Facilitator หรือที่รู้จักในชื่อ กระบวนกร ถูกจำกัดความว่าคือ “วิทยากรกระบวนการ” ซึ่งกระบวนกร จะทำหน้าที่เป็นผู้จัด อำนวยความสะดวก สนับสนุน สร้างพื้นที่ปลอดภัย สร้างสิ่งแวดล้อมในการเรียนรู้ให้ผู้เรียน ซึ่งคำว่าสิ่งแวดล้อมประกอบไปด้วยตัวกระบวนกร ตัวผู้เรียน และกิจกรรมที่ดำเนินไปโดยเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง และกระบวนกรก็มีบทบาทที่มีความเข้มข้นหลายระดับในแต่ละกิจกรรม
เราจะพบกระบวนกรได้จากกิจกรรมประเภทพัฒนาบุคลากรกระบวนกรจะเน้นลงไปที่ตัวผู้เรียน ใช้การสื่อสารสองทาง ให้ผู้เรียนเข้าใจ และพัฒนาศักยภาพของตนเองพร้อมทั้งแสดงออกอย่างเต็มที่ เรียกได้ว่าพัฒนาคุณลักษณะควบคู่ไปกับการพัฒนาความรู้ สิ่งที่ผู้เรียนจะได้รับ ไม่ใช่การรับความรู้ แต่คือการเรียนรู้ที่เกิดจากภายในของตัวเอง นี่คือสิ่งที่ทำให้กระบวนกรต่างจากวิทยากรและโค้ช เรียกว่าเป็นผู้สร้างประสบการณ์ในการเรียนรู้ กระบวนกรเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และมีหลักสูตรและสถาบันมากมาย รวมถึงมีสมาคมอย่างInternational Association of Facilitators
ลักษณะงาน
ความเข้มข้นของบทบาทหน้าที่ของกระบวนกรมีตั้งแต่ ประสานงาน ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมด้วยกันมากที่สุดเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา และดึงศักยภาพของผู้เข้าร่วมผ่านคำถามปลายเปิด คำถามแตกองค์ประกอบ คำถามสร้างความตระหนักรู้ ให้เห็นถึงปัญหา สาเหตุ เป้าหมาย และทางออกร่วมกัน นอกจากนั้นยังต้องสังเกตการณ์ รับรู้ถึงพฤติกรรมความรู้สึกและวิธีคิดของผู้เข้าร่วม เพื่อปรับกระบวนการให้เหมาะสมอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งสร้างบรรยากาศ ให้กลุ่มผ่อนคลาย เป็นกันเองและสร้างความไว้วางใจเพื่อให้เกิดการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ กระบวนกรขึงเปรียบเป็นผู้ช่วยการสื่อสาร ให้ผู้เข้าร่วมเต็มใจที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลประสบการณ์ ความรู้ต่างๆ อย่างเต็มที่ และเปิดกว้างที่จะรับฟังผู้อื่นอย่างใคร่ครวญ
ขั้นตอนการทำงาน
ก่อนวันงาน
- ประสานงานกับผู้จัดประชุม รวบรวมข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญ คือ วัตถุประสงค์, เป้าหมาย, กลุ่มผู้เข้าร่วม (จำนวน เพศ ระดับการศึกษา ความสนใจพิเศษ บทบาทหน้าที่ในงาน), กระบวนการที่ผู้จัดคาดหวัง, เวลาที่ใช้, ผลลัพธ์ที่ต้องการ
- ประสานงานเกี่ยวกับการออกแบบเวทีเรียนรู้, วัสดุ อุปกรณ์ที่ใช้ เครื่องเขียน เครื่องฉาย เครื่องเสียง ไปต่าง ๆ เพื่อสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อกระบวนการเรียนรู้
- ประชุมงานเพื่อออกแบบกระบวนการเรียนรู้ร่วมกับทีมงาน
- ทบทวนบทบาทหน้าที่ เป้าหมาย ลำดับขั้นตอนและการเตรียมตัวล่วงหน้ากับผู้จัด
- ทดสอบ เตรียมความพร้อม สิ่งอำนวยความสะดวก ณ สถานที่จัดงาน
วันงาน
- เปิดตัว เริ่มกระบวนการละลายพฤติกรรม สร้างบรรยากาศที่เป็นกันเอง กระตุ้นให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีระหว่างผู้เข้าร่วมกิจกรรม
- ยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนประบวนการที่ใช้อย่างเหมาะสม บางอย่างต้องต่อเนื่อง บางอย่างต้องจบกระบวนการ
- ทำหน้าที่สะท้อนบทเรียนและผลลัพธ์ของการเรียนรู้ อธิบายแนวคิดให้เห็นภาพรวม
- สร้างพันธะสัญญาในรูปแบบต่าง ๆ ผ่านกระบวนการปิดของเวทีเรียนรู้, ตั้งเป้าหมาย, หาโอกาสในการแลกเปลี่ยนในโอกาสต่อไป เพื่อความต่อเนื่องในการพัฒนา
- สรุป และสังเคราะห์ผล ประเมินผล
สถานที่ทำงาน
- ห้องประชุม ห้องจัดอบรมต่าง ๆ หากเป็นกิจกรรมการเรียนรู้ มักเกิดขึ้นในห้องประชุม ห้องอบรม ตามที่ผู้จัดเตรียมไว้ให้ หรือที่กระบวนกรจัดกิจกรรมขึ้นมาเอง เพื่อประโยชน์และความสะดวกในการดำเนินกิจกรรม และเพื่อให้เกิดสมาธิ ป้องกันสิ่งรบกวนที่อาจะทำให้การเรียนรู้เกิดขึ้นได้อย่างไม่เต็มที่
- กิจกรรมนอกสถานที่ กิจกรรมการเรียนรู้ที่สร้างสรรค์ก็ถูกออกแบบขึ้นตามสถานที่ต่าง ๆ โดยไม่จำกัดรูปแบบ ขนาด สิ่งแวดล้อม บางครั้งอาจเป็นสวนสาธารณะ หรือลานกีฬาชุมชน เป็นต้น
ผู้ที่ต้องทำงานด้วย
- ผู้จัดงาน ผู้ที่จะประสานงาน กำหนดเป้าหมาย เตรียมการต่าง ๆ
- ทีมงาน ทั้งทีมงานเราที่เตรียมวัสดุ อุปกรณ์ เตรียมเนื้อหา และทีมงานของผู้จัดงาน ที่เตรียมสถานที่ เครื่องฉาย เครื่องเสียงต่าง ๆ
- ผู้ร่วมกิจกรรม ไม่เพียงแค่ผู้ร่วมกิจกรรมเท่านั้น ที่จะได้พัฒนา เรียนรู้เพิ่มขึ้น กระบวนกรเองก็ได้รับอะไรหลาย ๆ อย่างจากผู้ร่วมกิจกรรมเช่นกัน
ทางเลือกอาชีพ
ทักษะกระบวนกรสามารถนำไปประกอบอาชีพได้หลากหลาย ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาไปถึงระดับสังคม เช่น
- นักพัฒนาชุมชนและสังคม
- ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
- ผู้บริหารองค์กรพัฒนาในชุมชน
- ผู้นำชุมชนและผู้บริหารงานอาสาสมัครของชุมชนและสังคม
- นักธุรกิจเพื่อสังคม
- นักจัดการสุขภาพแบบองค์รวม
- นักการละครเพื่อการประกอบการสังคม
- นักจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง
- ผู้ประกอบการสังคมด้านการเกษตร
นอกจากนี้ ยังสามารถศึกษาต่อจนมีความรู้ความสามารถในเรื่องของการศึกษา โดยสามารถเป็นผู้จัดการเรียนการสอน นักวิชาการ วิทยากรกระบวนการ นักวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ด้านการจัดการเรียนการสอน การพัฒนาหลักสูตร การบริหารการศึกษา ผู้นิเทศการศึกษาทั้งในระบบนอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
คนที่ใช้ทักษะกระบวนกรทำงานเป็นอาชีพมีจำนวนไม่น้อยในไทย ที่จัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาบุคลากรให้กับหน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ อีกส่วนหนึ่งจะเป็นบุคคลในสาขาอาชีพอันหลากหลายทั้งครู นักบริหาร แพทย์ มาศึกษาวิถีกระบวนกรเพื่อไปพัฒนางานในวิชาชีพตนเองเพิ่มเติม และสามารถเป็นผู้จัดการเกี่ยวกับการศึกษาได้
- ได้ช่วยดึงศักยภาพ เปลี่ยนแปลง พัฒนาคน ช่วยคนจากภายใน
- ได้ร่วมงานและรู้จักผู้คนมากมายหลากหลายอาชีพและสังคม
- เจอโจทย์ใหม่ ผู้คนหลากหลายรูปแบบ มีความท้าทายอยู่เสมอ
- หากทำได้ดีจนเป็นผู้เชี่ยวชาญ จะเป็นที่ยอมรับและมีงานเข้ามามากมาย
- หลายองค์กรยังไม่คุ้นชินและเห็นความสำคัญของกระบวนกร
- ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมากในการให้คำแนะนำในบางเรื่อง เพราะเป็นการชี้แนะผ่านความคิดของเรา ต้องคำนึงถึงองค์ประกอบหลาย ๆ ด้าน
- คนที่ไม่เชื่อมักจะต่อต้านและอาจทำให้บรรยากาศของการเรียนรู้เสียได้ ต้องรู้จักการจัดการที่ดี
- มีวิธีคิดแบบองค์รวม เชื่อมโยงความคิดอย่างเป็นระบบ สร้างสรรค์ไม่ติดกรอบ รวมทั้งมีความคิดเชิงสังเคราะห์ วิเคราะห์ และความคิดเชิงออกแบบ
- พร้อมเรียนรู้ การเป็นกระบวนกรต้องหมั่นเรียนรู้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นจากผู้อื่น และจากผู้เข้าร่วมกระบวนการ ก็ให้มุมมอง ประสบการณ์กับกระบวนกรได้
- รักผู้อื่น มีความสุขเมื่อเห็นการเติบโต เห็นการยกระดับความคิด จิตวิญญาณ
- มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี เนื่องจากงานออกแบบไม่สามารถสำเร็จได้ด้วยตัวคนเดียว จึงต้องมีการทำงานร่วมกันกับคนอื่นอย่างราบรื่น ตั้งแต่เพื่อนร่วมทีม หัวหน้า ลูกค้า supplier ต่างๆ เพื่อนร่วมอาชีพ ล้วนแต่มีความสำคัญเกี่ยวข้องกัน
- มีวินัย อดทน โลกของธุรกิจ เวลาทุกวินาทีล้วนมีราคา จึงต้องรู้จักการบริหารจัดการเวลา และทำงานอย่างมีวินัย อีกทั้งนักออกแบบมักจะเจอความจุกจิกจากลูกค้า แรงกดดันจากหัวหน้า และสิ่งต่าง ๆ ให้รู้จักความอดทน
- มีความเข้าใจคนอื่น เพราะงานออกแบบที่ดี จะต้องตอบโจทย์ตามความต้องการของลูกค้า เพื่อจะสามารถสื่อสารทิศทางเดียวกัน จึงต้องเข้าใจการรับรู้ของคน
- ละเอียดรอบคอบ หลายกรณีศึกษาชี้ให้เห็นว่า เมื่องานออกสู่สายตาคนแล้ว บางครั้งทำหน้าที่สื่อสารผิดพลาด ทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน และส่งผลกระทบที่ไม่ดีต่อหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ความละเอียดรอบคอบจึงมีความจำเป็นอย่างมาก ต้องคิดให้รอบด้านทุกรายละเอียด
- มีความรับผิดชอบ นักออกแบบที่ดีจะสร้างสรรค์ผลงานที่รับผิดชอบทั้งต่อตัวเอง ต่องาน ต่อบุคคล และต่อสังคม
- กล้าที่จะลอง เทคโนโลยีมีพัฒนาอย่างรวดเร็ว มีเครื่องมือใหม่ ๆ ตลอดเวลา ต้องกล้าที่จะลองใช้ ผสมผสานกับของเดิม เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่แตกต่างและน่าสนใจ
- ทักษะการคิดวิเคราะห์ แก้ไขปัญหา เพราะมนุษย์ทุกคนมีความพิเศษเฉพาะตัว จึงต้องรู้จักสังเกต แยกแยะและรู้วิธีเข้าถึงจิตใจของแต่ละคน
- ทักษะการสื่อสาร สิ่งที่กระบวนกรขาดไม่ได้คือการสื่อสารที่ดี ไม่ว่าจะด้วยภาษาพูด ภาษากาย การสื่อสารด้วยสื่อ และการจัดสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม
- ทักษะการประยุกต์ใช้ สื่อต่าง ๆ ในปัจจุบันมีความหลากหลาย จำเป็นต้องรู้จักใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เหมาะสมกับสถานการณ์ต่าง ๆ
- การแก้ปัญหาตัดสินใจ เกือบทุกงานมักจะเจอปัญหาระหว่างทางมากบ้างน้อยบ้าง การรู้จักตัดสินใจ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างราบรื่น
การศึกษา
- เสมสิกขาลัย (SEM – Spirit in Education Movement) เปิดหลักสูตรสำหรับผู้ที่สนใจเป็นวิทยากร ปีละครั้ง โดยเปิดช่วงประมาณเดือนมิถุนายน
- สถาบันอาศรมศิลป์ มีหลักสูตรทั้งปริญญาตรีและโท
- ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล มีหลักสูตรปริญญาโทเกี่ยวกับการเรียนรู้ของมนุษย์
นอกจากนี้ ยังมีหลักสูตรและคอร์สอีกมากมายเพื่อพัฒนาทักษะการเป็นกระบวนกรสำหรับผู้ที่สนใจและอยากศึกษาเพิ่มเติม ซึ่งจัดโดยกระบวนกรมืออาชีพ
เริ่มจากการเข้าใจในวิถีกระบวนกร ที่เชื่อในความพิเศษของมนุษย์ทุกคน เข้าใจหน้าที่ของกระบวนกรในการจัดบรรยากาศ การโยนตัวกวนอันจะปลุกความพิเศษในตัวคนให้ตื่นขึ้น ศึกษาทำความเข้าใจจิตใจมนุษย์ ฝึกการปรับตัวให้ไม่ติดรูปแบบ อยู่ได้ในทุกสถานการณ์ ฝึกฝนการเชื่อมโยงความรู้ต่าง ๆ ทั้งด้านกายภาพ จิตใจ ด้านกระบวนทัศน์ใหม่ และหมั่นเรียนรู้จากการทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับผู้อื่น
Hard Skill
- รู้จักกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย
- ฝึกการสร้างบรรยากาศแบบต่าง ๆ
- เรียนรู้ ฝึกฝนตนเองในวิถีกระบวนกร
- ผสมผสานและใช้สื่อเทคโนโลยีต่าง ๆ เป็น
Soft Skill
- พัฒนาทักษะการสื่อสารทั้งวัจนภาษา และอวัจนภาษา
- สังเกต ทำความเข้าใจพฤติกรรมต่างๆ ของคน
- เป็นผู้ฟังที่ดี คิดตามอย่างเข้าใจ
- ทำงานเป็นทีมได้ดี
- ให้เกียรติความคิดของคนอื่น
- รู้จักการถามอย่างสร้างสรรค์ ใช้คำพูดเป็น
กิจกรรมต่างๆ
- อ่านหนังสือด้านพัฒนาศักยภาพมนุษย์ หรือจิตวิทยาต่าง ๆ เพื่อเพิ่มเติมความรู้
- เข้าร่วมกิจกรรมกับกระบวนกรท่านต่าง ๆ แล้วนำกรณีศึกษาต่างที่ได้ มาวิเคราะห์
- เสาะหากิจกรรมการเรียนรู้ใหม่ ๆ
- ทำกิจกรรมที่พัฒนาจิตใจ และทักษะทางอารมณ์ต่างๆ
"วิถีกระบวนกรเป็น (being) วิชาชีวิต มิใช่แค่ทำ (doing) เพื่ออาชีพเท่านั้น"
ธีรชาติ พันธุ์หอม
Transformation Game Facilitator and Independent Facilitator
"สำหรับผม สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับการทำงานเป็นกระบวนกร คือเป็นงานที่สามารถสร้างทั้งรายได้และความสุขให้ผู้คน และในขณะเดียวกัน ตัวเราเองก็ได้เรียนรู้ไปด้วยตลอดเวลาพร้อมกับผู้เรียน ซึ่งหากเราเป็นคนที่ใฝ่รู้ หมั่นพัฒนาตนเอง ประกอบกับการได้มีเครือข่ายเพื่อนและครูที่คอยชี้แนะซึ่งกันและกัน ทำให้อาชีพนี้ช่วยเติมเต็มความสุขให้เราได้
ยอมรับว่าอาชีพนี้ยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง การเรียนเพื่อเป็นกระบวนกรยังมีไม่มาก ส่วนใหญ่เป็นคอร์สสั้น ๆ ซึ่งทักษะเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องเรียนเพื่อเป็นกระบวนกรอาชีพเท่านั้น แต่สามารถนำความรู้มาใช้ร่วมกับอาชีพอื่น ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นครู หรือบทบาทของผู้นำองค์กรต่าง ๆ เมื่อทุกอาชีพล้วนต้องทำงานกับมนุษย์ ต้องมีความเข้าใจเรื่องมนุษย์ ทักษะกระบวนกรจึงสารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างแน่นอน"
ภัทร กิตติมานนท์
กระบวนกรอิสระ
Copyright © 2019 TruePlookpanya. All rights reserved.
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ห้ามมิให้ผู้ใดคัดลอก ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข หรือเผยแพร่ส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ก่อนได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร