ภาพยนตร์คือสื่อบันเทิงประเภทหนึ่งที่เข้าถึงผู้ชมจำนวนมาก ไม่ใช่แค่เพียงระดับประเทศแต่สามารถโด่งดังระดับสากลได้ การได้มีผลงานกำกับนับเป็นเรื่องที่ยาก ต้องใช้เวลาและการสั่งสมประสบการณ์รวมถึงโอกาสที่เหมาะสม ทำให้ผู้กำกับภาพยนตร์ได้รับชื่อเสียงและการจับตามองจากทุกทาง นับได้ว่าเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่มีแต่คนใฝ่ฝันถึง งานกำกับคือทั้งหมดของภาพยนตร์ เพราะการกำกับภาพยนตร์หมายถึงการกำกับทุกอย่างที่อยู่ในภาพยนตร์เรื่องนั้น ไม่ว่าจะเป็นการแสดง เสื้อผ้า สถานที่ เพลง การตัดต่อ หรือแสงสี เป็นต้น เมื่อภาพยนตร์เรื่องหนึ่งได้รับคำชื่นชม ก็มักจะต้องยกความดีความชอบให้ผู้กำกับภาพยนตร์เสมอ
ลักษณะงาน
การกำกับภาพยนตร์นั้นโดยทั่วไปจะเน้นที่การกำกับการแสดงเป็นหลัก การกำกับส่วนอื่น ๆ ของภาพยนตร์เช่น การตัดต่อ เพลง อาจจะไม่ใช่การตัดสินใจของผู้กำกับ 100% ขึ้นอยู่กับการตกลงกันก่อนเริ่มงานของตัวผู้กำกับและค่ายหนังว่าค่ายต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในระดับไหน ดังที่เราจะได้เห็นภาพยนตร์บางเรื่องมี director’s cut ปล่อยมาภายหลัง
หากพูดถึงภาพยนตร์ที่แสดงถึงตัวตนของผู้กำกับมาก ๆ ผู้กำกับจะเข้มงวดกับทุก ๆ รายละเอียด รวมถึงบางครั้งก็มีส่วนในการเขียนบทเองด้วย ผู้กำกับสามารถตัดสินใจได้ในทุกขั้นตอน ตั้งแต่สัดส่วนภาพ การคัดเลือกนักแสดง เสื้อผ้า-หน้าผม อาร์ตไดเรกชั่น โดยในแต่ละส่วนจะมีผู้รับผิดชอบแยกกันไป เช่น กำกับภาพ, กำกับศิลป์, โปรดิวเซอร์ ซึ่งผู้กำกับจะพูดคุยกับทุกฝ่ายเพื่อให้เห็นภาพที่ตรงกัน การทำภาพยนตร์ต้องอาศัยความไว้ใจและการสื่อสารที่ดีเพื่อให้ผลลัพธ์เป็นไปอย่างที่วางแผนไว้
ภาพยนตร์หนึ่งเรื่องใช้เวลาในการสร้างนานเป็นปี ๆ ในบางเรื่องอาจใช้เวลา 3-5 ปี หรือมากกว่านั้นก็มี เป็นเพราะความคาดหวังของภาพยนตร์เรื่องหนึ่งนั้นสูงมาก คาดหวังด้านรายได้ คาดหวังกระแสชื่นชอบ คาดหวังรางวัล การลงทุนก็สูงเช่นกัน กว่าภาพยนตร์หนึ่งเรื่องจะออกมาได้ ทีมงานต้องใช้ความละเอียดในทุกๆ ขั้นตอน เรียกได้ว่า frame by frame งานของผู้กำกับจึงไม่ใช่แค่ช่วงถ่ายทำแต่ต้องคอยดูแลทุกขั้นตอน และทำให้ภาพยนตร์เรื่องนั้นเป็นของตัวเองอย่างแท้จริง
ขั้นตอนการทำงาน
ในการทำงานของภาพยนตร์หนึ่งเรื่องสามารถแบ่งได้หลัก ๆ ดังนี้
- Pre-production (ก่อนผลิต) ขั้นตอนนี้หมายถึงทุกขั้นตอนก่อนเข้าช่วงถ่ายทำ เริ่มตั้งแต่การเริ่มโปรเจกต์ การเขียนบท การเข้าไปพูดคุยกับค่ายหนัง การคัดเลือกนักแสดง การเตรียมฉากและสถานที่ถ่ายทำ การเตรียมการถ่ายทำ ซึ่งในช่วงนี้สิ่งที่กินเวลาที่สุดอาจจะเป็นการเขียนบท เพราะบทต้องถูกส่งให้ทุกฝ่ายเพื่อใช้ในขั้นตอนต่อไป รวมถึงส่งผลต่อภาพยนตร์มาก ถ้าเริ่มต้นดีก็มีชัยไปกว่าครึ่ง ทำให้การเขียนบทต้องค่อย ๆ คิด ค่อย ๆ ตัดสินใจในส่วนนี้ ส่วนการเตรียมงานสร้างด้านอื่น ๆ เองก็ต้องพิถีพิถันเช่นกัน เช่น เพื่อความสะดวกในการถ่ายทำ ฉากบางฉากถึงกับต้องสร้างขึ้นมาใหม่ทั้งหมด ก็ต้องใช้เวลาเตรียมการ หรือขั้นตอนการคัดเลือกนักแสดงก็เช่นกัน ในวงการภาพยนตร์ฮอลลีวูด อาจมีคนมาสมัครคัดเลือกนักแสดงในแต่ละเรื่องมากมาย และหลังจากได้นักแสดงที่ถูกใจมาแล้ว ก็ยังต้องเวิร์คช็อปต่อเพื่อความเข้าถึงบทบาท
- Production (การผลิต) ช่วงถ่ายทำนั้นจะต้องผ่านการวางตารางเวลามาอย่างดี เพราะการออกกองแต่ละครั้งเป็นส่วนที่ใช้ทุนสูง เพราะต้องใช้ทีมงานเยอะ ระดับ 30 คนขึ้นไป ช่วงถ่ายทำเป็นช่วงที่หนักและเหนื่อย ต้องใช้สมาธิสูงในการถ่ายทำทุกฉาก ถ้าต้องการกลับมาถ่ายซ่อมทีหลังจะเป็นเรื่องลำบาก บางเรื่องการถ่ายทำอาจมีฉากที่ต่างประเทศ หรือนักแสดงมีงานต่อ มีข้อจำกัดมากมายที่ทำให้ช่วงผลิตต้องเข้มงวดด้านเวลามาก ๆ
- Post-production (หลังผลิต) หลังจากถ่ายทำเสร็จ ก็จะเข้าสู่ช่วงตัดต่อและทำให้ภาพยนตร์สมบูรณ์ การตัดต่อผู้กำกับอาจจะให้อิสระนักตัดต่อ เมื่อตัดต่อเสร็จก็จะตามด้วยใส่เพลง เสร็จแล้วจึงมาทำสี ในช่วงนี้อาจมีการทดลองฉายให้กลุ่มคนเล็กๆ ได้รับชมเพื่อวิเคราะห์ผลตอบรับ ก่อนจะลงตารางฉายและเดินหน้าเข้าสู่ช่วงโปรโมทหนัง ซึ่งส่วนมากจะเช้าสู่ความรับผิดชอบของค่ายหนังแล้ว ผู้กำกับเองก็ต้องมาเดินสายกับนักแสดงด้วย
- After screening (หลังออกฉาย) หลังภาพยนตร์ฉายเสร็จ ผู้กำกับก็จะติดตามผลตอบรับจากผู้ชม บางคนอาจเดินสายส่งภาพยนตร์เข้าชิงรางวัลประจำปีหรือเทศกาลต่างประเทศ รางวัลในประเทศอย่าง รางวัลนักวิจารณ์จากชมรมวิจารณ์บันเทิง รางวัลสุพรรณหงส์ หรือรางวัลต่างประเทศก็มีภาพยนตร์ไทยไปคว้ามาแล้วมากมาย
สถานที่ทำงาน
- ออฟฟิศของค่ายหนัง หากทำงานเป็นผู้กำกับภาพยนตร์สังกัดของบริษัทหรือค่ายภาพยนตร์ ก็เป็นธรรมดาที่จะต้องเข้าออฟฟิศในบางครั้ง ช่วงก่อนและหลังการผลิต อาจเข้ามเพื่อประชุม ประสานงาน workshop เป็นต้น แต่หากเป็นผู้กำกับอิสระอาจจะมีการเข้าไปประสานงานกับออฟฟิศเจ้าของค่ายที่เป็นนายทุนหรือเจ้าของโปรเจกต์
- กองถ่ายนอกสถานที่ ในช่วงทำงานบรรยากาศกองถ่ายคือสถานที่ ๆ ผู้กำกับใช้ชีวิตอยู่มากที่สุด ร่วมกับเพื่อนร่วมงานอีกหลายชีวิต
ผู้ที่ต้องทำงานด้วย
ผู้กำกับเป็นอาชีพที่ต้องพบปะผู้ร่วมงานมากมาย บางคนอาจได้เจอเพียงวันเดียว ส่วนคนหลักๆ ที่จะต้องทำงานด้วยคือ
- โปรดิวเซอร์ นับเป็นอีกคนที่มีส่วนต่อการสร้างภาพยนตร์เรื่องหนึ่งสูงมาก โดยโปรดิวเซอร์เองก็จะร่วมงานตั้งแต่ต้นจนจบ หน้าที่หลักคือการทำให้งานสำเร็จไปอย่างลุล่วง ไม่ว่าจะเป็นการช่วยหาทุน การบริหารเงิน การคัดเลือกทีมงาน การวางแผนถ่ายทำ การคุยกับค่ายหนังและโรงฉาย รวมไปถึงการส่งภาพยนตร์เข้าเทศกาลใดๆ โปรดิวเซอร์จะรับทำหน้าที่ส่วนที่เน้นการจัดการ เรื่องงบประมาณ เอกสาร จะต้องทำงานตัวติดกับผู้กำกับตลอดเวลา และช่วยกันคิดว่าควรพาทิศทางหนังไปทางไหนจะดีที่สุด
- ผู้ช่วยผู้กำกับ จะมีบทบาทสำคัญช่วงผลิต บางคนอาจจะเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ก่อนหน้านั้น แต่หน้าที่หลักๆ อยู่ที่การจัดการช่วงถ่ายทำให้สำเร็จตามเวลาที่กำหนดไว้ ผู้ช่วยผู้กำกับจะต้องเข้าใจที่มาที่ไปของแต่ละฉาก เข้าใจสิ่งที่ผู้กำกับต้องการ สิ่งที่ผู้กำกับวางแผนไว้ คอยจัดการให้ทุกฝ่ายในกองทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างรวดเร็ว ในบางครั้งการถ่ายทำอาจวางอยู่ในตารางที่แน่นมาก เนื่องด้วยงบประมาณหรือข้อจำกัดอื่นๆ ทำให้ช้าไม่ได้ ช่วงถ่ายทำจึงเป็นช่วงที่มีความเครียดและกดดันสูง ผู้ช่วยผู้กำกับจะเป็นคนที่จัดการช่วงนี้ให้เป็นไปอย่างลุล่วง
-
ผู้กำกับภาพ หรือ DP (Director of photography) คือ คนที่รับผิดชอบการถ่ายทั้งหมด จะต้องพูดคุยกับผู้กำกับมากๆ เข้าใจแนวทางการทำงานของกันและกัน ต้องไว้ใจกัน ภาพยนตร์คือการสื่อสารผ่านภาพเคลื่อนไหว ผู้กำกับภาพก็คือคนถ่ายทั้งหมด เช่น ฉากที่อารมณ์หนักหน่วงจะถ่ายแบบกล้องสั่นๆ เพื่อสื่อถึงอารมณ์ที่หวั่นไหวของตัวละคร ดังนั้นภาษาการเล่าของผู้กำกับและภาษาภาพของผู้กำกับภาพจึงต้องเป็นภาษาเดียวกัน
-
นักแสดง คือ บุคคลที่เรียกได้ว่าเป็นหน้าตาของภาพยนตร์เรื่องนั้น ส่วนมากจะมีชื่อเสียงมาก่อน นักแสดงจึงมีอิทธิพลมากขนาดที่สามารถช่วยให้ภาพยนตร์เรื่องนั้นทำกำไรได้ ผู้กำกับมักจะต้องสนิทสนมกับนักแสดงเพื่อการเข้าถึงบทบาทตัวละคร ต้องใช้ความรู้สึกและอารมณ์ร่วมไปกับตัวละคร ผู้กำกับต้องสื่อสารสิ่งท่ตัวเองต้องการให้กับนักแสดงให้ได้ มักจะมีการซ้อมบทเป็นเดือนๆ เพื่อให้ช่วงถ่ายทำแสดงออกมาได้ดีที่สุด ผู้กำกับบางคนจึงมักมีนักแสดงคู่บุญ เพราะเมื่อเข้าอกเข้าใจถึงสิ่งที่ผู้กำกับคิดแล้ว ก็จะทำให้ทำงานกันง่ายขึ้น
-
นักตัดต่อ เป็นคนที่รับฟุตเทจ (Footage) ภาพยนตร์มาและนำมาร้อยเรียง การตัดต่อไม่ใช่แค่การเล่าเรื่องไปเรื่อยๆ แต่ในจังหวะแต่ละจังหวะ การตัดต่อเองก็สามารถเล่าเรื่องได้อีกทาง เช่น เมื่อตัวละครพูดถึงดอกไม้ แล้วตัดภาพไปที่ตัวละครอีกตัว ก็จะทำให้ผู้ชมเข้าใจได้ว่าดอกไม้ที่พูดถึงเปรียบกับตัวละครตัวนั้น รวมถึงจังหวะการตัดเร็วตัดช้า ก็ทำให้ความรู้สึกเวลาดูหนังเปลี่ยนไปเช่นกัน อาทิเช่น หนังแอ็คชั่นจะเร็วๆ ส่วนหนังชีวิตจะค่อยเป็นค่อยไป ดังนั้นการตัดต่อจึงมีศาสตร์ที่ละเอียดกว่าที่คิด ผู้กำกับเองก็ต้องเข้าใจภาษานี้
-
ค่ายหนัง เป็นอีกส่วนที่สำคัญมากๆ ต่อทั้งผู้กำกับและภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง เป็นส่วนที่เริ่มโปรเจกต์และดำเนินการดูแลความเรียบร้อยให้กับทีมงาน ตลอดจนการโปรโมทเพื่อให้รายได้เป็นไปตามเป้าหมาย
ตำแหน่งและเส้นทางการเติบโตในสายอาชีพ
การเป็นผู้กำกับนับได้ว่าเป็นจุดที่สูงสุดของการทำภาพยนตร์ แต่ว่าการสั่งสมชื่อเสียงและเอกลักษณ์ ก็เป็นอีกขั้นของอาชีพผู้กำกับ เพราะภาพยนตร์เป็นสื่อที่มีประสิทธิภาพที่จะโด่งดังไปทั่วโลก ผู้กำกับชื่อดังที่เป็นที่รู้จักของคนในประเทศและคนทั่วโลก อาทิเช่น เจ้ย-อภิชาตพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับคนไทยที่ได้รางวัลปาล์มทองคำจากเทศกาลภาพยนตร์คานส์ และผลงานหลายๆ ชิ้นต่อมาของเขามีเอกลักษณ์โดดเด่นจนต้องได้รับการพูดถึงหรือการยกเป็นตัวอย่างการเรียนการสอนเสมอ
การแข่งขันและความต้องการตลาด
ในปีปีหนึ่งจะมีภาพยนตร์ไทยเข้าฉายในโรงเฉลี่ย 50-60 เรื่อง ความแข่งขันสูงของอาชีพผู้กำกับเกิดจากโอกาสที่น้อยมากในแต่ละปี เนื่องจากความต้องการของตลาดที่ไม่ได้สูงมาก รวมถึงการใช้ต้นทุนที่สูง ทำให้ต่อปีมีภาพยนตร์ไทยออกฉายน้อย รวมถึงโอกาสให้ผู้กำกับหน้าใหม่น้อยมาก และในบางครั้งเมื่อได้ทำภาพยนตร์แล้วเรื่องหนึ่ง ก็ไม่มีอะไรรับรองว่าจะมีงานต่อเนื่องแค่ไหน
- ได้สร้างสรรค์งานศิลปะ ศาสตร์ของภาพยนตร์มีประวัติยาวนาน และมีการศึกษาจริงจังรวมถึงมีเทศกาลงานภาพยนตร์ มีวัฒนธรรมภายในมากมาย ดังนั้นการได้เป็นส่วนหนึ่งของภาพยนตร์โลกนับเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายที่น่าประทับใจของอาชีพ
- ได้สร้างผลงานที่มีอิทธิพลกับสังคม ภาพยนตร์เป็นสื่อบันเทิงก็จริง ทว่ามี Soft power ที่ส่งผลอย่างคาดไม่ถึง การทำภาพยนตร์เกี่ยวกับเรื่องผู้หญิงที่ถูกกดขี่ สุดท้ายแล้วอาจจะทำให้มีคนเข้าใจถึงความรุนแรงในปัญหานี้ ดังนั้นคำพูดที่กล่าวว่า ภาพยนตร์เปลี่ยนโลก จึงไม่ได้เกินจริงไปเลย
- งานอิสระ สามารถขยับตารางเวลาได้ รวมถึงจะมีบางช่วงที่ไม่เข้มงวดเรื่องเวลามากนัก ทำให้มีช่วงที่ทำงานได้อย่างอิสระ
- มีชื่อเสียง เมื่องานได้ออกฉาย หากมีผลตอบรับที่ดี ผู้กำกับก็จะได้รับความสนใจจากผู้คน และถ้ามีผลงานโด่งดังต่อเนื่องก็จะสะสมชื่อเสียงมาเรื่อยๆ
- เป็นงานที่กินเวลานานกับภาพยนตร์แต่ละเรื่องแต่ละโปรเจกต์ ทำให้ต้องแบกรับความเครียดต่อเนื่องนาน
- มีความกดดันสูง ภาพยนตร์แต่ละเรื่องใช้ต้นทุนทรัพยากรเงินและคนสูงมาก ทำให้ผู้กำกับถูกกดดันหากผลตอบรับออกมาไม่ดี
- งานมีความเสี่ยงสูงได้เรื่องทุนกำไร ภาพยนตร์เรื่องหนึ่งจะได้รับผลตอบรับดีหรือไม่ดีขึ้นอยู่กับปัจจัยหลาย ๆ อย่าง แม้ว่าตัวบทและตัวภาพยนตร์จะผ่านการตั้งใจทำมามาก ๆ แต่ถ้าช่วงเข้าฉายมีภาพยนตร์เรื่องอื่นที่คนสนใจกว่า ก็ทำให้ผลตอบรับผิดไปจากที่คาดได้
- งานไม่เป็นเวลา เนื่องจากแต่ละช่วงความหนักเบาของการทำงานไม่เท่ากัน เช่น ช่วงถ่ายทำจะต้องออกกองติดกันหลายวันต่อเนื่อง ทำให้เป็นช่วงที่เหนื่อยกายมาก ในขณะที่บางช่วงก็มีเวลาว่าง
- รายได้ไม่แน่นอน หากรอรายได้จากการทำภาพยนตร์อย่างเดียวอาจไม่ต่อเนื่อง ทำให้ผู้กำกับมักต้องรับงานเสริมเพื่อหารายได้จากแหล่งอื่น ๆ
- ชอบและมีความสนใจในศาสตร์ภาพยนตร์ คุณสมบัตินี้อาจเป็นเหตุผลให้ใครหลายคนตั้งให้ผู้กำกับภาพยนตร์เป็นอาชีพในฝันเลยทีเดียว แต่อีกข้อที่ไม่ควรขาด คือการเป็นนักเล่าเรื่องเล่าเรื่อง โดยเฉพาะการเล่าเรื่องด้วยภาพ
- ช่างสังเกต ละเอียดรอบคอบ ยิ่งช่างสังเกตและละเอียดมากเท่าไหร่ ผลงานภาพยนตร์ก็จะยิ่งน่าสนใจและมีคุณภาพมากเท่านั้น
- ทนรับแรงกดดันได้ดี งานภาพยนตร์เป็นงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับผู้คนมากมาย มีปัจจัยที่ต้องแบกรับมากมาย ทั้งเวลา ปัจจัยเรื่องคนและทีม งบประมาณและสถานที่ ถ้าใจรักจริงเรื่องแรงกดดันอาจจะไม่ใช่ปัญหา
- มีความคิดสร้างสรรค์ หลายครั้งที่บทภาพยนตร์ที่มี อาจต้องมีการตีความที่แตกต่างออกไป เพื่อให้การเล่าเรื่องดูแปลกใหม่ ดังนั้นผู้กำกับต้องชอบคิดอะไรแปลกใหม่ รวมทั้งขวนขวายที่จะเพิ่มพูนความรู้หาแนวคิดที่นอกกรอบอยู่เสมอ
- มีความรับผิดชอบสูง ผู้กำกับเปรียบเหมือนแกนหลักของภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง ไม่ว่าจะเกิดปัญหาส่วนใดก็ตามจะต้องพร้อมที่จะรับผิดชอบและแก้ไขปัญหา
- ทักษะเฉพาะทางด้านศิลปะภาพยนตร์ นอกจากจะได้จากการเรียนในคณะนิเทศศาสตร์แล้ว ยังเป็นสิ่งที่สามารถสั่งสมได้จากประสบการณ์ ความชอบความสนใจ และกาารฝึกฝน
- ทักษะการสื่อสาร อาชีพนี้ต้องเจอผู้คนหลากหลายทั้งนอกในและในกองถ่าย และผู้กำกับถือเป็นแกนหลักของงานทั้งเรื่องบท เรื่องภาพ ดังนั้นการสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญมากที่สุด
- ทักษะผู้นำ ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้กำกับ นั่นหมายถึงการควบคุมดูแลหลายต่อหลายเรื่องในงานเบื้องหลังต่าง ๆ การคุมทีมนักแสดงและทีมงานต่างให้ทำงานถึงเป้าหมายและเป็นไปอย่างราบรื่นจึงต้องอาศัยภาวะผู้นำของผู้กำกับภาพยนตร์ด้วย
- การจัดการเวลา ต้นทุนที่สำคัญในการทำงานนอกจากเงิน และคนแล้ว คือเวลาที่ต้องบริหารให้ดี เป็นไปตามแผนเพราะหากผิดพลาดไปจะส่งผลเสียต่องานได้
- การแก้ปัญหาตัดสินใจ เป็นธรรมดาที่การทำงานทั้งก่อนถ่ายทำ ช่วงถ่าย หรือ post production อาจมีเหตุการณ์ไม่คาดฝัน หรือทำให้ตัวงานที่วางไว้ไม่เป็นไปตามแผน ดังนั้นนอกจากการมีแผนสำรองที่ดีแล้ว ผู้กำกับภาพยนตร์ควรรู้จักแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดีและส่งผลกระทบต่องานน้อยที่สุด
หากมีความฝันจะเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ และต้องการเข้าใกล้เส้นทางความฝัน เราจะทำอย่างไรได้บ้าง
-
ทำหนังสั้นส่งเข้าประกวดตามเวทีต่างๆ ที่เปิดทั้งเวทีในประเทศและเวทีต่างประเทศ การทำแบบนี้จะทำให้เราพัฒนาผลงานของตัวเอง และได้รับรู้ผลตอบรับจากคนภายนอก ได้แข่งขันกับคนทำหนังคนอื่น ๆ เพื่อนำเอาข้อติชมมาพัฒนาตนเอง
-
สร้างผลงานลงออนไลน์ ให้มีคนพบเห็นในวงกว้างมากขึ้น สังเกตกระแสตอบรับ รับฟังความคิดเห็นทั้งบวกและลบเพื่อนำมาปรับปรุงในงานต่อไป การทำแบบนี้อาจทำให้เกิดการไวรอล และอาจนำไปสู่การจ้างงาน
-
เขียนบทภาพยนตร์ขนาดย่อแล้วส่งขอทุน ในโลกของคนทำหนัง มีโครงการการขอทุนพัฒนาบทจากที่ต่าง ๆ ทั้งไทยและต่างประเทศ โดยจะคัดเลือกบทหนังที่น่าสนใจมากพอ เพื่อนำมาพัฒนาต่อ ถ้าคุณมั่นใจว่าเรื่องที่คุณอยากเล่ามีความน่าสนใจมากพอ
-
ส่งเวิร์คช็อปเขียนบท หรือกำกับ มีโครงการมากมายให้ได้ฝึกฝนและทดลองเขียนบทหรือกำกับ จะมีบทเรียนเบื้องต้นให้เรียนรู้ทางทฤษฎี และให้ปฏิบัติจริง เมื่อลองทำดูอาจได้ผลงานจริงและได้การร่วมมือจากเพื่อนใหม่ ๆ
-
ยื่นผลงานไปที่บริษัทภาพยนตร์ คุณอาจต้องมีผลงานที่เคยทำ หรือบทหนังที่ เรื่องย่อที่เคยเขียน คัดเลือกผลงานที่ตนเองพอใจที่สุด แล้วลองเสนอตามบริษัทภาพยนตร์ หรือโฆษณา ให้เขาลองพิจารณา คุณอาจได้การจ้างงานจริงถ้างานคุณน่าสนใจมากพอ
Hard Skills
- ฝึกการใช้โปรแกรมการตัดต่อ ลองถ่ายภาพวิดีโอเล่น ๆ จากสิ่งรอบตัว แล้วตัดต่องาน
- ฝึกการใช้โปรแกรมเพื่อการนำเสนอผลงาน เพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจความคิดของเราได้ดี
Soft Skills
- ฝึกพูดสื่อสาร และการเล่าเรื่อง อาจจะใช้เวทีที่โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย เป็นตัวแทนในการนำเสนอหน้าชั้นเรียน
- ฝึกการทำงานเป็นทีม ลองเป็นหัวหน้าทีมเพื่อฝึกการจัดการ การประสานงานและภาวะผู้นำ
กิจกรรมต่าง ๆ
- ลองฝึกงานเป็นผู้ช่วยผู้กำกับเพื่อให้ได้ใกล้ชิดกับผู้กำกับเพื่อเรียนรู้การทำงานของผู้กำกับแต่ละคน
- หาแหล่งอ้างอิงที่ทำให้ผลงานออกมาดียิ่งขึ้นแหล่งอ้างอิงอาจมาจากหลายที่ เช่นจากสื่อเคลื่อนไหว
- ฝึกงานเขียนบท ลองเริ่มจากหาเรื่องใกล้ตัวเพื่อให้เรารู้รายละเอียดของสิ่งที่ต้องการเล่าและเข้าใจสิ่งนั้นดีที่สุด เช่น เพื่อน ครอบครัว หรือเริ่มสังเกตจากสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เช่นคนรอบกาย คนในอาชีพต่างๆ
- การส่งหนังเข้าเทศกาลภาพยนตร์ต่างประเทศเพื่อให้ได้รับรู้การตอบรับจากคนต่างชาติ และได้พบกับคนทำหนังต่างประเทศ สำหรับคำปรึกษาและการร่วมมือกัน
Copyright © 2019 TruePlookpanya. All rights reserved.
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ห้ามมิให้ผู้ใดคัดลอก ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข หรือเผยแพร่ส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ก่อนได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร