นักออกแบบสามมิติ
นักออกแบบสามมิติ
นักออกแบบสามมิติ
นักออกแบบสามมิติ
รู้จักอาชีพ > นักสร้างสรรค์ (Art) > นักออกแบบสามมิติ

       ศิลปินนักออกแบบสามมิติ คือ ผู้ที่มีความสามารถในการออกแบบผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพื่อสร้างสรรค์ จำลอง สิ่งต่าง ๆ ให้มีมิติขึ้นมาได้ไม่ว่าจะเป็นอาคารบ้านเรือน โครงสร้างอวัยวะของมนุษย์ สิ่งมีชีวิตที่สูญพันธ์ไปแล้วอย่างไดโนเสาร์ หรือแม้กระทั่งตัวละครแอนนิเมชั่นต่าง ๆ โดยพวกเขาต้องอาศัย พื้นฐานความเข้าใจในองค์ประกอบศิลป์ มิติ มุมมองต่าง ๆ รูปร่างรูปทรง พื้นผิวสัมผัส สีสัน แสงเงา ทุกอย่างล้วนเป็นสิ่งที่ต้องรู้และเข้าใจ สามารถเห็นภาพในหัวได้ จากนั้นจึงใช้โปรแกรมเป็นเครื่องมือในการสร้างสรรค์ภาพในหัวให้ออกมาเป็นชิ้นงานจริง
       ปัจจุบันในวงการธุรกิจแขนงต่าง ๆ ล้วนพัฒนาวิธีการนำเสนอที่หลากหลายและน่าสนใจอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะการนำเสนอในรูปแบบสามมติ หากสังเกตดี ๆ จะเห็นว่างานสามมิติมีส่วนเกี่ยวข้องกับแทบทุกวงการ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ การ์ตูน เกม โฆษณา สถาปัตยกรรม การศึกษา หรือกระทั่งการแพทย์ เพราะการรับรู้ของคนเราเป็นแบบสามมิติ ทั้งความกว้าง ความยาว ความลึก ดังนั้นการนำเสนอสื่อต่าง ๆ แบบสามมิติจะช่วยให้มีความน่าสนใจ มีความสมจริง สามารถเข้าใจคล้อยตามได้ และเทคโนโลยีปัจจุบันก็เอื้ออำนวยต่อการผลิตผลงานรูปแบบสามมิติอย่างมาก จึงทำให้เกิดอาชีพนักออกแบบสามมิติขึ้นมา 

นักออกแบบสามมิติ (3D Artist)

นักออกแบบสามมิติ (3D Artist)

นักออกแบบสามมิติ (3D Artist)

ลักษณะงาน

       การออกแบบสามมิติจะทำงานกับโปรแกรมหลากหลายประเภท ขึ้นอยู่กับงานและความถนัด มีทั้งคนที่รับงานทำเองที่บ้าน และคนที่ทำเป็นทีมกับบริษัท เป็นงานที่อยู่หน้าคอมแทบจะตลอดเวลา ใช้เวลาอย่างมากในการสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นไอเดียให้เห็นเป็นรูปเป็นร่างไปจนถึงจับต้องได้

 

ขั้นตอนการทำงาน

  • รับรายละเอียดงานจากลูกค้า พูดคุยเพื่อเก็บข้อมูลที่จำเป็นต่อการออกแบบ กำหนดเงื่อนไขและช่องทางสำหรับการสื่อสารระหว่างทำงานให้ชัดเจน
  • นำข้อมูลมาวางแผนการทำงาน ว่าควรทำอะไรก่อนหลัง หรือเพื่อการกระจายงาน และกำหนดรายละเอียด
  • ทำงานตามแผนที่วางไว้ พร้อมรับมือแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น
  • นำแบบมาพัฒนา ขยับ ปรับจนลงตัว จนได้แบบที่ลูกค้าพอใจ

สถานที่ทำงาน

       รูปแบบแรกคือการทำงานกับบริษัท มีสถานที่ทำงานตายตัว ทำงานเป็นทีม มีหลายฝ่าย กับอีกแบบที่รับงานอิสระ งานแบบจบได้ในตัวเองซึ่งส่วนใหญ่จะทำงานที่บ้าน แต่บางคนก็พาโน๊ตบุคไปนั่งทำงานตามที่ต่าง ๆ ได้

  • ออฟฟิศ คือสถานที่ทำงานตายตัว ยิ่งหากมีการทำงานเป็นทีมหลากหลายฝ่าย มีการติดตามงานพูดคุยปรึกษากับทีมงานอยู่ตลอด และอาจมีการไปคุยกับลูกค้านอกสถานที่บ้าง  
  • สถานที่ใดก็ได้ที่สะดวกในการทำงาน โดยเฉพาะปัจจุบันมีนักออกแบบสามมิติอิสระมากมาย ที่อาจจะทำงานที่บ้านหรือร้านกาแฟต่าง ๆ 

 

ผู้ที่ต้องทำงานด้วย

  • ลูกค้า งานแต่ละงานจะตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าเป็นเรื่องหลัก นักออกแบบจึงต้องทำความเข้าใจ ทำงานให้ตรงวัตถุประสงค์
  • เพื่อนร่วมงานในแผนก ในงานขนาดใหญ่ที่ไม่สามารถจบงานครบถ้วนได้ด้วยคนเพียงคนเดียว เนื่องจากข้อจำกัดต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องเวลา จึงต้องอาศัยการทำงานเป็นทีม แต่ละคนทำแต่ละส่วนมาประกอบกัน ซึ่งต้องมีการสื่อสารกันตลอดเวลาเพื่อให้งานกลมกลืนไปในทิศทางเดียวกัน
  • Supplier  รายละเอียดบางอย่างที่ไม่สามารถทำได้ด้วยตนเอง จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากคนที่ถนัดด้านนั้น ๆ เพื่อให้รายละเอียดงานสมบูรณ์

เงินเดือน นักออกแบบสามมิติ

      หลายคนเริ่มต้นทำงานกับบริษัท สะสมประสบการณ์จากพนักงานขึ้นเป็นหัวหน้า รับผิดชอบทั้งงานและคนมากขึ้น ชื่นชอบรูปแบบการทำงานเป็นทีม การติดต่องานกับต่างประเทศอย่างเป็นระบบ เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมอาจจะออกมาตั้งบริษัทของตนเอง ในขณะที่อีกหลายคนก็ชอบความมีอิสระ เริ่มต้นรับงานจากง่ายไปยากตามความสามารถที่พัฒนาขึ้น ชอบที่จะเดินทางไปที่ต่าง ๆ ติดต่องานด้วยตนเอง ซึ่งทั้งสองรูปแบบจะมีวิธีทำงาน การใช้ชีวิตที่ต่างกัน ลักษณะงานที่จะได้รับก็จะต่างกัน แต่ก็ยังมีโอกาสทำงานร่วมกัน เพราะงานบางโปรเจคบริษัทก็จะรับคนเข้ามาร่วมงานเฉพาะกิจได้ สุดท้ายแล้วความก้าวหน้าในอาชีพนี้ขึ้นอยู่กับการฝึกฝนฝีมือให้เก่งขึ้น รับรองว่ามีงานไม่ขาดสายแน่นอน

 

  • ได้สร้างสรรค์จินตนาการให้กลายเป็นความจริง
  • ภูมิใจเวลาได้มีส่วนร่วมในโปรเจคใหญ่ต่าง ๆ ที่ออกสู่สายตาผู้คน
  • เป็นทักษะอาชีพที่มีความต้องการในตลาดมาก และยังคงหางานได้เรื่อย ๆ อาชีพไม่ตัน
  • มีโอกาสร่วมงานกับต่างประเทศสูง
  • มีอิสระในการบริหารจัดการเวลาด้วยคนเอง สามารถทำงานที่ไหนก็ได้
  • เจอโจทย์ใหม่ที่ท้าทายอยู่เสมอ
  • มีเทคโนโลยีใหม่ๆ ช่วยสนับสนุนการทำงานอยู่เสมอ
  • สามารถสร้างรายได้ได้หลายช่องทาง
  • ค่าออกแบบในต่างประเทศเฉลี่ยจะสูงกว่าในไทย
  • งานต้องอาศัยเวลา สมาธิ ความทุ่มเทสูง บางคนอาจหมดไฟได้ต้องเติมพลังให้ตัวเองอยู่เสมอ
  • ถ้าจัดการเวลาไม่ดีก็จะทำให้การใช้ชีวิตไม่เป็นระบบ ทำงานจนเสียสุขภาพได้ง่าย ๆ 
  • อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะสามารถทำงานสามมิติได้อย่างราบรื่นมีราคาค่อนข้างสูง รวมไปถึงโปรแกรมสำหรับทำงาน ยิ่งทำงานหลากหลายมากขึ้น ค่าซื้อ ค่าเช่าโปรแกรมก็มากขึ้นตาม
  • มีความคิดสร้างสรรค์ เป็นสิ่งที่จะทำให้ผลงานแต่ละคนโดดเด่นไม่ซ้ำกัน 
  • ช่างสังเกต รักการเรียนรู้ สิ่งรอบตัวที่มองเห็น ที่เดินผ่าน ล้วนสามารถหยิบมาเป็นวัตถุดิบในการสร้างงานใหม่ ๆ ได้เสมอ และเทคนิคการทำงาน โปรแกรมต่าง ๆ ก็มีการพัฒนาอยู่ตลอด จึงจำเป็นต้องเรียนรู้ตลอดเวลา
  • เชื่อมั่นในตนเอง กล้านำเสนอผลงานลงสื่อต่าง ๆ เพื่อสร้างความรู้จักและโอกาสในการขาย 
  • มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี นอกเหนือจากเรื่องของฝีมือแล้ว การมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีก็จะช่วยเพิ่มพันธมิตรและรักษาลูกค้าได้ยืนยาว
  • มีวินัย อดทน งานอิสระเป็นงานที่ไม่มีกรอบเวลาประจำวัน จึงต้องบริการจัดการ อาศัยความมีวินัย ความรับผิดชอบด้วยตัวเองอย่างมาก 
  • ละเอียดรอบคอบ ถึงแม้งานสามมิติจะไม่ใช่ของจริง แต่ก็เหมือนจริงที่รายละเอียด ไม่ว่าจะเป็นพื้นผิว สิ่งแวดล้อม ทุกอย่างมีผลกระทบต่อการรับรู้ ยิ่งสมจริงยิ่งรู้สึกคล้อยตาม
  • มีความรับผิดชอบ รับผิดชอบต่อการตัดสินใจ การกระทำที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเวลาเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน งานไม่เป็นไปตามที่ตั้งใจ ก็ต้องมีความรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้น
  • ทักษะการคิดวิเคราะห์ แก้ไขปัญหา ในแต่ละโจทย์ที่ได้รับ นักออกแบบจะต้องคิดขั้นตอนการทำงาน รวมไปถึงแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างถูกวิธี เพื่อให้งานดำเนินไปอย่างราบรื่น 
  • ทักษะการวางแผน งานสามมิติมีขั้นตอนทำงานที่หลากหลายรูปแบบ จำเป็นต้องวางแผนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อไม่ให้เปิดปัญหาระหว่างการทำงาน อีกทั้งยังต้องวางแผนเวลาชีวิตให้ลงตัว ระหว่างงานต่าง  ๆ ที่รับมาให้เสร็จอย่างมีประสิทธิภาพตามเวลา
  • ทักษะด้านภาษา ส่วนใหญ่งานจะถูกว่าจ้างจากต่างประเทศ จึงจำเป็นที่ต้องสื่อสารได้เข้าใจ 
  • ทักษะการใช้โปรแกรม เครื่องมือสำคัญที่จะช่วยทำให้จินตนาการเป็นรูปร่างขึ้นมา
  • ความเข้าใจในงานศิลปะและมิติสัมพันธ์ เรื่องขององค์ประกอบศิลป์เป็นพื้นฐานที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการจัดวาง แสง พื้นผิว วัสดุ สีสัน และมีความรู้เรื่องมิติสัมพันธ์

 

 เรียน ออกแบบสามมิติ

การศึกษา

งานออกแบบสามมิติ สามารถศึกษาจบได้จากหลากหลายหลักสูตร เช่น

  • การออกแบบสนเทศสามมิติ มีการใช้โปรแกรมในการสร้างงานสามมิติจำลองต่าง ๆ เข้าใจการออกแบบ
  • สถาปัตยกรรมศาสตร์ มีการใช้โปรแกรมสามมิติในการสร้างอาคาร สภาพแวดล้อม
  • ออกแบบผลิตภัณฑ์ มีการใช้โปรแกรมสามมิติในการขึ้นแบบผลิตภัณฑ์ และมีโอกาสใช้เครื่องพิมพ์สามมิติ
  • Computer Graphics and Animation มีการใช้โปรแกรมสามมิติสร้างตัวละคร สิ่งแวดล้อม เข้าใจหลักการออกแบบ
  • Multimedia & Animation มีการใช้โปรแกรมสามมิติสร้างตัวละคร สิ่งแวดล้อม เข้าใจในงานภาพเคลื่อนไหว
  • วิศวกรรมเครื่องกล มีการใช้โปรแกรมสามมิติในการขึ้นแบบชิ้นส่วนเครื่องกล และมีโอกาสใช้เครื่องพิมพ์สามมิติ
  • วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ มีการใช้โปรแกรมสามมิติในการขึ้นแบบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และมีโอกาสใช้เครื่องพิมพ์สามมิติ

       นอกจากนี้ ยังสามารถษณะของสิ่งต่าง ๆ สามารถต่อยอดความรู้ด้านการใช้โปรแกรมและการใช้เครื่องพิมพ์สามมิติเพื่อทำงานได้ง่าย 

       เริ่มแรกควรตั้งโจทย์ว่าอยากทำงานแนวไหน แล้วฝึกตั้งแต่พื้นฐานจนถึงรับงานได้ ไม่ว่าจะจากหนังสือ เวปสอนฟรี คอร์สต่าง ๆ จากนั้นเริ่มขายงานผ่านช่องทางต่าง ๆ กล้าที่จะรับงาน เพื่อเรียนรู้และพัฒนาตนเองให้เก่งขึ้น พร้อมทั้งศึกษาเพิ่มเติมในสายอื่น ๆ ที่สนใจ

Hard Skill

  • ฝึกวาดรูปตั้งแต่พื้นฐานจนถึงการเขียน Perspective
  • เข้าใจทฤษฎีสี และฝึกการจับคู่สี การวาง Theme
  • พัฒนารสนิยมทางด้านศิลปะ
  • เข้าใจลักษณะทางกายภาพ ธรรมชาติของสิ่งต่าง ๆ ทั้งพื้นผิว รูปร่าง โครงสร้าง
  • เรียนรู้การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อทำงานสามมิติ
  • ฝึกการจินตนาการ มองภาพรวม มีความรู้เรื่องมิติสัมพันธ์
  • แบ่งเวลาเป็น จัดระบบการทำงานให้มีประสิทธิภาพ
  • เรียนรู้ภาษาใหม่  ๆ เพื่อเปิดโอกาสในการรับงานจากต่างประเทศ

Soft Skill

  • หมั่นสังเกตสิ่งต่าง ๆ รอบตัวว่ามีรายละเอียดอย่างไร
  • เป็นผู้ฟังที่ดี เข้าใจสิ่งที่ลูกค้าต้องการ
  • เป็นเพื่อนร่วมงานที่ดีต่อทีม
  • ให้เกียรติความคิดของคนอื่น และนำเสนอความคิดของตัวเองอย่างมีศิลปะ
  • สร้างทัศนะคติที่ดีต่อสิ่งต่างๆ มองปัญหาว่าเป็นเรื่องท้าทาย
  • มีวินัย อดทน มีสมาธิในการทำงาน

กิจกรรมต่างๆ 

  • อ่านหนังสือและเว็บงานออกแบบ หมั่นดู เก็บไอเดียเป็นคลังไว้
  • เดินดูสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเก็บข้อมูล สังเกตรายละเอียด
  • ชมนิทรรศการ พิพิธภัณฑ์
  • หาโอกาสท่องเที่ยวต่างประเทศ
  • เข้าร่วมงานประกวด
  • การทำอย่างอื่นที่อาจจะดูไม่เกี่ยวข้องกับสายงานโดยตรง เช่น ออกกำลังกาย ดูหนัง ฟังเพลง ทำกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ อ่านนิยาย ฟังบรรยาย ก็สามารถเติมมุมมองใหม่ๆ ที่จะช่วยทำให้งานออกแบบมีไอเดียมากขึ้น

 

       สายงานกราฟฟิคถ้าเป็นระดับปฏิบัติการ หากไม่พัฒนาตัวเองก็อยู่ยากเลยครับ มีคลื่นลูกใหม่ถาโถมเข้ามาตลอดเวลา ยิ่งเป็นฟรีแลนซ์ ต้องคิดคำนึงให้มากกว่าทำงานในระบบ นอกจากทักษะด้านการทำงานที่ต้องมีให้มากกว่าพนักงานทั่วไปก็ต้องดูเรื่องว่าจะนำเสนอตัวเองอย่างไร, ในแนวทางไหนเพื่อให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มลูกค้าด้วย ผ่านจุดนี้ไปแล้วการรับงานฟรีแลนซ์ต่างๆจะง่ายขึ้น

Boyd MeeJi, ฟรีแลนซ์ 3D ครีเอทตอร์ ชาวไทย

 

       เป็นอาชีพที่ต้องทุ่มเวลาฝึกฝนตลอดเวลา และหาความรู้ใส่ตัวเองอยู่ตลอด งานออกแบบ เทคโนโลยี และ โลก เป็นสิ่งที่อยู่ไม่นิ่ง เราจึงต้องเดินตลอดเวลา บางครั้งก็ควรวิ่ง นี่แหละความสนุกของงานนี้ 

ศิริพงษ์ หงษ์เวียง, Product Design lavenz captivate co. ltd

วิชาที่เรียน

       เน้นการเรียนการสอน การเรียนรู้การสร้างสรรค์ผลงานศิลปะในรูปแบบจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพเคลื่อนไหวด้วยสื่อดิจิทัล โดยใช้คอมพิวเตอร์และเครื่องมือในโปรแกรมต่าง ๆ เช่น การวาดรูปแบบ Digital Paint การปั้นโมเดลแบบ 3 มิติ (3D Sculpture) และการวาดภาพประกอบ (Illustration) เป็นต้น

  • การวาดภาพประกอบ (Illustration)  เรียนโปรแกรม Illustrator เป็นโปรแกรมหนึ่งที่นิยมใช้กัน และเป็นที่นิยมในการออกแบบภาพกราฟิกแบบเวกเตอร์ ด้วยเครื่องมือการวาดภาพและสร้างภาพสำเร็จรูปเป็นรูปทรงต่าง ๆ
  • การวาดรูปแบบ Digital Paint  เรียนการวาดภาพรูปแบบใหม่ซึ่งต่างจากการวาดภาพในแบบที่ใช้ สีน้ำ สีน้ำมัน ฯลฯ วาดลงกระดาษ ในปัจจุบันเราจะพบเห็นงานจิตรกรรมที่ทำด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้ค่อนข้างบ่อย เช่น สื่อโฆษณาตัวเกมที่ใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการเพนต์ (ลงสี) รูป  โดยใช้เครื่องมือดิจิตอลอย่าง คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต (เมาท์ปากกา) และ ซอฟแวร์ ในการสรรสร้างงานศิลปะบนคอมพิวเตอร์ซึ่งทุกโปรแกรมจะพยายามเลียนแบบการวาด ภาพให้เหมือนจริงผ่านหัวแปรงต่าง ๆและผลสี หัวแปรงแต่ละชนิดที่อยู่ในโปรแกรมต่าง ๆ จะเป็นตัวแทนของอุปกรณ์นั้น ๆ เช่น สีน้ำ สีน้ำมัน ถ่าน ปากกา พู่กัน เป็นต้น ที่มา http://jelejelly.blogspot.com/
  • การปั้นโมเดลแบบ 3 มิติ (3D Sculpture) เรียนการสร้างสรรค์งานแบบ 3 มิติเป็นที่นิยมกัน เป็นการสร้างโมเดลในรูปแบบต่าง ๆ ได้สิ่งที่แปลกใหม่และดูน่าสนใจมากยิ่งขึ้น

เคล็ดลับการเรียน

       นอกจากการเรียนห้องเรียนแล้วยังสามารถค้นคว้าหาความรู้ และฝึกฝนด้วยตนเองได้หลายวิธี เช่น การเรียนพิเศษออนไลน์มีสอนเป็นคอร์ส เช่น https://edumall.co.th/ หรือคอรส์เรียนฟรีก็มีให้เรียนเช่นกันตั้งแต่เรื่องพื้นฐานจนถึงระดับมือโปร เช่น http://pixologic.com หากมีความสนใจอยู่แล้วอยากจะลองฝึกฝนด้วยตัวเอง สามารถเข้าไปศึกษาได้จาก YouTube ได้ทั้งช่องยูทูปของคนไทยเอง และต่างประเทศได้ เช่น YouTube Channel ของ Pixologic ZBrush

ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย

ปี 1 เน้นการเรียนการสอนด้านศิลปะ โดยนักศึกษาจะได้ทำความเข้าใจกับพื้นฐานวิชาศิลปะต่าง ๆ เพื่อฝึกทักษะทางด้านศิลปะและคอมพิวเตอร์กราฟิกขั้นเบื้องต้น ส่วนใหญ่อยู่ในรายวิชาของชั้นปีที่ 1 เช่น การวาดเส้น การใช้สี การถ่ายภาพ คอมพิวเตอร์กราฟิก  เป็นต้น           

ปี 2 – เน้นทักษะและความรู้ทางศิลปะพื้นฐานสู่การสร้างเป็นผลงานดิจิทัลอาร์ตส์โดยใช้สื่อต่าง ๆ ที่ได้เรียนมา เช่น การวาดภาพดิจิทัล การออกแบบฉากและการออกแบบตัวละคร การปั้นงานโดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ งานโมชั่นกราฟิกสำหรับงานดิจิทัลอาร์ตส์ การเรียนสื่อทางศิลปะและทฤษฏีทางศิลปะที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพในสาขาวิชา
ปี 3 - เรียนลงลึกเฉพาะด้าน นักศึกษาสามารถเลือก แนวทางที่ตนเองต้องการจะศึกษาได้ เพื่อสร้างทักษะและความเชี่ยวชาญเฉพาะของวิชาชีพและเสริมสร้างทักษะเฉพาะที่นักศึกษาสนใจศึกษา

ปี 4 - ฝึกการทำงานจริง ได้ทำศิลปะนิพนธ์เป็นของตัวเอง

มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก

  • Chelsea Collage of Art
  • University of California
  • University of Westminster, London
  • University of Technology Sydney – UTS
  • California State University
  • University of Portsmouth
  • New York School of Interior Design
  • Cornell University
  • Parsons The New School for Design
  • Auburn University

Copyright © 2019 TruePlookpanya. All rights reserved.
สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ห้ามมิให้ผู้ใดคัดลอก ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข หรือเผยแพร่ส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ก่อนได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร