นักกายภาพบำบัด
นักกายภาพบำบัด
นักกายภาพบำบัด
นักกายภาพบำบัด

       กายภาพบำบัด (Physical Therapy หรือ Physio Therapy) เป็นวิชาชีพทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริม ป้องกัน รักษา และจัดการผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวร่างกายที่ผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากสภาพและภาวะของโรค ที่เกิดขึ้นในทุกช่วงของชีวิต โดยการรักษาประเภทนี้จะเกิดขึ้นโดย นักกายกายภาพบำบัด (PT) หรือผู้ช่วยนักกายภาพบำบัด (Physical Therapy Assistant) ซึ่งจะทำงานภายใต้การดูแลและแนวทางการรักษาของนักกายภาพบำบัดอีกทีหนึ่ง 

นักกายภาพบำบัด  (Physical Therapist)

นักกายภาพบำบัด  (Physical Therapist)

นักกายภาพบำบัด  (Physical Therapist)

    

ลักษณะการทำงาน

       นักกายภาพบำบัด จะใช้ประวัติทางการรักษา และข้อมูลจากการตรวจร่างกาย เพื่อประกอบการวินิจฉัยและ ให้การรักษาโดยใช้วิธีตามหลักวิทยาศาสตร์ และเครื่องมือหรืออุปกรณ์ทางกายภาพบำบัด  เช่น การดัด การดึง การประคบ การนวด การออกกำลังกายเพิ่มช่วงการเคลื่อนไหวและเพิ่มความแข็งแรง การบริหารร่างกายหรืออวัยวะส่วนหนึ่งส่วนใดของผู้ป่วย หรือการกระทำอื่นที่รัฐมนตรีประกาศเป็นวิธีการทางกายภาพบำบัด หรือการใช้เครื่องมืออุปกรณ์ตามหลักวิทยาศาสตร์ที่รัฐมนตรีประกาศเป็นเครื่องมือกายภาพบำบัด โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพและมีความสามารถในการทำงานของร่างกายอย่างเต็มที่ ถ้าหากว่าจำเป็น นักกายภาพบำบัดอาจจะต้องอาศัยข้อมูล หรือผลจากห้องปฏิบัติการทางการแพทย์และการศึกษาภาพถ่ายทางรังสีด้วย การตรวจวินิจฉัยทางไฟฟ้า (เช่น การตรวจคลื่นกล้ามเนื้อไฟฟ้า, การวัดความเร็วการนำกระแสประสาท) ยังสามารถช่วยในการวินิจฉัยได้ ผู้ปฏิบัติงานอาชีพนี้จะต้องต้องจบการศึกษาด้านกายภาพบำบัดโดยตรงและต้องมีใบประกอบวิชาชีพกายภาพบำบัดที่ออกให้โดยสภากายภาพบำบัดเท่านั้น 

 

ปัจจุบันงานกายภาพบำบัดจะแบ่งออกเป็นสายงานต่างๆ ดังนี้

  1. กายภาพบำบัดด้านระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ  เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน เช่น office syndrome, ผู้ป่วยที่มีปัญหาข้อติดเคลื่อนไหวร่างกายไม่สะดวก, มีอาการปวดที่มีสาเหตุจากความผิดปกติของระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ, การออกกำลังกายที่ไม่เหมาะสมหรือการบาดเจ็บจากการทำงาน, ผู้ป่วยกระดูกหักและหรือได้รับการผ่าตัด รวมถึงผู้ที่มีความพิการจากการสูญเสียอวัยวะ
  2. กายภาพบำบัดด้านระบบประสาท  ได้แก่ ผู้ป่วยที่มีปัญหาในการเคลื่อนไหวหรือผู้ที่มีปัญหาจากการช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวัน ซึ่งมีสาเหตุจากความผิดปกติของระบบประสาท  เช่น  ผู้ป่วยอัมพาต, ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง, ผู้ป่วยเด็กที่มีปัญหาทางการเคลื่อนไหว  เช่น  สมองพิการแต่กำเนิด, ผู้ป่วยพาร์กินสัน รวมถึงผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุที่ทำให้สมองหรือไขสันหลังได้รับบาดเจ็บ
  3. กายภาพบำบัดด้านระบบทรวงอกหลอดเลือดและหัวใจ (ปอดและหัวใจ)  ผู้ป่วยที่มีปัญหาในการหายใจหรือการทำงานของหัวใจ  เช่น  ผู้ป่วยโรคปอดที่มีเสมหะคั่งค้างหรือเกิดการติดเชื้อ, ผู้ป่วยโรคหัวใจ รวมถึงผู้ป่วยทั้งก่อนและหลังผ่าตัด โดยจะรักษาด้วยการให้ฝึกไอ ฝึกหายใจ การเคาะปอด ดูดเสมหะ จัดท่า ออกกำลังกาย ฯลฯ
  4. กายภาพบำบัดด้านกีฬา  เช่น  การดูแลรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพนักกีฬาทั้งก่อน ระหว่างและหลังการแข่งขัน วางแผนการซ้อมร่วมกับผู้ฝึก เพื่อป้องกันการบาดเจ็บและให้เคลื่อนไหวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  5. กายภาพบำบัดในเด็ก ทั้งในเด็กปกติและเด็กที่เกิดมาพร้อมกับความผิดปกติของสมองทำให้มีพัฒนาการล่าช้ากว่าวัย ไม่สามารถคลาน ยืน เดิน พูด หรือกลืนอาหารได้อย่างปกติ สิ่งเหล่านี้ล้วนแก้ไข หรือบรรเทาความรุนแรงของความบกพร่องทางร่างกายในอนาคตได้ด้วยการทำกายภาพบำบัด
  6. กายภาพบำบัดในผู้สูงอายุ เป็นอีกสาขาที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะการเข้าค่อยๆ ขยับเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุของหลายๆ ประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย นักกายภาพบำบัดที่ทำงานในด้านนี้จึงมีบทบาทอย่างมาก เช่น การออกกำลังเพื่อส่งเสริมความแข็งแรงของร่างกาย การจัดกิจกรรมเพื่อสนับสนุนการมีสุขภาพจิตที่ดี รวมทั้งการป้องกันภาวะโรคต่างๆ ที่มาพร้อมกับอายุที่มาขึ้น เช่น อัลไซเมอร์ กระดูกพรุน และกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้องต่างๆ
  7. กายภาพบำบัดในชุมชน  เป็นงานกายภาพบำบัดที่เน้นการทำงานในเชิงรุก เพื่อให้การดูแลประชาชนได้อย่างทั่วถึง  ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ หรือผู้พิการที่ด้อยโอกาสไม่สามารถเดินทางมารักษาที่โรงพยาบาลได้ การให้คำแนะนำแก่ประชาชนในงานส่งเสริมการออกกำลังกายในชุมชน
  8. งานกายภาพบำบัดด้านอื่นๆ  เช่น  การออกกำลังกายในสตรีตั้งครรภ์ทั้งก่อนและหลังคลอด, การดูแลผู้ป่วยเบาหวาน

 

       นักกายภาพบำบัดสามารถตรวจวินิจฉัยโรคได้เอง หรือทำการรักษาโดยได้รับคำสั่งจากแพทย์ในโรงพยาบาล, ตามศูนย์ต่าง ๆ บางครั้งอาจออกไปนอกสถานที่ หรือบ้านของผู้ป่วยเพื่อทำการรักษา โดยต้องดูแลและจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการบำบัดคนไข้มากที่สุด เพื่อให้ได้ผลของการรักษาที่ดีที่สุด

ขั้นตอนการทำงาน

  • ตรวจสอบ ซักประวัติเบื้องต้น และอาการเจ็บป่วยทางร่างกายของผู้ป่วย รวมทั้งการตรวจร่างกายโดยการสัมผัส กด จับ ดัด ดึง บริเวณกล้ามเนื้อหรือเอ็นของร่างกาย โดยเมื่อกด หรือจับบริเวณใดของคนไข้ ก็จะสอบถามไปด้วยว่าตรงนี้เจ็บหรือไม่ ตรงบริเวณนี้เจ็บหรือไม่ เพื่อนำมาวิเคราะห์ว่าจะมีแนวทางรักษาอย่างไร
  • ทำการรักษา โดยต้องพิจารณาว่าจะใช้วิธีใดในการรักษา เช่น ใช้แผ่นร้อนไฟฟ้า ทำการนวด หรือใช้เครื่องอัลตร้าซาวน์ เป็นต้น โดยอาจรักษาด้วยตนเองหรือให้ผู้ช่วยกายภาพบำบัดมาทำการรักษา 
  • สอบถามผู้ป่วยหลังได้รับการรักษา ให้คำแนะนำในการดูแลตัวเองและออกกำลังกาย รวมทั้งนัดทำการรักษาในครั้งต่อไป (การกายภาพบำบัดต้องทำสม่ำเสมอและอาจจะรักษามากกว่าหนึ่งครั้ง) 

สถานที่ทำงาน

  • คลินิค หรือแผนกผู้ป่วยใน เกี่ยวกับเวชกรรมฟื้นฟู ในโรงพยาบาล
  • ผู้ป่วยที่ทำการฟื้นฟูอยู่บ้าน บางครั้งนักกายภาพบำบัดต้องเดินทางไปรักษาถึงที่บ้านด้วย
  • ศูนย์วิจัยและสถานพักฟื้น
  • โรงเรียน ศูนย์ฟิตเนส และ สถานการฝึกสอนนักกีฬา ที่มีการเล่นกีฬาหรือออกกำลังกาย ซึ่งอาจส่งผลต่อการเคลื่อนไหวร่างกาย เพราะนักกายภาพบำบัดยังเปรียบเสมือนที่สอนให้นักกีฬาเสริมสร้างกล้ามเนื้ออยากถูกวิธีด้วย

ผู้ที่ต้องทำงานด้วย 

  • ผู้ป่วย คือ ผู้ที่ต้องทำงานโดยตรงและบ่อยที่สุด 

  • แพทย์ บางครั้งแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยโดยผู้ป่วยอาจเกิดอาการเจ็บป่วยหลายส่วน และหนึ่งในการฟื้นฟูคือแนวทางการกายภาพบำบัด 

       นอกจากนี้อาจทำงานร่วมกับพยาบาล นักเทคนิคการแพทย์ หรือเภสัชกรด้วย 

เงินเดือน นักกายภาพบำบัด

ตำแหน่งและเส้นทางการเติบโตในสายอาชีพ

       นักกายภาพบำบัดที่ได้รับการอบรมในวิชาที่เกี่ยวกับงานและมีประสบการณ์ในทำงานมีโอกาสก้าวหน้าในการทำงานตามระบบราชการ และระเบียบที่องค์กรธุรกิจ เอกชนกำหนด นอกจากนี้สามารถประกอบอาชีพอิสระได้โดยอาจจะเปิดสถานที่สำหรับกายภาพบำบัด หรือรับทำงานกายภาพบำบัดให้คนไข้ที่บ้าน สำหรับนักกายภาพบำบัดที่มีความสามารถในการบริหารงาน ก็อาจจะเลื่อนขั้นเป็นผู้บริหารทางด้านกายภาพบำบัดในสถาบันนั้นๆได้ นอกจากนี้นักกายภาพบำบัดมีอัตราการขยายงานไปส่วนต่าง ๆ ได้ รวมถึงการศึกษาหรือทำงานต่อในต่างประเทศ เนื่องจากหลักสูตรนักกายภายบำบัดทุกสถาบันการศึกษาได้มาตรฐานสมาพันธ์กายภาพบำบัดโลก

เงินเดือน

  • หากทำงานในโรงพยาบาลรัฐ เงินเดือนจะอยู่ในช่วง 15,000 บาท/เดือน ขึ้นไป 
  • หากทำงานในโรงพยาบาลเอกชน เงินเดือนจะอยู่ในช่วง 30,000 - 60,000 บาท/เดือน หรือสามารถเปิดคลินิกกายภาพบำบัดได้
  • นอกจากนี้นักกายภาพบำบัดสามารถไปดูแลฟื้นฟูสภาพผู้ป่วยตามบ้าน ค่าบริการ 800-1,000 บาท/ราย 

การแข่งขันและความต้องการของตลาด

       ปัจจุบันอาชีพนักกายภาพบำบัดนั้นยังเป็นที่ต้องการและขาดแคลนอยู่มากในสถานบำบัด สภานพยาบาล สถานบริการสุขภาพต่าง ๆ ดังนั้นอัตราการตกงานจึงค่อนข้างต่ำ เพราะกายภาพบำบัดเกี่ยวโยงกับชีวิตประจำวันในหลาย ๆ ด้าน

  • นักกายภาพที่มีสังกัดองค์กรมักจะเริ่มงานและเลิกงานเป็นเวลา ไม่จำเป็นต้องขึ้นเวรดึก
  • เป็นอาชีพที่มีความต้องการสูง โอกาสตกงานค่อนข้างต่ำ
  • สามารถบริหารจัดการตารางวันหยุดเองได้ (กรณีทำงานหน่วยงานเอกชนหรือทำงานคลินิก)
  • นอกจากเป็นอาชีพที่มีโอกาสความก้าวหน้าสูง ยังมีความสำคัญต่อระบบสาธารณสุขไทย
  • ทำงานในภาวะที่กดดันสูง เพราะเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและอนาคตของคนไข้ มีความคาดหวังจากทั้งตัวคนไข้และครอบครัว 
  • ลักษณะการทำงานค่อนข้างตายตัว อาจจะทำให้เบื่อง่าย
  • หากต้องพบเจออาการของคนไข้ที่รุนแรง เช่น พิการ แล้วต้องทำการรักษาให้กลับมาใช้อวัยวะร่างกายได้ดังเดิม อาจจะต้องใช้อดทนสูง และรองรับอารมณ์ความเจ็บปวดของคนไข้ให้ได้ เพื่อให้กำลังใจในการฟื้นฟูร่างกายให้แก่คนไข้ 
  • มีมนุษยสัมพันธ์ดี สามารถทำงานร่วมกับผู้คนได้ เพราะงานกายภาพบำบัดต้องพบปะผู้คนอยู่ตลอดเวลาหลายฝ่าย หากไม่ชอบติดต่อสื่อสารหรือพบเจอคนหลากหลายอาจไม่เหมาะกับงานนี้
  • มีความเห็นอกเห็นใจ เอื้ออาทร ยินดีที่จะช่วยเหลือผู้อื่น ใจเย็น เป็นมิตร
  • กระฉับกระเฉง คล่องแคล่ว ชอบการทำงานที่ได้ไม่หยุดอยู่กับที่ และมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ เพราะนักกายภาพบำบัดต้องใช้แรงกายในการทำการรักษาคนไข้เช่นกัน
  • มีความละเอียดรอบคอบ ช่างสังเกต เพราะคุณสมบัตินี้จะทำให้นักภายภาพบำบัดสามารถวินิจฉัยอาการได้อย่างรอบคอบแม่นยำ 
  • ทักษะความชำนาญในการใช้มือทั้งสองข้างได้ดีในการบำบัดรักษด้านกายภาพ เพราะการรักษาเบื้องต้นคือการกด บีบ นวด เพื่อ ความรู้เกี่ยวกับร่างกายมนุษย์
  • ทักษะด้านการพูดคุยสื่อสาร วิเคราะห์ จับประเด็น จิตวิทยา การรับมือกับผู้คน
  • ทักษะการแก้ไขปัญหา รู้จักยืดหยุ่น พลิกแพลง วิธีการทำการรักษา เพื่อให้เหมาะสมกับคนไข้ในแต่ละครั้ง 
  • ทักษะการจัดการเวลา เพราะในแต่ละวัน นักกายภาพบำบัดต้องเจอกับคนไข้หลายราย ที่มีอาการต่างกัน และอาจต้องใช้เวลานานในการทำการรักษา 

เรียน กายภาพบำบัด

การศึกษา

       เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่า จึงสมัครสอบเข้าศึกษาระดับอุดมศึกษา สถาบันในสังกัดทบวงมหาวิทยาลัยในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์บัณฑิต (กายภาพบำบัด) หลักสูตร 4 ปี สำเร็จการศึกษาได้รับวุฒิปริญญาตรี
ในกรณีที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยของเอกชนจะต้องสอบขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลป์ สาขากายภาพบำบัดก่อนจึงจะปฏิบัติงานได้

หลักสูตรที่เปิดสอน ได้แก่

  • คณะสหเวชศาสตร์ สาขาวิชากายภาพบำบัด
  • คณะเทคนิคการแพทย์ สาขาวิชากายภาพบำบัด
  • คณะกายภาพบำบัด สาขาวิชากายภาพบำบัด
  • คณะกายภาพบำบัด สาขาวิชากิจกรรมบำบัด
  • สำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ สาขาวิชากายภาพบำบัด
  • สำนักวิชาสหเวชศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์ หลักสูตรกายภาพบำบัด
  • คณะแพทยศาสตร์ สาขาวิชากายภาพบำบัด
  • คณะวิทยาศาสตร์สุขภาพ สาขาวิชากายภาพบำบัด

 

 

Hard Skill

  • หมั่นอ่านตำราและฝึกฝนทักษะกายภาพบำบัดและเครื่องมือที่ต้องใช้ให้คล่อง
  • ดูแลรักษาร่างกายให้แข็งแรง เพราะในการบำบัดรักษาคนไข้ต้องใช้ร่างกายของเราช่วยด้วยค่อนข้างมาก

Soft Skill 

  •  พัฒนาทักษะในการสื่อสาร ในการติดต่อพูดคุย วิเคราะห์จับประเด็น เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ในการรักษา รวมถึงต้องอธิบายชี้แจงแก่ผู้ป่วยและญาติ ๆ
  • ฝึกไหวพริบและทักษะการรับมือแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า จิตวิทยา การรับมือกับผู้คน

       “กายภาพบำบัดคือการรักษา บำบัด ส่งเสริม ฟื้นฟูโดยวิธีการรักษาทางกายภาพบำบัด สำหรับคนที่จะเป็นนักกายภาพบำบัดต้องมีใจรัก พื้นฐานจิตใจต้องเป็นคนที่ใจกว้างและยอมรับที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ผู้ที่เรียนจบในสาขานี้มีงานทำแน่นอน เพราะอาชีพนักกายภาพบำบัดกำลังขาดแคลน และเป็นที่ต้องการของสถานพยาบาล สถานบริการสุขภาพต่างๆ จำนวนมาก "


กภ.วราลักษณ์ เพ็งศรี นักกายภาพบำบัด

 

วิชาที่เรียน 

       ในระดับอุดมศึกษาต้องเริ่มเรียนวิชาพื้นฐานต่างๆ ตัวอย่างเบื้องต้น อาทิ 
  • Anatomy ศึกษากายวิภาคศาสตร์ ต้องผ่าอาจารย์ใหญ่เพื่อศึกษาการวางตัวของกล้ามเนื้อทั้งร่างกาย ตลอดจนจุดเกาะต้นและจุดเกาะปลาย หน้าที่ เส้นประสาทและเส้นเลือดที่มาเลี้ยง อย่างละเอียด เพื่อเป็นความรู้ในวิชาการเรียนระดับสูงและขึ้นคลินิกเพื่อรักษาคนไข้ต่อไป
  • Biomechanics ศึกษากลไกการทำงานทางชีวกลศาสตร์ของกระดูกและกล้ามเนื้อ นำวิชา anatomy มาประยุกต์ใช้ และต้องสามรถคลำกระดูกเพื่อระบุโครงสร้าง การวางตัวและความสัมพันธ์ของกล้ามเนื้อและ ligament ที่มาเกาะ และแนวการวางตัวของกล้ามเนื้อ เรียนรู้กลไกการทำงานของข้อต่อเมื่อเกิดการเคลื่อนไหวและศึกษาความสัมพันธ์ของกล้ามเนื้อ ตลอดจน ligament ที่ปกคลุมข้อต่อ
  • Range of motion ศึกษาวิธีการวัดช่วงมุมการเคลื่อนที่ของข้อต่อ  โดยใช้อุปกรณ์ เช่น Goniometer มาใช้ในการวัดช่วงมุมการเคลื่อนไหว
  • Muscle manual testing ศึกษาการตรวจประเมินกล้ามเนื้อแต่ละมัดและการออกแรงต้านกลุ่มกล้ามเนื้อที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวในท่าทางต่างๆ และมัดที่จำเพาะในการเคลื่อนไหวแต่ละท่าทาง สามารถตรวจประเมินบอกระดับกำลังกล้ามเนื้อออกมาได้ 
  • physiology pathophysiology เป็นการศึกษาภาวะที่ปกติและผิดปกติ รวมถึงกลไกการทำงานและการเกิดโรคต่างๆ 

เคล็ดลับการเรียน

       จัดสรรเวลาในการเรียน การอ่านหนังสือให้ดี และพักผ่อนให้เต็มที่ ดูแลร่างกายตัวเองให้แข็งแรง เพราะการบำบัดรักษาคนไข้นั้นต้องใช้ร่างกายของเราช่วยด้วย

ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย

       เมื่อศึกษาวิชาพื้นฐานทางกายภาพบำบัดแล้วต้องมีการขึ้นไปฝึกปฏิบัติงานทางคลินิคร่วมกับการเรียนบรรยาย ทั้งแผนกผู้ป่วยในของโรงพยาบาลหรือแผนกผู้ป่วยนอกของคลินิกกายภาพบำบัด สำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 2  3 และ 4 (แตกต่างกันในแต่ละสถาบัน)

  • ปีหนึ่ง จะศึกษาวิชาพื้นฐานทั่วไปทางวิทยาศาสตร์ เช่น ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ จิตวิทยาเบื้องต้น กายวิภาคศาสตร์เบื้องต้น
  • ปีสอง จะได้เรียนเกี่ยวกับพื้นฐานของร่างกาย สรีระ การเคลื่อนไหว การทำงานของกล้ามเนื้อต่าง ๆ ในร่างกาย ได้ผ่าอาจารย์ใหญ่เพื่อศึกษา
  • ปีสาม จะเป็นการเรียนร่วมกับการขึ้นคลินิก ต้องเขียนรายงานเคสผู้ป่วยที่ได้จากการซักประวัติและตรวจร่างกาย รวมถึงการรักษาผู้ป่วย เพื่อวิเคราะห์สาเหตุและวางแผนการรักษาผู้ป่วย รายงานอาจารย์และมีการนำเสนอเคส ซึ่งวันที่ขึ้นคลินิกนักศึกษาจะเปลี่ยนจากการใส่ชุดนักศึกษาเป็นชุดกาวน์สีขาว ซึ่งเป็นยูนิฟอร์มที่แตกต่างกันในแต่ละสถาบัน และแบ่งกลุ่มย่อยๆวนขึ้นแต่ละ ward บนหอผู้ป่วยใน (ทรวงอกและหัวใจ-ออโถ-เด็ก–neuro) จนจบภาคการศึกษานั้น ๆ
  • ช่วงปิดเทอมซัมเมอร์ (หลังจากจบปี 3 เทอม 2) นักศึกษาจะถูกส่งตัวไปปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลต่าง ๆ ทั้งโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลชุมชน  ภายใต้การควบคุมดูแลของอาจารย์พี่เลี้ยงในโรงบาลนั้น ๆ
  • ปีสี่ จะมีการเรียนคล้ายๆปี 3 ต้องออกไปฝึกปฏิบัติงานในโรงพยาบาลอื่น แตกต่างกันไป และต้องมีการสอบความรู้ทางคลินิกที่ได้เรียนรู้ตั้งแต่ปี 1-4 เรียกว่า การสอบ OSCE นอกจากนี้ยังต้องทำงานวิจัยศึกษาเรื่องที่สนใจในสาขาต่าง ๆ
  • เมื่อจบการศึกษา ต้องสอบใบประกอบวิชาชีพกับทางสภากายภาพบำบัดแห่งประเทศไทย หากสอบไม่ผ่านจะไม่ได้รับใบประกอบวิชาชีพกายภาพบำบัด และไม่สามารถทำงานในการรักษาผู้ป่วยได้ และต้องมีการต่อใบประกอบวิชาชีพทุก ๆ 5 ปี

ค่าเทอมตลอดหลักสูตร

       ค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตร ประมาณ 120,000 บาท – 250,000 บาท (ประมาณ 15, 000 บาท– 30,000 บาท/เทอม) ทั้งนี้ขึ้นอยู่แต่ละสถาบันการศึกษา

 

อาชีพใกล้เคียง หรือมีลักษณะงานและการใช้ทักษะที่ใกล้เคียงกัน ได้แก่

  • นักกิจกรรมบำบัด
  • นักอาชีวบำบัด
  • หมอนวดผ่อนคลายหรือบำบัดอาการ

Copyright © 2019 TruePlookpanya. All rights reserved.
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ห้ามมิให้ผู้ใดคัดลอก ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข หรือเผยแพร่ส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ก่อนได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร