นักดนตรีบำบัด
นักดนตรีบำบัด
นักดนตรีบำบัด
นักดนตรีบำบัด

       นักดนตรีบำบัด คือ ผู้ที่บำบัดผู้อื่นโดยใช้กิจกรรมทางดนตรีเช่น การร้องเพลง การเล่นเครื่องดนตรี การแต่งเพลง หรือการฟังเพลงเป็นสื่อในการบำบัด เพื่อช่วยฟื้นฟู เพิ่มคุณภาพชีวิต หรือเสริมทักษะต่าง ๆ ของผู้รับบริการ เช่น ทักษะด้านร่างกาย จิตใจ ความคิดความเข้าใจ อารมณ์และสังคม โดยนักดนตรีบำบัดจะสร้างสัมพันธภาพทางการบำบัดกับผู้รับบริการ สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกัน วางเป้าหมายการบำบัดร่วมกับผู้รับบริการ และนำผู้รับบริการไปสู่เป้าหมายการบำบัดที่ตั้งไว้
       ดนตรีบำบัดนั้นต่างจากการรักษาโรคทั่วไป เพราะดนตรีบำบัดไม่ได้ช่วยให้หายขาดจากโรคร้ายเหมือนเวลาเราไปหาหมอแล้วได้รับการจ่ายยา แต่ดนตรีบำบัดจะช่วยพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ ที่ขาดหายไป หรือช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ไม่จำเป็นต้องป่วยเป็นโรคก็สามารถมารับการบำบัดได้ และดนตรีนั้นเชื่อมโยงกับวัฒนธรรม หยั่งรากลึกอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน จึงเป็นสื่อที่สามารถเข้าถึงผู้คนได้ทุกเพศทุกวัย เพียงเลือกและออกแบบให้เหมาะกับแต่ละบุคคล

 

นักดนตรีบำบัด (Music Therapist)

นักดนตรีบำบัด (Music Therapist)

นักดนตรีบำบัด (Music Therapist)

ลักษณะงาน 

       นักดนตรีจะเล่นดนตรีทำกิจกรรมดนตรีร่วมกับผู้รับบริการตลอดระหว่างการบำบัด อาจมีการพูดคุยบ้าง แล้วแต่สถานการณ์และเป้าหมายของการบำบัด โดยมีการทำความเข้าใจถึงความต้องการของผู้เข้าร่วม และมีการวางแผนเพื่อให้ไปถึงจุดมุ่งหมายร่วมกัน
เครื่องดนตรีที่เล่นใช้ในการบำบัด ส่วนใหญ่มักใช้กีตาร์เนื่องจากเป็นเครื่องที่พกพาง่าย เหมาะสำหรับใช้ร่วมกับการร้องเพลง รวมถึงเปียโน เพราะสร้างเสียงสูงต่ำได้หลากหลาย เล่นเสียงประสานได้ดี และเครื่องดนตรีประเภทกลองหรือเครื่องเคาะจังหวะซึ่งเล่นได้ง่าย ไม่ซับซ้อน กลุ่มผู้รับบริการที่นักดนตรีบำบัดให้บริการมีหลากหลาย ตัวอย่างเช่น 

  • ผู้ป่วยโรคทางระบบประสาท อัมพาต สมองบาดเจ็บ พาร์กินสัน ผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อม 
  • ผู้ป่วยมะเร็ง 
  • ผู้ป่วยจิตเวช เช่น จิตเภท ซึมเศร้า 
  • ผู้ป่วยเด็ก เช่น เด็กพัฒนาการล่าช้า เด็กออทิสซึม เด็กที่บกพร่องทางการเรียนรู้ เป็นต้น
  • กลุ่มคนที่มีความเครียดหรือมีปัญหาด้านสภาวะจิตใจ ฯลฯ

       ลักษณะของการทำบำบัด แบ่งเป็นการบำบัดรายบุคคล(เดี่ยว) และการบำบัดกลุ่ม บางครั้งนักดนตรีบำบัดก็ให้บริการด้วยตัวเอง บางครั้งก็ทำร่วมกับสหวิชาชีพ เช่นบุคลากรทางการแพทย์ หรือคุณครูในโรงเรียน

ขั้นตอนการทำงาน

  • สอบถามผู้รับบริการ แพทย์ หรือญาติถึงจุดประสงค์ของการบำบัดรักษา
  • ประเมินความต้องการ ความสามารถ ประสบการณ์ของผู้รับบริการ เพื่อดูจุดประสงค์ที่ต้องการทำการบำบัดหรือสิ่งที่ผิดปกติ รวมทั้งประเมินประสบการณ์ทางดนตรีและเพลงที่ผู้รับบริการชอบ
  • ตั้งเป้าหมายการบำบัดร่วมกับผู้รับบริการ วางแผนการบำบัดโดยมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์หรือมีงานวิจัยรองรับ บางครั้งอาจวางแผนร่วมกับสหวิชาชีพที่ทำงานร่วมกันเพื่อให้การบำบัดมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
  • ทำการบำบัดโดยนักดนตรีบำบัดประเมินผลทั้งระหว่างและหลังการบำบัด
  • ทำรายงาน ประเมินผลอย่างเป็นระบบเพื่อส่งผลให้กับแพทย์ ญาติของผู้เข้ารับการบำบัด

สถานที่ทำงาน

สถานที่ทำงานของนักดนตรีบำบัดจึงค่อนข้างหลากหลาย ขึ้นอยู่กับกลุ่มผู้ที่มารับบริการบำบัด

  • โรงพยาบาล คลินิก สถานเวชกรรมฟื้นฟู สถานพักฟื้นโรงเรียน
  • หน่วยงานบริการผู้มีพัฒนาการบกพร่อง บ้านกึ่งวิถี ศูนย์สุขภาพจิตชุมชน
  • โครงการสำหรับผู้ติดสุราและสารเสพติด โครงการบริบาลผู้ป่วยระยะสุดท้าย
  • เรือนจำ
  • ชุมชนผู้สูงอายุ

ผู้ที่ต้องทำงานด้วย 

  • ในโรงพยาบาลหรือสถานบำบัด นักดนตรีบำบัดอาจร่วมงานกับทีมสหวิชาชีพ เช่น แพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด นักจิตวิทยา นักแก้ไขการพูด เป็นต้น
  • ในโรงเรียน นักดนตรีบำบัดอาจร่วมงานกับครูของเด็ก เป็นต้น
เงินเดือน นักดนตรีบำบัด

 

ตำแหน่งและเส้นทางการเติบโตในสายอาชีพ

แบบตรงสาย นักดนตรีบำบัด ให้คำปรึกษาด้านการใช้ดนตรีกับวิชาชีพอื่น ๆ

แบบไม่ตรงสาย ครูสอนดนตรี ทำงานในศูนย์พัฒนาการเด็ก ศูนย์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับคนแต่ละวัย

รายได้

       เงินเดือนของนักดนตรีบำบัดนั้นขึ้นอยู่กับสถานที่ทำงาน และรายได้ตามองค์กร เช่น โรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน โรงเรียน หรือถ้าหากทำเป็น part-time ก็ได้เป็นรายชั่วโมงตามที่ตกลง
หากทำงานในรพ.รัฐบาล เริ่มต้น 17,500 บาท เอกชนแล้วแต่รพ. ส่วนพาร์ทไทม์เริ่มต้นชม.ละ 1500 บาท

การแข่งขันและความต้องการของตลาด

       อาชีพนักดนตรีบำบัดถือเป็นอาชีพที่ใหม่ในประเทศไทย ผู้คนยังไม่รู้จักอย่างแพร่หลาย ดังนั้นการแข่งขันจึงไม่สูงมาก ความต้องการของตลาดต่อตัวอาชีพโดยตรงอาจพบได้น้อย แต่อย่างไรก็ตาม ความต้องการของตลาดในอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการบริการและส่งเสริมสุขภาพนั้นมีมากขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งดนตรีบำบัดก็เป็นส่วนหนึ่งของการบริการดังกล่าวเช่นกัน

  • อาชีพนี้ทำให้ได้พบเจอผู้รับบริการที่หลากหลาย ทำให้เราได้สร้างสัมพันธภาพ และเข้าใจผู้คนมากขึ้น
  • ได้ช่วยเหลือผู้ที่มีความต้องการต่าง ๆ หลากหลายช่วงอายุและระดับความสามารถ
  • ทำงานโดยใช้ดนตรีและเสียงเพลง ทำให้เกิดความสุนทรีย์ ผ่อนคลาย และมีความสุขไปด้วย
  • ใช้ความอดทนและความพยายามอย่างสูง เพราะต้องรับอารมณ์ของผู้บำบัดที่อาจยังไม่เข้าใจวิธีบำบัดด้วยดนตรี 
งานด้านการบำบัดนั้นเป็นส่วนหนึ่งของงานบริการ การเยียวยา ด้วยศิลปะและความสุนทรีย์ ผู้ที่จะมาเป็นนักดนตรีบำบัดควรมีคุณสมบัติ คือ 
  • มีความเอื้ออาทรยินดีช่วยเหลือผู้อื่น ใส่ใจความรู้สึกของคนรอบข้าง เข้าอกเข้าใจผู้อื่น และสามารถทำงานกับผู้คนที่มีความแตกต่างได้ 
  • มนุษยสัมพันธ์ดีเยี่ยม เป็นมิตร อัธยาศัยดี มีความจริงใจ
  • มีความคิดสร้างสรรค์ มีจินตนาการ สามารถพลิกแพลงไอเดียให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆ ได้
  • รักและมีความเข้าใจทางดนตรี สามารถอ่านอารมณ์หรือจับความรู้สึกที่ซ่อนอยู่ในตัวโน้ตและเสียงเพลงได้
  • ทักษะด้านดนตรี เช่น การเล่นเครื่องดนตรี การร้องเพลง ทฤษฎีทางดนตรี การแต่งเพลง 
  • ทักษะการบำบัด เช่น การประเมิน การสร้างสัมพันธภาพการบำบัด ความรู้ในหลักการของการบำบัด
  • ทักษะในด้านจิตวิทยา การรับมือกับผู้คน เข้าใจธรรมชาติของมนุษย์
  • ทักษะการสื่อสาร จำเป็นสำหรับการสื่อสารให้แก่ผู้รับบริการและญาติ ๆ ด้วยความเข้าใจอกเข้าใจและถูกต้องเหมาะสม 

 

เรียน นักดนตรีบำบัด

 

การศึกษา   

       การศึกษาต่อในสายนี้ไม่จำเป็นต้องจบสายดนตรีมาโดยตรง แต่ควรมีทักษะความถนัดทางดนตรีที่ดี และเตรียมตัวเตรียมใจมาให้พร้อม ปัจจุบันดนตรีบำบัดในประเทศไทยเปิดสอนในหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีระยะเวลาเรียน 2 ปี 

 

Hard Skills 

  • ฝึกฝนทักษะด้านดนตรี  และความรู้ขั้นพื้นฐานของนักดนตรี เช่น การอ่าน เขียนโน้ต บันไดเสียง คู่เสียง เสียงประสาน การย้ายบันไดเสียง ฉันทลักษณ์ทางดนตรี ฯลฯ
  • ควรฝึกฝนทักษะการร้องเพลงไว้ด้วย อาจไม่จำเป็นต้องร้องได้เพราะพริ้ง แต่ให้มีความมั่นใจและถูกคีย์ เพื่อใช้ในการเล่นดนตรีประกอบการร้องเพลงได้ และควรร้องได้หลายแนวเพลง เพราะในการทำงานจะได้เจอผู้คนหลากหลายที่มีรสนิยมแตกต่างกันไปด้วย
  • ฝึกฝนทักษะการบำบัด และจิตวิทยาคนในช่วงวัยต่าง ๆ

(เพิ่มเติม) ทักษะการบำบัด แบ่งเป็นด้านคลินิกและด้านดนตรีบำบัด

ด้านคลินิก:

  • ความสามารถ ข้อจำกัด ของผู้รับบริการ และการรักษาทั่วไปที่ได้รับ
  • ความรู้เกี่ยวกับสาเหตุ อาการของโรคต่างๆ รวมถึงคำศัพท์ทางการแพทย์
  • ความรู้เรื่องพัฒนาการมนุษย์ ทั้งพัฒนาปกติและไม่ปกติ
  • ความรู้เรื่องระบบประสาทของสมอง
  • การสร้างสัมพันธภาพทางการบำบัด การสร้างไดนามิกของกลุ่มบำบัด หลักการในการบำบัด (approach)

ด้านดนตรีบำบัด:

  • วิธีการ เทคนิค อุปกรณ์ เครื่องมือ และกิจกรรมดนตรีที่ใช้ในการทำดนตรีบำบัด
  • ขั้นตอนการประเมินก่อนและหลังบำบัดตามมาตรฐานทางคลินิก การเลือกวิธีและเครื่องมือประเมินตามทักษะของผู้เข้ารับบริการ
  • การวางแผนการบำบัด การวิเคราะห์และสร้างกิจกรรมดนตรีตามประสบการณ์ผู้รับบริการ การเลือกดนตรีและองค์ประกอบดนตรี การจัดสิ่งแวดล้อมในการบำบัด การวางแผนยุติการบำบัด
  • การทำเอกสารเพื่อบันทึกข้อมูลผู้รับบริการและสื่อสารกับทีมบำบัด
  • ความรู้ด้านบทบาทวิชาชีพและจริยธรรมดนตรีบำบัด
  • ทักษะการทำงานวิจัย

Soft Skills 

  • พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ หาแรงบันดาลใจให้กับตัวเองบ่อย ๆ ไม่ว่าจะจากการดูผลงานของผู้อื่น หรือจากสื่อต่าง ๆ
  • ฝึกทักษะการสื่อสารและการทำงานร่วมกับผู้อื่น ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญเพราะในการทำงานต้องพบผู้คนที่หลากหลาย
  • ฝึกการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ

กิจกรรมต่าง ๆ

  • แนะนำหนังสือ An Introduction to Music therapy Theory and Practice โดย William B. Davis, Kate E. Gfeller และ Micheal H. Thaut
  • แนะนำหนังสือ Music Therapy Handbook โดย Barbara L. Wheeler
  • แนะนำวารสาร Journal of Music Therapy
  • ลองเข้าเว็บไซต์สมาคมดนตรีบำบัดอเมริกา (American Music Therapy Association) https://www.musictherapy.org

       อาชีพดนตรีบำบัดเป็นอาชีพที่น่าค้นหา ยิ่งได้ทำความรู้จัก ยิ่งค้นพบว่าเราในฐานะนักดนตรีบำบัดยังมีเรื่องที่ต้องค้นหาอีกเยอะ ทุก ๆ วันจะได้เจอคำถามจากคนรอบตัวว่า “ดนตรีบำบัดคืออะไร” และเราในฐานะผู้ให้คำตอบก็จะได้ทบทวนตัวเองในทุกวันว่า “เรากำลังทำอะไร เพื่อจุดมุ่งหมายใด” 

 

สมรรถยา วาทะวัฒนะ  นักดนตรีบำบัด

 

 

วิชาที่เรียน

       ผู้เรียนจะได้เรียนเกี่ยวกับความเป็นมา ปรัชญา จริยธรรม หลักการและวิธีการทางดนตรีบำบัด พื้นฐานเรื่องพัฒนาการมนุษย์ โรคและอาการของโรค และการใช้ดนตรีบำบัดในผู้รับบริการกลุ่มโรคต่าง ๆ รวมทั้งจิตวิทยาและโรคทางจิตเวช (แตกต่างกันไปตามหลักสูตรของแต่ละมหาวิทยาลัย) จิตวิทยาทั่วไป จิตวิทยาพัฒนาการ โรคทางจิตเวชในเด็กและผู้ใหญ่ ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีการฝึกสาธิตการทำดนตรีบำบัดแบบเดี่ยวและแบบกลุ่ม เรียนรู้เทคนิคการพูดคุยกับคนไข้ รวมทั้งฝึกงานกับผู้ป่วยจริงที่วิทยาลัยและที่โรงพยาบาล
       ตัวอย่างวิชาที่เรียน อาทิ 
  • ปรัชญาและทฤษฏีทางดนตรีบำบัด

  • เทคนิคทางคลินิกในดนตรีบำบัดสำหรับเด็ก

  • เทคนิคทางคลินิกในดนตรีบำบัดสำหรับผู้ใหญ่

  • พัฒนาการมนุษย์และการเรียนรู้ทางดนตรี

  • การฝึกงานทางดนตรีบำบัด

  • ดนตรีบำบัดในกลุ่มจิตเวช

  • ดนตรีบำบัดเพื่อพัฒนาระบบประสาท

  • ดนตรีบำบัดสำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้ายและผู้ที่สูญเสีย

  • ระเบียบวิธีวิจัยดนตรี

  • สัมมนาวิจัยดนตรี

  •  วิทยานิพนธ์

เคล็ดลับการเรียน

       เคล็ดลับที่จะทำให้เข้าใจเนื้อหาการเรียนมากขึ้น คือ การนำไปประยุกต์ใช้จริง ทักษะการบำบัดต่าง ๆ ที่ได้เรียน เราสามารถนำไปใช้กับครอบครัวหรือเพื่อนเพื่อให้เกิดความชำนาญมากขึ้น ก่อนที่จะนำไปประยุกต์ใช้กับผู้รับบริการจริง

ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย

  • ปี 1 เรียนทฤษฎีพื้นฐานทั้งหมดและฝึกปฏิบัติกับผู้รับบริการจริง
  • ปี 2 ฝึกปฏิบัติกับผู้รับบริการจริง ทำวิทยานิพนธ์ และเขียนบทความวิชาการ

ค่าเทอมตลอดหลักสูตร

       ประมาณ 270,000 บาท (อ้างอิงจากมหาวิทยาลัยมหิดล)

ทุนการศึกษา

       สำหรับทุนการศึกษานั้นขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัยที่เรียน ถ้าเป็นทุนของมหาวิทยาลัยมหิดลนั้นก็มีหลากหลาย เช่น

  • ทุนเฉลิมพระเกียรติ 60 ปี ครองราชย์สมบัติ สำหรับนักศึกษาเรียนดี
  • ทุนสนับสนุนนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาในการเสนอผลงานทางวิชาการภายในประเทศ
  • ทุนสนับสนุนการทำวิทยานิพนธ์บางส่วน สำหรับนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา

มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก 

  • University of Georgia, USA
  • Florida State University, USA
  • Faculty of Fine Arts and Music - University of Melbourne, Australia
  • นักดนตรีทั่วไป
  • นักกิจกรรมบำบัด
  • นักจิตวิทยา

Copyright © 2019 TruePlookpanya. All rights reserved.
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ห้ามมิให้ผู้ใดคัดลอก ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข หรือเผยแพร่ส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ก่อนได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร