ครีเอทีฟโฆษณา
ครีเอทีฟโฆษณา
ครีเอทีฟโฆษณา
ครีเอทีฟโฆษณา

       ครีเอทีฟคือผู้ที่สร้างสรรค์โฆษณาต่างๆ ที่เราเคยเห็นกัน ไม่ว่าจะเป็นโฆษณาทีวี, วิดีโอออนไลน์, สื่อสิ่งพิมพ์ หรือสปอตวิทยุก็ตามแต่ ครีเอทีฟจะต้องคิดไอเดียที่สอดคล้องกับสินค้าและการตลาดของลูกค้า ควบคู่ไปกับสไตล์งานโฆษณาที่เหมาะสมกับสื่อที่ใช้ เช่น สปอตโฆษณาวิทยุต้องใช้การเล่นคำ การออกเสียง ซึ่งผลลัพธ์ต้องนำไปสู่เป้าหมายที่ลูกค้าต้องการในแต่ละครั้ง ดังนั้นอาชีพครีเอทีฟจึงถือว่าต้องใช้ความสามารถรอบด้านมากๆ นับว่าเป็นอาชีพที่ท้าทายและต้องพบเจออะไรใหม่ๆ ตลอดเวลา

ครีเอทีฟโฆษณา (Creative Advertising)

ครีเอทีฟโฆษณา (Creative Advertising)

ครีเอทีฟโฆษณา (Creative Advertising)

 

ลักษณะการทำงาน

       งานหลักของอาชีพครีเอทีฟก็คือการผลิตโฆษณา โดยต้องคิดคำนึงจากความต้องการของลูกค้า ต้องทำความเข้าใจสินค้าและแบรนด์ของลูกค้าอย่างถ่องแท้ เข้าใจปัญหาที่ลูกค้าอยากแก้ไข จากนั้นจึงสร้างสรรค์ชิ้นงานที่สอดคล้องกับโจทย์ทั้งหมด รวมถึงการวางแผนการตลาดเพื่อให้ชิ้นงานได้ผลตอบรับอย่างที่ตั้งเป้าไว้ 
       ครีเอทีฟมักจะทำงานเป็นคู่ สามารถแบ่งได้เป็นสองสายงาน คือ 

  • ก็อปปี้ไรต์เตอร์ (Copywriter) เป็นคนที่ต้องรับผิดชอบทุกอย่างที่เป็นตัวอักษร บทพูดโฆษณา คำโปรยบนโปสเตอร์ แคปชั่นเวลาโพสต์ออนไลน์ ชื่อแคมเปญ เป็นต้น จะต้องเป็นคนที่เชี่ยวชาญการเขียน การใช้คำพูด เพราะต้องใช้ลูกเล่น ใช้คำคล้องจอง ในการเขียนงานเสมอๆ 
  • อาร์ตไดเรกเตอร์ (Art director) เป็นคนที่รับผิดชอบงานภาพ ทั้งการออกแบบ mood and tone ของชิ้นงาน การร่าง board เพื่อไปขายลูกค้า หรือการออกแบบกราฟิกเพื่อโพสต์ออนไลน์ บางบริษัทจะมีตำแหน่งกราฟิกแยกต่างหาก แต่บางที่ก็ไม่มี ดังนั้นอาร์ตไดเรกเตอร์จึงต้องมีทักษะโปรแกรมกราฟิกอยู่พอสมควรและจะต้องเป็นคนที่มี reference งานต่างๆ เยอะ เพื่อความหลากหลายเวลาคิดงาน

 

ขั้นตอนการทำงาน

       ครีเอทีฟจะเรียกงานแต่ละชิ้นว่าแอคเค้าท์ โดยเมื่อมีลูกค้าติดต่อเข้ามา กระบวนการทำงานในแต่ละครั้งจะเป็นไปตามนี้

  • รับบรีฟ: ในขั้นแรก AE จะเป็นคนเข้าไปคุยกับลูกค้าในเบื้องต้นก่อน จากนั้นจึงมาบรีฟครีเอทีฟต่อ รวมถึงวางแผนการทำงานไว้ด้วย แต่ในบางครั้งครีเอทีฟก็จะเข้าไปประชุมกับลูกค้าด้วยแต่แรกก็มี
  • คิดงาน: หลังจากนั้นก็อปปี้ไรต์เตอร์และอาร์ตไดเรกเตอร์จะมาคุยกัน เพื่อสรุปไอเดียและรายละเอียดก่อนนำไปเสนอขายลูกค้า
  • เสนองาน: ครีเอทีฟและทีมงานจะต้องเข้าไปเสนองานลูกค้า โดยครีเอทีฟจะทำพรีเซนเทชั่นเพื่อนำไปเสนอลูกค้า รวมถึงพูดคุยและปรับแก้ไขตามความต้องการเพิ่มเติมของลูกค้า
  • ผลิตงาน: เมื่อตกลงไอเดียได้เรียบร้อย ทางครีเอทีฟจะกลับไปเตรียมงานผลิต โดย AE ติดต่อฝ่ายโปรดักชั่น แล้วเริ่มการถ่ายทำ ซึ่งครีเอทีฟจะต้องไปดูด้วย รวมถึงช่วงโพสต์โปรดักชั่นด้วย
  • ปล่อยผลงาน: ขั้นตอนสุดท้ายของการผลิตคือการปล่อยผลงานออกฉาย ครีเอทีฟอาจจะต้องทำงานที่วางไว้ต่อเนื่องกัน เช่น หลังจากปล่อยวิดีโอ ครีเอทีฟจะต้องปล่อยรายละเอียดสินค้าพร้อมโพสต์โปรโมทออนไลน์ เป็นต้น และจะมีฝ่ายมีเดียคอยเก็บสถิติผลตอบรับเพื่อนำมาปรับปรุงในงานต่อไป

สถานที่ทำงาน

  • บริษัทเอเจนซี่โฆษณา จะมีทั้งบริษัทเครือใหญ่จากต่างประเทศหรือเอกชนในไทย โดยจะเข้าไปเป็นก็อปปี้ไรต์เตอร์หรืออาร์ตไดเรกเตอร์ 
  • ครีเอทีฟประจำบริษัท บริษัทใหญ่มักจะต้องมีครีเอทีฟของบริษัทตัวเอง ซึ่งครีเอทีฟบริษัทจะเน้นงานที่ต้องทำทุกวัน งานที่ไม่ใช่โปรเจกต์ใหญ่มาก เน้นความรู้ลึกว่าอะไรขายดี เช่น ดูแลฝั่งออนไลน์ของบริษัท
  • ฟรีแลนซ์ ครีเอทีฟฟรีแลนซ์จะทำงานเป็นโปรเจกต์ ๆ ไป ดังนั้นสถานที่ทำงานจึงไม่แน่นอน 

 

ผู้ที่ต้องทำงานด้วย

       นอกจากทีมครีเอทีฟด้วยกันเองแล้ว ครีเอทีฟจะต้องประสานงานกับฝ่ายเหล่านี้เป็นหลัก
  • AE (Account Executive) – หรือมักเรียกกันว่า “เออี” ฝ่ายประสานงาน AE จะเป็นตัวกลางระหว่างทุกฝ่ายเพื่อให้การประสานงานเป็นไปอย่างราบรื่น รวมถึงการติดต่อกับลูกค้าจะต้องผ่าน AE เป็นหลัก ครีเอทีฟจึงต้องรับและส่งกับ AE ตลอดการทำงาน
  • ลูกค้า คือเจ้าของโปรเจกต์ต่างๆ โดยครีเอทีฟจะได้นั่งพูดคุยกับลูกค้าอยู่บ้างระหว่างการประชุม รวมถึงการเสนองาน ดังนั้นครีเอทีฟจะต้องเรียนรู้ที่จะพูดอธิบายไอเดียของตัวเอง และสื่อสารกับลูกค้าให้ความเข้าใจตรงกันที่สุด
  • Production ฝ่ายโปรดักชั่นหรือฝ่ายผลิต มักจะเป็นบริษัทอื่นที่รับงานผลิตโดยเฉพาะ เช่น งานวิดีโอส่วนมากจะใช้บริษัทโปรดักชั่นต่างหาก และครีเอทีฟจะได้ร่วมงานกับทีมผลิตเมื่อตอนวางแผนงาน ครีเอทีฟจะต้องคอยดูให้งานเป็นไปแบบที่คิดไว้ ทั้งช่วงก่อนผลิต ช่วงถ่ายทำ และช่วงหลังการถ่ายทำ จะต้องอยู่ด้วยทั้งกระบวนการ
  • Media – ฝ่ายดูแลสื่อของบริษัท โดยจะเป็นฝ่ายที่ติดต่อและหาช่องทางการปล่อยโฆษณาที่ครีเอทีฟคิดมา เช่น หาเว็บให้ลง, หาที่ฉายวิดีโอตามรถไฟฟ้า เป็นต้น ครีเอทีฟก็จะต้องทำงานกับฝ่ายมีเดียเพื่อตกลงกันว่าจะต้องผลิตงานตามช่องทางไหนบ้าง 

ทางเลือกอาชีพ

       ในเมื่อมีความคิดสร้างสรรค์เป็นจุดแข็งของอาชีพแล้ว อีกทั้งยังมีความสามารถด้านการตลาด อาชีพครีเอทีฟจึงสามารถต่อยอดได้หลายทาง เช่น 

  • Content creator เป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ของบริษัทต่างๆ หรือจะสร้างแชนเนลเป็นของตัวเองแล้วผลิตคอนเทนต์เองก็ย่อมได้ 
  • นักเขียน ก็อปปี้ไรต์เตอร์เป็นคนที่เชี่ยวชาญงานเขียนอยู่แล้ว สามารถพัฒนาให้ไปถึงการเป็นนักเขียนอาชีพได้
  • ที่ปรึกษาการตลาด ครีเอทีฟมีความใกล้ชิดกับการทำการตลาดอยู่ตลอด รวมถึงมีไอเดียสร้างสรรค์มากมาย ดังนั้นจึงสามารถหันมาทำด้านการตลาดเต็มตัวได้เมื่อสั่งสมประสบการณ์
  • ผู้กำกับภาพยนตร์โฆษณา, ภาพยนตร์ ผู้กำกับจะต้องมีความสามารถในการเล่าเรื่องด้วยภาพ ซึ่งครีเอทีฟมักจะมีงานที่ได้คิดวิดีโออยู่ ทำให้สามารถพัฒนาไปเป็นผู้กำกับได้ 

 

เงินเดือน ครีเอทีฟโฆษณา

ตำแหน่งและเส้นทางการเติบโตในสายอาชีพ

       อาชีพนี้เป็นอาชีพที่ต้องใช้เวลาและประสบการณ์ในการเติบโต รวมถึงการมีผลงานโดดเด่นก็จะยิ่งทำให้ได้รับชื่อเสียงในวงการ โดยเฉพาะการได้รางวัลต่างๆ จะทำให้สามารถเรียกเงินเดือนที่สูงขึ้นตามความสามารถ หรือย้ายที่ทำงานเพื่อเข้าเครือบริษัทต่างประเทศ โอกาสเติบโตก็จะยิ่งกว้างไกลมากขึ้น

 

เงินเดือน

       ครีเอทีฟเป็นอาชีพที่เงินเดือนช่วงแรกจะไม่โดดเด่นอะไรมาก แต่ว่าหากไปถึงจุดที่เป็นหัวหน้าทีมหรือสูงกว่านั้นแล้ว ความรับผิดชอบจะยิ่งสูงตาม ต้องดูแลงานผลิตยิบย่อยและงานใหญ่ รวมถึงการดูแลให้งานของทั้งบริษัทได้มาตรฐานเดียวกัน เงินเดือนของหัวหน้าทีมจึงสูง

 

การแข่งขันและความต้องการของตลาด

       ในเมื่อต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์เป็นหลักในการทำงาน ทำให้อาชีพนี้ สามารถเปิดรับให้ใครก็ได้เข้ามาลองทำงาน หากมีความคิดสร้างสรรค์มากพอ ทำให้การแข่งขันในตลาดค่อนข้างสูง ยังไม่รวมการแข่งขันในบริษัทเดียวกัน ในบริษัทใหญ่แต่ละทีมจะแข่งกันทำผลงาน ทำให้เกิดความกดดันในการทำงาน 

  • ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการทำงานเป็นหลัก จึงทำให้รู้สึกสนุก ท้าทาย มีโจทย์ใหม่ๆ เข้ามาเสมอ
  • ได้ฝึกฝนทักษะรอบด้าน การคิดงานมักต้องคิดทั้งรูปภาพ, วิดีโอ, เสียง, การจัดอีเว้นต์, ไวรัล ทำให้ต้องคิดงานแปลกใหม่เสมอๆ
  • ได้ทำงานร่วมกับคนหลายฝ่าย เพราะต้องตามไปดูแลการผลิตตลอดจนการไปจัดอีเว้นต์ต่างๆ ทำให้ได้เจอคนจากหลายๆ วงการ
  • ครีเอทีฟเป็นอาชีพที่เครียดและกดดัน เพราะมีกำหนดเวลาในการทำงานและมีความคาดหวังสูง จากทั้งลูกค้าและทีมเอง
  • ทำงานไม่เป็นเวลา ลักษณะงานทำให้ต้องครุ่นคิดกับงานตลอดเวลา จนแทบไม่มีเวลาแบ่งไปใช้ชีวิตส่วนตัว จึงต้องใช้การจัดการเวลาให้ดี
  • มีความคิดสร้างสรรค์และชอบคิดนอกกรอบ นี่คือคุณสมบัติเด่น ๆ ของคนที่เป็นครีเอทีฟ เพราะยิ่งสร้างสรรค์และไม่ติดกรอบเดิม ๆ (แต่อยู่ภายใต้โจทย์ที่ได้รับ) ก็จะยิ่งทำให้งานของเราโดดเด่น เป็นที่สนใจของลูกค้าและผู้บริโภค
  • ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ ช่างสังเกต ไม่ตกเทรนด์ นี่คือสิ่งสำคัญที่ควรมี เพราะต้นทุนที่จะทำให้ครีเอทีฟมีไอเดียได้ คือความรู้ที่เปิดกว้างในหลากหลายวงการ ไม่จำกัดแค่เฉพาะสิ่งที่ตนเองสนใจ รวมทั้งหมั่นสังเกตกระแสสังคมอยู่เสมอ สิ่งเหล่านี้จะเป็นต้นทุนในการตกผลึกไอเดียใหม่ ๆ ให้ครีเอทีฟได้ไม่ยาก 
  • มีมนุษยสัมพันธ์และทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี ครีเอทีฟจะมีลักษณะการทำงานเป็นทีม โดยคุณอาจจะต้องประสานกับก๊อปปี้ไรท์เตอร์(บางครั้งก็ควบทั้งสองหน้าที่) ทำงานร่วมกับอาร์ตไดเรกเตอร์ รวมทั้งต้องนำเสนองานและประสานกับฝ่ายต่าง ๆ มากมาย การที่คุณมีมนุษยสัมพันธ์จะยิ่งทำให้การทำงานร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะในเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานของงานโฆษณา เป็นไปได้อย่างราบรื่นยิ่งขึ้น 
  • มีความยืดหยุ่นในการทำงาน หลายครั้งที่อาจมีปัจจัยภายนอกที่ไม่เป็นไปตามแผนงาน ไม่ว่าจะเกิดจากลูกค้าหรือภายในทีม การยืดหยุ่นและรู้จักปรับตัวแก้ไข จะทำให้งานเดินไปได้อย่างสนุก ไร้ความกดดัน 
  • คุณสมบัติเฉพาะบางตำแหน่ง หากเป็นครีเอทีฟที่เน้นไปทางงานเขียนอย่าง ก็อปปี้ไรต์เตอร์ นอกจากคุณสมบัติข้างต้นแล้ว ควรมีความชำนาญในการใช้ภาษารวมถึงการเล่าเรื่อง ต้องอ่านหนังสือมามาก มีคลังศัพท์ในหัวเยอะเพราะแต่ละงานก็ใช้สไตล์ภาษาต่างกัน เช่น ในงานหนึ่งภาษาจะต้องวัยรุ่นมาก ๆ แต่กับอีกงานหนึ่งาจจะต้องสื่อสารด้วยความหรูหรา ใช้คำสละสลวย เป็นต้น แต่หากคุณทำงานด้านภาพเป็นหลัก หรือที่เรียกว่าเป็นสายอาร์ตไดเรกเตอร์ ต้องเป็นคนที่จัดวางองค์ประกอบภาพได้สวยงาม เข้าใจองค์ประกอบศิลป์ มีความเชี่ยวชาญในศิลปะและการคิดภาพ มี reference และสไตล์งานหลากหลายแปลกใหม่ สามารถควบคุม mood and tone ของทั้งงานได้ มีทักษะกราฟิกจำพวก Illustrator, Photoshop เพื่อสร้างงานหรือวาดออกแบบเพื่อนำไปผลิตต่อยอด
  • ทักษะการสื่อสาร เพราะในการทำงานนั้น เราต้องมีการสื่อสารและอธิบายไอเดียของเราให้ผู้อื่นเข้าใจถึงแก่นความคิดความต้องการได้ง่าย และมีศิลปะในการสื่อสารอย่างแนบเนียนและสร้างสรรค์ด้วย
  • ทักษะการคิดวิเคราะห์ ในการคิดวิเคราะหฺ์เป็นทักษะพื้นฐานในการทำงานด้านโฆษณา เพราะต้องมีการทำความเข้าใจตลาดและเทรนด์และวิเคราะห์ความต้องการของผู้บริโภคได้ในขั้นพื้นฐาน โดยเราจะทำงานส่วนนี้ร่วมกับฝ่ายการตลาด  
  • ทักษะการแก้ปัญหาตัดสินใจ ในบางครั้งการทำงานอาจมีสถานการณ์ยาก ๆ ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น คนในทีมจึงต้องรู้จักการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อให้งานยังดำเนินต่อไปได้และเกิดปัญหาซ้ำซ้อนน้อยที่สุด
  • ทักษะการจัดการ การบริหารจัดการเวลาเป็นสิ่งสำคัญ เพราะงานที่ต้องคิดและใช้ไอเดียแม้จะกำหนดเวลาได้ยาก แต่งานแต่ละงานมีกำหนดเวลาของตัวเอง ดังนั้นหากทุกคนรู้จักเวลาของตัวเอง จะไม่ส่งผลกระทบกับทีมและงานภายหลัง
  • ทักษะการใช้ภาษาหรือด้านทัศนศิลป์ ขึ้นอยู่กับเราเป็นครีเอทีฟที่เน้นไปด้านงานภาพหรืองานก๊อปปี้ไรท์เตอร์มากกว่ากัน 
  • Hard Skills

  • ฝึกการใช้โปรแกรม Adobe illustrator, Adobe Photoshop และอื่นๆ เพิ่มเติมได้ ยิ่งเข้าใจพื้นฐานของโปรแกรมจะยิ่งทำให้ต่อยอดได้ และสามารถสื่อสารให้ฝ่ายกราฟิกหรือลูกค้าเข้าใจกระบวนการทำงานยิ่งขึ้น
  • พัฒนาความสามารถทางการใช้ภาษา ด้วยการอ่านหนังสือเยอะ ๆ ไม่ว่าจะเป็นนิตยสาร หนังสือนิยาย บทความออนไลน์ 
  • พัฒนาไอเดียด้วยผผการดูสื่อโฆษณาเยอะๆ เช่น ติดตามงานที่ชนะรางวัลของหลาย ๆ ปี

Soft Skills 

  • พัฒนาการพูดต่อหน้าผู้คน เพราะครีเอทีฟมีโอกาสได้ขายงานบ่อยครั้ง รวมถึงการพูดในที่ประชุมต่างๆ ถ้าพูดไม่เก่งจะทำให้ไอเดียที่คิดมาถูกส่งไปไม่ถึงลูกค้า
  • ฝึกฝนการจัดเวลของตัวเองได้ รู้ว่าตัวเองเป็นคนใช้เวลาอะไรเท่าไร ต้องเล่นช่วงไหน ต้องทำงานที่ไหนถึงจะมีประสิทธิภาพ รู้ข้อดีข้อเสียของตัวเอง

กิจกรรมต่าง ๆ 

  • ติดตามข่าววงการโฆษณาเรื่อย ๆ ทั้งต่างประเทศและในประเทศ ตามดูงานที่ได้รางวัลหรืองานที่เป็นที่พูดถึงในวงการ
  • หากิจกรรมที่ทำให้ได้ใกล้ชิดกับรุ่นพี่ในวงการ เช่น BAD awards ที่รับนักศึกษาเข้าไปเวิร์คช็อปและแข่งขันชิงรางวัล
  • ลองสมัครเข้าฝึกงานบริษัททั้งเล็กและใหญ่เพื่อให้เห็นสไตล์การทำงานที่แตกต่างและเลือกได้ว่าตัวเองชอบบรรยากาศการทำงานแบบไหน

 

 

 

       วงการโฆษณาของประเทศไทยนั้นกว้างมากและมีหลายสายตามแต่ลักษณะผลงาน อาทิ สายออนไลน์, สายออฟไลน์ แต่ละบริษัทก็จะมีความถนัดแตกต่างกันไป เช่น บางบริษัทเน้นรับลูกค้าที่ผลิตภัณฑ์สำหรับผู้หญิง รวมไปถึงครีเอทีฟในบริษัทก็เป็นผู้หญิง บางบริษัทก็เน้นรับงานออนไลน์ ดูแลเพจเฟสบุ๊ก โฆษณาออนไลน์ เป็นหลัก ทำให้ความถนัดของครีเอทีฟเองก็สามารถแบ่งได้หลากหลายเช่นกัน
       ความยากของการทำงานครีเอทีฟนั้นก็คือ ความแตกต่างและโดดเด่น ท่ามกลางข้อมูลในยุคออนไลน์ที่แม้แต่เด็กมัธยมก็ทำคอนเทนต์ให้ดังได้ เหล่าครีเอทีฟเองนอกจากต้องแข่งขันกันในสายงานแล้ว ยังต้องแข่งขันกับบุคคลทั่วไป ร่วมไปถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่เริ่มรู้ทันการโฆษณาแต่ละรูปแบบ 
       ในจุดนี้ก็เป็นทั้งความยากแต่ในขณะเดียวกันก็เป็นความท้าทายของครีเอทีฟ ที่จะคิดต่างจากคนอื่นๆ นำเสนอความสร้างสรรค์และขายผลิตภัณฑ์ของลูกค้าไปพร้อมๆ กันได้

 

       ประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยที่มีหลักสูตรด้านการตลาดและการโฆษณาจำนวนมาก การเรียนการสอนอาจจะแตกต่างกันไปบ้าง ข้อมูลที่จะนำเสนอจะอ้างอิงจากหลักสูตรปริญญาตรีของคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
       คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะเริ่มการเลือกสาขาวิชาช่วงปี 3 ใช้ชื่อสาขาว่า “สาขาการโฆษณาและการสื่อสารตราสินค้า (Advertising and Brand Communications)” โดยจะมีวิชาบังคับและวิชาเลือกมากมาย ให้เหล่านิสิตสามารถเลือกวิชาตามสายอาชีพที่ตัวเองสนใจได้ 

  • วิชาบังคับ ส่วนมากจะเป็นการเรียนเพื่อความเข้าใจในการทำโฆษณาและการตลาดอย่างทั่วถึง เพื่อเป็นความรู้พื้นฐานของการทำงานในอนาคต อาทิเช่น Visual communication เรียนรู้ที่จะใช้ภาพในการสื่อสาร, Principle advertisement เรียนรู้พื้นฐานทั้งหมดของการโฆษณา, Marketing communication เรียนรู้พื้นฐานของการทำการตลาด, Stat เรียนรู้และเข้าใจการเก็บสถิติมาวิเคราะห์ เป็นต้น รวมถึงวิชา Ad Campaign ที่จะเป็นวิชาธีสิสช่วงปี 4 เทอม 2 ให้นิสิตได้ทำแคมเปญกับลูกค้าจริงๆ คิดและตีโจทย์ลูกค้า รวมถึงเสนองานและขายงานแข่งกัน งานที่ได้รับเลือกก็จะถูกนำไปใช้จริง 
  • วิชาเลือกสำหรับคนอยากเป็น Copywriter จะเน้นที่การฝึกความคิดสร้างสรรค์ การคิดไอเดียโฆษณาเป็นหลัก อาจจะยังไม่ได้เน้นด้านการเขียนขนาดนั้น เพราะในการทำงานจริงครีเอทีฟต้องคิดทั้งหมด อาทิ Creative communication เรียนรู้การคิดและสรรสร้างไอเดีย Digital advertisement เรียนรู้และเข้าใจแพลตฟอร์มออนไลน์
  • วิชาเลือกสำหรับคนอยากเป็น Art director ก็จะมีวิชาที่สอนการใช้ภาพแบบเจาะลึกลงไปอีก วิชา Art direction นั่นเอง หรืออย่าง Film for advertisement ที่เน้นการคิดวิดีโอโฆษณา การคิดสตอรี่บอร์ด

       นอกจากนั้นก็จะเป็นวิชาสำหรับคนอยากทำงานสายการตลาด ขึ้นอยู่กับว่าเด็กๆ จะเลือกเรียนวิชาอย่างไร บางคนก็เรียนเฉพาะวิชาที่ตนเองสนใจ บางคนก็ลงหลายสายเพราะอยากลองทำงานหลายแบบ 
       ส่วนบรรยากาศการเรียนเองก็ส่งเสริมให้ทุกคนต้องหากิจกรรมทำ เพราะการสมัครงานโฆษณาเน้นดูผลงานที่เคยทำมา หากเคยประกวดแคมเปญหรือเคยเข้าร่วมกิจกรรมฝึกงาน ก็จะทำให้โอกาสก้าวหน้ามีมากขึ้นตาม

 

 

 


Copyright © 2019 TruePlookpanya. All rights reserved.
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ห้ามมิให้ผู้ใดคัดลอก ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข หรือเผยแพร่ส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ก่อนได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร