ทุกธุรกิจย่อมต้องเกี่ยวข้องกับการเงิน เมื่อมีเรื่องของเงินก็ต้องมีฝ่ายบัญชีคอยดูแลจัดการ ให้การใช้จ่ายเป็นไปตามนโยบายของบริษัทนั้น ๆ แต่รายงานจากฝ่ายบัญชีในบริษัทอาจมีความเสี่ยงที่ข้อมูลบางอย่างจะตกหล่น คลาดเคลื่อน ดังนั้นต้องมีการจัดหาผู้ตรวจสอบบัญชี ซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพภายใต้การกำกับดูแลของสภาวิชาชีพบัญชี เพื่อทำการตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง ความครบถ้วนของตัวเลขในบัญชี เอกสารทางการเงินต่าง ๆ ที่ถูกบันทึกไว้
การตรวจสอบบัญชีเปรียบได้กับการตรวจร่ายกายอย่างละเอียดโดยหมอ ซึ่งมีประโยชน์มากต่อธุรกิจ ทำให้ทราบถึงผลการดำเนินงานในแต่ละรอบบัญชี ช่วยประเมินฐานะทางการเงิน ประเมินความเสี่ยง ตรวจหาข้อผิดพลาด การทุจริต มีผลต่อการบริหารและใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ในอนาคต มีประโยชน์ต่อผู้ร่วมลงทุนในการพิจารณาผลประกอบการ สร้างความน่าเชื่อถือต่อธนาคาร ดังนั้น อีกทั้งผู้สอบบัญชีบางคน ก็สามารถแนะนำจุดอ่อน รวมถึงแนวทางแก้ไขให้กับเจ้าของธุรกิจได้ด้วย อาชีพผู้สอบบัญชีจึงมีความสำคัญอย่างสูงต่อธุรกิจกิจการต่าง ๆ
ลักษณะงาน
ตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของบัญชี ตรวจสอบเอกสารทางการเงิน การโอนรายการต่าง ๆ หลักทรัพย์ที่ซื้อขาย รายการบัญชีรายวัน บัญชีแยกประเภท ใบเสร็จ รายการสิ่งของ ยอดเงิน ต้นทุน สินทรัพย์ หนี้สิน กำไร ค่าเสื่อม และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ในความจริงงานตรวจสอบบัญชีไม่ใช่งานที่มีเพียงตัวเลขเท่านั้น เพราะผู้ที่ได้รับมอบหมายจะต้องเข้าไปทำความรู้จัก ทำความเข้าใจในธุรกิจนั้น ๆ โดยละเอียดทุกระบบที่เกี่ยวข้อง ยกตัวอย่าง ไปตรวจสอบบริษัทประกอบรถยนต์ ก็ต้องรู้ว่าแต่ละชิ้นส่วนมาจากไหน ส่งต่อไปหน่วยไหน มีอะไรเกี่ยวข้องบ้าง จนครบถ้วนกระบวนความทั้งระบบของธุรกิจนั้น เพื่อจะได้นำข้อมูลทุกอย่างมาพิจารณา หาข้อผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้น เรียกได้ว่าเป็นอาชีพที่ไม่น่าเบื่อเลย ที่ได้เจอธุรกิจใหม่ ๆ เสมอ แถมแต่ละธุรกิจก็ได้เข้าไปสัมผัสอย่างลึกซึ้ง ทำให้ได้รับประสบการณ์ที่หาไม่ได้จากอาชีพอื่น
ขั้นตอนการทำงาน
- รับมอบหมายงานจากผู้จัดการ
- ศึกษาทำความเข้าใจธุรกิจของลูกค้า
- วางแผนการตรวจสอบ ว่าสถานที่ไหน กับใครบ้าง มีรายละเอียดอะไรที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ
- ติดตามข้อมูลเอกสาร ที่จำเป็นในการทำบัญชีจากหน่วยงานต่าง ๆ ในบริษัท
- นำข้อมูลมาวิเคราะห์ ตรวจสอบโดยละเอียด
- ตรวจทานความถูกต้องของข้อมูล
- ออกรายงานของผู้ตรวจสอบบัญชีรับอนุญาต
สถานที่ทำงาน
- สำนักงาน ที่ทำงานของผู้ตรวจสอบบัญชีเอง จัดเก็บเอกสารต่าง ๆ ประชุมงาน วางแผนงาน สรุปข้อมูล และอื่น ๆ
- บริษัทของลูกค้า ผู้สอบบัญชีจะได้เข้าไปทำความรู้จักกับบริษัทของลูกค้าอย่างละเอียด ซึ่งมีความหลากหลายตามแต่รูปแบบธุรกิจของลูกค้า
ผู้ที่ต้องทำงานด้วย
- ลูกค้า ลูกค้าที่ต้องพบเจอมีหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะแนวธุรกิจ อุตสาหกรรมแฟชั่น บันเทิง ธนาคาร ประกัน โรงแรม มาหมดแน่นอน ซึ่งคนที่เราจะต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวมากที่สุดคือบัญชีของบริษัทนั้นๆ ต้องขอเอกสาร ต้องถามข้อมูลตลอด
- เพื่อนร่วมงานในบริษัท ประกอบไปด้วยหัวหน้างาน และคนดูแลโปรเจคงาน
- ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง แต่ละธุรกิจจะใช้ความรู้ไม่เหมือนกัน หลายครั้งที่ต้องเข้าไปพูดคุยกับคนทำงานเพื่อถามข้อมูลเชิงลึกนำมาประกอบการพิจารณางบบัญชีเพื่อความถูกต้องโปร่งใสที่สุด
ทางเลือกอาชีพ
ความรู้ด้านการเงินสามารถใช้ประกอบอาชีพได้หลากหลายนอกเหนือจากงานตรวจสอบบัญชี อาทิ
- พนักงานบัญชี
- เจ้าหน้าที่งบประมาณ
- พนักงานธนาคาร
- งานประกันภัย
- นักบัญชีต้นทุน
- ที่ปรึกษาทางการเงิน
- ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษี
เริ่มจากการเป็นผู้ช่วยผู้ตรวจสอบบัญชี โดยต้องยื่นคำข้อแจ้งการฝึกหัดงานต่อสำนักงาน ก.บช. ในทันทีที่เริ่มฝึกหัดงานเพื่อนับระยะเวลาและจำนวนชั่วโมง ฝึกหัดงานสะสบประสบการณ์จบครบ จากนั้นไปยื่นสอบเป็นผู้ตรวจสอบบัญชี หรือ CPA (Certified Public Accountant) เมื่อผ่านทั้งการฝึกหัดงานครบตามเงื่อนไข และผ่านการสอบตามกำหนดสภาวิชาชีพบัญชี ก็สามารถยื่นคำขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตต่อสำนักงาน ก.บช. เพื่อออกใบอนุญาต
ในแง่ของลำดับทางสายอาชีพ เริ่มต้นจากระดับปฏิบัติการทั่วไป และขึ้นไปในลำดับอาวุโสไป จากนั้นจะขยับเป็นผู้ช่วยผู้จัดการและเป็นผู้จัดการตามลำดับ
- มีความต้องการในตลาดอยู่เสมอ
- มีการเติบโตในหน้าที่การงานสูงและเร็ว
- ผลตอบแทนดี
- ได้ทำความรู้จักธุรกิจหลากหลายรูปแบบ รู้จักคนในระดับสูงของธุรกิจนั้น ๆ
- ต้องมีความละเอียดรอบคอบอย่างที่สุด ไม่ควรเกิดความผิดพลาดในรายงานบัญชี
- ช่างสังเกต แต่ละบริษัทจะมีรายละเอียดการทำงานที่ต่างกันมาก ผู้ประกอบการเองมีความเคยชินกับธุรกิจของตัวเองอยู่แล้ว อาจจะข้ามหรือตกหล่นรายละเอียดบางอย่างไป ผู้สอบบัญชีในฐานะสายตาของคนนอกจึงต้องช่างสังเกต สอบถามข้อมูลเพื่อความถูกต้องเสมอ
- มีสมาธิ มีวินัย อดทน สามารถจดจ่ออยู่กับงานที่ต้องมีรายละเอียดมากได้เป็นเวลานานอย่างต่อเนื่อง ต้องใช้ความคิดตลอดเวลา
- มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี เพราะผู้สอบบัญชีจะต้องเข้าไปคลุกคลีกับธุรกิจนั้น ๆ การมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี การวางตัวดี จะช่วยให้ได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการและผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างดี
- ละเอียดรอบคอบ งานเกี่ยวกับตัวเลขเป็นงานที่ต้องใช้ความละเอียดรอบคอบอย่างมาก หากมีความผิดพลาดเกิดขึ้นอาจนำมาซึ่งความเสียหายทั้งต่อลูกค้าและผู้ตรวจสอบ ไม่ควรมองข้ามอะไรไปอย่างเด็ดขาด ซึ่งกว่าจะสิ้นสุดแต่ละงานต้องตรวจทานหลายรอบเพื่อความแน่ใจ เพราะความถูกต้องคือหัวใจสำคัญ
- มีความรับผิดชอบ มีมาตรฐานในการปฏิบัติงาน ทำงานอย่างถูกต้องตามขั้นตอน ตามหลักการ และรับผิดชอบต่องาน ต่อวิชาชีพของตนเอง
- มีความเที่ยงธรรม ซื่อสัตย์สุจริต เรื่องของการเงินเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของหลายฝ่าย ผู้สอบบัญชีต้องมีความซื่อสัตย์ เที่ยงตรง นำเสนอข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาไม่ลำเอียง ไม่ปกปิดหรือบิดเบือน ไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลใด ๆ ที่อาจมีส่วนได้ส่วนเสีย อีกอย่างที่สำคัญคือ ความลับทางธุรกิจของลูกค้า เพราะผู้สอบบัญชีจำเป็นจะต้องรู้ข้อมูลทุกอย่างของบริษัท แม้แต่ความลับบางอย่าง ถ้าจำเป็นต่อการทำบัญชี ก็ต้องเปิดเผยต่อผู้สอบบัญชี ดังนั้น ผู้สอบบัญชีต้องมีความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ ไม่แสวงหาผลประโยชน์จากความลับของธุรกิจนั้น ๆ
- ทักษะทางวิชาชีพการบัญชี เป็นสิ่งพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของวิชาชีพ เพราะงานบัญชีมีรายละเอียดที่ซับซ้อน จึงจำเป็นต้องมีความรู้ในด้านบัญชีจะต้องถูกต้อง แม่นยำ ทั้งเชิงลึกและภาพกว้าง เพื่อการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพถูกต้องชัดเจน
- ทักษะทางคณิตศาสตร์ เป็นหนึ่งในพื้นฐานของคนในสายวิชาชีพที่สนใจและตั้งใจอยากทำงานสายบัญชี
- ทักษะการจัดการเวลาและวางแผน งานที่มีรายละเอียดข้อมูลจำนวนมาก ต้องอาศัยการวางแผนที่ดีในการทำงาน เพื่อให้เกิดความถูกต้อง เป็นไปตามขั้นตอน มีความรัดกุมในการทำงาน และยังตรงตามเวลาที่กำหนด
- ทักษะการสื่อสาร มีความสำคัญต่อการทำงานไม่น้อย เพราะหลายบริษัทมีการติดต่อร่วมงานกับกลุ่มคนหลากหลายอาจทั้งในไทยและต่างประเทศ
- ทักษะการใช้โปรแกรมเฉพาะทาง เครื่องมือที่จะช่วยให้งานบัญชีถูกบันทึกอย่างเป็นระบบระเบียบ สามารถนำมาวิเคราะห์ ตรวจสอบ และใช้งานได้อย่างสะดวกรวดเร็ว
การศึกษา
สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่ามัธยมศึกษาตอนปลายหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการหรือมีความรู้ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเทียบเท่า (เงื่อนไขการรับขึ้นอยู่กับแต่ละมหาวิทยาลัย) จากนั้นจึงเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรบัญชีบัณฑิต เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วมีประสบการณ์ด้านงานบัญชี สามารถฝึกหัดงานสอบบัญชีเพื่อสอบและขอได้รับอนุญาตจากสภาวิชาชีพ
ตัวอย่างสถาบันที่เปิดสอน
- จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี
- มหาวิทยาลัยกรุงเทพสุวรรณภูมิ
- มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์
- มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- มหาวิทยาลัยเจ้าพระยา
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ
- มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
- มหาวิทยาลัยการจัดการและเทคโนโลยีอีสเทิร์น
- มหาวิทยาลัยเกริก
- มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต
- มหาวิทยาลัยคริสเตียน
เป็นต้น
็Hard Skills
- แม่นยำหลักการทำบัญชี
- ติดตามและหาความรู้ความเข้าใจด้านการเงินอยู่เสมอ
- เรียนรู้การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่องานบัญชี
- จัดทำเอกสารต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง
- ศึกษาข้อมูลธุรกิจหลากหลายประเภท
Soft Skill
- ช่างสังเกตสิ่งรอบตัว รายละเอียดของธุรกิจต่าง
- ฝึกวินัย อดทน มีสมาธิในการทำงาน
- มีความเที่ยงธรรม ซื้อสัตย์สุจริต
กิจกรรมต่างๆ
- อ่านหนังสือเกี่ยวกับการเงิน
- อบรม เพิ่มเติมความรู้ด้านต่าง ๆ
- ลองทำความเข้าใจ ลองฝึกเป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้คนใกล้ตัว
"คิดว่ามันเป็นอาชีพที่มั่นคง สร้างรายได้อย่างยั่งยืน เพราะไม่ว่าบริษัทจะขาดทุนหรือกำไร ยังไงเราก็ต้องทำบัญชีอยู่ดี ขอให้ขยันอ่านหนังสือ เรียนรู้เรื่องต่าง ๆ ให้คล่อง"
ธวัลฉัตร สุขสำราญ พนักงานฝึกหัดผู้ช่วยผู้สอบบัญชี
"หลายคนชอบพูดว่าคนที่จะเรียนบัญชีต้องเก่งคณิตศาสตร์ จริง ๆ แล้วคณิตศาสตร์ที่นักบัญชีใช้ก็แค่ บวก ลบ คูณ หาร ความรู้ระดับสูงไม่มีความจำเป็น แต่ลักษณะของคนที่เหมาะจะเรียนบัญชีคือเป็นคนที่รู้สึกสบายใจที่จะต้องทำงานกับตัวเลข แล้วก็เป็นคนที่สามารถวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ เป็นเหตุเป็นผล"
รองศาสตราจารย์ ดร.สมชาย สุภัทรกุล
รองคณะบดีฝ่ายวิชาการ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
( ที่มา : ข้อความส่วนหนึ่งจากรายการ I AM ช่องทรูปลูกปัญญา )
ิวิชาที่เรียน
เมื่อมองการเรียนภาพรวมจะแบ่งเป็นการเรียนทฤษฏี การฝึกปฎิบัติและการสัมมนา ครอบคลุมเนื้อหาด้านเศรษฐศาสตร์ การเงิน การตลาด สถิติ ธุรกิจ การลงทุน กฎหมาย ภาษี การสื่อสาร การบัญชีตรวจสอบบัญชี การบริหารต้นทุน การใช้โปรแกรม ระบบสารสนเทศ
- ปี 1 เป็นการศึกษาปูพื้นทั่วไป เรียนการบัญชีขั้นต้น ภาษีอากร
- ปี 2 เรียนการบัญชีขั้นกลาง ภาษีอากรขั้นสูง การสอบบัญชี
- ปี 3 – ปี 4 เรียนการบัญชีขั้นสูง และรายวิชาที่เป็นการประยุกต์กับงานบัญชี การสัมมนา การฝึกงาน บางมหาวิทยาลัยเน้นวิชาภาษาอังกฤษทุกชั้นปีตั้งแต่พื้นฐานไปจนถึงการตีความ การใช้งาน บางมหาวิทยาลัยเพิ่มเติมกลยุทธ์ทางธุรกิจ การบริหารความเสี่ยง การเจรจาต่อรองทางธุรกิจ แตกต่างกันไปแต่ละมหาวิทยาลัย
หลายวิชาไม่ได้เรียนแค่ตัวเลขในห้องเท่านั้น แต่มีการลงพื้นที่ชุมชน ไปบริษัท เรียนรู้กระบวนการธุรกิจ ฝึกใช้หลักคิดที่ได้เรียนมาในสถานการณ์จริง
เคล็ดลับการเรียน
นอกเหนือจากความรู้ด้านบัญชี ไอที การเงินแล้ว ยังต้องมีความสามารถในการสื่อสาร การนำเสนอ เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องพัฒนาระหว่างเรียน
สิ่งที่ควรพัฒนา ฝึกฝนระหว่างเรียนคือทักษะในการคิด วิเคราะห์ การไขแก้ปัญหา ซึ่งเป็นความสามารถที่เทคโนโลยียังไม่สามารถทดแทนได้อย่างดีกว่า และเรื่องของภาษา จะทำให้สามารถก้าวไปได้ไกลในสายงาน ลองปรึกษาอาจารย์เรื่องการเข้าโครงการฝึกงานแบบทั้งปี จะทำให้ได้รับประสบการณ์จากการทำงานจริงมากกว่าฝึกแบบหนึ่งเทอม และมีโอกาสสูงในการได้งานทำต่อทันทีหลังเรียนจบ
ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย
ปีแรกที่ได้เจอวิชาพื้นฐานและบัญชีขั้นต้น การเรียนจะยังไม่หนักมาก แต่ก็สำคัญที่สุด เพราะขึ้นชื่อว่าพื้นฐานแล้ว เป็นสิ่งที่จะต้องรู้ให้แม่นยำ มีความรู้แน่น และยังพอมีเวลาให้เพิ่มทักษะด้านภาษาให้เก่งยิ่งขึ้น
ปี 2 – 4 การเรียนจะเริ่มหนักขึ้นตามลำดับ พร้อมกับค่าชีทที่มีเยอะมาก อีกอย่างคือจะเจอทางเลือกสำคัญอย่างหนึ่งคือการฝึกงาน ว่าจะเลือกแบบฝึกงานหนึ่งเทอม หรือเข้าโครงการฝึกงานแบบทั้งปี แล้วแต่เงื่อนไขของแต่ละมหาวิทยาลัย
สังคมบัญชีค่อนข้างเป็นคณะใหญ่ มีคนหลากหลายที่เข้ามาจากต่างที่ แต่ก็สนิทกันได้อย่างรวดเร็ว ตลกเฮฮา ช่วยกันเรียน ช่วยกันติว มีกิจกรรม มีชมรม ซึ่งนอกเหนือจากการทำงานกลุ่มกับเพื่อน หากมีโอกาสร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ในคณะและมหาวิทยาลัยจะช่วยส่งเสริมทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น การพัฒนาบุคลิกภาพได้
ค่าเทอมตลอดหลักสูตร
ตัวอย่างค่าเทอมของทั้งมหาวิทยาลัยรัฐบาลและเอกชน เช่น
- จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 39,250 ต่อปี / 167,750 ต่อปี (นานาชาติ)
- มหาวิทยาลัยกรุงเทพ 80,580 ต่อปี
มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก
- Stanford University
- University of Chicago
- The Hong Kong University of Science and Technology
- Stanford University
- University of Chicago
- Massachusetts Institute of Technology
- Duke University
- Harvard University
- London School of Economics and Political Science
- University of Pennsylvania
- พนักงานบัญชี
- เจ้าหน้าที่งบประมาณ
- พนักงานธนาคาร
- งานประกันภัย
- นักบัญชีต้นทุน
- ที่ปรึกษาทางการเงิน
- ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษี
Copyright © 2019 TruePlookpanya. All rights reserved.
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ห้ามมิให้ผู้ใดคัดลอก ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข หรือเผยแพร่ส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ก่อนได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร