สิ่งก่อสร้างรอบตัวเราไม่ว่าจะเป็นอาคาร ถนน อุโมงค์ สะพาน เขื่อน สนามบิน ระบบสุขาภิบาล ล้วนต้องรู้จักวิธีการก่อสร้างที่ถูกต้อง คำนึงถึงองค์ประกอบทั้งหลาย เช่น สภาพดิน น้ำ การต้านทานต่อแดด ลม ฝน พายุ แผ่นดินไหว รวมไปถึงกฎหมายข้อกำหนด ทุกอย่างที่มีผลต่อโครงการ ผู้ที่จะมีความรู้ความสามารถในการวิเคราะห์ ออกแบบ ควบคุมการก่อสร้าง ใช้วัสดุและทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด คือวิศวกรโยธา โดย ผู้ที่ประกอบวิชาชีพจะขึ้นทะเบียนกับสภาวิศวกรเพื่อรับ ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรม (กว.)
ในคำเรียกรวม ๆ ว่าวิศวกรโยธา สามารถแบ่งสายได้เป็น 6 สายงานหลัก ๆ คือ
- วิศวกรรมโครงสร้าง - เกี่ยวกับการออกแบบโครงสร้างสิ่งก่อสร้าง
- วิศวกรรมฐานราก – เน้นงานฐานราก สำรวจชั้นดิน กำลังการรับ การทรุดตัว
- วิศวกรรมทรัพยากรน้ำ - บริหารจัดการน้ำ ออกแบบระบบระบายน้ำ
- วิศวกรรมและการบริหารการก่อสร้าง - บริหารงานด้านโยธา เงิน คนงาน เวลาการทำงาน
- วิศวกรรมสำรวจ - สำรวจพื้นที่ การทำแผนที่ การเตรียมพื้นที่
- วิศวกรรมขนส่ง - การวางแผนและออกแบบระบบขนส่งมวลชน
ลักษณะงาน
พิจารณาโครงการ สำรวจพื้นที่ เจาะสำรวจดิน วางแผนตั้งแต่โครงสร้างฐานราก ระบบสาธารณะสุข เตรียมแบบแปลน วางแผนงาน ควบคุมงานก่อสร้าง ประสานงานกับผู้ชำนาญงานต้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในโครงการนั้น เช่น ช่างระบบไฟฟ้า ผู้รับผิดชอบด้านงานออกแบบ
ขั้นตอนการทำงาน
- รับรายละเอียดงาน ประชุมพูดคุยเพื่อเก็บข้อมูลที่จำเป็น
- ประเมินลักษณะของโครงการในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะพื้นที่ การเดินทาง การจราจรทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ ที่มีผลกระทบ สำรวจพื้นที่ข้างเคียง การขออนุญาต การประสานงานกับหน่วยงานรัฐต่าง ๆ
- เจาะสำรวจ ทดสอบดูดินแต่ละชั้นเพื่อออกแบบกำลังรับน้ำหนัก ฐานราก
- ทำแบบแปลนรายงานก่อสร้าง ประมาณการวัสดุ และประมาณการราคา
- วางแผนการทำงาน เครื่องมือเครื่องจักรกลที่ต้องใช้ การจ้างงาน การขอไฟฟ้า ประปา การขนของ งานรื้อถอน การสร้างเขตแนวก่อสร้าง
- ประชุมงานกับผู้ชำนาญงานด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการ
- คอยสำรวจหน้างาน ตรวจการดำเนินงานให้ตรงตามแบบ และแก้ไขปัญหาที่เจอเฉพาะหน้า
สถานที่ทำงาน
-
งานในสำนักงาน เช่น การประชุม การทำแบบ
-
งานตามสถานที่ สำรวจ ก่อสร้าง ควบคุมงาน
ผู้ที่ต้องทำงานด้วย
-
เจ้าของพื้นที่ ลูกค้าหรือหัวหน้าโครงการ – เป็นผู้มอบหมายงานและกำหนดทิศทางการทำงาน
-
ผู้ชำนาญงานด้านต่าง ๆ ในแต่ละโครงการมีส่วนประกอบหลายอย่าง ที่ต้องร่วมงานด้วยตลอดการก่อสร้าง เช่น ระบบไฟฟ้า สถาปนิก ระบบสุขาภิบาล วิศวกรเครื่องกล
-
Supplier ผู้ที่เสริมด้านต่างๆ ที่โครงการต้องการ เช่น เครื่องจักรทำงาน วัสดุอุปกรณ์
-
หน่วยงาน ภาครัฐ ที่เกี่ยวข้อง ขึ้นอยู่กับแต่ละโครงการที่ต้องร่วมงานด้วย
-
ผู้รับเหมา ทีมช่างก่อสร้าง กำลังสำคัญที่จะทำให้งานสำเร็จลุล่วงไปได้ หากได้ร่วมงานกับช่างที่มีประสบการณ์ ซื่อสัตย์ ก็จะช่วยกันทำให้โครงการดำเนินไปอย่างราบรื่น
วิชาชีพวิศวกรรม สามารถเลื่อนระดับใบอนุญาต จากภาคีวิศวกร ไปเป็นสามัญวิศวกร และวุฒิวิศวกรตามลำดับ โดยแต่ละลำดับขั้น จะสามารถทำประเภทงาน และขนาดต่างกัน สามารถศึกษารายละเอียดได้จาก “ข้อบังคับสภาวิศวกร ว่าด้วยหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของ ผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมแต่ละระดับ สาขาวิศวกรรมโยธา” และในบริษัทเอกชน หรือหน่วยงานราชการก็มีการเลื่อนระดับตามอายุงาน
- มีความท้าทาย เจอโจทย์ใหม่เสมอ
- ภูมิใจเวลาได้เห็นผลงาน
- มีความต้องการในตลาดมาก
- มีโอกาสร่วมงานกับต่างประเทศสูง
- มีเทคโนโลยีใหม่ ๆ ช่วยสนับสนุนการทำงานอยู่เสมอ
- สามารถสร้างรายได้ได้หลายช่องทาง
- ได้เรียนรู้งานด้านต่าง ๆ ในแต่ละโครงการ
- มีงานรองรับกว้าง มั่นคง
- ค่าตอบแทนการทำงานในต่างประเทศเฉลี่ยจะสูงกว่าในไทย
- งานควบคุมการก่อสร้างส่วนใหญ่ต้องเข้าทำช่วงเวลากลางคืน
- แรงกดดันในงานสูงจากหลายด้าน ทั้งคนทำงาน เจ้าของโครงการ
- ความรับผิดชอบสูง ทั้งด้านเกี่ยวกับคนทำงาน โดยเฉพาะความปลอดภัยด้านการก่อสร้าง
- สภาพเศรษฐกิจมีผลต่อการทำงาน ต่องบประมาณในโครงการ
- มีความคิดสร้างสรรค์ การก่อสร้างไม่ได้มีรูปแบบตายตัว สามารถพลิกแพลงได้หลากหลาย
- ช่างสังเกต รักการเรียนรู้ สนใจข่าวสารความรู้รอบตัวตลอดเวลา ตามทันเทคโนโลยีใหม่อย่างสม่ำเสมอ เพื่อการก่อสร้างที่มีประสิทธิภาพ
- มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี นายช่างเป็นผู้ที่ต้องร่วมงานกับคนอื่นเสมอ ไม่ว่าจะเป็นคนในสาขาอื่นที่เกี่ยวข้องในโครงการ ทีมช่างที่ทำงานก่อสร้าง ต้องมีการประสานงานต่าง ๆ เพื่อให้โครงการดำเนินไปอย่างราบรื่นจนสำเร็จ
- มีวินัย อดทน สามารถทำงานหนักได้ เจอกับสภาพอากาศ สิ่งแวดล้อม หลาย ๆ ครั้งต้องทำงานช่วงกลางคืนเนื่องจากข้อกำหนดด้านการเข้าใช้พื้นที่ในการก่อสร้าง ต้องรับมือได้เสมอ
- ละเอียดรอบคอบ สิ่งก่อสร้างทุกอย่างมีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของคน หากทำงานด้วยความประมาท ละเลยรายละเอียดบางอย่างไป อาจะส่งผลเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินได้
- มีความรับผิดชอบ รับผิดชอบต่อหน้าที่การงาน ยึดถือจรรยาบรรณของวิชาชีพเป็นสำคัญ
- ทักษะการจัดการวางแผน การวางแผนที่ดีจะทำให้งานเกิดข้อผิดพลาดน้อยที่สุด และสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
- การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การทำงานย่อมมีเหตุการณ์สุดวิสัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมเกิดขึ้นได้ ทักษะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าจึงจำเป็นอย่างยิ่ง ยิ่งทำงานมาก ก็จะยิ่งมีประสบการณ์ในการตัดสินใจรับมือกับปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างดี
- ทักษะการใช้โปรแกรม โปรแกรมเกี่ยวกับวิศวกรรมต่าง ๆ เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้การก่อสร้างมีประสิทธิภาพ แม่นยำ ตั้งแต่ขั้นตอนการสำรวจ ออกแบบ ทำแบบ ติดตามการก่อสร้างจนเสร็จลุล่วง
- ทักษะการตัดสินใจ วิศวกรต้องเจอกับเงื่อนไขที่ต้องตัดสินใจในหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นแผนที่วางไว้ไม่เป็นไปอย่างที่คิด งบประมาณ หรือความปลอดภัยในการก่อสร้าง วิศวกรโยธาจึงมักเป็นคนที่ต้องตัดสินใจให้ทีมด้วยความรู้และประสบการณ์ที่มีเพื่อให้โครงการดำเนินต่อไปได้
- พื้นฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ ภาษาอังกฤษและคณิตศาสตร์ ทั้งหมดคือความรู้ที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการทำงาน เพราะต้องออกแบบ คำนวณ วิเคราะห์ปัจจัยรอบด้านในการก่อสร้างสิ่งต่าง ๆ เป็นอย่างดี
- ทักษะการสื่อสาร เพื่อการทำงานร่วมกับผู้อื่น
- ทักษะความเป็นผู้นำ การทำงานที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมคนเป็นจำนวนมาก หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีการออกคำสั่ง มอบหมายหน้าที่ ควบคุมดูแล การมีภาวะผู้นำที่ดี รู้จักศิลปะในการทำงานร่วมกับคนจะช่วยให้คนที่ทำงานด้วยมีความสบายใจ ยินดีที่จะฟังคำสั่งและทำตาม
- เข้าใจพื้นฐานทางสถาปัตยกรรม การก่อสร้างเกิดขึ้นคู่กับการออกแบบ เช่นเดียวกันกับสถาปนิกก็จะมีความรู้พื้นฐานทางวิศวกรรมเช่นกัน เพื่อการทำงานร่วมกันอย่างราบรื่นตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ
- ทักษะการคิดวิเคราะห์และคิดวิจารณ์ analytical mind and critical thinking
เส้นทางสายอาชีพนี้ต้องเริ่มต้นที่ใจรักที่ความสนใจอยากทำจริง ๆ เพราะความรับผิดชอบในชีวิตของคนที่เกี่ยวข้องกับสิ่งก่อสร้างนั้นอยู่ในมือเรา และงานหนักจริงๆ เมื่อมั่นใจว่าตัวเองสนใจแล้ว ก็ต้องขยันหาความรู้ทุกด้านให้ถูกต้องแม่นยำ อ่านหนังสือ ดูตัวอย่างงานก่อสร้างว่าเขาคิดยังไง ใช้อะไร แก้ปัญหาด้วยวิธีไหน กล้าที่จะเข้าไปถามคำถามรุ่นพี่ อาจารย์ คนทำงาน เพื่อเพิ่มเติมความรู้ให้ตัวเอง
Hard Skills
- มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ ภาษาอังกฤษและคณิตศาสตร์
- เข้าใจพื้นฐานทางสถาปัตยกรรม
- ฝึกการวางแผนการทำงาน และการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า
- แบ่งเวลาเป็น จัดระบบการทำงานให้มีประสิทธิภาพ
- เรียนรู้การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่องานวิศวกรรม
- เรียนรู้ภาษาใหม่ ๆ เพื่อเปิดโอกาสในการรับงานจากต่างประเทศ
Soft Skill
- ช่างสังเกต มีความคิดสร้างสรรค์ เพิ่มเติมความรู้ตลอดเวลา
- มีความเป็นผู้นำ มีความรับผิดชอบ
- เป็นเพื่อนร่วมงานที่ดีต่อทีม มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี
- ละเอียดรอบคอบ ใส่ใจรอบด้าน
- สร้างทัศนะคติที่ดีต่อสิ่งต่างๆ มองปัญหาว่าเป็นเรื่องท้าทาย
- มีวินัย อดทนต่องานหนัก มีสมาธิในการทำงาน
กิจกรรมต่าง ๆ
- อ่านหนังสือและเว็บเกี่ยวกับงานก่อสร้าง
- ร่วมกิจกรรมในบริษัท
- ชมสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ศึกษาเทคนิคที่ใช้
- ท่องเที่ยวศึกษางานต่างประเทศ
- เข้าร่วมชมงานแสดงเทคโนโลยี
ภาพรวมของวิศวกรโยธา ไม่ได้ดูเฉพาะด้านการก่อสร้างเท่านั้น แต่ขอบเขตของงานพูดถึงทุกอย่าง ตั้งแต่บ้าน ถนนหนทาง รถไฟฟ้า เขื่อน สิ่งแวดล้อม ขนส่ง การจราจร เราทุ่มเทชีวิตเราตั้งแต่คำนวณ ต้องมีความรับผิดชอบสูงมาก ๆ เพราะงานของเราถ้าเกิดเสียหายไป ไม่ใช่คนจะบาดเจ็บหรือเสียชีวิตแค่คนเดียว อาจจะเป็นหมื่นเป็นแสนเลยก็ได้ เพราะฉะนั้นเราต้องทุ่มเทสมอง หัวใจของเราเพื่อทำงานให้สำเร็จ เมื่องานสำเร็จแล้ว ผู้คนใช้โดยปลอดภัย ตรงนี้เป็นเสน่ห์ที่ดีที่สุดเลย เราสร้างสิ่งที่เป็นความฝันให้เป็นจริงได้ ผลงานของเราไม่ใช่อยู่ในช่วงชีวิตเราเท่านั้น แต่จะส่งถึงลูกเรา หลานเราตลอดไปด้วย
ศาสตราจารย์ ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์
นายกสภาวิศวกร กรรรมการในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
( ที่มา : ข้อความส่วนหนึ่งจากรายการ I AM ช่องทรูปลูกปัญญา )
งานนี้เป็นงานที่มีเรื่องให้ท้าทายตลอดเวลา มีความกดดันสูง ขอให้ตั้งใจหาความรู้ให้แน่น มีความรับผิดชอบ มีจรรยาบรรณในงานที่ทำ ช่วงแรกอาจจะดูว่างานหนักเงินน้อย แต่มันคือประสบการณ์ที่เราต้องจ่าย แล้วถ้าเราซื่อสัตย์กับวิชาชีพ เมื่อเวลาผ่านไป ผลตอบแทนจะมั่นคงและเป็นที่น่าพอใจอย่างแน่นอน
ธีรภัทร์ เข็มทอง
ช่างเทคนิคโยธา
วิชาที่เรียน
หลายคนอาจจะกลัวเรื่องของการคำนวณ ว่ามาเรียนแล้วจะเจอตัวเลขซับซ้อน จะไหวหรือเปล่า ก็อย่าเพิ่งวิ่งหนีไปซะก่อน เพราะถ้าสนใจด้านนี้จริง ๆ ได้คณิตนิดหน่อย ได้ฟิสิกส์นิดหน่อย ไม่ถึงกับเกลียดไปเลย รับรองว่าเรียนได้ เรียนไหว
เนื้อหาการเรียนจะเริ่มต้นจากพื้นฐานคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรม เคมี ทำความรู้จักกับวัสดุต่าง ๆ เช่น ไม้ เหล็ก ได้เข้าใจลักษณะของดิน น้ำ ลม ส่วนสำคัญคือการเข้าแล็บทดลองผลกระทบ หรือพฤติกรรมที่จะมีต่อกัน เช่น ดินแบบนี้กับเหล็กแบบนี้จะมีผลต่อการสร้างสิ่งก่อสร้างอย่างไร ทรายกับไม้ ปูนกับน้ำ ทดสอบแรง กำลังของวัสดุ ศึกษาหลักกลศาสตร์ ชลศาสตร์ ปฐพี คอนกรีต การสำรวจ เทคนิคการออกแบบโครงสร้างแบบต่าง ๆ การขนส่ง การจัดการ สิ่งแวดล้อม
เริ่มต้นจากปี 1 เรียนวิชาพื้นฐาน คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ พร้อมทั้งทำความรู้จักกับวัสดุต่าง ๆ ทำความเข้าใจกลศาสตร์ ปี 2 เรียนเกี่ยวกับวิชาชีพมากขึ้น รู้พฤติกรรมของวัสดุ ปี 3 - ปี 4 กลศาสตร์ของดิน น้ำ วิเคราะห์โครงสร้าง ดูงานฝึกงาน รวบยอดเพื่อการออกแบบอย่างซับซ้อนยิ่งขึ้น เตรียมพร้อมสู่การทำงานต่อไป
เคล็ดลับการเรียน
สิ่งที่ควรจะฉวยโอกาสให้ได้มากที่สุดคือความรู้และประสบการณ์จากอาจารย์ จากรุ่นพี่ที่ผ่านการทำงานจริง ผ่านหน้างานมา และพร้อมที่จะแนะนำความรู้ที่จำเป็น เรียกได้ว่า หาความรู้นอกตำรา การเตรียมตัวเพื่อจะสอบใบวิชาชีพตั้งแต่เนิ่น ๆ ไม่ใช่เรื่องที่เร็วเกินไป แต่จะทำให้เราพร้อมที่จะเป็นวิศวกรที่มีคุณภาพ
อย่าลืมว่าอาชีพที่เราทำนั้นเกี่ยวข้องกับชีวิตผู้คน ไม่ว่าจะเป็นอาคารบ้านเรือน ถนน เขื่อน อุโมงค์ ขอให้ใส่ใจทุกรายละเอียดที่ได้เรียน เพื่อความปลอดภัยและความเป็นมืออาชีพในการทำงาน
เรื่องภาษาก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม หากมีโอกาสควรศึกษา ฝึกฝน สอบวัดระดับ เพราะในหลายที่จะพิจารณาเพิ่มฐานเงินเดือนให้ได้
ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย
โยธาเป็นสาขาที่เรียนค่อนข้างจะกว้าง เรียนหลายเรื่อง ทำได้หลายอย่าง จะได้พบเจอความแตกต่างของเพื่อน ต่างนิสัย ต่างความถนัด การเข้าแล็บแต่ละครั้งจะได้ทำงานร่วมกันกับเพื่อนที่ไม่ซ้ำ ได้ทำความรู้จัก ช่วยเหลือกันอย่างอบอุ่น
ควรเข้าร่วมกิจกรรมของคณะ หรือของมหาวิทยาลัยเพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าสังคม ฝึกทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น ได้เจอคนหลากหลายแบบ เป็นทักษะชีวิตที่น่าสะสมไว้
ลองสำรวจตัวเองระหว่างเรียนว่าถนัดอะไรเป็นพิเศษ จะได้วางแผนเส้นทางการเรียน ไปจนถึงอนาคตการทำงานถูก บางคนชอบออกแบบ บางคนชอบประมาณราคา บางคนชอบคุมหน้างาน หรือบริหารจัดการ ขอให้ตั้งใจเรียนและหาที่ฝึกงานที่จะส่งเสริมสิ่งที่เราชอบให้ไปได้ไกลที่สุด
- ผู้รับเหมาควบคุมงานก่อสร้าง รับเขียนแบบ ประมาณราคา
- วิศวกรเครื่องกล
- วิศวกรเครื่องยนต์
Copyright © 2019 TruePlookpanya. All rights reserved.
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ห้ามมิให้ผู้ใดคัดลอก ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข หรือเผยแพร่ส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ก่อนได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร