีการประกอบชิ้นส่วนที่หายไป หรือลืมลบคมหินโต๊ะ จะทำให้เกิดอันตรายกับผู้ใช้ได้ ลืมน็อตแม้แต่ตัวเดียวก็ไม่ได้ 
  • มีความคิดสร้างสรรค์ เป็นพื้นฐานที่ต้องมีสำหรับนักออกแบบ
  • ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ นักออกแบบต้องไม่หยุดเรียนรู้ ต้องกว้างขวาง ทั้งเทรนด์โลกและอัพเดทเรื่องวัสดุ เครื่องมือใหม่ ๆ ที่ทันสมัย นอกจากนี้ยังต้องหมั่นศึกษาหาความรู้ จากสายงานอื่นๆ ด้วย เพราะผลิตภัณฑ์เกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน ทั้งงานช่าง วิศวกรรม เป็นต้น 
  • ทำงานภายใต้ความกดดันได้ เพราะในทุกการทำงานมีข้อจำกัดของเวลาเสมอ รวมทั้งแรงกดดันจากหลายฝ่าย 
  • มีความรับผิดชอบสูง กับงานที่เราออกแบบด้วย เช่น การออกแบบเฟอร์นิเจอร์บางชิ้น ต้องคำนึงถึงการใช้งาน โต๊ะกินข้าวควรมีกี่ขา หากมีคนเท้าโต๊ะหรือนั่งบนโต๊ะพร้อมๆ กันหลายคน เป็นต้น 
  • ทักษะการสื่อสาร รวมทั้งการนำเสนอผลงานที่ต้องเรียบเรียงให้ดี เข้าใจง่ายและสื่อถึงรูปแบบงาน คอนเซปต์ที่เราคิดมาได้เป็นอย่างดี รวมทั้งต้องรู้จักโน้มน้าว แสดงเหตุผลและจุดยืนอย่างเหมาะสม
  • ทักษะด้านศิลปะและองค์ประกอบศิลป์ ขึ้นชื่อว่านักออกแบบแล้ว พื้นฐานที่ควรมีและขาดไม่ได้คือด้านศิลปะ การจัดองค์ประกอบ สี และสุนทรียะความสวยงาม
  • ทักษะการจัดการเวลา การวางแผนการทำงานภายใต้เงื่อนไขของเวลาเป็นพื้นฐานสำคัญของเกือบทุกสายอาชีพ โดยนักออกแบบผลิตภัณฑ์ต้องวางแผนหลายส่วน ทั้งส่วนการสำรวจตลาด การออกแบบ การผลิต และทดลองวางในตลาดจริง 
  • โปรแกรมเฉพาะทางของสายวิชาชีพ ซึ่งนักออกแบบต้องคอยอัพเดทและเรียนรู้โปรแกรมใหม่ ๆ เสมอ 
  • ทักษะการนำเสนองาน ด้วยการสเก็ตแบบเร็วๆ ถือว่าได้เปรียบ เพราะจบงานง่าย เห็นภาพตรงกัน 
  • ทักษะพื้นฐานทางวิศวกรรม อาจจะไม่ได้จำเป็นมาก แต่หามีความรู้ติดไว้บ้างก็จะได้เปรียบ เพราะเราอาจต้องคำนวณการโครงสร้างได้ด้วยตัวเองในบางครั้ง โดยเฉพาะสายงานที่ออกแบบเฟอร์นิเจอร์หรือกลุ่มสินค้าที่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค
  • ความเข้าใจพื้นฐานด้านงานช่าง เช่น งานไม้ งานเหล็ก งานเรซิน หรืองานปูน ควรมีความรู้เรื่องข้อจำกัดของวัสดุแต่ละชนิดว่าคืออะไร เข้าใจวิธีและขั้นตอนการผลิตชองโรงงานว่าเป็นอย่างไร  
  • ทักษะการเข้าใจสังคม นักออกแบบแม้จะมีพื้นฐานทางศิลปะ แต่นำมาใช้เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้คน ดังนั้นการเข้าใจสังคม เทรนด์ ความต้องของผู้บริโภคที่มักเปลี่ยนไปเสมอ จะทำให้ออกแบบงานได้ตรงกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น 

การศึกษา 

  • จบมัธยมศึกษาตอนปลายสายใดก็ได้ หรือจบประกาศนียบัตรวิชาชีพ สาขาวิชาเทคโนโลยีออกแบบผลิตภัณฑ์
  • ศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในหลักสูตรการออกแบบอุตสาหกรรมบัณฑิต (วุฒิ ออ.บ.) หรือศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต (ขึ้นอยู่กับสถาบัน) ในสาขาวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์, ออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม, ศิลปประยุกต์และการออกแบบผลิตภัณฑ์, เทคโนโลยีการออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เป็นต้น 

 

Hard Skills

  • ศึกษาวิชาศิลปะ งานช่างวิชาชีพและวัสดุต่าง ๆ  
  • ฝึกสังเกตกลไกของแต่ละชิ้น วัสดุอะไร สีอะไร ต้องสั่งสมปรระสบการณ์ไว้แต่เนิ่นๆ เพื่อเป็นทุนในการทำงาน

Soft Skills 

  • การสื่อสารที่เข้าใจง่าย ตรงประเด็น
  • ฝึกการพูดโน้มน้าว เพื่อให้คนรอบข้างเข้าใจในผลงาน

กิจกรรมต่าง ๆ 

วิชาที่เรียน

       ตัวอย่างวิชาเรียนนี้เป็นหลักสูตรของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  สาขาการออกแบบอุตสาหกรรม

  • ชั้นปีที่ 1 - ชั้นปีที่ 2 (เทอม 1) แต่ละภาควิชาจะเรียนวิชาพื้นฐาน โดยแยกเป็นวิชาด้านการออกแบบ อาทิ Design Method, เรียน 2D, 3D และ 4D เทคโนโลยีด้านวัสดุ และดิจิทัลเทคโนโลยีสำหรับการออกแบบ นอกจากนี้ยังมีเรื่องวัสดุ การออกความตามความต้องการของมนุษย์ ประวัติศาสตร์การออกแบบ ระเบียบวิธีวิจัยด้านการออกแบบ รวมทั้งเรื่องพื้นผิว รูปร่าง space&time นวัตกรรม ที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบ เป็นต้น และยังมีวิชาด้านการสื่อสารด้วย 
  • ช่วงปีที่ 2 (เทอม 2) -ชั้นปีที่ 3 จะเริ่มเรียนวิชาตามความถนัดหรือภาควิชาที่เลือก อาทิ เซรามิก เฟอร์นิเจอร์ ยานยนตร์ เครื่องประดับ สิ่งทอ เป็นต้น 
  • ช่วงปีสุดท้าย คือชั้นปีที่ 4 จะเน้นการทำวิทยานิพนธ์เป็นหลัก

 

เคล็ดลับการเรียน

  • การเรียนจะเน้นการทำโปรเจ็กต์ชิ้นงาน เรียนวิธีการทำ การออกแบบและใช้เครื่องมือ ดังนั้นจะต้องตั้งใจส่วนนี้ให้ดี 
  •  การทำงานออกแบบในทุก ๆ โปรเจกต์ชิ้นงาน ต้องอาศัยการหาข้อมูล ดังนั้นว่าข้อมูลเป็นจริง ไม่ได้หลอกตัวเอง

Copyright © 2019 TruePlookpanya. All rights reserved.
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ห้ามมิให้ผู้ใดคัดลอก ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข หรือเผยแพร่ส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ก่อนได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร