ช่างภาพ
ช่างภาพ
ช่างภาพ
ช่างภาพ

       Photographer ช่างภาพ หรือที่เรียกแบบคุ้นปากว่า ตากล้อง เป็นอาชีพที่สำคัญต่องานต่าง ๆ เพราะการถ่ายภาพคือการบันทึกเหตุการณ์ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง เพื่อถ่ายทอดทั้งความงาม เหตุการณ์ เรื่องราว ความรู้สึก บุคคล สามารถเรียกได้ว่า ช่างภาพไม่ใช่เพียงแค่คนที่กดชัตเตอร์เท่านั้น แต่เป็นนักสร้างสรรค์ภาพ เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ผ่านมุมมองของช่างภาพ

ช่างภาพ (Photographer)

ช่างภาพ (Photographer)

ช่างภาพ (Photographer)

 

ลักษณะงาน 

       ช่างภาพจะมีอาวุธคู่กายคือกล้องและเลนส์ และอาจจะมีอุปกรณ์เสริมอื่น ๆ เช่น แฟลช ขาตั้งกล้อง ฟิลเตอร์ รีเฟลก เพื่อเดินทางไปถ่ายภาพตามสถานที่ต่าง ๆ ที่ได้รับมอบหมาย อย่างนึงที่ช่างภาพต้องดูก่อนเริ่มงานคือลักษณะของพื้นที่ทำงาน เช่น กลางแจ้ง ในร่ม แสงสว่างเป็นแบบไหน รูปแบบงานที่จะถ่าย เพื่อปรับรูปแบบการถ่าย และแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นให้เอื้อต่อการถ่ายภาพให้ได้ออกมาดีที่สุด
       โดยส่วนใหญ่งานมักจะจัดขึ้นในช่วงกลางวัน แต่ก็มีงานประเภทคอนเสิร์ต ปาร์ตี้ ที่อาจจะจัดช่วงกลางคืน จากนั้นก็นำภาพที่ได้มาผ่านขั้นตอนการตกแต่งภาพ และส่งงานให้ลูกค้า

ขั้นตอนการทำงาน

  • ตอบรับ นัดหมายเพื่อรับรายละเอียดว่างานถ่ายภาพงานประเภทใด รูปแบบใด สถานที่ ช่วงเวลาที่ต้องทำงาน เป้าหมายที่ต้องการจากงานนี้คืออะไร 
  • วางแผนงาน จัดเตรียมและตรวจสอบความพร้อมของอุปกรณ์ที่ต้องใช้งาน
  • ไปถึงงานก่อนเวลา ดูหน้างานและคิดวางแผนแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น เพื่อการทำงานที่ราบรื่นจนจบงาน
  • นำภาพกลับมาคัดเลือก แต่ง รีทัช แก้แสง ปรับสี และอื่น ๆ เพื่อให้ได้ภาพที่สมบูรณ์
  • ตรวจสอบความเรียบร้อย พร้อมส่งมอบงาน
  • ติดตามผล นำคำแนะนำมาวิเคราะห์เพื่อพัฒนาตนเองต่อไป

สถานที่ทำงาน

  • สถานที่จัดงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นงานพิธีการ งานแต่งงานในโรงแรม งานอีเว้นท์ต่าง ๆ หรือแม้แต่ในสตูดิโอ
  • สถานที่ทำงานที่สะดวก ในช่วงของการแต่งภาพ ที่ช่างภาพจะต้องนำภาพที่ถ่ายมาปรับสี แสง รีทัชเพื่อให้ได้ภาพที่สมบูรณ์พร้อมส่ง เป็นขั้นตอนของการทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ ระยะเวลาขึ้นอยู่กับปริมาณภาพ

ผู้ที่ต้องทำงานด้วย

  • ผู้จัดงาน ผู้ที่จะประสานงาน กำหนดเป้าหมาย เตรียมการต่าง ๆ
  • ผู้ช่วยช่างภาพ ในบางงานจำเป็นต้องมีผู้ช่วยไม่ว่าจะจัดเตรียมพื้นที่ ถืออุปกรณ์
  • นางแบบหรือนายแบบ งานที่ต้องใช้คนเป็นตัวแบบ ช่างกล้องต้องสื่อสารกับผู้ว่าจ้างมาก่อนให้ดี ว่าต้องการผลลัพธ์ของงานแบบไหน เพื่อจะได้สื่อสารกับตัวแบบให้จัดสีหน้าท่าทางได้ถูกต้อง

 

 

เงินเดือน ช่างภาพ

 

       การเริ่มต้นถ่ายภาพจะเริ่มจากถ่ายสิ่งที่ตนเองสนใจ เพราะการถ่ายแต่ละประเภท ใช้มุมมอง องค์ประกอบที่แตกต่างกัน เมื่อสะสมประสบการณ์มากพอ ก็จะตามมาซึ่งค่าตอบแทนที่มากขึ้น จะเห็นได้จากช่างภาพมืออาชีพเฉพาะทางด้านต่าง ๆ ที่มีชื่อเสียง ก็จะถนัดและได้รับความไว้วางใจในแนวทางเฉพาะคนของคนนั้น 
       บางคนก็เลือกที่จะศึกษาการถ่ายหลากหลายประเภทเพื่อการรับงานได้หลายรูปแบบ สะสมประสบการณ์และเงินทุนเพื่อเปิดสตูดิโอ ก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ ความก้าวหน้าในแง่รายได้นอกเหนือจากการรับงานที่มากขึ้น สิ่งที่เป็นที่นิยมในวงการถ่ายภาพคือการขายภาพ Stockphoto หรือการขายภาพออนไลน์ เพราะเป็นวิธีที่สามารถนำเสนอฝีมือ มุมมอง ไอเดียของแต่ละคนได้ทั่วโลก สร้างรายได้อย่างไม่จำกัด แต่ก็เป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูงเช่นเดียวกัน
       ช่างภาพบางคนมองเป้าหมายของความก้าวหน้าไปที่การได้ร่วมงานกับนิตยสาร หรือสื่อต่าง ๆ ระดับโลก การประกวดงานต่าง ๆ ซึ่งก็เป็นอีกหนทางที่เป็นแรงผลักดันในการพัฒนาตัวเองได้เป็นอย่างดี

 

  • มีความหลากหลายในสายงาน สามารถรับงานที่มีความต่างกัน ไม่น่าเบื่อ
  • ได้ทำงานพบเจอคนมากมายหลายประเภท หลายสังคม
  • มีความอิสระ ยืดหยุ่นที่จะเลือกวางตารางงานให้ตรงตามที่ต้องการ
  • สามารถสร้างรายได้จากการถ่ายภาพได้หลายช่องทาง
  • ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์อย่างเต็มที่
  • ได้เดินทางไปที่ต่าง ๆ เปิดมุมมองใหม่ ๆ เสมอ
  • มีงานประกวดเกี่ยวกับภาพถ่ายมากมายทั้งในและต่างประเทศ
  • อุปกรณ์กล้องมีราคาสูง
  • มีการแข่งขันในตลาดสูง แม้แต่คนที่ไม่ได้จบด้านนี้โดยเฉพาะ แต่ชอบที่จะถ่ายภาพเป็นงานอดิเรกก็สามารถทำงานนี้ได้ดีเช่นกัน
  • ช่างส่วนมากมักจะรับงานถ่ายภาพกลางวัน และแต่งภาพกลางคืน ซึ่งอาจะมีผลต่อการพักผ่อน และสุขภาพในระยะยาว
  • มีความคิดสร้างสรรค์ ช่างภาพจำเป็นต้องมีความคิดสร้างสรรค์ในการถ่ายทอดมุมมองต่าง ๆ ให้น่าสนใจ เพราะในสถานที่เดียวกัน เหตุการณ์เดียวกัน สิ่งของหรือคนเดียวกัน ช่างภาพแต่ละคนก็สื่อสารออกมาไม่เหมือนกัน แล้วแต่ความคิดสร้างสรรค์เฉพาะตัวของแต่ละคน
  • พร้อมเรียนรู้ รู้ในจุดเด่น จุดด้อยของตัวเอง และฝึกฝีมือตลอด แม้แต่ช่างภาพมืออาชีพที่ทำงานมาหลายสิบปี ก็ยังคงเรียนรู้พัฒนาเทคนิคการถ่ายภาพอยู่เสมอ 
  • มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ช่างภาพนั้นทำงานกับผู้คนเสมอ และผู้คนก็พร้อมจะให้ความร่วมมืออย่างดี ถ้าได้ร่วมงานกับช่างภาพที่มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี
  • มีวินัย อดทน ตรงต่อเวลา ช่างภาพที่รู้จักหน้าที่ควรถึงที่ทำงานก่อนเวลา ส่งงานตามเวลา
  • ใส่ใจในทุกรายละเอียด ใส่ใจในทุกองค์ประกอบ เข้าใจในจุดประสงค์ของแต่ละงาน พฤติกรรมของคน ลักษณะของสถานที่ เพื่อให้ได้งานที่ดี
  • มีความรับผิดชอบ ทำงานได้ตรงเป้าหมาย ตามเวลา ไม่เกี่ยงงานหนัก
  • กล้าที่จะลอง เทคโนโลยีการถ่ายภาพและการแต่งภาพมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จำเป็นที่ต้องเติมความรู้ใหม่ ๆ เสมอเพื่อเสริมการทำงานให้ทันสมัยตลอด
  • ทักษะการคิดวิเคราะห์ แก้ไขปัญหา ในการถ่ายภาพมักจะเจอสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ควบคุมไม่ได้ ไม่ว่าจะแสงแดด ฟ้าฝน ผู้คน บรรยากาศ หรืออื่น ๆ ซึ่งช่างภาพจะใช้ประสบการณ์ในการรับมือเพื่อให้การถ่ายภาพเป็นไปอย่างราบรื่นตามเป้าหมาย 
  • ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับองค์ประกอบทางศิลปะ ภาพถ่ายเปรียบได้กับภาพวาดของศิลปิน ที่ต้องมีการจัดวางที่ดี รู้หลักต่าง ๆ ในการสร้างสรรค์ผลงานให้สวยงาม
  • ทักษะการประยุกต์ใช้ อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ช่วยเสริมในการถ่ายภาพมีมากมาย ขึ้นอยู่กับการทดลองจนเข้าใจและประยุกต์ใช้งานให้เหมาะกับแต่ละสถานการณ์
  • ทักษะการใช้โปรแกรมแต่งภาพ ภาพจะสมบูรณ์ขึ้นเมื่อผ่านโปรแกรมแต่งภาพ จึงจำเป็นจะต้องใช้ให้คล่องแคล่ว เข้าใจความสามารถของโปรแกรมต่าง ๆ
  • มีความเข้าใจเรื่องสภาพแวดล้อมที่มีผลต่อการถ่ายภาพ สิ่งต่าง ๆ ทั้งแสง เงา ช่วงเวลา สิ่งปลูกสร้าง และอื่น ๆ ล้วนมีผลต่อภาพที่จะออกมาทั้งสิ้น การที่มีความความเข้าใจลักษณะสภาพแวดล้อมต่างๆ จะทำให้สามารถกำหนด และรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี

       เริ่มต้นจากมีความเข้าใจในความงามตามหลักองค์ประกอบศิลป์ การจัดวาง การนำเสนอในรูปแบบต่าง ๆ ขั้นตอนนี้สามารถเรียนรู้กับกล้องมือถือได้เลย เมื่อได้จับกล้องที่ขนาดใหญ่ขึ้นมาก็ศึกษาวิธีใช้งาน หลักการทั้งหมด อุปกรณ์เสริม และโปรแกรมตกแต่งภาพ ทั้งหมดจะเข้าใจได้จากการฝึกฝนหลาย ๆ ครั้งจนเกิดความชำนาญ
       ควรเริ่มถ่ายจากสิ่งที่ตัวเองสนใจ ไม่ว่าจะเป็นบุคคล ธรรมชาติ ภาพกีฬา สิ่งก่อสร้าง และเรียนรู้ว่าสิ่งต่าง ๆ ต้องใช้หลักการถ่ายต่างกันอย่างไร มาถึงตรงนี้บางคนเลือกที่จะเรียนรู้อย่างหลากหลายไปเรื่อย ๆ บางคนเลือกที่จะฝึกฝนเฉพาะทางให้เชี่ยวชาญ แต่สุดท้ายแล้วช่างภาพแต่ละคนจะค้นพบลักษณะเฉพาะของตนเองที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร 
       การหมั่นศึกษาผลงานจากมืออาชีพ เรียนรู้ทำความเข้าใจว่าช่างภาพคนนั้นมีมุมมองอย่างไร ใช้เทคนิคอะไร เพื่อนำมาลองใช้กับตัวเอง อีกทั้งการเข้าร่วมงานประกวดภาพถ่าย ความรู้สึกของการแข่งขันก็เป็นส่วนช่วยในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาตนเองได้มาก สิ่งที่ช่างภาพทุกคนบอกเหมือนกันคือการหมั่นฝึกฝน ไม่หยุดพัฒนาฝีมือ ทัศนคติ สร้างผลงานอยู่เสมอ

Hard Skills

  • รู้จักอุปกรณ์การถ่ายภาพต่าง ๆ เข้าใจการใช้งานที่ถูกต้อง
  • ฝึกถ่ายภาพในบรรยากาศ ข้อจำกัดต่าง ๆ
  • ทำเข้าใจการถ่ายภาพลักษณะต่าง  ๆ เช่น ภาพบุคคล ภาพกีฬา ธรรมชาติ
  • เรียนรู้การใช้โปรแกรมแต่งภาพ เข้าใจหลักการการแต่งภาพ
  • เข้าใจองค์ประกอบทางศิลปะ

Soft Skills

  • พัฒนามุมมอง เทคนิคการถ่ายภาพเสมอ
  • สังเกต ทำความเข้าใจพฤติกรรมต่างๆ ของคน 
  • ฝึกการทำงานให้มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี เพื่อให้สามารถทำงานเป็นทีมได้ดี

กิจกรรมต่างๆ

  • อ่านหนังสือด้านต่าง ๆ เพิ่มเติมความรู้ ทั้งด้านเทคนิคการถ่ายภาพ และมุมมองทางศิลปะ
  • เข้าร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับการถ่ายภาพ หรืองานประกวด
  • และเปลี่ยนความรู้กับกลุ่มช่างภาพ ผลัดกันใช้งาน ทำความเข้าใจอุปกรณ์อื่น ๆ
  • เข้าร่วมการอบรมจากมืออาชีพ หรือร่วมเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้
  • จัดทริปถ่ายภาพ และเปลี่ยนความรู้กับเพื่อนร่วมสายอาชีพ
  • เดินทางท่องเที่ยวเปิดโลกเปิดมุมมองใหม่ ๆ

 

ความรักในอาชีพเป็นสิ่งสำคัญ สร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเองที่จะก้าวไปข้างหน้าอยู่เสมอ ถ้าหมดไฟก็เติมไฟ อย่าปล่อยให้ตัวเองมอด

ธเนศพงศ์ อุดชาชน
Administrator Olympus Club Thailand

 

อาชีพช่างภาพคือการขายรสนิยมให้ออกมาเป็นภาพตามที่ลูกค้าต้องการ สิ่งที่ต้องการในตัวช่างภาพนอกจากจะตีโจทย์ให้ออกมาตรงตามความต้องการของลูกค้ากับสารที่ต้องการให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภค คือทัศนะคติของช่างภาพเอง การเจรจา การต่อรอง การอ่อนน้อม การเข้าใจในความต้องการของลูกค้าด้วยเหตุและผลสำคัญที่สุด

ธนัติพงษ์ ถังไชย

Owner,Photographer Three Musketeers Production

วิชาเรียน

       การเรียนจะไม่ได้เรียนเกี่ยวกับการถ่ายภาพเพียงอย่างเดียว จะต้องเรียนร่วมกับกราฟิกดีไซน์ การถ่ายทำต่าง ๆ การตัดต่อ โปรแกรมที่ใช้ทางด้านกราฟิก การออกแบบ ความรู้ทางการถ่ายภาพ ความรู้ศิลปะ การเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ เพื่อให้มีทักษะและความชํานาญในการถ่ายภาพ

เคล็ดลับการเรียน

       ต้องค้นหาตัวเองให้เจอ และพยายามขวนขวายหาวิธีว่าควรทำอย่างไร ถ้าไม่มีฝีมือและไม่เตรียมตัวก็ไม่สามรถแข่งกับคนอื่น ๆ ได้ เพราะงานสายนี้การเตรียมตัวเป็นสิ่งสำคัญคนพร้อมกว่าจึงมีโอกาสมากกว่า รู้จักเรียนรู้ให้เร็วจึงจะประสบความสำเร็จได้

ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย

  • ปี 1 เรียนวิชาศึกษาทั่วไป เช่น ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และวิชาที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายภาพ เช่น พื้นฐานการถ่ายภาพ Drawing ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ เทอมที่ 2 จะได้เรียนการปฏิบัติมากขึ้น เช่น การถ่ายภาพขาว-ดำ การล้างฟิล์ม
  • ปี 2  เริ่มมีเรียนในห้องสตูดิโอ มีการถ่ายทำ จัดไฟ จัดแสง Setฉากต่าง ๆ เรียนรู้การถ่ายภาพดิจิทัล การถ่ายภาพบุคคล เป็นต้น
  • ปี 3  จะเริ่มเรียนลึกกว่าปีสอง เป็นการเรียนตั้งแต่ไต่ระดับจนถึงลึกที่สุด จะได้ลงมือสร้างสรรค์เทคนิคพิเศษในศิลปะการถ่ายภาพ
  • ปี 4 เตรียมตัวทำธีสิส ซึ่งอาจมีการทำสัมมนาเกี่ยวกับศิลปะการถ่ายภาพ การถ่ายภาพในงานข่าว การตลาดและการจัดการงานศิลปะภาพถ่าย  ในเทอมที่ 2 มีการทำโปรเจ็กต์จบ ซึ่งได้เรียนมาทุกขั้นตอนที่จะสามารถการผลิตงานได้ในปี 1 2 3 แล้วนั่นเอง

Copyright © 2019 TruePlookpanya. All rights reserved.
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ห้ามมิให้ผู้ใดคัดลอก ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข หรือเผยแพร่ส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ก่อนได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร